fbpx
‘เมื่อเศรษฐกิจติดไวรัส’ กับ ปิติ ศรีแสงนาม

‘เมื่อเศรษฐกิจติดไวรัส’ กับ ปิติ ศรีแสงนาม

ไวรัส COVID-19 ไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียต่อชีวิต และสร้างผลกระทบใหญ่ต่อชีวิตคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเปราะบางและตกอยู่ในความเสี่ยงอันแหลมคม

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยในเบื้องต้นคืออะไร โครงสร้างเศรษฐกิจโลกถูกเขย่าแค่ไหน โลกาภิวัตน์จะเปลี่ยนรูปอีกครั้งหรือไม่ และมาตรการรับมือที่ดีควรเป็นอย่างไร

ตรวจอาการเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยในภาวะโรคระบาด กับ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามทั้งหมดได้จากรายการ 101 One-on-One ep. 106 “เมื่อเศรษฐกิจติดไวรัส” กับ ปิติ ศรีแสงนาม

:: จากโรคซาร์ส (SARS) สู่ COVID-19 ::

 

 

บางคนอาจจะเทียบ COVID-19 กับโรคซาร์ส (SARS) ที่เคยระบาดในช่วงปี 2002-2003 ตอนนั้น ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่า ผลกระทบจากโรคซาร์สทำให้ GDP โลกลดลงไป 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ COVID-19 ยังไม่ได้ระบาดเข้าสู่สหรัฐฯ ยุโรป และตะวันออกกลาง ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะถดถอยประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถ้าเทียบกับโรคซาร์สคือมากกว่าถึง 70 เท่า แล้วยิ่งตอนนี้ COVID-19 ระบาดไปในหลายพื้นที่แล้วด้วย เพราะฉะนั้น ในช่วงชีวิตของเรา น่าจะถือว่า COVID-19 เป็นโรคระบาดครั้งรุนแรงที่สุดที่เราได้เห็นกัน

 

:: วิกฤตเศรษฐกิจ ::

 

 

เศรษฐกิจโลกเคยย่ำแย่ที่สุดในช่วงปี 1997-1998 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง (Asian financial crisis)  ซึ่งเราพบว่า GDP ปี 1997 ติดลบ 3% กว่าๆ และในปี 1998 ติดลบราว 7% กว่า จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับขึ้นมาได้ เราเคยติดลบมากที่สุดขนาดนั้น วันนั้นคนหายออกไปจากเมืองเพราะทุกคนตกงานกันหมด

ถามว่าวันนี้จะเลวร้ายขนาดนั้นไหม คำตอบคือคงไม่ขนาดนั้น เพราะกลไกต่างๆ ที่สามารถทำงานได้ก็ยังทำงานได้อยู่ ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง สิ่งที่ถูกบล็อกมากที่สุดและทำงานไม่ได้คือสถาบันการเงิน นาทีนั้นสถาบันการเงินถูกปิด โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างพังเพราะค่าเงินถูกเปลี่ยนจากระบบคงที่เป็นลอยตัว ค่าเงินอ่อนตัวทีเดียวจาก 20 กว่าบาทต่อ 1 ดอลลาร์ ขึ้นไปที่ 50 กว่าบาทต่อ 1 ดอลลาร์ มันบริหารจัดการแบบนั้นไม่ได้

แต่วันนี้ วิกฤตส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะเราเป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกันกับจีน ตั้งแต่ปี 2000-2020 มูลค่าการค้าขายของไทยกับจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 12 เท่า เรานำเข้าเพิ่มขึ้นจากจีน 12 เท่า ส่งออกเพิ่มขึ้น 5 เท่า นักท่องเที่ยวจีนที่เคยเข้ามาไทยช่วงต้นปี 2000 อยู่ที่ 6 แสนกว่าคน แต่ตอนนี้อยู่ที่ 11 ล้านคน คือเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่า นี่ยังไม่พูดถึงห่วงโซ่ที่เราไปเกี่ยวพันกับเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้เป็นอัมพาต เราเลยเจอปัญหาวิกฤต

ผมคิดว่านาทีนี้ต้องใช้คำว่าวิกฤต เราเจอเศรษฐกิจถดถอย (recession) จนชิน ซึ่งน่าจะถดถอยต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว นาทีนี้เลยน่าจะใช้คำว่าวิกฤตได้แล้ว เพราะตอนนี้ทุกอย่างอยู่เหนือการควบคุม เนื่องจากมันเป็นปัจจัยที่เหมือนกับภัยธรรมชาติ สิ่งที่เราทำได้คือ การบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤต เพราะเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ปัญหาได้

 

:: ปัญหาเชิงโครงสร้างและ COVID-19 ::

 

ปิติ ศรีแสงนาม

 

สถานการณ์ของเราคือ เรามีปัญหาในเชิงโครงสร้าง เราตามไม่ค่อยทันตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ช่วงทศวรรษที่ 1970 แล้ว ตอนนั้น เกิดเทคโนโลยีหลักๆ เรียกว่า programmable logic controller ที่จะนำไปสู่การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ (automation) มีการนำคอมพิวเตอร์และแขนกลมาใช้ทำงานในโรงงาน คนของเราไม่เท่าทันตั้งแต่ขั้นตอนนี้ แล้วก็สะสมมาเรื่อยๆ จนนำไปสู่หลายปัญหา รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ด้วย

ยิ่งเราเข้าสู่ยุค 4.0 ก็ยิ่งกระทบมากกว่าที่เป็นมา เพราะเครื่องจักรที่เคยใช้แทนที่แค่คนตรงกลางสามารถมาทดแทนคนได้หมด แล้วยิ่งเรามีปัญหาโครงสร้างภาคการผลิตที่เน้น manufacturing driven ภาคการผลิตในโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ใช้ประสิทธิภาพของแรงงาน ยังไงก็สู้เครื่องจักรได้ยาก มันทำให้เราโดน disrupt

อีกอย่างคือ เราเคยเสพติดการใช้แรงงานราคาถูกมาตลอด แต่ตอนนี้โครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยน ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานอีก สภาพง่อนๆ แง่นๆ เช่นนี้ บวกกับ COVID-19 ก็ยิ่งสาดให้เราพัง

แต่ผมยังมองโลกในแง่ดีว่า มันคงไม่ร้ายแรงเหมือนวิกฤตปี 1997 คือ GDP อาจจะถดถอย แต่เชื่อว่าคงไม่ถึงขนาดติดลบ เพราะภาคธุรกิจในประเทศของเรายังมีความแข็งแกร่งอยู่ ไทยโชคดีตรงที่ไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ก็เริ่มปรับยุทธศาสตร์เยอะแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าพอเขาปรับยุทธศาสตร์ได้ และสถานการณ์วิกฤตเริ่มอยู่ตัว มันน่าจะสามารถจัดการและฟื้นฟูบางส่วนได้

 

:: แก้วิกฤตศรัทธา กู้คืนความเชื่อมั่น ::

 

 

บางครั้งเราเลือกที่จะทำบางอย่างและไม่ทำบางอย่าง เช่น ก่อนหน้านี้เราไม่รับเรือลำหนึ่ง แต่เลือกรับเรืออีกลำหนึ่ง มันเลยกลายเป็นเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ว่า แล้วมาตรฐานที่คุณเคยบอกว่าสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ทำไมมันปฏิบัติออกมาแบบนี้ ลักษณะนี้แบบทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และพอเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ คนก็จะไม่เชื่อข้อมูลหลายอย่างที่คุณบอก เช่น แพทย์พยายามจะอธิบายข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ว่า หน้ากากอนามัยมีไว้สำหรับคนป่วย สมมติคุณนั่งอยู่ในเครื่องบิน มีหน้ากากอนามัยชิ้นเดียว แล้วเกิดมีคนไอขึ้นมา ให้คุณเอาหน้ากากไปให้เขาใส่ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อคุณไม่เชื่อมั่นสิ่งที่เขาประกาศ คุณก็เอาหน้ากากใส่ตัวคุณเองก่อน ซึ่งก็อาจจะป้องกันอะไรไม่ได้เพราะคุณแอบหายใจ แล้วที่เหลือก็ติดกันหมดเลย

โรงงานผลิตหน้ากากมีทั้งหมด 11 แห่ง ทำได้ประมาณ 36 ล้านชิ้น แต่เราทำไม่ได้หรือเรารู้มาแต่ต้นแต่ก็บริหารจัดการไม่ได้ แล้วใช้วิธีที่ผิดด้วย เริ่มแรกแทนที่เราจะใช้หน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือคนป่วย เรากลับทำให้คน 60 กว่าล้านคนอยากได้หน้ากากมาครอบครอง เพราะงั้นผลิตได้ 30 ล้านชิ้นก็ไม่มีทางพอ พอหน้ากากไม่พอ คุณก็แก้ปัญหาแบบไม่เข้าใจกลไกตลาด ใช้วิธีการเดิมๆ คือตั้งเพดานราคา ห้ามขายเกินเท่านี้ ห้ามส่งออก แต่ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการ คุณขายได้ราคาแพง แล้วมีคนจะซื้อด้วย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือตลาดมืด แล้วมันจะเลวร้ายกว่านั้น ถ้าคนที่จะเป็นกลไกในการแจกจ่ายของกลายเป็นพ่อค้าในตลาดมืดเสียเอง

วิธีการเริ่มแรกที่ถูกต้องน่าจะใช้โมเดลแบบสิงคโปร์ คือนำหน้ากากที่มีในประเทศมาให้ทหารแพ็กใหม่ ใส่ซองพลาสติกแยก เขียนที่ซองให้ชัดเจนว่า ถ้ายังไม่ป่วยไม่ต้องใช้ ให้เก็บเอาไว้ แต่ถ้าเจอคนป่วยให้นำหน้ากากให้คนป่วยใส่ หรือถ้ารู้สึกไม่สบาย ให้ใส่หน้ากากแล้วรีบไปโรงพยาบาล ถ้าทุกคนมีข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ว่าต้องทำอะไรยังไง เป็นแบบนี้คนก็ไม่แตกตื่นแล้ว แต่เราไม่ได้เลือกทำแบบนั้น หลายเหตุการณ์ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เป็นขาลง ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในความมีภาวะผู้นำของผู้บริหาร และจะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา

เศรษฐกิจจะดี ถ้าทุกคนพร้อมจับจ่าย ซึ่งคนจะพร้อมจับจ่ายเมื่อเขามีศรัทธา และคาดการณ์ว่าในอนาคตเขายังมีงานทำ การอยู่ในมือของคนที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ แต่พอเกิดวิกฤตศรัทธา ต่อให้คุณกำเงินไปใส่มือ เขาก็ไม่ใช้

ในนาทีนี้ เราเห็นการบริหารจัดการที่มีข้อผิดพลาดไปแล้ว เห็นไหมว่าประเทศอื่นเริ่มจากการยอมรับ ขอโทษในสิ่งที่ผิดพลาด และไม่ทำซ้ำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยคือ ทั้งเครื่องฟอกอากาศหรือหน้ากากอนามัยถูกเก็งกำไร จริงๆ ก็เป็นมาตั้งแต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เมื่อสองปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ ทั้งที่เรามีหน่วยงานดูแลเรื่องพวกนี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ และสิ่งที่แสดงออกมา เช่น บุคลากรทางการแพทย์ไม่มีหน้ากากเพียงพอ ก็ก่อให้เกิดปัญหาอย่างอื่นอีก

ลักษณะแบบนี้ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา ไม่เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งถ้าคุณมีภาวะผู้นำเพียงพอจริงๆ ทางออกเดียวตอนนี้คือปรับ ครม. โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักการเมือง แต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ นำคนเก่ง ดี ที่คนทั้งประเทศให้ความเคารพและศรัทธา มาทำหน้าที่ในหน่วยงานสำคัญๆ แล้วทำให้ดีที่สุด อย่างน้อยอาจจะเรียกศรัทธาคืนมาในภาวะวิกฤตได้บ้าง

 

:: ตลาดใหม่ที่น่าจับตา ::

 

ปิติ ศรีแสงนาม

 

หลังจากวิกฤตครั้งนี้ ห่วงโซ่อุปทานในโลกจะกลายเป็น 2 ห่วงโซ่ ถ้าคุณพึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้ ก็ต้องหันไปหาตลาดจีน หรือ sourcing วัตถุดิบในเอเชีย

ในมุมการท่องเที่ยว เราพบว่าจากนักท่องเที่ยว 4 คน จะเป็นคนจีน 1 คน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก ส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นอันดับสองรองจากจีนคือมาเลเซีย เข้ามาปีหนึ่งเกือบ 5 ล้านคน อัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 4-5% แต่ตลาดเบอร์สามที่น่าสนใจมาก คือ อินเดียและเอเชียใต้ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยปีที่แล้วเกือบ 2 ล้านคน แต่อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 24% เพราะฉะนั้น เราก็ไป sourcing นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ และพาเขาเข้าประเทศมา เพราะแรงงานและ GDP กว่า 20% ของเรายังอยู่กับการท่องเที่ยว และเรายังมีวัตถุดิบทางการท่องเที่ยวหลายอย่างที่ขายได้ แล้วทำไมเราจะไม่ขาย แค่นำลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาเพื่อลดความเสี่ยง

เราบอกว่าจีนไม่มาเที่ยว ส่วนยุโรปอัตราการขยายตัวก็ติดลบมาต่อเนื่อง ถ้าตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียและเอเชียใต้มีอัตราการเจริญเติบโตสูง เราก็ควรจะไป

สิ่งสำคัญหนึ่ง คือ เราต้องรู้ให้ได้ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการอะไรเมื่อเขามาเที่ยวเมืองไทย คีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้เขาเลือกมาไทยคือความปลอดภัย คนไทยอาจจะงงว่าเมืองไทยปลอดภัยเหรอ แต่คนอินเดียถือว่าที่นี่ปลอดภัยมาก ความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงแค่ในแง่การเดินทางหรือคมนาคม แต่ในแง่ว่าคุณมาไทยแล้วกินอาหารข้างถนนได้ อร่อยและปลอดภัย ไปเดินเล่นตอนกลางคืนได้ แต่หลายเมืองในอินเดียเดินเล่นตอนกลางคืนไม่ได้ คือความปลอดภัยจากอาชญากรรม จากมิจฉาชีพ เรื่องพวกนี้คือสิ่งที่ทำให้เขามาไทย เพราะด้วยราคาที่เขาจ่าย ความปลอดภัยมันสูงกว่าทุกที่ในราคาเดียวกัน

 

:: โครงสร้างเศรษฐกิจที่ดีควรเป็นแบบไหน? ::

 

ปิติ ศรีแสงนาม

 

โครงสร้างเศรษฐกิจที่ดีและที่หลายประเทศพยายามทำคือ พยายามพึ่งพาตลาดภายในประเทศ เช่น กรณีประเทศจีนที่เปิดประเทศในปี 1990 และเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 ตอนนั้นเขาพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดร่ำรวย คือ สหรัฐฯ กับยุโรป เป็นหลัก การส่งออกในหนึ่งปีคิดเป็นราว 80-90% ของ GDP เศรษฐกิจก็ขยายตัวเกิน 10% ต่อเนื่องมาโดยตลอด

แต่พอสหรัฐฯ กับยุโรปเจอวิกฤตสินเชื่อซับไพร์ม (subprime) เข้าไป กำลังซื้อก็ตก เศรษฐกิจจีนเลยถอยตาม จีนจึงต้องปฏิรูปเพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพาการส่งออกลง และทำให้สัดส่วนการบริโภคในประเทศสูงเกินกว่า 60% ของ GDP ซึ่งตอนนี้จีนทำสำเร็จแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาเกิดวิกฤตนอกประเทศ เศรษฐกิจจีนที่มีคนจีนกินกันเองใช้กันเองในประเทศกว่า 60% ก็ยังขับเคลื่อนไปได้ และถ้าดูประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD ก็ล้วนพึ่งพาตลาดในประเทศ 60% ขึ้นไปทั้งนั้น

คำถามคือ แล้วจะทำให้ตลาดในประเทศโตอย่างไร ซึ่งถ้าจะทำได้ เราต้องทำทั้งฝั่งอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ฝั่งอุปสงค์คือทำให้คนทั้งประเทศรวย พอรวยพวกเขาก็จะใช้จ่ายเยอะขึ้น แต่จะดูแค่ฝั่งอุปสงค์ไม่ได้ เพราะพอคนเริ่มร่ำรวยก็จะเริ่มซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศก่อน จึงต้องแก้ด้านอุปทานด้วย เช่น จีนแก้ปัญหาโดยทำให้สินค้าของจีนกลายเป็นสินค้า hi-end มีคุณภาพสูง คนจีนที่รวยก็จะกินใช้ของจีน เศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศก็จะสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ การกระจายการส่งออกก็จำเป็นอยู่ แต่ต้องกระจายไปหลายๆ ตลาดให้มากยิ่งขึ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save