“ผมเชื่อว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมของเราน่าเชื่อถือ มีความโปร่งใส และไม่ถูกแทรกแซง มันจะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการปฏิรูปการเมืองไทยได้”
จากแถลงการณ์ของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ สู่คำถามว่าด้วยความเป็นธรรม ความมีประสิทธิภาพ และความเป็นอิสระของ ‘กระบวนการยุติธรรมไทย’
101 ชวน รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ในรายการ 101 One-on-One Ep.91 ว่าด้วยเรื่อง ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’
ต่อไปนี้คือเนื้อหาบางส่วนจากการพูดคุยในรายการ ที่ฉายให้เห็นปัญหาใหญ่ๆ ของกระบวนการยุติธรรมไทย ไปจนถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
:: ว่าด้วย ‘ความเป็นอิสระ’ ของศาล ::
แถลงการณ์ของผู้พิพากษาคณากร (เพียรชนะ) ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามว่า มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมกันด้วยหรือในสังคมไทย โดยเฉพาะในชั้นศาล ซึ่งคนเคยมองว่าน่าเชื่อถือ มีอิสระ และเป็นกลาง
จากกรณีที่เกิดขึ้น ผมมองว่ามีสองเรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในคดีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงานศาลต้องค้นหาความจริง และนำมาบอกกับสังคมต่อไป
อีกเรื่องคือความเป็นอิสระของตุลาการ ของผู้พิพากษา ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เราจะมาคุยกันว่าในเชิงภาพรวม ในเชิงทฤษฎี เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เทียบกับหลักสากลแล้ว หลักความเป็นอิสระของศาลในประเทศ เราควรปฏิรูปหรือแก้ไขอะไรยังไง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล
ในเรื่องความเป็นอิสระ ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงกัน คือเรื่องการพิจารณาคดีสำคัญๆ ที่ต้องส่งให้อธิบดีหรือประธานศาลตรวจแล้วให้คำแนะนำ จริงๆ วิธีการนี้มีมานานแล้ว ซึ่งผมมองว่าอาจไม่สำคัญเท่ากับการตั้งคำถามว่า ในเชิงระบบแล้ว การมีประธานศาล อธิบดีภาค หรือหัวหน้าศาล มาตรวจสิ่งที่ศาลได้สืบพยานและทำคำพิพากษาไปแล้ว ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แทรกแซงความเป็นอิสระขององค์คณะที่ทำการตัดสินหรือไม่
ถามว่าควรมองเรื่องนี้อย่างไร ผมคิดว่าควรกลับไปสู่หลักสากลว่าด้วยความอิสระและความเป็นกลางของศาล ที่มีกำหนดไว้ใน ICCPR (International Covenant on Civil and Political Rights – กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) ซึ่งไทยกับอีก 171 ประเทศทั่วโลกเป็นภาคี
ในข้อ 14 ของ ICCPR เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอาญา ต่อหน้าศาลที่อิสระและเที่ยงธรรม
คำว่า อิสระ ในที่นี้มี 2 มิติคือ หนึ่งอิสระภายนอก คืออิสระจากอำนาจบริหาร เช่น ครม. จะเข้ามาแทรกแซงการตัดสินไม่ได้ รวมถึงอิสระจากฝ่ายนิติบัญญติ สภาจะเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ สองคืออิสระจากภายในศาลเอง หมายถึงคนที่เป็นผู้บริหารศาล ไม่ว่าจะเป็นประธานศาล หรืออธิบดีศาล จะมาแทรกแซงผลของคำพิพากษาขององค์คณะไม่ได้ ความอิสระในแง่นี้ เป็นเรื่องที่มีการตั้งคำถามและพูดถึงกันค่อนข้างน้อยในไทย
:: คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา ::
ในแถลงการณ์ของคุณคณากรที่ว่า ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา’ ถามว่าผมเห็นด้วยมั้ย ถ้าว่ากันแบบอุดมคติ ผมเห็นด้วย คือเมื่อตั้งองค์คณะให้รับผิดชอบคดีอะไรแล้ว ก็ต้องให้เครดิตเขา ให้เกียรติเขาในการตัดสินและทำพิพากษาอย่างอิสระ นั่นคืออุดมคติที่ควรจะเป็น และสอดคล้องกับหลักสากลด้วย
แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ในเคสประเทศไทย เวลาจะเปลี่ยนอะไรสักอย่าง ต้องค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะถ้าเปลี่ยนทันทีเลย คือการให้ผู้พิพากษามีอิสระไปเลย และประธานจะมาตรวจไม่ได้เลย แน่นอนว่าฝั่งหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าเสียงเขจะเสียงดังด้วย เขาจะบอกว่าการให้ประธานตรวจแบบนี้มันมีมานานแล้ว และมันคือการที่ผู้ใหญ่มาช่วยดูคำพิพากษาของเด็กๆ มาช่วยทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่ศาลชั้นต้นเลยด้วยซ้ำ โดยไม่ต้องอุทธรณ์หรือฎีกาต่อ นี่คือข้อถกเถียงที่จะเกิดขึ้นจากสองกลุ่ม ซึ่งผมมองว่ามีเหตุผลทั้งคู่
ทั้งนี้ แนวทางที่ผมเสนอแบบประนีประนอมคือ ถ้าท่านจะกำหนดคดีไหนเป็นคดีพิเศษ เป็นคดีสำคัญ แล้วให้อธิบดีหรือผู้ใหญ่ช่วยดู ทำได้ครับ ส่งสำนวนส่งร่างไปให้ดูเลย แต่ขอให้ท่านให้คำแนะนำอย่างเปิดเผย ในลักษณะที่เป็นความเห็นแย้ง ‘เฉพาะข้อกฎหมาย’ ได้หรือไม่
ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ใครทำผิดไม่ทำผิด ใครโกหกไม่โกหก ขอให้เชื่อเจ้าของสำนวนซึ่งเป็นคนสืบพยาน เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในศาล แม้มีประสบการณ์มากกว่า แต่ผมมองว่าไม่น่าจะอยู่ในจุดที่แก้ข้อเท็จจริงได้ การมีประสบการณ์มากผมไม่เถียง แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับประสบการณ์ ขึ้นอยู่กับว่าเห็นเหรือไม่เห็นพยานหลักฐาน
:: นักโทษล้นเรือนจำ ความสูญเปล่าที่ไม่จำเป็น ::
ในกระบวนการยุติธรรมไทย มี 3 ปัญหาหลักที่ผมเห็นว่าสำคัญ หนึ่งคือนักโทษล้นเรือนจำ สองคือคดีอาญาล้นระบบ สองข้อแรกนี้มีตัวเลขยืนยันชัดเจน ส่วนปัญหาที่สาม เป็นปัญหาเชิงสมมติฐาน คือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา บางครั้งไม่ได้เดินตามหลักการที่ควรเป็น
ในส่วนของนักโทษล้นคุก ถ้าดูจากตัวเลขเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 เรามีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 362,985 คน จากเรือนจำทั้งหมด 144 แห่งทั่วประเทศ ซี่งรองรับคนได้แค่ 217,000 คน หมายความว่าเกินมาแสนกว่าคน พูดง่ายๆ ว่าในพื้นที่ที่ดีไซน์ไว้ในเรือนจำ จากปกติที่ควรนอนได้หนึ่งคน เราอัดไปหนึ่งคนครึ่ง จึงไม่แปลกอะไรที่ต้องนอนตะแคงเบียดกัน นี่คือตัวเลขเชิงประจักษ์ที่สะท้อนว่า คุกไทยมีปัญหา สถิติที่ว่านี้สามารถเข้าไปดูได้ที่ prisonstudies.org ซึ่งจะมีการอัพเดทอยู่เรื่อยๆ
สถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องดี ข้อแรกคือยังไงเราก็ต้องระบายนักโทษออกมาอยู่ดี อย่างที่เราเห็นข่าวว่า บางคนต้องโทษ 20 ปี แต่ได้ออกมาก่อน อันนี้คือเขามีระบบระบายนักโทษอยู่ เพราะมันล้น ข้อสอง เราเสียงบประมาณไปมหาศาลโดยไม่จำเป็น นับแค่ค่าอาหารนักโทษ ก็คิดเป็น 18 ล้านบาทต่อวัน หรือหกพันล้านต่อปีแล้ว บางคนบอกว่าดีแล้ว ภัยสังคมแบบนี้ต้องเอาไปขัง ผมไม่เถียงครับ คนที่ก่ออาชญากรรมฆ่าข่มขืน แบบนั้นเป็นภัยสังคม ต้องขังไว้ แต่ข้อเท็จจริงคือ คนที่ถูกขังจำนวนไม่น้อย ไม่ได้มีพฤติกรรมที่เป็นภัยสังคมแบบนั้น โดยเฉพาะพวกข้อหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่จำเป็นต้องจับเขาไปขัง
ถามว่าจะแก้ได้อย่างไรบ้าง วิธีแรกคือการแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัจจุบันคนที่อยู่ในเรือนจำ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นคดียาเสพติด ถ้าเราแก้ปัญหายาเสพติดได้ ก็น่าจะลดจำนวนนักโทษได้อีกเยอะ ประเด็นที่มีการพูดกันมานานแล้ว คือเราจะแยกคนที่เป็นผู้เสพกับผู้ค้าได้อย่างไร เพราะตอนนี้กฎหมายยาเสพติดเราเคร่งครัดมาก คือถ้ามียาเสพติดในครอบครองถึงจำนวนที่กฎหมายกำหนด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้ค้ายา ประเทศที่ทำสำเร็จคือโปรตุเกส ที่ทำให้ผู้เสพไม่ต้องเป็นคดีอาญา แต่ให้ไปบำบัดเลย ส่วนที่เป็นคดี มีโทษปรับโทษจำคุก ก็เอาไว้ใช้กับคนที่เป็นพ่อค้าจริงๆ
ข้อสอง คือการกฎหมายอาญาของไทยกำหนดโทษไว้ 5 สถาน (ริบทรัพย์, ปรับ, กักขัง, จำคุก, ประหารชีวิต) มาเป็นเวลาหกสิบกว่าปีแล้ว ขณะที่ในต่างประเทศ มีการขยายโทษเป็น 11 สถาน โดยเพิ่มโทษแบบอื่นๆ มาแทนการจำคุกและโทษปรับ ตัวอย่างเช่น คดีอุบัติเหตุทั้งหลาย บางทีการจำคุกไปก็ไม่มีประโยชน์
สาม คือการปรับตามฐานะทางเศรษฐกิจ คนที่มีรายได้เยอะ ทรัพย์สินเยอะ ควรต้องจ่ายค่าปรับสูง ส่วนคนที่มีรายได้น้อย ก็ให้จ่ายค่าปรับให้อัตราที่ต่ำลง เพื่อแก้ปัญหาว่าคนที่มีรายได้ต่ำ ถ้าเขาไม่มีจ่าย สุดท้ายก็ต้องไปอยู่ในคุกอยู่ดี
ข้อสุดท้าย คือการคิดระบบปล่อยชั่วคราวใหม่ โดยไม่ต้องเรียกหลักประกันเป็นเงิน เพราะคนที่ติดคุกอยู่จำนวนมาก คือคนฐานะยากจนที่ไม่มีเงินมาประกัน ที่เรากลัวกันว่า ถ้าไม่เรียกหลักประกัน คนจะหนี ไม่จริงหรอกครับ ผมพูดเสมอว่ามันเป็นมายาทั้งสิ้น เพราะมีสถิติออกมาชัดเจน
:: คดีอาญาล้นระบบ ::
อีกปัญหาของกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา คือเรื่องคดีอาญาล้นระบบ ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เขาพยายามใช้คดีอาญากับเรื่องที่จำเป็นจริงๆ ต้องเป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องที่กระทบกับสังคมจริงๆ เพราะมันแพงมาก คดีอาญาต้องมีเรื่องการคุมขัง ต้องมีการติดประวัติอาชญากร เป็นทั้งต้นทุนของรัฐ และต้นทุนของผู้ต้องโทษเอง ฉะนั้นเขาจึงใช้อย่างจำกัด และมักจะเป็นมาตรการสุดท้าย
แต่ของไทยตรงกันข้าม เรานิยมการใช้อาญา แต่ไม่ค่อยมีมาตรการบังคับแบบอื่น เวลารัฐออกกฎหมายที่จะบังคับให้ประชาชนทำอะไรสักอย่าง แล้วเวลาคนไม่ทำหรือฝ่าฝืน ก็ไปกำหนดให้เป็นโทษอาญา เพื่อที่คนจะได้กลัว ขณะเดียวกันเราก็นึกไม่ค่อยออก ว่าถ้าจะใช้สภาพบังคับแบบอื่น เราจะใช้อะไร
ขณะที่ในประเทศแถบยุโรป เขาเริ่มมีการแยกออกจากกัน คือใช้อาญาเฉพาะเรื่องที่รุนแรงจริงๆ ส่วนคดีที่เป็นสภาพบังคับอื่นๆ ที่ไม่รุนแรง เขาจัดให้เป็นโทษทางปกครอง คือการปรับและจำกัดสิทธิ์ต่างๆ ถ้าทำแบบนี้ได้ คดีอาญาที่ล้นมาเยอะๆ จะลดน้อยลง และถูกแปรรูปไปเป็นสภาพบังคับทางปกครอง
แต่แง่หนึ่งผมก็เข้าใจว่านักกฎหมายไทย พอพูดถึงโทษทางการปกครอง จะนึกไม่ค่อยออก เพราะเราเรียนกันมาแต่เรื่องแพ่งและอาญา พูดง่ายๆ ว่าระบบกฎหมายปกครองของบ้านเราถือว่ายังใหม่มาก อย่างศาลปกครองก็เพิ่งมีมาแค่ยี่สิบกว่าปีเอง
อีกเรื่องที่น่าจะแก้ปัญหานี้ได้ คือเรายังขาดระบบ Diversion คือการเบี่ยงคดีหรือผันคดีออกจากกระแสหลัก เช่น การชะลอฟ้อง ยกตัวอย่างคดีที่จำคุกไม่จำ 5 ปี แทนที่จะสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องไปเลย อัยการจะสั่งแขวนคดีไว้ แล้วรอดูความประพฤติของผู้ต้องหา ถ้าคุณทำตัวดี ตามเงื่อนไขที่วางไว้ เราจะไม่ฟ้อง แต่ถ้าทำไม่ได้ เราฟ้อง นี่คือการชะลอฟ้อง ซึ่งในประเทศไทยมีความพยายามผลักดันกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จสักที
:: ช่องโหว่ของกระบวนการ ‘ค้นหาความจริง’ ::
อีกปัญหาใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมไทย คือการปฏิบัติในกรณี ไม่สอดคล้องกับหลักการที่ควรจะเป็น
สิ่งที่เกิดขึ้นในบางคดีคือ เรากลับไม่ค่อยค้นหาความจริงกันเท่าไหร่ ผมขอยกตัวอย่างคดีหนึ่ง เป็นคดีป่าไม้ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ถามย้ำอีกทีว่า สารภาพจริงมั้ย จำเลยก็ยืนยันว่าสารภาพ จากนั้นศาลก็ส่งพนักงานคุมประพฤติตามไปดูเพื่อประกอบดุลยพินิจว่า จะลงโทษแค่ไหนอย่างไร
ปรากฏว่าพนักงานคุมประพฤติ ก็ไปหาข้อมูลแบบเจาะลึก จนพบว่าจำเลยคนนี้รับจ้างมาสารภาพ ส่วนคนทำผิดจริงอยู่ไหนก็ไม่รู้ ต่อมาเมื่อข้อมูลนี้ไปอยู่ในมือศาล สิ่งที่ศาลควรทำคือกลับไปสอบสวนใหม่ แต่น่าเสียดายที่ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อโจทย์ฟ้องแล้วจำเลยรับสารภาพ ก็ต้องตัดสินลงโทษไปตามนั้น
ประเด็นที่ผมจะบอกคือว่า หน้าที่ของทั้งตำรวจ อัยการ ศาล คือต้องช่วยกันค้นหาว่าจำเลยทำหรือไม่ได้ทำผิด แม้จำเลยจะสารภาพก็ตาม
ถ้าเป็นต่างประเทศ หนึ่งศาลต้องสร้างความมั่นใจว่า จำเลยที่สารภาพ เขารู้มั้ยว่าสารภาพแล้วจะเจออะไร สอง สารภาพโดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่ สาม ศาลเชื่อพยานหลักฐานทั้งหลายมั้ย หรือยังไม่เชื่อ หรือไม่แน่ใจ ต้องยังไม่ลงโทษ แล้วกลับไปรวบรวมพยานหลักฐานมั้ย
การค้นหาความจริงในคดีที่จำเลย ‘รับสารภาพ’ ศาลควรถามจำเลยเยอะๆ แนวโน้มที่จำเลยจะพูดความจริงกับศาล มีเยอะอยู่แล้ว วิธีนี้จะช่วยลดการจับแพะได้ และไม่ปล่อยให้คนที่ทำผิดจริงลอยนวล
:: กฎหมายฉุกเฉิน (ที่ไม่ฉุกเฉิน) ::
กฎอัยการศึกในสามจังหวัด เป็นการใช้ที่ไม่ถูกวัตถุประสงค์ กฎหมายฉุกเฉินควรใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในระยะเวลาจำกัด แล้วกลับไปสู่ภาวะเดิมให้ได้ แต่ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สามจังหวัดอยู่ในภาวะฉุกเฉินตลอด ซึ่งไม่น่าใช่เรื่องปกติ ทุกวันนี้เราใช้กฎหมายนี้เพื่อไปดำเนินการทางคดีอาญา โดยเฉพาะคดีความมั่นคง คดีก่อการร้าย
ผมเสนอว่า เราน่าจะมี ‘กฎหมายวิธีพิจารณาคดีก่อการร้าย’ หลักการของมันคือ ลดการคุ้มครองสิทธิประชาชนหรือผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับคดีก่อการร้ายลง แต่ยังคุ้มครองสิทธิพื้นฐานอยู่ ถ้าเรามีกฎหมายนี้ เราไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉิน กฎหมายฉุกเฉินเก็บเอาไว้ใช้ในเวลาที่ฉุกเฉินจริงๆ ดีกว่า ซึ่งแง่หนึ่งก็จะทำให้กฎหมายดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้นด้วย
ในต่างประเทศจะมีกฎหมายนี้อยู่ เขาลดการคุ้มครองสิทธิ์ลง เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ แต่การทรมาน การอุ้มหาย การฆ่านอกกฎหมาย ก็จะมีไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐจะไปทรมานหรือฆ่าเขาไม่ได้ เพราะนี่คือสิทธิพื้นฐานที่ต้องรักษาไว้อยู่
เหนืออื่นใด ผมเชื่อว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมของเราน่าเชื่อถือ มีความโปร่งใส และไม่ถูกแทรกแซง มันจะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการปฏิรูปการเมืองไทยได้