fbpx
เมื่อฝุ่น PM 2.5 เผชิญกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

เมื่อฝุ่น PM 2.5 เผชิญกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ธร ปีติดล และ ภวินทร์ เตวียนันท์[1] เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตหลายประการที่สร้างความเสี่ยงทางสุขภาพให้กับประชาชน ปัญหาการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 เป็นปัญหาเร่งด่วนและรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าถึงเราจะก้าวผ่านปัญหาไวรัสไปได้ ก็ยังมีปัญหาสำคัญรออยู่อีกประการ ก็คือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายเดือนต่อปี ยิ่งเวลาผ่านไปปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยที่ยังมองไม่เห็นความพยายามแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จลุล่วงในระยะยาวโดยรัฐแต่อย่างใด

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อาจไม่ได้สร้างอันตรายให้เราตื่นกลัวได้ทันที แต่ก็เป็นเสมือนกับภัยเงียบที่ค่อยๆ ทำลายสุขภาพของเราทุกคนอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงเด็กเล็กที่ต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นมีหลากหลาย เพราะฝุ่น PM 2.5 มีส่วนผสมของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สังกะสี แมกนีเซียม ซึ่งเมื่อสูดสารเหล่านี้เข้าไปเป็นเวลานานจะทำให้ไตทำงานหนัก นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 ยังมีแนวโน้มจะทำให้เกิดโรค เช่น โรคผิวหนัง มะเร็งปอด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหลอดเลือดในสมองตีบ

เมื่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเช่นสังคมไทย ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ปัญหานี้จะเข้าไปเผชิญและผสมโยงใยไปกับสภาพความเหลื่อมล้ำ เพราะคนที่มีฐานะแตกต่างกันก็ย่อมมีปฏิสัมพันธ์กับปัญหาแตกต่างกันไป ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะลองเสนอบทวิเคราะห์สั้นๆ เพื่ออธิบายถึงสามแง่มุมที่เชื่อมโยงปัญหาฝุ่น PM 2.5 กับสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำกับต้นตอของปัญหา ความเหลื่อมล้ำกับความเสี่ยงในการเผชิญปัญหา และความเหลื่อมล้ำกับต้นทุนที่แต่ละคนจะต้องแบกรับ

แม้บทความนี้จะให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 แต่การวิเคราะห์หลายอย่างก็พอจะมีประโยชน์ในการช่วยมองปัญหาที่สร้างความเสี่ยงทางสุขภาพอื่นๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้เช่นกัน

 

ความเหลื่อมล้ำกับต้นตอของฝุ่น PM 2.5: คนรายได้น้อยมักไม่ได้มีส่วนในการสร้างขึ้น

 

ฝุ่น PM 2.5 ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดในช่วงนี้มาจากไหน? จากการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย พบว่าคำตอบคือมาจากกิจกรรมหลักๆ 4 กิจกรรมหลักคือ

  1. การเผาไหม้ จากบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้วปล่อย PM 2.5 มากที่สุดถึง ร้อยละ 54 ต่อปี
  2. การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์จากเครื่องยนต์ โดยเฉลี่ยแล้วปล่อย PM 2.5 ประมาณร้อยละ 13 ต่อปี
  3. การผลิตไฟฟ้า ทำให้มีการปล่อย PM 2.5 สู่อากาศ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 8 ต่อปี
  4. สารเคมีและอุตสาหกรรมการผลิต พบมากในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยปล่อย PM 2.5 ราวๆ ร้อยละ 17 ต่อปี

ความเหลื่อมล้ำเชื่อมโยงกับที่มาของฝุ่น PM 2.5 อย่างไร? หากวิเคราะห์กิจกรรมหลักๆ ที่เชื่อมโยงกับการเกิดขึ้นของฝุ่น PM 2.5 แล้ว จะพบว่ากิจกรรมเหล่านั้นล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่คนกลุ่มที่มีรายได้น้อยมักไม่ได้มีส่วนในการสร้างขึ้น ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ สารเคมีหรืออุตสาหกรรมการผลิต ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากทุนขนาดใหญ่

ในขณะที่การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์นั้น จริงอยู่ที่คนกลุ่มรายได้น้อยคงมีส่วนอยู่บ้าง แต่เนื่องจากพวกเขามักจะต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ บทบาทของพวกเขาจึงเทียบไม่ได้กับคนกลุ่มรายได้สูงที่มักจะมีรถยนต์ส่วนตัวใช้กัน เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้า ที่คนรายได้น้อยก็มักจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่น้อยกว่าคนกลุ่มที่รายได้สูง หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ

 

ความเหลื่อมล้ำกับความเสี่ยงจากฝุ่น PM 2.5: คนรายได้น้อยต้องแบกรับความเสี่ยงมากกว่า

 

แม้จะเห็นภาพคร่าวๆ ว่าคนรายได้น้อยไม่ได้มีส่วนสำคัญในการก่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขึ้น แต่ในทางกลับกัน พวกเขากลับเป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากปัญหานี้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ โดยหนึ่งในสภาพหลักที่สร้างความเสี่ยงที่จะได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกายนั้น คือสภาพแวดล้อมในการเดินทาง เพราะฉะนั้นความเสี่ยงนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะโยงอยู่กับความเหลื่อมล้ำในมิติด้านการคมนาคมขนส่ง

การที่คนรายได้น้อยมักจะเข้าถึงได้เพียงการขนส่งสาธารณะบางรูปแบบ เช่น รถเมล์ และต้องใช้เวลาบนท้องถนนนานหลายชั่วโมงต่อวัน เพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะต้องสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ คนกลุ่มที่รายได้สูงก็ยังมีโอกาสในการหาที่อยู่อาศัยในทำเลที่เดินทางสะดวกกว่า และสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือใช้ขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ซึ่งทำให้พวกเขาเผชิญกับความเสี่ยงที่น้อยกว่ามาก

หรือหากจะพิจารณาต่อไปถึงสภาพการทำงาน ก็จะพบสภาวะที่คล้ายกัน คนที่รายได้น้อยมักจะอยู่ในสภาพการทำงานที่เสี่ยงจะเผชิญมลภาวะทางอากาศมากกว่า งานวิจัยของ Zheng et al. (2019) วิเคราะห์การใช้จ่ายและสภาพการทำงานในช่วงมลพิษสูงของประเทศจีน พบว่ากลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงจะใช้เวลาอยู่ในอาคารมากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ช่วยให้พวกเขาปลอดภัยจากปัญหามากกว่า

 

ความเหลื่อมล้ำกับต้นทุนจากปัญหาฝุ่น PM 2.5: ครัวเรือนยากจนแบกภาระมากกว่าโดยเปรียบเทียบ

 

อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ต้นทุนที่คนในแต่ละกลุ่มรายได้จะต้องแบกรับจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้นมีความแตกต่างกันขนาดไหน ทั้งในด้านของต้นทุนในการป้องกันตนเองจากปัญหา หรือแม้กระทั่งต้นทุนที่จะเกิดขึ้นหากร่างกายของพวกเขาต้องเผชิญภาวะเจ็บป่วย เข่น ค่ารักษาพยาบาล

ในการวิเคราะห์ถึงความสามารถในการป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 นั้น ผู้เขียนจะลองวิเคราะห์ผ่านการเปรียบเทียบรายจ่ายของครัวเรือนยากจนกับราคาอุปกรณ์ป้องกันมลภาวะจากฝุ่น ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาระที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนยากจนนั้นมากเพียงใด

การสำรวจของผู้วิจัยเอง บวกกับงานศึกษาของ Greenpeace พบว่า ในสถานการณ์ปรกติทั่วไป ราคาของอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นต่างๆ ได้แก่ ราคาหน้ากากทั่วไป อยู่ที่ชิ้นละ 2.5-5 บาท (แต่ไม่สามารถกัน PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ราคาหน้ากาก N95 ชิ้นละ 20-30 บาท และราคาเครื่องกรองอากาศ เครื่องละ 3,000 บาท ขึ้นไป

จากข้อมูลข้างต้น ผู้เขียนจะลองวิเคราะห์ต่อไปโดยถือเอาหน้ากาก N95 เป็นอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 มาตรฐาน โดยให้ผู้ใช้ต้องเปลี่ยนหน้ากากประเภทดังกล่าวทุกวันตามคำแนะนำทางการแพทย์ หากคิดตามเงื่อนไขนี้แล้ว การใช้หน้ากาก N95 จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 600-900 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 400-600 บาท ในกรณีที่นับเฉพาะวันทำงาน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ยของครัวเรือนยากจนในแต่ละปี ดังที่แสดงในตารางด้านล่างนี้ จะพบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับหน้ากากอนามัยคิดเป็นกว่าร้อยละ 6-10 ของรายจ่ายต่อเดือนปกติของครัวเรือนยากจน

 

ที่มา: จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน

 

และเมื่อศึกษารายจ่ายของครัวเรือนที่เส้นความยากจนเพื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น จะพบว่าเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่เส้นความยากจนที่อยู่ในช่วง 2,100 – 2,700 บาทต่อเดือนแล้ว ค่าใช้จ่ายในการมีหน้ากาก N95 ไว้ใช้จะคิดเป็นกว่าร้อยละ 15-28 ของรายจ่ายต่อเดือนปกติของครัวเรือนยากจน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

 

ที่มา: จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน

 

ทั้งนี้ การวิเคราะห์สัดส่วนของค่าใช้จ่ายข้างต้นนั้นยังไม่ได้คำนึงถึงว่า มีความเป็นได้สูงที่ในแต่ละครัวเรือนจะมีจำนวนคนที่จะต้องใช้อุปกรณ์ เช่น หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น มากกว่าหนึ่งคน ซึ่งจะทำให้รายจ่ายที่เกิดขึ้นมากขึ้นไปเป็นทวีคูณ เพราะฉะนั้นแล้ว สัดส่วนรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นจริงกับครัวเรือนยากจนนั้นย่อมมีโอกาสสูงขึ้นไปมากกว่าตัวเลขข้างต้นมาก

และหากมองต่อไปถึงต้นทุนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งก็คือต้นทุนในการรับมือกับปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ภาพที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ต่างกัน คือคนกลุ่มที่รายได้น้อยจะต้องแบกรับต้นทุนในสัดส่วนที่สูงกว่ามาก

การสำรวจงานศึกษาหลายชิ้นพบว่าการสูดฝุ่น PM 2.5 จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจหลายโรค เช่น โรคภูมิแพ้ หรือ ระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคมะเร็งปอด โดยในแต่ละโรคนั้นสามารถแจกแจงค่ารักษาพยาบาลได้เป็นกลุ่มๆ ดังนี้

 

ที่มา: https://wealthmeup.com/เปิดค่ารักษาโรคจากpm-2-5/

 

หากนำค่ารักษาพยาบาลในกรณีต่างๆ ข้างต้นไปเปรียบเทียบกับรายจ่ายของครัวเรือนยากจน ก็จะพบว่าครัวเรือนที่ยากจนนั้นแทบจะไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแบกรับต้นทุนในการรักษาพยาบาลความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เองเลย โดยจะมีทางพึ่งพิงเดียวในการรักษา คือจะต้องอาศัยสวัสดิการด้านสุขภาพจากรัฐเท่านั้น

การวิเคราะห์ทั้งหมดที่ได้นำเสนอไปนั้นให้ภาพรวมได้ว่า แม้กลุ่มคนที่รายได้น้อยจะมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 น้อยกว่าคนกลุ่มที่รายได้สูงกว่า แต่พวกเขากลับเป็นกลุ่มที่ต้องรับความเสี่ยงที่มากกว่าในการได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกาย และยังมีศักยภาพในการแบกรับต้นทุนจากการป้องกันและการรักษาพยาบาลได้น้อยกว่ามาก สภาพเช่นนี้ย่อมซ้ำเติมความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอยู่แล้วกับชีวิตของพวกเขาให้มากขึ้นไป

         

อ้างอิง

[1] ธร ปีติดล และ ภวินทร์ เตวียนันท์ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย (2016) ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน ต้องแก้อย่างไรให้ตรงจุด 

Nathan Cooper et al. (2019). Inequalities in exposure to the air pollutants PM2.5 and NO2 in Australia. Environmental Research Letters.

Siqi Zhenga , Cong Suna and Matthew E. Kahnb. Self-Protection Investment Exacerbates Air Pollution Exposure Inequality in China.

Zheng SQ, Cao J, Kahn ME, Sun C (2014) Real estate valuation and cross-boundary air pollution externalities: Evidence from Chinese cities. J Real Estate Financ 48(3): 398–414.

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ (2019) ฝุ่นพิษ PM2.5 และความเหลื่อมล้ำของเมืองใส่หน้ากาก

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ (2019) ประชาชนหรืออุตสาหกรรม ใครได้ผลประโยชน์จากฝุ่นพิษ PM 2.5

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save