fbpx

แพลตฟอร์มพร้อมรับมือเลือกตั้งแค่ไหน ในยุคข้อมูลเท็จเฟื่องฟู

ปี 2016 คือปีที่โลกได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า ‘การเลือกตั้ง’ ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

เป็นที่รู้กันดีว่านับตั้งแต่แพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตและมีอำนาจในการชี้นำความคิดของผู้คนในแทบจะทุกมิติ ‘โซเชียลมีเดีย’ ก็ได้กลายเป็นสมรภูมิข้อมูลข่าวสารขนาดใหญ่ในการช่วงชิงชัยชนะช่วงฤดูกาลเลือกตั้ง แน่นอนว่าภาวะที่ข้อมูลข่าวสารมหาศาลแพร่กระจายและไหลเวียนบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะข่าวจริง ข่าวเท็จ ข่าวบิดเบือน ข้อมูลคุณภาพ ข้อมูลผิดๆ หรือข้อความประสงค์มุ่งร้าย จนเรียกได้ว่าโลกได้เข้าสู่ยุค ‘วิกฤตข้อมูลข่าวสาร’ นั้นสร้างความท้าทายให้แก่ประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 อย่างยิ่ง

แต่เมื่อมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง Facebook ออกมายอมรับว่า มีผู้ใช้งาน Facebook ในสหรัฐฯ ราว 126 ล้านรายเคยเห็นสารพัด ‘ข่าวลวง’ ที่ Internet Research Agency บริษัททำแคมเปญโฆษณาชวนเชื่อออนไลน์สัญชาติรัสเซียใช้แอ็กเคานต์ปลอมปล่อยและยิงโฆษณาผ่านตามาบน News Feed ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อชักจูงความคิดของสาธารณชนและหวังผลเปลี่ยนโมเมนตัมการทางการเมืองในสหรัฐฯ นั่นหมายความว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นอีกตัวแปรสำคัญอย่างเป็นทางการที่จะกำหนดว่า การเลือกตั้งต่อๆ ไปในอนาคตนั้น – ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ แต่ในทุกที่ทั่วโลก – จะดำเนินไปอย่างสุจริต เสรี และเป็นธรรมหรือไม่

กรณีดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตอบสนองต่อแรงกดดันและข้อวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมที่มีมาอย่างยาวนานให้ต้องรับผิดชอบในการควบคุมและกำกับเนื้อหาบนแพลตฟอร์มอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ ‘สื่อกลาง’ ในการสื่อสารหรือเผยแพร่ข้อมูลอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเลือกตั้ง

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างถอดบทเรียนและออกมาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อการเลือกตั้ง อย่างในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ 2022 การเลือกตั้งประธานาธิบดีเคนยา 2022 การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ 2022 การเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล 2022 เป็นต้น – และแน่นอน การเลือกตั้งทั่วไปในไทยที่กำลังใกล้เข้ามาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ก็เช่นกัน

คำถามคือ มาตรการกำกับดูแลเนื้อหาของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียปกป้องการเลือกตั้งจากข่าวลวงได้เพียงพอหรือยัง?

ส่องมาตรการคุมเข้มช่วงเลือกตั้ง

โซเชียลมีเดียยอดฮิตที่ผู้คนมักใช้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองและถกเถียงประเด็นปัญหาสังคมแน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น Facebook ขณะเดียวกัน TikTok ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ค่อยๆ ขยายจากการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงและความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การเป็นพื้นที่พูดคุยสื่อสารในแทบทุกประเด็น – รวมถึงประเด็นสังคมการเมืองเช่นกัน

Facebook

ในบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมด ดูเหมือนว่า Facebook ภายใต้การดูแลของ Meta จะถูกจับตามองเป็นพิเศษในการจัดการกับข่าวปลอมช่วงเลือกตั้งหลังจากเกิดกรณีฉาวปล่อยข่าวลวงเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แน่นอนว่า Facebook ตอบสนองต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ และปรับตัว โดยระบุว่าได้มีการยกระดับขีดความสามารถของมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถเพิ่มความโปร่งใสและลดความเสี่ยงต่างๆ จากข้อมูลเท็จที่อาจส่งผลกระทบต่อความสุจริตเที่ยงตรง (integrity) ในการเลือกตั้ง

ในภาพรวม นโยบายกำกับดูแลเนื้อหาของ Facebook ช่วงเลือกตั้งในแต่ละประเทศวางอยู่บนหลักการ แนวทาง และเทคโนโลยีเครื่องมือในการกำกับดูแลเดียวกันทั่วโลกคือ (1) จัดตั้งทีมทำงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง (Election Operations Team) (2) จัดการกับเนื้อหาและเครือข่ายที่อันตราย และลดปริมาณข้อมูลเท็จ (3) จัดการกับการแทรกแซงจากต่างชาติและขบวนการสร้างอิทธิพลภายในประเทศ และ (4) เพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาที่เกี่ยวกับการเมือง โดยการใช้นโยบายในแต่ละประเทศ Meta อาจปรับจุดเสริมและรายละเอียดปลีกย่อยของแนวนโยบายให้เหมาะสมต่อบริบทของประเทศนั้นๆ

อย่างนโยบายในสหรัฐฯ และบราซิลจะเห็นว่าจุดที่เน้นขึ้นมาจากมาตรการอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดคือ มาตรการจัดการเนื้อหาหรือเครือข่ายที่มีแนวโน้มแทรกแซงการเลือกตั้งและขัดขวางการใช้สิทธิ และเชื่อมโยงผู้ใช้งานกับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ส่วนนโยบายในเคนยาและฟิลิปปินส์เน้นย้ำไปที่การจัดการเนื้อหาที่มีความรุนแรง ยุยงและเป็นเท็จ ลดเนื้อหาบิดเบือน และการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนบนแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ มาตรการที่ใช้ในเคนยายังมีการปกป้องบุคคลสาธารณะหญิงเสริมเข้ามา ส่วนกรณีฟิลิปปินส์ก็เสริมมาตรการปกป้องนักข่าวเช่นกัน รวมทั้งนโยบายในฟิลิปปินส์ยังให้น้ำหนักความสำคัญในการทลายเครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย (coordinated inauthentic behavior: CIB) และการสร้างเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกด้วย

นโยบายกำกับดูแลเนื้อหาช่วงเลือกตั้งในไทยวางอยู่บน 4 แนวทางดังกล่าวเช่นกัน โดยแคลร์ อมาดอร์ (Claire Amador) หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Meta ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ได้แถลงข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการปกป้องและส่งเสริมความโปร่งใสในการเลือกตั้งเชิงรุกต่อสื่อมวลชนว่า ในการจัดตั้งทีมทำงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง “Meta ได้จัดเตรียมทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าใจและคุ้นเคย กับบริบทประเทศไทย โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์”

ส่วนมาตรการการจัดการเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งบนแพลตฟอร์ม อมาดอร์ระบุว่า Meta ใช้ 3 มาตรการในการจัดการคือ 1. ลบ (remove) เนื้อหาที่เป็นอันตราย เช่น โพสต์ที่บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับวันที่ สถานที่ เวลา และวิธีการในการลงคะแนนเสียงหรือการลงทะเบียนเลือกตั้ง หรือโพสต์ที่มีการเสนอซื้อขายเสียง รวมถึงโพสต์ที่ละเมิดมาตรฐานชุมชน (Community Standard) เช่น สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง กลั่นแกล้ง หรือคุกคาม ส่วนในกรณีที่โพสต์ไม่ได้ละเมิดมาตรฐานชุมชนของ Meta แต่ได้รับการตรวจสอบและประเมินว่าเป็นข้อมูลเท็จ ระบบจะใช้วิธีการ 2. ปรับอัลกอริทึมเพื่อลดการมองเห็น (reduce) โพสต์หรือเพจที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือด พร้อมติดป้ายแจ้งเตือน และ 3. ให้ข้อมูลและบริบทเพิ่มเติม (inform) เกี่ยวกับโพสต์ โดยทั้งหมดนี้ใช้เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจภาษาไทยร่วมกับการตรวจสอบดูแลเนื้อหาโดยผู้ดูแลแพลตฟอร์ม รวมทั้งยังทำงานร่วมกับ AFP เพื่อให้ AFP ตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื้อหาบนแพลตฟอร์มในฐานะผู้ตรวจสอบอิสระ

ในการจัดการบัญชีผู้ใช้ปลอมและการตรวจสอบเครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย มีพฤติกรรมเสี่ยงร่วมกันในการสร้างข้อมูลบิดเบือน หรือมีพฤติกรรมชักจูงและสร้างอิทธิพลต่อความเห็นของสาธารณชน Meta ดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยีร่วมกับการทำงานของทีมความปลอดภัยไซเบอร์ตรวจหาและตรวจจับบัญชีปลอม ไม่ว่าจะดำเนินการจากนอกประเทศหรือภายในประเทศก็ตาม

อีกมาตรการที่ Facebook กล่าวอ้างว่าจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสของข้อมูลและสร้างความรับผิดชอบต่อผู้โพสต์ข้อมูลคือ การส่งเสริมให้โฆษณาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การเลือกตั้ง และประเด็นทางสังคม โดยไม่ว่าผู้โพสต์จะเป็นพรรคการเมือง นักการเมือง หรือสื่อมวลชนก็ตาม ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบโฆษณาและยืนยันตัวตนว่าผู้โพสต์เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงอยู่ในไทยด้วยบัตรประชาชนหรือเอกสารที่ออกโดยทางการ ไม่ได้โพสต์โฆษณาจากต่างประเทศ ซึ่ง Meta ระบุว่า โพสต์ที่ผ่านการอนุมัติจะมีการระบุให้ทราบว่าผู้สปอนเซอร์โฆษณาคือใคร (“Paid for by”) เพื่อให้ผู้ใช้งาน Facebook สามารถประเมินความน่าเชื่อถือของผู้โพสต์ได้

TikTok

แม้ว่า TikTok จะแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า แพลตฟอร์มให้เน้นความสำคัญกับคอนเทนต์ที่ให้ความบันเทิงและความสนุกสนาน แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้ผู้ใช้งานเผยแพร่คอนเทนต์การเมือง แลกเปลี่ยนแสดงความเห็นทางการเมือง ให้สื่อเสนอข่าวการเมือง หรือให้พรรคการเมืองทำคอนเทนต์หาเสียงได้เช่นกันตามหลักเสรีภาพในการแสดงออก

ความกังวลของ TikTok ในช่วงการเลือกตั้งคือ การแพร่กระจายของข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน และคอนเทนต์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานแพลตฟอร์มและสังคม ดังนั้น แนวนโยบายการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม TikTok ช่วงที่มีการเลือกตั้ง – ทั้งในไทยและทั่วโลก – จึงมุ่งอยู่ที่ (1) การลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม (2) เสนอแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือให้แก่ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม และ (3) จำกัดการโฆษณาคอนเทนต์การเมือง

“TikTok ให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยและความถูกต้องของเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างพื้นที่ที่ทุกคนจะได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ” TikTok เน้นย้ำจุดยืนไว้ในเว็บไซต์

ในการลดและกำจัดข่าวปลอมและคอนเทนต์ที่เป็นอันตรายตามหลักเกณฑ์ชุมชน (Community Guideline) มาตรการตรวจสอบเชิงรุกที่ TikTok นำมาใช้คือ ระบบการจัดการเนื้อหา (Content Moderation) ซึ่งใช้ทั้งเทคโนโลยีและทีมงานของ TikTok ร่วมกันตรวจสอบเนื้อหา รวมทั้งระบบยังเปิดให้ผู้ใช้งานรายงานเนื้อหาที่เข้าข่ายคอนเทนต์อันตรายเพื่อให้ทีมงานปฏิบัติการตรวจสอบได้ โดย TikTok ลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า คอนเทนต์ที่เข้าข่ายคอนเทนต์บิดเบือนหรือคอนเทนต์ที่เป็นอันตรายคือ คอนเทนต์ที่แสดงถึงความเกลียดชัง สร้างความหวาดกลัวหรืออคติ และคอนเทนต์ที่บิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการการเลือกตั้ง ทั้งวิธีการลงคะแนนเสียง การลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเสียง ขั้นตอนการนับคะแนนเสียง การรับรองผลการเลือกตั้ง รวมไปถึงผลการเลือกตั้ง นอกจากนี้ TikTok ระบุว่า เครื่องมือ Machine learning ยังสามารถคัดกรองและใช้มาตรการปิดแอ็กเคานท์ถาวรกับบัญชีปลอมที่เผยแพร่เนื้อหาซ้ำๆ หรือบัญชีที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation: IO) ได้

สำหรับช่วงเลือกตั้งในไทย TikTok ยังเพิ่มระบบขึ้นข้อความแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนแชร์คอนเทนต์ต่อไป เพื่อลดการส่งต่อคอนเทนต์บิดเบือน และเพิ่ม Election Report Button เพื่อให้ผู้ใช้งานรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่สุ่มเสี่ยงจะละเมิดกฎให้ระบบตรวจสอบต่อไปได้

อีกนโยบายที่ TikTok ใช้เพื่อต่อต้านคอนเทนต์บิดเบือนหรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงคือ การเสนอแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้แก่ผู้ใช้งาน โดยในไทย TikTok ได้สร้างและพัฒนาแท็บ ‘ศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง’ (Election Centre) ขึ้นมา ซึ่งจะแสดงผลส่วนบนของหน้าจอเมื่อค้นหาคอนเทนต์ด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือบนวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ง่าย เช่น วัน เวลา ขั้นตอนในการใช้สิทธิ์ ข้อมูลของพรรคการเมืองและนักการเมือง ฯลฯ โดยร่วมมือกับกกต. ในการเชื่อมต่อข้อมูลที่เป็นทางการ รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานอิสระที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบข้อมูลอย่าง AFP

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ Facebook ส่งเสริมให้มีการโฆษณาเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งเพื่อเพิ่มความโปร่งใส TikTok มีนโยบายห้ามซื้อโฆษณาทางการเมือง หาเสียง ระดมเงินทุนสนับสนุน หรือว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์ให้โฆษณาพรรคการเมืองหรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และสนับสนุนให้เข้าไปอยู่ในการจัดบัญชีประเภท ‘บัญชีของรัฐบาล นักการเมือง และพรรคการเมือง’ ( Government, Politician, and Political Party Account: GPPPA) เพื่อเป็นการยืนยันว่าคอนเทนต์ที่เผยแพร่จากแอ็กเคานต์นั้นๆ มาจากบุคคลทางการเมืองจริง และสร้างขอบเขตไม่ให้ใช้ฟังก์ชันโฆษณาได้ โดย TikTok ให้เหตุผลว่าเป็นการ “พยายามหาสมดุลในการช่วยให้เกิดการอภิปรายประเด็นที่ได้รับความสนใจ พร้อมๆ ไปกับการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้คนโดยไม่มีการแบ่งแยก” และย้ำว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์ม “ที่เน้นมอบความบันเทิงและความสนุกสนาน”

แต่มาตรการ ‘จับตา’ ข้อมูลเท็จของแพลตฟอร์มช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นได้ผลแค่ไหน ปกป้องการเลือกตั้งได้แค่ไหนกันแน่?  

มาตรการคุมเข้ม – เข้มแค่ไหน?

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้ง Facebook และ TikTok ต่างรายงานประสิทธิภาพของเทคโนโลยีและระบบจัดการเนื้อหาที่บิดเบือน แอ็กเคานต์ปลอม หรือแอ็กเคานต์ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย

Facebook เปิดสถิติในภาพรวมระดับโลกโดยไม่เจาะจงประเทศและไม่เจาะจงไปในบริบทช่วงเวลาเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2017 ระบบตรวจสอบและทีมความปลอดภัยไซเบอร์ได้ทำการปิดเครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยในการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนไปแล้วกว่า 200 เครือข่าย และจากการรายงานข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ระบบได้ทำการลบบัญชีปลอมกว่า 1.3 พันล้านบัญชีออกไปจากแพลตฟอร์ม โดยเป็นการลบเชิงรุก 99.3% ส่วนการลบโพสต์ที่มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังและยั่วยุให้เกิดความรุนแรงนั้น Meta ดำเนินการลบเป็นจำนวน 11 ล้านโพสต์และ 13.1 ล้านโพสต์ตามลำดับ

ส่วนสถิติการจัดการเนื้อหาอันตราย บัญชีที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย และโฆษณาทางการเมืองที่ไม่ผ่านการยืนยันโดย Meta แบบเจาะจงประเทศและเจาะจงช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พบแค่ข้อมูลที่รายงานในฟิลิปปินส์ เคนยา และบราซิลเท่านั้น โดยในกรณีฟิลิปปินส์ Meta ระบุว่าได้ทำการลบโพสต์ที่มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชัง 670,000 โพสต์ ลบบัญชีที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยในการปล่อยข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 15,000 บัญชี และมีโฆษณาที่ไม่ผ่านการอนุมัติ 68,000 โพสต์ กรณีเคนยา Meta ระบุว่าได้ทำการลบโพสต์ที่มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังมากกว่า 37,000 โพสต์ ลบโพสต์ที่มีเนื้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงมากกว่า 42,000 โพสต์ และมีโฆษณาที่ไม่ผ่านการอนุมัติ 36,000 โพสต์ ส่วนกรณีบราซิล มีข้อมูลเปิดเผยออกมาเพียงว่ามีโฆษณาที่ไม่ผ่านการอนุมัติอย่างน้อย 135,000 โพสต์

ขณะที่ TikTok เปิดเผยว่า จากรายงานการบังคับใช้หลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guideline Enforcement Report) ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 แพลตฟอร์มสามารถใช้มาตรการเชิงรุกลบคอนเทนต์ที่ผิดกฎออกมากกว่า 96.2% ลบออกภายใน 24 ชั่วโมงได้ 91.2% และลบออกก่อนมียอดเข้าชม 84.7% จากคอนเทนต์ทั้งหมดจากทั่วโลกบนแพลตฟอร์ม โดยระบุว่า มีการลบคอนเทนต์ที่เข้าข่ายบิดเบือนความจริงหรือสร้างโดยบัญชีปลอมกว่า 91.5% และลบออกภายใน 24 ชั่วโมงได้ 71.3%

แต่แน่นอนว่าระบบย่อมมีช่องโหว่เสมอ

นโยบายจัดการข้อมูลบิดเบือนและเพิ่มความโปร่งใสของคอนเทนต์ที่ไหลเวียนอยู่บนแพลตฟอร์มในช่วงเลือกตั้งอาจเหมือนว่าได้ผลในการช่วยรักษาความเที่ยงตรงของการเลือกตั้งได้ระดับหนึ่ง – ที่แน่ๆ มากกว่าไม่มีมาตรการกำกับดูแลอะไรเลย – แต่หากมอง ‘ภาคปฏิบัติ’ ของแพลตฟอร์มในการเลือกตั้งในปี 2022 ที่ผ่านมาก็คงยังห่างไกลคำว่าสำเร็จมากนัก มาตรการส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังคงไล่จับข้อมูลบิดเบือนไม่ทัน และ ‘อาจ’ ยังคงปล่อยให้ข้อมูลเท็จหลุดรอดและแพร่กระจายบนแพลตฟอร์มต่อไป อย่างที่ปรากฏให้เห็นในการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ การเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล และการเลือกตั้งประธานาธิบดีเคนยา

ช่วงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ Global Witness องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน และ Cybersecurity for Democracy Team (C4D) แห่ง New York University ได้ทดลองตรวจสอบประสิทธิภาพระบบการตรวจจับข่าวปลอมของแพลตฟอร์ม ปรากฏว่า Facebook และ TikTok ยังคง “ล้มเหลว” ในการ ‘จับเท็จ’ ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

งานศึกษาดังกล่าวได้ทดลองใช้บัญชีปลอมจำนวนหนึ่งโพสต์โฆษณาที่ระบุข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกระบวนการการเลือกตั้ง เช่น วันเลือกตั้ง หรือวิธีการลงคะแนนเสียง และโพสต์ที่มีเนื้อหาปฏิเสธความชอบธรรมของกระบวนการเลือกตั้ง เช่น อ้างว่าผลเลือกตั้งถูกล็อกไว้ล่วงหน้าแล้ว (ทราบกันดีกว่านับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ทรัมป์ สหรัฐฯ ต้องเผชิญต่อปัญหาจากกลุ่มฝ่ายขวาที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง) ซึ่งชัดเจนว่าโพสต์เหล่านี้มีโอกาสขัดขวางการออกไปใช้สิทธิ์ โดยทดลองโพสต์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปน และมุ่งบูสต์ไปที่มลรัฐที่เป็นสมรภูมิชี้ขาดผลเลือกตั้ง (Battleground states) อย่างไรก็ตาม เมื่อโฆษณาเข้าสู่ระบบตรวจสอบของ Facebook ระบบกลับอนุมัติราว 20%-50% ของโพสต์ให้ลงโฆษณาได้ โดยโพสต์ที่เป็นภาษาสเปนมีเปอร์เซ็นต์ได้รับการอนุมัติที่สูงกว่า นอกจากนี้ โฆษณาที่ทดลองโพสต์จากสหราชอาณาจักรยังผ่านการอนุมัติจากระบบด้วยเช่นกัน อีกทั้งมีเพียงบัญชีปลอมที่โพสต์โฆษณาข้อมูลเท็จเพียงบัญชีเดียวที่ถูกปิด

ขณะที่ระบบของ Facebook มีประสิทธิภาพในการตรวจจับข้อมูลบิดเบือนได้ระดับหนึ่ง ในกรณี TikTok  ซึ่งที่จริงแล้วมีนโยบายไม่อนุญาตให้โฆษณาทางการเมือง กลับพบว่าเมื่อทดลองโฆษณาคอนเทนต์ที่ระบุข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่นระบุวันเลือกตั้งผิด บอกให้คนลงคะแนนเสียงสองครั้ง หรือชักจูงให้คนไม่ไปเลือกตั้ง ฯลฯ มีคอนเทนต์ถึง 90% ที่ผ่านการอนุมัติ อีกทั้งบัญชีที่ใช้โพสต์คอนเทนต์บิดเบือนยังไม่ถูกลบอีกด้วย

Global Witness ทำการทดลองลักษณะเดียวกันกับระบบตรวจสอบ Facebook ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล – อีกหนึ่งการเลือกตั้งที่มีความเสี่ยงจากกลุ่มฝ่ายขวาที่ปฏิเสธการเลือกตั้งคล้ายสหรัฐฯ เช่นกัน โดยเมื่อทดลองโพสต์โฆษณาภาษาโปรตุเกสจำนวนหนึ่งที่ระบุวันเลือกตั้งผิด ให้ข้อมูลวิธีลงคะแนนเสียงผิด ชักจูงไม่ให้คนไปลงคะแนนเสียง หรือปฏิเสธระบบและกระบวนการการเลือกตั้ง ระบบตรวจสอบของ Facebook กลับอนุมัติโพสต์โฆษณาดังกล่าวทั้งหมด

ส่วน TikTok แม้จะไม่พบว่ามีหน่วยงานใดทดสอบระบบตรวจสอบเนื้อหาแบบเดียวกันในกรณีบราซิล แต่งานวิจัยจาก SumOfUs ยังพบว่า เมื่อค้นหาคอนเทนต์ด้วยคีย์เวิร์ด ‘ballots’ ในภาษาโปรตุเกส ระบบเสิร์ชของ TikTok กลับแสดงผล top search ด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิเสธการเลือกตั้งถึง 5 ใน 8 คำ เช่น ‘rigged ballots’ และ ‘ballots being manipulated’ (‘หีบเลือกตั้งโดนโกง’)

ในกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเคนยา ซึ่งตกอยู่ในภูมิทัศน์การเมืองที่มีประเด็นชาติพันธุ์เป็นแก่นกลางความขัดแย้ง ขับเคลื่อนด้วยการเมืองแบบยึดตัวบุคคล และเต็มไปด้วยการแตกแยกแบ่งขั้ว (polarized) Global Witness ได้ทดสอบระบบตรวจสอบเนื้อหาเช่นเดียวกัน โดยเมื่อโพสต์โฆษณาที่มีเนื้อหาแสดงถึงความเกลียดชัง ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือยุยงให้ก่อความรุนแรงต่อคนกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง ปรากฏว่า Facebook อนุมัติโฆษณาให้โพสต์โฆษณาทั้งหมดได้ ทั้งที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษและภาษาสวาฮิลี นอกจากนี้ ในกรณี TikTok ผลการศึกษาโดย Mozilla Foundation ยังพบว่า TikTok ไม่สามารถตรวจจับและลบคอนเทนต์การเมืองในเคนยาที่เข้าข่ายสร้างความเกลียดชังหรือยุยงให้เกิดความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทีมดูแลระบบไม่มีความเข้าใจต่อบริบทการเมืองเคนยาเพียงพอ

แม้จะยังไม่ปรากฏผลทดสอบประสิทธิภาพมาตรการกำกับดูแลในช่วงการเลือกตั้งอีกหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงในไทย และความล้มเหลวบางส่วนที่เกิดขึ้นช่วงการเลือกตั้งในสามประเทศดังกล่าวคงบอกอะไรไม่ได้ทั้งหมดเสียทีเดียว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่บอกอะไรเลยว่า ที่ผ่านมาแพลตฟอร์มรับมือกับข้อมูลเท็จได้แค่ไหน ให้น้ำหนักความสำคัญกับทุกการเลือกตั้งเท่ากันหรือไม่ และออกแบบนโยบาย พัฒนาเทคโนโลยีให้รักษาสมดุลระหว่าง ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ และ ‘การปกป้องสังคมจากข้อมูลเท็จ’ ได้ดีแค่ไหน  

นั่นย่อมสะเทือนถึงคูหา – ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

และแน่นอนว่าช่วงการเลือกตั้งในไทยคืออีกหนึ่งบททดสอบที่แพลตฟอร์มต้องเผชิญ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save