fbpx

‘มนุษย์คืออะไรในเมตาเวิร์ส?’ จินตนาการโลกใหม่ในเลนส์ปรัชญาเทคโนโลยี กับ พิพัฒน์ สุยะ

เมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เดินหน้าเปิดศักราชใหม่แห่งการพัฒนาเทคโนโลยีไปอีกขั้นด้วยการประกาศวิสัยทัศน์ ‘เมตาเวิร์ส’ (Metaverse) หรือการเชื่อมต่อประสบการณ์โลกดิจิทัลเสมือนจริงสู่ผู้ใช้งาน ชวนให้คนฟังจินตนาการอนาคตเหมือนฉากหนังไซไฟหลายเรื่องที่มนุษย์จะมีชีวิตโลดแล่นท่ามกลางสิ่งแวดล้อมดิจิทัล และมีอวตารไว้ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ อย่างไร้ข้อจำกัด

แม้สิ่งที่เรียกว่า ‘โลกเสมือนจริง’ จะไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่ดูเหมือนภาพการมาเยือนของเมตาเวิร์สก็ยังคงเป็นฉากทัศน์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่ใช่น้อย หลายคนคาดการณ์ว่าถ้าวันหนึ่ง เมตาเวิร์สเสร็จสมบูรณ์ นั่นอาจกลายเป็นหมุดหมายความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมมนุษย์

หรือไม่ ก็นำมาสู่คำถามที่ท้าทายอีกมากมายก็เป็นได้  

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีอีกหนึ่งตัวตนที่ประกอบร่างสร้างขึ้นมาด้วยข้อมูลดิจิทัล แต่มีสำนึกรับรู้ และสามารถสัมผัสประสบการณ์ทุกอย่างได้ไม่ต่างจากร่างกายในโลกจริง เช่นนั้นแล้วอวตารในเมตาเวิร์สของเราจะถือว่าเป็นมนุษย์ไหม

ถ้าเราต้องดำเนินชีวิตอยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยอัลกอริทึมที่เจ้าของแพลตฟอร์มกำหนดไว้ เช่นนั้นแล้วเจตจำนงเสรีของเราจะอยู่ตรงไหน

101 นำคำถามเหล่านี้ไปคุยกับ ผศ.พิพัฒน์ สุยะ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร – ก่อนที่จะค้นพบจากบทสนทนาว่า การมองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้วยเลนส์ปรัชญา น่าจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้สังคมไทยเข้าใจแก่นของเทคโนโลยี ข้อดีข้อเสีย และเตรียมตัวรับมือกับสังคมอนาคตได้ดียิ่งขึ้น


ผศ.พิพัฒน์ สุยะ

ขอเริ่มต้นจากคำถามพื้นฐานที่สุดว่า ปรัชญาเทคโนโลยีคืออะไร ศึกษาเกี่ยวกับอะไร

ปรัชญาเทคโนโลยีเป็นวิชาปรัชญาประยุกต์อีกวิชาหนึ่งซึ่งใช้มุมมองจากปรัชญาพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นอภิปรัชญา ญาณวิทยา จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ มาพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกิดจากเทคโนโลยีหรือเกี่ยวกับเทคโนโลยี

อันที่จริงแล้ว คำว่าปรัชญาเทคโนโลยีเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1877 โดย เอิร์นส์ต แคปป์ (Ernst Kapp) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เรียกว่า Technikphilosophie โดยใช้ในแง่วิพากษ์วิจารณ์เทคโนโลยีเท่านั้น ยังไม่ได้แพร่หลายอะไรมากนัก จนกระทั่งอีก 100 กว่าปีผ่านมา ราวปี 1979 นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ชื่อว่า มาริโอ บูนเฆ (Mario Bunge) พัฒนาความสนใจของเขาในสาขานี้ ใช้คำว่า Technophilosophy และพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ โดยมีนักปรัชญาคนอื่นๆ ให้ความสนใจ จึงกลายมาเป็นวิชา Philosophy of Technology อย่างทุกวันนี้

ถ้าเทียบกันแล้ว ในยุคของเราเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ชนิดที่เรียกว่าก้าวกระโดดเลยก็ว่าได้ ต่างจากสมัยก่อนที่เทคโนโลยีอาจจะพัฒนาช้าหรือความรู้วิทยาศาสตร์บางอย่างร้อยปีกว่าจะเปลี่ยนทีนึง พอปัจจุบันมันรุดหน้ามากในเวลาไม่กี่ปี เราไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดต่อมนุษย์และสังคมได้ไปโดยปริยาย วิชาปรัชญาเทคโนโลยีเลยได้รับความสนใจมากขึ้น มีคำถามต่างๆ เกิดขึ้น และบางคำถามก็เป็นพื้นที่ที่วิชาปรัชญาสนใจถกเถียงกันมานาน

ถามว่าปรัชญาเทคโนโลยีสนใจอะไรบ้าง ปรัชญาเทคโนโลยีสนใจตั้งแต่คำถามพื้นฐานว่าเทคโนโลยีคืออะไร เรานิยามว่าเทคโนโลยีคืออะไรกันแน่ เพราะคำนิยามหรือความเข้าใจต่อเทคโนโลยีต่างกันย่อมมีผลต่อมุมมอง หรือทัศนะของมนุษย์และสังคมต่อเทคโนโลยีแตกต่างกันออกไป

ต่อมาคือวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีสัมพันธ์กันอย่างไร แยกออกจากกันได้ไหม ปกติเรามักคิดว่าเทคโนโลยีคือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แต่นักปรัชญาหลายคนก็ชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจแบบนี้ค่อนข้างมีปัญหา เพราะมันมีเทคโนโลยีบางอย่างเกิดขึ้นก่อนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วย

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า ตัวเทคโนโลยีมีสารัตถะหรือเนื้อแท้ แก่นแกนบางอย่างที่กำหนดให้มันเป็นเทคโนโลยีไหม ถ้ามี หมายความว่ามันมีลักษณะบางอย่างอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ลักษณะเช่นนั้นส่งผลควบคุมกำกับมนุษย์หรือไม่ เพราะหนึ่งในปัญหาที่ถกเถียงกันต่อมาคือเทคโนโลยีเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง

บางคนอาจแปลกใจว่าเทคโนโลยีมีความเป็นกลางไม่เป็นกลางด้วยหรือ ประเด็นนี้มีนักปรัชญาสองกลุ่มหลักๆ ที่มองแตกต่างกัน กลุ่มแรกคือพวกอุปกรณ์นิยม (instrumentalism) มองว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เท่านั้น ส่วนอีกกลุ่มจะบอกว่าไม่ใช่ ตัวเทคโนโลยีมีคุณค่าบางอย่างแฝงมาอยู่แล้วตั้งแต่ต้น และคุณค่าที่ว่านั้นนั่นแหละจะมีอิทธิพลมาควบคุมกำกับเรา เทคโนโลยีจึงไม่เป็นกลาง

ด้านจริยศาสตร์ (ethics) ก็มีการถกเถียงกันเรื่องผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อมนุษย์ ว่าถ้ามนุษย์ถูกกำหนดโดยเทคโนโลยี ที่เราเรียกความคิดทำนองนี้ว่า นิยัตินิยมทางเทคโนโลยี (technological determinism) แล้วจะส่งผลให้มนุษย์เรายังมีเจตจำนงเสรี (free will) หรือเปล่า เรื่องสิทธิ ความเป็นส่วนตัวที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ก็จะเป็นประเด็นเรื่องความเสี่ยงว่าเรานิยามความเสี่ยงทางเทคโนโลยีไว้อย่างไร เพราะบ่อยครั้งที่นักเทคโนโลยีหรือวิศวกรนิยามความเสี่ยงทางเทคโนโลยีไว้แค่อันตรายทางกายภาพ นั่นเพียงพอหรือไม่ หรือคำถามอีกแง่ก็มักจะถามว่า ความปลอดภัยแค่ไหนถึงจะปลอดภัยเพียงพอที่เราจะอนุญาตให้มีเทคโนโลยีบางอย่างเกิดขึ้นในสังคม ยังไม่ต้องนับประเด็นทางจริยศาสตร์ทั่วไปที่เกิดกับเทคโนโลยีเฉพาะทาง เช่น GMO โคลนนิ่ง หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจากเทคโนโลยีชีวภาพหรือพันธุวิศวกรรม ในรายละเอียดมีเยอะมากครับ ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาเป็นเพียงภาพรวมคร่าวๆ ที่ปรัชญาเทคโนโลยีสนใจศึกษากันเท่านั้น

การทำความเข้าใจเทคโนโลยีด้วยมุมมองทางปรัชญาสำคัญต่อสังคมอย่างไร

เวลาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราอาจจะมองแต่ประโยชน์ของมันที่นำพาเราไปสู่ความสะดวกสบายและเคยชินกับมันง่ายๆ โดยไม่ทันได้ฉุกคิดตั้งคำถามกับมัน ขณะเดียวกัน ปรัชญาจะพาเราถามคำถามลึกไปถึงรากฐานหรือธรรมชาติของสิ่งนั้น และทำให้เราย้อนกลับมาทบทวนว่าตกลงแล้วเราเข้าใจมันจริงๆ หรือเปล่า

อย่างประเด็นแรกที่เราถามกันว่าเทคโนโลยีคืออะไร บางคนอาจจะบอกว่ารู้อยู่แล้ว แต่ปรัชญาจะถามซ้ำว่าคุณเข้าใจมันจริงไหม เพราะนิยามของเทคโนโลยีมีหลายแบบมาก นิยามแรกที่เราคุ้นเคยกันอาจบอกว่ามันเป็น hardware ตามภาษาของวิศวกร หรือเป็น artifact ในมุมมองของนักมานุษยวิทยา พูดง่ายๆ ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ คำถามตรงนี้ก็คือ แล้วกฎหมาย พิธีกรรมต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำไมเราไม่เรียกมันว่าเทคโนโลยี นิยามแบบนี้อาจไม่พอที่จะช่วยให้เราเข้าใจเทคโนโลยีได้มากขึ้นเท่าไหร่มั้ง 

มาถึงนิยามแบบที่สอง มีคนบอกว่าเทคโนโลยีคือระบบที่ผสมผสานด้านเทคนิคและสังคมสำหรับการผลิตบางอย่างขึ้นมา หรือเรียกว่า Sociotechnical Systems of Manufacture เป็นระบบการทำงานระบบหนึ่งที่เรารวมทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ คนงาน เครื่องจักร ฯลฯ เข้าด้วยกันจนกลายเป็นเทคโนโลยี ไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งประดิษฐ์ และต้องสัมพันธ์กับระบบการผลิตด้วย ประเด็นคือการอธิบายให้เป็นระบบการทำงานของหลายอย่างรวมกันแบบนี้อาจไม่ได้สะท้อนถึงตัวเทคโนโลยีจริงๆ การนิยามแบบนี้ก็คงไม่ได้ทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นเท่าไหร่นัก

อีกพวกหนึ่งบอกว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นแค่เรื่องสิ่งประดิษฐ์หรือเรื่องระบบการผลิตที่ครบวงจรเท่านั้น มันยังเป็นเรื่องของความรู้ เป็น know how เช่นเวลาเราซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อมาทำ เราไม่ได้ซื้อแค่สินค้า แต่ซื้อเทคโนโลยีในการจัดการด้วย ถ้าเราสังเกตตู้เย็นในร้านสะดวกซื้อจะเห็นว่ามันเอียงลงมาเล็กน้อยเพื่อให้พนักงานเติมของได้ง่าย และลูกค้าหยิบของที่จัดไว้ข้างหน้าไปก่อน เมื่อของใหม่เติมเข้ามา ของเก่าก็ไม่ค้าง สิ่งเหล่านี้เป็น ‘วิธีการและความรู้เกี่ยวกับการจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด’ เป็นระบบการจัดการเฉพาะหรือ know how ซึ่งบางกลุ่มก็มองว่าเป็นเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีสำหรับเราคงไม่ได้หมายถึงแค่วิธีการจัดการมั้ง น่าจะมีอะไรมากกว่านี้

ยังมีอีกพวกหนึ่งบอกว่าเทคโนโลยีเป็น Sociotechnical Systems of Use คือเห็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงแค่ hardware แต่ยังเป็นระบบที่ผสมผสานด้านเทคนิคและสังคมเกี่ยวกับการใช้งานใดๆ ให้ประสบความสำเร็จขึ้นมา ซึ่งมนุษย์อาจจะทำไม่ได้หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ช่วยเหลือ มันเหมือนเป็นสิ่งที่มาเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ เช่น รถยนต์ เรามีระบบผลิต มีความรู้ในการใช้งาน แต่มันจะใช้ไม่ได้เลยถ้าสังคมไม่มีระบบกฎหมาย ระบบถนน กฎจราจรที่เกี่ยวข้องกัน เห็นไหมครับว่าแค่นิยามของเทคโนโลยีก็สามารถเข้าใจแตกต่างกันหลายแบบ ดังนั้นตัวปรัชญาจะค่อยๆ แงะคำตอบแต่ละแบบออกมา ชวนให้คนถกเถียงและทำความเข้าใจไปกับมัน

มีประเด็นอะไรอีกไหมที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่จริงๆ มันซับซ้อนกว่านั้น

ประเด็นเรื่องเทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์ เดิมเราเข้าใจว่าเทคโนโลยีคือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เราใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สร้างเทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์ แต่มีนักปรัชญาเสนอว่าเราผูกวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีเข้าด้วยกันแบบนี้ไม่ได้ เพราะบางกรณี เทคโนโลยีก็เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์รองรับเลย ยกตัวอย่างเช่น กล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอ มันวางอยู่บนทฤษฎีการมองเห็นที่ผิด แต่สร้างออกมาแล้วใช้ได้ พอมีการอธิบายด้วยทฤษฎีวิทยาศาสตร์ในภายหลัง เราถึงรู้ว่ากาลิเลโออธิบายการทำงานของกล้องนี้ผิดไป แต่ในเมื่อมันใช้ได้ แสดงว่าเทคโนโลยีสามารถมีมาก่อนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ได้หรือเปล่า มันขัดกับความเข้าใจที่เราเคยมีหรือไม่ ยังไม่รวมถึงพีระมิดที่เราสงสัยว่าคนยุคนั้นสร้างกันได้ยังไง มีหลายคนพยายามนำวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไปอธิบาย ยังสรุปว่าสร้างได้ก็ยังยากลำบากมาก ทำไมคนอียิปต์ตอนนั้นที่ไม่มีทฤษฎีอะไรเลยถึงสร้างได้

แต่เวลาพูดแบบนี้ บางทีก็มีคำถามเกิดขึ้นอีกว่าคนสมัยนั้นไม่มีทฤษฎีจริงๆ หรือ เขาอาจจะมี แต่ไม่เหมือนทฤษฎีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เรารู้จักก็ได้ แล้วหลักการ วิธีคิดของเขาจะเรียกว่าเป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ได้หรือเปล่า  

คำตอบเป็นยังไงอาจไม่สำคัญเท่าคำถามพวกนี้ทำให้เราหันกลับมาทบทวนว่า ตกลงแล้วเราเข้าใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ดีแค่ไหน ที่ผ่านมา เรามักคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นความรู้บริสุทธิ์ และความรู้บริสุทธิ์มักมีเซนส์ของความ ‘เหนือกว่า’ ความรู้อื่นๆ ซึ่งจริงๆ วิธีคิดแบบนี้เป็นมาตั้งแต่กรีกแล้ว กรีกมองเทคโนโลยีหรือ Techne ว่าเป็นความรู้แบบช่างฝีมือ เป็นความรู้ที่ต่ำกว่าทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ปรัชญา หรือความรู้ว่าด้วยเรื่องชีวิตที่ดี ซึ่งต่างกับโรมันที่วิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์ไม่มีอะไรใหม่เลย แต่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามาก ตรงนี้มีนักมานุษยวิทยาบางคนเคยอธิบายไว้ว่าเพราะสังคมกรีกเป็นสังคมแบบทาส คนเป็นเจ้านายมีชีวิตสุขสบายก็จะมีเวลาคิดไตร่ตรองเรื่องนามธรรม ขณะที่โรมันเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ การค้าเจริญรุ่งเรือง คนส่วนใหญ่ต้องการตอบสนองปัญหาปากท้องจึงคิดเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยตอบสนองความต้องการมากกว่า  

เวลาผมเล่าแบบนี้มักมีนักศึกษาถามว่า ไทยเองก็เป็นสังคมแบบทาส ทำไมวิทยาศาสตร์ ปรัชญาไม่รุ่งเรืองบ้าง (หัวเราะ) เรื่องนี้คงมีหลายปัจจัยนะครับ คนกรีกคงมีอุปนิสัยชอบคิดชอบถกเถียงด้วย

เรารู้แล้วว่าการมองเทคโนโลยีด้วยเลนส์ปรัชญามีประโยชน์อย่างไร แต่ถ้าถามในแง่การดำเนินชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องเข้าใจเทคโนโลยีถึงนิยามและแก่นของมันขนาดนี้ไหม

ผมว่ามันสำคัญมากเลยนะครับ เอาเข้าจริงคำถามทางปรัชญาบางอย่างก็ไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตเลย เช่น ประเด็นความเป็นกลางของเทคโนโลยี ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับชีวิตประจำวันได้ด้วยว่าเรารู้ตัวหรือไม่ว่าบางอย่างเราถูกมันควบคุมอยู่ อย่างทุกวันนี้เราซื้อของ ชอปปิ้งออนไลน์ บางอย่างเราต้องการมันจริงๆ ใช่ไหม หรือแค่เพราะว่าเราสั่งซื้อได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นแต่ก่อน เราอาจจะยับยั้งชั่งใจคิดอยู่นานว่าจะซื้อดีไม่ซื้อดี แต่ทุกวันนี้เราคิดว่าลองดู คลิกแปบเดียว ของก็มาล่ะ นี่เราอาจจะไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าเทคโนโลยีมันเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการตัดสินใจตลอดจนวิถีชีวิตเราอย่างไร และถึงแม้หลายคำถามอาจดูเหมือนไม่สำคัญในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเราต้องการพัฒนาความรู้ที่เป็นของสังคมเราเอง อย่างที่มักถามกันอยู่เสมอว่าทำไมความรู้วิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีไม่ก้าวหน้าในสังคมไทย เราก็คงต้องรู้จักพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้ให้ดีพอ อย่างน้อยถ้าเราพยายามทำความเข้าใจผ่านเลนส์ของปรัชญา ความรู้ของเราจะไม่จำกัดอยู่แค่มุมมองเดียว มันจะเปิดให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่ามีความรู้อื่นๆ ช่องทางแบบอื่นๆ อยู่

เวลาที่เห็นเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนารุดหน้า คำถามคลาสสิกที่มักเกิดขึ้นในวงการนักปรัชญาเทคโนโลยีคืออะไร

เป็นคำถามที่ผมเกริ่นไว้แล้ว คือตัวเทคโนโลยีมีสารัตถะหรือไม่ สารัตถะในที่นี้คือความเป็นแก่นแท้ หรือสิ่งที่ทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น ไม่เป็นสิ่งอื่น เวลาเราบอกว่าตัวเทคโนโลยีมีสารัตถะ ก็คือมีคุณค่าบางอย่างมาตั้งแต่ต้น แล้วคุณค่าที่ว่านี้จะเป็นตัวกำหนด ควบคุมเราให้เป็นไปตามวิถีของเทคโนโลยี ซึ่งนำไปสู่คำถามเรื่องความเป็นกลางของเทคโนโลยีว่าแท้จริงแล้ว มันเป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือที่เรานำมาใช้รองรับความต้องการของเราหรือมันสามารถพัฒนาคุณค่าอะไรบางอย่างให้เรายึดถือด้วย

แนวโน้มความเห็นส่วนใหญ่อาจจะเป็นแบบแรกในยุคเริ่มต้น แต่พอเทคโนโลยีก้าวหน้ามากๆ คนและนักปรัชญาเริ่มมองเห็นแล้วว่ามันกำหนดสังคมและมนุษย์ได้ กลายเป็นคำถามว่าถ้ามันกำหนดเราได้ เราจะจัดการหรือเข้าใจมันแบบไหน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ เมื่อก่อนเวลาผมนัดกับใครสักคน เราจะนัดเวลาและสถานที่ที่แน่นอนเป๊ะๆ เลย เพราะระหว่างทางติดต่อกันไม่ได้ มือถือก็ไม่มี ต้องโทรผ่านตู้โทรศัพท์ หรือออกจากบ้านมาแล้วก็ต้องรออย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้เรานัดเพื่อนแบบกะๆ เอาก็ได้ เจอกันที่เซนทรัลประมาณบ่ายสองนะ ไปถึงแล้วจะนัดเจอตรงไหนค่อยว่ากัน เทคโนโลยีมันเปลี่ยนรูปแบบหรือวิถีชีวิตบางอย่าง รวมถึงเปลี่ยนแปลงคุณค่าบางอย่างในชีวิตเราด้วยซ้ำ

ตัวอย่างคุณค่าที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ ความเร็ว เทคโนโลยีบอกว่าความเร็วคือสิ่งที่ดีที่สุด สมัยนี้ถ้าเราไปซื้อคอมพิวเตอร์ คงไม่บอกกับคนขายว่าขอเครื่องที่ไม่เร็วมาก แค่ใช้ได้ก็พอใช่ไหมครับ เราจะขอแบบเร็วที่สุด เมื่อก่อนเราต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ รอหลายนาทีกว่ามันจะมันติดได้ แต่ทุกวันนี้ต่อให้เปิดเครื่องมาแล้วต่ออินเทอร์เน็ตได้เลย บางคนก็ยังบ่นว่าช้า หรือกระทั่งเวลาเราไปขึ้นรถไฟฟ้า บางคนต่อให้รู้ว่ารถคันใหม่จะมาไม่เกิน 15 นาทีก็รอไม่ได้ เราต้องเบียดเข้าไปในรถคันแรกที่มาถึง เพราะอยากเร็วที่สุด ไม่รู้ว่าจะรีบไปไหน ถ้าตอนนั้นรีบร้อนก็ไม่เป็นไร แต่หลายคนไม่รู้ตัว ไม่ได้รีบด้วย แค่อยากไปให้เร็วที่สุดก็พอ ผมเชื่อว่าในชีวิตประจำวัน เราแทบไม่ฉุกใจคิดแล้วว่าสิ่งที่เราคิดว่ายิ่งเร็วยิ่งดีมีที่มาจากไหน

นอกจากคำถามเรื่องสารัตถะและความเป็นกลาง เทคโนโลยียุคใหม่สร้างคำถามใหม่ให้แก่วงการปรัชญาบ้างไหม

อันที่จริง หลายคำถามที่เราถามเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ยังเป็นคำถามเดิมของปรัชญานะครับ เพียงแต่มีรายละเอียดหรือความท้าทายในการตอบคำถามมากขึ้น อย่างคำถามทางจริยศาสตร์ ควร ไม่ควร นี่อยู่คู่กับมนุษย์มาตลอดประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ ฉะนั้นมีหรือไม่มีเทคโนโลยี คำถามพวกนี้ก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่เทคโนโลยีมาเพิ่มรายละเอียดและท้าทายด้วยสถานการณ์ใหม่ๆ ตลอด ตัวอย่างเช่น เราจะยอมให้ใช้เทคโนโลยี GMO กับสังคมเราหรือเปล่า สมัยกรีกอาจจะไม่มีคำถามเรื่อง GMO เพราะมันยังไม่มี แต่คำถามเรื่องควรไม่ควร ตลอดจนคำถามถึงชีวิตและสังคมที่ดี ก็ยังคงมีอยู่ตลอด หรือคำถามที่ว่า เราควรอยู่กับ AI ยังไง การถามว่าควรไม่ควรก็มาตั้งแต่สมัยกรีกแล้วว่าเราจะมีชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมกับคนอื่นยังไง เพียงแต่โจทย์เป็น AI ที่วันหนึ่งอาจจะมีศักยภาพไม่ต่างจากมนุษย์เลย นี่ก็เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี

หรือในเมตาเวิร์ส ประเด็นบางอย่างเราก็ถามกันมาตั้งแต่ยุคเพลโตแล้ว แค่มีความท้าทายและรายละเอียดที่ต่างออกไป

ประเด็นในเมตาเวิร์สเรื่องอะไรที่เราถามกันมาตั้งแต่ยุคเพลโต

เป็นประเด็นเรื่องความเป็นจริงหรือ Reality สมัยนั้นมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า Reality และสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ Appearance หรือปรากฏการณ์ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราไม่จำเป็นต้องเป็นจริง เช่น ภาพมิราจบนท้องถนน หรือดวงอาทิตย์ที่ลอยข้ามหัวเราในแต่ละวัน ทำไมตอนเช้าดูมีขนาดกลางๆ ข้ามไปตอนเที่ยงตรงมีขนาดเล็กแต่กลับร้อนมาก ข้ามไปตอนเย็น ดวงอาทิตย์มีลักษณะดวงกลมโต แต่เรารู้สึกเย็นขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ดูเหมือนดวงอาทิตย์เปลี่ยนขนาด แต่จริงๆ มันไม่ได้เปลี่ยน

Reality เป็นสิ่งที่ในทางปรัชญาอยากรู้มาเป็นพันๆ ปีว่ามันคืออะไรกันแน่ ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอด จากยุคเพลโต อย่างเรื่องถ้ำของเพลโตก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการถกเถียงเรื่องความเป็นจริงกับปรากฏการณ์ ต่อมาถึงยุค เรอเน เดการ์ต (René Descartes) ก็ตั้งคำถามขึ้นมาอีกว่า สิ่งที่เป็นโลกภายนอกหรือ External World หรือสิ่งอื่นๆ ที่พ้นไปจากตัวเรามันมีอยู่จริงไหม  มาถึงช่วงร่วมสมัยก็มีความคิดของ ฮิลารี พัตนัม (Hilary Putnam) เรื่อง Brain in a vat หรือสมองในอ่างสารเคมีที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่อง The Matrix สมมติว่าถ้าเราเป็นเพียงสมองที่ถูกเลี้ยงในอ่างสารเคมี การรับรู้ต่างๆ เกิดจากการการเสียบปลั๊กส่งกระแสไฟฟ้าเข้ามาในสมอง ตั้งแต่กำเนิดจักรวาล ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกับเสียบปลั๊กกระแสไฟฟ้านี้ การรับรู้ที่ผ่านมาของเราเป็นความเป็นจริงหรือไม่ โลกภายนอกตัวเราคือความเป็นจริงหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม สุดท้ายดูเหมือนที่ผ่านมาเราก็ยังคิดในแง่การแยกสิ่งที่เป็น Reality กับสิ่งที่ไม่ใช่ Reality อยู่ดี

คำถามอาจจะเริ่มเปลี่ยนไปในยุคที่เกิด Simulator สร้างโลกเสมือนจริง ว่าสิ่งนี้ถือเป็น Reality ด้วยไหม เราอาจเรียกมันว่า Virtual ซึ่งคำว่า Virtual มาจากภาษาละตินคำว่า Virtualis อันมีที่มาจากคำภาษากรีกว่า Dunaton อีกที Dunaton หมายถึง สิ่งที่เป็นไปได้ possible หรือ ability ก็ได้ อริสโตเติลใช้คำนี้ในความหมายที่ตรงข้ามกับ Reality แต่ถ้าหากเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเมตาเวิร์สเข้าใกล้ Reality มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนจริงมากยิ่งๆ ขึ้นไป จนสุดท้ายมันไม่ต่างกันล่ะ คำถามที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ แล้วมนุษย์จะเป็นอย่างไร ความเข้าใจที่มนุษย์มีทั้งต่อตัวเองและสิ่งอื่นในจักรวาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มนุษย์คืออะไรกันแน่ถ้าหากว่าความเข้าใจต่อประเด็นเรื่องความเป็นจริงนั้นเปลี่ยนไป

ว่าด้วยคำถามที่ว่ามนุษย์คืออะไร ก่อนหน้านี้มีนักปรัชญาเสนอคำตอบว่าอย่างไรกันบ้าง

คำถามนี้เป็นหนึ่งในคำถามทางอภิปรัชญาซึ่งถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผมขอยกมาคุยบางแง่มุมแล้วกัน เวลาเราทำความเข้าใจว่ามนุษย์คืออะไร คำถามนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นมาโดดๆ แต่มันสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ของมนุษย์ อย่างในจริยศาสตร์ มนุษย์เป็น Moral Agent หรือผู้กระทำทางศีลธรรม ต่างจากสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พอเป็นผู้กระทำทางศีลธรรมได้หมายความว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรีหรือสามารถกำหนดตัวเองได้ (autonomy) มีอิสระที่จะทำสิ่งต่างๆ และตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งการกำหนดตัวเองได้หมายความว่าถ้าหากเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็น Moral Dilemma หรือความขัดแย้งทางศีลธรรมแล้วสามารถตัดสินใจได้ด้วยนะครับ

เพราะเรามีเจตจำนงเสรีเต็มที่ที่จะกระทำการทางศีลธรรมได้ ดังนั้นการกระทำของเรา เราต้องรับผิดชอบ กลับกันถ้าเราถูกบังคับ ไม่ได้ตัดสินใจทำด้วยตัวเอง การจะบอกว่าการกระทำของเราถูก ผิด น่าชื่นชม หรือควรประณาม มันอาจไม่มีความหมายเลยก็ได้

แต่ปัญหาต่อมาคือถ้ามีสิ่งอื่นที่สามารถกระทำการทางศีลธรรม ตัดสินหรือกำหนดตัวเองได้ สิ่งนั้นถือว่าเป็นมนุษย์หรือเปล่า ในหนังเรื่อง Blade Runner ปี 1982 มีฉากหนึ่งที่หุ่นยนต์ช่วยพระเอกซึ่งตกอยู่ในอันตราย ทั้งที่แต่ก่อนสู้กันมาตลอด นี่เป็นตัวอย่างคำถามว่าถ้า AI มีสำนึกทางศีลธรรม เป็นผู้กระทำการศีลธรรมได้ ถ้าอย่างนั้น AI เป็นมนุษย์เหมือนกันหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งสัตว์บางชนิดที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ช่วยเหลือสัตว์อื่นได้ ถ้าอย่างนั้นมีสัตว์บางประเภทที่เป็นมนุษย์ได้ไหม ถ้าเราใช้สำนึกทางศีลธรรมหรือความเป็น Moral Agent นี้เป็นเกณฑ์ ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะเอายังไง

เคยมีคนเสนอว่านิยามมนุษย์อยู่ที่ความคิดและดูได้จากความเข้าใจในภาษา ครั้งหนึ่งมีนักปรัชญาเสนอการทดลองทางความคิด (thought experiment) ที่เรียกว่า ‘ข้อถกเถียงเรื่องห้องภาษาจีน’ โดยนำหุ่นยนต์มาตอบคำถามภาษาจีน ทั้งๆ ที่หุ่นไม่รู้ภาษาจีนเลย แต่มีคู่มือ วิธีการใช้คำให้ ปรากฏว่าหุ่นสามารถตอบคำถามได้ถูกทุกครั้ง จึงมีคนตั้งคำถามว่าหุ่นนี้เข้าใจภาษา สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง เราสามารถนับหุ่นยนต์นี้เป็นมนุษย์ได้ไหม ก็มีคนเถียงว่าการตอบถูกทุกครั้งไม่ได้หมายความว่าหุ่นเข้าใจ แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่ามันไม่เข้าใจ ในเมื่อต่อให้เอามนุษย์มาตอบก็คงตอบคำถามแบบเดียวกัน เราจะมั่นใจได้ยังไงว่ามนุษย์มีความเข้าใจต่างไปจากหุ่นยนต์ การที่บอกว่าหุ่นยนต์ไม่เข้าใจนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดเอง หรือ เป็น wishful thinking ของมนุษย์เองหรือเปล่าที่เราอยากให้เป็นอย่างนั้น 

นอกจากนิยามที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้กระทำการทางศีลธรรม หรือ Moral Agent มีนิยามอื่นๆ อีกไหมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ

ในทางอภิปรัชญาจะมีเรื่องความคิดหรือจิต ที่เราถามกันบ่อยๆ ว่า AI คิดได้ไหม ถ้าคิดได้ก็เป็นมนุษย์ ทุกวันนี้แม้ว่าเราจะเห็นความก้าวหน้าของ AI แต่มันยังอยู่ในระดับ Narrow AI หรือยังทำงานเฉพาะอย่างอยู่ AI ในระดับที่เป็น General หรือ Super ยังไม่มี แต่ก็ไม่แน่ว่า สักวันหนึ่งถ้าเราพัฒนา AI ไปเรื่อยๆ คำถามจะวนกลับมาว่ามันนับเป็นมนุษย์ไหมถ้ามันคิดได้ ปัญหาเลยอยู่ที่ว่าเราจะนิยามมนุษย์ยังไง จะใช้ความคิด ภาษา ความเข้าใจ หรือศีลธรรม วนกันอยู่แบบนี้ เป็นประเด็นที่เถียงกันมานาน

เมื่อเมตาเวิร์สมาถึง เราล้วนมีตัวตนอีกแบบหนึ่งในโลกดิจิทัล มันจะสั่นสะเทือนถึงนิยามความเป็นมนุษย์ที่เราเคยเข้าใจไหม

แน่นอน อย่างน้อยที่สุดถ้าที่ผ่านมาเราเข้าใจว่ามนุษย์มีร่างกาย (physical) มีความรู้สึกนึกคิด (mentality) มีสำนึกรับรู้ (consciousness) ในโลกจริงตัวตนทางกายภาพของเราก็ถือว่าสำคัญ เพราะเวลาเราจะระบุถึงใครหรือระบุถึง personal identity รูปลักษณ์ทางกายยังมีส่วนสำคัญอยู่ แต่พอถึงยุคเมตาเวิร์สที่พัฒนาจนครอบคลุมชีวิตทุกคนอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ทำให้คนรับรู้ประสบการณ์ทุกอย่างผ่านตาหูจมูกลิ้นกายได้ไม่ต่างจากโลกจริง มันจะสร้างความเข้าใจที่มีต่อตัวมนุษย์ใหม่อย่างแน่นอน คำถามจะกลับมาว่าแท้จริงแล้วมนุษย์คืออะไร ที่ผ่านมาเราเข้าใจผิดมาตลอดหรือเปล่า จริงๆ มนุษย์เป็นเพียงแค่ consciousness สำคัญที่การรับรู้เท่านั้น กายภาพไม่สำคัญเลยหรือเปล่า

เราจะเรียกตัวตนดิจิทัลในเมตาเวิร์สว่าเป็นมนุษย์ได้หรือ

ถ้าเรายอมรับนิยามว่าตัวตนของมนุษย์สำคัญที่การรับรู้ การที่เราร้อน เราหนาว เรารู้สึกเจ็บปวด นั่นคือความเป็นมนุษย์ แล้วตัวตนในเมตาเวิร์สจะต่างอะไรกับตัวตนของเราทุกวันนี้ล่ะ

เวลาเราพูดถึง Virtual หรือโลกเสมือนจริงเนี่ย เรามักมีเซนส์ว่ามันไม่ใช่ความจริง เช่นเดียวกับที่บางครั้งเราฝันว่ากำลังวิ่งแล้วตื่นมารู้สึกเหนื่อย ฝันว่าเจอสิ่งที่น่ากลัว ตกใจ กระทั่งตื่นมายังใจสั่นอยู่ เรารับรู้แทบไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ไปเจอมาในฝัน แต่เรากลับบอกว่าความฝันนั้นไม่จริง เกมที่สร้างขึ้นมาให้เราเข้าไปเล่นก็เหมือนกัน ทุกอย่างเราบอกว่าไม่จริงหมดเลย แต่แปลกตรงที่เวลาเราเล่นกีฬา อย่างฟุตบอล เราไม่ได้รู้สึกว่ามันไม่จริงใช่ไหม คำถามคือแล้วสิ่งที่เรารับรู้อยู่ตอนนี้ โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่นี่เป็นจริงไหม?

ผมพยายามแสดงให้เห็นเส้นแบ่งที่เลือนรางระหว่างคำว่าจริงกับไม่จริง เพราะบางครั้งถ้าเราผูกติดอยู่กับแค่อะไรบางอย่าง แค่มีกายภาพ มีตัวตนให้จับต้องเท่ากับจริง แค่นั้นมันก็ …

จำกัดความคิด?

ใช่ และจะมีปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น ถ้าเราไม่รับรู้มัน มันก็ไม่มีอยู่หรือไง เราเล่นเกม เราดูหนัง เราอินไปกับมัน เกิดอารมณ์ความรู้สึกขึ้นในตัวเราจริงๆ แต่คนกลับมองว่าไร้สาระ ไม่มีตัวตนจริง

ผมคิดว่าเมื่อโลกเสมือนจริงเข้ามาหลอมรวมเข้ากับชีวิตและตัวตนของเรา มันจะท้าทายความเข้าใจเรื่องมนุษย์ที่มีมาแต่เดิม น่าจะทำให้เราเขยิบเข้าใกล้ความเข้าใจต่อตัวมนุษย์ที่แท้จริงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ปิดกั้นว่ามันเป็นเพียงโลกจำลอง ไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรก

พออาจารย์พูดถึงแนวคิดเรื่องการรับรู้ความจริง ทำให้เรานึกถึงนิยาย 1984 (วรรณกรรมดิสโทเปียของ จอร์จ ออร์เวลล์) ตัวเอกอยู่ในสังคมที่โดนควบคุมข้อมูล ประวัติศาสตร์ทุกอย่าง ในตอนสุดท้าย สิ่งที่เขาเคยเจอมาทั้งหมดตลอดเรื่องถูกลบหายไป ไม่ถูกเก็บบันทึก มีเพียงเขาที่รับรู้มันคนเดียว กลายเป็นคำถามว่าสุดท้ายสิ่งที่เขาเจอเป็นความจริงไหม ความจริงต้องเป็นสิ่งที่เราและคนอื่นรับรู้ร่วมกันหรือเปล่า

ก็มีคนกลุ่มหนึ่งมองว่าความจริงเป็น Social Construct หรือสิ่งประดิษฐ์สร้างทางสังคม ซึ่งก็มีคำถามเหมือนกันครับว่าสิ่งที่เรารับรู้ซ้ำๆ มาทั้งชีวิตเป็นความจริงแท้หรือไม่ หรือเป็นเพียงอุดมการณ์บางอย่างที่เราคิดว่ามันดี มันงาม พอหลายคนแชร์การรับรู้ร่วมกันจึงกลายเป็นความจริงขึ้นมา แล้วจะต่างอะไรกับการที่เราและคนอื่นๆ เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงล่ะ อย่างทุกวันนี้สังคมไทยเราจะต่างอะไรกับการอยู่โลกเสมือนจริงล่ะ ว่าไหม (หัวเราะ)

พูดถึงตรงนี้ ผมไม่ได้หมายความโลก Virtual จะดีทุกอย่างนะครับ แต่ผมว่าเราอย่าเพิ่งปฏิเสธมัน สิ่งหนึ่งที่ปรัชญาเน้นเสมอคือเรื่องของความเป็นไปได้ เปิดพื้นที่ให้คำตอบที่หลากหลาย อย่างน้อยที่สุด ต่อให้มันไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด แต่เราก็ยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หนทางใหม่ๆ ไปได้เรื่อยๆ

ถึงตอนนี้ อาจารย์มองว่าเมตาเวิร์สน่าจะมอบข้อเสนออะไรใหม่ให้แก่วงการปรัชญาแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนบ้างไหม

มีหนังสือเล่มหนึ่งเพิ่งออกมาเลย ชื่อ ‘Reality+: Virtual Worlds and the Problems of Philosophy’ ของ เดวิด ชาลเมอร์ส (David Chalmers) เขาเป็นนักปรัชญาจิตที่สนใจเกี่ยวกับ consciousness และหันมาสนใจเรื่องเทคโนโลยีด้วย Chalmers เรียกสาขาที่ตนเองสนใจว่า Technophilosophy เหมือนชื่อเรียกวิชานี้ในยุคเริ่มต้นเลย ไม่ได้เรียก Philosophy of Technology อย่างที่แพร่หลายในปัจจุบัน เพราะเขามองว่าปรัชญาไม่ได้ช่วยอธิบายเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เข้ามาช่วยตอบคำถามทางปรัชญาด้วย

ชาลเมอร์สใช้เวลาสองปีที่เกิดวิกฤตโควิดเข้าไปในห้องแชทออนไลน์ เล่นเกม ทำกิจกรรมต่างๆ ในโลก Virtual จนพบว่าโลกเสมือนจริงเหล่านี้ ที่อาจรวมถึงเมตาเวิร์สด้วย มันให้มุมมองใหม่ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับความเข้าใจของเราที่มีต่อประเด็นเรื่อง identity เรื่อง consciousness เรื่อง agency เขาเสนอในหนังสือเล่มนี้ว่า Virtual Reality ต่อไปนี้ คือ Reality ที่แท้จริง หรือ Genuine Reality อีกไม่เกินสองถึงสามทศวรรษนี้ เราจะแยก Virtual Reality และ Physical Reality ออกจากกันไม่ได้ สิ่งที่เราถามกันว่าเส้นแบ่งจะอยู่ที่ตรงไหนมันไม่มีความหมายแล้ว เพราะสุดท้าย สิ่งที่ชาลเมอร์สเรียกว่า Simulated Avatar หรือตัวเราในเมตาเวิร์สจะกลายเป็นสิ่งที่มีสำนึกรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ไม่ต่างจากตัวมนุษย์ และจะรับรู้ได้อย่างสมบูรณ์ มีสิทธิ ความรับผิดชอบ และสามารถปกป้องตัวตนทางกายภาพของเราได้พร้อมกันด้วย

ทั้งนี้ เราอาจจะต้องรอดูเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นก่อนนะครับ ทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์ของเขาเท่านั้น แต่ผมคิดว่าจากที่ผ่านมา โควิดทำให้เราเริ่มเห็นสเต็ปแรกของการหลอมรวมกันระหว่างโลกกายภาพกับโลกเสมือนจริง ทุกวันนี้เราซื้อของ เรียน ทำงาน ประชุมพูดคุยกันบนโลกออนไลน์ เราเขยิบเข้าไปใกล้โลกเสมือนจริงหรือโลกดิจิทัลเรื่อยๆ แล้ว ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ในอนาคตที่หลอมรวมกันโดยสมบูรณ์

แต่ข้อเสนอของชาลเมอร์สก็นำมาสู่ข้อถกเถียงทางปรัชญาอื่นๆ เช่นกัน เช่น ประเด็นเรื่อง Existence หรือการมีอยู่ เป็นปัญหาใหญ่ในอภิปรัชญาหรือภววิทยา (ontology)

เราอยากรู้ว่าการมีอยู่มันเป็นยังไง การมีอยู่เป็นคุณสมบัติที่ทุกสิ่งต้องมีไหม เราอาจจะคิดว่า อ้าว มันก็ต้องมีสิ แบบนี้คือเราคิดว่าการมีอยู่เหมือนเป็นคุณสมบัติติดตัว แต่นักปรัชญาบางคนไม่ได้คิดแบบนั้น เขามองว่าการมีอยู่เป็นคุณสมบัติลำดับที่สองของสิ่งต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การที่เราบอกว่า ‘พระเจ้ามีอยู่’ กับ ‘ดวงอาทิตย์ส่องแสง’ การมีอยู่ไม่เหมือนกับการส่องแสง การส่องแสงติดอยู่กับดวงอาทิตย์ เป็นคุณสมบัติของวัตถุนั้น ส่วนการบอกว่า ‘พระเจ้ามีอยู่’ เราต้องรู้ก่อนว่าพระเจ้าคืออะไร มีคุณสมบัติแบบไหน เช่น พระองค์ทรงอยู่ได้ทุกที่ รู้ทุกอย่าง ทำได้ทุกสิ่ง เราต้องรู้แบบนี้ก่อนถึงบอกได้ว่าพระเจ้ามีอยู่หรือไม่มีอยู่ ดังนั้น การมีอยู่จึงคล้ายกับว่ามาทีหลัง

สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือ การมีอยู่มีเฉพาะในสิ่งที่มีกายภาพหรือเปล่า เช่น ตัวเลข มีอยู่จริงหรือเปล่า นักคณิตศาสตร์อาจบอกว่ามีอยู่จริง แต่นักปรัชญาบางคนอาจบอกว่าไม่ เราเห็นก้อนหินสามก้อน จึงใช้จำนวน 3 มาแทน ถ้านักคณิตศาสตร์เชื่อว่ามีอยู่ แล้วจำนวน 3 ต่างจากยูนิคอร์นไหม คุณบอกว่ายูนิคอร์นเป็นเรื่องแต่ง แต่จำนวน 3 เราก็แต่งขึ้นมาเหมือนกันนี่ ในอภิปรัชญา เราเรียกสิ่งนามธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นว่าเป็น Fictional Things คือมีอยู่ในฐานะเป็นสิ่งที่มนุษย์เสริมเติมแต่งขึ้น แล้วทีนี้ เมตาเวิร์สจะมี Existence แบบไหนล่ะ

ทีนี้ มาถึงเรื่องของจิตหรือความคิด (mind) ที่เรามักถกเถียงกันมีอยู่จริงไหมในตัวมนุษย์ ถ้าเรา ‘คิด’ ว่ามีอยู่ แล้วยูนิคอร์นกับตัวเรามีสถานะต่างกันไหม ซึ่งนักปรัชญาบางคนก็เสนอความคิดอีกแบบว่ามันมีอีกโลกหนึ่งที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ อย่าง Alexius Meinong เห็นว่าถ้าสิ่งไหนมีคำบรรยาย สิ่งนั้นถือว่ามีอยู่ ต่อให้บรรยายขัดแย้งในตัวเองก็ตาม เช่น ถ้าเราบอกว่าสี่เหลี่ยมกลม วงกลมสี่เหลี่ยม เราบรรยายมันได้ เท่ากับมันมีอยู่ แต่นั่นแสดงว่าจักรวาลว่าด้วย ‘การมีอยู่’ ของเขามันเยอะมาก คนจึงวิจารณ์ว่ามันฟุ่มเฟือยเกินไป

นอกจากนี้ ยังมีนักอภิปรัชญาพวกหนึ่งเสนอว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่า Possible World หรือโลกที่อาจเป็นไปได้อยู่ เป็นโลกที่มียูนิคอร์น โลกที่ประเทศไทยไม่มีประยุทธ์เป็นนายกฯ ไม่มีการรัฐประหาร โลก Possible World แตกต่างจาก Actual World ของเราแค่อย่างเดียว คือเราใช้คำจำพวก ‘ที่นี่’ ‘ตอนนี้’ ได้แค่ใน Actual World เท่านั้น นอกนั้นเหมือนกับโลกของเราหมดเลย แค่เราก้าวไปยัง Possible World ไม่ได้  

ถามว่าพวกนักปรัชญาคิดเรื่องแบบนี้มาทำไม เราคิดมาเพื่อพูดถึงสถานการณ์ที่มันเป็นไปได้ เรื่องเมตาเวิร์สที่กำลังจะมาถึงจะเข้ามาท้าทายปัญหาเรื่อง Existence การมีอยู่ในทางอภิปรัชญาเช่นกัน ว่าการมีอยู่ของเรา สุดท้ายคืออะไร นอกจากนั้นการมีอยู่ของเรานั้นเป็นจิต เป็นวิญญาณ เป็นสมอง กระบวนการทำงานของสมองและระบบประสาทหรืออะไร มันจะทำให้เราหันมาทบทวนทำความเข้าใจเรื่องนี้อีกครั้ง

อาจารย์พอเห็นภาพไหมว่าในโลกเมตาเวิร์สจะมีโจทย์ทางศีลธรรมหรือการดำเนินชีวิตอะไรที่เข้ามาท้าทายเราบ้าง

ผมคิดว่าสุดท้ายเมื่อเราอยู่ในเมตาเวิร์ส มันจะกลับมาที่คำถามพื้นฐานซึ่งถามกันมานานว่าเราจะมีชีวิตที่ดีได้ยังไง และคำถามทางจริยธรรมที่เคยมีอยู่อาจจะซับซ้อนมากขึ้น คำถามแรกเลยอาจจะเป็นคำถามที่ว่า เราควรอนุญาตให้มีเมตาเวิร์สในสังคมเราไหม เมตาเวิร์สจะพาเราไปสู่ชีวิตที่ดีได้หรือไม่ ส่วนคำถามอื่นๆ ที่ตามมาก็คงขึ้นอยู่กับรายละเอียดของผลกระทบจากเมตาเวิร์สที่มีต่อมนุษย์นั้นจะมากน้อยขนาดไหน

ผมลองยกตัวอย่างเล่นๆ ที่น่าจะเป็นไปได้ละกันว่า ถ้าเราฆ่าคนในเมตาเวิร์สถือว่าผิดไหม ในทางศาสนาจะถือว่าเป็นบาปหรือเปล่า ในช่วงหลังเริ่มมีคนสนใจว่าเวลาเราเล่นเกม ฆ่าตัวละครในเกมแล้วบาปไหม ซึ่งก็มีคำตอบอยู่หลายแบบ แต่คำตอบหนึ่งที่น่าสนใจ ลองเปรียบเทียบดูก็ได้ คือมีนักปรัชญาคนหนึ่งตอบคำถามว่าทำไมเราถึงไม่ควรทำร้ายหรือฆ่าสัตว์ แม้เขาเองก็เห็นว่าสัตว์ไม่มีสมรรถนะทางศีลธรรม ไม่มีความคิด แต่เหตุที่เราไม่ควรทำร้ายสัตว์และควรคิดว่าสัตว์ก็มีสิทธิเพราะถ้าเราทำร้ายสัตว์มากๆ ต่อไปเราอาจติดนิสัยมาทำกับคน เหมือนกันครับ การที่เราฆ่าตัวละครในเกมไม่ยั้งก็มีคนตั้งคำถามว่าจะทำให้เราติดนิสัยมาทำกับคนจริงๆ ง่ายขึ้นหรือเปล่า

เรื่องความท้าทายทางศีลธรรมในเมตาเวิร์สถ้าหากยังนึกไม่ออก คงไม่ต้องมองที่ไหนไกล ผมจะยกตัวอย่างหลักจริยธรรมที่สังคมไทยคุ้นเคย อย่างเรื่องศีล 5 ก็ท้าทายทุกข้อแล้ว เราสามารถฆ่าอวตารอีกตัวหนึ่งได้ไหม บางคนอาจคิดว่าฆ่าตายก็สร้างใหม่ได้ แต่สำหรับคนที่หวงแหนตัวตนนี้มากๆ ล่ะ ถือว่าเราละเมิดใน ‘ชีวิต’ คนอื่นหรือไม่ ถ้าในโลกนั้นมีเงื่อนไขที่สร้างอวตารใหม่ยังไงก็ไม่เหมือนเดิมล่ะ จะเป็นยังไง

หรือการลักขโมยของออนไลน์ คอนเซปต์เรื่องการขโมยจะใช้แบบเดียวกันในโลกจริงไหม เรื่องกาเมสุมิจฉา การผิดลูกผิดเมีย ตัวตนที่เราเป็นแค่อวตารจะมีกิ๊กได้หรือเปล่า บางศาสนาอาจมองว่าแค่เจตนาก็ผิดแล้ว ถึงไม่ผิดมากเท่าลงมือทำ ก็ว่ากันไป แต่ถ้าเราลงมือทำโดยผ่านการคิดไตร่ตรองมาแล้ว เพียงแค่มันดูเหมือนไม่ใช่คนจริงๆ แบบนี้จะมีปัญหาอะไรไหม 

ปัญหาในเมตาเวิร์สส่วนใหญ่คงไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในโลกกายภาพของเราเท่าไหร่ แค่มันจะซับซ้อนขึ้น อย่างการล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) การเหยียด (racism) การกลั่นแกล้งรังแก (bully) ผมคิดว่ายังไงก็มี นี่ยังไม่ต้องนับถึงปัญหาใหญ่ๆ อย่างเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคความเท่าเทียม อะไรพวกนี้เลย เป็นปัญหาอย่างแน่นอน

น่าสนใจว่าประเด็นทางศีลธรรมที่ในโลกจริงเราเซ็ตตัวแล้ว พอเปลี่ยนไปอยู่ในเมตาเวิร์ส ทุกอย่างอาจจะรีเซ็ตใหม่ ถูกตั้งคำถามใหม่หมดเลย

มันอาจจะตรงกันข้ามกับโลกกายภาพของเราไปเลย มีกฎเกณฑ์ที่ต่างออกไปเลยก็เป็นไปได้ ตอนนี้เราอาจจะยังนึกไม่ค่อยออกว่ามันไปถึงขั้นไหน แต่ผมคิดจากมุมมองของชาลเมอร์สว่าสุดท้ายมันก็คงไม่ต่างจากโลกจริง สองโลกกลืนเข้ามาเป็นโลกเดียวกัน และเขาก็คิดว่าในเมตาเวิร์สก็มีทั้งแง่บวกและลบ ไม่ได้ดีไปเสียทั้งหมด หรือเลวร้ายไปเสียทั้งหมด

ในโลกเมตาเวิร์สที่มีผู้พัฒนาแพลตฟอร์มอยู่เบื้องหลัง หรือแม้แต่ปัจจุบันที่ชีวิตเราถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและอัลกอริทึม ประเด็นเรื่องเจตจำนงเสรี (free will) ของมนุษย์ถูกสั่นสะเทือนไปอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการตัดสินใจของเราเกิดจากเจตจำนงเสรี

สำหรับ free will ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เวลาเรามองว่ามนุษย์คนหนึ่งมีเจตจำนงเสรี นั่นแสดงว่าเขากำหนดตัวเองได้ แต่ถ้ากลไกของข้อมูล อัลกอริทึมเข้าใจเราทุกอย่าง คำถามที่ว่าเทคโนโลยีเข้ามากำหนดการดำเนินชีวิตของเราหรือเปล่า ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้มันซับซ้อนคือ เรารู้ตัวหรือไม่ว่าการตัดสินใจของเรามีอะไรชักจูง บังคับหรือเป็นเงื่อนไข แนวคิดที่เรียกว่า Compatibilism (เป็นความคิดที่มาประนีประนอมระหว่างแนวคิดเรื่องเจตจำนงเสรีกับนิยัตินิยม เสนอว่าการกระทำที่เกิดจากแรงปรารถนาภายในตัวเราและไม่มีการบังคับจากภายนอกก็ถือว่ามีเจตจำนงเสรี) อาจมองว่าถ้าการตัดสินใจนั้นไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอกหรือมีคนอื่นเข้ามาแทรกแซง นั่นเท่ากับเรามีเสรีภาพแล้ว แต่สำหรับผม ผมมองว่าตอนนี้เราอาจจะไม่มีเสรีภาพแล้วก็ได้ เพราะถูกเทคโนโลยี shape ให้เราตัดสินใจไปเกือบหมดแล้ว

ขณะเดียวกัน ถ้ากลับไปที่ประเด็นสารัตถะของเทคโนโลยี มันก็มีคนคิดว่านอกจากเทคโนโลยีกำหนดเรา เปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา เรายังกำหนดเทคโนโลยีได้ด้วย พวกนี้เรียกว่า Critical Theory of Technology หรือทฤษฎีเทคโนโลยีเชิงวิพากษ์ ซึ่งเสนอว่าเราควรวิพากษ์วิจารณ์การกำหนดออกแบบนโยบาย ทั้งในแง่การสร้างเทคโนโลยีและการควบคุมกำกับเทคโนโลยี เพราะที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นปัญหาคือตัวสถาบันที่คอยควบคุมกำกับการใช้เทคโนโลยี ถ้าสมมติเจ้าของบริษัทเมตาเวิร์สจะควบคุมกำกับทุกอย่างให้เอื้อต่อธุรกิจของเขา ก็คงเหมือนการที่เราวิพากษ์วิจารณ์บริษัททุนนิยมใหญ่ๆ ไม่ต่างกัน เราอาจจะออกกฎหมายควบคุมกำกับ หรือตัวเทคโนโลยีอาจจะเข้ามาสนับสนุนตรงนี้ ดูกรณีล่าสุดที่ บริษัท apple ที่อัปเดต ios ไม่ให้อนุญาตเก็บข้อมูลการเข้าถึงต่างๆ ของเราได้ ข้อเสนอของพวกทฤษฎีเทคโนโลยีเชิงวิพากษ์จึงเน้นที่การออกแบบนโยบายการสร้างและจัดการเทคโนโลยีนั่นเอง

แม้จะมีคนแย้งว่าเทคโนโลยีมีบางส่วนที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อินเทอร์เน็ต เราเรียกข้อมูลที่หลุดไปกลับคืนมาไม่ได้ ปิดเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทิ้งทั้งหมดเลยไม่ได้ เป็นประเด็นที่สายทฤษฎีเทคโนโลยีเชิงวิพากษ์ต้องมาตอบคำถามเชิงรายละเอียดเรื่องการควบคุมจัดการอีกที แต่ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจของนักคิดกลุ่มนี้คือแนวทาง democratize technology หรือการทำให้เทคโนโลยีเป็นประชาธิปไตย

ถ้าเรามองว่าเทคโนโลยีสามารถกำหนด พัฒนาคุณค่าอะไรบางอย่างแก่มนุษย์และสังคม รวมถึงมนุษย์และสังคมสามารถกำหนดมันด้วย เราควรทำให้เทคโนโลยีเป็นประชาธิไตย พอตัวมันเองเป็นประชาธิปไตยก็จะเป็นช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น จัดสรรให้ทุกคนเข้าถึง ทำให้ทุกคนมีอำนาจตัดสินใจร่วมกัน อย่าไปฝากชีวิตไว้กับผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญอาจให้ความเห็นในแง่เทคนิคได้ แต่คนตัดสินคือพวกเรา คือเสียงส่วนใหญ่ในสังคม มันอาจจะมีความผิดพลาด ล่าช้าไปบ้าง แต่ถ้าเราเชื่อว่าคนในสังคมประชาธิปไตยเป็นคนมีเหตุผล คนจะค่อยๆ เรียนรู้ร่วมกัน

ถึงสุดท้ายเราอาจจะไม่สามารถควบคุมเทคโนโลยีได้ทั้งหมด แต่การตั้งคำถามต่อเทคโนโลยี การจัดการเชิงสถาบันหรือรัฐที่มีต่อเทคโนโลยีพวกนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และผมคิดว่ากระบวนการทำให้เทคโนโลยีเป็นประชาธิปไตยน่าจะช่วยกู้สิ่งที่เรียกว่า free will กลับมาคืนมาได้บ้าง นอกจากนี้ ผมว่าการตั้งคำถามกับตัวเอง ฉุกคิดสักหน่อยว่าเราตัดสินใจแบบนี้ ซื้อของชิ้นนี้เพราะอะไร เพราะโฆษณาหรือเปล่า คิดให้มากขึ้น ถึงไม่รู้จะช่วยเซฟ free will ได้หรือเปล่า (หัวเราะ) แต่การดำเนินชีวิตในแบบที่เรารู้ตัวก็เป็นสิ่งที่เราควรเป็นไม่ใช่หรือ

อันที่จริงถ้าไม่อยากให้เทคโนโลยีมามีอำนาจกำหนดเรา เราควรจะชิงกำกับตั้งแต่ตอนที่มันเกิดขึ้นใหม่ๆ เลยไหม

พวกต่อต้านเทคโนโลยีหรือลัดไดต์ (Luddite) อาจจะคิดแบบนี้ แต่ผมว่าสุดโต่งไปหน่อย คงไม่เสียหายที่เราจะพยายามทำความเข้าใจมันก่อน เหตุผลที่ปรัชญาเทคโนโลยีเกิดขึ้นก็เพื่อทำให้เราเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น ถ้าเราเข้าใจมัน เราจะจัดการมันได้ง่ายขึ้นและเห็นทางออกที่หลากหลายมากกว่าการไม่เข้าใจ เห็นว่าจัดการมันไม่ได้ ทางออกจะเป็นอีกแบบหนึ่ง

เพียงแต่เรื่องการเกิดสถาบันกำกับควบคุมเทคโนโลยีคงต้องอาศัยรัฐที่มีวิสัยทัศน์พอสมควร -ถ้าในอนาคตรัฐยังจำเป็นอะนะ- เช่น ในสเปนออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิทางดิจิทัลและโลกดิจิทัลแล้ว แต่บ้านเราถือว่าช้าอยู่ ขนาดคริปโตยังมองว่าเป็นการพนัน มันสะท้อนโลกทัศน์ว่าเราไม่พร้อมปรับเปลี่ยน เรื่องคริปโตเป็นตัวอย่างที่ชัดมากว่ามัน democratize หรือที่เรียกว่า decentralize โลกระบบการเงิน คนบางกลุ่มอาจมองว่ามันเป็นแค่สกุลเงินในอากาศ แต่เงินที่เราใช้ทุกวันนี้จะไปต่างอะไรกัน มันก็เป็นกระดาษที่เราสมมติมูลค่าขึ้นมา มันกำลังเข้ามาท้าทายและอาจทำให้ทุกคนเข้าถึงมันได้ แค่มันยังอยู่ในขั้นพัฒนา คนที่ต่อต้านทุกวันนี้อาจจะมีมุมมองเกี่ยวกับสถาบันการเงินแบบเดิม มุมมองเศรษฐกิจแบบเดิม หรือไม่ก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่สุดท้ายเราหลีกเลี่ยงมันไม่ได้หรอกครับ ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้รัฐบาลของเราเริ่มศึกษามันหรือยัง แค่ห้ามไม่พอหรอก ถ้าเราปิดกั้นตั้งแต่ตอนต้นคงไม่มีทางเข้าใจ และถึงจุดหนึ่ง เราจะกลายเป็นคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ทำความรู้จักมันให้ดีพอก่อนปฏิเสธหรือยอมรับมัน หลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะเทคโนโลยี บางทีเราเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่กับมัน

พอเราอยู่ในโลกเมตาเวิร์สแล้ว ความเป็นส่วนตัวของเรายังเหลืออยู่ไหม ในโลกจริงเราอาจมีเส้นกั้นที่แบ่งได้ง่ายว่าเราจะให้ข้อมูลหรือไม่ให้อะไร แต่ในโลกดิจิทัลที่เหมือนทุกอย่างเราเปิดเปลือยให้เจ้าของแพลตฟอร์มทั้งหมด ความเป็นส่วนตัวเราจะอยู่ที่ไหน

ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวมีคนพูดถึงกันเยอะมาก นอกจากความกังวลที่คุณพูดถึง บางคนก็บอกว่าตัวตนในเมตาเวิร์สอาจจะยิ่งปกป้องตัวตน physical เราให้เป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น เพราะในเมตาเวิร์สเราอาจจะใช้ตัวเลขแค่ชุดเดียวในการ identify เราก็ได้ ข้อมูลอื่นเราอาจจะไม่บอก หรือบอกแบบอื่น เช่น ผมเป็นผู้ชายแต่บอกว่าเป็นผู้หญิง ผมทอง แบบนั้น ในแง่นั้นก็อาจจะดีต่อความเป็นส่วนตัวก็ได้

แต่ถ้าสุดท้าย เราใช้ชีวิตในเมตาเวิร์สแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มรู้เรื่องเราทั้งหมด เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวได้ไหม ผมคิดว่าปัญหานี้อาจจะกลับมาที่เราจะจัดการเรื่องควบคุม กำกับดูแลมันได้ยังไง แต่รูปแบบอาจจะต้องคิดกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร คงไม่ใช่การควบคุมจากรัฐแบบเบ็ดเสร็จเป็นหลักแน่ๆ ไม่แน่ว่าอาจจะใช้กลไกตลาดช่วย เพราะตอนนี้โลก Virtual Reality ไม่ได้มีแค่เมตาเวิร์สของเฟซบุ๊กนะครับ ถ้าหลายๆ บริษัทเข้ามาแข่งขัน หรือเชื่อมเมตาเวิร์สเข้าด้วยกัน ผมคิดว่าน่าจะลดการผูกขาด เพิ่มความเป็นส่วนตัวเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการกันเองก็ได้ หรืออาจจะเป็น peer community ที่ช่วยกันตรวจสอบไม่ให้ใครมีสิทธิ์ขาดในการกำกับดูแลแต่เพียงผู้เดียว

ทุกครั้งที่เทคโนโลยีพัฒนา มักมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงด้านความคิด การมองโลกของมนุษย์ อาจารย์มองว่าการมาเยือนของเมตาเวิร์สจะทำให้ความคิด การมองโลกของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

เมตาเวิร์สน่าจะทำให้หลายอย่างในโลกและชีวิตเราเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ รูปแบบทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง รูปแบบของการศึกษา และอีกหลายอย่างในวิถีชีวิตมนุษย์ ผมลองยกตัวอย่างเล็กๆ ให้เห็นภาพอย่างการเดินทาง การท่องเที่ยว น่าสนใจมากว่าจะยังมีความสำคัญอยู่ไหม และถ้าเมตาเวิร์สสมบูรณ์มันน่าจะเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้อีกมาก ผมอาจจะเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์แล้วต้องไปดูผลงานที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ก็ใช้เมตาเวิร์สเดินทางไปดู เหมือนได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์จริงๆ หรือสมมติการชอปปิงออนไลน์ ถ้าเราอยากเลือกซื้อแว่น เสื้อผ้า ตอนนี้อาจจะมีแค่แอปให้เลือกดูรูป แต่ต่อไปเราอาจจะสามารถลองสวมใส่ได้เหมือนกับเราไปลองด้วยตัวเอง การเรียนรู้ฝึกฝนต่างๆ เช่น การผ่าตัดของนักศึกษาแพทย์ อาจจะไม่ต้องรอให้คนบริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่อีกแล้ว  เมตาเวิร์สน่าจะมาขยายพรมแดนลักษณะนี้มากขึ้น

อีกเรื่องคือต่อไปเราน่าจะกลายเป็น Digital People จะไม่มีพื้นที่โลก พื้นที่ประเทศ พรมแดนจะไม่เป็นข้อจำกัดของสังคมมนุษย์อีกแล้ว แต่แน่นอนว่ามันอาจจะมาพร้อมกับปัญหา เหมือนตอนที่อินเทอร์เน็ตมาใหม่ๆ ก็มีปัญหาเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าเราทำผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ต ค้ายาเสพติด ฟอกเงินข้ามชาติ จะใช้กฎหมายชุดไหน ถ้าเราเข้าเมตาเวิร์สจากประเทศไทย ไปซื้อขายของผิดกฎหมายที่อเมริกาจะนับว่าผิดยังไง คำถามพวกนี้คงมาแน่ถ้าโลกหรือสังคมเราไม่เตรียมพร้อมรับมือ

แล้วเมตาเวิร์สจะยิ่งเข้ามาตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำไหม หรือมันจะช่วยแก้ปัญหานี้

ในปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัดน่าจะเป็นปัญหา Digital Divide การจัดสรรทรัพยากรอินเทอร์เน็ต ผมว่ามองได้สองแง่ ไม่รู้ว่าตัวเองมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่า แต่ถึงที่สุดแล้ว ถ้าเมตาเวิร์สสมบูรณ์ อินเทอร์เน็ตน่าจะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐาน คล้ายๆ แนวคิด อีลอน มัสค์ (Elon Musk) เรื่อง Starlink ถ้าให้บริการคนทั้งโลกฟรี ก็จะมีความน่าสนใจมากๆ ว่าโลกน่าจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร แต่ตอนนี้ Starlink ก็เสียตังค์ไปก่อน (หัวเราะ)

ถ้าทุกคนเข้าถึงได้อย่างนั้น ความเหลื่อมล้ำก็อาจจะแคบลงมาบ้าง แต่ถ้ามันตรงกันข้ามเลย ต้องใช้ทรัพยากรมากและเราเตรียมตัวไม่ทัน สภาพการณ์เช่นปัจจุบันนี้คงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงเป็นแน่ เราอาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนกับกรณีที่เกิดกับวัคซีนหรือเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เราคงเป็นประเทศที่เข้าถึงเมตาเวิร์สได้ช้าหน่อย

พอเราเข้าเมตาเวิร์สได้แล้ว หากเรามีการวางระบบหรือเปลี่ยนโรงสร้างพื้นฐานบางอย่างให้ต่างจากโลกกายภาพของเราแล้วโดยคำนึงถึงคุณค่าร่วมสมัยไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียม ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ ไม่แน่ว่าสังคมเมตาเวิร์สก็อาจจะเข้าใกล้สังคมอุดมคติเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าหากเมตาเวิร์สยกโครงสร้างเดิมของสังคมของเราไปไว้ในนั้น สภาพการณ์คงไม่ต่างจากเดิม มิหนำซ้ำอาจจะเลวร้ายลงกว่าเดิม

ฉะนั้นความเป็นไปได้ทั้งสองแบบนี้ก็น่าขึ้นอยู่กับการควบคุมจัดการตัวเทคโนโลยีในส่วนหนึ่งด้วย ตามความเห็นของนักทฤษฎีเทคโนโลยีเชิงวิพากษ์

อยากชวนอาจารย์จินตนาการว่า ในเมตาเวิร์สเราจะมีระบบสังคมหน้าตาแบบไหน ใครเป็นผู้ปกครอง คนที่มีอำนาจสูงสุดเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มหรือเปล่า

พอเป็น Digital People แล้วรูปแบบการปกครองของเราคงไม่เป็นแบบปัจจุบันที่เราเห็น อาจไม่ได้มีผู้นำชัดเจน หน่วยสังคมที่เป็นปัจเจกจะแยกย่อยลงไปละเอียดและชัดเจนขึ้น ผมไม่คิดว่าจะถึงขั้นเป็นอนาธิปัตย์ แต่การรวมกลุ่มคงต่างออกไปจากเดิม คนน่าจะรวมกลุ่มกันด้วยประเด็นหรือความเห็นพ้องต้องกันมากกว่าแบ่งแยกเป็นเชื้อชาติหรือประเทศ ตอนนี้ผมอาจจะยังมองภาพไม่ค่อยออก ได้แค่คาดเดาว่ามันน่าจะกลายเป็นรูปแบบสังคมใหม่ของมนุษย์ ซึ่งเวลาจัดการอาจจะลำบากเล็กน้อย เราอาจจะมีตัวกลาง คนประสานงาน แต่อำนาจตัดสินเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นของใครนั้นคงไม่มี เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีก็ท้าทายการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโซเชียลมีเดียที่รัฐไม่อาจควบคุมกำกับหรือแม้แต่ระบบเงินตราที่เราเพิ่งพูดถึงไป

ท่ามกลางการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่อย่างก้าวกระโดด อาจารย์มองว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องเราทำความเข้าใจ ตั้งหลักใหม่ ทั้งในฐานะประเทศและบุคคล

เป็นคำถามที่ยากมากเลยนะครับ อย่างแรกผมอยากชวนให้สังเกตวิธีการทำความเข้าใจวิธีคิดของเราที่มีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเราเข้าใจมันจริงๆ หรือเปล่า ผมไม่ได้หมายความวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดี เป็นตัวตัดสินความถูกต้องทั้งหมด แต่เราเข้าใจมันไหมว่าไม่มีอะไรดีหรือเลว 100 เปอร์เซ็นต์ เราควรวิพากษ์กระทั่งวิทยาศาสตร์ที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ยิ่งเป็นคนเรียนสายวิทย์ยิ่งควรต้องวิพากษ์สิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ

ตัววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้พัฒนามาอย่างลอยๆ สุดท้ายมันกลับเข้ามาอยู่ในสังคม ดังนั้น เราต้องเห็นภาพมิติอื่นๆ ของมนุษย์ด้วย อย่าคิดว่ามันเป็นสิ่งวิเศษที่แก้ไขทุกอย่างได้ ไม่อย่างนั้นเราอาจจะพัฒนาไปผิดทาง ในช่วงสองปีที่แล้วโควิดระบาดจนเกิดการล็อกดาวน์หลายประเทศ ที่เยอรมนีเขาเรียกนักวิชาการ ทั้งนักปรัชญา เทววิทยา นักประวัติศาสตร์ นักกฎหมายเข้าไปให้ความเห็นเรื่องนโยบายการจัดการนอกเหนือไปจากนักวิทยาศาสตร์ นี่แสดงว่าผู้นำและสังคมของเขาเข้าใจว่าปัญหาของสังคมไม่ได้แก้ไขในเชิงเทคนิคทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเดียว มนุษย์มีมิติอื่น มีคุณค่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการแก้ไขปัญหา อย่างปัญหาวัคซีนในบ้านเราจะเห็นเลยว่าเราไม่ได้แก้ปัญหาโดยใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวตั้ง เรามองมนุษย์หรือเพื่อนในสังคมเป็นแค่ตัวปัญหา หรือเป็นแค่จำนวนคนที่ต้องจัดหาสิ่งของให้ เราลืมไปว่าควรแก้ปัญหาโดยยึดถือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย

อีกเรื่องที่อยากฝากไว้คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่โลกหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องเผชิญหน้าและสังคมต้องเตรียมแผนรับมือ ต้องทำความเข้าใจ ไม่ปฏิเสธมัน ไม่มองมันเป็นศัตรู แต่วิพากษ์วิจารณ์มันเมื่อมีปัญหา และการรับเทคโนโลยีเข้ามาควรมาพร้อมกับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ด้วย ถึงแม้ตอนแรกเราจะชวนถกว่าเทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกัน แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เป็น Scientific-based Technology แทบทั้งสิ้น เมื่อหันกลับมามองสังคมไทย ลองสังเกตดูก็อาจจะพบว่า scientific mind มันไม่เคยเติบโตได้เลยในสังคมเรา ต่อให้มีเทคโนโลยีก้าวหน้าขนาดไหนก็ตาม วิธีคิดของเรากลับให้ความสำคัญกับอะไรก็ได้ที่แก้ปัญหาได้แบบง่ายๆ อะไรก็ได้ที่ใช้แล้วไปสู่เป้าหมายตามที่เราต้องการ

มันเคยมีคนอธิบายไว้ในทางประวัติศาสตร์อยู่นะครับ ว่าทำไมพอเรารับความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างชาติเข้ามาแล้วเราไม่รับวิธีคิดของเขามาด้วย เพราะสาเหตุหนึ่งก็คือสังคมไทยคิดว่าพุทธศาสนาเป็นคำตอบที่ดีกว่าถึงขั้นสุดแล้ว เป็นคำตอบที่สมบูรณ์แบบทุกอย่าง เราอาจจะเอาการแพทย์ การคมนาคมของเขามา แต่ในทางความคิด ภูมิปัญญา พุทธศาสนาดีที่สุด มีทางออกให้เสมอ แต่พอสังคมเราล่วงเลยมาถึงตอนนี้ เราน่าจะพอรู้แล้วว่าพุทธศาสนาเองก็เป็นภูมิปัญญาหนึ่ง ไม่ได้สูงสุดหรือดีกว่าทุกอย่างบนโลก เราตั้งคำถามได้

ปัญหาอีกอย่างคือการศึกษาของเราไม่มีสปิริตแบบตะวันตกหรือกรีกที่ทำให้ความรู้ก้าวหน้า คือ สปิริตแบบ ‘knowledge for knowledge’s sake’ หรือความรู้เพื่อรู้ สังคมเรามักตั้งคำถามว่าเรารู้สิ่งนี้ไปเพื่ออะไร เรียนปรัชญาไปทำอะไร ถ้าเป็นสังคมตะวันตกเขาจะตอบแค่ว่า ก็อยากรู้น่ะ วิชาปรัชญานี่แหละที่มีสปิริตแบบนี้ รู้เพื่อรู้ สงสัยใคร่รู้ ถ้าเรารู้ พยายามทำความเข้าใจ สุดท้ายจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างวัคซีน mRNA ผู้พัฒนาก็ทำมาก่อนเกิดโควิดเพราะอยากรู้ว่าจะทำได้ไหม ต่อมาเกิดวิกฤตก็ได้ใช้ ดังนั้นเราไม่รู้หรอกว่าองค์ความรู้จะเป็นประโยชน์อย่างไรจนกว่าจะถึงเวลาของมัน เรามักหยุดแค่รู้เพื่อเอาไปทำอะไรสักอย่าง มักถามว่าเรียนไปทำไม เรียนไปก็ไม่รู้ว่าทำอาชีพอะไรได้ สังคมเราเลยไม่ได้เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับความรู้จริงๆ

ถ้าเราไม่จริงจังกับวิธีคิด วิธีมองโลก รอใช้แค่สิ่งที่คนอื่นคิดค้น จะไม่มีวันรู้เท่าทันหรือไม่ก็เป็นผู้ตามไปตลอด ถึงจะมีคนแย้งบ่อยๆ ว่านั่นเป็นความรู้ เป็นวิธีคิดแบบตะวันตก แต่ผมว่าการแบ่งตะวันออกตะวันตกไม่มีความหมายอีกแล้วในปัจจุบัน องค์ความรู้เป็นเรื่องของมนุษยชาติ จะตะวันตกหรือตะวันออกในฐานะมนุษย์เราก็ไม่แตกต่างกัน

เพื่อสร้างวิธีคิด มุมมองแบบใหม่ให้สังคม อาจารย์คิดว่าเราควรเรียนปรัชญากันตั้งแต่เด็กไหม

ผมก็ไม่อยากจะพูดแบบนั้น เดี๋ยวคนบอกว่าผมสอนปรัชญาแล้วสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองสอน ผมคิดแค่ว่ามันควรเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับสังคมไทย วิชาปรัชญาช่วยให้เราได้ครุ่นคิดอย่างมีเหตุผล ตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด ตรงกันข้าม กระบวนการคิดแบบปรัชญามันช่วยให้เราเข้าใจทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เปิดโอกาสให้จินตนาการถึงความเป็นไปได้ที่หลากหลาย เมื่อเราโอบรับความเป็นไปได้ที่หลากหลายนั้นได้ เมื่อนั้นปัญญาก็จะตามมา แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมต้องการอะไร จะสนับสนุนให้เด็ก ให้เยาวชนเราคิดยังไง ทุกวันนี้เขากลัวการที่เด็กเยาวชนคิดเองเป็นจะแย่ วิชาที่เรียนเลยวนอยู่แค่ไม่กี่วิชา หน้าที่พลเมือง ศาสนา ถ้าเราลองพิจารณาสักนิดว่าการศึกษาของเรามีปัญหามาตลอด ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ลองปรับเปลี่ยนดูสักทีไหมล่ะ คงไม่เสียหายหรือไม่แย่กว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save