fbpx

‘เจ็บแต่ไม่จบ’ สนทนาวิกฤตประเทศไทย กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ช่วงเวลาที่คนไทยต่างทรมานจากวิกฤต สถานการณ์โควิดยังมองไม่เห็นปลายทาง ทั้งยังห้อมล้อมด้วยบรรยากาศการเมืองที่ปะทุร้อนแรง ประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร การบริหารจัดการแบบไหนที่จะจบความทุกข์ยากของประชาชน

จากบ้านเมืองที่ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ถึงเสียงดังก้องของประชาชนบนท้องถนน 101 ชวน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล สนทนาว่าด้วยวิกฤตโรคระบาดและการเมืองไทย

:: ถอดสลักปัญหาแรกผ่านกลไกรัฐสภา ::

เราต้องการใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาวิกฤตและลดความขัดแย้งของบ้านเมือง ปกติเราจะเห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ด้วยวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณสุขแสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดสมรรถภาพในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นสลักตัวแรกที่จะต้องถอดออกคือ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดไว้ว่าประยุทธ์เป็นแค่อิฐก้อนหนึ่ง เมื่อถอดออกไปยังมีปัญหาอีกมากมายที่อยู่ข้างหลังระบอบประยุทธ์อีกที แต่สเต็ปแรกคือต้องถอดสลักแรกผ่านกลไกทางรัฐสภา นั่นคือสาเหตุที่เราอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงนี้

การอภิปรายครั้งนี้สอดคล้องกับบรรยากาศที่คับแค้นใจของประชาชน ทุกวันนี้เรามีคนส่งข้อมูลเข้ามาหาจำนวนมากเพื่อให้ใช้ในการอภิปราย ซึ่งการอภิปรายครั้งนี้มีความคาดหวังมาก เป็นการอภิปรายที่น่าจับตามอง

เรื่องข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ตอนนี้เรามีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันน้อยลง แทนที่จะพูดคุยกันได้ก็กลายเป็นว่าเราต้องตะโกน เพราะอีกฝ่ายเลือกที่จะยิงแก๊สน้ำตา รัฐกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ถ้าจะให้สรุปสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยในตอนนี้  อาจกล่าวได้ว่าการเมืองกลายเป็นความปกติใหม่ในฉันทมติเก่า (new normal in old consensus) มีคนกลุ่มหนึ่งต้องการที่จะไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่มีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่ถูกกดขี่มานานต้องการสิทธิเสรีภาพในการพูดและวิจารณ์  มีการตั้งคำถามให้พูดคุยกันได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับ 

มีวิสัยทัศน์สองชุดในประเทศไทย ชุดหนึ่งต้องการดึงประเทศกลับไปสู่อดีต อีกชุดหนึ่งกำลังห่วงอนาคตของเขา เป็นวิสัยทัศน์สองชุดที่ไม่สามารถหาจุดตรงกลางมาหลอมให้เป็นสังคมเดียวกัน ทำให้เกิดความรุนแรง ในการชุมนุมที่ผ่านมาตำรวจควบคุมฝูงชนกลายเป็นคู่ขัดแย้ง ต้องการที่จะควบคุมตั้งแต่ยังไม่เกิดการชุมนุม ซึ่งไม่ตรงตามมาตรฐานสากล ทำให้กลายเป็นรัฐตำรวจ (police state) หรือ police brutality เหมือนที่ในอเมริกาใช้กับตอนประท้วง Black Live Matters โดยรัฐบาลเห็นประชาชนเป็นศัตรูและใช้ไม้แข็งในการปราบตลอดเวลา

ถ้ามองภาพใหญ่จะพบว่า ฉันทมติใหม่ในฉันทมติเก่าเกิดขึ้นได้ในทุกสังคมและทุกสมัย ตอนนี้ยังไม่สายที่จะมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อคุยกันว่าคนรุ่นใหม่คิดยังไงกับงบประมาณและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล พอสองฝั่งไม่สามารถพูดคุยกันได้ก็ทำให้เกิดวิกฤตอย่างนี้ต่อมา 

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีพัฒนาการของทั้งสองฝ่าย พรรคก้าวไกลก็ยื่นให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ควบคู่กับมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการพูด เริ่มมีการตั้งคำถามอย่างมีวุฒิภาวะมากขึ้น ในขณะที่อีกฝั่งต้องการที่จะปราบและสั่งสอนให้หยุดตั้งคำถาม ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่เกิดพื้นที่ที่ทำให้ประเทศไทยพร้อมก้าวไปสู่ข้างหน้าด้วยการพูดคุยกัน เราไม่อยากให้เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ข้อเสนอในการหาทางออกท่ามกลางสภาวะการเมืองแบบนี้คือการพูดคุยและอภิปรายอย่างมีวุฒิภาวะผ่านรัฐสภา นี่คือการต่อต้านข่าวปลอมที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ พอมาเป็นกรรมาธิการงบประมาณ พบว่าเมื่อเอางบประมาณย้อนหลังตั้งแต่สิบปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้จะเห็นว่าการซื้ออาวุธร้ายแรงของตำรวจมากกว่าขึ้นกว่าเดิม 6 เท่า สะท้อนว่าไม่ใช่แค่เรื่องความเห็นต่างของแต่ละฝ่าย แต่เป็นการทำให้ตำรวจเป็นทหาร (militarization of police) และมีการหากินจากการลงโทษประชาชน (profit from punishment) ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่ามีใครได้ใครเสียจากการสะสมอาวุธ 

:: ยิ่งห้าม ยิ่งทำให้อยู่ร่วมกันไม่ได้ ::

การประเมินผลงานพรรคในการพูดเรื่องแหลมคมในรัฐสภายังเป็นสิ่งที่ให้คะแนนยาก เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ใช้เหตุผลพูดคุยกัน ไม่ใช่เรื่องที่จะให้คะแนน เพราะถ้าคิดแบบนั้นจะทำให้เจตนารมณ์ในการพูดคุยเสียไป เราคิดว่าบนพื้นฐานในการเป็นผู้แทนราษฎรของประชาชนจำนวนมากที่มีคาดหวัง การจะทำให้สภาก้าวหน้าทันกับความคิดอ่านของคนในสังคม ถ้าสังคมไปข้างหน้าแต่สภาอยู่ข้างหลัง ก็ไม่รู้จะมีสภาไปทำไม ฉะนั้นเราต้องอภิปรายให้มีเหตุมีผลและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

เรื่อง​ watch list ที่มีการเผยแพร่ออกมา เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่คนที่มีความฝันกลับกลายเป็นภัยคุกคาม ตอนที่เห็นว่าตัวเองอยู่ในลิสต์นี้ ผมกำลังศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของวัคซีนแต่ละชนิด ผมก็ไม่รู้ว่าการกระทำแบบนี้ในฐานะผู้แทนของราษฎรกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงได้อย่างไร แต่ก็ไม่รู้สึกแปลกใจ พรรคก้าวไกลเวลาลงพื้นที่ก็จะมีรถตำรวจคอยขับตาม ผมคิดว่าสิทธิในการพูดเป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี และสิ่งที่น่าตกใจมากกว่าคือมีชื่อน้องอายุ 15 ปีอยู่ในลิสต์นั้น การเอาเยาวชนอายุ 15 ปีมาอยู่ในลิสต์ความมั่นคงของชาติสะท้อนให้เห็นว่าคุณเป็นผู้ใหญ่แบบไหนที่เห็นลูกหลานเป็นภัยความมั่นคง

วิธีที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้คือทำให้คนออกมาระบายให้ได้มากที่สุด ทั้งในแง่ของเนื้อหาและรูปแบบ มันอาจเป็นความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจในชุดความคิดของคุณ แต่การไม่ให้ระบายความรู้สึกก็เหมือนกาต้มน้ำที่ไม่มีรูระบาย ดังนั้นก็ต้องเปิดรูระบาย เปิดโอกาสรับฟัง ถ้ายิ่งปิด คนก็จะยิ่งต้องการพูด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่เพื่อนร่วมชาติไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้ ทำให้ประเทศไทยไม่มีสมาธิไปคิดเรื่องอื่น เราก็จะกลับไปคิดแต่เรื่องที่มาของ ส.ว. และไม่มีเวลามาคิดเรื่องใหม่ๆ อย่างสังคมสูงวัย ดิจิทัลดิสรัปชัน หรือการใช้หุ่นยนต์ในภาคการเกษตร ประเทศไทยก็จะไม่มีที่ยืนในเวลาโลกและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะไม่มีที่เหลืออีกต่อไป เพราะเราจะกลับมาคิดแต่เรื่องการแย่งชิงอำนาจให้คนจำนวนน้อยมีอำนาจในการกดขี่คนหมู่มาก

:: แสงที่ปลายอุโมงค์ของสาธารณสุข
และแผนการฉีดวัคซีน ::

หากทำหน้าที่เป็นรัฐบาลในตอนนี้ ต้องขอโทษที่ไม่สามารถจัดการวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอโทษที่ไม่สามารถหาชุดตรวจแอนติเจนได้เพียงพอ ขอโทษที่ไม่สามารถบริหารให้ผู้ป่วยถึงเตียงได้เร็ว ขอโทษที่ปล่อยให้พ่อแม่หรือลูกหลานต้องเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น และก็จะรับฟังให้ได้มากที่สุด

ตอนนี้ในวงการสาธารณสุขมีเคสดำขึ้นมา ความมืดแปดด้านของวิกฤตนี้ทำให้ต้องเลือกว่าจะให้ใครไปต่อ ไม่ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอิตาลีหรืออเมริกาในโควิดรอบแรก หากอ้างอิงจากข้อมูลเชิงสถิติ ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยสะสมครบหนึ่งล้านคนภายในอาทิตย์หน้าและอาจมีผู้ป่วยเสียชีวิตถึงหนึ่งหมื่นคน การบริหารแบบไหนที่ล็อกดาวน์แล้วคนติดเชื้อมากขึ้น การตรวจเชื้อน้อยลง นี่คือความหมายของคำว่า ‘เจ็บแต่ไม่จบ’ เจ็บแต่จบคือล็อกดาวน์แบบเข้มงวดแต่สั้นที่สุด ภายในระยะเวลาอันสั้นต้องตรวจปูพรมได้ แต่ประเทศไทยตอนนี้ตรวจเจออยู่ประมาณวันละสองหมื่นกว่าคน ดังนั้นความเข้มข้นมากกว่าอินเดียตอนที่พีกเสียอีก มันเลยกลายเป็นปัญหาของเคสดำที่จะทิ้งรอยแผลให้กับสังคมและเศรษฐกิจ วันนี้ยังสั่งซื้อวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพมาอีก 12 ล้านโดส  ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลเก็บข้อมูลจากหลายคลัสเตอร์ คำถามคือเมื่อคุณเก็บข้อมูลนี้ไว้แล้ว คุณทำอะไรกับข้อมูลเหล่านี้ หากเป็นผม เราจะเอาชุดตรวจแอนติเจนไปตรวจปูพรมเพื่อลดโรคระบาดให้เร็วที่สุด เพื่อให้เราได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติโดยเร็วที่สุด

เรื่องวัคซีน ตามข่าวจะมีไฟเซอร์เข้ามาอีก 20 ล้านโดสในเดือนกันยายน นั่นเท่ากับว่าเราจะมีไฟเซอร์รวมกันประมาณ 21.5 ล้านโดส เนื่องจากรัฐบาลทำพลาดเรื่องวัคซีนมาหลากหลายมิติ ดังนั้นจะผิดซ้ำไม่ได้ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญ เราต้องเห็นทั้งกระดานว่าจะฉีดให้ใครเพราะอะไร ตรงนี้มีหลายแนวทาง แนวทางแรกคือกลุ่มที่ 1. บุคลากรสาธารณสุข 2. บุคคลบอบบางที่มีโรคประจำตัว 3. คนวัยทำงาน แต่โมเดลของอินโดนีเซียจะให้ความสำคัญกับคนทำงานก่อนเพื่อให้เปิดเศรษฐกิจได้

ถ้าดูจากจำนวนวัคซีนที่ฉีดได้ในประเทศไทยจะพบว่าไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถแก้เกมได้จากการบริหารของรัฐบาล รัฐบาลต้องเรียงลำดับความสำคัญในการกระจายวัคซีนอย่างดีที่สุด ไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่ได้รับมาแล้วต้องให้บุคลากรด่านหน้าที่ทำงานในสถานพยาบาล ถ้าอยากให้บุคลากรด่านหน้ามีกำลังใจในการทำงานควรให้เขาได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์สองเข็ม ก้อนที่สองที่จะเข้ามา 20 ล้านโดสควรฉีดให้เยาวชน ถ้าคุณเปิดโรงเรียนไม่ได้ ก็เปิดเศรษฐกิจไม่ได้ พ่อแม่หลายคนต้องเจียดเวลามาดูแลลูกมากขึ้นจากเดิมเพราะเมื่อก่อนยังมีระบบการศึกษาที่รองรับเขาไว้ ตอนนี้เด็กอายุ 12-18 ปีในประเทศไทยมีจำนวนอยู่ 5.5 ล้านคน ซึ่งเพียงพอต่อจำนวนวัคซีนที่เหลือ กลุ่มที่สองคือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะคนที่ออกไปทำงานจะได้สบายใจว่าจะไม่แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว 

ถ้าทำแบบนี้เรามีโอกาสที่จะเปิดเศรษฐกิจได้ แต่ถ้าเราฉีดแบบไม่มีแผนจะทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ถ้ามีการเรียงลำดับความสำคัญ ก็จะไม่ไปกดดันระบบไอซียู จริงๆ ตอนนี้จำนวนเตียงยังพอมีที่ว่างรองรับผู้ป่วยอาการสีเขียวและอาการสีเหลือง จำนวนเตียงในระบบที่ติดลบตอนนี้คือเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการสีแดง

แผนในระยะยาวคือวัคซีน 2.0 นั่นคือการพัฒนาวัคซีนให้ต่อสู้กับโควิดที่กลายพันธุ์ได้ ตอนนี้มี 250 บริษัทกำลังศึกษาทดลองทำวัคซีนสำหรับต้านสายพันธุ์เดลต้าและมี 82 บริษัททำการทดลองกับคนแล้ว เราไม่ควรทำผิดซ้ำซากเพราะเราพลาดวัคซีน 1.0 ไปแล้ว ประเทศอื่นไปถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ในไทยยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้เข็มที่ 1 รัฐบาลต้องเดินเข้าหาและไม่ตกขบวนรถไฟเหมือนที่พลาดมา นี่คือการแก้ไขในระยะยาวเพื่อที่จะทำให้หลุดจากวงจรของวิกฤตซ้อนวิกฤต ถ้าไม่ทำแบบนี้เราอาจกลับมาสู่ความปกติได้อีกทีในปี 2570

ผมไม่เชื่อว่าเราแก้โควิดไม่ได้เพราะเรื่องงบประมาณ เพราะงบประมาณในช่วงสามปีที่ผ่านมารวมกับพ.ร.บ.เงินกู้ ทำให้ประเทศไทยมีงบประมาณเพียงพอที่จะซื้อวัคซีน ปัญหาจึงไม่ได้เกี่ยวกับงบประมาณ แต่ต้องเข้าใจว่างบประมาณไทยมีความยืดหยุ่นน้อยมาก อย่างเงิน 3 ล้านล้านบาทเอาไปแก้ปัญหาได้เพียงแค่ 30% เพราะอีก 70% คือเงินเดือนของข้าราชการ เงินอุดหนุน หรือครุภัณฑ์ที่ถูกล็อกไว้หมดแล้ว ยังมีปัญหายิบย่อยในเรื่องกฎหมายอีก งบเกี่ยวกับประชาชน เช่น งบบัตรสวัสดิการและประกันสังคมลดลง เพราะมีกฎหมายอยู่ข้อหนึ่งระบุว่างบประมาณแผ่นดินไทยจะต้องเป็นงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 20% นั่นหมายความว่ารัฐจะเอางบไปลงทุนกับการสร้างตึกหรือครุภัณฑ์มากกว่าลงทุนกับคน  

ผมจึงเสนอว่างบกลาง 1.6 หมื่นล้านบาท ควรส่งไปที่ สปสช. และประกันสังคม เพื่อช่วยเยียวยาประชาชน ผมต้องการหาช่องทางเพื่อส่งงบตรงนี้ไปถึงประชาชนมากเท่าที่จะทำได้ ให้เป็นงบของประชาชนมากกว่าจะให้เป็นงบเพื่อสิ่งของ แต่ผลโหวตก็แพ้อย่างที่เห็น

:: การเมืองแห่งความเป็นไปได้ของพรรคก้าวไกล ::

เรามีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง เพราะไม่มีความแน่นอนทางการเมือง พรรคจึงต้องเตรียมพร้อมเสมอ ถึงแม้ว่าเลือดเก่าจะออกไปจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ แต่ตอนนี้มีเลือดใหม่ๆ เข้ามาในพรรคก้าวไกลมากขึ้น และคนที่เข้าไม่ได้มาเพื่อเล่นการเมือง แต่เข้ามาเพื่อทำการเมือง พวกเขาทั้งหมดพร้อมที่จะทำให้พรรคก้าวไกลเป็นสถาบันทางการเมืองไม่ใช่แค่พรรคการเมืองชั่วคราว พวกเขาพร้อมที่จะเป็น ส.ส.เขต ที่ยึดโยงกับพื้นที่และพี่น้องประชาชน ตอนนี้เรามีคนหลากหลายสายอาชีพ อายุ และวิสัยทัศน์ร้อยรัดด้วยอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนไทยเท่าเทียมกันและไทยเท่าทันโลก พร้อมที่จะสู้ศึกเลือกตั้งเพื่อที่จะเอานโยบายไปพัฒนา 

ผมต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องระบบจัดการน้ำ ผมต้องการสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ไม่ได้กระจุกแค่ในกรุงเทพมหานคร เพราะถ้าเศรษฐกิจ 40% ของประเทศอยู่แค่ในเมืองหลวง และหากเมืองหลวงปิด ก็เหมือนขาซ้ายเป็นอัมพาต แต่ผมจะไม่สามารถทำแบบนั้นได้ถ้าไม่ชนะเลือกตั้ง และผมจะชนะเลือกตั้งไม่ได้ ถ้าไม่มีความพร้อมที่จะส่ง ส.ส.เขต มาทำการเมืองแบบใหม่ แบบที่ไม่ได้ซื้อของให้ประชาชนแบบในระบบอุปถัมภ์หรือการเมืองแบบเก่า เพราะเราต้องการที่จะทำงานแทนการซื้อของให้ประชาชน ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงทางความคิด

ปัญหาอย่างเรื่องเหมือง ชาติพันธุ์ น้ำ ระบบสาธารณสุข PM2.5 นิคมอุตสาหกรรม สามารถแก้ได้และมีค่ามากกว่าซื้อของไปบริจาคเล็กๆ น้อยๆ เพราะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เราพร้อมจะนำเสนอการเมืองแห่งความเป็นไปได้ (politics of possibility) เพราะเชื่อว่าปัญหาสามารถแก้ได้ด้วยสิ่งที่ประเทศไทยมี

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save