fbpx

ถอดบทเรียนสื่อออนไลน์สายประชาธิปไตย กับ ‘พิณผกา งามสม’


“เมื่อก่อนคนอ่านข่าวของเว็บเราแค่ 600 กว่าคนก็ถือว่าดีมากแล้ว”

ถ้อยคำที่ ‘พิณผกา งามสม’ บอกกับเรา ทำให้คนฟังจินตนาการได้ไม่ยากว่า ก่อนที่สื่อออนไลน์จะกลายเป็นตัวเลือกการเสพข่าวอันดับหนึ่งของคนสมัยใหม่ นักข่าวออนไลน์ยุคบุกเบิกอย่างเธอต้องผ่านประสบการณ์โหดหินอะไรมาบ้าง

เมื่อรวมกับว่าที่ผ่านมา พิณผกาได้รับบทบาทสำคัญในสื่อออนไลน์ซึ่งขึ้นชื่อว่านำเสนอข่าวการเมืองอย่างเข้มข้น แสดงจุดยืนของตนอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ทั้งเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท, บรรณาธิการบริหารของวอยซ์ออนไลน์ ไปจนถึงผู้ร่วมก่อตั้งสื่อออนไลน์ The Opener นั่นทำให้เรื่องราวการทำงานของเธอยิ่งน่าสนใจ

101 จึงชวน พิณผกา งามสม มาย้อนมองเส้นทางการเติบโตของสื่อออนไลน์ในไทย โดยเฉพาะสื่อสายประชาธิปไตยที่ต้องต่อสู้กับการคุกคามจากรัฐ คุยเรื่องวิธีคิดขององค์กรสื่อออนไลน์ในการปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา และกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ยังคงเป็นปัญหาต่อการทำงานของนักข่าวออนไลน์


:: เมื่อออนไลน์ดิสรัปต์สื่อเต็มตัว ::



เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เราเห็นเค้าลางแล้วว่าอนาคตเป็นของสื่อออนไลน์ แต่ไทม์มิงยังไม่ใช่ คนยังไม่ได้ตื่นเต้นกับสื่อออนไลน์เท่าไรนัก จนกระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถึงเวลาออนไลน์แล้วจริงๆ เราจะเห็นความพยายามปรับตัวของสื่อหลักทั้งหลายว่าต้องวิ่งเข้าสู่ออนไลน์ แม้ในทางธุรกิจผลตอบแทนของสื่อออนไลน์จะได้ไม่เท่าสื่อหลัก แต่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอยู่บนโลกออนไลน์หมดแล้ว ทุกวันนี้เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของไทย และกลายเป็นว่าคนตามข่าวจากเฟซบุ๊กเป็นส่วนใหญ่

การทำสื่อออนไลน์ เราต้องตีโจทย์ว่าสื่อออนไลน์ไม่เหมือนกับสื่อหลัก รูปแบบในการนำเสนอต้องไม่เหมือนกัน แค่ระยะกล้องที่ถ่ายรายการก็ไม่เหมือนกันแล้ว มากไปกว่านั้นคือเราต้องคิดว่าจะนำเสนอคอนเทนต์แบบไหน อย่างไร ความท้าทายของสื่อออนไลน์คือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว ในเฟซบุ๊กคนมีสมาธิเฉลี่ยไม่เกินนาทีครึ่ง ถ้าทำคลิปยาวไปคนก็ดูแค่ช่วงต้นนาทีครึ่งนั่นล่ะ เผลอๆ ดูแค่สิบห้าวิด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ คนทำงานสื่อออนไลน์ต้องอยู่บนหลายแพลตฟอร์ม ดังนั้น ถ้ารู้จักธรรมชาติของแพลตฟอร์มต่างๆ ไว้จะยิ่งดี อย่างเราเองพยายามสอนให้ทุกคนรู้ว่าแพลตฟอร์มแต่ละอย่างต้องการคอนเทนต์แบบไหน อย่างน้อยที่สุด รูปแบบการนำเสนอควรแม่นยำทุกคน สมมติ ถ้าเราเป็นคนชอบทำสารคดียาวๆ เราอาจคิดถึงรูปแบบบนยูทูบเป็นหลักแทนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ เพราะคนที่เข้ายูทูบคือคนที่มีสมาธิ อยากเข้าไปดูวิดีโอ แต่คนเข้าเฟซบุ๊กต้องการเลื่อนดูความเคลื่อนไหวในแต่ละวัน ทวิตเตอร์คือข่าวเร็ว


:: พาร์ตเนอร์สำคัญของสื่อออนไลน์ ::



เรายอมรับว่าสื่อออนไลน์ทำงานเดี่ยวๆ ไม่ได้ ต้องมีนักวิเคราะห์ digital marketing ที่รู้ข้อมูลมาช่วยเรา และสื่อออนไลน์ต้องทำงานใกล้ชิดเจ้าของแพลตฟอร์มเพื่อช่วยปรับทิศทางการทำงาน เพราะเราจะรู้นโยบายของเขาที่อาจจะเปลี่ยนทุกหกเดือนหรือมีอะไรใหม่ทุกสองสามเดือน เราต้องให้เขาคอยบอกเรา และเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้รู้ว่าแพลตฟอร์มเน้นนำเสนออะไรอยู่ เช่น เน้นวิดีโอ ดังนั้นถ้าโพสต์แค่ลิงก์จะไม่ค่อยไปไกลนะ ควรจะเขียนแคปชันสั้นๆ ไปจนถึงรายละเอียดว่าภาพควรใช้ขนาดเท่าไร มีตัวอักษรสักกี่เปอร์เซ็นต์ของภาพ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ทำงานใกล้ชิดกับเจ้าของแพลตฟอร์มจะไม่รู้ทริกหรือนโยบายบางอย่าง 

ช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ารัฐพยายามควบคุมสื่อออนไลน์ผ่านการใช้อำนาจรัฐโดยตรงหรือดีลไปที่แพลตฟอร์ม เช่น ขอให้เฟซบุ๊กปิดเพจ ปิดบัญชี ขอให้ทวิตเตอร์แบนข้อความบางคน นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ฉะนั้น การทำงานกับแพลตฟอร์มอย่างใกล้ชิดจะทำให้เรารู้ว่าเขาจะทำตามรัฐไหม หรือมีโปรโตคอลเป็นมาตรฐานชุมชนอย่างไร ถ้ารัฐขอในสิ่งที่เข้ากับมาตรฐานชุมชนของเขา เจ้าของแพลตฟอร์มก็ตกลงนะ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกได้เลยว่ามาตรฐานชุมชนเหล่านี้เข้มงวดมากจริงๆ เผลอๆ จะมีขอบเขตกว้างกว่ากฎหมายในแต่ละรัฐด้วย เป็นเรื่องที่เราต้องจับตาดู


:: ความหลากหลายของสื่อยุคใหม่ ::



สื่อมีหลายเฉด หลายเลเยอร์ ถ้าเรียนใน journalist school อาจเคยเจอมาว่าสื่อไม่ควรเป็น advocacy media และสื่อควรมีหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจ แต่สื่อส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันอยู่บนพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตย มีฐานันดรที่สี่ ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลสามอำนาจอยู่แล้ว และในขณะเดียวกันพัฒนาการของสื่อไม่ได้ยึดอยู่แค่ใน journalist school สื่อตอนนี้จึงมีความหลากหลายมาก

เรื่องของสื่อควรเป็นเรื่องดีเบตได้ว่าควรเป็นอย่างไร ช่วงหนึ่งมีกระแสของสื่อพลเมืองที่ไม่ได้ทำตามหลักการของสื่อหลักเรื่องความเป็นกลาง เพราะถือว่าเป็น voice of voiceless อยากส่งเสียงกลุ่มคนบางกลุ่ม จึงอาจมีไบแอส คำถามเรื่องความเป็นกลางก็ควรเป็นสิ่งที่ดีเบตได้เหมือนกันว่าคืออะไร จำเป็นต้องมีอยู่ไหมในประเทศที่มีมายาคติว่าสื่อควรเป็นกลางมานาน

สำหรับประชาไท ชัดเจนว่าเป็น advocacy media ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และตรวจสอบถ่วงดุล เหมือนกับ Voice ในแง่ที่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นกลาง แต่ยังพยายามทำงานแบบสื่อมืออาชีพ คือถึงไม่เป็นกลาง แต่มีความยุติธรรม (fairness) ว่าถึงจะยืนคนละฝั่งก็เปิดโอกาสให้ได้มีพื้นที่อธิบาย

ต่างกับ BBC ที่เป็นโรงเรียนสื่อจริงๆ คนทำงานสื่อกับเขาต้องเข้ารับการอบรม เพราะ bbc คำนึงเรื่องมาตรฐานมากๆ มีบางหลักการที่เข้มงวดว่าต้องทำให้ได้เท่านี้จึงจะนำเสนอได้ เช่น ประเด็นการเมือง ต้องมีเสียงจากหลายๆ ฝ่าย แม้ว่าเราจะทำเรื่องคนถูกละเมิดสิทธิ แต่ก่อนที่จะนำเสนอ ต้องถามตำรวจ ทหาร คนในรัฐบาล ซึ่งต่อให้ถามแล้วไม่ได้คำตอบก็ต้องนำเสนอไปตามนั้น


:: ความสัมพันธ์ของการเมืองและสื่อ ::



การเมืองส่งผลต่อสื่อทั้งเชิงกายภาพและการทำงาน ตัวอย่างเช่น ประชาไท ช่วงปี 2552-2553 เราโดนปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ไปเป็นสิบครั้ง เปลี่ยน url ไปเป็นสิบครั้ง ตอนนั้นมีเรื่องสนุกสำหรับแฟนๆ ประชาไท คือให้เดาว่าจะต้องเข้าเว็บ url ไหนในวันนี้ prachathai1 prachathai2 prachathai.net หรืออะไร

หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด เราเจอทั้งนักข่าวโดนจับ โดนเชิญไปปรับทัศนคติ มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมออฟฟิศบ่อยๆกอง บก. ก็ทำงานด้วยความกังวลว่าจะถูกดักฟังหรือเปล่า ส่วน Voice ถูกปิดไปเกือบเดือน มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลทุกวัน มันค่อนข้างชัดเจนว่าอำนาจรัฐมีส่วนในการเข้ามากำกับสื่อหรือทำให้เกิดความกลัว

เมื่อเทียบกันแล้ว ประชาไทเป็นองค์กรที่อยู่ได้ด้วยแหล่งทุน ไม่ได้ทำกำไร แต่ Voice พอโดนปิดไปส่งผลกระทบต่อรายได้มาก สปอนเซอร์โฆษณาต่างๆ เกิดความไม่มั่นใจ บางครั้งปิดแค่ 15 วันแต่อาจส่งผลถึงรายได้ทั้งปี เพราะลูกค้าไม่มั่นใจว่าซื้อโฆษณาแล้วจะปรากฏหรือเปล่า ดังนั้น มันมีความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วย ไม่ได้หมายถึงแค่สิทธิเสรีภาพของสื่อเท่านั้น


:: อย่าลืมใส่ใจคอมเมนต์ ::



การกรองคำหยาบ คำพูดที่สุ่มเสี่ยงจากคอมเมนต์เป็นอีกงานหนึ่งของสื่อออนไลน์ และถือเป็นงานหนักมากในการมอนิเตอร์ เพราะถ้าคุณหลุด อาจโดนดำเนินคดีว่าผิดในฐานะผู้เผยแพร่ นี่เป็นประสบการณ์จากการทำงานของประชาไทเอง คือมีคนมาคอมเมนต์ จากนั้นเขาโดน 112 แล้วตามกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทยก็เอาผิดตัวกลางฐานปล่อยให้มีการคอมเมนต์เกิดขึ้นด้วย นี่ทำให้เกิดภาระว่าสื่อออนไลน์ต้องดูแลตรงนี้

ถ้ามองไปไกลกว่านั้น บรรยากาศของคอมเมนต์ก็มีส่วนมากในการทำให้เกิดชุมชนของการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร  สื่อออนไลน์ควรมีคนเข้าไปบริหารจัดการคอมเมนต์ และถ้าให้ดี ควรทำให้เกิดบรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างมีคุณภาพ บางครั้งเราอาจต้องลงไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนมาคอมเมนต์ด้วยเพื่อเชปบรรยากาศให้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ เราเชื่อเรื่องการจัดการมากกว่าปล่อยฟรี ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนทำสื่อออนไลน์ต้องคิดและลงทุนกับมันหน่อย เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างนักข่าวกับคนอ่านอีกต่อไปแล้ว ถ้าเราต้องการให้สังคมมีประชาธิปไตยเข้มแข็ง เราต้องทำให้เกิดการถกเถียงที่ใช้เหตุผล  


:: พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เจ้าปัญหา ::



ตัวกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีการตีความที่อาจจะเกินเลยไปหน่อย เมื่อก่อนรัฐมักใช้มาตรา 14 15 เรื่องการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จมาโจมตีสื่อ ถ้ามองในมุมคนทำงานสายคอมพิวเตอร์ก็จะบอกว่าข้อความนี้ไม่ได้หมายถึงข้อมูลที่เป็นความเห็น มันหมายถึงระบบคอมพิวเตอร์ แต่มันถูกใช้ตีความแบบนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้ เลยเป็นกฎหมายอีกตัวหนึ่งที่คนทำงานสื่อต้องระมัดระวังพอสมควร กลายเป็นการผลักภาระให้เราเป็นผู้เซนเซอร์ให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มเอง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัฐบาลทรัมป์ เราจะเห็นว่าคนทั่วไปก็มีการร้องเรียนแพลตฟอร์มเรื่องเปิดให้มีการปล่อยข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง (misinformation) เรื่องเหล่านี้มีดีเบตกันพอสมควรว่าไม่ใช่แค่ต้องมีกฎหมายกำกับ แต่แพลตฟอร์มก็ควรรับผิดชอบบางอย่างเหมือนกัน สื่อออนไลน์อย่างเราก็อาจจะมีภาระหน้าที่บางอย่าง เช่น ช่วยควบคุม hate speech เช่นกัน แต่ปัญหาของไทยคือการใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางเคลือบคลุม และใช้อำนาจรัฐมากดคนดูแลแพลตฟอร์มอีกทีนึง มันไม่ใช่การตระหนักโดยผู้บริโภคหรือเจ้าของแพลตฟอร์มว่าต้องมี agenda ทางสังคมที่เรากำหนดร่วมกัน

เราควรแก้ข้อความที่เคลือบคลุมตรงนี้ว่าตกลงการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จคืออะไร ซึ่งจริงๆ เรามีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาซ้ำเข้าไปอีก กฎหมายหมิ่นประมาทยังควรนำมาถกกันใหม่ด้วยว่าควรมีโทษทางอาญาไหมหรือแค่โทษทางแพ่งก็พอ ความเสียหายหนักเบาขนาดไหนจากการแสดงความเห็น และเราไม่จำเป็นต้องแพ็กรวมกฎหมายทั้งหมดอย่างกฎหมายหมิ่นประมาท พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 112 เข้าด้วยกันเพื่อลงโทษคน


หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจาก รายการ PRESSCAST EP.19 : ย่างก้าวของสื่อออนไลน์สายประชาธิปไตย ‘พิณผกา งามสม’ ดำเนินรายการโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save