fbpx
เมื่อขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกเกินเยียวยา

เมื่อขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกเกินเยียวยา

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

รอบปีที่ผ่านมาหากถามคนทั่วไปว่า “อะไรเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงน่ากลัวที่สุด?”

ส่วนใหญ่คงพุ่งเป้าไปที่ปัญหาโลกร้อน เพราะผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเริ่มประจักษ์ชัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธารน้ำแข็งละลาย ความแห้งแล้ง ไฟป่าที่เกิดบ่อยขึ้นทั่วโลก อุณหภูมิโลกอันคาดเดาไม่ได้ว่าจะร้อนจัด-หนาวจัดเมื่อใด แต่อันที่จริงโลกร้อนยังไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันน่าสะพรึงกลัวที่สุด

 

Planetary Boundaries หรือ 'ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก' ศึกษาและวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่ง นำโดย ดร. Johan Rockström แห่ง Stockholm Resilience Centre

 

ภาพที่เห็นข้างบนคือแผนภูมิแสดงสิ่งที่เรียกว่า Planetary Boundaries หรือ ‘ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก’ ศึกษาและวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่ง นำโดย ดร. Johan Rockström แห่ง Stockholm Resilience Centre ได้ทำการประมวลปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั่วโลก  เพื่อวิเคราะห์ว่าโลกใบนี้ยังมีศักยภาพพอเพียงในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

ที่ผ่านมาระบบนิเวศของโลก มีความสามารถและความยืดหยุ่นตามธรรมชาติในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะต่างๆ ให้กลับคืนมาสู่ความสมดุลอีกครั้ง หรือพูดง่ายๆ คือ ธรรมชาติได้ช่วยเยียวยา ค่อยๆ จัดการให้ปัญหากลับคืนสู่สภาพปกติได้ และอาจต้องใช้เวลานาน

แต่ถ้าเกิดปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง ระบบนิเวศก็ไม่อาจเยียวยาให้โลกกลับคืนความสมดุลมาได้

Rockströmและคณะได้ย่อยข้อมูลตัวเลขทั้งหมดเป็นกราฟง่ายๆ ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญบนโลกใบนี้แบ่งได้เป็น 9 ปัญหาใหญ่ ๆ เรียงตามลำดับความรุนแรง คือ

1. การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ

2. ปัญหาการใช้สารไนโตรเจนและฟอสฟอรัส

3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4. การทำลายคุณภาพดิน ทำลายป่า

5. การใช้น้ำจืดแบบไม่ยั่งยืน

6. ปรากฏการณ์ทะเลกรด

7. การเปลี่ยนแปลงของละอองในบรรยากาศ

8. มลภาวะจากสารเคมีใหม่

9. การลดลงของโอโซนในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere)

ในกราฟนี้ จะเห็นมีเส้นสีเขียว สีเหลือง และเส้นสีแดง

เส้นสีเขียว หมายความว่า ยังปลอดภัย ระบบนิเวศหรือธรรมชาติบนโลกยังสามารถรับมือเยียวยากับปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นได้

ถ้าปัญหาเริ่มเลยไปเส้นสีเหลือง ก็จะเริ่มเกิดความเสี่ยงในการแก้ปัญหา และไม่สามารถพยากรณ์คาดเดาอะไรได้แม่นยำ

แต่หากปัญหาเลยไปถึงเส้นสีแดง นั่นหมายความว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ระบบนิเวศ ธรรมชาติไม่สามารถเยียวยากลับคืนมา เหมือนเดิมอีกต่อไป มนุษย์ไม่มีองค์ความรู้พอจะแก้ไขได้ จะเกิดความปั่นป่วน และยากที่จะกลับคืนมาสู่ภาวะปกติได้ หรือเลยขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกแล้ว

ในภาพจะเห็นว่า ปัญหารุนแรงที่สุดอันดับแรกคือ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต ดูเหมือนจะเป็นปัญหาวิกฤตที่สุดจนเกินเยียวยาแล้ว

ประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตบนผืนโลกที่ผ่านมา โลกเจอกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง ทั้งหมดเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ ภูเขาไฟ แผ่นดินไหว อุกกาบาตถล่มโลก แต่ปัจจุบันนี้โลกกำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 สาเหตุหลักไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มาจากน้ำมือของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่

ที่น่าตกใจคือการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งนี้ มีอัตราการทำลายล้างสูงมากกว่าในอดีต 100-1,000 เท่า สาเหตุมาจากการไล่ล่าของมนุษย์ การทำลายป่า และการปล่อยมลพิษจำนวนมหาศาลสะสมทางอากาศ น้ำและบนแผ่นดิน

โลกของเรากำลังก้าวสู่ยุคการทำลายล้าง ที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืช อย่างน้อย 3 ใน 4 ที่มีอยู่ทั้งหมดต้องสูญพันธุ์และหายไปจากโลกใบนี้

ในช่วงเวลาเพียง 40 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ทำลายสิ่งมีชีวิตจนสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ไปถึงร้อยละ 50

ปัจจุบัน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสูญพันธุ์ไป 41 เปอร์เซ็นต์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธุ์ไป 26 เปอร์เซ็นต์ และอีก 50 ปี ข้างหน้า สิ่งมีชีวิต 70 เปอร์เซนต์จะสูญพันธุ์ไป และอวสานของมนุษย์อาจมาเยือนเร็วกว่าที่คิด

เรากำลังเดินเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 สิ่งมีชีวิตนับพันล้านตัวกำลังจะหายไป และมนุษย์อาจจะสูญพันธุ์ไปด้วย จากสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ติดตามด้วยใจระทึกว่า มนุษย์จะอยู่อย่างไร หากปราศจากเพื่อนสัตว์โลกด้วยกัน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต่อมา ก็แทบจะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะส่งกระทบรุนแรงจนเกินจะเยียวยาแก้ไข คือปัญหาไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่มากเกินไป ไม่ว่าจากปุ๋ยเคมีหรือผงซักฟอกและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเป็นเวลานานจนมีปริมาณสะสมมากขึ้น กระตุ้นให้สาหร่าย วัชพืช และจุลินทรีย์บางชนิด โดยเฉพาะสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวเพิ่มขึ้น แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว น้ำกลายเป็นสีเขียว เกิดน้ำเน่าเสีย เพราะออกซิเจนในน้ำมีน้อย ทำให้ปลา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตายหมด

เป็นปัญหาใหญ่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา แหล่งน้ำหลายแห่งเน่าเสีย ไร้สิ่งมีชีวิต และปัญหานี้กำลังลุกลามไปตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วโลก เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากจะแก้ไขให้กลับสู่ธรรมชาติเหมือนเดิมได้เช่นเดียวกับปัญหาโลกร้อน ที่นับวันปัญหารุนแรงและสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้จะโทษใครอื่นไม่ได้เลย นอกจากตัวเราเอง

ฝีมือมนุษย์ล้วนๆ

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save