fbpx
บทกวีของหลิวเสี่ยวโป

บทกวีของหลิวเสี่ยวโป

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

ไม่น่าแปลกใจถ้าชื่อของ ‘หลิวเสี่ยวโป’ (Liu Xiao Bo) จะเป็นชื่อที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอยากเลือนลบกลบหายไป เมื่อมองดูสิ่งที่เขาทำแต่ละอย่าง…

เสนอให้นำศพเหมาเจ๋อตุงซึ่งมีสถานะดุจเทพเจ้าออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน เสนอว่าจีนควรเป็นประเทศประชาธิปไตยและไม่ควรมีการปกครองโดยพรรคเดียว เรียกร้องสิทธิมนุษยชน วิพากษ์ว่าการพร่ำย้ำคตินิยมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้คนรุ่นใหม่ไร้ความสามารถในการคิดและถูกชะล้างความทรงจำ กล่าวว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ข้ออ้าง ‘ปฏิรูป’ เพื่อปิดบังการทุจริตของชนชั้นนำ ซึ่งกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคพากันแบ่งสรรปันส่วนทรัพย์สมบัติที่เป็นของคนในประเทศอย่างย่ามใจ ฯลฯ

หนูนักโทษและแสงจันทร์

หลิวเสี่ยวโปเติบโตในครอบครัวที่พ่อเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมจีน ส่วนตัวเขาเองในวัย 33 ปี หน้าที่การงานในฐานะนักวิชาการด้านปรัชญาและวรรณกรรมกำลังได้รับการยอมรับนับถือในวงกว้าง โดยเฉพาะงานศึกษาเกี่ยวกับหลู่ซวิ่น (Lu Xun) กวีเอกของจีน มีอนาคตสดใสกับตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกปะทุขึ้นในจีน เขาตัดสินใจกลับบ้านมาเข้าร่วมชุมนุมกับนักศึกษาประชาชนเรือนล้านที่หวังการเปลี่ยนแปลงในเวลานั้น

หลิวเสี่ยวโป Liu Xiao Bo
หลิวเสี่ยวโปในทศวรรษ 1980 ภาพ l evenmagazine

2 มิถุนายน 1989 ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หลิวเสี่ยวโปในฐานะปัญญาชนหนุ่มได้กล่าวคำประกาศในวาระการอดอาหารประท้วงรัฐบาล ส่วนหนึ่งมีใจความว่า

“เราต้องเริ่มสร้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศจีนด้วยจิตวิญญาณของความอดทนอดกลั้น และสำนึกการร่วมมือกัน สังคมประชาธิปไตยไม่อาจสร้างได้จากความเกลียดชังและความเป็นศัตรู แต่สร้างจากการปรึกษาหารือ การถกเถียงและการลงคะแนน ซึ่งดำเนินไปบนพื้นฐานของความเคารพต่อกัน ความอดทนอดกลั้น และความสมัครใจที่จะประนีประนอม” [1]

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมเทียนอันเหมินที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อร่วมสองเดือน และพลังคนหนุ่มสาวหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ จบลงด้วยการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนอย่างโหดเหี้ยม จากเอกสารลับของอังกฤษที่เพิ่งเผยแพร่ในปี 2017 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ร่วมหมื่นคน

หลิวเสี่ยวโปกล่าวคำปราศรัยเมื่อ 3 มิถุนายน 1989 ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน
หลิวเสี่ยวโปกล่าวคำปราศรัยเมื่อ 3 มิถุนายน 1989 ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ภาพ l Forrest M. Anderson

หลิวเสี่ยวโปรอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ และเขายังได้เจรจาจนทหารเปิดทางให้นักศึกษาราว 200 คน ออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมินก่อนช่วงเวลากองทัพเข้าบดขยี้ผู้ชุมนุมเล็กน้อย จนรักษาชีวิตนักศึกษาเหล่านั้นไว้ได้ แต่เขายังคงรู้สึกผิดอย่างลึกซึ้ง เขารู้สึกเสมอว่าในฐานะปัญญาชน เขาไม่ได้ทำอะไรให้ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเท่าที่ควร

บางทีหลิวเสี่ยวโปอาจคิดตามที่เหลียวอี้อู่ (Liao Yiwu) กวีร่วมยุคของเขาซึ่งเขียนบทกวีกระแทกกระทั้นผู้รอดชีวิตไว้ว่า “แล้วใครกันเล่าคือผู้โชคดีรอดชีวิต-พวกสถุลสารเลวทั้งนั้น!”[2] ก็เป็นได้

ผลกระทบจากการเคลื่อนไหว ทำให้ชีวิตของหลิวเสี่ยวโปต้องระหกระเหินสลับกับถูกคุมขังนับแต่นั้น เหตุการณ์เทียนอันเหมินกระแทกชีวิตเขาให้ปริปรี่เป็นความเรียงและบทกวีมากมาย หลิวเซีย (Liu Xia) ภรรยาของหลิวเสี่ยวโปกล่าวว่า หลิวแต่งบทกวีเสมอ แม้จะอยู่ในคุก แม้ผู้คุมจะยึดปากกากระดาษไป เขาก็ยังเอาถ้อยคำออกมาจากอากาศจนได้[3]  A Small Rat in Prison (1999) เป็นหนึ่งในบทกวีนั้น

หนูตัวเล็กในห้องขัง

 — แด่เซียน้อย

หนูตัวเล็กลอดผ่านซี่กรงเหล็ก

ผลุบผลับเข้าออกเหนือกรอบหน้าต่าง

ผนังห้องลอกล่อนจับจ้องเจ้าตัวจิ๋ว

ยุงป่องเป่งด้วยเลือดจ้องมองมัน

เจ้าหนูยื้อยุดดวงจันทร์

ฉุดเส้นแสงเงินยวงร่วงสู่ห้องขังนักโทษ

แสงจันทร์จับเจ้าหนูตัวเล็ก

พร่างระยับราวเคหวัตถุละล่องร่วมนภากาศ

สุภาพมุสิกะมารยาทนุ่มนวล

ไม่ดื่ม กิน เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน

ยามดวงตาวามขลับวับเล่ห์

ทอดน่องในคลองจันทร์

หลิวเสี่ยวโปเขียน ‘หนูตัวเล็กในห้องขัง’ ขึ้นในปีที่ถูกกักขังอยู่ในค่ายใช้แรงงาน หนูตัวนี้คงเปรียบได้กับชีวิตที่ถูกบีบบังคับจนตัวเล็กกระจ้อยร่อย มีผู้มีอำนาจจับจ้องควบคุม แต่ยังแสวงหาอิสรภาพและความสง่างามอันเป็นส่วนตัวได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดึงแสงจันทร์มาเป็นอาภรณ์ หรือมีท่าทีต่อโลกที่นุ่มนวลงดงามได้ไม่ว่าตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร

หลิวเสี่ยวโปทั่วโลก

หลิวเสี่ยวโปได้รับสภานภาพนักโทษหลายครั้ง ครั้งแรกเขาติดคุกในช่วง มิถุนายน 1989 – มกราคม 1991 จากการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ครั้งที่สองถูกกักตัวในค่ายใช้แรงงานเมื่อ มกราคม 1996 – ตุลาคม 1999 และครั้งสุดท้ายหลังร่วมร่าง ‘กฎบัตร 08’ แถลงการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เขาได้รับโทษครั้งที่ร้ายแรงที่สุด คือถูกกักบริเวณ 11 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2008 เป็นต้นมา ตามความผิดในข้อหา ‘ส่งเสริมการกระทำที่ต่อต้านอำนาจของรัฐ’

หลิวเสี่ยวโปและหลิวเซีย ในช่วงทศวรรษ 2000
หลิวเสี่ยวโปและหลิวเซีย ในช่วงทศวรรษ 2000 ภาพ l ldh49

ปี 2010 ราวกับทั่วโลกกำลังบอกว่าจีนทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ด้วยการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้หลิวเสี่ยวโป ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้จีนปล่อยตัวหลิวเสี่ยวโปออกมาแล้ว ยังผลักรุนความโกรธเกรี้ยวต่อกวีผู้ ‘ไม่เกลียดใคร ไม่มีศัตรู’ ให้รุนแรงขึ้น จีนพยายามขจัดข่าวสารและที่มาที่ไปของการได้รับรางวัลครั้งนี้ออกจากเสิร์ชเอ็นจิ้นในโลกอินเทอร์เน็ตของจีน ตามมาด้วยการนำตัวภรรยาของเขามากักบริเวณ ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วยอีกคนหนึ่ง โดยทั้งคู่ต่างถูกคุมขังคนละที่ ไม่มีโอกาสได้เป็นพลังใจให้กัน

ปี 2011  84 ประเทศทั่วโลก แสดงออกถึงจุดยืนการสนับสนุนหลิวเสี่ยวโปด้วยการจัดงานเฉลิมฉลองการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแทนเขาที่ไม่อาจมารับรางวัลด้วยตัวเองได้ รวมทั้งในประเทศไทย ได้จัดงาน ‘I Am Liu Xiaobo’ (ฉันคือหลิวเสี่ยวโป) โดยมีศิลปินหลายแขนงเข้าร่วม กวีหนุ่มชาวไทยผู้สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงกวีจีน อย่าง ซะการีย์ยา อมตยา ได้แปล บทกวี You Wait for Me with Dust (1999) ของหลิวเสี่ยวโป และนำมาอ่านในวาระนี้ ความว่า

เธอ ผู้รอฉันด้วยฝุ่นผงธุลี

— แด่ภรรยา ผู้เฝ้ารอฉันในทุกวัน

ไม่เหลืออะไรในชื่อของเธอ ไม่มีเลย

เหลือเพียงแค่การรอคอยฉัน พร้อมด้วยฝุ่นที่ปกคลุมบ้านของเรา

ชั้นแล้วชั้นเล่า

ซ้อนทับกัน ขนัดแน่น ทุกซอกมุม

เธอคงไม่ยินดีที่จะเปิดผ้าม่าน

แล้วปล่อยให้แสงเข้ามารบกวนความสงัดนิ่งนั้น

เหนือชั้นวางหนังสือ ที่มีป้ายเขียนด้วยลายมือปกคลุมไปด้วยฝุ่น

บนผืนพรมที่ลวดลายสูดรับผงฝุ่นเข้าไป

ยามเมื่อเธอเขียนจดหมายถึงฉัน

ด้วยความรักนั้น ปลายปากกาฉาบไปด้วยผงธุลี

ดวงตาของฉันถูกทิ่มแทงด้วยความปวดร้าว

เธอจะนั่งอยู่ตรงนั้นตลอดทั้งวัน

มิกล้าจะลุกไปไหน

ด้วยกลัวว่าเธอจะย่ำเดินไปบนฝุ่น

เธอพยายามควบคุมการหายใจ

ใช้ความเงียบเพื่อเขียนเรื่องราว

ในห้วงเวลาเช่นนี้

การหายใจติดขัดเพราะฝุ่น

หยิบยื่นให้แต่เพียงความสัตย์ซื่อ

มุมมอง ลมหายใจ และเวลาของเธอ

แพร่กระจายในฝุ่น

ในห้วงลึกของวิญญาณของเธอ

รุกคืบลงไปในหลุมฝังศพทีละน้อย

กองสุมจากแทบเท้า

ถึงหน้าอก

กระทั่งถึงคอหอย

เธอรู้ว่าหลุมฝังศพนั้น

คือที่พำนักดีที่สุดแล้ว

รอคอยฉันที่นั่น

มิต้องมีเหตุแห่งความหวาดหวั่นหรือตื่นกลัว

นี่ละหนอ เธอจึงหลงใหลในฝุ่นผงธุลี

ในความมืดมนนั้น ในความสงบชวนอึดอัด

จงรอคอย รอคอยฉัน

เธอคอยฉันด้วยฝุ่นธุลี

ปฏิเสธแสงตะวันและการเคลื่อนไหวของอากาศ

ปล่อยให้ฝุ่นผงกลบฝังเธอจนหมดสิ้น

ปล่อยให้ตัวเธอเองตกในห้วงนิทราในผงธุลี

จนกระทั่งฉันกลับมา

และเธอจะตื่นลืมตา

ปัดฝุ่นผงจากผิวและวิญญาณของเธอ

ช่างปาฏิหาริย์จริงแท้-ได้ฟื้นคืนจากความตาย

Liu Xiao Bo

ซะการีย์ยา อมตยา แปล

กระแสการยืนเคียงข้างหลิวเสี่ยวโปขยายไปทั่วโลก สำหรับชาติตะวันตก การได้รับรางวัลโนเบลของหลิวเสี่ยวโปทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในจีน  ทว่าสำหรับฮ่องกงนี่คือระลอกคลื่นลูกสำคัญที่มีพลังทางการเมืองสูงกว่าในประเทศอื่นๆ

สำหรับคนฮ่องกง หลิวเสี่ยวโปและเทียนอันเหมินมีความคล้ายคลึงกัน คือเป็นประวัติศาสตร์ที่จีนต้องการฝังกลบ การสนทนาอย่างเปิดเผยเรื่องการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์เทียนอันเหมินยังเป็นเรื่องต้องห้ามมาจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลจีนพยายามเข้าจัดการให้มีประวัติศาสตร์การนองเลือดครั้งนั้นหลงเหลือในตำราเรียน และสื่อต่างๆ น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

 การเดินขบวนเรียกร้องให้ปล่อยตัวหลิวเสี่ยวโปในฮ่องกง เมื่อปี 2010 ปีที่เขาได้รับรางวัลโนเบล
การเดินขบวนเรียกร้องให้ปล่อยตัวหลิวเสี่ยวโปในฮ่องกง เมื่อปี 2010 ปีที่เขาได้รับรางวัลโนเบล ภาพ l evenmagazine

เกาะฮ่องกงเป็นเพียงสถานที่ในเครือจีนแห่งเดียว ที่สามารถจัดงานครบรอบเหตุการณ์เทียนอันเหมินได้ โดยจะมีการจุดเทียนรำลึกทุกวันที่ 4 มิถุนายนที่สวนสาธารณะ Victoria Park ในงานแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมนับแสน การได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของหลิวเสี่ยวโปยิ่งจุดกระแสเรียกร้องการชำระประวัติศาสตร์เทียนอันเหมินให้ลุกโชนขึ้น เกิดความพยายามสร้างที่กักเก็บความทรงจำ (site of memory) ต้องห้ามต่างๆ ที่ไม่อาจตั้งอยู่ในจีนได้ขึ้นที่ฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าความเป็นมาของเหตุการณ์เทียนอันเหมิน หรืออนุสาวรีย์หลิวเสี่ยวโป แต่สิ่งของและสถานที่ต่างๆ ล้วนได้รับแรงกดดันจากจีนจนต้องรื้อถอนออกจนหมด พร้อมๆ กับการขัดขวางความเจริญเติบโตของขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงที่กำลังเบ่งบาน

ขณะที่การต่อสู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ มีหลิวเสี่ยวโปเป็นสัญลักษณ์และแรงบันดาลใจ  13 กรกฎาคม 2017 ตัวจริงของเขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับระหว่างถูกกักบริเวณ ท่ามกลางข้อกังขาจากประชาคมโลกว่ารัฐบาลจีนไม่ยอมปล่อยตัวให้เขาได้รับการรักษาที่เหมาะสม

เธอรู้ว่าหลุมฝังศพนั้น

คือที่พำนักดีที่สุดแล้ว

รอคอยฉันที่นั่น

มิต้องมีเหตุแห่งความหวาดหวั่นหรือตื่นกลัว

นี่ละหนอ เธอจึงหลงใหลในฝุ่นผงธุลี

 

แด่หลิวเซีย

หลิวเสี่ยวโปและหลิวเซียในวัยหนุ่มสาว
หลิวเสี่ยวโปและหลิวเซียในวัยหนุ่มสาว ภาพ l evenmagazine

‘แด่หลิวเซีย’ เป็นคำขึ้นต้นบทกวีหลายบทของหลิวเสี่ยวโป บ่งบอกว่ากวีบทนั้นเขาเขียนขึ้นเพื่อให้ภรรยาผู้เป็นผู้หญิงที่แจ่มจ้าและมีพลังชีวิตมากคนหนึ่งอ่าน ภรรยาของเขาที่ชื่อว่า ‘หลิวเซีย’

หลิวเซียเกิดในปี 1961 ที่ปักกิ่ง เธอเคยทำงานเป็นบรรณาธิการ และข้าราชการพลเรือนในสำนักงานภาษีประจำกรุงปักกิ่งมาก่อน เธอเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่ปี 1982 และพบกับหลิวเสี่ยวโปในช่วงทศวรรษ 1980 ไม่ใช่ด้วยพรหมลิขิตแต่ด้วย ‘วรรณกรรมจัดสรร’ ต่อมาหลิวเซียลาออกจากงานในปี 1992 มาเป็นกวี ช่างภาพ และจิตรกร หลิวเซียแต่งงานกับหลิวเสี่ยวโประหว่างเขาถูกคุมขังในค่ายใช้แรงงาน ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอจะได้ไปเยี่ยมเขาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย[4]

ภาพถ่ายหลิวเสี่ยวโป ในนิทรรศการภาพถ่ายฝีมือหลิวเซีย
ภาพถ่ายหลิวเสี่ยวโป ในนิทรรศการภาพถ่ายฝีมือหลิวเซีย จัดแสดงที่ฮ่องกงเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 ภาพ l qz

ตัวหลิวเซียเองมีผลงานเป็นของตัวเธอเองมากมายโดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้เงาของหลิวเสี่ยวโป มิตรกวีของทั้งคู่นิยามผลงานของคู่ชีวิตคู่นี้ว่ามีข้อดีไปคนละด้าน งานของหลิวเซีย มีความสุขุมในด้านการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและการใช้จินตภาพ ส่วนงานของหลิวเสี่ยวโปนั้นเปี่ยมไปด้วยพลังผลักดันภายในและตรงไปตรงมา

อาจเป็นเรื่องที่ดูแตกต่างแต่น่ารักดี… เมื่อคิดถึงว่าในวันที่ 2 มิถุนายน 1989 ขณะที่หลิวเสี่ยวโปเขียนบทความกล่าวคำประกาศการอดอาหารประท้วงอันยิ่งใหญ่ เพื่อใช้ขึ้นอ่านที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน วันเดียวกันหลิวเซียแค่เขียนบทกวีเรียบง่ายถึงชายที่เธอรัก ในบทที่ชื่อว่า June 2nd, 1989

2 มิถุนายน 1989

 — แด่เสี่ยวโป

นี่ไม่ใช่อากาศที่ดีนัก

ฉันประจักษ์กับตัวเอง

ยืนใต้แสงอาทิตย์อ่าอลัง

ยืนอยู่ข้างหลังเธอ

ไล่นิ้วไปตามโค้งศีรษะ

เส้นผมของเธอระทิ่มฝ่ามือฉัน

ความรู้สึกแปลกแทรกผ่าน

นี่ฉันไม่มีโอกาส

ได้เอื้อนเอ่ยคำสักนิด

ก่อนเธอกลายเป็นคนดังในข่าวสารห่างไกล

ก่อนใครๆ ถือตานับหน้าเธอ

ขณะที่ฉันชำรุดทรุดพัง

อยู่รั้งขอบฝูงชน

ยืนพ่นบุหรี่อยู่ตรงนี้

ปล่อยเวลามองท้องฟ้า

ไม่แน่ว่า…เรื่องปรัมปราใหม่ๆ อาจกำลังก่อตัวอยู่ที่นั่น

แต่แสงอาทิตย์ช่างเริงแรงจนบดบัง

เกินฉันหวังเห็นสิ่งใดได้

หลิวเซียไม่ได้เลือกมาเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เธอเป็นศิลปินที่ตกหลุมรักกวี เฝ้าดูเขาตั้งแต่เขาเป็นคนธรรมดาจนกลายเป็นบุคคลสาธารณะ ก่อนกลายเป็นนักโทษ และเธอกลายเป็นนักโทษตามเขาไป หลิวเซียถูกกักบริเวณเกือบ 8 ปี ไม่ได้รับการอนุญาตให้พูดกับใครแม้แต่เพื่อน สุขภาพเธอเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ จากผู้หญิงที่เข้มแข็งกลายเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง จนกระทั่งเมื่อหลิวเสี่ยวโปเสียชีวิต ประชาคมโลกจึงร่วมส่งแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้จีนปล่อยตัวหลิวเซีย ความพยายามนี้สำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันหลิวเซียพำนักอยู่ในเยอรมนี ที่ซึ่งมีกวีอย่างเหลียวอี้อู่อยู่อาศัยและสร้างผลงานมาก่อนแล้วอยู่ที่นั่น

หลิวเสี่ยวโปและหลิวเซียมีผลงานร่วมกันคือ The Selected Poems of Liu Xiaobo and Liu Xia (2000)  ส่วนหลิวเสี่ยวโปมีหนังสือรวมบทความและบทกวีที่ชื่อของหนังสือสะท้อนตัวตนเขาได้อย่างดีคือ No Enemies, No Hatred (2012)  หลิวเซียมีหนังสือรวมบทกวีซึ่งเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกคือ Empty Chairs (2015)  ซึ่งมีนัยประหวัดทั้งเก้าอี้ในภาพวาดของฟานก๊อก และสำหรับผู้อ่านคำนี้ทำให้นึกถึงเก้าอี้ว่างในงานรับรางวัลโนเบลที่หลิวเสี่ยวโปไม่ได้ไปนั่ง

หลิวเสี่ยวโปจากไปในวัย 61 ปี ด้วยจิตใจที่ยังคงปณิธานเดิมว่า ‘ไม่เกลียดใคร ไม่มีศัตรู’ มีหลิวเซียให้รักให้คิดถึงก่อนตาย ได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ตามสมควร เขาไม่ได้รอดชีวิตอีกแล้ว และบางทีนี่คือหนทางการเป็นอิสระจากพันธนาการของผู้รอดชีวิตที่เหลียวอี้อู่เขียนไว้

Liu Xiaobo, No enemies, No hatred, Selected essays and poems foreword by Vaclav Havel

ขอขอบคุณ

ซะการีย์ยา อมตยา สำหรับบทกวีแปล ‘เธอ ผู้รอฉันด้วยฝุ่นผงธุลี’

เชิงอรรถ

[1] Liu Xiaobo. คำประกาศอดอาหารประท้วงในวันที่สองของเดือนมิถุนายน.ใน, เวลาอยูข้างเร (Time is On Our Side: A Book for Joshua Wong’s 21st Birthday). เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, ภวัต อัครพิพัฒนา (แปล). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน, 2017.

[2] Liu Xiaobo. จงสดับฟังอย่างตั้งใจถึงเสียงของเหล่ามารดาแห่งเทียนอันเหมิน. ใน, ประชาไท. ชยางกูร ธรรมอัน (แปล). 2018. อ่านต่อได้ ที่นี่

[3]  www.theaustralian.com อ่านต่อได้ ที่นี่ 

[4] www.poetrysociety.org อ่านต่อได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save