fbpx

15 ปี 19 กันยา: ย้อนเปิดบันทึก ‘ปิยบุตร’ เคยอ่านการเมืองไทยไว้อย่างไร หลังรัฐประหาร 49

15 ปีเต็มที่การเมืองไทยไร้รัฐประหารนับจาก รสช. 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนหลายคนคิดว่าการรัฐประหารไม่มีวันหวนกลับคืนสู่สังคมไทยอีกแล้ว … รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เกิดขึ้น!

15 ปีผ่านไป จาก 2549 ถึง 2564 สังคมไทยก็ยังอยู่ภายใต้มรดกคณะรัฐประหาร จาก คมช. สู่ คสช. บางมิติพันลึกขึ้นเรื่อยๆ บางมิติสว่างจ้าขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการเลือกตั้งในปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยากที่จะกล่าวถึงประเทศไทยในตอนนี้ว่าอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ บางคนอาจกล่าวกระทั่งไม่แน่ใจว่าใช่ ‘ประชาธิปไตย’ หรือไม่ด้วยซ้ำไป

ในวาระครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549  101 เปิดกรุต้นฉบับเก่า ชวนย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ว่าด้วยทหาร-รัฐประหาร-ประชาธิปไตยไทย ในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคปลายรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่อยุคต้นรัฐบาล คมช.

งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 (สัมภาษณ์โดยกองบรรณาธิการประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังรัฐประหาร) ขณะนั้น ‘ปิยบุตร’ ในวัย 27 ปี เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอยู่ระหว่างการลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส

ปิยบุตร แสงกนกกุล: “แทนที่จะหาทางกำจัดไวรัส กลับกดปุ่มปิดเครื่อง แล้วเปิดใหม่อยู่ได้”

26 กันยายน 2549 ขณะที่เนติบริกรหน้าเดิมกำลังทำหน้าที่รับใช้ผู้มีอำนาจตามความถนัดของตน ขณะที่เนติ(อยาก)บริกรหน้าใหม่เริ่มวิ่งเข้าสู่ศูนย์อำนาจใหม่ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ยึดมั่นในหลักนิติรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวา 4 คน ออกแถลงการณ์ ‘คัดค้าน’ และ ‘ประณาม’ รัฐประหาร ที่ตรงไปตรงมาและจริงใจที่สุดฉบับหนึ่ง

“เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็เงียบลง” ภาษิตโรมันว่าไว้อย่างนั้น วันนี้ในสยามประเทศ แม้ควันปืนยังมิได้กรุ่นปากกระบอก แต่รถถังก็พร้อมพรักอยู่ทั่วกรุง … กฎหมายอาจเงียบลง แต่นักกฎหมายมหาชนคนหนึ่ง ยังไม่เงียบเสียง เขามีบางอย่างอยากคุยกับเราและท่าน

โอเพ่นออนไลน์ต่อสายถึงฝรั่งเศส คุยทางไกลกับ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ 1 ใน 4 อาจารย์ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนั้น นักกฎหมายมหาชนผู้ทำตามมโนสำนึกแห่งวิชาชีพอย่างสามัญธรรมดาคนหนึ่ง

อาจารย์มีความเห็นต่อเหตุการณ์ 19 กันยา อย่างไร

ผมไม่เห็นด้วย แต่ก่อนจะคุยต่อ ผมอยากทำความเข้าใจความหมายของคำ 2-3 คำเสียก่อน

“ปฏิวัติ” คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเมืองไทยก็ถือกันว่า 24 มิถุนา 2475 เป็นปฏิวัติ แต่อาจารย์ปรีดีอยากใช้คำว่า “อภิวัฒน์” เพราะทำแล้วเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“รัฐประหาร” หรือ “coup d’état” คือ การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองอย่างฉับพลันจากรัฐบาลโดยวิธีการนอกระบบ โดยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ หลังๆ ต่างประเทศเริ่มใช้คำใหม่ๆ อย่าง “putsch” ซึ่งแปลว่า การใช้กำลังโดยกองกำลังติดอาวุธเพื่อเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล

ส่วน “ปฏิรูป” คือ การเปลี่ยนแปลงของที่มีอยู่ให้ดีขึ้น โดยวิธีการปกติ ไม่ได้ล้มระบบเดิม

เมื่อเราแยกความหมายของ 3 คำนี้แล้ว ก็พิจารณาดูเองแล้วกันว่า 19 กันยาควรเรียกว่าอะไร

ต้องเรียกว่า “รัฐประหาร”?

ถูกต้องครับ ผมพยายามหลีกเลี่ยงไม่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามที่เขาเรียกกัน ผมเรียก “คณะรัฐประหาร” เพราะการยึดอำนาจโดยใช้กำลัง โดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มันคือ “รัฐประหาร” มันไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยไปได้ แล้วจะให้ผมเรียกชื่ออย่างที่เขาอยากให้เรียกได้อย่างไร แค่ตั้งชื่อ ก็หลอกเราเสียแล้ว

ทำไมอาจารย์ถึงไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิงกับการรัฐประหาร

ข้อแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐประหารครั้งนี้เพื่อโค่นคุณทักษิณ ชินวัตร ถามว่าคุ้มหรือไม่ จริงอยู่คุณทักษิณทำอะไรต่อมิอะไรที่รับไม่ได้หลายอย่าง แต่ถามว่าถึงขนาดต้องใช้รัฐประหารเลยหรือ ผมว่าไม่คุ้ม และไม่แน่ด้วยว่า เราจัดการเอาคุณทักษิณออกไปจากการเมืองไทยได้ ผ่านไปสักระยะ ไกล่เกลี่ยเรื่องขัดแย้งกันได้ คุณทักษิณก็อาจกลับมาอีก ตอน รสช. รัฐประหาร ผ่านไปไม่นาน น้าชาติก็กลับมา ที่ว่ากันว่าจัดการระบอบทักษิณได้ ลดความขัดแย้งได้ ผมว่าไม่จริงหรอก มันแค่ระยะสั้น ผมเปรียบเทียบว่าเหมือนคอมพิวเตอร์ติดไวรัส แทนที่เราจะจัดการหาทางกำจัดไวรัสออกไป เรียนรู้วิธีการป้องกันไวรัส แต่เราไม่ทำ เราใช้วิธีกดปุ่มปิดเครื่อง แล้วเปิดใหม่ ไวรัสก็ไม่หายไปไหน เดี๋ยวก็วนกลับมาอีก

ข้อสอง ผมเสียดายที่สุดคือ ค่านิยมทหารไม่ยุ่งการเมือง ทหารไม่ยึดอำนาจ ที่สังคมไทยช่วยกันฟูมฟักมา 15 ปี มาวันนี้หายไปหมด ตลอด 15 ปี บางช่วงก็พอมีข่าวมาบ้างว่าทหารจะออกมา แต่เราก็ช่วยกันสร้างค่านิยมนี้จนทหารเป็นทหารอาชีพมากขึ้น รัฐประหาร 19 กันยา ทำเอาค่านิยมนี้ไร้ความหมายไปเลย หมายความว่าต่อไปอีก 3 ปี 5 ปี หากเราไม่พอใจรัฐบาล หากทหารเกิดขัดแย้งกับรัฐบาล ก็อาจมีรัฐประหารอีก เพราะครั้งล่าสุดเพิ่งผ่านไปไม่นาน รัฐบาลต่อไปก็ต้องพึ่งกองทัพ ต้องประนีประนอมกับกองทัพ คงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะฟื้นฟูให้ค่านิยมทหารไม่ยุ่งการเมืองกลับมาปักหลักได้อีก

ข้อสาม รัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตยอย่างร้ายกาจ คุณพูดได้อย่างไรว่าคุณจะมาปฏิรูปประชาธิปไตย ก็ในเมื่อแค่เริ่มต้นคุณก็ทำลายแก่นของประชาธิปไตยไปแล้ว คุณใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาถึงคุณฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง คุณออกกฎอัยการศึก คุณสั่งห้ามชุมนุม ห้ามแสดงความเห็นต่าง คุณเซ็นเซอร์ข่าว เซ็นเซอร์เว็บไซต์ คุณควบคุมตัวฝ่ายตรงข้าม เหมือนคุณรักผู้หญิงคนหนึ่งมากๆ คุณอยากได้เธอมาเป็นเมีย คุณสัญญาว่าจะรักเธอ ทะนุถนอมเธอ ดูแลเธออย่างดี แต่คุณไม่พยายามจีบเธอ กลับเอากระบองไปตีกบาลเธอแล้วลากเธอมาอยู่ด้วย แบบนี้ต่อให้รักอย่างไร แต่วิธีการได้มา มันผิดทำนองคลองธรรม

ข้อสุดท้าย เป็นเรื่องระยะยาว ผมเห็นว่ารัฐประหารเป็นการบั่นทอนความก้าวหน้าของสังคมไทย ระบอบประชาธิปไตยค่อยๆ เดินมา มีสะดุดบ้างเป็นบางช่วง แต่เราก็เริ่มตั้งหลักได้ เริ่มยืนได้ด้วยตนเอง ตอนนี้ถูกเหนี่ยวรั้งให้เรากลับไปอยู่กับประชาธิปไตยแบบพึ่งพิง ถอยหลังกลับไปเหมือน 20 ปีก่อน ที่รัฐบาลต้องมีกองทัพค้ำยัน ต้องมีเทคโนแครต

เราเห็นนักวิชาการหลายคนที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่เวลาแสดงความเห็นต้องออกตัวก่อนว่า “ผมก็ไม่เอาทักษิณนะ” หรือบอกว่า “แม้ไม่ชอบ แต่มันจำเป็น เป็นหนทางสุดท้าย” อาจารย์คิดอย่างไร

ผมเห็นว่าเราต้องแยกประเด็นรัฐประหารกับทักษิณออกจากกันให้ขาด ผมไม่สนใจเลยว่ารัฐประหารรัฐบาลใด นายกฯ คนไหน ไม่ว่าจะรัฐประหารใครก็ตาม ไม่ใช่รัฐประหารนายกฯ คนนี้รับได้ แต่คนนั้นถือว่าผิด เมื่อเป็นรัฐประหารที่กระทำต่อระบอบประชาธิปไตย กระทำต่อรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย กระทำต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราก็ควรลุกขึ้นต่อต้านทั้งสิ้น

ในแถลงการณ์ ผมจึงบอกตรงๆ เลยว่าผมคัดค้านและประณามรัฐประหาร ผมไม่ออกตัวก่อนว่า “จริงๆ ผมไม่เอาทักษิณนะ” ผมไม่บอกด้วยว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารนะ แต่ผมเข้าใจว่ามันจำเป็น” และผมไม่หลบเลี่ยงด้วยว่า “จริงๆ ผมไม่ชอบรัฐประหารเลย แต่เมื่อมันเกิดแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อไป” ผมคิดว่าพูดแบบนี้มันไม่ต่างอะไรกับการให้ความสมบูรณ์หรือความชอบธรรมกับรัฐประหารไปโดยปริยาย ถ้าคุณไม่เห็นด้วยก็ต้องบอกไม่เห็นด้วย ไม่เห็นต้องยกเรื่องอื่นมาปะปน มองในแง่มุมนี้บางที อาจารย์เสน่ห์ จามริก ที่ออกมารับตรงๆ เลยว่ารับได้กับรัฐประหารครั้งนี้ ก็ดูจริงใจดี จริงใจกว่าหลายคนที่ออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ลึกๆ ก็ให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร ซึ่งอาจจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ได้

โดยส่วนตัว ผมยืนยันว่ารัฐประหารเป็นเรื่องผิดและรับไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีสิ่งผิดเกิดขึ้น ผมไม่อาจยอมรับได้ว่าสิ่งที่ผิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูก สิ่งที่ผิดเพื่อทำลายสิ่งที่ผิดเลยกลายเป็นสิ่งที่ถูก สิ่งที่ผิดเกิดมาแล้วเราจำต้องทนอยู่และรับมัน หรือสิ่งที่ผิดเกิดเพราะความจำเป็น จงทำใจและปล่อยผ่านไปเสีย แบบนี้ผมรับไม่ได้

อาจารย์พูดถึงแถลงการณ์ของอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 4 คน ที่คัดค้านและประณามรัฐประหาร อยากให้เล่าที่มา ที่ไป และความตั้งใจของแถลงการณ์ฉบับนั้น

ก่อนอื่น ผมขอทำความเข้าใจเล็กน้อยว่า การที่พวกผมรวม 4 คน (ธีระ สุธีวรางกูร ปิยบุตร แสงกนกกุล วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช) ร่วมกันเขียนแถลงการณ์คัดค้านและประณามรัฐประหาร ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ที่เหลือจะเห็นด้วยกับรัฐประหาร และไม่ได้หมายความว่าแถลงการณ์ของเราเป็นตัวแทนความเห็นของอาจารย์ทั้งคณะ ผมเข้าใจว่ามีอีกหลายคนที่ไม่ยอมรับรัฐประหารครั้งนี้ จะว่าไปโดยธรรมชาติของนักกฎหมายก็คัดค้านรัฐประหารอยู่แล้ว การที่มีคนไปเรียกร้องเอากับอาจารย์คนอื่นๆ ให้แสดงความเห็นบ้าง หรือเหมารวมเอาว่าอาจารย์คนอื่นๆ ไม่ออกมาย่อมแสดงว่าเห็นดีเห็นงามกับรัฐประหาร เป็นเรื่องไม่แฟร์

ในส่วนของตัวแถลงการณ์ ถ้าคุณลองไปดู พวกเราเขียนสั้นๆ กระชับ เพื่อแสดงจุดยืนว่าเราไม่เอาด้วยใน 4 ข้อ คือ รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น และการควบคุมตัว ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นการทำลายกล่องดวงใจของประชาธิปไตย เริ่มแรกคุณใช้วิธีการนอกระบบมาทำลายรัฐบาลที่มีอาณัติจากประชาชน จากนั้นคุณฉีกรัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันต่อสู้มา รัฐธรรมนูญที่มีหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ต่อมาคุณออกมาตรการห้ามการแสดงความเห็น ห้ามชุมนุม ในระบอบประชาธิปไตย คุณไปปิดกั้นการแสดงความเห็นได้อย่างไร ท้ายสุด คุณควบคุมตัวฝ่ายตรงข้าม อย่างน้อยที่สุดในฐานะประชาชน เขาต้องได้รับการปฏิบัติที่ดี ต้องมีอิสรภาพ จนถึงวันนี้ เราก็ไม่รู้ว่าคนที่ถูกคุมตัวไปนั้น เป็นอย่างไรบ้าง

แล้วเราไม่เขียนแถลงการณ์เยิ่นเย้อว่าจริงๆ แล้วเราไม่เอาทักษิณด้วยนะ เราไม่เขียนว่าเราไม่เห็นด้วยแต่เราเข้าใจดีว่ารัฐประหารเกิดขึ้นเพราะอะไร เราไม่เขียนว่ารัฐประหารเป็นสิ่งไม่ถูกต้องแต่เราก็ย้อนกลับไม่ได้ ตรงกันข้ามเราพุ่งเป้าไปที่ 4 ข้อ แสดงจุดยืนชัดๆ ว่า เราขอคัดค้านและประณามรัฐประหารครั้งนี้ แม้คณะรัฐประหารจะอ้างเหตุผลดีเลิศอย่างไรก็ตาม

ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาอย่างไรบ้าง

หลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับเรา หลายคนติงให้เรามองโลกบนความเป็นจริงบ้าง อย่างไรเสียคณะรัฐประหารก็ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว คงย้อนกลับไปให้เหมือนไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นไม่ได้ มาร่วมมือกันทำให้ดีขึ้นดีกว่า โอเค พูดแบบนี้อาจจะถูกก็ได้ แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุด เราต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ต่อหลักการ ต่ออุดมคติ ความสม่ำเสมอทางวิชาการต้องมี ไม่ใช่ใช้กฎหมายแบบดูหน้าคน

จริงอยู่ ผลลัพธ์คงมีไม่มาก แต่มันก็เป็นการประกาศให้สาธารณชนรับรู้ว่ามีคนที่ไม่เอารัฐประหาร มีนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งรับไม่ได้กับวิธีการแบบนี้ และอย่างน้อยคนอื่นที่ไม่เอารัฐประหารเหมือนกันก็อุ่นใจได้ว่า เขาไม่ได้ยืนอยู่เพียงลำพัง

ถามจริงๆ ว่า ในใจลึกๆ แอบรู้สึกโล่งใจ เหมือนที่ผู้เห็นด้วยบอกว่า “รัฐประหารครั้งนี้ช่วยทำให้วิกฤตการเมืองคลี่คลาย” หรือไม่

ผมเคารพทุกความเห็น ทุกรสนิยม ใครจะเห็นดีเห็นงาม ใครจะนิยมชมชอบรัฐประหารก็เป็นรสนิยมของแต่ละคน แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมเชื่อเสมอว่าเราไม่จำเป็นต้องรัฐประหาร ถ้าไม่มีรัฐประหารครั้งนี้ ผมว่าประเทศก็ยังเดินหน้าของมันต่อไปได้ จะบอกว่ารัฐประหารเพื่อเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองและภาคประชาชนก็ยกประเด็นนี้มาแล้ว และจะลงมือทำกันแน่นอนหลังเลือกตั้ง

ส่วนที่บอกว่ารัฐประหารเพื่อทำให้ความแตกแยกในสังคมที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายจะคลี่คลายไป ผมคิดว่าไม่จริง อย่างน้อยที่สุด คนที่รักคุณทักษิณคงไม่ได้หมดรักคุณทักษิณทันทีที่ทหารออกมายึดอำนาจ เราอาจเห็นว่าที่ทะเลาะๆ กันมาปีกว่า เงียบหายไปหมด แต่พวกเขาถูก “บังคับ” ให้เงียบต่างหาก เชื้อของความขัดแย้งยังอยู่ ระบอบทักษิณดำรงอยู่มานานจนทำให้คนบาดหมางแบ่งเป็นฝ่าย จะให้หายไปในพริบตาด้วยรัฐประหารคงเป็นไปไม่ได้

ถ้ามองในแง่ร้าย รัฐประหารครั้งนี้อาจทำให้คนที่รักคุณทักษิณไม่พอใจ แต่จำต้องเก็บความไม่พอใจไว้ หรือผลักเอาคนที่ไม่รักคุณทักษิณแต่รับไม่ได้กับรัฐประหารไปอยู่กลุ่มเดียวกับพวกรักทักษิณก็ได้ การแบ่งฝ่ายมันไม่ได้จบง่ายๆ เพียงแค่ทหารออกมาแล้วสั่งให้จบ สังคมประชาธิปไตยหลีกหนีความขัดแย้งไปไม่ได้ แต่เราควรมีวิธีการจัดการความขัดแย้งที่งดงามกว่านี้ การกดขี่ การห้าม การปราบปราม ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งหายไป ตรงกันข้ามอาจทำให้ปะทุมากขึ้นด้วย

ต้องไม่ลืมว่าการใช้วิธีการนอกระบบหรือใช้กำลังยึดอำนาจ ต้องมีคนเสียหาย มีฝ่ายพ่ายแพ้ ซึ่งก็รอวันตีโต้กลับมา คนที่ขึ้นมาจากรัฐประหารก็ต้องนั่งเยียวยา แก้ไขผลที่ตามมา เร่งสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ไหนจะต้องระวังการตีโต้จากฝ่ายตรงข้ามอีก รัฐประหารก็เหมือนกับสงคราม เริ่มง่ายแต่จบยาก

พูดก็พูด ผมยังเชื่อว่ามาตรการที่งดงาม คือ เลือกตั้ง จริงอยู่ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง เรายังมีการชุมนุม การแสดงความเห็น การประท้วงอย่างสันติ การมีส่วนร่วมของพลเมือง การคุ้มครองเสียงข้างน้อย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง คุณจะมีวิธีวัดความนิยมทางการเมืองวิธีใดอีกที่เป็นธรรมกว่านี้ หรือจะให้คนมีการศึกษา คนมีหน้ามีตา ชนชั้นนำ ปัญญาชน หรือ “เสาหลักจริยธรรม” เท่านั้นหรือที่ออกมาบอกได้ว่าใครควรเป็นนายกฯ เราจะเอาอย่างนี้หรือ

ผมคิดว่า ก่อนรัฐประหาร ทิศทางการเมืองกำลังไปได้สวย หลังเลือกตั้ง ทักษิณเว้นวรรคแน่นอน ไทยรักไทยไม่ได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ มีวาระแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านมีเสียงมากขึ้น องค์กรอิสระก็เปลี่ยนคนที่สังคมยอมรับเข้าไปเป็นมากขึ้น การชี้ขาดขององค์กรอิสระไม่ได้มีแนวโน้มไปทางทักษิณเหมือนก่อน พันธมิตรฯ ก็รณรงค์ต่อไป กดดันต่อไป มีมาตรการทางกฎหมายอะไรก็เอามาใช้ จะฟ้องศาล จะล่ารายชื่อถอดถอนก็ทำกัน นี่อะไร เริ่มแรกก็ว่า กกต. ไม่กลาง นี่เปลี่ยน กกต. แล้ว ซึ่งสังคมรับกันแล้วว่ากลางแน่ๆ ทุกพรรคก็พร้อมไปเลือกตั้ง ประชาชนก็พร้อมไปเลือกตั้ง แต่พอคาดเดาว่าไทยรักไทยได้เสียงข้างมากอีก ก็เลยไม่อยากให้เลือกตั้ง นั่นก็หมายความว่า คุณไม่เอาทักษิณจนไม่มองกฎเกณฑ์เลย ทำไมไม่อดทนรอ มันไม่ต่างอะไรกับเล่นเกมวินนิ่ง พอเห็นท่าว่าแพ้ เลยกดปุ่มรีเซ็ต ผมจึงรับไม่ได้กับคนที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้งเพราะบอกว่าเลือกแล้วก็ได้ไทยรักไทยมาอีก บางทีผมยังคิดเลยว่าที่บอกๆ ว่าวิกฤตไม่จบ เพราะไม่อยากให้มันจบหรือเปล่า

คิดอย่างไรกับความเห็นที่ว่าทหารไม่ได้ทำลายประชาธิปไตยหรือฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะคุณทักษิณทำลายมาก่อนแล้ว

ผมว่าเป็นข้อแก้ตัว เหมือนคุณฝ่าไฟแดงแล้วบอกว่าที่ฝ่าไฟแดงเพราะเห็นรถข้างๆ ฝ่าเหมือนกัน ถ้าอ้างแบบนี้ทุกคัน ก็ไม่ต้องมีกฎจราจร รถชนกันเป็นแถบตามสี่แยก แน่นอน คุณทักษิณสร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองมากมาย แทรกแซงองค์กรอิสระ ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นหมันได้อย่างแยบยล โหมไฟใต้ให้แรงขึ้นๆ แต่ถึงอย่างไรอย่างหยาบที่สุดเขาก็มีฐานที่มา ผมเห็นว่าเราต้องอดทนอยู่ต่อไป กดดัน ตามกัดไม่ปล่อยต่อไป กระบวนการในระบบมีอะไรต้องงัดมาใช้ให้หมด

ถ้าเราใช้วิธีลัดแบบนี้ วันข้างหน้าเราก็จะไม่อดทนแก้ปัญหาแต่จะหันหน้าเข้าหารัฐประหารอีก ต้องไม่ลืมว่าวันที่ทหารรัฐประหาร ณ วันนั้น มีกลุ่มสนับสนุนทักษิณไม่น้อย จริงอยู่อาจมีจัดตั้งบ้าง แต่รวมๆ แล้วก็มีไม่น้อย แล้วเราจะไม่ให้ค่าไม่ให้ราคากับคนกลุ่มนี้เลยหรือ ผมเชื่อว่าจนวันนี้ กลุ่มนี้ก็ยังอยู่ เพียงแต่แสดงออกมากไม่ได้เท่านั้นเอง ผมเห็นว่ามันยากที่จะบอกได้ว่าตอนนี้ถึงเวลาอันควรต้องรัฐประหารแล้ว เราจะใช้อะไรเป็นตัววัดว่าตอนนี้ถึงระดับที่ทหารต้องออกมา ผมคิดว่าไม่ใช่แค่สำรวจโพล

รัฐประหารครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่เสียเลือดเนื้อ หลายคนบอกว่าเป็นรัฐประหารคลาสสิก

ความเรียบร้อย ความสงบ ความนิ่ง รวมถึงความดีใจ ถึงขนาดออกไปถ่ายรูปกับรถถังเหมือนงานวันเด็ก ปรากฏการณ์เหล่านี้แหละครับที่ผมว่าน่ากลัว น่ากลัวอย่างไร คุณลองนึกดู การที่คุณเฉยเมย ปล่อยเลยตามเลย หรือกระทั่งยินดีปรีดาต่อรัฐประหาร นั่นหมายความว่าคุณไม่รู้สึกอะไรเลย รัฐประหารนี่เป็นการทำลายประชาธิปไตยอย่างร้ายกาจแต่เรากลับเฉยเมย นั่นแสดงว่าสังคมไทยยอมรับทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหา นั่นหมายความว่าเพื่อเป้าหมายแล้ว เราไม่สนใจวิธีการ เราจะใช้วิธีการที่อัปลักษณ์อย่างไรก็ได้ ผมไม่อยากเอาประเด็นไม่เสียเลือดเนื้อมาเป็นดัชนีชี้วัดความงดงามของรัฐประหาร ถ้ายังจำกันได้ ปี 2534 ที่ รสช. รัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็ไม่เสียเลือดเนื้อ จะว่าไปมีน้อยครั้งมากที่รัฐประหารแล้วเสียเลือดเนื้อ แต่ความขัดแย้งทางการเมืองถึงขนาดคนไทยฆ่ากันเองมันเป็นผลต่อเนื่องมาจากรัฐประหารทั้งสิ้น

ไม่กลัวคนหาว่าไร้เดียงสาไปหน่อยหรือ

หากใครมองว่าความพยายามคัดค้านรัฐประหารครั้งนี้เป็นเรื่องไร้เดียงสา ผมก็ไม่ว่าอะไร แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน ผมคิดว่าการยึดหลักการ ยึดระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องไร้เดียงสา ไม่ใช่ดัดจริต สังคมสมัยใหม่ คนเยอะขึ้น ความขัดแย้งก็มีมากตามมา การตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งย่อมกระทบกับอีกฝ่าย แต่ละคนก็อ้างเหตุผลของตัว อ้างความชอบของตัวซึ่งเป็นเรื่องอัตวิสัยมากๆ วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องเปิดกว้างให้แต่ละฝ่ายได้มาพูดจากัน โดยมีกฎ มีหลัก มีกติกา ต้องไม่ลืมว่าหากเราจะโละกติกาที่เราใช้ๆ กันมาอย่างการเลือกตั้ง แล้วหันมาใช้กำลัง คุณก็ต้องยอมรับได้ว่าสักวัน เมื่อคุณเข้ามาด้วยวิธีแบบนี้ ฝ่ายตรงข้ามเขาก็อาจทำแบบเดียวกับที่คุณเคยทำบ้าง ก็ไอ้กติกาที่มี คุณล้มมันไปเสียแล้ว

มาว่ากันเรื่องกฎหมายบ้าง ผลทางกฎหมายของรัฐประหารเป็นอย่างไร เมื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญไปแล้ว องค์กรต่างๆ จะมีสถานะอย่างไร

เรื่องผลทางกฎหมายของรัฐประหาร มี 2 ประเด็นที่สำคัญ ประเด็นแรก องค์กรที่รัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นจะอยู่หรือไป ในเมื่อรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งองค์กรเหล่านี้ขึ้นมา ถูกยกเลิกไปแล้ว ประเด็นที่สอง สถานะของประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นปัญหาในทางนิติปรัชญาว่าเราจะถือว่าอะไรบ้างที่เป็น “กฎหมาย”

ในประเด็นแรก หลังรัฐประหาร มีการฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วระบบกฎหมายจะดำรงอยู่อย่างไร ในทางตำรา มี 2 ความเห็นหลักๆ ความเห็นแรก บอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นฐานที่มาของระบบกฎหมาย เมื่อรัฐธรรมนูญถูกล้มไปแล้ว ก็เท่ากับว่าระบบกฎหมายต้องไปตามทั้งระบบ เว้นแต่ว่าคณะรัฐประหารจะให้การรับรอง ให้ความสมบูรณ์แก่เรื่องใดตามมา ความเห็นที่สอง มองว่ารัฐธรรมนูญกับระบบกฎหมายกับกฎหมายอื่นๆ แยกขาดจากกัน จริงอยู่ที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตัดขาดจากกัน เมื่อคณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว องค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ยังอยู่ต่อไป เว้นแต่คณะรัฐประหารจะไปยกเลิกภายหลัง ระบบกฎหมายไทยน่าจะเดินตามแนวนี้ ที่ผ่านมามีคำพิพากษาฎีกาหลายฉบับที่ยอมรับ

ประเด็นที่สอง ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารมีสถานะอย่างไร บ้านเรายึดถือตลอดว่าประกาศคณะรัฐประหารมีสถานะเป็นกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาเดินตามแนวนี้ตลอด คือมองว่าแม้คณะรัฐประหารจะได้อำนาจการปกครองมาโดยไม่ชอบ แต่เมื่อได้มาแล้ว สถาปนาอำนาจของตนจนมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งแล้ว ย่อมกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจออกกฎหมายได้ ส่วนประกาศฉบับใดมีค่าระดับรัฐธรรมนูญ มีค่าระดับพระราชบัญญัติ หรือมีค่าเป็นกฎหมายลำดับรอง ต้องมาพิจารณาเนื้อหาเป็นรายฉบับไป

ทำไมต้องมีมาตราหนึ่งในธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่รับรองการกระทำของคณะรัฐประหาร และยกเว้นความผิดให้

เพราะระบบกฎหมายไทยและแนวคำพิพากษายึดถือกันมาว่า รัฐประหารไม่มีผลย้อนหลังไปทำลายระบบกฎหมาย แต่มีผลขึ้นไปข้างหน้า นั่นก็หมายความว่าตอนที่ทำรัฐประหารนั้น ยังมีกฎหมายอาญาที่ระบุไว้ว่าการทำรัฐประหารเป็นความผิดอยู่ จึงต้องนิรโทษกรรมตนเอง อีกอย่างคณะรัฐประหารก็ยึดถือกันเป็นประเพณีว่าต้องนิรโทษกรรม อย่างน้อยก็ป้องกันไว้ก่อนในกรณีมีคดีความตามมาในอนาคต

ในสายตาอาจารย์ รัฐประหารครั้งนี้มีความแปลกใหม่อะไรบ้างไหม

เท่าที่ผมเห็นความแปลกคงมีเพียงเอาเพลงพี่เบิร์ดมาเปิดคั่นเวลาหลังยึดโทรทัศน์มั้งครับ เพราะที่เหลือก็มารูปแบบเดิมๆ ทั้งนั้น ผมจะไล่ให้คุณฟัง เหตุผลการรัฐประหารก็เรื่องเดิม คือ คอร์รัปชันและหมิ่นสถาบันเบื้องสูง วิธีการก็แบบเดิม เอารถถัง เอากองทหารออกมา ไปยึดโทรทัศน์ วิทยุ ตัดรายการปกติ เปิดเพลงแนวอาเศียรวาท จากนั้นก็ฉีกรัฐธรรมนูญ ออกกฎอัยการศึก แล้วก็ออกสารพัดประกาศ สารพัดคำสั่งที่ห้ามไปหมด

ที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเราเลย คือ การแสดงสัญลักษณ์ยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ อย่างริบบิ้นสีเหลือง ผูกไว้ที่ปืนบ้าง รถถังบ้าง เครื่องแบบบ้าง หรือการรีบเผยแพร่ภาพเข้าเฝ้าฯ หลังจากรัฐประหารหมาดๆ เรื่องชื่อของคณะรัฐประหารก็เหมือนกัน ครั้งนี้ใช้ชื่อยาวมาก ยาวที่สุดตั้งแต่เคยมีคณะรัฐประหารกันมา เพราะชื่อนี้สื่อสัญลักษณ์บางอย่าง ผมคิดว่าคีย์เวิร์ดของชื่อคณะนี้อยู่ที่คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตอกย้ำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ของประเทศไทยไม่เหมือนที่อื่นๆ

เมื่อวานผมอ่านข่าว เห็นว่าต้องเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจากเดิมใช้ “Council For Democratic Reform Under Constitutional Monarchy (CDRM)” มาเป็นคำว่า “Council For Democratic Reform (CDR)” ตัด “Under Constitutional Monarchy” ออกไป เพราะเกรงว่าต่างประเทศเข้าใจผิดว่ารัฐประหารครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ผมอ่านหนังสือพิมพ์ที่นี่ เขาใช้หลายๆ คำที่สะท้อนอะไรเยอะ อย่าง putsch royal – รัฐประหารหลวง หรือ soldat du roi – ทหารของกษัตริย์

แต่คณะรัฐประหารครั้งนี้ก็ไม่ได้ตั้งองค์กรเฉพาะกิจมาจัดการฝ่ายตรงข้าม ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ยึดทรัพย์โดยไม่ผ่านศาล จะเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่หรือไม่

ผมเดาเอาว่าคณะรัฐประหารคงเห็นบทเรียนจาก รสช. ซึ่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมาไล่ยึดทรัพย์นักการเมือง แต่สุดท้ายศาลก็ยกฟ้องหมด มองในแง่ดี คณะรัฐประหารอาจพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย พยายามใช้องค์กรที่มีอยู่เดิมในภาวะปกติ อย่าง ป.ป.ช. สตง. หรือศาล ไม่ตั้งคณะกรรมการของตัวเองไปไล่ฟันรัฐบาลเก่า ดูแล้วก็เป็นกลางขึ้น แต่เอาเข้าจริง ผมว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น ลองดูประกาศหลายๆ ฉบับสิครับ ประกาศยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ประกาศยกเลิกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทั้งหมด แล้วเหลือคุณหญิงจารุวรรณ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรับเหมาทำแทนทั้งหมด หรือประกาศตั้ง ป.ป.ช. ซึ่งพอเห็นชื่อก็เห็นแนวโน้มเลยว่าหลายคนไม่เอาทักษิณแน่นอน พูดง่ายๆ คือใช้องค์กรในระบบ แต่จัดการตั้งคนที่มีแนวโน้มว่าเป็นมือปราบทักษิณเข้าไป ประเด็นนี้เป็นประเด็นเดียวกันไม่ใช่หรือครับที่เราวิจารณ์คุณทักษิณมาตลอดเรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระ ส่งคนของตัวเข้าไป ผมคิดว่าภาพคุณหญิงจารุวรรณชูนิ้วโป้งตอนเข้าไปพบคณะรัฐประหารคงให้ความหมายได้ดี

เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอีกในอนาคตได้อย่างไร

มาตรการทางกฎหมายคงลำบาก เห็นได้จากเราเขียนป้องกันไว้ในรัฐธรรมนูญเต็มไปหมด แต่ถึงเวลาก็ยึดอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญเสีย รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เราพูดๆ กันว่าเป็นหมันไปหลายมาตรา สำหรับผมแล้ว มาตราอื่นๆ ยังพอแก้ไข เยียวยา ปรับปรุงกันได้ แต่มาตรา 65 ที่ให้ประชาชนต่อต้านโดยสันติวิธีกับการได้อำนาจการปกครองด้วยวิธีนอกระบบ และมาตรา 6 ที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนี่สิ แทบไม่มีประโยชน์อะไร รัฐประหารครั้งนี้ทำให้บทบัญญัติในมาตรา 65 ไร้ค่าไปเลย ถ้าพูดแบบประชดประชัน ต่อไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่จำเป็นต้องใส่มาตรานี้เข้าไป เพราะเวลาใครจะยึดอำนาจโดยวิธีนอกระบบ ก็จัดการฉีกรัฐธรรมนูญเสีย แล้วสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดไปอยู่ที่ไหน แบบนี้มัน Might is Right ชัดๆ

ถ้าพูดแบบอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็คือ เรามีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมซ้อนอยู่อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าบ่อยครั้งมันมีพลัง มีค่าบังคับมากกว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร สังคมไทยไม่พยายามและไม่อดทนรอใช้กลไกที่มีในรัฐธรรมนูญในการโค่นทักษิณ แต่นิยมทางลัดซึ่งเห็นผลรวดเร็วและชัดเจนกว่า รัฐประหารครั้งนี้สะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวัฒนธรรมการเมืองไทยชัดเจนว่าถึงที่สุดแล้วมีเสียงข้างมากเท่าไร ก็ยังมีอำนาจอื่นเหนือกว่าอีก ผมจึงคิดว่าการป้องกันรัฐประหารโดยกฎหมายคงไม่มีทางสำเร็จ หากปราศจากความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมืองในเรื่องนี้

มีข้อเรียกร้องอะไรต่อคณะรัฐประหาร

ผมเน้นประเด็นสิทธิและเสรีภาพมากที่สุด มากกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ นายกฯ ใหม่ เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิและเสรีภาพ เราจะไปแสดงความเห็นด้วยไม่เห็นด้วยในเรื่องรัฐบาลใหม่หรือรัฐธรรมนูญใหม่ได้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารควรรีบทำโดยเร็วที่สุด คือ ยกเลิกมาตรการห้ามเสีย ปล่อยให้คนแสดงความเห็นต่างได้เต็มที่ ให้คนชุมนุมทางการเมืองได้ นอกนั้นก็อย่างที่เราเรียกร้องไปในแถลงการณ์ คณะรัฐประหารต้องรีบคืนการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ผมทราบดีว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คณะรัฐประหารถอยออกไปเลย เพราะเขาเองคงไม่มั่นใจว่าทุกอย่างจะเสถียร แต่ยิ่งคณะรัฐประหารครอบงำไปนานเท่าไร สังคมก็ยิ่งคลางแคลงใจมากขึ้นเท่านั้น

รัฐประหาร 19 กันยา ให้บทเรียนอะไรแก่สังคมไทยบ้าง

ผมมองว่ารัฐประหารครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าผ่าน 24 มิถุนา มา 74 ปี ประชาธิปไตยของเราก็ยังเป็นอภิชนาธิปไตยอยู่ เราไม่ยอมยืนอยู่ด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ผมว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะยืนได้ ต่อไปนี้ชนชั้นกลางหรือคนในเมืองที่ออกมาไชโยโห่ร้องกับรัฐประหารไม่มีสิทธิไปตำหนิคนต่างจังหวัดในเรื่องการขายเสียงหรือการพึ่งพิงตามระบบอุปถัมภ์ได้อีก ในเมื่อตัวพวกคุณเองก็นิยมชมชอบการพึ่งพิง “ผู้ใหญ่” เหมือนกัน

ผลจากรัฐประหารครั้งนี้ ถามว่าคู่กรณีที่ทะเลาะกันมาปีกว่าๆ ใครชนะ ผมว่าแพ้หมด ทักษิณแพ้ พันธมิตรแพ้ ฝ่ายค้านแพ้ ที่สำคัญสังคมไทยแพ้ ผมคิดว่าสังคมสมัยใหม่เราหนีความขัดแย้งไปไม่พ้น วิธีการจัดการความขัดแย้งมีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีใช้กำลังหรือกดปุ่มรีเซ็ต สังคมไทยควรโตพอที่จะเรียนรู้กันเสียทีว่ารัฐประหารไม่ใช่ยาวิเศษที่รักษาโรคร้ายให้หายขาดในเร็ววัน จะอัศวินม้าขาว จะอัศวินควายดำ จะอัศวินเสื้อเขียว เสื้อเหลือง ไม่มีจริงทั้งนั้น

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ วันที่ 30 กันยายน 2549

หมายเหตุ: ภาพถ่ายจากคลังภาพของกองบรรณาธิการ The101.world ถ่ายเมื่อเดือนมกราคม 2562

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save