ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง
ในโลกยุคใหม่ อันมีเป้าหมายของการศึกษา คือการสร้างผู้เรียนที่มีทักษะการใช้ชีวิต คิดแก้ปัญหา และสร้างสรรค์นวัตกรรมแก่สังคม แนวคิดการจัดการศึกษาแบบสะเต็ม (STEM) หรือ การศึกษาที่บูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ คือหนึ่งในแนวคิดที่ได้รับความนิยมระดับโลก เพราะเชื่อกันว่า การเรียนการสอนแบบสะเต็ม ซึ่งเน้นการประยุกต์ความรู้ทั้งสี่ด้านมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง ไม่ได้เน้นการจดจำทฤษฎี จะช่วยสร้างนักคิด และนวัตกรหน้าใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการเรียนการสอนแบบสะเต็มในประเทศไทยยังคงเต็มไปด้วยโจทย์ท้าทาย ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ทรัพยากรด้านการศึกษาไม่เพียงพอ ขาดรายวิชาความรู้บางอย่างที่จำเป็นต่อการเรียนแบบสะเต็มในโรงเรียน รวมถึงมายาคติที่ว่าเด็กเก่งควรเรียนวิทย์-คณิตอย่างเข้มข้น
เราจะเติมเต็มการศึกษาไทยให้มีคุณภาพด้วยสะเต็มศึกษาได้อย่างไร? 101 คุยกับศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และผู้ทำโครงการการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านสะเต็มศึกษาของเด็กไทยเพื่อให้ก้าวไกลทันยุคประเทศไทย 4.0 เพื่อค้นหาคำตอบ พร้อมมองอนาคตการศึกษาและสังคมตลาดแรงงานไทย
ทักษะด้านสะเต็มประกอบด้วยอะไรบ้าง และคนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบสะเต็มว่าอย่างไร
คำว่า สะเต็ม STEM ย่อมาจากตัวอักษะในสาขาวิชา 4 วิชา ได้แก่ S = Science วิทยาศาสตร์ T = Technology เทคโนโลยี E = Engineering วิศวกรรมศาสตร์ และ M = Mathematics คณิตศาสตร์ ถูกพัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation : NSF) ซึ่งพยายามล้อไปกับความหมายในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ‘ต้นกำเนิด’ เพราะเขามองว่า ความรู้ทั้ง 4 ด้านนี้เป็นต้นกำเนิดของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ
อย่างไรก็ตาม NSF ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการศึกษาแบบสะเต็มควรมีการเรียนการสอนแบบใด หรือให้นิยามที่ชัดเจนว่าสะเต็มนี้ควรมีความหมายเฉพาะอย่างไร เพียงชี้ให้เห็นถึงสาขาวิชาที่มีความสำคัญในโลกยุคใหม่เท่านั้น ทำให้มีนักคิด นักการศึกษาหลายสำนักพยายามตีความว่า สะเต็มนั้นควรจะเรียนกันอย่างไร จึงจะนับว่าเป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมได้จริง และเป็นสาเหตุที่นำมาสู่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสะเต็มศึกษาว่าต้องเป็นการเรียนการสอนที่เน้น ‘วิชาการ’ หนักๆ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เพื่อไปแข่งขัน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่
ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ สะเต็มศึกษาเป็นการเรียนวิชาเหล่านี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง เป็นการเรียนตรรกะแนวคิดพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การทำงาน และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม คำว่า ประยุกต์ หมายความว่า เป็นการผสมผสานทักษะทั้ง 4 ด้าน ตั้งแต่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ คิดตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จะมีวิธีแก้ไขปัญหาแบบไหนบ้าง หลังจากนั้นทำการทดลอง ใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์พัฒนาแบบจำลอง โมเดลต่างๆ ที่เป็นไปได้ โดยพึ่งพาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอีกทาง
การเรียนสะเต็มศึกษาจึงเป็นการเรียนการสอนแบบ project-based หรือเน้นลงมือปฏิบัติผ่านการทำโครงการ ซึ่งการเรียนผ่านโครงการดังกล่าวย่อมต้องมีทักษะอื่นๆ ด้วย เช่น การทำงานเป็นทีม การติดต่อสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์สำหรับการนำเสนอ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายสำนักคิดจึงเปลี่ยนจากคำว่า สะเต็ม STEM ไปเป็นคำว่า สะตีม STEAM โดยเพิ่มตัว A แทนคำว่า Art แปลว่าการเรียนต้องเติมความคิดสร้างสรรค์ การเข้าใจบริบทสังคม และเชื่อมโยงไปสู่สายศิลปศาสตร์มากขึ้น
อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าสะเต็มศึกษาจะเข้ามาตอบโจทย์อาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่สายวิทย์ หรือวิศวกรเพียงอย่างเดียว
ความเข้าใจผิดอีกเรื่อง คือ คนที่เรียนสะเต็มจำเป็นต้องจบไปทำอาชีพเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือเป็นวิศวกร ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นความคิดที่น่ากลัว เพราะในความเป็นจริง คนที่เรียนสาขาเหล่านี้ จบไปเปลี่ยนงานทำอาชีพสายอื่นกันเยอะ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ที่จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น ถ้าเราตั้งโจทย์แบบนี้จะน่ากลัว เพราะดูเหมือนว่าสะเต็มศึกษาเป็นการสอนแบบที่อาจทำให้คนตกงาน
แต่ถ้าเราตั้งต้นด้วยการเรียนแบบใช้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี มาบูรณาการ แก้ไขโจทย์ในการทำงาน จะพบว่า สุดท้าย การศึกษาแบบสะเต็ม คือการส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะที่เรียกว่า 4C คือ การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) การทำงานร่วมกัน (Collaboration) การติดต่อสื่อสาร (Communication) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
ในโลกการทำงานจริง ไม่ว่าสาขาอาชีพใด จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีทักษะเหล่านี้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น การเรียนแพทย์ที่แต่เดิมอาจถูกมองว่าควรเรียนแค่วิชาทางการแพทย์เท่านั้น แต่เมื่อมองการทำงานจริง แพทย์ต้องใช้ทักษะการสื่อสาร และทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal skill) ในการติดต่อกับคนไข้ด้วย หรือในกรณีของวิศวกรที่มักเข้าใจว่าควรเรียนเฉพาะวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่างเดียว แต่ในการทำงานจริงวิศวกรกลับต้องพึ่งพาทักษะในการบริการจัดการทีม (Team Management) และการทำงานเป็นทีมเสียส่วนใหญ่
อาชีพยอดฮิตในปัจจุบันอย่าง นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ซึ่งมีทักษะด้านคอมพิวเตอร์และสถิติ สุดท้ายก็ยังต้องเติมทักษะด้านสังคม ทักษะด้านการตลาดเพื่อเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค หรือคณะที่เป็นสายสังคมอย่าง ครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปสู่การเรียนผ่าน EduTech มากขึ้น เช่น จัดการเรียนออนไลน์ คอร์สอบรมแบบต่างๆ ดังนั้น ครูเองก็ต้องรู้เรื่องเทคโนโลยี ส่วนสายศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยเช่นกัน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโลกในปัจจุบัน รวมถึงโลกอนาคต จำเป็นต้องใช้ทักษะแบบบูรณาการระหว่างสายวิทย์กับสายศิลป์เข้าด้วยกัน ซึ่งการเรียนแบบสะเต็มไม่ใช่การทำลายทักษะด้านใดด้านหนึ่ง แต่แล้วแต่ว่าผู้เรียนจะเน้นหนักไปทางใดเป็นพิเศษ มันจึงเป็นการเรียนที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกสาขาวิชาชีพ
ในสังคมที่เราอาจยังมีมายาคติว่า เด็กเก่งควรเรียนหรือประกอบอาชีพที่ใช้ความรู้ด้านวิทย์-คณิตเป็นหลัก เมื่อเราจะนำแนวคิดการเรียนการสอนแบบสะเต็มเข้ามาใช้ มันจะเข้ามาตอกย้ำความเชื่อเรื่องความสำคัญของวิทย์-คณิตหรือไม่ หรือมันจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไร
การแบ่งสายการเรียนเป็นสายวิทย์-สายศิลป์ในโลกปัจจุบันนั้นเป็นแนวความคิดที่ผิดมากๆ เพราะมันตอกย้ำว่าเด็กเก่งคือเด็กที่เรียนวิทย์กับเลขเก่งเท่านั้น ถ้าเรียนสองวิชานี้ไม่เก่งก็ควรไปเรียนสายศิลป์ ซึ่งในความเป็นจริง การเรียนควรบูรณาการวิชาสายวิทย์และศิลป์เข้าด้วยกัน
ยกตัวอย่างผมเอง เป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ฟังดูเหมือนต้องเก่งด้านการคำนวณ คณิตศาสตร์ และการทำงานจริงผมต้องใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เยอะมาก ดังนั้น หลายคนอาจคิดว่าต้องจบจากสายวิทย์-คณิต แต่ ความจริงแล้วผมเรียนจบจากสายศิลป์-คำนวณ ดังนั้น ผมจึงแย้งในความคิดนี้ เพราะมันเป็นการวัดคุณค่าของคนที่ผิด และเป็นการบั่นทอนคนที่มีความสามารถ
กระทั่งการแบ่งระบบเป็นห้องคิง หรือห้อง Gift ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะการบูรณาการการศึกษา หมายถึงการที่เราต้องอยู่ร่วมกับคนที่มีทักษะหลากหลาย มีทั้งคนหัวศิลป์มากๆ และหัววิทย์มากๆ ปะปนกันไป การทิ้งอีกสายหนึ่งเพื่อมาเน้นเพียงสายหนึ่ง หรือทิ้งคนกลุ่มหนึ่ง มาอยู่ร่วมแต่กับคนประเภทเดียวกัน ค่อนข้างผิดจากสภาพความเป็นจริง นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การศึกษายังไม่ตอบโจทย์โลกการทำงานจริง
ในแง่นี้ การเรียนแบบสะเต็มศึกษา ผ่านการทำโครงการจะช่วยดึงศักยภาพของคนแต่ละประเภทออกมาให้เห็น ‘ความเก่ง’ ที่แตกต่างกันมากขึ้น เช่น ครูอาจให้โจทย์มาผลิตหุ่นยนต์ ซึ่งการผลิตต้องใช้ศาสตร์หลากหลายมาก ในทีมต้องมีคนที่เก่งด้าน coding ด้านศิลปะเพื่อต่อหุ่นยนต์ ต้องมีคนที่เก่งการบริหารจัดการ และนำเสนอผลงาน แค่โครงการทำหุ่นยนต์เรื่องเดียวก็ต้องประกอบไปด้วยทักษะเยอะมาก ดังนั้น เด็กที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งเลข ไม่เก่งวิทยาศาสตร์จะได้ผลบวกจากการเรียนแบบสะเต็ม เพราะเด็กจะมองวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เป็นความสนุกอีกแบบหนึ่ง และเห็นว่าความสามารถของตัวเองก็มีค่ากับเรื่องนี้
ยกตัวอย่างลูกสาวผม ซึ่งตอนนี้เรียนแบบสะเต็มอยู่ เขาไม่ได้เก่ง Coding แต่เก่งศิลปะ ตอนนี้เขากลับชอบวิชา Coding มากๆ เพราะเขา ‘สนุก’ ในการเรียนแบบนี้ คนที่เก่งศิลปะอย่างเขาได้รับหน้าที่ในการต่อหุ่นยนต์ นำเสนอ ทำพาวเวอร์พอยต์ การเรียนแบบนี้ทำให้เขารู้ว่าคุณค่าของตนอยู่ที่ตรงไหน ทำให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เป็นเด็กสายศิลป์ที่ทำงานกับสายวิทย์ได้โดยไม่ต้องแยกกัน
ถ้าถามเด็กที่เรียนแบบแยกวิทย์-ศิลป์ทั่วไป เด็กศิลป์คงตอบว่าไม่ชอบวิทย์ ไม่ชอบเลขแน่ๆ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง การเรียนทุกวิชาควรจะสนุกและได้เห็นคุณค่าความสามารถของตัวเองมากกว่าถูกตัดสินตีตราว่าเก่งหรือไม่เก่ง
การศึกษาในประเทศไทยตอนนี้ ยังมีเพียงหลักสูตรการสอนที่แบ่งเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และ คณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ยังไม่มีกลุ่มสาระการเรียนรู้วิศวกรรมศาสตร์ปรากฏอย่างชัดเจนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาจารย์มองว่าเราจะพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมในโรงเรียนได้อย่างไรบ้าง
อันที่จริง ถ้าดูรากศัพท์ คำว่า วิศวกรรม แปลว่าผู้สร้าง หมายถึงเป็นงานที่เน้นการสร้าง การใช้มือปฏิบัติจริง หากเราใช้หลักการแบ่งกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เดิมแบ่งตามทฤษฎีเป็นหลัก ก็อาจจะไม่เห็นภาพของวิศวกรรมศาสตร์ในการเรียนมากนัก แต่ถ้าเราใช้หลักการของสะเต็ม จะเห็นว่าหลักวิชาของวิศวกรรมศาสตร์ถูกรวมเข้าไปอยู่ในหลักสูตรอยู่แล้ว และมันไม่ได้แตกต่างจากวิชาวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์มากเท่าไรนัก
ส่วนตัวผมไม่คิดว่าจะต้องมีวิชาวิศวกรรมศาสตร์แยกออกมาอย่างชัดเจน เพราะเด็กมัธยมส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักตัวเองมากมาย ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วอยากเป็นวิศวกร หรือเป็นอะไร ช่วงมัธยมศึกษา หรือกระทั่งมหาวิทยาลัยปีต้นๆ ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้รู้จักตนเองก่อน อย่าเพิ่งรีบจัดกลุ่ม สร้างเป้าหมายอาชีพมากมาย เพราะสุดท้ายถึงจะรีบจัดไป แต่ถ้ามันไม่ใช่ เรียนจบแล้วก็เปลี่ยนสายงานกันหมด
เนื่องจากผมเรียนจบจากต่างประเทศ ก็จะเห็นตัวอย่างว่าในต่างประเทศไม่มีการแบ่งกลุ่มสาระเหมือนของไทยเรา เขาจะให้นักเรียนทุกคนเรียนทุกวิชา ไม่เน้นแยกวิทย์หรือศิลป์เป็นพิเศษ แม้จะขึ้นมหาวิทยาลัย ปี 1 ปี 2 ของเขาก็ยังเป็นช่วงที่ได้เรียนวิชาทั่วไป แล้วค่อยเลือกวิชาเฉพาะทางอีกทีตอนปี 3 ปี 4 บางประเทศอยากเรียนหมอ ก็ต้องเรียนหลังจบปี4 ไปแล้ว แบบนี้ก็มี
ทั้งนี้ ผมมองว่าถ้าอยากให้เด็กเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น โรงเรียนก็อาจจะมี After School Program หรือชมรมให้เด็กได้รู้จักตัวเองมากขึ้น มีชมรมกีฬา ชมรมวิทยาศาสตร์ ชมรมศิลปะ ใน World Economic Forum เองก็เคยเสนอว่า วิชาที่สำคัญในโลกศตวรรษที่ 21 ตอนนี้คือวิชาชมรม เพราะเป็นวิชาเดียวที่เด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจ ทั้งหมดที่ผ่านมา โรงเรียนจัดให้ทั้งหมด นี่ก็จะเป็นโอกาสหนึ่งที่นักเรียนจะได้รู้เกี่ยวกับความชอบและความสามารถของตนเอง
การเรียนการสอนแบบสะเต็มดูเหมือนจะมีการลงทุนค่อนข้างมาก ในบริบทประเทศไทย ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา หรือปัญหาขาดแคลนทรัพยากรในโรงเรียน จะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง
เรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาหลักของการจัดการศึกษาแบบสะเต็มในทุกประเทศทั่วโลก ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนได้รับการศึกษาไม่เท่ากัน และจากงานศึกษาของเราที่ทำให้กับทาง สสส. พบว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และเหลื่อมล้ำด้านพื้นที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย
ถ้าเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำ คงต้องดูรายละเอียดลึกๆ ว่ามีความเหลื่อมล้ำในด้านไหนบ้าง ซึ่งหลักๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือด้านอุปสงค์ (demand) และด้านอุปทาน (supply)
ความเหลื่อมล้ำด้านอุปสงค์ หมายถึง ครอบครัวมีฐานะยากจน รายได้ไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คงต้องใช้นโยบายด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่การศึกษาโดยตรง เช่น นโยบายการคลัง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การให้กู้ยืม
ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านอุปทาน หมายถึง โรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีทรัพยากรไม่เท่ากัน ขาดแคลนอุปกรณ์ ขาดแคลนครูผู้สอน ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าแก้ง่ายกว่าเรื่องแรกมาก เพราะเราสามารถใช้เงินแก้ได้ ถ้าบางโรงเรียนแสดงความจำนงว่าต้องการจัดการศึกษาใหม่ แต่ยังขาดแคลนงบประมาณ รัฐก็สามารถมอบเงินอุดหนุน หรือตอนนี้เรามีโรงเรียนอาชีวะ มหาวิทยาลัยที่มีอุปกรณ์แต่ขาดเด็กมาเรียน เราก็อาจสร้างระบบการเชื่อมโยงไปใช้สถานที่หรืออุปกรณ์ในมหาวิทยาลัย โรงเรียนอาชีวะเหล่านี้ในพื้นที่ได้
ส่วนการขาดแคลนครูผู้สอน เราก็อาจใช้การฝึกอบรมจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สวทช. ฝึกอบรมครูด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม หรือถ้าขาดจำนวนคนจริงๆ ก็อาจดำเนินนโยบายให้ผู้ที่จบด้านศาสตร์ด้านอื่นๆ นอกจากครุศาสตร์ ได้มีโอกาสมาทำหน้าที่ครู
หากเรามองต้นทุนการศึกษาของสะเต็ม จะพบว่า ทรัพยากรในการศึกษาด้าน STEM นี้ไม่ได้มีต้นทุนที่สูงมากจนเอื้อไม่ถึง และตรงข้ามต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ซึ่งเป็นการลงทุนในตัวอุปกรณ์เป็นสำคัญ นอกจากนั้น การเรียนการสอนจริงๆ กลับเป็นการทำเป็นโครงการโดยนำจากครูผู้สอน ไม่ได้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติมมากนัก สิ่งที่ผมมองว่าเป็นปัญหาที่แก้ยากกว่าเรื่องอื่น คือ การขาดแคลน Mindset ของครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่ต้องการปรับการเรียนการสอนเป็นแบบใหม่มากกว่า ตอนนี้ครูในประเทศไทยโดยเฉลี่ยมีอายุมาก เขาจะชินกับระบบการสอนแบบเดิมๆ และเชื่อแบบเดิมๆ การปรับ mindset จึงถือได้ว่าคงเป็นโจทย์ยากที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การศึกษาแบบสะเต็ม
มีคนกล่าวว่าการเรียนการสอนแบบสะเต็ม อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะกับคนทุกกลุ่ม อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร
ถ้าเรามองว่า สะเต็ม คือการเรียนการสอนแบบเน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีแบบที่เน้นสร้างนวัตกร นักวิทยาศาสตร์ หรือปั้นเด็กไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ คำตอบก็คือ ‘ใช่ ไม่ได้เหมาะกับทุกกลุ่ม’ แต่ถ้าเรามองว่า สะเต็ม คือรูปแบบการเรียนการสอนแบบประยุกต์ใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการทำงานและแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ คำตอบจะกลายเป็น ‘ไม่ใช่’ มันเหมาะกับคนทุกกลุ่มได้
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ แต่เขาบอกชัดเจนว่าไม่ใช่ประเทศที่เน้นสร้างนวัตกร เขาให้คนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในระดับที่เข้าใจ และเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง นี่คือการมองแบบสะเต็มศึกษา
สถานการณ์โลกปัจจุบัน ปัญหาเรื่อง Digital Disruption หุ่นยนต์เข้ามาแย่งงาน หลายๆ อาชีพต้องตกงาน หรือปัญหาโควิด-19 ทำให้เราถกเถียงกันว่า เราต้องการคนแบบไหนในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงแบบนี้กันแน่ ซึ่งในอนาคตที่มีแต่ความไม่แน่นอน เราต้องการทรัพยากรบุคคลที่ปรับตัวเก่ง ล้มได้ลุกได้ มีความยืดหยุ่น ตกงานแล้วสามารถหาลู่ทางอาชีพใหม่ๆ ให้ตัวเองได้
สะเต็มศึกษาจะช่วยสร้างคนแบบนี้ขึ้นมา ผ่านวิธีการสอนซึ่งช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความสงสัย และหาวิธีการทดลองเพื่อตอบข้อสงสัยนั้น แน่นอนว่า การทดลองกว่าจะได้ผลสำเร็จ ต้องมีการลองผิดลองถูก เรียกได้ว่าล้มเหลวมากกว่าจะประสบความสำเร็จในการทดลองด้วยซ้ำ เด็กจะถูกสอนเรื่องความล้มเหลวมาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะฉะนั้น เขาจะรู้จักปรับตัว ลุกขึ้นมาลองใหม่ มี Mindset ของการเป็นนวัตกร (Innovative People) ซึ่งมีคุณลักษณะดังนี้
- ชอบทำในสิ่งที่แตกต่างจากผู้อื่น ไม่ชอบอะไรเดิมๆ
- ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานอื่นได้ง่าย ชอบทำงานร่วมกับเพื่อนต่างหน่วยงาน เพื่อแสวงหาความคิดใหม่ๆ ที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยรับรู้
- ไม่กลัวปัญหาที่ซับซ้อน ยกตัวอย่าง โควิด-19 ถือเป็นปัญหาที่ซับซ้อน แต่เขาก็สามารถมองเห็นทางแก้ไขในหลายๆ ทาง เลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยการทำความเข้าใจ ค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา แม้จะเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา
- ไม่กลัวการแสดงความคิดเห็นใหม่ๆ ที่คนทั่วไปมองว่าเป็นความคิดหรือการกระทำที่หลุดนอกกรอบกฎเกณฑ์
สรุปแล้ว สะเต็มศึกษาที่ช่วยสร้าง mindset แบบนี้ ผมเชื่อว่าจะเหมาะกับคนทุกกลุ่มในโลกสมัยใหม่แน่นอน
ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เทรนด์การเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลถูกพูดถึงขึ้นเยอะมาก การเรียนการสอนแบบสะเต็ม สามารถปรับใช้กับการเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลเหล่านี้ได้หรือไม่ อย่างไร
ต้องยอมรับว่า สะเต็มศึกษาเป็นการเรียนการสอนที่อิงกับการทำงาน ประยุกต์ใช้ความรู้ทำโครงการร่วมกัน ฉะนั้น การที่เด็กจะได้ลงมือปฏิบัติจริงก็อาจจะต้องมาเจอหน้ากัน ร่วมมือกันทำงาน การเรียนออนไลน์ที่ไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์แบบนั้นได้มากเท่าที่ควร ก็อาจเรียกได้ว่าไม่ค่อยเหมาะกับการเรียนการสอนแบบสะเต็ม
เคยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารกล่าวไว้ว่า การเรียนรู้ของมนุษย์จะมาจาก 3 ทาง ได้แก่ การฟัง การอ่าน และ การปฏิบัติจริง โดยการฟังเป็นการเรียนรู้ที่ง่ายที่สุดและมนุษย์จะชอบมากที่สุด แต่การฟังส่งผลต่อการเรียนรู้เพียงไม่ถึงร้อยละ 10
ในขณะที่การอ่านจะส่งผลต่อการเรียนรู้ประมาณร้อยละ 30 และการลงมือทำจะทำให้เรียนรู้ได้มากถึงร้อยละ 60 ดังนั้น การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของมนุษย์จะเกิดขึ้นจากการที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง ผ่านการใช้มือ การสัมผัส และการพูดคุย เรียกได้ว่ายิ่งทำยาก ก็ยิ่งรับรู้ได้มากขึ้น ซึ่งการเรียนสะเต็มถือเป็นการปฏิบัติจริง แต่การเรียนออนไลน์เป็นเพียงการฟังบรรยายเท่านั้น ผมจึงมองว่าการเรียนออนไลน์อาจไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ในแง่นี้
ถ้าเราเรียนแบบให้โจทย์ไปทำหลังจอ อาจารย์คิดว่าพอเป็นไปได้บ้างไหม
ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของระบบการเรียนออนไลน์ และความ active ของครูผู้สอน ถ้าครูให้โจทย์ไปทำ กำหนดว่าอีก 1 อาทิตย์มาเจอกัน ผมว่าไม่ดีเท่าไร ครูควรจะ active ให้เด็กมีโอกาสได้ตั้งคำถามตลอดเวลา ถ้ามีครูคอยควบคุมดูแล เปิดห้องให้นักเรียนแต่ละคนได้พูดคุยหารือกัน ก็อาจจะยังพอทำได้
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการเรียนแบบได้มาเจอกันคงดีกว่า เพราะทำให้ได้รับหลายทักษะ เช่น การติดต่อสื่อสาร การรับรู้สีหน้าอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานในชีวิตจริง และระบบออนไลน์ยังไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ของคนได้อย่างครบถ้วนในตอนนี้
ในงานวิจัยของอาจารย์ ระบุว่าการมีทรัพย์สินอย่างคอมพิวเตอร์ หรือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต จะช่วยพัฒนาทักษะด้านสะเต็ม ได้ ในทางกลับกัน จำเป็นไหมว่าเด็กต้องมีการเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อเรียนรู้ทักษะสะเต็มได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ในภาษาทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า Sufficient but not Necessary กล่าวคือเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ไม่จำเป็น ไม่มีเสียก็ได้ การมีคอมพิวเตอร์และระบบเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตสำคัญต่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีจริง เพราะเด็กสามารถสืบค้นข้อมูล ส่งอีเมล โครงงานต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีแล้วจะถึงกับเรียนไม่ได้ อย่างการเขียน coding อันที่จริงไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ เป็นการเขียนผ่านบอร์ดเกมก็ได้
ดังนั้น การที่เด็กไม่มีอุปกรณ์ไอทีที่บ้าน ไม่ได้หมายความว่าจะเรียนรู้แบบสะเต็มไม่ได้ ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการมีอุปกรณ์ คือ ความฉลาดรู้ในการใช้เทคโนโลยี (IT Literacy) ฉลาดรู้ว่าจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ เพราะจากงานวิจัยของผมอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางด้านการใช้อุปกรณ์ไอทีและผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา พบว่า การใช้อุปกรณ์ไอทีจะประสบความสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับว่าความฉลาดรู้ในการใช้ให้ถูกทางด้วย ถ้าฉลาดรู้ใช้เพื่อการศึกษา ก็จะส่งผลบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา แต่ถ้าไม่ ใช้เพื่อการเล่นเกม ท่องโซเชียลอย่างเดียว ก็อาจทำให้ผลการศึกษาเป็นลบ
ทั้งนี้ ผมพบว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษามากกว่าอุปกรณ์ไอทีด้วยซ้ำ เช่น การสร้างทัศนคติเชิงบวกในตัวเด็ก การสร้างสภาพแวดล้อมและการสอนที่ทำให้เด็กสนุกและเกิดการตั้งคำถาม ถ้าเด็กมองว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นเรื่องสนุก จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น และการพัฒนาด้านทักษะครูผู้สอนที่สามารถสอนเด็กให้ใช้ทักษะเชิงวิพากษ์
นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรด้านสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายช่วงเย็น การกินอาหารเช้า การอ่านวรรณกรรมคลาสสิก การชื่นชอบงานศิลปะ รวมๆ กันแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนแบบสะเต็มมากกว่าการมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเสียด้วยซ้ำ
งานศึกษาของอาจารย์ยังพบว่า พ่อที่มีการศึกษาสูง หรือระดับปริญญาตรีขึ้นไป ทำให้เด็กมีทักษะด้านสะเต็มสูงกว่าเด็กที่มีพ่อระดับการศึกษาต่ำ แต่ระดับการศึกษาของแม่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ช่วยเด็กด้านนี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มันสะท้อนให้เห็นบริบทการศึกษาในครอบครัวอะไรบางอย่างหรือเปล่า
งานศึกษาส่วนใหญ่ที่หาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษาของบิดามารดาและลูกจะพบว่า การศึกษาของหัวหน้าครอบครัว หรือส่วนใหญ่มักจะเป็นพ่อ มีนัยสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของลูก ไม่ว่าจะเป็นระดับชั้นใดก็ตาม โดยบิดาที่มีระดับการศึกษาจบชั้น ป.ตรี จะทำให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับเด็กที่มีพ่อระดับการศึกษาต่ำ เหตุผลไม่ใช่เพราะพ่อช่วยลูกเรียนหนังสือหรืออะไร แต่เป็นเพราะการศึกษาของพ่อหรือหัวหน้าครอบครัวที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเงินเดือนที่ก้าวกระโดดมากกว่า เมื่อครอบครัวมีรายได้ดี การส่งเสริมด้านทรัพยากร การศึกษาต่างๆ ก็จะดีตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน งานศึกษาเองก็พบว่ามารดาที่มีระดับการศึกษาสูงจะส่งผลให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน เด็กที่มีมารดาจบชั้น ป.ตรี จะมีผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 2.2 หมายความว่า การศึกษาของแม่ก็ทำให้เด็กเรียนดีเพิ่มขึ้น การศึกษาของแม่มีผลต่อรายได้ครอบครัว แต่คงไม่ถือว่ามากเท่ากับพ่อ
อย่างไรก็ตาม จากงานศึกษาของผมอีกชิ้นที่ศึกษากลุ่มเด็กชั้นปฐมวัยกลับพบว่า การศึกษาของแม่จะส่งผลต่อผลการเรียนในชั้นปฐมวัยของเด็กมากกว่าการศึกษาของพ่อ ซึ่งแสดงว่า บทบาทของแม่สูงกว่าพ่อสำหรับการศึกษาในระดับเด็กเล็ก เพราะแม่เป็นคนดูแลเด็กเล็กเป็นหลัก เมื่อเด็กโตขึ้น การดูแลในเชิงกายภาพ ความใกล้ชิดอาจจะลดลง กลายเป็นการสนับสนุนด้านอารมณ์ หรือทรัพยากรอื่นๆ แทน
ตรงนี้ก็น่าสนใจว่ามีความเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา กล่าวคือ ถ้าพ่อแม่ระดับการศึกษาต่ำ ยากจน ก็จะส่งผลให้เกิดการส่งต่อความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นได้
ข้อเสนอหนึ่งของอาจารย์ที่มีต่อตลาดแรงงาน คือบริษัท ธุรกิจควรปรับตัว รับคนเข้าทำงานโดยดูจากทักษะ แทนวุฒิการศึกษาหรือเกรด แต่ในขณะเดียวกัน ทักษะบางอย่างอาจไม่สามารถประเมินระดับได้ผ่านการระบุบนเรซูเม่
เช่นนี้แล้วบริษัทควรจะประเมินคนจากอะไรให้มั่นใจว่าคนที่รับเข้ามามีทักษะมาก หรือเชี่ยวชาญเพียงพอต่อการทำงาน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานที่ไหนมาก่อน
ข้อเสนอแนะของผมมีที่มาจากสถานการณ์ปัจจุบัน วุฒิการศึกษามันเริ่มด้อยค่าลง พูดง่ายๆ คือเรียนจบง่าย ปริญญาตรีถือว่าเป็นขั้นต่ำในยุคนี้ ปริญญาโทเองก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อเรียนจบง่ายขึ้น ความศักดิ์สิทธิ์ของการศึกษาเริ่มน้อย ทำให้ผมมองว่าเราควรประเมินที่ทักษะมากกว่า และบริษัทควรส่งสัญญาณมาว่าต้องการคนมีทักษะประเภทใด
แต่ต้องยอมรับว่าทักษะหลายอย่างยังไม่สามารถประเมินได้โดยบริษัท และจำเป็นที่จะต้องมีวุฒิการศึกษาเป็นเครื่องรับรอง เช่น อาชีพ แพทย์ พยาบาล วิศวกร หรือทักษะบางอย่างที่เป็น Technical มากๆ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาใบรับรอง (Certificate) จากองค์กรชั้นนำ เช่น ทักษะทางการเงิน หรือทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนหนึ่งบริษัทจึงยังต้องประเมินคนผ่านทางใบรับรองและวุฒิอยู่
อย่างไรก็ตาม ผมอยากเสนอว่า ยังมีวิธีประเมินเพื่อรับคนเข้าทำงานอีกหลายด้านที่สามารถใช้ได้ดี เช่น การทำแบบทดสอบเชิงจิตวิทยา หรือการวัด Attitude Test ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการ screen คนที่เหมาะสมกับงาน เช่น งานบริการ บางสาขาวิชาชีพในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ อังกฤษ นักศึกษาต้องทำ Attitude Test ตั้งแต่ก่อนเข้าคณะก็มี สมมติ คนคนหนึ่งอยากเป็นหมอ ต้องวัดก่อนว่ามีทัศนคติเหมาะสมสำหรับการเป็นหมอที่ดีไหม และถือว่าเป็นหนึ่งในคะแนนสอบเข้าด้วย
อีกระบบหนึ่งที่นิยมกันคือ ระบบ Probation ฝึกงาน ที่ไม่มีการจ้างงานถาวร แต่สามารถประเมินคนจากการทำงานได้โดยตรง และสามารถให้คนที่ไม่เหมาะสมกับงานนั้นๆ ออกได้
มันจะเป็นการผลักดันให้เด็กต้องสร้างผลงานหรือทำกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเพื่อลงพอร์ตโฟลิโอมากขึ้นไหม
ถ้าใช้ระบบการทำ Attitude Test และ Probation สุดท้าย Portfolio ที่สวยหรูก็คงไม่มีความสำคัญอะไรมาก เพราะเราวัดคนจากการทำงานจริง บางคนที่ทำ Portfolio ดูดี แต่เอาเข้าจริงอาจจะไม่มีทัศนคติ หรือทักษะที่เหมาะสมก็ได้
สุดท้ายนี้ วิธีการเรียนการสอน และการสร้างองค์ความรู้แบบ สะเต็มจะมีส่วนช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำในสังคมอนาคตได้หรือไม่ อย่างไรบ้าง
ความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นเรื่องใหญ่ที่จำเป็นต้องมีนโยบายแก้ไขในหลายๆ ด้าน เช่น นโยบายการคลัง นโยบายสุขภาพ นโยบายด้านภาษี โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
นโยบายสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเรื่องหนึ่งที่ช่วยแก้ไขได้ แต่ปัญหาคือ การศึกษาที่มีคุณภาพ ณ ปัจจุบัน ไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับทุกคน โรงเรียนที่มีคุณภาพต่างถูกยื้อแย่งกันเข้าไป ภาครัฐจึงควรช่วยให้องค์ความรู้แบบสะเต็มนี้มีราคาถูกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทำให้โรงเรียนมีอยู่แล้วปรับการเรียนการสอนเป็นแบบ project-based มากขึ้น ถ้าทำได้ ถึงแต่ละโรงเรียนจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นการยกระดับเด็กที่อยู่ชายขอบ เด็กยากจนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น
สังคมจะได้รับผลพลอยได้ทางอ้อมต่างๆ เช่น ช่วยให้เด็กที่ไม่ได้มีทรัพยากรไปเรียนกวดวิชาไม่ต้องเสียเปรียบกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่วัดเพียงทักษะด้านความรู้ ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทำให้สามารถทำงานเป็น สามารถเรียนจบมาเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้เลย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใบปริญญาหรือต้องจบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งผมมองว่าในระยะยาวก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในแง่หนึ่งได้