fbpx
เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (3): คุณภาพชีวิตแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (3): คุณภาพชีวิตแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

อ่านตอนที่ 1: เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (1): สู่โลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

อ่านตอนที่ 2: เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (2): การผูกขาด การแข่งขัน และโจทย์ใหญ่ของการกำกับดูแล

นอกจากแง่มุมในการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ขึ้น อีกแง่มุมสำคัญที่เป็นความท้าทายจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มก็คือ ‘คุณภาพชีวิตของแรงงาน’ อิทธิพลของธุรกิจแพลตฟอร์มกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของแรงงานและผู้ประกอบการจำนวนมหาศาล สร้างความไม่มั่นคงและช่องโหว่มากมายที่ยังไม่ได้มีการออกแบบนโยบายเพื่อรองรับ

คำถามสำคัญที่ชุมชนนโยบายต้องตอบ เช่น เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกำลังสร้างความท้าทายกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแรงงานไทยอย่างไร? ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีแนวทางในการคลี่คลายได้อย่างไร รวมไปถึงธุรกิจแพลตฟอร์มและภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทช่วยส่งเสริมคุณภาพการทำงานของแรงงานในแพลตฟอร์มได้ในทางใดบ้าง?

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงาน

การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มช่วยเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากได้มีช่องทางในการเข้าถึงการจ้างงานมากขึ้นและเพิ่มความยืดหยุ่นในการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางหารายได้เสริมให้กับแรงงานที่เคยประกอบอาชีพประจำ หรือสร้างงานให้กับกลุ่มแรงงานที่ไม่ต้องการถูกผูกมัดในลักษณะการจ้างงานเต็มเวลา สภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด 19 บ่งบอกถึงศักยภาพในการเปิดโอกาสการจ้างงานของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยในช่วงดังกล่าว แรงงานไทยจำนวนมหาศาลที่ประสบปัญหาจากการทำงานปรกติได้หลั่งไหลเข้าหารายได้ผ่านการทำงานในแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะแพลตฟอร์มบริการส่งอาหาร

อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ กับการขยายตัวอย่างรวดเร็วข้างต้น ก็เกิดสภาพหลายประการที่สะท้อนความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงานบนแพลตฟอร์มเช่นกัน ในกรณีของแพลตฟอร์มบริการส่งอาหารในประเทศไทย การหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานจำนวนมหาศาลในช่วงวิกฤติโควิดทำให้เกิดสภาพอุปทานแรงงานล้นเกินจนกระทบกับรายได้และความมั่นคงในการทำงานผ่านแพลตฟอร์ม ในช่วงเวลาเดียวกัน ยังเกิดกรณีการปรับเพิ่มขึ้นอัตราส่วนแบ่งของแพลตฟอร์มจากแรงงานและร้านอาหาร จนนำไปสู่การประท้วงหลายครั้ง

สภาพเหล่านี้สะท้อนแง่มุมหลายประการที่เป็นปัญหาในการทำงานของแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะแพลตฟอร์มในลักษณะการบริการ อันเกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในโครงสร้างการจ้างงาน ดังนี้

  • การจ้างงานบนแพลตฟอร์มนั้นไม่ได้เกิดบนความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกจ้าง แต่เกิดขึ้นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับเทคโนโลยี ในแง่นี้แรงงานบนแพลตฟอร์มจะต้องปฏิสัมพันธ์และถูกควบคุมกำกับโดยระบบที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ อันมีกระบวนการตัดสินใจบนฐานของอัลกอริทึมที่ขาดความโปร่งใส
  • ความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มและแรงงาน ยังมักจะมีลักษณะความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหลื่อมล้ำกันสูง แม้แพลตฟอร์มต่างๆ จะมีระบบการจัดสรรงานและให้โอกาสในการเลือกกับแรงงานไม่เท่ากัน เช่น บางแพลตฟอร์มอาจจัดสรรงานให้กับแรงงานโดยไม่ให้แรงงานมีโอกาสได้เลือกเลย ในขณะที่บางแพลตฟอร์มเปิดโอกาสให้แรงงานแข่งกันเลือกงานและระบุเวลาทำงานได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันก็คือแรงงานที่เข้าสู่แพลตฟอร์มนั้นมักจะขาดอำนาจในการต่อรองกับเงื่อนไขการทำงานที่แพลตฟอร์มได้กำหนดไว้ให้แล้ว
  • แรงงานที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มมักจะขาดความมั่นคงในการทำงาน เนื่องจากจำเป็นต้องต้องแข่งขันกันตลอดเพื่อเข้าถึงงานที่มีจำกัด แรงงานยังถูกประเมินเสมอด้วยระบบเรตติ้งที่ตนเองแทบจะไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือต่อรอง การจะเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แพลตฟอร์มระบุว่าจะจัดหาให้นั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการสะสมการทำงานจำนวนมากเพื่อเพิ่มฐานะของตนบนแพลตฟอร์มเท่านั้น
  • การขาดความมั่นคงในการทำงานบนแพลตฟอร์ม ยังมากขึ้นไปจากการที่แรงงานบนแพลตฟอร์มมักจะต้องแบกต้นทุนแฝงในการทำงานหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ต้นทุนทางสุขภาพ ความเสี่ยงจากการต้องถูกทำอันตรายในกรณีที่มีความขัดแย้งกับผู้ให้บริการแบบดั้งเดิมอยู่
  • สภาพความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับแรงงานในแพลตฟอร์ม โดยระบบเรตติ้งอาจมีความเอนเอียงในการประเมินการทำงานบางลักษณะให้กับเพศหนึ่งๆ ดีกว่าอีกเพศหนึ่ง ตัวอย่างเช่น กรณีผู้หญิงที่ขับรถในแพลตฟอร์มขนส่งสาธารณะ มักจะได้รับเรตติ้งต่ำกว่าผู้ชาย หรือตรงข้ามกัน ผู้หญิงที่ทำงานบ้านผ่านแพลตฟอร์มการจ้างแม่บ้าน มักจะได้รับเรตติ้งสูงกว่าผู้ชาย
  • นอกจากนี้ แรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มยังขาดศักยภาพในการต่อรองเนื่องจากสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นสหภาพแรงงานได้ยาก ที่ผ่านมาแรงงานบนแพลตฟอร์มขนส่งอาหารมีการร่วมกลุ่มกันทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มยังกระจัดกระจายและอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์มยังไม่ได้มีอย่างแท้จริง ด้วยเพราะการรวมตัวเป็นสหภาพยังขาดกฎหมายรองรับ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่รัฐจะเข้ามาทำหน้าที่ตัวกลางในการต่อรองระหว่างแรงงานกับแพลตฟอร์มจึงยังเกิดขึ้นได้ยาก

ในภาพที่กว้างกว่าสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาของแรงงานบนแพลตฟอร์มยังมักจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากสภาพการแข่งขันของธุรกิจแพลตฟอร์ม ที่มักจะแข่งขันกันสร้างเครือข่ายผู้ใช้ผ่านการตั้งราคาต่ำ การแข่งขันกันในรูปแบบนี้เมื่อประกอบกับสภาพที่แรงงานขาดอำนาจการต่อรองและการคุ้มครองดูแล ก็มักจะลงเอยไปที่การแบ่งเอาต้นทุนจากการขาดทุนมาสู่แรงงานอีกต่อหนึ่ง และที่สำคัญ สภาพปัญหาในการทำงานของแรงงาน ยังเกิดขึ้นเนื่องจากขาดกลไกคุ้มครองดูแลจากภาครัฐ ทั้งในด้านของการมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการมีระบบสวัสดิการที่รองรับสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

ความท้าทายในสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีกับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้ในอย่างน้อยสองช่องทาง

ช่องทางแรก คือการแสวงหาสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจนให้กับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยในปัจจุบันประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกยังไม่มีกฎหมายแรงงานที่เหมาะสมกับแรงงานที่มีลักษณะการทำงานแบบใหม่นี้ ขณะที่บางประเทศเริ่มมีความพยายามจะให้สถานะทางกฎหมาย รวมถึงกฎหมายในด้านอื่นเพื่อรองรับบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้เห็นความพยายามนี้เกิดขึ้นเท่าไรนักในประเทศไทย

ช่องทางที่สอง คือการสร้างระบบสวัสดิการเพื่อรองรับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม แม้ว่าในปัจจุบัน ปัญหาการขาดหายไปของสวัสดิการที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตแรงงานจะถูกจัดการเองผ่านการที่แพลตฟอร์มเองเข้ามีบทบาทให้การประกันภัยและสิทธิประโยชน์อื่นกับแรงงานที่ทำงานได้ปริมาณมาก แต่การจัดการเช่นนี้ยังอาจเกิดขึ้นผ่านสมดุลทางอำนาจที่ไม่ทัดเทียมและขาดความยั่งยืน การเข้ามีบทบาทของรัฐเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ผ่านการหาช่องทางให้แรงงานในแพลตฟอร์มได้เข้าถึงระบบสวัสดิการได้จึงยังเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจะให้สถานะทางกฎหมายรวมไปถึงการออกแบบนโยบายสวัสดิการที่เหมาะสมกับสภาพการทำงานของแพลตฟอร์มได้นั้น จำเป็นต้องเข้าใจถึงสภาพการทำงานของแรงงานในแพลตฟอร์มที่แตกต่างไปจากแรงงานแบบดั้งเดิม เช่น

  • แรงงานบนแพลตฟอร์มไม่ได้มีชั่วโมงการทำงานชัดเจน การได้รับผลตอบแทนจึงมักจะวิธีการคิดที่ต่างไปจากแรงงานแบบดั้งเดิม
  • แรงงานบนแพลตฟอร์มมีการเคลื่อนย้ายเข้าออกและข้ามแพลตฟอร์มเกิดขึ้นอยู่เสมอ
  • แรงงานบนแพลตฟอร์มมักจะมีประเภทที่ทำงานแบบสากล รับการจ้างงานแบบข้ามประเทศ
  • แรงงานบนแพลตฟอร์มมักจะไม่ได้มีที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง

แรงงานบนแพลตฟอร์มอาจเจอสภาพปัญหาที่คล้ายกับแรงงานแบบดั้งเดิม อย่างการขาดความมั่งคง และการขาดอำนาจการต่อรอง แต่เมื่อมองลึกลงไปยังรายละเอียด จะเห็นว่าแรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มต่างกัน ก็เผชิญสภาพการทำงานและสภาพปัญหาที่แตกต่างกันไป ส่งผลให้ลักษณะการแก้ปัญหานั้นต้องแตกต่างกันไปด้วย แนวทางการแก้ปัญหาจึงต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับความแตกต่างนี้ ตัวอย่างเช่น แรงงานในแพลตฟอร์มการบริการขนส่งอาหาร มักจะมีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุสูง ในขณะที่แพลตฟอร์มในลักษณะการให้บริการแม่บ้านทำความสะอาด อาจประสบปัญหามากกว่าจากการถูกตัดส่วนแบ่งค่าตอบแทน เป็นต้น

การสร้างช่องทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงานระหว่างแพลตฟอร์มกับรัฐจะช่วยสร้างความเข้าใจกับสภาพปัญหาได้ เช่น ตัวเลขของแรงงานที่เข้าสู่แพลตฟอร์มเมื่อเทียบกับปริมาณงาน ตัวเลขอุบัติเหตุ การมีข้อมูลเหล่านี้มีความจำเป็นแต่รัฐก็ยังเข้าถึงได้ยาก และต้องอาศัยความร่วมมือจากแพลตฟอร์มในการยินยอมแชร์ข้อมูล ทั้งนี้ หากภาครัฐปล่อยให้สภาพการทำงานของแรงงานในแพลตฟอร์มต้องเผชิญปัญหาไปเรื่อยๆ ในระยะยาว และผลักภาระให้กับแรงงานในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ก็ไม่เป็นผลดีกับทั้งเจ้าของและผู้ใช้แพลตฟอร์ม เนื่องจากแรงงานเองอาจถูกผลักดันให้หาทางแก้ปัญหาจากการพยายามหาช่องโหว่หรือโกงระบบที่ควบคุมกำกับการทำงานของตนเอง ซึ่งจะส่งผลเสียกับคุณภาพการบริการที่ผู้ใช้ควรจะได้รับ

แนวนโยบายสำหรับการปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ประเด็นปัญหาที่ควรได้รับการผลักดันในการให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญ เช่น ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การประกันความเสี่ยงในการทำงาน การสร้างระบบสวัสดิการรองรับ และการสร้างช่องทางสำหรับให้แรงงานได้รวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

การผลักดันค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและการประกันความเสี่ยงในการทำงาน

แนวทางที่เป็นไปได้คือการที่รัฐเข้าช่วยกำหนดมาตรฐานและแนวทางสำหรับการจ้างงานบนแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ควรมีการให้ข้อมูลที่เพียงพอและสร้างความโปร่งใสในด้านข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงานบนแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะในด้านอย่างอัตราการเกิดอุบัติเหตุ หรืออัตราการจ้างงานที่เกิดขึ้น และการเปิดโอกาสให้รัฐได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ก็จะช่วยในการกำหนดแนวทางเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับการจ้างงาน อีกด้านที่สำคัญกับแรงงานในแพลตฟอร์มก็คือการมีช่องทางจัดการข้อพิพาทที่รวดเร็ว ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างแรงงานและแพลตฟอร์ม 

แม้การพยายามให้แพลตฟอร์มแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับองค์กรกำกับดูแลจะมีความสำคัญในการเข้าใจสภาพปัญหาและหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการ แต่ที่ผ่านมาธุรกิจแพลตฟอร์มมักลังเลที่จะแชร์ข้อมูล เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับการแข่งขันทางธุรกิจ จึงจำเป็นจะต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างองค์กรกำกับดูแลและธุรกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้การแชร์ข้อมูลเกิดได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้เกิดการนำเอาข้อมูลไปสร้างแนวนโยบายที่เหมาะสมได้

สำหรับในกรณีของแรงงานแพลตฟอร์มในหลายประเทศ การผลักดันให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรมและการมีประกันรองรับความเสี่ยงเกิดขึ้นได้จากการผลักดันของสหภาพแรงงานบนพื้นฐานของการมีกฎหมายแรงงานที่รองรับการผลักดันข้อเรียกร้องให้เกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม

การสร้างระบบสวัสดิการเพื่อรองรับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

แนวทางที่เป็นได้ประกอบด้วย (1) การสร้างช่องทางให้แรงงานแพลตฟอร์มบางส่วนได้รับสถานะและสวัสดิการแบบลูกจ้าง และ (2) การพัฒนาระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานอิสระ

การสร้างช่องทางให้แรงงานแพลตฟอร์มได้รับสถานะและสวัสดิการแบบลูกจ้าง

แนวทางนี้เป็นแนวทางที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น กรณีของ AB5 Model ที่ถูกนำมาใช้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้กำหนดสถานะแรงงานบนแพลตฟอร์มบริการไว้เป็นลูกจ้างเป็นพื้นฐานก่อน และให้บริษัทแพลตฟอร์มต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าเป็นแรงงานรายไหนมีสถานะเป็นแรงงานรับจ้างอิสระ

กรณีศึกษา AB5 Model

ในปี 2020 รัฐแคลิฟอร์เนียร์ได้บังคับใช้กฎหมาย AB5 ซึ่งมีผลให้ผู้ที่เป็นผู้รับจ้างอิสระมีสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัทจนกว่าบริษัทจะพิสูจน์ (ผ่านการทำ ABC Test) ได้ว่า ผู้นั้นเป็นผู้รับจ้างอิสระ โดยตามข้อกำหนดของ ABC Test ได้ระบุไว้ว่า ผู้รับจ้างจะถูกระบุว่าเป็นผู้รับจ้างอิสระก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขทั้งสามข้อได้แก่

(1) ผู้รับจ้างนั้นไม่ได้ถูกควบคุมและกำหนดทิศทางการทำงานเพื่อสร้างศักยภาพในการให้บริการ
(2) ผู้รับจ้างทำงานในงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริการหลักของธุรกิจ และ
(3) โดยปกติผู้รับจ้างนั้นไม่ได้ขึ้นตรงกับธุรกิจ โดยผู้รับจ้างจะถูกสันนิษฐานว่าเป็นลูกจ้างจนกว่าจะพิสูจน์ตามเงื่อนไขทั้งสามข้อได้ว่าเป็นผู้รับจ้างอิสระ

อย่างไรก็ตามกฎของ AB5 ได้ยกเว้นให้ไม่บังคับใช้ในบางอาชีพ เช่น อาชีพที่มีใบประกอบวีชาชีพ อย่างนายหน้าค้าประกัน ทนาย สถาปนิก วิศวกร อาชีพด้านสาธารณสุข ฯลฯ เป็นต้น (Bika, 2020)

การเปลี่ยนสถานะจากการเป็นผู้รับจ้างอิสระไปสู่การเป็นลูกจ้างบริษัทจะทำให้แรงงานบนแพลตฟอร์มได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตั้งแต่การการันตีค่าจ้างขั้นต่ำ การกำหนดเพดานเวลางาน เงินชดเชยกรณีลาป่วย ว่างงาน ได้รับบาดเจ็บ หรือพิการ นอกจากนี้จะทำให้แรงงานได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล โดยสวัสดิการเหล่านี้ไม่ครอบคลุมผู้ที่ทำงานเป็นผู้รับจ้างอิสระ (Bika, 2020)  

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ระบุว่า การกำหนดให้ผู้รับจ้างมีสถานะเป็นลูกจ้างบริษัท ขัดกับแนวทางการทำธุรกิจของธุรกิจแพลตฟอร์ม โดยชี้ว่าสถานะการเป็นลูกจ้างประจำนั้นไม่เหมาะสมกับการทำงานในแพลตฟอร์มเนื่องจากผู้ที่ทำงานในแพลตฟอร์มต้องการความเป็นอิสระในการหารายได้ หรือไม่ก็เป็นเพียงงานเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มจากงานประจำ (The Guardian, 2020) นอกจากนี้ฝั่งผู้บริโภคอาจจะต้องจ่ายแพงขึ้น เนื่องจากต้นทุนของบริษัทสูงขึ้นมากกว่า 20% และขณะเดียวกัน จำนวนคนทำงานในแพลตฟอร์มก็จะลดลง (Cheng, 2020)

ล่าสุด กลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มด้านขนส่งที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย AB5 ได้เรียกร้องให้มีการลงมติเพื่อให้ผู้ที่ทำอาชีพบริการขนส่งผ่านแพลตฟอร์มเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับการยกเว้นจากกฎหมาย AB5 ผ่านข้อเสนอกฎหมายที่ชื่อว่า California Proposition 22 การลงมติปรากฏว่ามีผู้รับรอง California Proposition 22 ถึง 58.65% ส่งผลให้ผู้ที่ประกอบอาชีพบริการขนส่งผ่านแพลตฟอร์มอยู่ในสถานะของการเป็นผู้รับจ้างอิสระโดยไม่ต้องพิสูจน์ตามกฎหมาย AB5

อย่างไรก็ดีข้อกฎหมาย California Proposition 22 ที่ผ่านประชามตินั้นยังได้มีการจัดทำข้อเสนอสวัสดิการให้กับผู้รับจ้างที่กลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มมองว่าสอดรับกับลักษณะทางอาชีพมากกว่า เช่น การันตีรายได้ขันต่ำ 120% ของค่าจ้างขั้นต่ำ มีข้อจำกัดชั่วโมงการทำงาน มีสมทบเบี้ยประกันสุขภาพตามลำดับขั้นชั่วโมงการทำงาน ให้ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ (Ballotpedia, 2020)  

การพัฒนาระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานอิสระ

เนื่องจากลักษณะงานที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมักมีลักษณะชั่วคราว มีการเปลี่ยนผู้ว่าจ้างบ่อยครั้ง และแรงงานบางส่วนก็ทำงานนี้เป็นอาชีพเสริม แรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจึงมักจะไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมได้ เพราะรูปแบบการทำงานไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของการเป็นสมาชิกระบบ หัวใจสำคัญคือต้องปรับเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิการประกันสังคมให้มีความยืดหยุ่น สามารถติดตามแรงงานข้ามแพลตฟอร์มได้ รวมทั้งจะต้องมีแรงจูงใจเพียงพอให้แรงงานสมัครใจเข้าสู่ระบบ การจัดระบบข้อมูลที่เท่าทันการเคลื่อนย้ายของแรงงาน รวมไปถึงการมีระบบให้ธุรกิจแพลตฟอร์มช่วยแบ่งภาระทางสวัสดิการเป็นสภาพพื้นฐานที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น

การสำรวจเอกสารที่เกี่ยวข้องพบว่ามีอยู่ 4 แนวทางที่จะช่วยปรับให้ระบบประกันสังคมรองรับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้ ดังนี้

(1) แนวทางลดเกณฑ์ขั้นต่ำ

เนื่องจากการทำงานเป็นแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์มส่งผลให้ลักษณะงานมีความผันผวน ไม่มีความแน่นอนในกรอบระยะเวลา ในขณะที่ระบบประกันความคุ้มครองทางสังคมถูกออกแบบมาให้สอดรับกับลักษณะของงานประจำ ส่งผลให้เกณฑ์ที่สำคัญบางประการในการเข้าสู่ระบบประกันความคุ้มครองทางสังคมบางประการเป็นตัวกีดขวางการเข้าได้รับประโยชน์จากระบบของแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

การแก้ไขเกณฑ์ชั่วโมงการทำงานขั้นต่ำ การสร้างความยืดหยุ่นช่วงเวลานำส่งเงินสมทบ จะส่งผลให้ระบบประกันความคุ้มครองทางสังคมลดการตกหล่นของกลุ่มแรงงานที่ทำงานยืดหยุ่นได้ (ILO, 2017, หน้า 8) เช่น ในประเทศเดนมาร์กแรงงานจะได้รับเงินสมทบการว่างงานหากอยู่ในระบบ (ทำงานรับค่าจ้าง) อย่างน้อย 12 เดือน หรือ “มีการทำงานรับค่าจ้างเป็นจำนวนอย่างน้อย 52 สัปดาห์ในช่วงเวลา 3 ปีล่าสุด” (ISSA, 2017)

(2) แนวทางการปรับแก้รูปแบบในประกันสังคมเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานจ้างตัวเอง (self-employment)

รูปแบบการทำงานที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมักจะถูกนิยามว่าเป็น กลุ่มแรงงานจ้างตัวเองซึ่งมักไม่อยู่ในความคุ้มครองของระบบประกันสังคม รูปแบบหนึ่งในการสร้างระบบประกันสังคมเพื่อรองรับกลุ่มแรงงานจ้างตัวเองนี้ สามารถทำได้โดยการขยับฐานของการเก็บเงินสมทบจากเดิมที่เก็บบนฐานค่าจ้างในความสัมพันธ์การจ้างงานประจำไปสู่การเก็บจากรายได้ของบริษัทที่มีการจ้างแรงงานจ้างตัวเองอีกทีหนึ่งโดยตรง โดยในปี 2020 ประเทศอินเดียได้มีการผลักดันร่างกฎหมายสร้างกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงาน gig worker โดยเฉพาะเพื่อรองรับการขยายตัวของแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยหาแหล่งทุนจากการเงินสมทบจากรัฐส่วนกลาง รัฐท้องถิ่น CSR รวมกับการเก็บเงินสมทบจากบริษัทที่มีระบบการจ้างงาน gig worker ไม่เกิน 5% ของรายจ่ายในการจ้างงาน gig worker (Jalan, 2020)

ทั้งนี้การปรับรูปแบบให้ระบบประกันความคุ้มครองทางสังคม นอกจากจะต้องครอบคลุมแรงงานไม่สังกัดผู้ว่าจ้างเพื่อให้ครอบคลุมแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์มแล้ว จะต้องทำให้สิทธิประกันของแรงงานติดตัวเมื่อแรงงานมีการโยกย้ายข้ามสายงานข้ามอุตสาหกรรมด้วย เพื่อไม่ให้แรงงานสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่สะสมไว้เมื่อมีการเปลี่ยนย้ายข้ามสายงานข้ามอุตสาหกรรม หรือเมื่อกลับเข้าตลาดแรงงาน (ILO, 2017, หน้า 9)

(3) แนวทางการสร้างสถาบันระบบประกันสังคมโดยเฉพาะกลุ่ม

เนื่องจากการที่ธุรกิจมีแนวโน้มพึงพอใจต่อรูปแบบของการจ้างงานแบบ แรงงานจ้างตัวเอง ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากความพยายามในการลดต้นทุนในการสมทบประกันสังคม ในการแก้ปัญหานี้ภาครัฐจำเป็นต้องทำให้แรงงานจ้างตัวเองได้รับสิทธิเทียบเคียงกับลูกจ้างประจำ โดยการสร้างเกณฑ์ที่เปิดกว้างในการให้กลุ่มแรงงานจ้างตัวเองสามารถเข้าถึงประกันสังคมได้ หรือในอีกทางหนึ่งก็สามารถสร้างกองทุนประกันสังคมแยกออกมาเพื่อรองรับรูปแบบลักษณะงานเช่นนี้โดยเฉพาะ

ข้อเสนอในการสร้าง Digital Social Security Fund (DSS) เป็นการสร้างระบบกองทุนประกันสังคมเพื่อรองรับกับแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์มโดยเฉพาะ โดยกองทุน DSS เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เก็บเงินสมทบเป็นอัตราส่วนร้อยละจากรายได้ของทุกแพลตฟอร์มที่แรงงานได้รับค่าตอบแทน และจัดสรรประโยชน์จากกองทุน DSS เหล่านั้นเข้ากับสถาบันกองทุนประกันสังคมในประเทศสังกัดของแรงงานแพลตฟอร์ม โดยสามารถปรับรูปแบบการจัดสรรเงินสมทบเพื่อสิทธิประโยชน์ตามความเหมาะสม เช่น หากในประเทศ A รัฐบาลมีนโยบายจัดทำประกันสุขภาพให้กับทุกคน กองทุน DSS จะจัดสรรเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการเกษียณ และกองทุนเพื่อการว่างงานแทน (Weber, 2018, หน้า 3-5)

(4) แนวทางการใช้ประกันสังคมที่เป็น tax-financed เข้าส่งเสริม

ถึงแม้จะมีความพยายามปรับกฎเกณฑ์ประกันสังคมให้ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะครอบคลุมแรงงานแพลตฟอร์มจำนวนมากแล้ว ก็อาจจะยังมีแรงงานบางกลุ่มที่ตกหล่นไม่อยู่ในข่ายความครอบคลุมของระบบประกันสังคมที่ปรับปรุงแล้วอยู่ดี ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อทำให้แรงงานทุกคนอยู่ในระบบประกันสังคมขั้นต่ำตามเกณฑ์ Social Protection Floors Recommendation, 2012 ของ ILO แต่ละประเทศสามารถผลักดันกองทุนประกันสังคมที่ภาครัฐเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานที่ไม่สามารถสมทบเข้ากองทุนได้ (ILO, 2017, หน้า 10) โดยในประเทศออสเตรเลียและแอฟริกาใต้ ภาครัฐจะเป็นผู้จัดสรรสิทธิกองทุนเพื่อการเกษียณอายุให้กับกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ไม่ถึงขั้นต่ำของเกณฑ์ในการได้รับสิทธิจากกองทุนประกันสังคมตามระบบ (ILO, 2014)

การผลักดันให้มีระบบสวัสดิการของรัฐเพื่อลดความเสี่ยงให้กับแรงงานบนแพลตฟอร์มเป็นแนวทางที่ดีกว่าการปล่อยให้ภาระการดูแลความเสี่ยงเป็นหน้าที่ของธุรกิจแพลตฟอร์มเอง เนื่องจากรัฐสามารถดึงความเสี่ยงของแรงงานมารวมกัน วางเป้าหมายเป็นการลดความเสี่ยงเช่นความเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับแรงงานในวงกว้าง รวมไปถึงให้สวัสดิการในมิติอื่นๆ เช่น สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตร การลาคลอดบุตร เป็นต้น

ถ้าหากแพลตฟอร์มเป็นผู้จัดการประกันความเสี่ยงเอง เป้าหมายของแพลตฟอร์มก็อาจแคบกว่า เช่น ชดเชยต้นทุนให้กับเฉพาะแรงงานที่ประสบปัญหาจากการทำงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การจัดระบบสวัสดิการให้กับแรงงานบนแพลตฟอร์มก็ไม่ควรเป็นหน้าที่เฉพาะของรัฐ แต่รัฐจำเป็นจะต้องดึงผู้เล่นที่เกี่ยวข้องเข้ามีบทบาทร่วมกัน โดยเฉพาะตัวธุรกิจแพลตฟอร์มเองก็ควรมีส่วนร่วมในการช่วยสนับสนุนระบบสวัสดิการสำหรับแรงงานที่เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง นอกจากนี้ ในระยะยาวยังควรพิจารณาแนวทางการให้ระบบสวัสดิการที่เป็นสิทธิพื้นฐานและไม่จำเป็นต้องโยงกับการจ้างงาน ตัวอย่างเช่น การการันตีรายได้ขั้นต่ำ หรือนโยบายในทิศทางของรายได้ขั้นต่ำถ้วนหน้า

การส่งเสริมศักยภาพของแรงงานเองในการรวมกลุ่มเพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์มได้

แรงงานควรได้รับการสนับสนุนความรู้พื้นฐานเรื่องสิทธิแรงงาน สัญญาจ้างที่เป็นธรรม ควรมีการสนับสนุนองค์กรที่จะช่วยทำหน้าที่สนับสนุนแรงงานในด้านเหล่านี้ รวมไปถึงช่วยทำวิจัยเพื่อติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงาน เช่น ความแตกต่างของค่าจ้างที่เกิดขึ้นกับแรงงานในแพลตฟอร์ม การกระจายของผลตอบแทน ความไม่เท่าเทียมทางเพศหรือเชื้อชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ การสร้างกรอบทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้แรงงานในแพลตฟอร์มร่วมกันสร้างสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนตนเอง ยังเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ โดยตัวอย่างของการกลับมามีบทบาทมากขึ้นของสหภาพแรงงานในยุโรป โดยเฉพาะบทบาทในการต่อรองเงื่อนไขการทำงานกับแพลตฟอร์ม ได้ชี้ให้เห็นว่าสภาพการทำงานที่ขาดความมั่นคงเพิ่มขึ้นในปัจจุบันผลักดันให้แรงงานหันไปรวมกลุ่มในรูปแบบสหภาพเพื่อสร้างอำนาจต่อรองอีกครั้ง

กรณีศึกษาการรวมกลุ่มเพื่อการต่อรองในกลุ่มประเทศนอร์ดิก

ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์ เป็นต้น) สหภาพการรวมกลุ่มแรงงานมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดกติกาทางเศรษฐกิจ กว่า 70% ของแรงงานในประเทศนอร์ดิกมีสังกัดที่ตนเองอยู่ อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มซึ่งนิยมจ้างงานแรงงานอิสระส่งผลให้แรงงานจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการรวมกลุ่มแรงงานเพื่อการต่อรองได้ ทั้งนี้มีอุปสรรคที่สำคัญที่กีดขวางไม่ให้แรงงานอิสระแพลตฟอร์มสามารถสร้างการรวมกลุ่มได้เหมือนที่แรงงานสัญญาจ้างมีการรวมกลุ่มสหภาพ อุปสรรคนี้มีอยู่สองประการด้วยกัน  (Jesnes, Ilsøe, & J. Hotvedt, 2019, หน้า 1-2)  

ประการแรก ธรรมชาติของแรงงานแพลตฟอร์มมีลักษณะที่ต่างออกไปจากแรงงานสัญญาจ้าง กล่าวคือแรงงานสัญญาจ้างมีที่ทำงาน (เช่น โรงงาน) ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการพบหน้าเพื่อรวมตัวกัน แต่แรงงานอิสระแพลตฟอร์มไม่ได้มีพื้นที่ทำงานร่วมกับแรงงานคนอื่นๆ (ในขณะที่แรงงาน crowd worker ทำงานจากบ้าน แรงงานบริการขนส่ง (rider) ก็ต้องย้ายที่อยู่ตลอดเวลา) รวมถึงการรับการสั่งการจากทางแอปโดยไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ลักษณะงานดังกล่าวทำให้เกิดการร่วมมือกันได้ยาก

ประการที่สอง กฎหมายที่รับรองสิทธิในการรวมตัวเพื่อการต่อรองนั้นถูกร่างขึ้นบนฐานคิดเรื่องความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยแรงงานอิสระแพลตฟอร์มไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในความสัมพันธ์ดังกล่าว ส่งผลให้ในทางเทคนิคกลไกทางกฎหมาย จึงไม่มีการรับรองสิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อตั้งองค์กรขึ้นมาต่อรองของแรงงานอิสระรับรองสิทธิเพียงแรงงานที่มีสถานะสัญญาจ้างเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของศาลยุติธรรมยุโรปมีการตีความที่ยืดหยุ่นมากขึ้นโดยเน้นพิจารณาที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจแทนการพิจารณาที่สถานะของแรงงานและมีแนวโน้มรับรองสิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองของกลุ่มแรงงานอิสระแพลตฟอร์มมากขึ้น

ที่ผ่านมา ธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ได้ขยายตัวเข้ามาในกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดย Delivery Hero บริษัทแพลตฟอร์มบริการขนส่งอาหารจากประเทศเยอรมัน (บริษัทแม่ของ Food Panda) ได้เข้ามาเปิดบริษัทในประเทศนอร์เวย์ในชื่อ Foodora เมื่อปี 2015 โดยรูปแบบการจ้างแรงงานของบริษัท Foodora ใช้การทำสัญญาจ้างงานแบบไม่เต็มเวลา (10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) กับแรงงานขับรถส่งอาหาร และมีการจ่ายเพิ่มเติมหากทำงานเกินกว่าที่สัญญาจ้างกำหนดพื้นฐานไว้  

ในช่วงปี 2019 กลุ่มแรงงานผู้ขับขี่ส่งอาหารของ Foodora ได้รวมตัวกันในนามกลุ่ม Transport Worker Union (TWU) เพื่อทำข้อตกลงร่วมกับบริษัท Foodora ในการปรับปรุงการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่ม TWU จัดกิจกรรมประท้วงเป็นเวลา 5 สัปดาห์ต่อเนื่อง กระทั่งทางบริษัทยอมรับข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มสหภาพแรงงานกับทางบริษัท (Ilsøe & Jesnes, 2020, หน้า 52)

ทั้งนี้มีปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การสร้างแรงกดดันของกลุ่มแรงงานผู้ขับขี่ส่งอาหารของทาง Foodora มีอำนาจในการต่อรองกับทางบริษัท

ประการแรก เนื่องจากในบริบทของประเทศนอร์เวย์ ฝั่งแรงงานมีอำนาจกดดันมาก จนธุรกิจที่เข้ามาเปิดต้องเอาใจกลุ่มแรงงาน โดย Foodora มีทิศทางในการจ้างงานแบบมีสัญญาจ้าง แทนการจ้างงานแรงงานอิสระแบบที่บริษัทแพลตฟอร์มนิยม ส่งผลให้แรงงานของ Foodora ได้รับการรับรองทางกฎหมายในการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินการเรียกร้อง

ประการที่สอง สหภาพแรงงานของนอร์เวย์มีทิศทางที่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสวัสดิการให้กับกลุ่มประเภทงานที่ไม่มีความมั่นคงซึ่งรวมถึงกลุ่มแรงงานอิสระ การสนับสนุนของสหภาพแรงงานนอร์เวย์ต่อกลุ่ม TWU ทำให้มีกลุ่มผู้ขับขี่ขนส่งอาหารในแพลตฟอร์มอื่นซึ่งมีสถานเป็นแรงงานอิสระเข้าร่วมด้วย

และประการสุดท้าย กลุ่มแรงงานของแพลตฟอร์ม Foodora ได้เปลี่ยนข้อจำกัดของการเป็นแรงงานที่ไม่อยู่กับที่ให้เป็นประโยชน์ มีการสร้างการประชาสัมพันธ์ได้อย่างเป็นวงกว้างผ่านการประชาสัมพันธ์ไปทั่วเมือง รวมถึงรณรงค์ทั้งในอินเทอร์เน็ตและพื้นที่จริง (Ilsøe & Jesnes, 2020, หน้า 52-54)

ความสำเร็จในการผลักดันข้อตกลงร่วมระหว่าง TWU กับ Foodora ส่งผลให้กลุ่มแรงงานผู้ขับขี่ขนส่งอาหารได้รับการประกันรายได้ขั้นต่ำ ได้สวัสดิการอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการขนส่ง ได้โบนัสพิเศษจากการทำงานที่เกินกว่าที่สัญญากำหนดขั้นต่ำไว้ (10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) โดยจะได้มากเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว รวมถึงได้บำนาญหากเกษียณอายุก่อนช่วงเวลา (Ilsøe & Jesnes, 2020, หน้า 51-52)  


บรรณานุกรม 

ASIA IOT Business Platform. Government Initiatives To Drive Digitalisation in ASEAN.  เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://iotbusiness-platform.com/government-initiatives-to-drive-digitalisation-in-asean/.

Ballotpedia. (2020, november 20). California Proposition 22, App-Based Drivers as Contractors and Labor Policies Initiative. Retrieved from Ballotpedia: https://ballotpedia.org/California_Proposition_22,_App-Based_Drivers_as_Contractors_and_Labor_Policies_Initiative_(2020)

Basselier, R., Langenus, G., & Walravens, L. (2018). The rise of the sharing economy. Economic Review, (iii), 57-78.

Bika, N. (2020). Do you classify employees correctly? California AB5 law is strict. Retrieved from Workable: https://resources.workable.com/stories-and-insights/ab5-employee-vs-contractor-in-california

CdExpat_Team. (2019, July 19). China’s Food Delivery Revolution: Meituan V E Le Me. Retrieved from Chengdu-Ecpat: https://chengdu-expat.com/meituan-lead-delivery-revolution-in-china/

Cheng, M. (2020, November 4). Uber’s age of special treatment isn’t over. Retrieved from QUARTZ: https://qz.com/1926229/the-meaning-of-ubers-win-on-prop-22-in-california/

Daxue Consulting. (2020, June 1). The O2O food delivery markets in China 2019. Retrieved from Daxue China Reports: https://daxueconsulting.com/o2o-food-delivery-market-in-china/#:~:text=The food delivery market is,of China’s food delivery market.

European Commission. (2016). Mergers: Commission approves acquisition of LinkedIn by Microsoft, subject to conditions.

European Commission. (2018a). Proposal for a COUNCIL DIRECTIVE laying down rules relating to the corporate taxation of a significant diital presence. Brussel.

European Commission. (2018b). Proposal for a COUNCIL DIRECTIVE on the common system of a digital service tax on revenues resulting from the provision of certain digital service. Brussels.

European Commission. (2018c). European Union. Retrieved from Fair Taxation of Digital Economy: https://ec.europa.eu/taxation_customs/business/company-tax/fair-taxation-digital-economy_en?fbclid=IwAR3H91mOWR9HlccN-XedioNX3dlmfm5P19XTsSuz0S69uz9RPOQD7e9kFvs

Evans, P. C., & Gawer, A. (2016, January). The Rise of the Platform Enterprise. Retrieved from https://www.thecge.net/app/uploads/2016/01/PDF-WEB-Plat form-Survey_01_12.pdf

Exim knowledge center. ถอดบทเรียนสตาร์ทอัพระดับโลก…สู่ธุรกิจไทย. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://kmc.exim.go.th/detail/20190927190855/20200205205723. 

Greenhouse Team. (2019, 29 May). How Do Unicorn Startups Grow So Fast in Indonesia?. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://greenhouse.co/blog/how-do-unicorn-startups-grow-so-fast-in-indonesia/.

Google. (2020). Thailand e-conomy SEA 2020 At full velocity: Resilient and racing ahead https://storage.googleapis.com/gweb-economy-sea.appspot.com/assets/pdf/Thailand-e-Conomy_SEA_2020_Country_Insights.pdf

Hagiu, A. (2014, January 01). Strategic Decisions for Multisided Platforms. Retrieved from https://www.hbs.edu/faculty/Pages/item.aspx?num=46062

ILO. (2014). World Social Protection Report: Building economic recovery, inclusive development and social justice. Retrieved from International Labour Organization: https://www.ilo.org/public/libdoc//ilo/2014/485584.pdf

ILO. (2017). Strngthening social protection for the future of work. Germany: International Labour Organization.

Ilsøe, A., & Jesnes, K. (2020). Collective agreements for platform and workers – two cases from the Nordic countries. In Kristin Also. Jon Erik Dølvik and Kristin Jesnes, PLATFORM WORK IN THE NORDIC MODELS: ISSUES, CASES AND RESPONSES (pp. 44-55). Oslo: Nordic Council of Ministers.

ISSA. (2017). International Social Security Association (ISSA). Retrieved from ‘Denmark’. Social Security Country Profiles: https://www.issa.int/en/country-details?countryId=DK&regionId=EUR&filtered=false

Jalan, T. (2020, September 22). Code on Social Security, 2020, lays down gig and platform worker benefits. Retrieved from MEDIANAMA: https://www.medianama.com/2020/09/223-code-on-social-security-gig-platform-workers/

Jesnes, K., Ilsøe, A., & J. Hotvedt, M. (2019). Collective agreements for platform workers? Examples from the Nordic countries. Fafo : Nordic future of work Brief 3.

Kässi, O., & Lehdonvirta, V. (2018). Online labour index: Measuring the online gig economy for policy and research. Technological forecasting and social change, 137, 241-248.

Lee, E. (2020, April 29). There are no food delivery winners. Retrieved from TechNode: https://technode.com/2020/04/29/there-are-no-food-delivery-winners/

Liao, R. (2019, March 6). Food delivered to the doorstep is not so cheap in china anymore. Retrieved from TechCrunch: https://techcrunch.com/2019/03/06/no-more-cheap-food-delivery-in-china/

Ministry of International Trade and Industry (MITI). Industry4WRD. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.miti.gov.my/index.php/pages/view/4832.

MyGov. The National Fiberisation and Connectivity Plan (NFCP) 2019-2023. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.malaysia.gov.my/portal/content/30736.

Ocello, E., & Sjodin, C. (2017). Microsoft/LinkeIn: Big data and conglomerate effects in tech markets. Compettion merger brief, 1-6.

Phatphicha Lerksirinukul. (2019, 2 October). เจาะอาณาจักร Gojek จากมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 20 คน สู่ Decacorn ธุรกิจแสนล้านบาท!. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.salika.co/2019/10/02/gojek-superapp-insight/. 

Schmidt, F. A. (2017). Digital Labour Markets in the Platform Economy: Mapping the Political Challenges of Crowd Work and Gig Work. Retrieved from https://www. voced.edu.au/content/ngv:76462

Statista. (2020, June). Market share of leading online-to-offline food delivery service providers in China as of 1st quarter 2020. Retrieved from Statista: https://www.statista.com/statistics/1179150/china-market-share-of-leading-food-delivery-platforms/

The Guardian. (2020, november 11). Prop 22: why Uber’s victory in California could harm gig workers nationwide. Retrieved from The Guardian: https://www.theguardian.com/us-news/2020/nov/11/california-proposition-22-uber-lyft-doordash-labor-laws?fbclid=IwAR3Xb7o84NteaO-nez22A-b_wAbhSjTGrbyOyW2hFb8occuzRb5fCJRgNiY

Torngren, O. (2017). Mergers in big data-driven markets: Is the dimension of privacy and protection of personal data something to consider in the merger review? Stockholm University.

Tweedie, S. (2016, Jun 13). MICROSOFT BUYS LINKEDIN FOR $26.2 BILLION. Retrieved from Business Inside: https://www.businessinsider.com/microsoft-buys-linkedin-2016-6

Weber, E. (2018). Setting out for Digital Social Security. International Labour Organization.

Wittawin.A. (2019, 26 May). Infographic: สถิติผู้ใช้ และผลประกอบการของ Airbnb ในปี 2019. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.thumbsup.in.th/infographic-airbnb-2019.

แซม ช็อง กรุงเทพธุรกิจ. (2020, 1 February). ‘มาเลเซีย’ รุกดึงเงินลงทุน ด้วย ‘เทคโนโลยี-ศก.ดิจิทัล’. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864531.

แทนรัฐ คุณเงิน. (9 ตุลาคม 2563). การบริการจัดส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย: ทำความเข้าใจรูปแบบอุตสาหกรรม ผลกระทบและอนาคต. เข้าถึงได้จาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: https://law.kku.ac.th/wp/?p=12920

รณดล นุ่มนนท์. (2561). แนวทางการใช้ประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลจัดตั้งคลังข้อมูลแห่งชาติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ. หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 ประจำปีการศึกษา พุทธศักราช 2560 – 2561.

วนบุษป์ ยุพเกษตร. (2019, 1 January). เลิกลุ้น ไม่รอเคว้ง กับการเดินทางที่กำหนดได้ด้วย ViaBus.เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/Viabus.  

วราภรณ์ เทียนเงิน. (2018, 25 May). ‘ViaBus’ แอพดูรถเมล์แบบเรียลไทม์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จากhttps://www.posttoday.com/economy/news/552250. 

ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. สิงคโปร์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก http://www.thaibiz.net/th/market/Republic-of-Singapore.

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (2561) “ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน” งานนำเสนอในงาน TDRI Annual Public Conference 2018: ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี https://tdri.or.th/2018/04/tdri-annual-public-conference-2018/

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. (2563). ผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561 – 2562 คาดการณ์ 3 ปี. เข้าถึงได้ https://www.depa.or.th/th/article-view/press-conference-depa-imc

สุจิตรา วาสนาดำรงดี (2563) “ปัญหาขยะพลาสติกจากธุรกิจสั่งอาหารเดลีเวอรี่” การนำเสนอในการประชุมระดมสมองโครงชุมชนนโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์มครั้งที่ 5 “เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการสร้างประโยชน์สาธารณะ” วันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่โรงแรม Pullman รางน้ำ

สุภาพรรณ ชุมสาย ณ อยุธยา. (2020, 15 July). สิงคโปร์พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์มบล็อกเชนชำระเงิน. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.businesstoday.co/world/world-business/15/07/2020/45022/. 

อริญชัย วีรดุษฎีนนท์. (2020, 1 January). รู้แน่ว่ารถเมล์มา Viabus แอปดูตำแหน่งรถเมล์แบบเรียลไทม์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://themomentum.co/viabus-interview/. 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save