fbpx
คิดใหม่นโยบายแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

คิดใหม่นโยบายแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้ ‘ดิสรัปต์’ ธุรกิจในเศรษฐกิจแบบเดิม ทั้งในแง่ของโอกาสและความท้าทายใหม่

ในแง่ ‘โอกาส’ เศรษฐกิจแพลตฟอร์มนำมาซึ่งสินค้า บริการ และนวัตกรรมใหม่ ที่ปฏิวัติวิถีชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่า การบริโภค การทำงาน การละเล่น และการพักผ่อนของผู้บริโภคปัจจุบันล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์ม ในระดับมหภาค นักคิดและผู้กำหนดนโยบายหลายคนต่างคาดหวังว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะเป็นเครื่องมือในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ในแง่ ‘ความท้าทาย’ การที่ธุรกิจแพลตฟอร์มทำงานในลักษณะที่แตกต่างจากเดิมสิ้นเชิงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ทั้งในระดับบุคคลและสังคมเช่นกัน และในบรรดาความท้าทายทั้งปวง ประเด็นว่าด้วยแรงงานและสวัสดิการในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม นับเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ ที่ชุมชนผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกให้ความสนใจ

ประเทศไทยไม่ได้มีการปรับตัวเพื่อออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ มารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมากเท่าที่ควร และต้องเผชิญกับสภาพที่แรงงานจำนวนมากขาดสภาพการทำงานที่มั่นคงและมีสวัสดิการรองรับเพียงพอ ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อโควิด-19 ระบาดจนทำให้คนจำนวนมากตกงานและหลั่งไหลเข้าสู่การเป็นแรงงานในแพลตฟอร์ม

เพราะฉะนั้นแล้ว โจทย์ที่สำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ก็คือการเตรียมพร้อมสร้างนโยบายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ‘ชุมชนนโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung – FES) ประเทศไทย จึงได้เชิญตัวแทนจากภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาครัฐ และองค์กรประชาสังคม ที่มีความสนใจในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เข้าแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่องถึงแนวนโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ในฐานะสมาชิกชุมชนนโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม 101 สรุปประเด็นสนทนาจากวงพูดคุยเพื่อชวนสังคมไทยร่วมคิดและหาคำตอบว่า นโยบายแรงงานใหม่ในยุคเศรษฐกิจแพลตฟอร์มควรเป็นอย่างไร

สภาพ ‘ดีเกินจริง’ และ ร้ายเกินจริง’ ของธุรกิจส่งอาหาร

คุณูปการสำคัญของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มคือการลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเข้าถึงการจ้างงานมากขึ้น โดยจุดเด่นสำคัญของการสร้างงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มคือโครงสร้างการจ้างที่ยืดหยุ่น กล่าวคือ แรงงานไม่ต้องถูกผูกมัดในลักษณะการจ้างงานเต็มเวลา ทำให้การเข้าถึงงานเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนที่ทั้งมีงานประจำอยู่แล้ว แต่ใช้แพลตฟอร์มในการหารายได้เสริม และคนไม่มีงานประจำที่อาศัยการหารายได้ผ่านงานจากแพลตฟอร์มเป็นหลัก

ศักยภาพในการเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มยิ่งเด่นชัดมากขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อแรงงานไทยจำนวนมากประสบปัญหาจากการทำงานปรกติและหลั่งไหลเข้ามาหารายได้ผ่านการทำงานในแพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งคือ ธุรกิจบริการส่งอาหาร โดยเฉพาะ 4 แพลตฟอร์มในตลาด ได้แก่ แกร็บ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า และโกเจ็ก

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ว่า โดยปกติแล้ว การสร้างงานท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง การที่แพลตฟอร์มยังสามารถสร้างงานได้จึงเป็นเรื่องที่น่าดีใจและน่าสนใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การสร้างงานในธุรกิจแพลตฟอร์มของไทยยังค่อนข้างจำกัดอยู่แค่ในบางตลาด เช่น ธุรกิจส่งอาหาร เป็นต้น ธุรกิจนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในไทย

ในปัจจุบันธุรกิจส่งอาหารเป็นตลาดที่ยังไม่นิ่ง เพราะมีการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างแพลตฟอร์ม ยิ่งโควิด-19 เข้ามาเร่งทั้งฝั่งอุปสงค์ (คนซื้ออาหาร) และอุปทาน (ไรเดอร์ส่งอาหาร) ก็ยิ่งทำให้ตลาดมีพลวัตสูง สิ่งที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมาคือสภาพ ‘ดีเกินจริง’ และ ‘ร้ายเกินจริง’ ของธุรกิจส่งอาหาร

“ธุรกิจส่งอาหารตอนนี้แข่งขันสูงมาก ประเทศไทยมีอยู่ 4 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ แกร็บ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า และโกเจ็ก ยังไม่นับรวมแพลตฟอร์มที่เล็กกว่าอย่างโรบินฮู้ด การแข่งขันที่รุนแรงส่งผลให้คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือผู้บริโภค รองลงมาคือแรงงาน ส่วนคนที่เสียมากที่สุดคือ เจ้าของแพลตฟอร์มที่จ่ายเงินอุดหนุน ที่ผ่านมาผู้บริโภคเสียค่าส่งน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนจริง ในบางช่วงแทบจะส่งฟรีกันเลยด้วยซ้ำ เมื่อมีโปรโมชั่นแบบนี้ยอดผู้ใช้บริการก็เพิ่ม งานของไรเดอร์ก็เพิ่มและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ช่วงพีกๆ เข้าใจว่าได้กันสูงสุดเดือนละ 6-8 หมื่นบาทเลยทีเดียว นี่คือสภาพตลาดที่ดีเกินจริง

“แต่ไม่นานนักเราก็ได้เห็นสภาพที่ร้ายเกินจริง เพราะโควิด-19 ทำให้คนตกงานมหาศาล และกลายมาเป็นไรเดอร์ เมื่อมีคนแข่งมากขึ้น อาชีพไรเดอร์ก็ไม่ได้ทำเงินมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว คงต้องรอเวลาอีกสัก 1-2 ปี เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น คนกลับไปทำงานตามปกติ อำนาจต่อรองของฝั่งแรงงานถึงจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” ดร.สมเกียรติวิเคราะห์สถานการณ์

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้บริหารฝ่าย Public Affairs ของไลน์แมนวงใน และผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับ ดร.สมเกียรติ  ในฐานะผู้บริหารแพลตฟอร์ม เขาชี้ว่า ปัจจุบันจำนวนไรเดอร์อยู่ในสภาวะอุปทานล้นเกิน จนทำให้บางช่วงแพลตฟอร์มต้องจำกัดการรับไรเดอร์ และต้องมีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจขนานใหญ่

“เวลาเห็นข่าวการประท้วงของไรเดอร์ อาจมีที่มาจากหลายเหตุผล เพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไรเดอร์มีความซับซ้อนพอสมควร และแต่ละเจ้าก็มีโมเดลไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เหตุผลหลักๆ คือเรื่องค่าตอบแทน ตอนนี้แพลตฟอร์มส่งอาหารทุกเจ้าขาดทุนหมด เลยพยายามลดรายจ่ายเพื่อให้ขาดทุนน้อยลง พอไปลดค่าตอบแทนก็เลยประท้วงกัน”

อิสริยะกล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่รุนแรงจนทำให้ทั้งแพลตฟอร์มและไรเดอร์ไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างที่หวังไว้ ถ้าดูจากโมเดลที่จีน สุดท้ายแพลตฟอร์มในธุรกิจส่งอาหารคงเหลืออยู่แค่ 2 เจ้า ซึ่งพอตลาดเข้าสู่สมดุล การแข่งขันจะไม่สูงมาก

“เทคโนโลยีจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ในเมืองจีนตอนนี้สามารถรวมคำสั่งซื้อได้ เช่น ถ้ามีคำสั่งซื้อร้านเดียวกัน จากสถานที่ใกล้ๆ กัน แล้วใช้ไรเดอร์คนเดียวได้ ต้นทุนก็จะถูกลง พูดง่ายๆ คือ ถ้ามีแค่ 1 ออเดอร์อาจจะขาดทุน แต่ถ้ามีสัก 3 ออเดอร์ก็อาจมีกำไรได้ เท่าที่ทราบตอนนี้ทุกเจ้าก็พยายามพัฒนาระบบนี้อยู่” อิสริยะอธิบาย

อิสริยะชี้ให้เห็นด้วยว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์มแม้จะมีลักษณะที่คล้ายกันมาก แต่ผลกระทบจากโควิด-19 กลับต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ในธุรกิจขนส่งสาธารณะ แม้คนขับจะถูดลดค่ารอบในการขับเหมือนกัน ทว่ากลับไม่มีการประท้วงจากคนขับเลย เพราะในช่วงล็อกดาวน์จำนวนผู้โดยสารและคนขับลดลงไปอย่างมาก คนที่ยังอยู่ในตลาดเลยต้องอยู่ในสภาวะจำยอม

flexible vs vulnerable: ความท้าทายของการทำงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

แม้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงการจ้างงาน และมีจุดเด่นสำคัญคือความยืดหยุ่น (flexible) ในการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ในด้านกลับ ความหยืดหยุ่นกลับกลายเป็นความเปราะบาง (vulnerable) ของแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มด้วย

ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ ศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้านักวิจัยใน “โครงการการพัฒนาระบอบกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในศตวรรษที่ 21” มองว่า ประเด็นท้าทายของแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมี 5 ประเด็นหลักได้แก่ 1. ความมั่นคงของงาน 2. ความเป็นธรรมของค่าตอบแทน 3. ความเสี่ยงและสภาพในการทำงาน 4. หลักประกันและสวัสดิการแรงงาน 5. การรวมกลุ่มเพื่อต่อรอง

“ชัดเจนว่า แรงงานในแพลตฟอร์มไม่มีความมั่นคง ประเด็นนี้เถียงกันมาตลอดว่ามีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน ฝั่งหนึ่งบอกว่า ‘flexible’ แต่อีกฝั่งก็บอกว่า จริงๆ แล้วคือ ‘vulnerable’ ต่างหาก”

แม้จะเป็นเรื่องของคำ แต่ดร.ทศพลชี้ว่าการเลือกใช้คำในการมองปัญหาย่อมสะท้อนมุมมองและกำหนดวิธีคิดในการจัดการปัญหา

“ในส่วนของค่าตอบแทน โครงสร้างการจ้างงานแบบนี้เป็น ‘zero hour contract’ พูดง่ายๆ คือ ไม่มีค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งก็ปวดหัวกันมากว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ข้อเสนอเกี่ยวกับการประกันรายได้ขั้นต่ำ (UBI) ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหานี้  

“ประเด็นที่สาม ความเสี่ยงในการทำงาน เศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้ผลักให้แรงงานเป็นผู้รับความเสี่ยงส่วนใหญ่ เพราะคนทำงานเป็น ‘คู่รับจ้างทำของ’  (contractor) ไปแล้ว ไม่ใช่ ‘แรงงาน’ (labour)  ซึ่งเป็นคำถามใหญ่เลยว่า การกำหนดเช่นนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร

“เรื่องหลักประกันและสวัสดิการ เป็นปัญหามากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะงานที่ทำจะมีลักษณะเป็นการจ้างรายชิ้น คำถามคือแรงงานจะเรียกร้องสิทธิว่าตัวเองผูกมัดอยู่กับใครก็หาไม่เจอเลย เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่รู้ว่าต้องเรียกร้องกับใคร ส่วนเรื่องการรวมกลุ่ม อินเทอร์เน็ตทำให้ทุกคนกระจัดกระจาย กลายเป็นว่าต่างคนต่างอยู่ ดังนั้นเรื่องสหภาพแรงงานเป็นไปได้อย่างแน่นอน” ดร.ทศพล กล่าวสรุปประเด็น

นอกจากนี้ ดร.ทศพล ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า หากแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มขยายตัวเพิ่มขึ้น อาจทำให้ภาคเศรษฐกิจในระบบ (formal sector) ของไทยกลายเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยนัก เพราะเดิมเศรษฐกิจและแรงงานนอกระบบของไทยมีสัดส่วนที่สูงมากอยู่แล้ว

ในขณะที่อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และผลกระทบต่อแรงงานภาคบริการในประเทศไทย” และผู้เข้าร่วมเสวนาหลายคน ได้แสดงความกังวลถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากโครงสร้างการจ้างงานของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ในหลายประการ อาทิ

  • การจ้างงานบนแพลตฟอร์มนั้นไม่ได้เกิดบนความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกจ้าง แต่เกิดขึ้นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับเทคโนโลยี ในแง่นี้แรงงานบนแพลตฟอร์มจะต้องปฏิสัมพันธ์และถูกควบคุมกำกับโดยระบบที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ อันมีกระบวนการตัดสินใจบนฐานของอัลกอริทึมที่ขาดความโปร่งใส
  • ความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มและแรงงาน ยังมักจะมีลักษณะความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหลื่อมล้ำกันสูง แพลตฟอร์มต่างๆ นั้ นแม้จะมีระบบการจัดสรรงานและให้โอกาสในการเลือกกับแรงงานไม่เท่ากัน เช่น บางแพลตฟอร์มอาจจัดสรรงานให้กับแรงงานโดยไม่ให้แรงงานมีโอกาสได้เลือกเลย ในขณะที่บางแพลตฟอร์มเปิดโอกาสให้แรงงานแข่งกันเลือกงานและระบุเวลาทำงานได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันก็คือแรงงานที่เข้าสู่แพลตฟอร์มนั้นมักจะขาดอำนาจในการต่อรองกับเงื่อนไขการทำงานที่แพลตฟอร์มได้กำหนดไว้ให้แล้ว
  • การขาดความมั่นคงในการทำงานบนแพลตฟอร์ม ยังมากขึ้นไปจากการที่แรงงานบนแพลตฟอร์มมักจะต้องแบกต้นทุนแฝงในการทำงานหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ต้นทุนทางสุขภาพ ความเสี่ยงจากการต้องถูกทำอันตรายในกรณีที่มีความขัดแย้งกับผู้ให้บริการแบบดั้งเดิมอยู่
  • สภาพความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับแรงงานในแพลตฟอร์ม โดยระบบเรตติ้งอาจมีความเอนเอียงในการประเมินการทำงานบางลักษณะให้กับเพศหนึ่งๆ ดีกว่าอีกเพศหนึ่ง ตัวอย่างเช่น กรณีผู้หญิงที่ขับรถในแพลตฟอร์มขนส่งสาธารณะ มักจะได้รับเรตติ้งต่ำกว่าผู้ชาย หรือตรงข้ามกันคือกรณีผู้หญิงที่ทำงานบ้านผ่านแพลตฟอร์มการจ้างแม่บ้าน มักจะได้รับเรตติ้งสูงกว่าผู้ชาย

ความหลากหลายของแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ที่ผ่านมา การศึกษาประเด็นแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ธุรกิจส่งอาหารและขนส่งสาธารณะ เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากอยู่ในธุรกิจนี้ อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์พฤติกรรมและคุณภาพชีวิตของแรงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความแตกต่างของประเภทงานและแพลตฟอร์ม เช่น เมื่อพูดถึงแพลตฟอร์มส่งอาหาร หรือขนส่งสาธารณะ งานวิชาการมักจะจัดแรงงานในธุรกิจนี้ให้เป็นแรงงานทักษะต่ำ และมีขอบเขตในการทำงานที่จำกัด แต่ในแพลตฟอร์มอย่าง ‘Fast Works’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับงานประเภท ‘คนคอปกขาว’ ก็จะถูกมองว่าเป็นงานทักษะสูง และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ทักษะที่มีขอบเขตกว้างไกลกว่ามาก

“งานแบบคนคอปกขาวไม่ได้อยู่แค่ในประเทศเดียว แต่ต้องไปแข่งขันในระดับโลก กลุ่มนี้ได้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบ ทว่า การรวมตัวกันเพื่อต่อรองกลับแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะแรงงานแต่ละคนอยู่คนละที่กันหมด นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบด้วยว่า ในประเทศกำลังพัฒนาเมื่อคนกลุ่มนี้เมื่อรวมตัวกันจะเกิดปัญหาลอกหรือขโมยงานกัน การรวมกลุ่มก็ยิ่งเกิดขึ้นยากไปอีก” ดร.ทศพลอธิบาย

นอกจากนี้ ในบางแพลตฟอร์มก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่า ก่อให้เกิดการจ้างงานหรือไม่ อย่างไร เช่น Airbnb ซึ่งโมเดลธุรกิจเน้นทำกำไรจากการเก็บค่าเช่าเป็นหลัก ไม่ได้ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรง อย่างไรก็ตาม ในการทำธุรกิจปล่อยเช่าก็ทำให้เกิดงานด้วย อาทิ แม่บ้านทำความสะอาด ช่างซ่อม ดีไซเนอร์ตกแต่งห้อง เป็นต้น

จินตนาการใหม่ นโยบายใหม่ ในโลกใหม่

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์มคืออนาคตของทุกสังคม และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้จินตนาการใหม่ในการออกแบบนโยบายแรงงาน เพราะเครื่องมือเชิงนโยบายส่วนใหญ่ที่เราใช้กันอยู่เป็นผลผลิตของโลกในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว

“ประการแรกคือการออกแบบระบบข้อมูล เราต้องทำระบบที่เก็บข้อมูลของทั้งแรงงานและผู้บริโภค ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งนวัตกรรมและความเป็นอยู่อย่างรอบด้าน เช่น ไรเดอร์เกิดอุบัติเหตุกี่ครั้ง เกิดจากเงื่อนไขอะไร เพศไหนมากกว่ากัน เวลาไหน ซึ่งข้อมูลที่ดีจะเป็นพื้นฐานในการออกแบบกฎกติกาและนโยบายที่ดีได้ ประเด็นนี้ไม่น่าเหลือบ่ากว่าแรง เพราะเทคโนโลยีสามารถทำได้ อยู่ที่ว่าจะออกแบบระบบและความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอย่างไร

“ประการที่สอง การออกแบบสัญญาระหว่างแพลตฟอร์มกับแรงงานโดยคำนึงถึงแค่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแรงงานอาจไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องนึกถึงความเป็นธรรมด้วย กติกาของแพลตฟอร์มในธุรกิจส่งอาหารคือ หากไรเดอร์ต้องการรายได้มากขึ้น ความเสี่ยงต่างๆ ก็จะมากขึ้นด้วย ซึ่งสัญญาที่เป็นธรรมควรจะช่วยควบคุมความเสี่ยงไม่ให้มากจนเกินไป อันที่จริง ข้อเสนอนี้น่าลองเอาไปคิดกับบางธุรกิจที่มีการผูกขาดสูงด้วย เพื่อรับประกันว่าคนที่มีอำนาจเหนือตลาดจะไม่เอาเปรียบคนที่อำนาจต่อรองน้อยกว่า

“ประการที่สาม เราอาจต้องหาโมเดลใหม่ไปเลยในการดูแลแรงงาน พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ บทบาทของรัฐควรจะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร เช่น ถ้ารัฐเข้ามาเป็นผู้ซื้อรายใหญ่จนสามารถกำกับตลาดได้คล้ายกับระบบประกันสุขภาพจะเป็นอย่างไร หรือจะใช้โมเดลทางด่วนให้แพลตฟอร์มลงทุน ส่วนรัฐกำกับดูแลด้านราคา ซึ่งก็มาดูอีกว่าบริการแบบไหนที่รัฐจะเข้ามาดูแล เช่น ถ้าเป็นขนส่งสาธารณะอาจจะใช่ แต่ส่งอาหารอาจจะไม่ใช่ เป็นต้น” นพ.สมศักดิ์ทดลองตั้งคำถามเพื่อกะระตุ้นให้เกิดการคิดใหม่  

ดร.สมเกียรติ เห็นด้วยกับนพ. สมศักดิ์ในแง่ที่ว่า เครื่องมือและนโยบายแรงงานแบบเดิม เช่น การส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงาน หรือการออกกฎหมายเพื่อให้แรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มไปอยู่ใต้กฎหมายแรงงาน แก้ปัญหาได้อย่างจำกัด

“การรวมตัวเพื่อต่อรองยังคงสำคัญกับหลายเรื่อง แต่คำถามคือ การรวมตัวกันแบบสหภาพแรงงานใช่ทิศทางการมองเรื่องแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องคิดให้ดี หรือการแก้กฎหมาย ผมเชื่อว่าต่อให้กำหนดกติกาอย่างไร แต่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบที่เป็นอยู่ ยังไงเสียก็ต้องมีวิธีการอธิบายหรือตีความให้ลอดช่องไปได้อยู่ดี” ดร.สมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ ดร.สมเกียรติเห็นว่า หากใช้ปัญหาของไรเดอร์ในธุรกิจส่งอาหารเป็นตุ๊กตาในการคิดใหม่เกี่ยวกับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โจทย์เชิงนโยบายสำคัญที่ต้องคิดมี 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรกคือค่าตอบแทน ซึ่งในกรณีของไรเดอร์ควรปล่อยให้ขึ้นกับสภาพการแข่งขัน เพราะในสภาพที่แพลตฟอร์มยังคงขาดทุนมหาศาล การเข้าไปกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจะยิ่งทำให้สถานการณ์มีความซับซ้อน ที่สำคัญ ต่อให้เข้าไปนิยามว่า ใครบ้างคือคนงาน ก็จะมีวิธีเลี่ยงได้อีกอยู่ดี

กลุ่มที่สองคือ ความโปร่งใส ตรงนี้รัฐควรเข้าไปมีบทบาทให้มาก โดยชวนทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม คนงาน ผู้บริโภค เข้ามากำหนดกติการ่วมกันให้ชัด เช่น การทำให้อัลกอริทึมโปร่งใส ถ้าหากคนไปสมัครส่งอาหาร คนทำงานควรจะมีสิทธิรู้ข้อมูลพื้นฐานว่า ปัจจุบันมีคนงานขับรถเฉลี่ยเดือนละกี่คัน เฉลี่ยต่อคันวิ่งได้กี่เที่ยว สถิติอุบัติเหตุเดือนหนึ่งกี่ครั้ง ฯลฯ

กลุ่มที่สามคือ ความเสี่ยง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ระบุและสามารถแก้ไขล่วงหน้าได้ ความเสี่ยงประเภทนี้ควรระบุให้ชัดที่สุด เช่น ในกรณีไรเดอร์เกิดอุบัติเหตุไม่สามารถส่งของได้ ก็กำหนดกระบวนการจัดการให้ชัดเจนและเป็นธรรมทั้งกับไรเดอร์ ร้านค้า และผู้บริโภค ส่วนความเสี่ยงที่ระบุไม่ได้ก็ต้องคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

กลุ่มสุดท้ายคือ การออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ หากแนวนโยบายของรัฐสามารถสร้างงานได้เป็นจำนวนมาก แรงงานก็จะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องคิดเรื่องการสร้างตาข่ายทางสังคมแบบใหม่ที่รองรับความผันผวนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save