fbpx
เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายเศรษฐกิจไทย (4): แพลตฟอร์มกับการสร้างประโยชน์สาธารณะ

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (4): แพลตฟอร์มกับการสร้างประโยชน์สาธารณะ

อ่านตอนที่ 1: เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (1): สู่โลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

อ่านตอนที่ 2: เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (2): การผูกขาด การแข่งขัน และโจทย์ใหญ่ของการกำกับดูแล

อ่านตอนที่ 3: เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (3): คุณภาพชีวิตแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการสร้างประโยชน์สาธารณะ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางในชุมชนโนยบายเศรษฐกิจ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนกันถึงแง่มุมของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในการสร้างผลกระทบภายนอก (externalities) ทั้งในด้านลบและด้านบวก ยกตัวอย่างในด้านลบ เช่น การป้องกันและลดมลภาวะและขยะที่เกิดจากการใช้งานแพลตฟอร์ม ส่วนในด้านบวกก็คือการผลักดันให้เกิดการใช้กลไกของแพลตฟอร์ม รวมไปถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การยกระดับสิ่งที่สำคัญกับคุณภาพชีวิต เช่น บริการสาธารณะ

ประเด็นคำถามสำคัญในหัวข้อเศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการสร้างประโยชน์สาธารณะประกอบไปด้วยคำถามหลักเช่น แนวทางในการจัดการมลพิษและขยะจำนวนมากที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มควรจะเป็นอย่างไร ควรมีการพัฒนาช่องทางในการเปิดโอกาสให้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มได้ถูกนำไปใช้สร้างประโยชน์สาธารณะอย่างไร รวมไปถึงควรทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์มที่ช่วยพัฒนาบริการสาธารณะให้ดีขึ้น

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การขยายตัวของธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจแพลตฟอร์มได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการ ตัวอย่างเช่น การต้องเก็บข้อมูลมหาศาลของธุรกิจแพลตฟอร์มและธุรกิจดิจิทัลอื่นนำไปสู่ความจำเป็นของการสร้างศูนย์ข้อมูลซึ่งมีการผลิตก๊าซคาร์บอนออกมาในปริมาณมาก และการขยายตัวของแพลตฟอร์มขนส่งอาหารก็นำไปสู่การใช้พลาสติกในปริมาณที่สูงขึ้นมาก

ในหลายกรณี แม้ความรับผิดชอบไม่ควรอยู่ที่เฉพาะกับตัวธุรกิจแพลตฟอร์มเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าพวกเขาต่างมีบทบาทกับการผลักดันให้กิจกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เพิ่มขึ้น จึงควรมีส่วนในการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ หากคิดถึงธุรกิจแพลตฟอร์มในฐานะธุรกิจที่มีส่วนของการใช้โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ รวมไปถึงลักษณะการทำธุรกิจที่ต้องอาศัยข้อมูลจากผู้ใช้มาสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง ภาครัฐและสาธารณชนย่อมมีเหตุผลที่จะผลักดันให้ธุรกิจแพลตฟอร์มมีบทบาทในการลดผลกระทบภายนอกที่ตนเองมีส่วนทำให้เกิดขึ้น

ตัวอย่างสำคัญของการผลักดันให้ธุรกิจแพลตฟอร์มมีส่วนกับการรับผิดชอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือการจัดการขยะ งานศึกษาโดยสุจิตรา (2020) ได้สำรวจสภาพปัญหาและแนวทางที่ถูกนำมาใช้ในกรณีดังกล่าว งานศึกษาพบว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้บริการแพลตฟอร์มขนส่งอาหาร โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด 19 ได้นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล โดยคาดการณ์พบว่าปริมาณขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.4-4 พันล้านต้นในปี 2015 และแม้ว่าปัญหานี้จะมีแนวโน้มหนักหน่วงยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีความพยายามแก้ปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้อย่างจริงจัง

งานศึกษาได้เสนอ 3 แนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกจากธุรกิจแพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 

(1) การลดขยะพลาสติกที่สร้างขึ้น (reduce) ปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วในรูปแบบของการให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มได้มีสิทธิเลือกว่าจะไม่รับช้อนส้อมพลาสติก อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ยังสามารถผลักดันเพิ่มเติมได้โดยการทำให้ทางเลือกการไม่รับนี้เป็นทางเลือกพื้นฐาน (by default) นอกจากนี้ ยังสามารถมีมาตรการอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่นในกรณีของสิงคโปร์ที่ให้ตัวเลือกรับช้อนส้อมพลาสติกต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

(2) การทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติก (replace) คือการให้ร้านค้าทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุอื่น โดยเฉพาะวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(3) การสนับสนุนให้นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (reuse) คือการให้นำเอาบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่นั้น จำเป็นต้องมีการจัดการระบบเพื่อรับคืนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยจะต้องมีช่องทางการรวบรวมบรรจุภัณฑ์คืนมาจากผู้บริโภคและทำความสะอาดก่อนนำมาใช้อีกครั้ง

ทั้งสามแนวทางแก้ไขมีความท้าทายที่แตกต่างกันไปในการนำไปปฏิบัติ สำหรับแนวทางการลดขยะพลาสติก (reduce) นั้นเป็นแนวทางที่นำมาปฏิบัติได้ง่ายที่สุด โดยธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถมีบทบาทได้ผ่านการปรับปรุงการออกแบบระบบการสั่งอาหารให้นำไปสู่การลดจำนวนบรรจุภัณฑ์พลาสติกโดย และผ่านการช่วยโปรโมทร้านอาหารที่ใช้แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมีการลงนาม MOU ระหว่างรัฐกับธุรกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทยเพื่อขอความร่วมมือให้ธุรกิจแพลตฟอร์มเดินตามแนวทางนี้แล้ว และแพลตฟอร์มก็ได้เริ่มปฏิบัติตามแล้ว

ในขณะที่แนวทางการทดแทนบรรจุภัณฑ์ (replace) ความท้าทายก็คือต้นทุนที่มักจะเพิ่มขึ้น ทำให้การนำแนวทางนี้มาปฏิบัติจะต้องมีผู้ที่ยอมแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ หากเป็นผู้บริโภคก็จะต้องยินยอมรับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ในขณะที่หากเป็นร้านค้าก็จะต้องยินยอมแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไว้กับตนเอง การสนับสนุนให้ธุรกิจแพลตฟอร์มช่วยเข้ามาแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้นด้วยอีกทางหนึ่งนับเป็นอีกหนทางที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพการแข่งขันทางราคาอย่างรุนแรงระหว่างธุรกิจแพลตฟอร์มที่เป็นอยู่ ทำให้การปรับราคาเพิ่มขึ้นกับผู้ซื้อหรือผลักต้นทุนไปสู่ร้านค้าทำได้ยาก การจะสนับสนุนแนวทางนี้ให้ปฏิบัติได้จริงจังอาจต้องอาศัยแรงกดดันจากสาธารณะหรือการผลักดันอย่างจริงจังจากภาครัฐให้แพลตฟอร์มและร้านค้าต้องปรับพฤติกรรม

ส่วนแนวทางสุดท้ายอย่างการให้นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ความท้าทายสำคัญก็คือการจัดระบบการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์โดยธุรกิจแพลตฟอร์ม ตั้งแต่การรับบรรจุภัณฑ์คืนจากผู้บริโภคจนไปถึงการนำมาทำความสะอาดก่อนนำกลับมาใช้อีกครั้ง การจัดการเช่นนี้อาจเหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มที่มีพื้นที่การบริการจำกัดและมีลูกค้าประจำ แต่ไม่เหมาะสำหรับกรณีแพลตฟอร์มที่มีพื้นที่การบริการใหญ่และมีลูกค้าสับเปลี่ยนมาใช้งานมาก ที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีธุรกิจบริการส่งอาหารที่พยายามใช้แนวทางนี้ เช่น Indy Dish และ Green IM ซึ่งให้บริการในพื้นที่จำกัด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเหล่านี้โดยตรง ทำให้ต้องเลิกการให้บริการไป

กรณีการผลักดันให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกจากธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นแนวนโยบายที่ควรได้รับการนำมาปรับใช้เพื่อช่วยลดผลกระทบภายนอกในกรณีอื่นๆ จากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้เช่นกัน โดยแนวนโยบายที่ควรได้รับการพิจารณาสนับสนุนประกอบไปด้วย

ประการแรก เพื่อให้การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากธุรกิจแพลตฟอร์มและผู้ใช้เกิดขึ้นจริง ควรมีการตั้งเป้าหมายของการลดขยะหรือมลพิษให้ชัดเจน และควรมีการผลักดันให้มีมาตรการอื่นๆ นอกจากการใช้มาตรการขอความร่วมมือในการผลักดันให้แพลตฟอร์มยอมปฏิบัติตามให้การบรรลุเป้าหมาย เช่น การใช้มาตรการทางกฎหมาย ดังตัวอย่างการฟ้องร้องด้านสิ่งแวดล้อมต่อธุรกิจแพลตฟอร์มในประเทศจีน

ตัวอย่างการฟ้องร้องด้านสิ่งแวดล้อมต่อธุรกิจแพลตฟอร์มในประเทศจีน

ในปี 2017 กลุ่มผู้เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม Green Volunteer League of Chongqing จากเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ได้รวมตัวกันเพื่อฟ้องร้องแพลตฟอร์มบริการส่งอาหารรายใหญ่ของประเทศทั้ง 3 ราย ได้แก่ Baidu Waimai, Ele.me และ Meituan Waimai ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างขยะจำนวนมากโดยไม่จำเป็น เพราะแอปพลิเคชันไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเลือกได้ว่าต้องการอุปกรณ์การรับประทานอาหารแบบใช้แล้วทิ้งหรือไม่ ศาลได้รับการฟ้องร้องนี้ไว้พิจารณา โดยมองว่าคำร้องมีความเพียงพอจะนำไปสู่การพิจารณาว่าการกระทำของธุรกิจแพลตฟอร์มอาจสร้างผลเสียต่อสาธารณะ

ประการที่สอง อุปสรรคหลักของการจัดการปัญหาเช่นมลภาวะและขยะอยู่ที่การบริหารจัดการต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งหากปล่อยให้จัดการไปเองตามธรรมชาติก็ยากที่จะมีผู้ใดยอมรับต้นทุนนี้ไว้กับตนเอง สำหรับการจัดการต้นทุนนั้นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงก็คือร้านอาหารซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจใช้แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยตรง แต่การจะตัดสินใจเช่นนี้ได้ก็ต้องมีการสนับสนุนจากผู้บริโภค และการเข้าช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระจากธุรกิจแพลตฟอร์ม นโยบายจากภาครัฐที่จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้จึงมีความสำคัญ

ประการที่สาม ช่องทางสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งกับผู้ใช้และธุรกิจแพลตฟอร์มได้โดยสมัครใจ ก็คือการสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สาธารณชนรับรู้และให้คุณค่า ตัวอย่างเช่น การสร้างสัญลักษณ์ให้กับร้านอาหารหรือแพลตฟอร์มที่มีพฤติกรรมดูแลสิ่งแวดล้อม การสร้างมาตรฐานนี้ริเริ่มได้ทั้งจากภาครัฐและองค์กรประชาสังคมเพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันธุรกิจแพลตฟอร์มและผู้ใช้ให้เปลี่ยนพฤติกรรม หรือยังเป็นได้ในลักษณะมาตรฐานที่ธุรกิจแพลตฟอร์มสร้างขึ้นเองเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ร้านอาหารและผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับมิติด้านสิ่งแวดล้อม

ประการสุดท้าย การจะจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้ยังจำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่โปร่งใส โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะและขยะที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์ม ในปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ได้รับการเปิดเผย หรือยังไม่ได้รับการบันทึกและจัดการติดตามอย่างเป็นระบบ จึงควรมีการสนับสนุนให้แพลตฟอร์มเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้และเปิดช่องทางให้เข้าถึง โดยอาจทำได้ผ่านกลไกเช่นการสร้างเงื่อนไขให้ธุรกิจแพลตฟอร์มจำเป็นต้องชี้แจงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงเงินทุนหรือการขออนุญาตดำเนินการจากภาครัฐ

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการขยายตัวเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีศักยภาพจะสร้างประโยชน์สาธารณะได้มากมาย แต่อุปสรรคก็คือช่องทางที่จำกัดในการเปิดให้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มได้รับการแบ่งปันให้ผู้ใช้งานอื่นๆ สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อมูลเหล่านั้นเป็นของธุรกิจแพลตฟอร์มรวบรวมไว้ ความท้าทายสำคัญจึงเป็นการผลักดันให้ธุรกิจแพลตฟอร์มยินยอมเปิดโอกาสให้ข้อมูลของตนได้รับการแบ่งปันการเข้าถึงได้ ซึ่งธุรกิจแพลตฟอร์มเองอาจไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากเกรงว่าจะไปกระทบการแข่งขันของตนเองกับคู่แข่ง นอกจากนี้ยังอาจมีความกังวลถึงปัญหาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลหากมีการแบ่งปันการเข้าถึง

ทั้งนี้หากคำนึงว่าธุรกิจแพลตฟอร์มล้วนแต่ดำเนินการโดยได้รับประโยชน์จากการใช้โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ และยังสร้างกำไรผ่านการนำเอาข้อมูลจากประชาชนใช้งานมาใช้เพื่อสร้างอำนาจเหนือตลาดให้กับตนเอง การขอให้ธุรกิจแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลเพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะก็ควรเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มการบริการด้านการขนส่งทั้งคนและสินค้าต่างก็มีข้อมูลที่จะสามารถนำมาแบ่งกับสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานและการบริการด้านการคมนาคม

ในปัจจุบัน แนวทางการจัดการข้อมูลที่เข้าไปสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มนั้นมีสองแนวทาง แนวทางแรกคือข้อมูลเป็น ‘สมบัติส่วนบุคคล’ โดยตัวอย่างของประเทศที่เดินตามแนวทางนี้คือญี่ปุ่น ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งคือข้อมูลเป็น ‘สิทธิส่วนบุคคล’ โดยประเทศในยุโรปเลือกเดินตามแนวทางที่สองนี้

การจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้าไปสู่แพลตฟอร์มตามแนวทางที่แตกต่างกันนี้มีนัยต่อการเปิดช่องทางให้ข้อมูลสามารถนำมาใช้ได้ หากข้อมูลนับเป็นสมบัติส่วนบุคคล ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลซึ่งก็คือประชาชนเองก็ควรได้รับส่วนแบ่งของประโยชน์กลับมาสู่ตนเองบ้างจากการที่ข้อมูลของตนถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่จะนำไปสู่การสร้างสาธารณประโยชน์ได้ก็ควรได้รับการแบ่งการเข้าถึง 

ในการผลักดันให้เกิดการเปิดโอกาสให้ข้อมูลจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้รับการนำมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะได้นั้น แนวทางที่เป็นไปได้จะต้องมองไปถึงการสร้างความร่วมมือและความไว้วางใจระหว่างรัฐและธุรกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้ธุรกิจยอมแบ่งปันข้อมูลให้กับภาครัฐโดยไม่ต้องกังวลใจว่าข้อมูลของตนเองจะรั่วไหล สำหรับความกังวลเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลนั้น สามารถจัดการได้ผ่านการขอแบ่งปันข้อมูลที่ไม่อยู่ในระดับบุคคลแทน นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเป็นตัวอย่างในการริเริ่มกระบวนการนี้ได้จากการเปิดโอกาสให้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มที่ตนเองเป็นเจ้าของนั้นได้รับการเข้าถึงได้จากสาธารณะ ซึ่งก็คือการเดิมตามแนวทาง open data อย่างจริงจัง

ตัวอย่างนโยบายสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐและเอกชนและนโยบาย Open Data

การแชร์ข้อมูลระหว่างรัฐและเอกชน

ประเทศรูปแบบการแชร์ข้อมูลข้อควรระวัง /
ความท้าทาย
อังกฤษเว็บไซต์ Data.gov.uk ซึ่งสร้างขึ้นโดยรัฐ เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลภาคเอกชน (รณดล, 2561, หน้า 44–45)  
เอสโตเนียExchange Platform (X-Road) ของประเทศเอสโตเนีย ที่รัฐมีการเชื่อมโยงไปยังฐานข้อมูลภาคเอกชน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ (เพิ่งอ้าง, หน้า 54-55)  ธรรมาภิบาลข้อมูล กฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัว 

นโยบาย Open data

ประเทศรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลการสร้างสภาพแวดล้อมในการเปิดเผยข้อมูล
อังกฤษ– ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐบาลจัดเก็บโดยเงินภาษีเปิดเผยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

-เปิดเผยข้อมูลผ่านกรมพัฒนาธุรกิจและการค้า, Land Registry กรมที่ดิน, Met Office กรมอุตุนิยมวิทยา และ Ordnance Survey กรมแผนที่ และหน่วยงานอื่นๆ ผ่าน www.data.gov.uk 

– จัดให้มีรายชื่อ National Information Infrastructure (NII) ซึ่งเป็นรายชื่อชุดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐบาลบันทึกและเก็บรักษา เพื่อรวบรวมและเปิดเผยรายชื่อดังกล่าวบน www.data.gov.uk ให้สาธารณะเข้าถึง และรัฐบาลสามารถนำฟีดแบ็กมาจัดลำดับความสำคัญเพื่อเปิดเผยข้อมูลได้ (เพิ่งอ้าง, หน้า 48 – 49)
– เป็นมากกว่าฐานข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อีกที่จำเป็นในการส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันข้อมูล เช่น เรื่องการจัดการข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน ทักษะของบุคลากร กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว เป็นต้น (เพิ่งอ้าง)
เอสโตเนีย– Exchange Platform (X-Road) ของประเทศเอสโตเนีย ที่รัฐมีการเชื่อมโยงไปยังฐานข้อมูลภาคเอกชนเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ และสามารถล็อกอินเข้าไปดูข้อมูลของตนผ่านพอร์ทัลของรัฐได้ตลอด – เว็บไซต์ https://e-estonia.com/– เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าข้อมูลทั้งหมดจะอยู่อย่างมั่นคงในระบบดิจิทัล การเข้าไปทำธุรกรรมต่างๆ จะถูกจัดเก็บประวัติไว้ทั้งหมดเพื่อการตรวจสอบถึงความโปร่งใส

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการพัฒนาบริการสาธารณะ

ในประเด็นสุดท้าย เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเองสามารถเป็นส่วนสำคัญที่สร้างผลกระทบภายนอกทางบวก (positive externalities) ให้กับสังคมได้ ไม่ว่าจะผ่านการสร้างนวัตกรรมการบริการที่ตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิต หรือผ่านการเป็นกลไกที่พัฒนาคุณภาพของบริการสาธารณะและการดำเนินนโยบายของรัฐ

สำหรับการสร้างแพลตฟอร์มในลักษณะของบริการสาธารณะ ตัวอย่างของบริการที่เป็นไปได้ก็อย่างเช่น บริการแพลตฟอร์มด้านการศึกษา บริการแพลตฟอร์มที่ช่วยในการจัดการขยะหรือของเหลือใช้อื่นๆ รวมไปถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการร่วมแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น ข้อมูลอุบัติเหตุ ข้อมูลสภาพการจราจร และข้อมูลคุณภาพที่ช่วยในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น

ส่วนในด้านการเป็นกลไกพัฒนาคุณภาพบริการของรัฐที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างที่เด่นชัดก็เช่นการใช้แพลตฟอร์มเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับบริการสาธารณะในด้านต่างๆ หรือการใช้แพลตฟอร์มเพื่อช่วยให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการออกแบบงบประมาณภาครัฐในรูปแบบของ participatory budgeting

แม้กระทั่งตัวแพลตฟอร์มเอง หากจะมองในลักษณะที่ว่าแพลตฟอร์มหลายรูปแบบได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับการใช้ชีวิตประจำกันของประชาชน ก็มีเหตุผลในการผลักดันให้มีการสร้างแพลตฟอร์มในลักษณะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อประโยชน์สาธารณะให้เกิดขึ้น ทั้งนี้การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มแม้เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจอย่างเดียวก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดาย หากจะหวังให้แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นนั้นมีบทบาทในลักษณะที่ช่วยสร้างประโยชน์สาธารณะด้วยก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่ยากขึ้นไป

ทางเลือกในการให้ภาครัฐเป็นผู้สร้างแพลตฟอร์มยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ด้วยความจำกัดในศักยภาพการดำเนินการของภาครัฐเอง แนวทางที่เป็นไปได้หากรัฐต้องการผลักดันแพลตฟอร์มเพื่อประโยชน์สาธารณะให้เกิดขึ้น จึงอาจต้องอยู่ในรูปแบบของการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เช่น แนวทางการลงทุนแบบ PPP หรือให้อยู่ในรูปแบบของการระดมทุนจากสาธารณะ (crowdfunding) ผ่านแพลตฟอร์มที่มีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน หรือการออกตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (social bond) เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังควรมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะการกระจายอำนาจให้รัฐในระดับท้องถิ่นสามารถร่วมมือกับเอกชนในลักษณะข้างต้นได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดแพลตฟอร์มเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ในหลายระดับ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้นอกจากจะต้องมีการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นแล้ว และต้องมีการเปิดกว้างของการการกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มไปด้วยเช่นกันเพื่อไม่ให้กฎเกณฑ์กลายไปเป็นอุปสรรรค นอกจากนี้ จะต้องไม่ลืมว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มจำเป็นต้องใช้เวลาและต้องผ่านประสบการณ์ความล้มเหลวบ้าง รวมทั้งต้องเปิดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เช่นการมีแหล่งทุนรองรับ และการให้มีพื้นที่ทดลองในลักษณะของแซนด์บ็อกซ์ (sandbox) ที่จะช่วยเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อควรคำนึงที่สำคัญก็คือการดึงเอารัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการสนับสนุนการสร้างผลกระทบทางบวกหรือการลดผลกระทบทางลบ ก็ต้องเผชิญความเสี่ยงกับความเป็นไปได้ที่รัฐเองจะมีความล้มเหลวในการทำหน้าที่เพื่อสาธารณะ หากเป็นเช่นนั้น การดึงรัฐให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องก็อาจทำให้ศักยภาพของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มต้องสูญเสียไปด้วย

กรณีศึกษาแอปพลิเคชัน Viabus

Viabus เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการขนส่งสาธารณะของไทย โดยมีการเปิดให้คนทั่วไปได้ใช้เมื่อปี 2561 แม้จะมีทีมพัฒนาเอกชน แต่ Viabus ก็มุ่งเป้าหมายไปที่การแก้ไขปัญหาที่ประชาชนไทยมักจะประสบกับการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถเมล์  

Viabus ได้รับการพัฒนาต่อมาจากแอปพลิเคชั่น ‘Chula Pop Bus’ เพื่อให้ผู้ใช้บริการรถป๊อบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรู้ตารางการเดินรถ โดยการพัฒนาไปสู่การเป็น ViaBus ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) (อริญชัย, 2020)

Viabus ได้ขยายความครอบคลุมของสายรถเมล์และจำนวนรถเมล์ที่ผู้ใช้งานสามารถติดตามตารางการเดินรถได้มาเรื่อยๆ ทุกวันนี้ ViaBus มีรถโดยสารประจำทางที่อยู่ในระบบประมาณ 200-300 สาย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมีป้ายโดยสารจำนวน 5,000-6,000 ป้าย ที่อยู่ในระบบการติดตาม เพื่อให้ประชาชนสามารถไปรอรถโดยสารได้ตรงเวลา แอปพลิเคชันนี้ได้รับรางวัลมากมายจากเวทีประกวดสตาร์ตอัพในประเทศไทย (วราภรณ์, 2018)

จุดเด่นของ Viabus คือการพัฒนาระบบจากผู้ใช้งานจริง รับข้อมูลความต้องการและปัญหาโดยตรงทั้งจากทางผู้ใช้บริการที่เป็นผู้โดยสาร รวมทั้งผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทขนส่งต่างๆ Viabus จึงเป็นเหมือนตัวกลางที่รับข้อมูลจากผู้โดยสาร และเข้ามาช่วยผู้ประกอบการเดินรถทั้งหลายให้สามารถปรับการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการแล้ว Viabus ยังมีประโยชน์ต่อฝั่งผู้โดยสาร เพราะ Viabus ทำให้ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะออกไปขึ้นรถได้ในเวลาที่แม่นยำขึ้น จากสถิติการใช้งาน ViaBus ช่วยให้ลดเวลาการรอคอยขนส่งสาธารณะไปแล้ว 1,170 ล้านนาที คิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกว่า 750 ล้านบาท (วนบุษป์, 2019)  

Viabus ยังมีเป้าหมายขยายไปจังหวัดอื่นๆ โดยเริ่มให้บริการในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช หรือจังหวัดที่กำลังพัฒนาไปเป็นสมาร์ตซิตี้ เพื่อช่วยเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ (เพิ่งอ้าง)

บรรณานุกรม 

ASIA IOT Business Platform. Government Initiatives To Drive Digitalisation in ASEAN.  เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://iotbusiness-platform.com/government-initiatives-to-drive-digitalisation-in-asean/.

Ballotpedia. (2020, november 20). California Proposition 22, App-Based Drivers as Contractors and Labor Policies Initiative. Retrieved from Ballotpedia: https://ballotpedia.org/California_Proposition_22,_App-Based_Drivers_as_Contractors_and_Labor_Policies_Initiative_(2020)

Basselier, R., Langenus, G., & Walravens, L. (2018). The rise of the sharing economy. Economic Review, (iii), 57-78.

Bika, N. (2020). Do you classify employees correctly? California AB5 law is strict. Retrieved from Workable: https://resources.workable.com/stories-and-insights/ab5-employee-vs-contractor-in-california

CdExpat_Team. (2019, July 19). China’s Food Delivery Revolution: Meituan V E Le Me. Retrieved from Chengdu-Ecpat: https://chengdu-expat.com/meituan-lead-delivery-revolution-in-china/

Cheng, M. (2020, November 4). Uber’s age of special treatment isn’t over. Retrieved from QUARTZ: https://qz.com/1926229/the-meaning-of-ubers-win-on-prop-22-in-california/

Daxue Consulting. (2020, June 1). The O2O food delivery markets in China 2019. Retrieved from Daxue China Reports: https://daxueconsulting.com/o2o-food-delivery-market-in-china/#:~:text=The food delivery market is,of China’s food delivery market.

European Commission. (2016). Mergers: Commission approves acquisition of LinkedIn by Microsoft, subject to conditions.

European Commission. (2018a). Proposal for a COUNCIL DIRECTIVE laying down rules relating to the corporate taxation of a significant diital presence. Brussel.

European Commission. (2018b). Proposal for a COUNCIL DIRECTIVE on the common system of a digital service tax on revenues resulting from the provision of certain digital service. Brussels.

European Commission. (2018c). European Union. Retrieved from Fair Taxation of Digital Economy: https://ec.europa.eu/taxation_customs/business/company-tax/fair-taxation-digital-economy_en?fbclid=IwAR3H91mOWR9HlccN-XedioNX3dlmfm5P19XTsSuz0S69uz9RPOQD7e9kFvs

Evans, P. C., & Gawer, A. (2016, January). The Rise of the Platform Enterprise. Retrieved from https://www.thecge.net/app/uploads/2016/01/PDF-WEB-Plat form-Survey_01_12.pdf

Exim knowledge center. ถอดบทเรียนสตาร์ทอัพระดับโลก…สู่ธุรกิจไทย. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://kmc.exim.go.th/detail/20190927190855/20200205205723. 

Greenhouse Team. (2019, 29 May). How Do Unicorn Startups Grow So Fast in Indonesia?. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://greenhouse.co/blog/how-do-unicorn-startups-grow-so-fast-in-indonesia/.

Google. (2020). Thailand e-conomy SEA 2020 At full velocity: Resilient and racing ahead https://storage.googleapis.com/gweb-economy-sea.appspot.com/assets/pdf/Thailand-e-Conomy_SEA_2020_Country_Insights.pdf

Hagiu, A. (2014, January 01). Strategic Decisions for Multisided Platforms. Retrieved from https://www.hbs.edu/faculty/Pages/item.aspx?num=46062

ILO. (2014). World Social Protection Report: Building economic recovery, inclusive development and social justice. Retrieved from International Labour Organization: https://www.ilo.org/public/libdoc//ilo/2014/485584.pdf

ILO. (2017). Strngthening social protection for the future of work. Germany: International Labour Organization.

Ilsøe, A., & Jesnes, K. (2020). Collective agreements for platform and workers – two cases from the Nordic countries. In Kristin Also. Jon Erik Dølvik and Kristin Jesnes, PLATFORM WORK IN THE NORDIC MODELS: ISSUES, CASES AND RESPONSES (pp. 44-55). Oslo: Nordic Council of Ministers.

ISSA. (2017). International Social Security Association (ISSA). Retrieved from ‘Denmark’. Social Security Country Profiles: https://www.issa.int/en/country-details?countryId=DK&regionId=EUR&filtered=false

Jalan, T. (2020, September 22). Code on Social Security, 2020, lays down gig and platform worker benefits. Retrieved from MEDIANAMA: https://www.medianama.com/2020/09/223-code-on-social-security-gig-platform-workers/

Jesnes, K., Ilsøe, A., & J. Hotvedt, M. (2019). Collective agreements for platform workers? Examples from the Nordic countries. Fafo : Nordic future of work Brief 3.

Kässi, O., & Lehdonvirta, V. (2018). Online labour index: Measuring the online gig economy for policy and research. Technological forecasting and social change, 137, 241-248.

Lee, E. (2020, April 29). There are no food delivery winners. Retrieved from TechNode: https://technode.com/2020/04/29/there-are-no-food-delivery-winners/

Liao, R. (2019, March 6). Food delivered to the doorstep is not so cheap in china anymore. Retrieved from TechCrunch: https://techcrunch.com/2019/03/06/no-more-cheap-food-delivery-in-china/

Ministry of International Trade and Industry (MITI). Industry4WRD. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.miti.gov.my/index.php/pages/view/4832.

MyGov. The National Fiberisation and Connectivity Plan (NFCP) 2019-2023. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.malaysia.gov.my/portal/content/30736.

Ocello, E., & Sjodin, C. (2017). Microsoft/LinkeIn: Big data and conglomerate effects in tech markets. Compettion merger brief, 1-6.

Phatphicha Lerksirinukul. (2019, 2 October). เจาะอาณาจักร Gojek จากมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 20 คน สู่ Decacorn ธุรกิจแสนล้านบาท!. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.salika.co/2019/10/02/gojek-superapp-insight/. 

Schmidt, F. A. (2017). Digital Labour Markets in the Platform Economy: Mapping the Political Challenges of Crowd Work and Gig Work. Retrieved from https://www. voced.edu.au/content/ngv:76462

Statista. (2020, June). Market share of leading online-to-offline food delivery service providers in China as of 1st quarter 2020. Retrieved from Statista: https://www.statista.com/statistics/1179150/china-market-share-of-leading-food-delivery-platforms/

The Guardian. (2020, november 11). Prop 22: why Uber’s victory in California could harm gig workers nationwide. Retrieved from The Guardian: https://www.theguardian.com/us-news/2020/nov/11/california-proposition-22-uber-lyft-doordash-labor-laws?fbclid=IwAR3Xb7o84NteaO-nez22A-b_wAbhSjTGrbyOyW2hFb8occuzRb5fCJRgNiY

Torngren, O. (2017). Mergers in big data-driven markets: Is the dimension of privacy and protection of personal data something to consider in the merger review? Stockholm University.

Tweedie, S. (2016, Jun 13). MICROSOFT BUYS LINKEDIN FOR $26.2 BILLION. Retrieved from Business Inside: https://www.businessinsider.com/microsoft-buys-linkedin-2016-6

Weber, E. (2018). Setting out for Digital Social Security. International Labour Organization.

Wittawin.A. (2019, 26 May). Infographic: สถิติผู้ใช้ และผลประกอบการของ Airbnb ในปี 2019. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.thumbsup.in.th/infographic-airbnb-2019.

แซม ช็อง กรุงเทพธุรกิจ. (2020, 1 February). ‘มาเลเซีย’ รุกดึงเงินลงทุน ด้วย ‘เทคโนโลยี-ศก.ดิจิทัล’. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864531.

แทนรัฐ คุณเงิน. (9 ตุลาคม 2563). การบริการจัดส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย: ทำความเข้าใจรูปแบบอุตสาหกรรม ผลกระทบและอนาคต. เข้าถึงได้จาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: https://law.kku.ac.th/wp/?p=12920

รณดล นุ่มนนท์. (2561). แนวทางการใช้ประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลจัดตั้งคลังข้อมูลแห่งชาติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ. หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 ประจำปีการศึกษา พุทธศักราช 2560 – 2561.

วนบุษป์ ยุพเกษตร. (2019, 1 January). เลิกลุ้น ไม่รอเคว้ง กับการเดินทางที่กำหนดได้ด้วย ViaBus.เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/Viabus.  

วราภรณ์ เทียนเงิน. (2018, 25 May). ‘ViaBus’ แอพดูรถเมล์แบบเรียลไทม์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จากhttps://www.posttoday.com/economy/news/552250. 

ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. สิงคโปร์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก http://www.thaibiz.net/th/market/Republic-of-Singapore.

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (2561) “ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน” งานนำเสนอในงาน TDRI Annual Public Conference 2018: ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี https://tdri.or.th/2018/04/tdri-annual-public-conference-2018/

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. (2563). ผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561 – 2562 คาดการณ์ 3 ปี. เข้าถึงได้ https://www.depa.or.th/th/article-view/press-conference-depa-imc

สุจิตรา วาสนาดำรงดี (2563) “ปัญหาขยะพลาสติกจากธุรกิจสั่งอาหารเดลีเวอรี่” การนำเสนอในการประชุมระดมสมองโครงชุมชนนโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์มครั้งที่ 5 “เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการสร้างประโยชน์สาธารณะ” วันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่โรงแรม Pullman รางน้ำ

สุภาพรรณ ชุมสาย ณ อยุธยา. (2020, 15 July). สิงคโปร์พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์มบล็อกเชนชำระเงิน. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.businesstoday.co/world/world-business/15/07/2020/45022/. 

อริญชัย วีรดุษฎีนนท์. (2020, 1 January). รู้แน่ว่ารถเมล์มา Viabus แอปดูตำแหน่งรถเมล์แบบเรียลไทม์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://themomentum.co/viabus-interview/. 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save