fbpx
อนาคตเมือง เมือง (ไร้) อนาคต กับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อนาคตเมือง เมือง (ไร้) อนาคต กับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เนื้อหาบางส่วนจากรายการ 101 One-on-One ปิดท้ายซีรีส์ ‘Bangkok-บางคอก’ ด้วยการคุยเรื่องเมืองอย่างถึงแก่น เพื่อตอบคำถามว่า ภายใต้โครงสร้างและข้อจำกัดของเมืองในประเทศไทย อะไรคือความท้าทายที่แท้จริงกันแน่

รับชมรายการ

:: เมืองคือความสัมพันธ์ ::

ความสำคัญของวิชา ‘การเมืองนคร’ (Urban Politics) คือการสอนว่าอำนาจในเมืองทำงานอย่างไร นโยบายต่างๆ มีผลกับเราอย่างไร เมืองเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งทางอำนาจ เป็นพื้นที่แห่งผลประโยชน์ และเป็นพื้นที่ที่สามารถร่วมมือกันได้ เวลาสร้างโครงการหนึ่ง เปลี่ยนอิฐก้อนหนึ่ง เปลี่ยนฟุตบาธเป็นแบบหนึ่งทำให้คนกลุ่มหนึ่งหายไปและคนกลุ่มหนึ่งยังอยู่ชีวิตที่ดีของคุณทำให้ชีวิตของใครไม่ดีบ้าง หรือชีวิตคนอื่นดีแล้วชีวิตในเมืองคุณดีขึ้นไหม หรือมันพัฒนาจนคุณไม่มีที่จะอยู่

คุณสร้างกันแต่คอนโดฯ และคอนโดฯ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะไม่มีร้านอาหาร ต้องพึ่งพาอาหารที่มีในซอย ตลาดสดก็อาจจะหายไป ต้องมาแย่งกันกิน ความมั่นคงทางอาหารของชีวิตในเมืองลดลง แถวสุขุมวิทไฮโซขนาดไหนก็ต้องมายืนรอรถเข็นไก่ปิ้งขายหน้าบ้าน อย่าเพิ่งคิดว่าคอนโดฯ คือชีวิตหรูที่สุด แต่ต้องคิดว่าคอนโดฯ เหมาะกับอะไร มันเยอะเกินไปหรือเปล่า

ก่อนที่จะช้อปปิ้งโครงการต่างๆ ต้องคิดว่าจะทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างไร มันแฟร์ไหมที่คุณจะมีความสุขโดยที่คนอื่นไม่ไหว คำหรูๆ แบบ City for All ต้องถามว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่มีแต่คำหรูที่ทำให้เราเริ่มมองไม่เห็นคนอื่น คุณจะมีความหรูหราโดยไม่มีคนขับเคลื่อนเมืองได้อย่างไร

:: เมืองที่ดีคือเมืองที่เคารพคนหลากหลาย ::

ผมไม่ตั้งคำถามว่าเมืองไหนดีที่สุด เวลาดูเมืองอื่นต้องตั้งคำถามว่าเมืองนั้นเคารพคนในเมืองที่หลากหลายอย่างไร ก่อนจะบอกว่าอยากได้คลองหรือสวนสาธารณะแบบนี้ไว้ในบ้านเราจังเลย ไทยก็ทำได้ แต่ทำแล้วคนที่เคยอยู่ตรงสวนสวยๆ หายไปไหนหมดล่ะ แล้วเมืองที่ดีเป็นเพราะออกแบบดีหรือเพราะคนเขามีค่าครองชีพพอที่จะอยู่ในเมืองนั้นและสามารถจะเอนจอยการเดินหรือการขี่จักรยานได้

ฉันอยากได้สวนสาธารณะ แล้วคนที่อยู่เดิมจะอยู่ตรงไหน ในทางกลับกันคุณต้องการคนเหล่านี้มาทำงานในเมือง แต่คุณไม่ให้สิทธิเขาที่จะอยู่ในเมือง พี่ๆ ที่ทำงานผมออกจากบ้านแถวปทุมฯ ตี 4-5 นั่งรถสวัสดิการเข้ามาทำงานเปิดปิดห้องให้เด็กเรียน 4 โมงเย็นก็อยากปิดห้องเร็ว เพราะบ้านเขาไกล รถมันติด หรือเรื่องหาบเร่แผงลอย เราอยากได้เมืองสวย แต่ไม่มีอะไรจะกิน คนที่ปลูกคอนโดฯ รับผิดชอบเรื่องการหายไปของพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารแค่ไหน มันเชื่อมโยงกันไปหมด

:: ผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่น ::

ผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่น ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนาและควบคุมการพัฒนา ผังเมืองในไทยต้องเป็นหลักเมืองด้วย คุณต้องรู้สึกว่ามันปกป้องคุณได้ และต้องมีผังเขตว่าเขตนี้ทำอะไรได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่ว่าตากผ้าอยู่แล้วอีกวันหนึ่งมีคอนโดฯ 50 ชั้นขึ้นข้างบ้าน แล้วรถติดจากปากซอยมาถึงหน้าบ้าน การพูดเรื่องกำหนดพื้นที่สีเขียวในผังเมืองแค่นั้นไม่พอ มันต้องปกป้องเราด้วย

การทำผังเมืองต้องคิดว่ามันจะทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นไหมและทำให้คุณภาพชีวิตคนอื่นเดือดร้อนไหม เราอยู่ในเมืองไม่ได้ถ้าคนอื่นไม่ช่วยเรา พรุ่งนี้คนขับรถเมล์ คนขับมอเตอร์ไซค์ ไม่มีที่อยู่ในเมือง เพราะเมืองคุณไฮโซมากเลย มีคอนโดฯ มีรถไฟฟ้า แต่คุณจะหาอะไรกินล่ะ

ในมุมของรัฐ ผังเมืองมีไว้เพื่อทิศทางการพัฒนา ในมุมของประชาชนต้องดูว่ามันปกป้องเราได้ไหม ไม่ใช่ว่าผังเมืองมีไว้เพื่อไล่คนออกจากเมือง

:: กรุงเทพฯ เมืองน่าเที่ยว ::

เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีทุนเชิงสัญลักษณ์ มีภาพลักษณ์ของประเทศที่ต้องแบกไว้ ย่านเก่าก็ถูกจินตนาการให้เป็นพื้นที่ทำการแสดงของวัฒนธรรมขนาดใหญ่ จินตนาการอยากให้เมืองชั้นในของกรุงเทพฯ เปรียบเสมือน theme park เหมือนสวนสนุกเชิงวัฒนธรรมขนาดใหญ่ คนรู้สึกว่านี่คือแหล่งที่ฉันภูมิใจ

คุณอยากมีเมืองที่เป็นความฝันว่าจะต้อง สว่าง สะอาด สงบ สวย ดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เก่าของเมือง แต่ในทางหนึ่งคุณทิ้งข้าวสารไม่ได้ ก็ให้มันอยู่ในรูนั้น แต่ที่เหลือล่ะ ป้อมมหากาฬสุดท้ายก็ต้องไป ทุกวันนี้ตรงนั้นเหลือส้วมอันเดียวตั้งอยู่กลางสวนสาธารณะ การมีสวนสาธารณะต้องตั้งคำถามว่ามัน ‘สาธารณะ’ ยังไง เมืองแบบที่เราต้องการคือ เมืองน่าอยู่ หรือ เมืองน่าเที่ยว เมืองน่าเที่ยวมันตื่นเต้น ไปแล้วต้องผจญภัยก็ชอบ แต่ไม่อยากอยู่ 

:: Rights to the city สิทธิของคนที่จะอยู่ในเมือง ::

เวลาจะทำอะไรในเมืองต้องระวังว่าจะกระทบใคร คำว่า Rights to the city ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเป็นเจ้าของที่ดินหรือมีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองนั้นจึงจะมีสิทธิ ผมเป็นคนอีสานมาอยู่กรุงเทพฯ ผมควรจะโหวตที่ไหน ผมหากินที่นี่แล้วยังไม่มีบ้านเลย ข้อมูลรัฐบอกว่าเขตนี้มีประชากรเท่านี้ แล้วมีประชากรแฝงเท่าไหร่ หรือการพูดว่าคนบุกรุกที่รัฐไม่มีโฉนดไล่เขาไปเหอะ ผมไม่ได้บอกว่าเขาต้องอยู่เลย แต่ในทางหนึ่งเขามาสร้างประโยชน์ในเมือง เข็นของขายให้คุณกิน แล้วเราจะต่อรองกันยังไง จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร จะเคารพการอยู่อาศัยของเขามากน้อยแค่ไหน

เมื่อเขาสร้างประโยชน์ให้เมืองก็ควรมีสิทธิในเมืองไหม หรืออยากล้างอาหารริมถนนให้หมด แต่คนทำมาหากินอยู่และเป็นจุดขายในโลก กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวที่สุดแต่ไม่ใช่เมืองน่าอยู่ เพราะมันมีแต่ความตื่นเต้นผจญภัย

คุณต้องการแรงงาน แต่เขาไม่มีสิทธิในเมือง หรือต้องอยู่ตามรูที่ล้อมรอบด้วยคอนโดฯ บางชุมชนเห็นแล้วสกปรกคุณไม่อยากให้เขาอยู่ แต่คนพวกนั้นเป็นคนที่มารับจ้างซักผ้า ทำความสะอาดในบ้านของคุณ เมืองไทยไม่มีการพูดถึง Affordable Housing น้อยมากที่จะพูดถึงสิทธิของคนที่จะอยู่ในเมือง ในโลกมีการเคลื่อนไหวเรื่อง Rights to the City มา 50 ปีแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน รัฐต้องจัดหาที่อยู่อาศัยให้คนอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่บ้านมั่นคงหรือบ้านเอื้ออาทรที่ยังน้อยมาก

:: ทำยังไงให้กระรอกวิ่งได้ทั้งเมือง ::

อย่าเข้าใจเมืองในฐานะวัตถุ ให้เข้าใจในฐานะความสัมพันธ์ นอกจากใช้สายตาและหัวแล้ว ต้องใช้หัวใจด้วย ไม่ใช่วาดเมืองมาสวย แต่ไม่คิดว่าทำอย่างนี้แล้วเราโดนบ้างจะเป็นอย่างไร ทุกคนที่อยู่รอบตัวสัมพันธ์กับเรา หาบเร่แผงลอยไม่ใช่ไล่อย่างเดียว ต้องจัดที่ให้เขา ใช้ใจคิดหน่อย

ทำสวนสาธารณะบ้านเราก็ต้องคิด ไม่ใช่มีสนามแล้วมีส้วมอยู่ตรงกลาง ต้องมีน้ำเยอะๆ ต้องมีกิจกรรมหรือเปล่า อาจารย์ท่านหนึ่งพูดว่า ถ้าจะสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่าคิดว่าจะมีจุดเล็กจุดน้อยเหมือนผังเมือง ต้องคิดว่ากระรอกตัวหนึ่งมันวิ่งยังไง แล้วทำให้กระรอกวิ่งไปทั้งเมืองได้ไหม หมายความว่าพื้นที่เชื่อมต่อกันหมด ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าจะมีสัดส่วนพื้นทีสีเขียวต่อตึกเท่าไหร่ ถ้าคิดจะทำให้กระรอกวิ่งได้ทั้งเมืองจะทำให้คุณเลิกพูดถึงสวนสาธารณะแต่ต้องพูดถึงระบบนิเวศเมือง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save