fbpx
คนไทยได้อะไร ในยุคเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเฟื่องฟู

คนไทยได้อะไร ในยุคเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเฟื่องฟู

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนของคนไทยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ในประเทศไทย ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย บริการรถรับส่ง บริการส่งของ สื่อบันเทิง การทำงาน-เรียนออนไลน์ รวมไปถึงการค้าขายออนไลน์ (E-Commerce) ต่างก็มียอดผู้ใช้บริการสูงขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด

การเติบโตและขยับขยายของบรรดาธุรกิจแพลตฟอร์มพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าทำให้ผู้คนใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นในหลายมิติ แต่พัฒนาการของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มก็เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานเท่านั้น โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้รับเทคโนโลยี คำถามใหญ่จึงมีอยู่ว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์มส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย การกระจายผลได้จากแพลตฟอร์มทั่วถึงและเป็นธรรมแค่ไหน หน้าตาและทิศทางของพัฒนาการของแพลตฟอร์มจะเป็นไปในทางไหน อะไรคือความท้าทายที่รอยู่ในอนาคต และเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้สังคมไทยได้รับดอกผลจากแพลตฟอร์มให้มากที่สุด

101 คุยกับ ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจศึกษาและทำวิจัยว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจว่า คนไทยได้อะไรจากการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มกันแน่

E-Commerce เพิ่มรายได้ครัวเรือน เชื่อมโยงตลาดในประเทศ

ในงานวิจัยหัวข้อ Connecting Locals to Locals: Market Discovery through E-Commerce ซึ่งวรประภาทำร่วมกับ ดร.สันติธาร เสถียรไทย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ (Group Chief Economist) ของกลุ่มบริษัท Sea Limited เมื่อปี 2019 ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลจากผู้ประกอบการที่ใช้ E-Commerce เกือบ 7,000 รายจากทั่วประเทศพบว่า การใช้ E-Commerce ช่วยให้ผู้ประกอบการถึงร้อยละ 72 ของกลุ่มตัวอย่างมีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

งานวิจัยจำแนกกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ E-Commerce ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่เคยมีธุรกิจแบบออฟไลน์มาก่อน และกลุ่มที่ไม่เคยมีธุรกิจแบบออฟไลน์มาก่อน ในกลุ่มแรก ผลสำรวจพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการมีรายได้จากการเข้าสู่ออนไลน์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 163.4 อีกทั้งพบว่า ยิ่งผู้ประกอบการรายใดมีสัดส่วนของการขายสินค้าออนไลน์มาก ก็จะยิ่งมีรายได้เติบโตขึ้น โดยเพิ่มขึ้นได้สูงสุดถึงร้อยละ 284.6 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการที่ผู้ประกอบการเข้าสู่แพลตฟอร์ม E-Commerce ช่วยกระตุ้นรายได้และผลกำไรของธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจในผู้ประกอบการกลุ่มที่สองซึ่งไม่เคยทำธุรกิจแบบออฟไลน์มาก่อน พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ความน่าสนใจของผู้ประกอบกลุ่มนี้อยู่ตรงที่ว่า ส่วนใหญ่มีงานประจำทำอยู่แล้ว หรือเป็นนักเรียนนักศึกษา โดยตั้งใจใช้ E-Commerce เป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม มากกว่าเป็นแหล่งรายได้หลัก จึงสามารถสรุปได้ว่า E-Commerce สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนไทยหลายคนได้ด้วย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามพื้นที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการ ผลวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ E-Commerce มากที่สุด โดยมีสัดส่วนของผู้ประกอบการที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมากที่สุดตามลำดับ เนื่องจาก E-Commerce ช่วยขจัดอุปสรรคด้านระยะทางระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ โดยผลวิจัยพบว่า เมื่อผู้ประกอบการใช้ E-Commerce แล้ว ทำให้สัดส่วนของการขายสินค้าออกไปนอกภูมิภาคที่อยู่อาศัยของตัวเองถึงร้อยละ 81 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากก่อนหน้าที่จะใช้ E-Commerce ซึ่งมีสัดส่วนดังกล่าวเพียงร้อยละ 44 และที่สำคัญคือ E-Commerce ช่วยให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ยากจนอย่างภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือสามารถขายสินค้าไปยังนอกภูมิภาคได้สูงขึ้นมาก จึงเท่ากับช่วยกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ห่างไกล และยังเพิ่มความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของตลาดภายในประเทศได้อย่างสูง

โควิด-19 เร่งการเติบโต E-Commerce

แม้งานวิจัยจะทำในช่วงก่อนโควิด-19 จะแพร่ระบาด แต่วรประภามองว่า หากนำงานวิชัยชิ้นดังกล่าวมาทำอีกในเวลานี้ แก่นของข้อสรุปคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก และเชื่อว่าสัดส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่แพลตฟอร์ม E-Commerce น่าจะสูงกว่าเดิมอีก เพราะแพลตฟอร์ม E-Commerce เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด

ข้อสันนิษฐานข้างต้นสอดคล้องกับ Priceza บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาสินค้าจากหลายแพลตฟอร์ม E-Commerce ในประเทศไทย ซึ่งเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้มูลค่าตลาด E-Commerce เมื่อปี 2020 อยู่ที่ 294,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 81 และยังพบว่า มีสินค้าที่เข้ามาบนตลาด E-Marketplace ได้แก่ใน Lazada, Shopee, และ JD Central ในปี 2020 สูงขึ้นถึงร้อยละ 32 มีผู้ค้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 และจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จากปีก่อนหน้า

“คนที่ได้ประโยชน์แต่เดิมอยู่แล้ว ก็น่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก เพราะรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนคนที่เพิ่งกระโดดขึ้นมาอยู่ E-Commerce ก็น่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นเหมือนกัน” วรประภากล่าว

จับตาแพลตฟอร์ม เดินหน้าสู่ ‘ซูเปอร์แพลตฟอร์ม’

ประเด็นสำคัญที่เริ่มเป็นที่ถกเถียงทั้งในระดับโลกและประเทศไทยคือ เมื่อโรคระบาดผ่านพ้นไปแล้ว เศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะยังคงเติบโตอย่างที่เคยเป็นมาหรือไม่ และการเติบโตในอัตราเร่งในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลทิศทางการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างไร?

วรประภายังมองว่า ถึงแม้จะการระบาดของโควิดอาจหมดไปในอนาคต “แพลตฟอร์มก็จะยังคงเติบโตขึ้นได้อยู่ แต่อาจจะไม่ได้โตในอัตราเร่ง เพราะคนเริ่มมองว่าการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องปกติ (Digital by default) มากขึ้น หลังจากที่ถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนเพราะโควิด แต่จะไม่ได้เปลี่ยนไปออนไลน์ทั้งหมด เป็นลักษณะของไฮบริดมากกว่า เช่นในเรื่องการเรียนการสอนและการทำงาน ซึ่งก็ยังต้องการกิจกรรมในเชิงกายภาพอยู่ เพราะฉะนั้นเทรนด์ของแพลตฟอร์มออนไลน์จะยังไปได้อีกเรื่อยๆ”

อย่างไรก็ตาม วรประภาตั้งข้อสังเกตว่า เทรนด์หนึ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่งในตลาดแพลตฟอร์มคือ การที่แพลตฟอร์มต่างๆ พยายามเดินหน้าไปสู่การเป็น ‘ซูเปอร์แพลตฟอร์ม’

“ตอนแรกดูเหมือนว่า หลายแพลตฟอร์มจะเป็นแพลตฟอร์มประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงอย่างเดียวก่อน เช่น Grab ที่ตอนแรกมีเพียงบริการแพลตฟอร์ม Ride-sharing หรือ Shopee ที่เคยเป็นแค่ E-Commerce แต่เมื่อมีผู้ใช้งานมากระดับหนึ่งแล้ว ก็มักจะพยายามเติบโตแบบหลายมิติ อย่างเช่น Grab ที่มีบริการส่งอาหารด้วย แค่นั้นไม่พอ ยังมีบริการซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ตอีก”

“เขาคิดว่า ไหนๆ คนมาอยู่บนแพลตฟอร์มของเขาแล้ว จะทำอย่างไรให้ขายอย่างอื่นเพิ่มขึ้นได้อีก อย่างการที่คุณเคยใช้บริการนั่งรถ Grab อยู่แล้ว การที่คุณจะไปสั่งอาหาร คุณก็ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ แค่เปลี่ยนไปกดอีกเมนูในแอปพลิเคชันได้เลย ซึ่งหลายๆ เจ้าก็ทำกันอย่างนี้ ซึ่งเขาเรียกกันว่าเป็น ‘ซูเปอร์แอปฯ’ ทำให้แต่ละแพลตฟอร์ม ที่ตอนแรกดูเหมือนว่าจะไม่ได้แข่งกัน แต่สุดท้ายก็มาแข่งกัน เพราะทุกเจ้าจะแตกแขนงธุรกิจออกไป เพื่อสร้าง ecosystem ของตัวเอง ทำให้คนอยากมาอยู่มากที่สุด”

“เมื่อการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มแตกออกเป็นหลายมิติแล้ว ก็มีความยากในตัวเองอยู่ การที่ธุรกิจแพลตฟอร์มหนึ่งจะอยู่เฉยๆ แล้วให้บริการเพียงอย่างเดียว สุดท้ายก็อาจจะแพ้ไป เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์และแข่งกันตลอดเวลา ทั้งยังต้องมองช่องทางธุรกิจตลอดเวลา” วรประภาเสริม

โดยทฤษฎี การขยายตัวและการแข่งขันของซูเปอร์แพลตฟอร์มจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ซึ่งจะมีทางเลือกมากขึ้น อีกทั้งยังอาจขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการรายเล็กด้วย อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดแพลตฟอร์มเป็นตลาดที่มีผู้ประกอบการน้อยราย ก็มีความเสี่ยงที่การแข่งขันจะลดลงในระยะยาวและส่งผลกระทบทางลบต่อผู้บริโภคเช่นเดียวกัน

การให้บริการทางเงิน: สนามที่ต้องจับตามอง

บนเส้นทางของการพัฒนาไปสู่ซูเปอร์แอปฯ วรประภาบอกให้จับตาแพลตฟอร์มที่ต่างกำลังเดินหน้าสู่การให้บริการทางการเงิน

“หลายคนอยากจะเป็นซูเปอร์แอปฯ อยากมี ecosystem ของตัวเอง แต่จะสมบูรณ์ไม่ได้เลย ถ้าขาดการให้บริการทางการเงินภายในแอปฯ ถ้าลองไปดูตามแอปฯ ต่างๆ เช่น Shopee ก็มี ShopeePay หรือ Line ก็มี Rabbit Line Pay หรือ Gojek ก็มี GoPay จะเห็นว่าทุกแอปฯ มีกระเป๋าสตางค์ของตัวเอง จากที่ตอนแรกมีเพียงทางเลือกให้จ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต” วรประภากล่าว

วรประภากล่าวต่อว่า “สักพักพอเริ่มมี payment แล้ว ก็จะเริ่มมีการให้กู้ ถ้าคุณไปดูแอปฯ อย่างเช่น Grab หรือ Shopee ก็จะเริ่มมีให้กู้เล็กๆ น้อยๆ จะเห็นว่าเขาเริ่มให้บริการทางการเงิน ตอนแรกอาจยังไม่มีใบอนุญาต ก็จะใช้วิธีเป็นพาร์ตเนอร์กับธนาคาร แต่ตอนหลัง ถ้าขอใบอนุญาตได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพาร์ตเนอร์กับธนาคารไปเสียทั้งหมดก็ได้”

“เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเรื่อง Digital Banking License ซึ่งไม่ใช่การกู้ยืมอย่างเดียว แต่รวมถึงฝาก ถอน โอน ซึ่งปัจจุบันธนาคารเท่านั้นที่ทำได้ แต่ตอนหลังประเทศอื่นก็เริ่มพิจารณาให้ Digital Banking License นี้กับธุรกิจแพลตฟอร์ม” วรประภากล่าว โดยยกตัวอย่างถึงสิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว รวมถึงมาเลเซีย ที่กำลังจะให้ใบอนุญาตดังกล่าวในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ไทยกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่

“เราจะเห็นว่า แพลตฟอร์มสามารถให้บริการการเงินได้โดยไม่ต้องมีสาขา ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ธนาคารต้องแข่งกันด้วยการเปิดสาขา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว ทำให้แพลตฟอร์มสามารถเข้ามาแข่งขันกับธนาคารได้เลย อันที่จริงทุกวันนี้ ธนาคารก็ลงมาสู้ในดิจิทัลแล้วเหมือนกัน การแข่งขันก็เลยเพิ่มขึ้น แล้วพอเพิ่มแบบนี้ ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ เพราะมีทางเลือกมากขึ้น” วรประภากล่าว

วรประภาให้ความเห็นด้วยว่า เทรนด์ของแพลตฟอร์มที่เข้ามาแข่งขันในโลกการเงินจะมีประโยชน์ในแง่โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ หลายด้านสำหรับประชาชนทั่วไป

“แต่ก่อน เวลาคุณจะขอกู้ธนาคาร คุณจะต้องมีเอกสารมากมาย ต้องมีเงินเดือนประจำมั่นคง มีสินทรัพย์บางอย่าง แล้วธนาคารก็จะคำนวณ credit scoring ออกมาจากข้อมูลของคุณ แต่หลายคนอาจไม่ได้มีของพวกนี้ เช่นเป็นคนที่ขายของออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งไม่ได้มีเงินเดือนประจำ หรือไม่ได้มีสินทรัพย์เยอะ คนกลุ่มนี้อาจจะกู้เงินจากธนาคารทั่วไปไม่ได้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ การที่คนขายของบนแพลตฟอร์ม แล้วแพลตฟอร์มสามารถเก็บข้อมูลธุรกรรมของเขาได้ สามารถทำให้เห็นว่าเขามีรายได้เข้ามาเรื่อยๆ รอยเท้าดิจิทัลเหล่านี้ก็เอามาดูเป็น alternative credit scoring ได้ โดยไม่ต้องมีสลิปเงินเดือน ไม่ต้องมีบ้านมาค้ำประกันอีก” 

“ถ้าถามว่าโอกาสนี้จะครอบคลุมไปทั่วถึงระดับรากหญ้าไหม อันนี้ยังไม่แน่ใจ แต่ก็คิดว่ามันช่วยเพิ่มสินทรัพย์ให้คนบางกลุ่ม ที่อาจจะไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ เทรนด์นี้เลยทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับโอกาสมากขึ้น” วรประภากล่าว

ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงประโยชน์จากแพลตฟอร์มได้

เมื่อเห็นแล้วว่า E-Commerce และแพลตฟอร์มต่างๆ ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประชาชนหลายทาง คำถามที่ตามมาคือ จะทำอย่างไรให้คนไทยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก E-Commerce และแพลตฟอร์มต่างๆ ได้เต็มที่

วรประภาชวนย้อนกลับไปมองที่งานวิจัย Connecting Locals to Locals: Market Discovery through E-Commerce ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไว้

ประการแรกคือการช่วยให้คนสามารถเข้าถึงดิจิทัล (Digital Access) ได้มากขึ้น อย่างการขยายเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมและมีคุณภาพดี โดยทุกวันนี้พบว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รายงานของ We Are Social บริษัทเอเจนซีด้านดิจิทัลระดับโลก ที่ทำร่วมกับ Hootsuite แพลตฟอร์มบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ เผยว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทยอยู่ที่ร้อยละ 69.5

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างสมาร์ตโฟนเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้น ไม่ว่าจะในการเรียน การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน หรือกระทั่งการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เราได้เห็นคนไทยจำนวนหนึ่งที่ยังคงเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ จนประสบความยากลำบากกว่าคนอื่นๆ

“รัฐต้องคิดว่า จะจัดสรรเงินที่มีอยู่อย่างไร แทนที่จะเอาไปซื้ออะไรที่ไม่จำเป็น อาจจะต้องเอาจำนวนหนึ่งมาให้คนที่ต้องการมากกว่า อาจจะต้องมองว่าจะเอาเงินเหล่านี้มาเพื่อให้คนจำนวนหนึ่งสามารถซื้ออุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ได้ไหม หรือเอาไปอุดหนุน (Subsidy) ให้คนซื้อโทรศัพท์ได้ในราคาถูกลงได้ไหม เพื่อให้คนเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นเขาก็จะโดนเหยียบอยู่อย่างนี้” วรประภากล่าว

วรประภายังให้ความเห็นถึงข้อเสนอจากคนส่วนหนึ่งที่อยากให้อินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยมองว่าการจะให้เป็นสิทธิพื้นฐานเลยหรือไม่นั้น ต้องประเมินต้นทุน-ผลประโยชน์ (Benefit-Cost Analysis) ให้ดีก่อน แต่แน่นอนว่ายิ่งคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากย่อมเป็นเรื่องดี เพราะไม่ได้มีประโยชน์แค่กับการทำธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงด้านอื่นๆ อย่างการศึกษาด้วย

ข้อเสนอแนะประการที่สองคือการสร้างทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับประชาชน เพราะถึงแม้คนจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ถ้าไม่มีทักษะความรู้ที่จะนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ เช่นเอามาใช้ขายของไม่เป็น ก็ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

งานวิจัยเสนอให้ภาครัฐสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดหลักสูตรฝึกฝนพัฒนาทักษะในการประกอบธุรกิจบนแพลตฟอร์ม E-Commerce ให้กับประชาชน รวมถึงธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยสถาบันการศึกษาอาจเปิดให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรออกไปให้ตอบโจทย์ตลาด

ข้อเสนอแนะประการสุดท้ายคือการเพิ่มประสิทธิภาพและขจัดอุปสรรคของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ได้แก่ การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศ การสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมมากขึ้นสำหรับการทำธุรกิจ ด้วยการลดกฎระเบียบหรือขั้นตอนบางอย่างที่ไม่จำเป็น และสุดท้ายคือการส่งเสริมระบบการจ่ายเงินแบบดิจิทัล (Digital Payment) ซึ่งได้เห็นพัฒนาการที่ดีแล้วในประเทศไทย

อาจไม่ใช่ทุกคนที่ได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม

ถึงแม้การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะเพิ่มช่องทางโอกาสให้กับคนได้หลายคน แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจมีบางคนที่เสียประโยชน์ วรประภาจึงชวนจับตาอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับมิตินี้

ระวังแพลตฟอร์มผูกขาด

การที่แพลตฟอร์มกำลังพากันเดินหน้าพัฒนาไปสู่ซูเปอร์แพลตฟอร์มอาจเป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภคในแง่การสร้างทางเลือกใหม่ๆ แต่อีกด้าน หากแพลตฟอร์มใดมีขนาดใหญ่เกินไป จนถึงขั้นที่ทำทุกอย่างได้โดยไม่มีคู่แข่ง ก็จะเข้าสู่ภาวะผูกขาด ซึ่งวรประภามองว่าเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะผู้บริโภคจะเสียประโยชน์ โดยกตัวอย่างถึงกรณีที่ Uber ออกจากตลาดในประเทศไทย จนปล่อยให้ Grab ครองตลาดอยู่พักหนึ่ง และทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ว่าราคาบริการแพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม วรประภามองว่า “ณ วันนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ถ้าลองไปดูงบการเงินของแพลตฟอร์มต่างๆ ในตอนนี้ จะเห็นว่าขาดทุนกันแหลกลาญ เพราะเขากำลังสู้กันหนักมาก ตอนนี้เลยยังไม่น่ากังวลเท่าไหร่ ตอนนี้เราก็ต้องคอยจับตาดู แล้วปล่อยให้เขาแข่งกันไปก่อน และตลาดแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนแปลงไวมาก เดี๋ยวก็รวมกัน เดี๋ยวก็เตะเจ้านั้นเจ้านี้ออกไป เพราะฉะนั้นต้องคอยดู อย่าปล่อยให้รวมกัน ถ้ารวมกันก็ต้องให้มีเจ้าอื่นมาแข่ง”

“ตราบใดที่เราไม่ปล่อยให้เหลือเจ้าเดียว จะทำให้ตลาดยังคงแข่งขันกันได้อยู่ แล้วผู้บริโภคก็จะยังได้ประโยชน์อยู่” วรประภากล่าว

ธุรกิจดั้งเดิมตกเป็นเหยื่อ?

ประเด็นที่ผู้คนมักกังวลกับการโตขึ้นของโลกดิจิทัลและแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็คือธุรกิจดั้งเดิม (Traditional Business) ที่โดนออนไลน์แย่งส่วนแบ่งไปมากจนไม่อาจทำรายรับและกำไรได้ดีอย่างเดิม และจำนวนไม่น้อยก็ถึงขั้นต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด

วรประภาให้ความเห็นว่า “คนชอบมองว่าธุรกิจดั้งเดิมเหล่านี้เป็นเหยื่อแล้วหาวิธีการเยียวยา แต่การมองแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่ตรงจุด ถ้าใช้แพลตฟอร์มแล้วได้ประโยชน์ ทำไมเราไม่เอาคนกลุ่มนี้มาอยู่บนแพลตฟอร์ม พูดอีกแบบคือ แทนที่เราจะมองว่าเขาเป็นผู้โชคร้ายที่ต้องได้รับการเยียวยาและเยียวยาเขาไปโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย เราควรตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เขามีศักยภาพที่จะขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มได้และสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้มากกว่า”

“แน่นอนว่า traditional business ต้องปรับตัว แต่ก็เข้าใจว่าบางคนอาจปรับตัวได้ช้า หรือมีความไม่พร้อมบางอย่าง ถ้าเราอยากช่วย เราก็ต้องช่วยให้เขาปรับตัวให้ได้ ต้องไปดูว่าเขามีปัญหาอะไร อาจจะขาด digital literacy หรือขาด digital access แล้วก็เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เขา ทำให้เขาเติบโตได้ในยุคนี้ที่โลกเข้าสู่ยุคแพลตฟอร์ม” วรประภากล่าว

แรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมจากแพลตฟอร์ม

ความขัดแย้งระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มกับแรงงานที่เป็นพาร์ตเนอร์ของบริษัท เกี่ยวกับเงื่อนไขการทำงานที่ไม่เป็นธรรม ก็เป็นปัญหามายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของแพลตฟอร์มให้บริการเรียกรถรับส่ง หรือรถส่งพัสดุและอาหาร อย่างล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มไรเดอร์ส่งอาหารของ LINE MAN รวมตัวกันประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อการเปลี่ยนนโยบายค่าตอบแทนต่อรอบ ที่บริษัทประกาศลดลงจากเดิมร้อยละ 19 จนมีผลให้รายได้ของไรเดอร์ลดลง รวมทั้งยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ เช่นการขอรับสวัสดิการที่สอดคล้องกับการทำงานจริง

วรประภามองกลุ่มแรงงานพาร์ตเนอร์ของแพลตฟอร์มแยกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีงานประจำทำอยู่แล้วแต่รับทำงานให้แพลตฟอร์มเป็นอาชีพเสริม กับกลุ่มที่ทำงานแพลตฟอร์มเป็นหลักโดยไม่ได้มีทางเลือกอื่นมากนัก วรประภามองว่าอาจจะต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มหลังมากเป็นพิเศษ โดยอาจต้องมีมาตรการบางอย่างขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำหรือสวัสดิการต่างๆ ที่คนกลุ่มนี้ควรได้รับ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลฎีกาของอังกฤษได้ตัดสินชี้ขาดให้บริษัท Uber ต้องมองพนักงานขับรถให้กับแพลตฟอร์มเป็นเสมือนแรงงานของบริษัท ซึ่งเท่ากับว่าไรเดอร์จะต้องได้รับค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการต่างๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว กรณีนี้จึงเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจนำไปสู่บรรทัดฐานใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและแรงงานแพลตฟอร์มของเจ้าอื่นๆ และประเทศอื่นๆ ในอนาคตด้วย

“มันตีความแบบนั้นก็ได้เหมือนกัน ถ้าตัดคำว่าแพลตฟอร์มออกไป แล้วมองว่าเป็นบริษัททั่วๆ ไป คือบริษัทปกติ เวลาที่เขาจ้างคน เขาก็มีทั้งการจ้างคนแบบเต็มเวลา แบบชั่วคราว แล้วก็แบบเอาท์ซอร์ส ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าสัญญาระหว่างบริษัทกับคนที่มาทำงานจะเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้นสัญญามีได้หลายรูปแบบ แพลตฟอร์มก็ทำได้ไม่ต่างกับบริษัททั่วไป อาจจะให้คนขับ Grab เลือกขับแบบเต็มเวลา 8 โมงถึง 5 โมงเย็นก็ได้ หรือเลือกขับไม่เต็มเวลาก็ได้ สัญญาไม่จำเป็นต้องแบบ One-Size-Fits-All แต่ทำให้เลือกเป็นเมนูได้” วรประภาให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม วรประภามองว่า ปัญหาเรื่องความเป็นธรรมของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มไม่ได้มีสาเหตุอยู่ที่แพลตฟอร์มเสียทีเดียว หากแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดกับแรงงานนอกระบบทั้งหมด

“หลายคนชอบไปโทษแพลตฟอร์ม แต่ความจริง ประเด็นนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่แรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่มีปัญหา อาชีพอื่นหรือธุรกิจอื่นที่อยู่นอกระบบต่างก็ต้องเผชิญปัญหานี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดประเด็นนี้ ต้องจับเฟรมเวิร์กให้ดี” วรประภากล่าว 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save