fbpx
เล่นเลโก้แล้วได้อะไร

เล่นเลโก้แล้วได้อะไร

หลายคนโดยเฉพาะผู้ชาย ตอนเด็กๆ พวกเราน่าจะเคยได้มีประสบการณ์การเล่นของเล่นชนิดหนึ่งมากันบ้าง

นั่นคือ ‘ตัวต่อ’ (brick) หรือที่คนส่วนใหญ่มักจะเรียกกันว่าเลโก้ (Lego) นั่นแหละ จริงๆ แล้วเลโก้เป็นแค่แบรนด์ของของเล่นตัวต่อแบรนด์หนึ่งเท่านั้น แต่ด้วยความที่เลโก้เป็นตัวต่อยี่ห้อแรกๆ ที่อุบัติขึ้นบนโลก และสามารถพัฒนาวัสดุให้สอดคล้องไปกับความชอบของเด็กแต่ละยุคได้อย่างดี เด็กทุกคนก็เลยชอบ และติดปากคำว่า ‘เลโก้’ ต่อมาจนเลโก้ได้กลายเป็นตัวแทนของตัวต่อทั้งมวลไปแล้ว

แบบเดียวกับที่คนบ้านเราเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า ‘มาม่า’ แบบเหมารวมแหละครับ

หลายคนชอบเล่นเลโก้มาตั้งแต่เด็ก พอโตและทำงานแล้วก็ยังชอบเล่น และพยายามซื้อเก็บสะสมไว้เมื่อมีโอกาส แม้ว่าราคาของเลโก้บางชุดอยู่ที่เลยหมื่นบาทก็ตามที

เลโก้มีประโยชน์อะไรหรือ?

 

เพิ่มทักษะการคิดและแก้ไขปัญหา

เมื่อได้เล่นตัวต่อ เราจะมีโอกาสฝึกแก้ไขปัญหา (problem solving skills) ได้ลองค้นหาว่าตัวต่อชิ้นใดที่เหมาะสำหรับการสร้างสิ่งที่เราต้องการ ในกระบวนการนี้ เราจะได้ลองผิดลองถูก จนกว่าเราจะพบว่าชิ้นส่วนไหนเหมาะสมที่สุด

ประโยชน์ที่เราได้อย่างชัดเจนคือ การวางแผนและการจัดการ เพราะอย่าลืมว่าการสร้างสิ่งใดให้สำเร็จ เราต้องอาศัยการวางแผนก่อนการลงมือสร้างอย่างระมัดระวัง ในระหว่างการวางแผนเราต้องจัดความคิดหรือจินตนาการในหัวของเราให้เป็นระบบอย่างชัดเจน

ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

ความคิดสร้างสรรค์จัดว่าเป็นประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจน เพราะเราสามารถวัดความสร้างสรรค์ของตัวเราได้จากตัวต่อที่เราประกอบขึ้นมาว่าดูน่าสนใจแปลกใหม่เพียงใด

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าตัวต่ออนุญาตให้เราสร้างสรรค์สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวเราได้ง่าย และเมื่อเราสามารถสร้างได้สิ่งหนึ่งแล้ว มันก็จะเป็นแรงผลักดันให้เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น

และด้วยลักษณะธรรมชาติของตัวต่อที่ไม่ได้จำกัดลักษณะการเล่นอย่างแน่นอนตายตัว การฟูมฟักจินตนาการของเราจึงเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด

เขาบอกว่าชนิดความสร้างสรรค์ที่จะได้จากการเล่นเลโก้มี 3 ชนิดด้วยกัน ชนิดแรกนั่นคือ ความสร้างสรรค์เชิงผสม (combinational creativity) ที่หมายถึงว่าเป็นความสร้างสรรค์ที่ได้จากการลองผสมสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน ซึ่งดูเหมือนจะผสมเข้ากันไม่ได้ แต่เราก็สามารถนำมาผสมเชื่อมร้อยกันได้อย่างน่าสนใจ ชนิดที่สองคือ ความสร้างสรรค์เชิงค้นพบ (exploratory creativity) หมายความว่าความสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดมาจากการที่เราประกอบตัวต่อจนได้สิ่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งดูแตกต่างไปจากเดิม และชนิดสุดท้าย คือ ความสร้างสรรค์เชิงเปลี่ยนแปลง (transformational creativity) เป็นความสร้างสรรค์ที่เกิดจาก เมื่อเราประกอบตัวต่อขึ้นมาเป็นอะไรบางอย่าง และมันสามารถส่งผลกับตัวเราเองให้สะท้อนมองโลกรอบข้างเปลี่ยนไป

เห็นไหมล่ะ ว่าสร้างสรรค์ได้หลากแบบขนาดไหน!

เพิ่มทักษะกลไกการเคลื่อนไหว

นักประสาทวิทยาเคยค้นพบว่าสัดส่วนของสมองที่ทำงานควบคุมการเคลื่อนไหวของร่ายกายมีความสัมพันธ์กับการใช้มือ – หมายความว่า ยิ่งใช้มือมาก ก็จะทำให้สมองส่วนใหญ่ขึ้น

การฝึกใช้มือแบบลองผิดลองถูกเพื่อต่อตัวต่อขนาดและรูปร่างต่างๆ จึงเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหวและสมองได้ฝึกทำงาน นิ้วมือและอวัยวะส่วนต่างๆ จะได้ฝึกการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลจากการเล่นตัวต่อบ่อยๆ จึงมีประโยชน์ให้เราเป็นคนที่ใช้กล้ามเนื้อได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำ รวมถึงการทำงานของสมองก็ประสานงานได้อย่างดี สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเป็นคนที่ทำงานประเภท craft ต่างๆได้ดีขึ้น

เสริมความมั่นใจ

เชื่อหรือไม่ว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ได้ร่วมมือกับมูลนิธิเลโก้ ใช้ตัวต่อเลโก้ในการช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กชาวซีเรียรื้อฟื้นความมั่นใจ

เด็กๆ เหล่านี้จะได้รับโจทย์ให้ต้องสร้างหอคอยเลโก้ที่แข็งแรงและสูง พวกเขาจะถูกฝึกให้จับกลุ่มกับเพื่อนเพื่อสร้างหอคอย และรู้จักแก้ปัญหาเพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ

เมื่อสร้างตึกเสร็จแล้ว จะมีนั่งจับกลุ่มคุยเพื่อพูดถึงผลงานที่พวกเขาร่วมสร้างกันมา เจ้าหน้าที่จะให้เด็กแต่ละคนพูดถึงคุณลักษณะด้านบวกของเพื่อนในทีมหลังจากที่ทำงานด้วยกันมา

ความรู้สึกภูมิใจที่สามารถสร้างตึกเลโก้เสร็จได้ส่งเสริมให้คนสร้างมีความมั่นใจและเกิดความภาคภูมิในตัวเอง และถ้าได้มีโอกาสได้ร่วมเล่นตัวต่อกับเพื่อนก็จะได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นเกิดความภูมิใจร่วมกัน และรู้จักการให้เกียรติและเห็นค่าผู้อื่น

การเล่นเลโก้แบบรวมทีมแบบนี้ไม่ได้จำกัดการเล่นเฉพาะเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็สามารถร่วมเลนเป็นทีมได้ด้วยเช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญเคยทดลองให้ผู้ใหญ่ในที่ทำงานจับกลุ่มกันเล่นเลโก้ โดยให้โจทย์ให้สร้างบ้านขึ้นมาหนึ่งหลัง โดยให้เวลาครึ่งชั่วโมง หลังจากที่จัดกิจกรรมนี้หลายๆ ครั้ง ปรากฎว่าบรรยากาศการทำงานในออฟฟิศนั้นดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะทุกคนต่างเชื่อมั่นและให้เกียรติแก่กัน ผลิตภาพในการทำงานก็เพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย

 

เห็นไหมว่า การเล่นตัวต่อนั้นให้สาระกว่าที่หลายคนคิดไว้เยอะ

ถ้ายังไม่เชื่อ-ลองซื้อมาเล่นกันดูก็ได้!

 

อ้างอิง

บทความเรื่อง 10 Benefits to Playing with LEGOs – Part 1 ของ Brickmistress จาก Outside The Brick,  

รายงานวิจัย Defining Systematic Creativity จาก Lego Learning Institute 2009 

บทความเรื่อง What Are the Benefits of Learning With LEGOs? ของ Rebecca Brogdon จาก Classroom 

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save