fbpx

“การตั้งคำถามไม่ใช่เรื่องผิด” พลอย ทะลุวัง กับเสียงเรียกร้องแห่งยุคสมัย

ในวัย 17 ปี เธอออกจากบ้าน ละทิ้งโรงเรียน ลงถนน เพื่อส่งเสียงเรียกร้องแห่งยุคสมัย บอกเหล่าผู้สูงวัยที่เกาะกุมอำนาจว่าเสียงของคนรุ่นเธอมีความหมาย บ้านเมืองไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

พลอย-เบญจมาภรณ์ นิวาส เริ่มต้นเส้นทางนักกิจกรรมจากการเคลื่อนไหวกับกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษา ต่อมาเธอออกจากกลุ่มและมาร่วมกับ ‘ทะลุวัง’ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เน้นการทำโพลในที่สาธารณะ โดยถือป้ายกระดาษให้คนทั่วไปร่วมติดสติกเกอร์เพื่อเลือกตอบคำถามตามประเด็นที่ตั้งไว้

ในยุคที่เสียงเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของการเมืองร่วมสมัย คำถามต่างๆ ของทะลุวังก็เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อย่างสอดคล้องกัน

การตั้ง ‘คำถาม’ ไม่ใช่เรื่องผิด ตราบใดที่เราไม่ได้อยู่ในสังคมเผด็จการที่มีอำนาจนำอันตรวจสอบไม่ได้

‘คำตอบ’ ที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เรื่องอันตราย หากมันไม่นำไปสู่การสะท้อนสะเทือนถึงสภาพอันกล้ำกลืนของสังคมไทย

พลอยเป็นหนึ่งในเยาวชนจำนวนมากที่ออกมาสะท้อนความไม่พอใจอันขยายตัวกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในวัย 17 เธอถูกแจ้งข้อหาด้วยมาตรา 112 สองคดี รวมถึงคดีอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหาจากการที่เธอออกมาประท้วงทั้งสิ้นเก้าคดี

การนัดสัมภาษณ์พลอยเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่เพื่อนในกลุ่มทะลุวังของเธอ บุ้ง-เนติพรและใบปอ-ณัฐนิช ถูกจองจำโดยที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด เช่นเดียวกับผู้ต้องหาคดีการเมืองคนอื่นๆ อีกนับสิบ

วันที่เพื่อนถูกนำตัวเข้าเรือนจำ พลอยโกนหัวประท้วงทั้งน้ำตา น่าเศร้าที่ภาพนั้นคงสร้างแรงสั่นสะเทือนเฉพาะกับคนที่มีหัวใจ

ท่ามกลางเสียงสะท้อนของความไม่พอใจแห่งยุคสมัย รัฐไทยเลือกยัดคนใส่คุกเพื่อไม่ให้เสียงของการตั้งคำถามเล็ดรอด แต่ยิ่งนานวันคำถามนั้นยิ่งขยายตัว

มาตรา 112 ที่เพื่อใช้ปกป้องสถาบันหลักของชาติ ถูกนำมาใช้กับคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากปี 2563 ที่รัฐบาลประกาศจะบังคับใช้ ‘กฎหมายทุกมาตรา’ กับผู้ชุมนุมต่อต้าน ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 211 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 16 คน (ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

การประท้วงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้บอกอะไรเราไม่น้อย เมื่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มปรากฏคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากเป็นเยาวชน เด็กจำนวนมากออกมาส่งเสียงถึงความไม่พอใจในสภาพสังคมที่ผู้ใหญ่จะส่งต่อมาให้

การออกมาตั้งคำถามถึงปัญหาและยืนยันถึงความมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องอันตรายจนทำให้รัฐมุ่งหมายจะวาดอนาคตของเยาวชนให้อยู่ในคุกตะราง

280 คือตัวเลขจำนวนเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีเพราะออกมาชุมนุมและแสดงความเห็นทางการเมือง นับจากการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก

ในความผิดปกตินี้คำถามที่เกิดขึ้นจึงไม่น่าจะใช่ “เกิดอะไรขึ้นกับเยาวชนของเรา” คำถามที่ควรหาคำตอบคือ “เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา”

เริ่มมาเคลื่อนไหวร่วมกับทะลุวังตั้งแต่เมื่อไหร่

เมื่อ ธ.ค. 2564 สายน้ำ (นภสินธุ์), ตะวัน (ทานตะวัน) และใบปอไปทำโพลเรื่องยกเลิก 112 เราเป็นเพื่อนทำกิจกรรมด้วยกัน แล้วก็เริ่มกิจกรรมทำโพลตั้งแต่นั้น พอตั้งกลุ่มกันเราก็ไปช่วยเป็นเบื้องหลัง ตอนหลังสายน้ำกับตะวันออกจากกลุ่มก็มีเมนู (สุพิชฌาย์) เข้ามาทะลุวังแทน กิจกรรมหลังจากนั้นคนจะเห็นว่ามีพลอย, เมนู, ใบปอ สามคน

ทะลุวังไม่มีวัฒนธรรมองค์กร ใครสนใจประเด็นไหนก็ทำเรื่องนั้น แต่เรามุ่งเน้นไปที่การตั้งคำถาม ต้องการสอบถามความเห็นของประชาชนทั่วไป เพราะส่วนใหญ่เวลาไปม็อบเราจะเห็นคนที่เป็น active citizen หรือนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่แล้ว มีความเห็นทางการเมืองที่ชัดเจน เราจึงต้องการสำรวจความเห็นทางการเมืองของประชาชนทั่วไปบ้าง โดยไปถามประชาชนที่เดินห้าง ส่วนหนึ่งคือเราเห็นว่าคนเริ่มมาม็อบน้อยลง เราจึงต้องการเคลื่อนไหวควบคู่ไปกับขบวนการอื่นๆ โดยมีจุดประสงค์เดียวกันคือเราต้องการประชาธิปไตย

มีการกำหนดขอบเขตไหมว่าจะเคลื่อนไหวเรื่องอะไรบ้าง

ทะลุวังขับเคลื่อนหลายเรื่อง เพราะเรามาจากกลุ่มนักกิจกรรมที่หลากหลาย เช่นตัวเราขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาและเด็กเป็นหลัก มีคนที่ขับเคลื่อนเรื่องเพศ เราทำหลายแง่มุมแต่มุ่งเน้นที่การตั้งคำถาม เช่นเรื่องสถาบันกษัตริย์ การเสียภาษี เรื่องที่ดิน

เรามีการประเมินความเสี่ยงว่าจะพูดถึงประเด็นไหนในแต่ละงาน แต่ก็มองเห็นข้อผิดพลาดเหมือนกันว่าเราตั้งคำถามไว้แล้วไม่ได้ทำต่อ เพราะมีประเด็นเยอะมาก ทั้งที่ในหลายเรื่องเราอยากเคลื่อนไหวต่อ แต่เนื่องจากคนน้อย ไม่ค่อยมีเวลา แต่ละคนมีคดี มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

เวลาไปทำโพลในที่สาธารณะเรามองเห็นอะไรบ้าง

เห็นคนหลากหลาย บางคนเดินมาเหวี่ยงใส่ บางคนเดินรีบๆ มาติดสติกเกอร์ บางคนก็เดินผ่านไปเลยไม่สนใจ ประเด็นที่คนให้ความสนใจเยอะคือคำถามที่ว่า “คุณต้องการจ่ายภาษีเลี้ยงราชวงศ์หรือไม่?” มีคนมาร่วมติดสติกเกอร์ตอบคำถามเยอะมากว่า ไม่ต้องการ

มันเป็นเพียงการตั้งคำถาม เพราะเราเห็นว่างบประมาณแต่ละปีใช้จ่ายไปกับสถาบันฯ สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นงบซุ้มเฉลิมพระเกียรติ งบที่ถูกสอดแทรกไปตามกระทรวงต่างๆ งบโครงการหลวง ปีละเป็นหมื่นๆ ล้าน ซึ่งเยอะมากและตรวจสอบไม่ได้ เงินจำนวนนี้ในแต่ละปีสามารถเอาไปต่อชีวิตผู้คนได้มากมาย แต่เราเอาไปทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ทำโครงการที่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์จริงๆ

คิดไหมว่าการทำโพลจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดี

เราคิดว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เรื่องผิด แต่กฎหมายต่างหากที่ไม่เป็นธรรม การตั้งคำถามไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลย ไม่ใช่การดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันใด เราตั้งคำถามเพราะต้องการเห็นคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น สิ่งที่เราทำไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหาคือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ยุติธรรมจริงๆ

การออกมาตั้งคำถามแล้วทำให้เราโดนดำเนินคดีนั้น เราต้องตั้งคำถามไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายมีปัญหาจริงๆ มาตรา 112 ขึ้นอยู่กับการตีความและใครจะไปแจ้งความก็ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือเอาผิดและปิดปากประชาชน

หลังโดนดำเนินคดีเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจออกมาทำกิจกรรมไหม

เราเรียนรู้และระวังตัวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเวลาออกมาทำกิจกรรมก็โดนคดีเยอะจนรู้สึกเหนื่อย เราประเมินความเสี่ยงมากขึ้น เพราะตำรวจเริ่มไม่แจ้งว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว แต่จะแจ้งคดีใหญ่อย่างมาตรา 112 หรือ 116 เรามานั่งคุยกันเรื่องความเสี่ยง แต่ก็ยังส่งเสียงต่อ

ที่ผ่านมาเจอการคุกคามอย่างไรบ้างไหม

เยอะมาก นอกจากการโดนตำรวจบุกมาจับถึงห้องหรือมีการออกหมายจับเยาวชนแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเดินตามแล้วถ่ายรูป เราออกไปเดินเล่นกับเพื่อนก็มีคนเดินตาม เห็นลักษณะก็รู้เลยว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ พอเราเปลี่ยนร้านแล้วเขาก็ยังเดินตามอยู่ มีการโทรไปหาพ่อกับแม่ที่บ้าน ส่งจดหมายไปหาแม่ว่าเยาวชนคนนี้ไปร่วมทำผิดโดยใช้ชื่อปลอมจ่าหน้าซอง

บางวันก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบมานั่งเฝ้าที่ใต้คอนโด เรารู้สึกตกใจแต่ก็เริ่มชินแล้ว เริ่มหาทางรับมือว่าถ้าโดนเดินตามจะทำอย่างไร แต่ที่เป็นห่วงคือพ่อกับแม่ที่โดนคุกคามไปด้วย

การใช้ชีวิตประจำวันเราเปลี่ยน ไม่สามารถคิดแบบปกติได้ว่าอยากไปไหนก็ไปโดยไม่กลัวอะไร ต้องระวังตัวตลอดเวลา อยู่กับความหวาดระแวง ส่วนเพื่อนที่ติดกำไลอีเอ็มก็ออกจากบ้านหลังสี่โมงเย็นไม่ได้ ชีวิตเปลี่ยนไปเลย

ตอนนี้คนในกลุ่มทะลุวังคือใบปอกับบุ้งยังอยู่ในเรือนจำ รู้จักสองคนนี้ได้อย่างไร มองอย่างไรที่เพื่อนถูกขังจากการไปทำกิจกรรม

เรารู้จักกับบุ้งตั้งแต่ช่วงทำนักเรียนเลวเมื่อสองปีที่แล้ว ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนใบปอเป็นเพื่อนสายน้ำ รู้จักจากการมาทำกิจกรรมด้วยกัน เราต่างเป็นประชาชนธรรมดาทั่วไป สิ่งที่ทั้งสองคนทำไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ว่าการตั้งคำถามหรือทำโพล บุ้งแค่ช่วยแจกสติกเกอร์ด้วยซ้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจงใจกลั่นแกล้งประชาชนที่ออกมาตั้งคำถามและออกมาพูดความจริง

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผิดหลักมนุษยธรรม ศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิดด้วยซ้ำแต่ถูกส่งเข้าเรือนจำแล้ว กระบวนการกลับตาลปัตรไปหมด คดีทางการเมืองเป็นคดีอาญาก็จริง แต่มันเป็นคดีทางความคิด คุณจะปฏิบัติกับนักโทษการเมืองแบบนั้นไม่ได้ แต่รัฐทำเหมือนเราไปฆ่าใครตาย เหมือนเราไปก่อสงคราม กราดยิงหรือขับรถชนคน เหมือนเราเป็นอาชญากรทำความผิดร้ายแรง ทั้งที่เราแค่มีจุดยืนที่เห็นต่างและเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

คนในกระบวนการยุติธรรมสามารถเลือกที่จะอยู่ข้างประชาชนได้ ตำรวจสามารถเลือกที่จะไม่ฟ้องประชาชนได้ถ้าเห็นว่านี่คือการกลั่นแกล้งและเป็นความไม่เป็นธรรมตั้งแต่แรก คุณสามารถเลือกอยู่ข้างประชาชนได้ แต่คุณกลับหันหลังให้และรับใช้เผด็จการ

วันที่โกนผมประท้วงหน้าเรือนจำ (3 พ.ค. 2565) ตอนนั้นคิดอะไรอยู่

วันนั้นรู้ว่าบุ้งกับใบปอจะติดคุก เราเตรียมใจนานแล้ว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพื่อนที่ต่อสู้ด้วยกันมาจะติดคุก เราเลยตัดสินใจโกนหัวประท้วง เพราะเราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เราออกจากบ้าน ออกจากโรงเรียน ทุ่มเทให้สุดๆ แล้วกับการเปลี่ยนแปลง เราจึงเลือกโกนหัวประท้วง อีกนัยหนึ่งต้องการทำเป็นสัญลักษณ์ ครั้งหนึ่งเราเคยไปตัดผมใต้สะพานบีทีเอสในกิจกรรมของกลุ่มนักเรียนเลว คราวนี้เราโกนหัวเลย เราเรียกร้องให้กับทั้งนักโทษในเรือนจำและนักศึกษา เพราะสิ่งที่เด็กในระบบการศึกษาเจอกับสิ่งที่นักโทษในเรือนจำเจอไม่ต่างกันเลย คือการละเมิดความเป็นมนุษย์ เช่นการตัดผม บังคับใส่เครื่องแบบ เข้าแถวเคารพธงชาติ

เส้นผมสำคัญกับเราอย่างไร

เส้นผมมีความสำคัญมาก มันไม่ใช่แค่เส้นผมที่ถูกตัดไป มันคือตัวตนและอัตลักษณ์ของเราด้วยที่ถูกบังคับให้สูญหายไป การถูกตัดผมคือการกลับไปเป็นกระป๋องจากโรงงานเหมือนที่เกิดขึ้นในโรงเรียน มันคือหนึ่งในวิธีการที่เผด็จการฝึกให้คนเป็นทาส ฝึกให้คนมองไม่เห็นความแตกต่างหลากหลาย คนต้องทำผมเหมือนกัน ให้คิดเองไม่เป็น เป็นการละเมิดตัวตนและอัตลักษณ์ของคน เราควรได้ทำผมบนหัวของเราในแบบที่เราชอบตามตัวตนและอัตลักษณ์ของเรา แต่รัฐพยายามลบอัตลักษณ์คนอื่น เปลี่ยนให้ดูเหมือนๆ กัน สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่การตัดผมเฉยๆ

ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ

จากเดิมที่เคลื่อนไหวประเด็นการศึกษา พออยู่ทะลุวังแล้วเคลื่อนไหวประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯ เห็นความเสี่ยงที่แตกต่างไปแค่ไหน

มีความเสี่ยงเยอะขึ้นมาก เพราะก่อนหน้านี้ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษามาตลอดจะโดนคดีเบาๆ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่พอโดน 112 ก็โดนเพ่งเล็งมากขึ้น มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาตาม นอกจากตำรวจมาคุกคามแล้วก็มีทหารโทรหาพ่อกับแม่ เขาบอกว่าโทรมาจากกระทรวงศึกษาธิการ อยากให้เรากลับไปเรียน แต่พอแอดไลน์ไปใต้โปรไฟล์เขาขึ้นชื่อหน่วยงานหนึ่งของทหาร

การออกมาทำกิจกรรมเปลี่ยนชีวิตไปแค่ไหน

เปลี่ยนไปมากเลย ในสองปีนี้เราออกจากบ้านมาใช้ชีวิตคนเดียว โดนตัดค่าใช้จ่าย ออกจากโรงเรียน และคิดว่าไปจะสอบเทียบหลักสูตร GED

ช่วงแรกที่ทำกิจกรรมในกลุ่มนักเรียนเลว มีเพื่อนที่เช่าห้องอยู่แล้วชวนเราไปอยู่ด้วย ลังเลอยู่ 2-3 วัน แล้วเราก็ออกจากบ้านมาเลย มันมีความอึดอัดมานานแล้ว คิดว่าสักวันหนึ่งจะออกไป พอมีโอกาสก็เลือกที่จะไป ดีกว่าจมอยู่กับปัญหาเดิมๆ

คุยกับที่บ้านบ้างไหม

คุยกับแม่และน้อง ที่บ้านบอกตลอดว่าให้เราหยุด สิ่งที่เราทำมันสุดโต่งเกินไป แต่เราคิดว่ามันไม่ได้สุดโต่ง เป็นเรื่องปกติที่ประชาชนจะออกมาตั้งคำถามหรือเรียกร้องเรื่องอะไร การรวมตัวกันออกมาเรียกร้องเป็นเรื่องปกติในประเทศอื่น แต่พอมีเยาวชนในไทยออกมาเรียกร้องเยอะๆ กลายเป็นเรื่องแปลก เขาไม่เคยเห็นก็ตกใจ

เราคุยกับที่บ้านมาโดยตลอด แต่เขาไม่รับฟัง พอการคุยไม่เกิดผลอะไรแล้ว ก็ออกมาเลยเพราะคิดว่าถ้าต่อรองเราจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เขาก็จะต่อรองไปเรื่อยๆ เหมือนรัฐที่พอเราต่อรองขอเรื่องอะไรเขาก็ไม่ฟังเรา

ในนักกิจกรรมรุ่นๆ เดียวกัน มีคนที่ออกจากบ้านเยอะไหม

เยอะ แทบทุกคนมีปัญหากับครอบครัว บางคนออกจากบ้านมาเลย แต่บางคนยังต้องอยู่ที่บ้านต่อ เพราะยังไม่มีที่ไป บางคนลาออกจากโรงเรียนมาขับเคลื่อนแล้วสอบ GED กัน แต่ละคนพอออกมาจากความรุนแรงที่เกิดในครอบครัวและได้มาอยู่ด้วยกัน ดูแลกัน มีการรับฟังเสียงของเพื่อนกัน ดูแลกันไปเรื่อยๆ มีความสุขกว่าการอยู่กับครอบครัวที่ไม่เข้าใจเรา

คิดว่าอะไรทำให้คนรุ่นเราเจอสถานการณ์คล้ายกันจำนวนมาก

คิดว่ามาจากระบบการศึกษาและการเมืองที่ปูพื้นมาผิดพลาดตั้งแต่ต้น คนรุ่นพ่อแม่เราเจอความรุนแรงจากคนรุ่นก่อน สุดท้ายความรุนแรงนั้นมาตกที่รุ่นเรา สังคมเรากดหัวประชาชนจนมองไม่เห็นว่าการเคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่นเป็นอย่างไร ระบบเศรษฐกิจก็ทำให้สุขภาพจิตผู้ใหญ่แย่และส่งผลกระทบมาถึงเด็กด้วย โครงสร้างหลายอย่างทับซ้อนกัน เด็กเป็นกลุ่มคนที่อำนาจน้อยที่สุดในสังคมและได้รับผลกระทบมากที่สุด

นอกจากนี้มีเรื่องความคิดเชิงวัฒนธรรมที่กรอกหัวเราว่า เราต้องเป็นคนกตัญญู พ่อแม่ต้องดูแลลูก ต้องสั่งสอนลูกให้เป็นคนดีในกรอบของสังคม โดยที่ไม่ได้ถามลูกว่าต้องการมีชีวิตอย่างไร แล้วยังมีความคาดหวังของพ่อแม่ที่มันไม่สำเร็จในรุ่นเขา ก็เลยมากดดันในรุ่นเรา ให้ลูกรีบโต เพื่อที่จะรีบไปทำงาน ไหนจะการทวงบุญคุณเรื่องการให้กำเนิด มองลูกเป็นทรัพย์สินของตัวเองที่ต้องเชื่อฟังพ่อแม่

เป็นไปได้ไหมที่ครอบครัวจะคิดต่างแล้วอยู่ร่วมกันได้

เป็นไปได้ แต่สิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้นกับครอบครัวที่พ่อแม่รับฟังลูก มันเป็นไปได้อยู่แล้วถ้าพ่อแม่หันมารับฟังความเห็นของเด็ก หันมาโอบอุ้ม ดูแลและไม่ทอดทิ้งเด็ก เพราะเด็กเป็นคนที่มีอำนาจน้อย ในทางกฎหมายการออกมาใช้ชีวิตคนเดียวโดยไม่มีผู้ปกครองมันยากมาก เราไม่มีรัฐสวัสดิการโอบอุ้มเด็ก ทำให้เด็กต้องพึ่งพาพ่อแม่

เราอยู่ในสังคมเพื่อนนักกิจกรรมวัยเดียวกัน ทุกคนมีปัญหากับครอบครัวหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กน้อยยิบย่อยหรือปัญหาใหญ่ ทุกคนมีปัญหา มีน้อยมากที่จะมีพ่อแม่คอยซัปพอร์ต พ่อแม่บางคนก็เข้าใจลูกแต่มีน้อยมาก

ผู้ใหญ่มักมองว่าเด็กยังอายุน้อย ตัดสินใจอะไรได้ไม่ดีพอ

เป็นอีกหนึ่งความคิดเชิงวัฒนธรรม คิดแทนว่าเด็กไม่สามารถคิดเองได้ ไม่มีปัญญาจะคิดเอง ทั้งที่มนุษย์ทุกคนมีปัญญาที่จะเรียนรู้ได้ สิ่งที่อยากจะให้ผู้ใหญ่ทำคือเสนอทางเลือกมา ไม่ต้องคิดหรือตัดสินใจแทนเด็กว่าจะเลือกทางไหน และอยากให้อยู่เคียงข้างเด็กมากกว่าที่จะชี้นำหรือสั่งสอน

จุดไหนที่ทำให้เราเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษามาเป็นเรื่องการเมือง

เราเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ปี 2562 เราอยู่ ม.2 ช่วงนั้นทวิตเตอร์บูม แล้วมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่ เราสนใจเพราะไม่เคยมีพรรคไหนอย่างนี้ พรรคเดิมๆ ที่มีไม่สามารถซื้อใจเราได้ พรรคอนาคตใหม่ทำให้เราสนใจการเมืองมากขึ้น ก่อนนี้เรื่องการเมืองสำหรับเราเป็นแค่มีมที่เล่นกันว่าอย่าพูดนะเดี๋ยวกินพิซซ่า พอสนใจการเมืองก็คิดว่าถึงเวลาที่ต้องพูด มากกว่าจะให้มันเป็นแค่มุกตลก

เราเบิกเนตรจากการตามแอ็กเคาต์ ‘นิรนาม_’ ในทวิตเตอร์ ไปตามอ่านเรื่องที่เขาตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้เราอยากขับเคลื่อนการเมือง จนเรามีโอกาสได้รู้จักกับเนติวิทย์ (โชติภัทร์ไพศาล) ครั้งหนึ่งเขาขอรายชื่อนักเรียนร่วมคัดค้านกฎทรงผม เราไปร่วมลงชื่อและไปขับเคลื่อนเรื่องระบบการศึกษา เรามีโอกาสได้พูดเรื่องการเมืองควบคู่กับเรื่องระบบการศึกษา เพราะมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

ตอนปี 2557 รับรู้เรื่องการรัฐประหารอย่างไร

ตอนนั้นน่าจะสัก ป.5 นั่งอยู่หน้าทีวีแล้วงงว่าถ่ายทอดสดอะไร จะดูการ์ตูน ยายดีใจมากว่าในที่สุดก็มีคนมารักษาความสงบของบ้านเมือง ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น จนคณะรัฐประหารเริ่มยัดเยียดอะไรแปลกๆ เข้ามาในแบบเรียน อย่างค่านิยม 12 ประการที่ครูให้ท่อง

ตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหว มีเสียงวิจารณ์แบบไหนมากสุด

ส่วนใหญ่จะเป็นคำด่า บอกว่าเรารับเงินจากทักษิณ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เวลาเจอแบบนี้คิดว่าถ้ารับเงินจริงเราไม่อยู่ประเทศนี้แล้ว (หัวเราะ) ที่จริงเรามองเห็นว่าทักษิณคงไม่สนับสนุนพวกเรา หลายครั้งทักษิณออกมาปกป้องสถาบันฯ ขณะที่เราตั้งคำถามกับสถาบันฯ

คนรุ่นนี้มองทักษิณ ชินวัตรอย่างไร

ตอนนี้หมดยุคทักษิณแล้ว หมดเวลาของทักษิณแล้ว มองว่าเป็นคนรุ่นเก่าที่ครั้งหนึ่งเคยเจอความไม่ยุติธรรมในประเทศนี้เหมือนกัน สุดท้ายต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ พอตอนนี้เห็นทักษิณออกมาปกป้อง ไม่ให้ปฏิรูปสถาบันฯ เราก็มองว่าทักษิณเป็นคนรุ่นเก่า เราไม่ได้ต้องการให้เขากลับมาบริหารบ้านเมืองแล้ว อยากให้เป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสมาบริหารบ้านเมืองมากกว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าๆ หน้าเดิมๆ วนลูปแบบนี้

ส่วนตัวต้องการเห็นสถาบันฯ เปลี่ยนแปลงปรับตัวอย่างไร

อยากให้รับฟังความเห็นของประชาชนและไม่แทรกแซงทางการเมือง ต้องการให้งบประมาณต่างๆ ตรวจสอบได้โดยประชาชน หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เพื่อให้มีการตั้งคำถามได้

ผู้ใหญ่มักมองเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าทำอะไรเสี่ยง คล้ายยังไม่รู้ถึงราคาที่ต้องจ่าย เรารับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ที่ตามมาดีแค่ไหน

รับรู้ดีและเตรียมใจไว้นานแล้ว ที่จริงเราเจอความเสี่ยงขนาดนี้เพราะออกกันมาไม่กี่คน ทำให้รัฐเพ่งเล็งง่าย คงดีกว่านี้ถ้ามีคนออกมาทำโพลเหมือนเราเยอะๆ ออกมาพูดเรื่องนี้มากขึ้น อาจมีความเสี่ยงน้อยลง ถ้าเรามีคนเยอะมากกว่านี้ในการกดดันรัฐไม่ให้ดำเนินคดีหรือให้คดีเป็นไปอย่างยุติธรรม เราก็คงได้รับผลกระทบน้อยลงกว่านี้

กลัวไหม ถ้าวันหนึ่งถึงที่สุดแล้วต้องเข้าเรือนจำ

ถ้าถามว่ากลัวไหม ก็กลัวนะ (ยิ้ม) ไม่มีใครอยากเข้าไปอยู่ในคุกหรอก คุกไม่ใช่ที่ที่คนจะเข้าไปอยู่ได้ ต่อให้ใส่กำไลอีเอ็มก็ไม่ดี เราไม่ได้อยากโดนคดี แต่ถ้าถึงนาทีที่รัฐยัดคุกหรือกำไลอีเอ็มมาให้ก็คงต้องทำใจ จากที่เห็นเพื่อนที่ใส่กำไลอีเอ็ม นอกจากทำให้สุขภาพจิตแย่แล้วต้องดูแลตลอด แบตฯ จะหมดไหม ต้องคอยชาร์จ มันมาพร้อมเงื่อนไขการจำกัดอิสรภาพ ห้ามออกจากบ้านตอนกลางคืน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หลายประเทศไม่ใช้อีเอ็มเพราะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ศาลก็ยังไม่ได้ตัดสินว่าผิดเลย แต่ก็ให้ใส่อีเอ็มหรือส่งเข้าเรือนจำแล้ว

ความกลัวของพลอยคืออะไร

กลัวที่จะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว กลัวที่จะไม่ได้ใช้ชีวิตอิสระแล้ว เช่นวันหนึ่งอาจจะต้องถูกส่งไปเรือนจำ กลัวคนรอบข้างจะมีปัญหาไปด้วย กลัวพ่อแม่จะโดนคุกคามเดือดร้อนไปด้วย

การเป็นเยาวชนทำให้เราเจอกระบวนการยุติธรรมในคดีการเมืองต่างไปแค่ไหน

กระบวนการยุติธรรมของเยาวชนจะมีขั้นตอนเยอะกว่า จะทำอะไรต้องมีพ่อแม่ไปด้วย เหมือนเป็นการยืดเวลาให้เราเข้าสถานพินิจช้าลง มีขั้นตอนเยอะ เสียเวลา ช้าเกินไป มีอยู่ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่พูดว่ามีอะไรก็คุยกันดีๆ นะ ใจเย็นๆ ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นคดีทางการเมือง แต่เขาพูดเหมือนว่าเป็นเรื่องเด็กทะเลาะกับพ่อแม่แล้วหนีออกจากบ้าน และมีแบบสอบถามของสถานพินิจที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย กระบวนการเหล่านี้มีขึ้นเพื่อทำคดีเยาวชนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยจริงๆ

เรามองว่าสถานพินิจแย่พอๆ กับเรือนจำ มันไม่ใช่ที่สำหรับเด็ก ไม่ใช่ที่ที่เด็กจะเข้าไปเรียนรู้และปรับตัวเติบโตได้ ในความเป็นเยาวชนหลายครั้งมันช่วยปกป้องเราจากภัยคุกคาม แต่สุดท้ายรัฐก็ไม่ได้สนใจ เขาก็ออกหมายจับเยาวชนอยู่ดี ทั้งที่ควรมีเกราะคุ้มครองเยาวชน เราไม่ควรเจอความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐควรเคารพสิทธิเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว

เคยเสียดายไหมว่าเราเป็นวัยรุ่นควรได้ใช้ชีวิตสนุก

ที่เสียดายคือเวลาที่ไปศาล ไปสน. มากกว่า มันเหนื่อยและใช้เวลานาน แต่ถามว่าได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นไหม เราได้ใช้มากกว่าการนั่งเรียนในโรงเรียนอีก พอออกจากโรงเรียนแล้วได้ทำกิจกรรมกับเพื่อน ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างที่ไม่มีสอนในห้องเรียน ได้ออกมาใช้ชีวิตในทางที่ตัวเองเลือกจริงๆ สนุกและคุ้มมาก

ทุกวันนี้ถ้าไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมเราก็อ่านหนังสือ วาดรูป ดูการ์ตูน เหมือนเด็กคนอื่น เรื่องค่าใช้จ่ายก็มีเงินที่เพื่อนมีอยู่แล้วกับเงินที่ได้จากการขายของ เมนูขายโปสการ์ด พลอยขายสติกเกอร์

อะไรที่ทำให้คิดว่าต้องทุ่มเทให้การเคลื่อนไหว

เรามองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงใช้เวลานาน เพราะปัญหาคืออำนาจนิยมที่ฝังรากมานานแล้ว เราคงขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ พร้อมการใช้ชีวิต ได้ทำสิ่งที่ชอบ เช่น วาดรูป ดูหนัง ทำไปเรื่อยจนกว่าจะเห็นสังคมดีขึ้นจริงๆ เราทนเห็นคนที่เจอความอยุติธรรมไม่ได้ ทนเห็นคนมีคุณภาพชีวิตแย่ๆ ไม่ได้ ทนเห็นการกดขี่ไม่ได้อีกแล้ว

มันมีความโกรธแค้น เราทนไม่ไหวแล้วกับคุณภาพชีวิตแบบนี้ และมีความรู้สึกรักด้วย เราอยากเห็นประชาชนมีความเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น

เราต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปด้วยความไม่กลัวต่ออำนาจที่มากดทับ ถ้ากลัวก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในความกล้านั้น ต้องมาพร้อมการประเมินความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบตัวด้วย ดูว่าเพื่อนมีความพร้อมมากแค่ไหน เราอยากสร้างความมั่นคงให้ขบวนการเคลื่อนไหวมากไปพร้อมๆ กับการออกมาต่อสู้อย่างกล้าหาญด้วย

ราคาที่เราจ่ายไปมันคุ้มไหม

คุ้มนะ การออกจากบ้าน ออกจากระบบการศึกษา ล้มลุกคลุกคลาน อย่างน้อยในความยากลำบากและความเหนื่อยนั้นคือความภาคภูมิใจที่เราได้ออกมาใช้ชีวิตเอง ทำตามเส้นทางของตัวเองดีกว่าต้องอยู่ในกรอบของครอบครัวแล้วให้คนอื่นมาบงการ เราไม่สยบยอมกับทุกอำนาจที่กดขี่แม้แต่ในครอบครัว เราจึงออกมาจากระบบการศึกษา ออกมาจากครอบครัว ออกมาจากอำนาจที่กดทับไม่ให้เราได้ใช้ชีวิต

มองอนาคตตัวเองอย่างไร

ถ้าเป็นไปได้เราอยากอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เสียงของประชาชนถูกรับฟัง ประเทศมีรัฐสวัสดิการ สามารถโอบอุ้มประชาชนทุกคนได้ เด็กมีอนาคตที่ดีมากขึ้น สามารถเลือกเส้นทางในแบบของตัวเองได้ ไม่มีการกดทับใดๆ ทุกคนลืมตาอ้าปากได้ และแยกย้ายไปค้นหาในชีวิตของตัวเองได้ ต่อให้ล้มก็มีฟูกเป็นรัฐสวัสดิการรองรับ มีที่อยู่ที่ดี มีบ้านให้พัก

ส่วนชีวิตเราเอง คิดว่าจะขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งเสียงเรียกร้องไปเรื่อยๆ พร้อมกับการใช้ชีวิตในแบบของตัวเองด้วย วาดรูปขายของหารายได้ สอบ GED แล้วเรียนสิ่งที่อยากเรียน เราอยากเป็นนักวาดนักเขียน อยากเห็นศิลปะเติบโต ไม่ถูกกดค่าแรง อยากเห็นเด็กๆ ทุกคนมีความฝันที่หลากหลาย

มีความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงไหม

เรามีความหวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะทุกวันนี้เรายังเห็นคนต่อสู้อยู่ มีเด็กออกมาเรื่อยๆ เด็กที่ออกมาก็อายุน้อยลง มีเด็กสนใจการเมืองมากขึ้น โลกเปลี่ยนไปแล้ว คนแก่หรือความคิดเก่าๆ ก็ค่อยๆ ล้มตายไปทีละชุด มีเด็กรุ่นใหม่มากขึ้นที่มองเห็นสิทธิของตัวเอง มีตัวตนและอัตลักษณ์มากขึ้นจากโลกที่เปลี่ยนไป เด็กก็มีพัฒนาการมากขึ้น มันมีความหวังมากกว่าเดิม

เมื่อมองทางออกของปัญหาการเมือง การหาทางประนีประนอมกันยังใช้ได้สำหรับคนรุ่นใหม่ไหม

เราไม่ได้สุดโต่งเกินไป เราออกมาเรียกร้องสิ่งที่ควรจะได้ เสียงของเราต้องถูกรับฟัง เราพูดถึงคุณภาพชีวิตที่เราต้องการ เรื่องสิทธิและเสรีภาพที่เราควรมี เราจะสู้จนกว่าจะได้ เพราะมันคือชีวิตและอนาคตของเราที่จะต้องไปต่อ เรายังต้องใช้ชีวิตอีกยาวในประเทศนี้ เราอยากมีที่อยู่ที่สบาย มีอนาคตและความฝันที่จับต้องได้

เราอยากสร้างสังคมที่เด็กและคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสออกแบบให้เขาได้ใช้ชีวิตเยอะๆ อย่างเรื่องกฎทรงผมในโรงเรียน เราเคยไปประชุมกับเจ้าหน้าที่ในกระทรวง เราต้องการไปประนีประนอมว่ากฎนี้มีปัญหา แต่เขายังพูดอยู่เลยว่าแล้วเด็กควรจะทำทรงผมแบบไหน ทั้งที่มันยกเลิกได้เลย แต่ผู้ใหญ่ยังคิดเล็กคิดน้อยอยู่

การประนีประนอมหรือพูดคุยเพื่อหาจุดตรงกลางจะเกิดขึ้นได้ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทุกคนรับฟังกันและมองเห็นปัญหาของกันและกัน เพื่อที่จะต้องการแก้ไขปัญหาจริงๆ โดยไม่ไปละเมิดใคร มี power sharing ของเด็กและผู้ใหญ่ แต่ในสังคมไทยแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เด็กไม่มีอำนาจเลย ในขณะที่ผู้ใหญ่มีอำนาจและสามารถเปลี่ยนกฎนั่นนี่ได้ตามใจตัวเอง ผู้ใหญ่ไม่ฟังเสียงของเด็กจริงๆ เลยทำให้ประนีประนอมไม่ได้

ทางออกเดียวก็คือต้องเอาเผด็จการออกไปและต้องเอาคนที่สนับสนุนเผด็จการออกไปด้วย ไม่อย่างนั้นก็คาราคาซังอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นจะมีคนที่หนุนและรับใช้เผด็จการไปเรื่อยๆ เผด็จการไม่ประนีประนอมจึงไม่สามารถอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่มีการรับฟังเสียงและ power sharingได้

สำหรับคนที่มองว่าทะลุวังเป็นกลุ่มเด็กหัวรุนแรง คิดเรื่องล้มล้าง เราอยากอธิบายให้เขาฟังอย่างไร

ทะลุวังไม่เคยแสดงจุดยืนว่าต้องการล้มล้างหรืออะไร เราแค่ออกมาตั้งคำถาม สำรวจความเห็นประชาชน เราเป็นกลุ่มเด็กขี้สงสัย เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เรามองว่ากดขี่และไม่เป็นธรรมในสังคม และเป็นสิ่งที่คุณต้องเจอในชีวิตประจำวันของคุณ มันคือผลกระทบที่เราทุกคนต้องเจอเหมือนกัน เราเป็นกลุ่มคนที่ออกมาตั้งคำถามและส่งเสียงเพื่อที่จะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราทำมันมีแค่นี้

แล้วถ้ามีคนมองว่าสิ่งที่เราทำไปสั่นคลอนสิ่งที่เขาเคารพรักล่ะ

เรากำลังต่อสู้กับปัญหา มันมีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ ถ้าสิ่งที่เขาเคารพรักมีปัญหาเราก็ต้องตั้งคำถามได้ ไม่ควรมีการรักอย่างไม่ลืมหูลืมตา ในความรักนั้นต้องตรวจสอบและตั้งคำถามได้ว่ามีความเป็นธรรมไหม เราต้องตระหนักในความเป็นมนุษย์ของเราควบคู่กับการเลือกที่จะรักหรือเทิดทูนอะไร

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save