fbpx

ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ผมตัดสินใจร่วมเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ Re-Solution ตามแคมเปญ #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ให้สภาฯ พิจารณาเพราะเห็นแล้วว่าร่างนี้ (นอกจากจะ #ล้ม #โละ #เลิก #ล้าง ระบอบประยุทธ์แล้ว) จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาอันดับ 1 ของชาวเหนือมาหลายปี 

ผมสนใจประเด็นนี้เป็นพิเศษ เพราะตอนนี้ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในพื้นที่ระหว่าง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ทำให้เพิ่งได้รับรู้ถึงความหนักหน่วงของวิกฤตการณ์ที่พี่น้องชาวเหนือต้องเจอในทุกๆ ปี จนผมเคยพูดกับเพื่อนๆ ว่าเขตเลือกตั้งในภาคเหนือนี่ แต่ละพรรคการเมืองต้องมีนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับภาคเหนือ เพราะประชาชนให้คุณค่ากับการแก้ปัญหานี้มาก

หลายคนคงมีคำถามว่าปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกี่ยวอะไรกับรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นอกจากจะมีปัญหาที่ถูกกล่าวถึงในหลายๆ โอกาสแล้ว หากเรามองเฉพาะเจาะจงที่ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จะพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับระบอบประยุทธ์สร้างอุปสรรคมากมายในการที่เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างบูรณาการ ผมมองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มโอกาสให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ถูกแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แล้วรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสร้างปัญหาอย่างไรให้กับการจัดการปัญหาฝุ่นละออง และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ Re-Solution จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแก้ปัญหานี้อย่างไร?

  1. พ.ร.บ.เกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่นละออง ถูก ‘ดอง’ ผ่านมาตรา 133 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
มาตรา 133 ของ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

ปัญหาหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 (รวมไปถึงรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ทั้งฉบับปี 2550 และ 2540) คือการกำหนดไว้ว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงินจะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี (มาตรา 133 วรรคสุดท้าย) ส่งผลทำให้ร่างพ.ร.บ.หลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ของประชาชน เมื่อถูกตีความโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ว่าเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ว่าจะถูกเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อหรือไม่

ปัญหานี้ส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการจัดการปัญหาฝุ่นละอองที่ถูกเสนอมาแล้ว 3 ฉบับ – (1) ฉบับของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (2) ฉบับของสภาหอการค้าไทยที่รวบรวมรายชื่อได้กว่า 12,000 คน และ (3) ฉบับของ ส.ส.พรรคก้าวไกล – ล้วนถูก ‘ดอง’ หรือ ‘ลอยแพ’ อยู่นาน

เพราะโดนวินิจฉัยว่าเกี่ยวด้วยการเงิน และในที่สุดก็ถูกปัดตกไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยท่านนายกฯ อ้างว่าจะนำปัญหานี้ไปเสริมใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแทน (ซึ่งหากท่านนายกฯ มีประสบการณ์แบบคนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือ ซึ่งรับรู้และได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของปัญหาฝุ่นละอองและไฟป่าอย่างแท้จริง คงจะให้คุณค่ากับ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้โดยตรงมากกว่านี้)

นอกเหนือจากร่างกฎหมาย 3 ฉบับข้างต้น ยังมี (4) Clean Air Act ที่ทางเครือข่ายอากาศสะอาดกำลังรวบรวมรายชื่ออยู่ (สามารถร่วมเข้าชื่อร่าง พ.ร.บ.นี้ได้ที่ Thailand Clean Air Network ซึ่งผมได้ร่วมเข้าชื่อไปแล้วเช่นกัน) และ (5) ร่าง พ.ร.บ.ของพรรคเพื่อไทยที่เพิ่งประกาศออกมา ที่จะต้องฝากชะตาชีวิตไว้กับระบอบประยุทธ์ และอาจจะต้องพบจุดจบเดียวกันผ่านมาตรา 133

มาตรา 127 และมาตรา 128 ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของ Re-Solution

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของ Re-Solution แก้ปัญหานี้ด้วยการตัดวรรคสุดท้ายของมาตรา 133 ออกไป และเปิดโอกาสให้มีการใช้จ่ายงบประมาณก่อนได้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งจะเปิดช่องและสร้างความยืดหยุ่นให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและภาคประชาชนสามารถผลักดันร่างกฏหมายที่เร่งด่วนและจำเป็นได้ โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์ฉุกเฉินที่เราอาจไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบที่หนักหน่วงล่วงหน้าได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาความรุนแรงของฝุ่นละออง PM 2.5 ในแต่ละปีเท่านั้น แต่รวมไปถึงสถานการณ์อย่างการระบาดของโควิด-19 ด้วย ฉะนั้นหากเราสามารถยกเลิกมาตรา 133 ได้ โอกาสที่จะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาดก็จะสูงขึ้น


2. ในกรณีที่รัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ประชาชนไม่สามารถยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้จริงในทางปฏิบัติ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้สามารถทำได้

มาตรา 213  ของรัฐธรรมนูญ 2560

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือการเปิดช่องให้ประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงหากสิทธิตนเองถูกละเมิด (มาตรา 213) ฟังเผินๆ อาจจะดูเหมือนการให้สิทธิต่อประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ มาตรานี้แทบไม่ได้เป็นประโยชน์เลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญมักไม่ยอมรับคำร้องตั้งแต่แรก

เนื่องจากเห็นว่า (1) มีช่องทางอื่นๆ ที่ประชาชนสามารถดำเนินการทางกฏหมายได้ หรือ (2) เป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติ ในกรณีที่กฎหมายที่ประชาชนคิดว่าละเมิดสิทธิของตน ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ แล้ว หรือ (3) ไม่ได้มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นจริง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

และจากประวัติที่ผ่านมา ดูเหมือนศาลจะรับฟ้องตามมาตรา 213 เพียงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ร้อง และเป็นความเสียหายของภาครัฐ หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลปัจจุบันเท่านั้น 

แน่นอนว่า หากดูจากประวัติการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 ใครที่อยากฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านมาตรานี้ ว่าการที่รัฐบาลละเลยการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และทำให้มีผลร้ายต่อสุขภาพประชาชนนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (อาจจะเป็น มาตรา 41(3) เกี่ยวกับการละเว้นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หรือ มาตรา 57(2) เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ ) ศาลรัฐธรรมนูญก็คงไม่รับคำร้อง และยกข้ออ้าง 3 ประเด็นข้างต้นเช่นเดียวกับที่เคยไม่รับคำร้องกรณีฟ้องตรงโดยประชาชนเหมือนที่ผ่านๆ มา 

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของ Re-Solution แก้ไขเรื่องนี้ โดยการตัดมาตรา 213 ออกไป คงเป็นเพราะความไร้ซึ่งความหวังของประชาชนที่มีต่อมาตรานี้ในทางปฏิบัติ และความคลุมเครือว่ากรณีใดที่จะฟ้องตรงได้หรือไม่ได้ 

มาตรา 247/26 ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของ Re-Solution

แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ได้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในการตรวจสอบการละเลยหรือละเมิดสิทธิ และสามารถรับเรื่องร้องเรียน เพื่อเสนอเรื่องพร้อมให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรมได้ ดังนั้นหากประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลละเลยการแก้ปัญหาฝุ่นละอองอย่างจริงจังและอย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถฟ้องร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งจากระบบการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิฯ ที่ทาง Re-Solution เสนอแก้ไข จะมีการยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎร แทนที่จะมาจากการเสนอชื่อของวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็น่าจะทำให้มีโอกาสได้คณะกรรมการสิทธิฯ ที่เข้าใจสิทธิของประชาชนในการมีอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจมากขึ้น

3. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่ได้พูดเรื่องปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างเฉพาะเจาะจง จะมีก็แค่การกล่าวถึงในแผนแม่บท แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือการเปิดช่องให้เอาผิดคณะรัฐมนตรีได้ หากกลไกการตรวจสอบที่ถูกแต่งตั้งโดยคสช.ทั้งหมด คิดว่าคณะรัฐมนตรีดำเนินนโยบายไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 

คงเป็นเพราะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหาหนักหน่วงในต่างจังหวัดเสียมากกว่า (ที่ภาคเหนือหนักกว่ากทม. มาก เรียกได้ว่า จ.เชียงใหม่ ติดอันดับท็อปโลกเรื่องความย่ำแย่ของอากาศในทุกปี) จึงทำให้การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านมา ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้โดยตรง จะมีก็แต่การพูดโดยรวมถึงการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ต้องมีการจัดการอย่างบูรณาการ

หากมองอย่างผิวเผินก็คงเป็นเรื่องดีที่มีการพูดถึงความสำคัญของเรื่องนี้ แต่หากประชาชนตัวแทนชาวเหนือที่ตระหนักถึงผลกระทบของฝุ่นละออง PM 2.5 ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการร่างยุทธศาสตร์นี้ ผมเชื่อเหลือเกินว่าจะมีการพูดถึงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างชัดเจน ทั้งในมิติประเทศและต่างประเทศ (มีข้อมูลว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ถูกจัดทำขึ้นมาก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และ พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะเรียบร้อยเสียอีก)

และหากเราลงลึกมาดูที่แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ถึงแม้จะมีการพูดถึงเรื่องมลภาวะทางอากาศอยู่บ้าง เช่นในประเด็น ‘การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี’ หรือ ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ แต่กระนั้น เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวเหนือในทุกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนของทุกๆ ปี ว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ดังได้บ่งชี้ไว้ใน ‘รายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี 2563’

ซึ่งมีรายงานเขียนไว้ว่า ‘ปริมาณฝุ่นละอองขนาด ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานในปี 2562 อยู่ 109 วัน เพิ่มขึ้นจาก 83 วัน ในปี 2561’ และรัฐบาลถูกประเมินว่าการดำเนินการตามแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะทางอากาศนี้อยู่ในเกณฑ์ ‘สีเหลือง’ ซึ่งหมายความว่า ‘ต่ำกว่าเป้าหมาย’

มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 

ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ได้ให้อำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในการฟ้องเรื่องต่อไปยังวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการตัดสินลงโทษหากมติหรือการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท

คำถามที่เกิดขึ้นตรงนี้คือการที่รัฐบาลได้รับผลการประเมินว่า ‘ต่ำกว่าเป้าหมาย’ ในเรื่องการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5  และหากพิจารณาดูแล้ว พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีในการ ‘ดอง’ พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ที่ถูกเสนอมาแล้วนั้น จะสามารถถูกตีความได้ว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติได้หรือไม่? (นอกเหนือจากนั้น ยังมีอีก 80% ของผลการดำเนินการรายประเด็นทั้งหมดของปี 2563 ที่รัฐบาลทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย)

ตรงนี้เองที่เป็นปัญหา ในปัจจุบันคงไม่มีใครคิดว่าจะเอาผิดรัฐบาลที่ไม่สามารถดำเนินการตาม หรือสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทได้ เพราะองค์กรต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นมากำกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาตินั้น ล้วนมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะถูกตั้งโดยคสช.ทั้งหมด ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.

แต่หากวันหนึ่งรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้งกลายเป็นขั้วการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบัน แล้วพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถทำหน้าที่ให้บรรลุตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทได้ จะมีอะไรมาการันตีได้ว่ากลไกที่ถูกตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจในปัจจุบันจะไม่ถูกนำมาใช้เล่นงานรัฐบาลในอนาคต ที่อาจจะมีแนวความคิดทางการเมืองและวิธีการดำเนินนโยบายที่ต่างไป

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของ Re-Solution แก้ไขเรื่องนี้โดยการเสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เคยถูกนิยามไว้โดยคุณบรรยง พงษ์พานิชว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ “ทำตามก็พัง ไม่ทำตามก็ผิด”

ทางกลุ่ม Re-Solution เชื่อว่าอำนาจการตัดสินใจในเชิงนโยบายเช่นนี้จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น และอ้างอิงกับความต้องการของประชาชนที่เลือกผู้แทนราษฎรตามนโยบายที่เขาได้สัญญาไว้กับประชาชน ไม่ควรมีโครงสร้างที่มากำหนดและตัดสินการดำเนินนโยบาย เพราะหากเขาดำเนินการไม่สอดคล้องกับนโยบายที่หาเสียงไว้ ในที่สุดก็จะถูกตัดสินโดยประชาชนผ่านการเลือกตั้งอยู่แล้ว 

การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงทำให้โอกาสในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 มีมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราจะสามารถเลือกผู้แทนผ่านนโยบายที่เขาหาเสียงได้ (และหวังว่าจะมีผู้แทนที่มีข้อเสนอเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5) โดยไม่ต้องกลัวว่าหลังจากเขาได้รับเลือกตั้งไปแล้ว เขาอาจจะถูกยุทธศาสตร์ชาติบังคับให้ทำนโยบายด้านอื่นๆ ที่ถูกระบุไว้ชัดเจนกว่า และหากพวกเขาเหล่านั้นทำนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติไม่สำเร็จ เราจะได้มีสิทธิตัดสินเองว่าจะเลือกผู้แทนคนอื่นเข้าไปแก้ไขปัญหานี้แทนหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องมีอำนาจที่ไม่ได้มีความชอบธรรมมาตัดสินอนาคตการดำเนินนโยบายแทนประชาชน

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผมจึงตัดสินใจเข้าชื่อร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ Re-Solution (นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) เพราะเห็นแล้วว่าจะสามารถเพิ่มความหวังและโอกาสในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาวะของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงตัวผมเองด้วย ผมจึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ท่านอื่นมาเข้าชื่อเพื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้กันครับ 

เพื่อนๆ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียด และดาวน์โหลดแบบฟอร์มในการเข้าชื่อได้ที่ www.resolutioncon.com

#ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save