fbpx
ตอบโจทย์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ โดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ตอบโจทย์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ โดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สมคิด พุทธศรี, วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ไม่บ่อยครั้งนักที่ตำแหน่งกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยสภาจะมีความหมายและนัยยะทางการเมือง

แต่ในห้วงยามที่การแก้รัฐธรรมนูญคือปมใหญ่ของการเมือง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของสภาผู้แทนราษฎร กลับกลายเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ สำคัญที่อาจผันกลายเป็นได้ทั้ง ‘ความหวัง’ และ ‘ความขัดแย้ง’ ครั้งใหม่ของสังคมไทย

หากไม่นับเดิมพันที่นับว่าสูงไม่น้อยแล้ว ‘ความยาก’ ของโจทย์ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่เรียกร้องคนทำงานเป็นพิเศษ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตำแหน่ง ‘ประธาน กมธ.’ ชุดนี้จะได้รับการจับตามองจากทุกพรรค ทุกฝ่าย

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนี้แทบจะทันทีหลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ คือคนที่ต้องมารับบทบาทสำคัญนี้

พีระพันธ์ุเริ่มเล่นการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร ครั้งแรกในปี 2539 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังอยู่ในกระแส ‘ปฏิรูปการเมือง’ จนนำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และตลอดเวลากว่า 20 ปีบนถนนการเมืองก็ทำให้เขาผ่านประสบการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และต้องอยู่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ไม่ต่างจากนักการเมืองรุ่นราวคราวเดียวกันคนอื่นๆ กฎหมายถือว่าเป็นสมรภูมิที่พีระพันธ์ช่ำชอง ด้วยปูมหลังเคยเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อน อีกทั้งยังเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในช่วงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 นับเป็นช่วงที่ ‘กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ กำลังทำงานอย่างเข้มข้น (ก่อนที่จะชะงักไปเพราะ COVID-19 เหมือนภาคส่วนอื่นของประเทศ) 101 ชวนพีระพันธ์ุ สนทนาถึงเนื้องานของเขาภายใต้หมวกประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

รัฐธรรมนูญเป็นปมใหญ่ของปัญหาทางการเมือง และคาดการณ์ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างเข้มข้น ในฐานะ ‘ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเป็นกลไกหลักของสภาและหลายคนฝากความหวังไว้ คุณตีโจทย์เรื่องนี้อย่างไร

ต้องเข้าใจเป็นอันดับแรกว่า กมธ.ชุดนี้ ไม่ใช่ กมธ.แก้รธน. อำนาจหน้าที่หลักของเราคือ การศึกษาและดูหลักเกณฑ์การแก้ไข ดังนั้น โจทย์ตั้งต้นจึงไม่ใช่การบอกว่าต้องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เราทำคือ การศึกษารัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามีข้อดี ข้อเสียตรงไหน อะไรเด่น อะไรด้อย ที่บอกว่าข้อเสียหรือข้อด้อยนั้น ก็อาจไม่ได้หมายความว่าดีหรือไม่ดีด้วยนะ บางเรื่องอาจจะค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ข้อด้อยคืออาจจะยังเขียนไม่ครอบคลุม สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เป็นต้น

ในรายละเอียด กมธ. แบ่งการพิจารณาออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองประชาชน ส่วนที่สองคือ รูปแบบโครงสร้างการปกครอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐสภา การเมือง การเลือกตั้ง องค์กรอิสระ และยังรวมถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย

เวลาทำงานเราก็จะศึกษาภาพใหญ่ ดูในลักษณะกว้างๆ เช่น บทบัญญัติที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ ครอบคลุมหรือไม่ มีปัญหาอะไร ต้องเพิ่มเติมประเด็นอะไร แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าต้องแก้ไขมาตราใด อย่างไร ถ้าระบุแบบนั้นจะกลายเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของ กมธ. ไม่ได้มีขนาดนั้น

 

รัฐธรรมนูญ 2560 มีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไร

จุดแข็งคือ การให้สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองประชาชนในระดับที่เรียกได้ว่าใช้ได้ แต่ก็ยังไม่ครบถ้วน เช่น เราเห็นว่าควรต้องมีการเพิ่มเติมให้ประชาชนใช้สิทธิในทางกฎหมายเพิ่มมากขึ้นในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจของภาครัฐ หรือเรื่องสิทธิสตรี เด็ก และผู้สูงอายุ ก็มีการให้ความเห็นทำนองว่าบทบัญญัติที่เป็นอยู่ยังกว้างไป น่าจะมีการให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นหน่อยเพื่อเป็นแนวทางในการออกกฎหมายลูก ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีรายละเอียดอยู่พอสมควร เช่น ตอนนี้สังคมไทยกำลงจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่สภาพจริงคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นต้น

ส่วนตัวผมเห็นว่า โดยหลักการแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ต่างกับรัฐธรรมนูญ 2550 มากนัก เพียงแต่อาจใช้ถ้อยคำไม่เหมือนเดิม ที่ต่างกันจริงๆ คือเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้นเอง

 

แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่า บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ต่างหากที่เป็นตัวทำลายสิทธิเสรีภาพ เพราะมีการรับรองประกาศคำสั่งของ คสช.  

ผมเข้าใจว่าคุณแย้งเรื่องอะไร แต่ประเด็นที่คุณถามเป็นคนละประเด็นกับที่ผมพูด บทเฉพาะกาลที่คุณพูดถึงเป็นเรื่องการรองรับกฎหมายหรือคำสั่งที่มีมาก่อนหน้า แต่ประเด็นที่ผมพยายามพูดถึงคือการมองไปข้างหน้า

 

 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

แล้วเรื่องของโครงสร้างการปกครอง คุณมองอย่างไร

ประเด็นหนึ่งที่คุยกันเยอะมากและคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางใหม่สำหรับการบริหารบ้านเมืองคือ กระบวนการออกกฎหมาย ที่ผ่านมา การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลต้องอาศัยการออกฎหมาย และในหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เพราะแม้กฎหมายจะผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แทนที่จะเดินหน้าเข้าสภาได้ กลับต้องถูกส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วก็ถูกดองไว้ตรงนั้น กฎหมายตัวไหนที่ผ่านกฎษฎีกามาแล้ว เมื่อเข้าสู่สภาก็มีตัวแทนจากกฤษฎีกาเข้ามาอีก คำถามคือในเมื่อมีกฤษฎีกาในทุกขั้นตอนอยู่แล้ว ทำไมกฎหมายถึงต้องไปดองอยู่ที่กฤษฎีกาเป็นปี

สิ่งที่กำลังถกกันคือ การเขียนรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้ชัดเจนว่า กฎหมายที่ ครม. เห็นชอบแล้ว จะต้องเข้าสู่รัฐสภาภายในกี่วัน เพื่อเป็นการเร่งรัดกระบวนการ แน่นอนว่าการออกกฎหมายจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญนั้นจำเป็น แต่ต้องออกแบบไม่ให้อำนาจในการปรับปรุงกฎหมายอยู่ที่กฤษฎีกาและไปเสียเวลาอยู่ที่นั่นทั้งหมด ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่พูดถึงเลย

นอกจากนี้ เรายังเสนอให้มีการตั้งที่ปรึกษากฎหมายของสภาด้วย ในทางเทคนิค สำนักงานกฤษฎีกาคือที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ในแง่นี้ มุมมองของกฎษฎีกาจึงเป็นมุมมองของการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยให้น้ำหนักกับมุมประชาชนเท่าไรนัก เช่น กฤษฎีกาอาจไม่ได้สนใจว่ากฎหมายที่ออกมาจะละเมิดสิทธิชุมชนหรือไม่ อย่างไร เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ข้อเสนอให้มีที่ปรึกษากฎหมายของสภาจะมาช่วยตรงนี้ ไอเดียคือนักกฎหมายในสภาจะเข้ามามองกฎหมายในมุมของประชาชน เช่น ดูว่าการเขียนกฎหมายแบบนี้ให้อำนาจมากเกินไปไหม ถ้าสภามีที่ปรึกษากฎหมายมือฉมังเหมือนที่รัฐบาลมีกฤษฎีกา คอยช่วยดูแลกฎหมายให้ตรงเป้ามากขึ้น กระบวนการออกกฎหมายน่าจะดีขึ้น

 

แนวทางนี้จะทำให้สภามีอำนาจมากขึ้นไหม

ไม่ได้มากขึ้น เป็นเรื่องของกระบวนการทำงาน อย่าลืมว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยหลักของประเทศ จุดเด่นของ ส.ส. คือ การเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ผู้แทนทุกคนจะมีความเชี่ยวชาญในกฎหมาย การมีนักกฎหมายมืออาชีพคอยให้คำปรึกษาและช่วยพิจารณากฎหมายน่าจะช่วยให้ขีดความสามารถของสภาสูงขึ้น สามารถทำงานเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้มากกว่าเดิม

 

 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หลายฝ่ายฟันธงเลยว่า ระบบเลือกตั้งคือสิ่งที่ต้องแก้ไข คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ประเด็นนี้ยังพิจารณากันไม่ถึง แต่ก็มีการคุยกันนอกรอบอยู่บ้างว่า ระบบมีปัญหาอยู่ เรื่องความเข้าใจยาก วิธีการคำนวณ ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องถกกันในรายละเอียดต่อไป

 

รวมถึงที่มาของ ส.ว. ด้วยไหม

ที่มาของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาจากการเลือกตั้ง แม้จะเป็นการเลือกตั้งของกลุ่มอาชีพก็ตาม ประเด็นนี้ผมเข้าใจว่า คนไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่ที่ถกเถียงกันมากคือ ส.ว. ชุดปัจจุบันที่มาจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายคนอาจเห็นว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้นเวลาคุยเรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดว่า ไม่พอใจชุดไหน ถ้าไม่พอใจชุดปัจจุบันที่มาจากบทเฉพาะกาลก็ดูว่าจะเอาอย่างไร ปล่อยให้อยู่ครบ 5 ปีเลยไหม ถ้าปล่อย อีกไม่นานก็กลับเข้าสู่การเลือกตั้งปกติ แต่ถ้าไม่เอา ก็ต้องแก้ไขบทเฉพาะกาลให้ลดอายุลงมาจะเป็น 3 ปี หรือ 4 ปีก็ว่าไป

 

องค์กรอิสระต้องปรับอะไรไหม

องค์กรอิสระมีหลายองค์กร ผมไม่ทราบว่าคุณหมายถึงองค์กรไหนบ้าง แต่สำหรับผม ศาลเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่ต้องถกและพิจารณากันมาก สิ่งที่ กมธ. คุยกันคือการออกแบบระบบที่ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้ดุลยพินิจของศาลทุกประเภทได้ เพราะถ้าไม่มีใครตรวจสอบได้ ก็ผิดตามหลักประชาธิปไตย

ในอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย ทุกวันนี้ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบกันได้ผ่านกลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ บางคนอาจจะเถียงว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล ซึ่งเอาไว้ก่อน แต่โดยหลักแล้วอย่างน้อยเรามีกลไกตรวจสอบ แต่ศาลซึ่งเกี่ยวโยงอำนาจตุลาการกลับเป็นเอกเทศ ทั้งๆ ที่ศาลเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบคนไปทั่ว แต่กลับไม่มีใครตรวจสอบศาลได้

การใช้อำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของศาล เราต้องรู้สึกว่าถูกต้องและเป็นธรรม ไม่ใช่พอมีข้อสงสัย ใครถามไม่ได้ ใครแย้งไม่ได้ ถึงที่สุด คำตัดสินของศาลต้องอธิบายสังคมได้ ไม่ใช่อ้างแต่ว่าเป็นดุลยพินิจของศาล เป็นอำนาจตามกฎหมาย วิธีการอ้างแบบนี้มีปัญหา ในฐานะที่เป็นอดีตผู้พิพากษา ผมคิดว่าศาลจะต้องถูกตรวจสอบได้ แต่การตรวจสอบก็จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แล้วก็มีเหตุมีผลพอสมควร

พูดให้ถึงที่สุด รูปแบบจะเป็นยังไงก็ได้ แต่โดยหลักแล้วอำนาจสามสถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตยต้องตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร ควรต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ไหม

ขึ้นอยู่กับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ไขมากหรือน้อย ถ้าปรับปรุงถ้อยคำใหม่ แก้แค่ไม่กี่มาตรา การตั้ง สสร. ก็ไม่สมเหตุสมผล เปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ แต่ถ้าดูแล้วองคาพยพของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด มีการแก้ไขที่โยงใยหลากหลายมาตรา ถ้าแบบนี้ สสร. ก็อาจจะจำเป็น เพราะต้องการคนที่มีความรู้หลากหลายมาช่วยกันคิดช่วยกันมอง

 

 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

การทำงานใน กมธ. เข้มข้นไหม

นับว่าเข้มข้นพอสมควร แต่ไม่ได้แตกแยกกัน ตรงนี้ต้องถือเป็นความโชคดีของผมที่มีเพื่อน กมธ. ที่เห็นแก่ประโยชน์บ้านเมืองนำหน้า แม้แต่ละคนจะมีความคิดคนละแบบ แต่ก็ฟังกันและกัน บางคนคิดว่าคนนี้ยืนจากจุดยืนฝั่งหนึ่งแบบสุดๆ  อีกคนก็ยืนอีกฝั่งแบบสุดๆ แต่เวลาทำงานกลับถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาก ใช้เหตุผลเป็นหลัก ไม่ได้เอาธงตัวเองมาตั้ง ถ้าคุณสังเกต ไม่มีข่าว กมธ. ทะเลาะกันเลย ทั้งที่ประเด็นนี้โดนจับตามาก ตรงนี้เป็นหลักฐานยืนยัน

 

ประเด็นไหนที่เถียงกันมาก

เถียงทุกประเด็น นี่ผมใช้คำของคุณนะ (ยิ้ม) แต่จริงๆ ผมไม่เรียกว่าเถียงหรอก กรรมาธิการคุยกันด้วยเหตุผลอย่างมาก ทุกคนมีสิทธิคิด-พูดอย่างตรงไปตรงมา กลายเป็นวิธีปฏิบัติของการประชุมไปแล้ว แต่ละประเด็นคุยกันนานกว่าจะจบ ตอนเริ่มต้นคุยนี่แสดงความเห็นแตกต่างกันหมด แต่เมื่อฟังกันมากเข้าก็จะเริ่มมองเห็นทางของเสียงส่วนใหญ่ว่าจะไปทางไหน คนที่เหลือก็ไม่ติดใจอะไร

 

กมธ. ทำงานกันเข้มข้น แต่ราบรื่นแบบนี้ เราพอจะอนุมานได้ไหมว่า กมธ. จะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ๆ

มีข้อเสนอให้แก้แน่ หลายประเด็นที่ได้คุยกันมาคงอยู่ในข้อเสนอของ กมธ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องสตรี เด็ก และผู้สูงอายุ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ล่าช้า ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐสภา การปรับระบบเลือกตั้งให้ชัดเจนมากขึ้น หรือการตรวจสอบและถ่วงดุลระบบยุติธรรม เรื่องพวกนี้เราเห็นสอดคล้องกัน

แต่อย่าลืมว่า เราไม่มีอำนาจไปกำหนดว่าต้องแก้หรือไม่แก้

 

ว่ากันตามตรง กระแสสังคมไม่น้อยเห็นว่าควรยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ  กมธ. มองอย่างไร

การจะแก้แบบไหน แก้อย่างไร ต้องมีเหตุผล การจะร่างใหม่หมายความว่า ต้องแก้ไขเยอะ แก้ไขทั้งฉบับ แต่วันนี้เรายังไม่ได้คุยไปถึงจุดนั้น ผมก็ตอบไม่ได้

 

 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ด้วยเงื่อนไขและสภาพที่เป็นอยู่ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากมาก การปลดล็อกตรงนี้เป็นไปได้จริงหรือ

ถ้าเริ่มแก้รัฐธรรมนูญด้วยประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง แต่ให้น้ำหนักกับเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน การทำหน้าที่ของ ส.ส. การบริหารราชการแผ่นดิน และการปรับรูปแบบของการพิจารณากฎหมาย ตรงนี้ขอแก้ได้ทันที และไม่น่าจะยากมาก

แต่ถ้ามีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยว เช่น แก้มาตรา 256 (ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) หรือมาตรา 269 (ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.) แบบนี้ยาวแน่ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าข้อเสนอให้แก้เป็นอย่างไร เวลาทำข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะเสนออย่างไรก็ได้ แต่ขั้นต่อไป สภาจะแก้หรือไม่แก้ แก้ทั้งหมด แก้บางส่วน ตรงนี้ผมก็ตอบไม่ได้

 

ถ้ามองจากกระแสข่าว หลายฝ่ายมองว่าตัวแทนฝั่งรัฐบาลไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญสักเท่าไหร่

นั่นอาจจะเป็นข่าวก่อนตั้ง กมธ. แต่เวลาทำงานจริง ผมคิดว่าข่าวแบบนี้น้อยลงนะ อันที่จริงการทำงานของผมและเพื่อน กมธ. มีนักข่าวอยู่ด้วยตลอด 20 กว่าคน บรรยากาศในการทำงาน การใช้เหตุใช้ผล การไม่มีความขัดแย้งที่ผมเล่าไป นี่สามารถตรวจสอบได้เลย

 

 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

หลายคนตั้งความหวังว่า การคุยกันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นพื้นที่กลางให้คนเห็นต่างมาคุยกัน

ผมก็เชื่ออย่างนั้น ในกระบวนการทำงาน ผมมีคณะอนุกรรมาธิการอยู่ 2 ชุด ชุดที่หนึ่งทำเรื่องรับฟังความคิดเห็น มีคุณวัฒนา เมืองสุข พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ชุดที่สองรับผิดชอบเรื่องการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญกับตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีคุณไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมาธิการทั้งสองชุดก็มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองมาทำงาน ซึ่งก็ทำงานไปด้วยกันได้

เมื่อไม่นานมานี้ คุณวัฒนาตั้งใจจะไปรับฟังความเห็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย ซึ่งประจวบเหมาะกับจังหวะที่นักศึกษาออกมาชุมนุมและเริ่มมีข่าวโรคระบาด ผมก็สนับสนุนให้คุณวัฒนาเดินหน้าเป็นคนทำ ผมไปเจอบางคนก็มาทักผมด้วยความสงสัยว่า ทำไมถึงให้คุณวัฒนาทำเรื่องนี้ ผมก็ต้องยืนยันกลับไปว่า คุณวัฒนาเป็นประธานอนุกรรมาธิการชุดรับฟังความคิดเห็น เป็นหน้าที่ของเขาโดยตรง ดังนั้น ถูกต้องแล้วที่เขาต้องเป็นคนทำ

 

กมธ. มีนโยบายฟังเสียงนักศึกษาอยู่แล้ว หรือว่าเห็นพลังของนักศึกษาจากม็อบจึงเปิดรับฟัง

พูดตามตรง ผมเป็นคนที่สนใจการเมืองตั้งแต่ยังเด็ก ตอนนั้นเราก็อยากให้คนฟังเรา ถึงวันนี้ผมก็อยากฟังว่านักศึกษามีความคิดอย่างไร เขาก็เป็นอนาคตของเรานั่นแหละ ส่วนใครจะถูก ใครจะผิด ค่อยไปว่ากัน แต่อย่างน้อยต้องให้เขาสิทธิมีเสียง อันนี้เป็นแนวทางของ กมธ. ก่อนจะมีม็อบอีก

 

คุณอยู่ในการเมืองไทยมานาน ก่อนจะมาเป็นประธาน กมธ. ก็ผ่านมาหลายตำแหน่ง มองเห็นความหวังในการออกจากความขัดแย้งทางการเมืองไหม

เราต้องกลับมานั่งคิดดูว่า เวลาพูดถึงความขัดแย้งทางการเมือง เราไม่ได้ขัดแย้งเรื่องที่เป็นผลดีกับประชาชนนะ เรื่องที่เราคุยกันมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพ การบริหารราชการแผ่นดินที่รวดเร็วขึ้น ฯลฯ พวกนี้ขัดแย้งกันน้อยมาก แต่ที่ขัดแย้งกันมากคือเรื่องประเด็นทางการเมือง เรื่องการเข้าสู่อำนาจ ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มีแต่ฝ่ายการเมือง หรือไม่ก็คนอย่างพวกคุณ

ผมไม่รู้ว่าพวกคุณรู้ตัวหรือเปล่าว่า การที่พวกเรานั่งคุยกันเรื่องพวกนี้เป็นอภิสิทธิ์มากนะ เวลาขัดแย้งทางการเมือง เราแทบจะลืมปัญหาพื้นฐานของประเทศไปเลย เรื่องที่คนส่วนใหญ่กังวลและทุกข์ร้อนคือเรื่องปากท้องและปัญหาร้อยแปดในชีวิตประจำวัน ในฐานะนักการเมือง คุณมีหน้าที่ในการดูแลประชาชนไม่ใช่หรือ ถ้าคุณเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ความขัดแย้งก็จะสำคัญน้อยลงไปเอง

แต่ถ้าคุณขึ้นมาแล้วมาเถียงกันแต่ประเด็นการเมือง มันอันตรายนะ เพราะทำให้คนเบื่อหน่าย ในฐานะผู้แทนอาชีพ ผมยืนยันว่ามีคนจำนวนมากที่มองว่าการเมืองทำให้บ้านเมืองวุ่นวายและอยากให้เลิกตีกัน เลิกทะเลาะกันเสียที

 

 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

แต่เราจะแยกการเข้าสู่อำนาจออกจากเรื่องปากท้องได้อย่างไร ถ้าไม่สามารถเลือกผู้แทนที่สะท้อนความต้องการของเราได้

ผมเห็นด้วยกับคุณและไม่โต้แย้งเลย แต่ถ้าคุณดูรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีสุด แล้วลองมาเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2560 คุณจะเห็นว่า ‘ผู้แทน’ ส่วนใหญ่หน้าตาเหมือนเดิมเลย ดังนั้น ลำพังเพียงระบบเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนเลยว่าชีวิตเราจะดีขึ้น แต่มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ อีกมาก

พูดแบบนี้ ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรปรับปรุงให้มันดีขึ้นนะ ประเด็นของผมคือ การมีระบบเลือกตั้งที่สะท้อนเสียงของประชาชนได้ดี การมี ส.ว. ที่ยึดโยงกับประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์และเป็นข้อดีต่อการบริหารบ้านเมืองแน่ๆ เรื่องนี้ไม่เถียง แต่เข้ามาแล้วทำงานยังไง ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ไหม ทำเพื่อประชาชนจริงหรือเปล่า เรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับที่มาเท่าไหร่

 

คุณเริ่มเล่นการเมืองในช่วงปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญหนึ่งของการเมืองไทย เพราะการเมืองไทยกำลังอยู่ในกระแสปฏิรูป และมีผลลัพธ์สำคัญคือ รัฐธรรมนูญ 2540 จากวันนั้นถึงวันนี้คนมองเห็นชีวิตของรัฐธรรมนูญอย่างไร

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนหวงแหนมากที่สุดฉบับหนึ่ง เพราะประชาชนมีส่วนในการผลักดันและการร่าง ผมเริ่มเล่นการเมืองในบรรยากาศของความหวังแบบนั้น แต่การที่ประชาชนร่างหรือหวงแหนก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า รัฐธรรมนูญนั้นดีที่สุด

รัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับว่ารัฐธรรมนูญให้ประโยชน์กับประชาชนแค่ไหน ถามว่าทุกวันนี้ ถ้าเราเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาบังคับใช้ใหม่ แล้วทุกอย่างจะจบจริงหรือ ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2540 คือ เมื่อถูกนำไปใช้จริง ก็ติดกับดักเรื่องประเด็นทางการเมืองอีก ในขณะที่ประเด็นสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์อื่นๆ ของประชาชนไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่ ไม่ต้องพูดถึงว่า ในแง่เนื้อหา รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่เพียงพอ เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาก็พยายามแก้ไขในเรื่องนี้ให้สมบูรณ์มากขึ้น

สำหรับผม ความสมบูรณ์คือการที่รัฐธรรมนูญสามารถใช้ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้จริง

 

คาดหวังว่าข้อเสนอของ กมธ. จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม

หลายเรื่องที่เราเสนอเป็นเรื่องประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ใช่ประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

 

หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save