fbpx

สนทนากับ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ถึงแนวคิดการจัดการป่าอนุรักษ์ของรัฐไทย ในวันที่ป่าเผด็จการครองเมือง

จากกรณีการถูกขับไล่ออกจาก ‘ใจแผ่นดิน’ ของชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยเมื่อต้นเดือนมีนาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา จุดประเด็นเรื่องการจัดการป่าอนุรักษ์ให้ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ปัญหาเรื่องที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกที่กินระยะเวลานานกว่าหลายสิบปี เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงมีหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไปจากปัญหานี้

หากกล่าวโดยสรุป แกนของปัญหาความขัดแย้งเรื่องการจัดการป่าอนุรักษ์ระหว่างรัฐกับชาวบ้านผู้อยู่อาศัยอยู่ในป่า เกิดจากมุมในการมองพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ต่างกัน ในขณะที่ภาครัฐมองว่า ‘ป่าต้องปลอดคน’ และมองว่าการเข้าไปทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านเป็นการบุกรุกทำลายป่า แต่สำหรับคนผู้ซึ่งอยู่ในป่าทันทีที่ลืมตาดูโลกนั้น การทำเกษตรในลักษณะดังกล่าวคือวิถีชีวิตที่เขาใช้ดำรงชีพมาก่อนที่จะมีการก่อตั้งเขตอุทยานฯ เสียอีก 

แน่นอนว่า ถ้าแค่มุมมองที่ต่างกันเพียงอย่างเดียวปัญหาเรื่องการจัดการป่าอนุรักษ์คงไม่ดำเนินมาหลายชั่วอายุคนเช่นนี้ แต่สิ่งที่เป็นตัวการสำคัญในการตอกลิ่มรอยร้าวให้หยั่งรากลึกคือวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ในการจัดการกับชาวบ้าน อย่างการใช้กองกำลังทหารเข้ามาจัดการปัญหาเรื่องคนกับป่า โดยเฉพาะกรณีบางกลอยที่สะท้อนลักษณะแนวคิดการจัดการป่าแบบอำนาจนิยมอย่างชัดแจ้ง 

ปี 2554 ยุ้งฉางและบ้านเกือบ 100 หลังของชาวกะเหรี่ยงถูกเผาโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ด้วยอ้างเหตุของการพิทักษ์ป่าภายใต้ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ถัดมาอีก 10 ปีให้หลัง เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวบางกลอยกว่า 22 คน โดนแจ้งข้อหา ‘บุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน’ ภายใต้ ‘ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ หลังจากที่พวกเขาตัดสินใจเดินทางกลับ บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เนื่องจากไร้งานทำเพราะโควิด-19 การกลับไปทำเกษตรที่ใจแผ่นดินบ้านเกิดจึงเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่พวกเขาเหลืออยู่  

น่าแปลกใจไม่น้อยว่าเวลาจะผ่านไปนานถึงหนึ่งทศวรรษแต่ปัญหาเรื่องการจัดการป่าอนุรักษ์ยังคงอยู่และทวีคูณความรุนแรงขึ้นไปทุกที ด้วยสาเหตุอันใดกันที่ทำให้การจัดการป่าก้าวไม่พ้นการใช้อำนาจ (และอาวุธ) บีบบังคับ ในขณะที่นานาประเทศ ไม่ใช่แค่โอบรับ แต่ยังมอบสิทธิให้ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยมาก่อนเป็นคนตัดสินใจว่า เขาอยากให้ ‘บ้าน’ เป็นอย่างไร แต่เหตุไฉนโมเดลเรื่องการไล่คนออกจากป่าจึงยังเป็นโมเดลเดียวที่รัฐไทยเลือกใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องคนกับป่า 

ด้วยเหตุนี้ 101 จึงพูดคุยกับ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการผู้ศึกษาประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน เพื่อถอดรหัสที่มาที่ไปของแนวทางการจัดการป่าอนุรักษ์ไทย ไล่เรียงมาตั้งแต่ประวัติการเกิดป่าอนุรักษ์อันมีเบื้องหลังมาจากปัจจัยทางการเมือง พร้อมทั้งวิเคราะห์โฉมหน้าของรัฐไทยในปัจจุบันที่สะท้อนผ่านแนวคิดการจัดการป่าอนุรักษ์แบบป่าปลอดคน ก่อนจะมองอนาคตของการจัดการป่าอนุรักษ์ แนวทางการจัดป่าแบบใดกันที่เราควรเลือกเดินเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าซึ่งดำเนินมานานกว่าหลายทศวรรษ 

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

มองจากภาพใหญ่ที่สุด สำหรับรัฐแล้ว ‘ป่าอนุรักษ์’ คืออะไร ทำไมถึงต้องเข้าไปจัดการ 

ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ถูกจัดตั้งขึ้นในยุคของ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ในปี 2505 เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย โดยเป็นการจัดการป่าที่ลอกเลียนโมเดลมาจากอุทยานแห่งชาติ Yellow Stone ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นโมเดลป่าอนุรักษ์ที่ไล่คนออกจากป่า 

เรามักจะได้ฟังประวัติของการจัดตั้งอุทยานฯ ว่า เป็นความพยายามในการจัดตั้งป่าเพื่ออนุรักษ์พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และให้ประชาชนสามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้ นั่นเป็นหลักการทั่วไปที่เรามักจะได้ยินกัน แต่ถ้าเราดูบริบทของการเมืองในยุคนั้นควบคู่ไป จะทราบว่าความพยายามในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แท้จริงแล้วมีที่มาที่ไปทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง 

ยุคของจอมพลสฤษดิ์ เป็นยุคที่มีความพยายามในการปราบปรามภัยคอมมิวนิสต์ในประเทศ ด้วยเหตุนี้รัฐจึงมองว่าพื้นที่ป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลเป็นอาณาบริเวณที่อยู่นอกรัศมีของอำนาจรัฐ และเป็นเขตแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ ป่าอนุรักษ์จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้รัฐไทยสามารถสถาปนาอำนาจของตนเองขึ้นเหนืออาณาบริเวณที่รัฐมีอำนาจไปไม่ถึง ด้วยการปักปันเขตและสร้างป่าชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อช่วยในการผนวกรวมอำนาจของตน กระบวนการเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับรัฐไทย รัฐต่างๆ ในยุคสงครามเย็นต่างก็สถาปนาป่าอนุรักษ์ขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจรัฐเหนืออาณาบริเวณที่ถูกมองว่าอ่อนไหวทางการเมือง ฉะนั้นป่าอนุรักษ์ในไทยจึงไม่ได้เกิดขึ้นด้วยแนวคิดด้านนิเวศวิทยาเพียงอย่างเดียว แต่มีจุดเริ่มต้นจากฐานคิดทางการเมืองของพื้นที่ความมั่นคง

จึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐอเมริกาจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันให้เกิดการจัดตั้งป่าอุทยานฯ ทั้งในไทยและในประเทศต่างๆ ในเอเชีย สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบก็คือ ก่อนที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของกองทหารสหรัฐฯ ซึ่งได้สร้างสถานีเรดาร์ขึ้นเพื่อตรวจตรากำกับความเป็นไปของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนระหว่างปี 2502 – 2504 ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกทำให้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ  และในป่าดังกล่าวก็เป็นที่อยู่อาศัยของหมู่บ้านต่างๆ ที่ต้องถูกอพยพออกไป ก่อนจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เป็นหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ในเขตห่างไกลและสุ่มเสี่ยงต่อการได้รับอิทธิพลจากคอมมิวนิสต์” 

สิ่งที่ดิฉันพยายามเสนอคือ ป่าอนุรักษ์ไม่ได้มีจุดกำเนิดมาจากฐานคิดนิเวศวิทยา หากแต่เป็น ‘ป่าการเมือง’ (political forest) มาตั้งแต่ต้น เป็นป่าที่ส่วนหนึ่งมีไว้ต่อต้านภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ (counterinsurgency) โดยใช้การอนุรักษ์เป็นบันไดพาไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของรัฐ ด้วยการสร้างเส้นแบ่งเขตป่า การเอาหน่วยงานราชการอย่างหน่วยป่าไม้เข้าไปตั้งในป่า หรือการตัดถนนเข้าไป ทั้งหมดนี้คือการจัดระเบียบพื้นที่ป่าเสียใหม่ เพื่อที่รัฐจะสามารถส่งสรรพกำลังเข้าไปจัดการควบคุมพื้นที่ให้อยู่ภายใต้การปกครองของตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อเรามองป่าอนุรักษ์ในฐานะป่าการเมือง หรือในฐานะพื้นที่ความมั่นคง เราจะเข้าใจชัดเจนเลยว่าเหตุใดรัฐถึงเลือกใช้วิธีทางการทหารเข้าไปจัดการป่าในแถบเขตชายแดนซึ่งถูกจัดตั้งเป็นป่าอนุรักษ์ เพราะป่าอนุรักษ์เป็นป่าการเมืองมาตั้งแต่เริ่มต้น รัฐไม่ได้จัดตั้งป่าอนุรักษ์เพราะต้องการอนุรักษ์พันธุ์พืชหรือสัตว์ป่าอย่างเดียว แต่มีเหตุผลทางการเมืองซึ่งรัฐถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญมากเข้ามาเกี่ยวข้อง 

โมเดลป่าอุทยานฯ ของสหรัฐอเมริกาและกฎหมายป่าอนุรักษ์ที่ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการช่วยร่าง ซึ่งเป็นโมเดลที่ทราบกันทั่วโลกว่าเป็นโมเดลไล่คนออกจากป่า สอดรับกับแนวคิดป่าการเมืองนี้เป็นอย่างดี การขจัดชาวบ้านออกจากป่านั้น เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้รัฐสามารถควบคุมพื้นที่ป่าการเมืองของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าเหตุผลทางการจะระบุเพื่อเป้าประสงค์ทางนิเวศวิทยาก็ตาม 

สิ่งที่น่าสนใจคือ  ในเอเชียนั้น กฎหมายป่าอนุรักษ์ที่ริเริ่มโดยรัฐอาณานิคมตะวันตก มักจะให้ข้อยกเว้นต่อสิทธิพื้นเมือง (customary rights) ของชนที่อยู่อาศัยในป่ามาก่อนในการใช้ประโยชน์จากป่า หรือกระทั่งรับรองสิทธิประเภทอื่น โดยเฉพาะสิทธิที่มีมาก่อน นอกเหนือจากสิทธิของรัฐ แต่กฎหมายของไทยกลับไม่เปิดพื้นที่ให้กับข้อยกเว้นและสิทธิพื้นเมืองเหล่านี้ 

ป่าอนุรักษ์ในฐานะป่าการเมืองของรัฐไทยจึงเป็นป่าที่ผูกขาดและรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาการจัดการที่ดำเนินมาจนทุกวันนี้

แล้วทุกวันนี้แนวคิดในการจัดการป่าอนุรักษ์ของบ้านเราเป็นแบบไหน ยังคงใช้กรอบคิดการจัดการป่าแบบ ‘ป่าการเมือง’ เป็นกรอบคิดสำคัญหรือไม่ 

แน่นอนค่ะ การมองป่าในฐานะความมั่งคงหรือป่าการเมือง ไม่เคยหายไปจากกรอบคิดในการจัดการป่าอนุรักษ์ของไทย 

อย่างกรณีบางกลอย จะเห็นว่ามีความพยายามทำให้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นพื้นที่อันตราย อันตรายต่อการแทรกซึมของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร อย่างไร  หรือกระทั่งจดหมายที่ทางคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งให้กับทางนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนก่อน ถึงกรณีเรื่องกะเหรี่ยงบางกลอย ก็ยังนำเอาความเป็นการเมืองมาใช้ในการอธิบายถึงเหตุผลสนับสนุนในการย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ ทั้งที่เราก็ทราบดีว่าสิ่งที่เรียกว่าภัยคอมมิวนิสต์ไม่มีอยู่มานานแล้ว หรือกระทั่งนำเอาความเป็นพื้นที่ชายแดนมาใช้เป็นเหตุผลในการสนับสนุนการไล่คนออกจากป่า การปลุกกระแสความมั่นคงโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงเกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มักใช้ได้ผลเสียด้วย 

ตราบใดที่โมเดลป่าอนุรักษ์ยังคงเป็นป่าที่ไล่คนออกจากป่า ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ป่าจะถูกทำให้กลายเป็นป่าการเมือง เพราะการที่รัฐทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่ากลายเป็นภัยต่อป่า หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อป่าที่ต้องถูกขจัดออกไป ได้สร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ขัดแย้งกันระหว่างนักอุทยานฯ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ กับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเป็นศัตรูกับรัฐโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมอีกด้วย เนื่องจากฝ่ายหนึ่งถือกฎหมายที่มีปัญหาและไม่เป็นธรรมเข้ากดขี่อีกฝ่ายหนึ่ง

ที่ผ่านมา การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของรัฐมักจะมีปัญหาอยู่เสมอ เช่น กรณีบางกลอยที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านดำเนินมาหลายทศวรรษ อะไรคือรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหานี้ 

กรอบคิดการจัดการป่าของบ้านเราที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้ามาถือครองสิทธิในการจัดการป่าร่วมกับรัฐ คือรากเหง้าของปัญหานี้

หากย้อนไปดูในทางกฎหมาย จะพบว่าการจัดการป่าอนุรักษ์บ้านเราไม่รับรองสิทธิของประชาชนซึ่งอยู่ในเขตป่า สาเหตุก็ด้วยกรอบคิดที่มองว่าประชาชนเป็นศัตรู เป็นผู้ซึ่งไม่สามารถอยู่ในเขตป่า การมองในลักษณะนี้จะทำให้ป่าอนุรักษ์เป็นศัตรูกับประชาชน และนำไปสู่การออกแบบกฎหมายและนโยบายที่ทำให้ประชาชนเป็นศัตรูกับป่า ถ้าเราเปลี่ยนกรอบคิดอันนี้ได้ว่าป่าอนุรักษ์ไม่ใช่ป่าการเมือง แต่ป่าอนุรักษ์เป็นป่าของประชาชน ป่าอนุรักษ์ภายใต้แนวคิดนี้ก็จะโอบรับสิทธิของผู้คนซึ่งอยู่มาก่อน ปัญหาก็จบ 

อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้น ไทยมีประวัติศาสตร์กฎหมายป่าอนุรักษ์ที่ผิดมาแต่แรก คือเราไม่รับรองสิทธิพื้นเมืองของชุมชนที่อยู่มาก่อน กฎหมายนี้จึงเป็นกฎหมายที่บรรจุไว้ด้วยความรุนแรงตั้งแต่เริ่มแรก ในส่วนโมเดลป่าไล่คนที่สหรัฐฯ ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่นในทวีปแอฟริกา โมเดลนี้ก็ได้สร้างความขัดแย้งที่รุนแรงไม่ต่างไปจากบ้านเรา กลายเป็นว่าต้องใช้อาวุธเพื่อไล่ยิงชาวบ้านเพียงเพื่อต้องการเก็บธรรมชาติไว้ให้ชนชั้นกลาง  

โมเดลประเภทนี้ในต่างประเทศ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ได้ถูกแก้ไขและเปลี่ยนทิศทางเพื่อทำให้ป่าอนุรักษ์สามารถอยู่ร่วมกับคนได้ อย่างประเทศแคนาดาซึ่งมีกลุ่มชนเผ่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามาเป็นเวลานานก่อนที่ป่าจะมีการจัดตั้ง เราจะพบว่ามีการออกแบบการจัดการป่าอนุรักษ์ในหลายลักษณะ หนึ่งในนั้นเป็นโมเดลรูปแบบ joint management คือการจัดการร่วมกันระหว่างภาครัฐกับกลุ่มชนเผ่า โดยมีตั้งแต่ระดับที่กลุ่มชนเผ่าจัดการร่วมกันกับรัฐท้องถิ่น สภาผู้อาวุโสของชนเผ่านั่งอยู่ในคณะกรรมการจัดการอุทยานระดับท้องถิ่น ไปจนกระทั่งบางอุทยานเปิดให้ชนเผ่าสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง

ทิศทางการจัดการป่าอนุรักษ์ในระดับสากลนั้น ต่างวางอยู่บนหลักการของกระบวนการคืนสิทธิ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าคนขาวไปแย่งยึดเอาที่ดินของชนพื้นเมือง แล้วนำมาทำเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้คนในเมืองได้เข้าไปท่องเที่ยว ไล่เจ้าของป่าแต่เดิมให้ไปอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ทำมาหากินก็ไม่ได้ เป็นประวัติศาสตร์อันอัปยศและไร้ซึ่งความเป็นธรรม การคืนสิทธิให้กับชนพื้นเมืองจึงเป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับพวกเขาเหล่านั้น และยังเป็นกระบวนการที่แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนด้วย

แต่ของบ้านเรามันไม่ใช่ การจัดการป่าอนุรักษ์ในไทยกลับไม่เคยมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง ยังคงยึดอยู่กับโมเดลล้าหลังตกสมัยของป่าไล่คน 

เหตุใดแนวทางในการจัดการป่าของรัฐไทยจึงเป็นโมเดลที่ไล่คนออกจากป่า เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร 

พูดอย่างนี้อาจจะเข้าใจผิดว่าในป่าไม่มีคน ต้องพูดให้มันตรงๆ ว่าเราเอาคนจนออกจากป่า 

ป่าอนุรักษ์​เป็นการสร้างธรรมชาติขึ้นมาใหม่เพื่อให้คนในเมืองเสพ เป็นป่าเพื่อสุนทรียะ มีไว้เพื่อให้ผู้คนได้เข้าไปในป่า ไปนั่งชื่นชมธรรมชาติ เอากล้องไปส่องสัตว์ หรือตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า สิ่งนี้ถูกมองว่าเป็นการเสพธรรมชาติของพวกที่มีอารยะ อารยชนจะเสพธรรมชาติด้วยการเป็นผู้ที่เฝ้าสังเกต ดื่มด่ำและชื่นชมธรรมชาติ  และความดื่มด่ำนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไม่มีการใช้ธรรมชาติเพื่อยังชีพแบบชาวบ้านเท่านั้น 

ในแง่ภววิทยา สำหรับชาวบ้านแล้ว ธรรมชาติไม่ได้ดำรงอยู่แยกออกจากมนุษย์ หรือรอไว้ให้คนเสพทางสุนทรียะ แต่ธรรมชาติเป็นแหล่งที่มาของการให้สรรพสิ่งที่สร้างชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมและสร้างความเปลี่ยนแปลง เราอาจเรียกธรรมชาติแบบนี้ว่า first nature หรือธรรมชาติที่อยู่ในวิถีชีวิต ไม่ใช่ธรรมชาติที่มีไว้ดู ดังเช่นที่ชาวกะเหรี่ยงเปลี่ยนป่าเบญจพรรณให้เป็นพื้นที่ไร่ เพื่อผลิตข้าวไว้สำหรับยังชีพ การจะทำเช่นนั้นได้ เขาต้องเข้าใจพลวัตของนิเวศวิทยาป่าและนิเวศวิทยาเกษตรบนที่สูง ชาวบ้านต้องเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ จึงจะสร้างวงจรและจังหวะของการเปลี่ยนป่าเป็นเกษตรและเกษตรกลับมาเป็นป่าได้

แต่สิ่งที่นักป่าไม้ทำกับป่าอนุรักษ์คือการแช่แข็งธรรมชาติ หรือสร้าง second nature ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อมูลค่าทางสุนทรียะ เพื่อการเสพของชนชั้นกลางในเมืองเท่านั้น และตีตราความสัมพันธ์กับป่าเพื่อยังชีพให้เป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งอารยะ ซึ่งการทำเช่นนี้ของนักป่าไม้ได้สร้างชนชั้นขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับคนโดยปริยาย 

เพราะในขณะที่ชนชั้นกลางมีสิทธิที่จะเสพสุนทรียะจากป่าอนุรักษ์ได้ คนจนหรือชนพื้นเมืองที่ไร้อำนาจกลับถูกกีดกันออกจากป่าประเภทดังกล่าว การทำให้ธรรมชาติกลายเป็นพื้นที่สำหรับการเสพสุนทรียะของชนชั้นกลางและการเบียดขับการใช้ธรรมชาติในเชิงอรรถประโยชน์ของชาวบ้านเพื่อยังชีพออกไปจากเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นที่มาสำคัญของโมเดลป่าปลอดคน 

หากรัฐไทยยังคงใช้โมเดลการจัดการป่าในรูปแบบของ ‘ป่าปลอดคน’ ต่อไป จะส่งผลให้เกิดปัญหาอะไรตามมาในอนาคต 

อย่างแรกเรามีชาวบ้านอาศัยอยู่ในป่าประมาณ 4-5 ล้านคน เราไม่สามารถเตะชาวบ้านออกไปจากป่าและกันการใช้ประโยชน์ของชุมชนออกไปเพื่อให้ชนชั้นกลางมาเสพอย่างเดียวได้ การทำอย่างนี้มีแต่จะสร้างความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น กลายเป็นว่าเราสงวนป่าเอาไว้ให้คนหยิบมือเดียวใช้ ซึ่งก็คือคนในเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็บีบบังคับให้คนที่ใช้ป่ามาก่อนต้องกระเด็นออกไป คำถามสำคัญคือคุณจะเอาคน 5 ล้านคนนี้ไปไว้ที่ไหน มันไม่มีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ใดในประเทศเหลือสำหรับให้คนเหล่านี้แล้ว 

อย่างที่สองการใช้โมเดลป่าปลอดคนจะยิ่งทำให้ป่าอนุรักษ์กลายเป็นป่าการเมืองมากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่ดิฉันพูดไว้ว่าป่าอนุรักษ์เป็นป่าการเมืองมาตั้งแต่ต้น เป็นพื้นที่ที่รัฐประกอบสร้างขึ้นให้เป็นพื้นที่กันชนระหว่างรัฐเผด็จการกับคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันรัฐทำให้ป่าอนุรักษ์กลายเป็นพื้นที่ปะทะกันระหว่างรัฐกับชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในเขตป่า โดยดึงเอากลุ่มคนชนชั้นกลางมาเป็นฐานสนับสนุนรัฐ  เป็นการตอกลิ่มให้ป่าอนุรักษ์กลายเป็นป่าการเมืองอย่างถาวร ซึ่งนี่ถือเป็นทางตันและไร้ทางออก เราไม่ควรปล่อยให้การจัดการป่าอนุรักษ์ดำเนินไปในทิศทางแบบนี้

การจัดการป่าในประเทศไทยไม่ควรกลายเป็นบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว หรือสร้างบรรยากาศแห่งการทำลายชีวิตของผู้คน มันไม่ควรนำไปสู่การผลักดันให้คนต้องจนตรอก ต้องลุกขึ้นมาสู้ บรรยากาศแบบนี้เป็นบรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ในการจัดการป่าอนุรักษ์ ถ้าถามว่าด้วยเหตุใดป่าแก่งกระจานถึงไม่ได้เป็นมรดกโลกเสียที ก็เพราะประเด็นนี้นี่แหละ เพราะกรมอุทยานฯ ไม่ยอมหาทางที่จะสมานประโยชน์ ยอมรับในสิทธิของผู้ที่อยู่มาก่อน และเคารพในการดำรงชีพในป่าของชาวบ้าน

เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงก่อนว่า ไม่มีที่ดินที่ไหนหรอกที่อุดมสมบูรณ์แล้วไม่มีคนอยู่ ดังนั้น แนวทางแบบการอพยพจึงไม่ควรอยู่ในแบบแผนการจัดการป่า อย่างกรณีบางกลอย รัฐก็ไปแย่งที่ดินของชาวบ้านซึ่งอยู่มาก่อน จนถึงปัจจุบันชาวบ้านเกินกว่าครึ่งยังไม่มีที่ดินทำกิน ส่วนผู้ที่ได้รับจัดสรรที่ดิน ก็เป็นที่ดินซึ่งทำกินไม่ได้ ชาวบ้านต้องออกไปรับจ้าง พวกเขาถูกปล่อยให้อยู่ตามยถากรรม ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เป็นพลเมืองไทยเสมอมา เพียงแต่รัฐไม่มีประสิทธิภาพพอในการรับรองสถานะทางทะเบียนให้กับพวกเขา แต่พวกเขากลับถูกกระทำราวกับไม่ใช่คน บรรยากาศแบบนี้เป็นบรรยากาศที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย และมีแต่จะนำไปสู่การตอกลิ่มความขัดแย้งของสังคมที่ไร้ทางออก

หากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ กรมอุทยานฯ จะกลายเป็นกรมที่ทำลายความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่า ซึ่งดิฉันคิดว่าอันตราย เพราะเราต้องเข้าใจว่าลำพังเพียงเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่กี่คนไม่มีทางที่จะสามารถดูแลรักษาป่าได้ กรณีปัญหาไฟป่าในภาคเหนือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน สาเหตุที่ฝุ่นควันภาคเหนือของปีนี้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว เป็นเพราะรัฐเปลี่ยนแนวทางในการควบคุมไฟป่าโดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นคนทำหน้าที่ในการควบคุมไฟ 

แนวทางแบบนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเรามอบอำนาจให้ชาวบ้าน เขาก็พร้อมทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการช่วยรัฐจัดการควบคุมไฟ แต่ถ้าคุณทำให้ชาวบ้านเป็นศัตรูกับรัฐ แปลกแยกกับป่าที่กลายเป็นป่าเบ็ดเสร็จของรัฐที่ทำร้ายประชาชน คำถามคือกรมอุทยานฯ รับผิดชอบในการดูแลปกป้องป่าของรัฐที่มีพื้นที่มหาศาลที่ถูกทำให้เป็นชนวนแห่งความขัดแย้งไหวหรือ ป่าอนุรักษ์จะกลายเป็นป่าการเมืองที่อันตราย  

ในระยะยาว เส้นทางการจัดการป่าในลักษณะนี้เป็นเส้นทางที่อันตรายมากๆ  

การเลือกผลักคนออกจากป่าของรัฐ สะท้อนวิธีคิดที่รัฐมีต่อการมองปัญหาเรื่องป่ากับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร

ประเด็นนี้สำคัญมาก การที่รัฐทำอย่างนี้ได้ เพราะรัฐกระทำกับคนเหล่านี้ในฐานะผู้ที่ไม่มีอำนาจ แน่นอนว่าคุณจะไม่ทำอย่างนี้กับเจ้าสัว เรื่องนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจล้วนๆ ถ้าชาวบ้านมีอำนาจต่อรอง รัฐไม่มีทางทำอย่างนี้กับคน 5 ล้านคนได้ แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่มีอำนาจ ไม่มีที่ทางในสังคมไทยด้วยซ้ำไป พวกเขาเป็นคนซึ่งปราศจากเสียงและไร้ตัวแทน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าชาวบ้านไม่ได้สร้างหรือไม่ได้มีคุณูปการต่อสังคมไทย คนเหล่านี้ทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยมาเป็นเวลานาน การที่ป่าดำรงสภาพแบบนี้มาได้เป็นเวลาหลายศตวรรษ ก็เพราะว่าคนในป่าใช้ป่าแบบดูแลรักษา ถ้าหากว่าชาวบ้านตัดป่าจนเหี้ยนตั้งแต่แรก ก็ไม่เหลือป่าให้ชนชั้นกลางได้เสพจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับคือการถูกไล่ออกจากป่า ป่าการเมืองจึงเป็นป่าแห่งการเหยียดชาติพันธุ์โดยแท้จริง 

คุณเคยพูดไว้ในงานเสวนาแห่งหนึ่งว่า “ลัทธิป่าปลอดคนจะไปได้ดีกับอำนาจเผด็จการ” อยากให้คุณช่วยอธิบาย 2 สิ่งนี้ว่ามีความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กันอย่างไร 

การจัดตั้งป่าอนุรักษ์โดยการไล่คนออกจากป่าหรือลัทธิป่าปลอดคน จะไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่มีอำนาจเผด็จการรองรับ ซึ่งหมายถึงการใช้กำลังบีบบังคับให้คนออกจากพื้นที่ โดยที่ผู้คนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการป่า สิ่งนี้เป็นอำนาจนิยมโดยแท้ และในขณะเดียวกันเราก็พบว่าตั้งแต่ในช่วงที่เกิดรัฐประหารมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันมีแนวโน้มของการเอาลัทธิทหารนิยมมาใช้ในการสนับสนุนลัทธิป่าปลอดคน

เราคงเคยได้ยินโครงการทวงคืนผืนป่า ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลทหารและดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการวางเป้าหมายว่าต้องการนำคนออกจากป่าจำนวนเท่าไหร่ และมีแผนจะเอาป่าคืนมากี่ล้านไร่ ทั้งหมดนี้ดำเนินคู่กันไปกับแนวทางการอนุรักษ์ป่าแบบป่าปลอดคนหรือป่าไล่คน โดยทหารจับมือกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการดำเนินการไล่รื้อบ้านเรือนและจับกุมชาวบ้าน 

ในภาวะที่การเมืองเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และหน่วยงานราชการมี accountability ต่อประชาชน เรื่องแบบนี้ไม่มีทางทำได้ เพราะเป็นการกระทำที่ไปลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน แย่งเอาสิทธิของชาวบ้านมาเป็นสิทธิผูกขาดโดยรัฐ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เกิดในรัฐเผด็จการที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการไล่ชาวบ้านออกจากป่า ตรากฎหมายที่แย่งสิทธิพื้นเมืองมาจากประชาชน โดยมีกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมเป็นผู้สนับสนุน ในยุคเผด็จการ เราจะเห็นแนวโน้มจากขยายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ชนิดนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง รวมถึงยังถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเราจะมีป่าที่ผูกขาดโดยรัฐเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ป่าที่จัดการโดยประชาชนกลับถูกกินพื้นที่หรือถูกถีบให้ออกจากระบบ ลัทธิป่าปลอดคนกำลังจะครองอำนาจในบ้านเรา ซึ่งสถานการณ์แบบนี้จะทำให้คนจนลุกฮือขึ้นและจะกลายเป็นชนวนทางการเมืองที่สำคัญ มันจะทำให้การเมืองรากหญ้ากลายเป็นการเมืองที่ไปมีจุดแตกหักในพื้นที่ป่า

อะไรคือต้นสายปลายเหตุที่ทำให้รัฐไทยเลือกหยุดอยู่กับการใช้วิธีการจัดการป่าแบบป่าปลอดคนมากกว่าจะมองหาวิธีการจัดการป่าในรูปแบบใหม่ 

อุดมการณ์ความมั่นคงเป็นรากฐานสำคัญของรัฐ และถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในรัฐเผด็จการ ดังคำถามก่อนหน้าว่าความเป็นเผด็จการเชื่อมโยงกับป่าปลอดคนอย่างไร มันเชื่อมโยงตรงที่รัฐเผด็จการทำให้ป่าอนุรักษ์กลายเป็นป่าการเมืองแบบถาวรด้วยอุดมการณ์ความมั่นคง ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่วางอยู่บนความไม่ไว้วางใจประชาชน อุดมการณ์ประเภทนี้ช่วยโหมไฟให้ลัทธิป่าปลอดคนเฟื่องฟู เพราะแทนที่แนวทางการจัดการป่าจะพัฒนาไปสู่แนวทางที่ไม่ใช้กำลังและสร้างความร่วมมือ แต่แนวทางในลักษณะนั้นกลับเป็นแนวทางที่ถูกปิดตาย และครอบงำด้วยแนวทางทางการทหารที่เปลี่ยนประชาชนให้เป็นศัตรูต่อป่า และเน้นแนวทางการปราบปรามเป็นสำคัญ

การปฏิเสธประชาธิปไตยในการจัดการป่าสะท้อนบรรยากาศทางการเมืองใหญ่ นอกเหนือจากเรื่องป่าในยุคเผด็จการ เราจะเห็นแนวโน้มของการใช้ลัทธิทางการทหารเข้ามาจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงของประชาชน หรือการทำลายล้างกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างไปจากรัฐ รูปแบบในการแก้ปัญหาเป็นไปในทำนองเดียวกันคือการปราบปราม

เพราะฉะนั้น หากถามว่าเหตุใดในต่างประเทศเขาถึงเปลี่ยนไปมากแล้ว มีรูปแบบการจัดการป่าในรูปแบบที่ต่างไปจากลัทธิป่าปลอดคน แต่เรากลับถอยหลัง ดิฉันเห็นว่า เงื่อนไขทางการเมืองมีบทบาทสำคัญในการเปิดโอกาสหรือปิดโอกาสที่จะผลักดันป่าให้เป็นป่าแบบประชาธิปไตยหรือป่าแบบเผด็จการ  

แต่ทุกวันนี้เรากำลังอยู่กับป่าอนุรักษ์แบบป่าเผด็จการ ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มชนชั้นกลางอนุรักษนิยม

ชวนมองย้อนกลับไปในช่วงที่ประเทศมีประชาธิปไตย เช่น ช่วงปี 2540 แนวทางในการจัดการป่ายุคนั้นมีทิศทางที่เหมือนหรือต่างจากในยุคนี้อย่างไร 

ระบบราชการเป็นสถาบันที่ฝังรากลึกและฟอร์มโครงสร้างการจัดการทรัพยากรมาในลักษณะค่อนข้างผูกขาดมาตั้งแต่เริ่มต้น และดำเนินมาแบบนี้ภายใต้โครงสร้างเชิงสถาบัน เรามอบอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐและมีกฎหมายสนับสนุนการใช้อำนาจมาโดยตลอด ฉะนั้นในช่วงเวลาที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ค่อยๆ ผลักดันให้มีสิทธิของประชาชนเกิดขึ้น จึงเป็นการคัดง้างกับสถาบันของรัฐที่ผูกขาดอำนาจมานาน ไม่ว่าจะกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ทั้งหลาย รวมทั้งกฎหมายป่าไม้หลายฉบับก็ให้อำนาจผูกขาดกับรัฐมาโดยตลอด

ฉะนั้นทศวรรษ 2540 จึงเป็นทศวรรษที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอำนาจการจัดการป่าที่เข้มข้นที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเสนอร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนของภาคประชาชน ซึ่งดำเนินควบคู่ไปกับการรณรงค์เคลื่อนไหวของประชาชนให้มีกฎหมายดังกล่าวรับรองสิทธิของชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งประวัติการณ์ในการคัดง้างต่ออำนาจนิยมของระบอบราชการป่าไม้ที่ผูกขาดมานานนับศตวรรษ  ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ดำเนินไปอย่างง่ายดาย หากแต่ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักทั้งจากข้าราชการและกลุ่มอนุรักษ์ชนชั้นสูงของประเทศ

สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ความพยายามของภาคประชาชนในการผลักดันให้ป่าชุมชนสามารถจัดตั้งได้ในเขตป่าอนุรักษ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจและทำลายการผูกขาดในการจัดการป่า ในทศวรรษที่การเมืองในประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนสามารถผลักดันให้มีกลไกต่างๆ ในระดับรัฐสภาขึ้นมาเพื่อพิจารณาร่วมกันในเรื่องที่ยังไม่สามารถหาฉันทมติร่วมได้ โดยเฉพาะเรื่องป่าอนุรักษ์​ 

แต่ในยุคคสช. กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ถูกรวบอำนาจ และออกกฎหมายป่าชุมชนโดยสภาที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน กฎหมายป่าชุมชนภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน จึงเป็นกฎหมายที่ลิดรอนอำนาจของประชาชน และกีดกันสิทธิของประชาชนในการจัดการป่าอนุรักษ์

เงื่อนไขทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และชี้ให้เห็นว่า หากไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถร่วมมือกันก่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงสถาบัน รวมถึงการปฏิรูปสถาบันการจัดการทรัพยากรในไทย ตั้งแต่ระดับกฎหมายไปจนถึงระดับอำนาจของรัฐ เราจะไม่มีทางที่ทำให้รัฐเปลี่ยนบทบาทจากการปราบปรามมาสู่การสนับสนุนสิทธิในการจัดการป่าร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนได้

นี่เป็นหนทางอีกยาวไกลมาก และทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด ถ้าเรายังคงมีรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

ชวนมองต่อไปในมิติวัฒนธรรม แม้ปัจจุบันจะมีงานวิจัยออกมาบอกว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำคือการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอย แต่เราก็พบว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งเชื่อในวาทกรรมชาวกะเหรี่ยงเป็นคนทำลายป่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้บางคนยังติดอยู่ในวาทกรรมนี้

วาทกรรมเหล่านี้เป็นวาทกรรมที่เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ต้องเข้าใจก่อนว่าวาทกรรมหลักของรัฐถูกผลิตสร้างผ่านตำราเรียน ตั้งแต่สมัยประถม เราถูกสอนมาว่าชาวเขาทำลายป่า ในแบบเรียนก็สร้างภาพลักษณ์อาชีพของคนชนบทว่าคือการตัดไม้เผาถ่าน วาทกรรมเหล่านี้ตรึงภาพชาวบ้านให้เป็นศัตรูกับป่าในหัวของคนในเมือง 

คนในเมืองนั้น ถ้าเคยแค่เข้าป่าเพื่อไปดูนกดูไม้ แต่ไม่เคยไปอยู่กับชาวบ้าน ก็เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะเข้าใจว่าระบบชีวิตในป่าเขาทำมาหากินกันอย่างไร  เพราะความรู้เหล่านี้ไม่มีในตำราเรียน ไม่ถูกกล่าวถึงในสื่อกระแสหลัก ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจระบบการทำไร่บนดอยที่จะต้องตัด-ฟัน-เผา พอฝนมา ป่าก็งอกขึ้นมาใหม่ นี่คือระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นนิเวศวิทยาบนที่สูงที่คนปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ เพื่อผลิตธัญพืชขึ้นมาหล่อเลี้ยงชีวิต

ดิฉันมองว่าวาทกรรมไร่เลื่อนลอยทำลายป่า ก็ไม่ต่างไปจากวาทกรรม ‘โง่-จน-เจ็บ’ ที่สร้างภาพลักษณ์คนจนว่าจนเพราะไม่มีสมอง ไร้การศึกษา ป่วยไข้ก็ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือวาทกรรมจน-เครียด-กินเหล้า ก็เช่นเดียวกัน วาทกรรมเหล่านี้เป็นวาทกรรมมักง่ายที่โยนปัญหาของประเทศไปที่คนจน

วาทกรรมชาวเขาทำลายป่าก็วางอยู่บนฐานคิดเดียวกัน คือการโยนความล้มเหลวในการจัดการป่าของรัฐไปยังคนบนที่สูง โดยผู้สร้างวาทกรรมเองก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับนิเวศเกษตรบนที่สูง ไม่มีความเข้าใจในพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกับป่า และไม่เห็นคุณค่าของเกษตรกรรมพื้นบ้าน การแปะป้ายชาวเขาว่าทำลายป่า เช่นเดียวกับการแปะป้ายคนจนว่าทำให้ประเทศยากจน เป็นการเปลี่ยนประเด็น ผลักปัญหาไปให้คนที่ไร้อำนาจ เพื่อที่รัฐ รวมทั้งชนชั้นกลาง สามารถลอยตัวจากปัญหาที่เกิดขึ้น 

นอกจากแบบเรียนของคนทั่วไป แล้วแบบเรียนของคนที่จะไปดูแลป่าอย่างคณะวนศาสตร์ ณ วันนี้ มีการเรียนการสอนเรื่องการจัดการป่าที่เปลี่ยนไปไหม 

เรื่องนี้ตอบยาก เพราะดิฉันก็ไม่ได้อยู่ในแวดวง แต่หากพิจารณาจากจดหมายเปิดผนึกที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามโดยคณบดี ส่งไปถึงนายกฯ ในประเด็นกะเหรี่ยงบางกลอย ก็พอจะสะท้อนว่ากรอบคิดของนักวนศาสตร์ในการมองเรื่องการจัดการป่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเลย และยังสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า แม้แต่ในทางวิชาการเอง ลัทธิป่าปลอดคนยังคงเป็นกรอบคิดสำคัญและเป็นกระดูกสันหลังของการจัดการป่าบ้านเรา จดหมายฉบับนั้นมองชาวบ้านในฐานะที่เป็นผู้ทำลายป่าอย่างเดียวและยังมองว่าไร่หมุนเวียนคือเงื่อนไขสำคัญในการทำลายป่า

ตราบใดที่คณะวนศาสตร์ไม่พยายามหาทางเชื่อมโยงวิชาการการจัดการป่าที่มีระบบเกษตรพื้นเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการป่า การจัดการป่าบ้านเราก็จะยังคงเป็นการจัดการป่าที่เบียดคนจนออกไปเหมือนกับที่เคยเป็นมา แต่อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่ายังมีนักวนศาสตร์อีกหลายคนที่พยายามศึกษาและทำความเข้าใจไร่หมุนเวียน  เพียงแต่ยังคงเป็นเสียงส่วนน้อยและเป็นกระแสที่อาจจะไม่ได้มีผลต่อการกำหนดทิศทางหลักในการจัดการป่า ที่เน้นการเก็บป่าผืนใหญ่ๆ หรือการเก็บสัตว์ตัวใหญ่ๆ เอาไว้โดยเบียดขับชาวบ้านออกไป

ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาเรื่องชาติพันธุ์กับป่าไม้อย่างยั่งยืนและแก้ไปให้ถึงโครงสร้าง จะต้องแก้ปัญหาอย่างไร ตั้งแต่มิติแนวคิดของรัฐ มิติการจัดการป่า ตลอดจนมิติวัฒนธรรม

ดิฉันคิดว่าต้องปฏิรูปในหลายระดับ เริ่มต้นจากระดับความรู้ เราต้องทำให้ความรู้ทางด้านวนศาสตร์ไม่ถูกผูกขาดโดยสถาบันซึ่งผลิตสร้างความรู้ในเชิงวนศาสตร์ เราทราบกันดีว่าคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคณะหลักที่ผลิตนักป่าไม้ออกไปทำงานในกรมกองต่างๆ และผูกขาดการสร้างความรู้มาหลายทศวรรษ เราต้องทำให้การผลิตสร้างความรู้วนศาสตร์มีความหลากหลายมากขึ้น โจทย์สำคัญในระดับความรู้คือทำอย่างไรจึงจะปรับเป้าหมายในการสร้างความรู้วนศาสตร์เสียใหม่ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ความรู้วนศาสตร์นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และทำให้ประชาชนซึ่งอยู่ในเขตป่ามีวิถีชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปพร้อมๆ กับคุณภาพทางนิเวศวิทยาของป่า ทำอย่างไรความรู้วนศาสตร์ โดยเฉพาะการจัดการป่าอนุรักษ์จึงจะโอบรับเกษตรกรรมชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งด้วยได้  นี่ควรจะเป็นโจทย์หลักของคณะวนศาสตร์

ในส่วนของระดับสถาบัน ปัญหาการจัดการป่าที่มีมาตั้งแต่อดีตสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตของการใช้และจัดสรรอำนาจในการจัดการทรัพยากรในบ้านเรา การจัดการป่าถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปและทำให้อำนาจในการจัดการป่าเป็นอำนาจที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน 

ป่าอนุรักษ์ไม่ควรเป็นป่าการเมืองแต่ควรเป็นป่าของประชาชน ถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยนกรอบคิด และควรนำโมเดลการจัดการป่าอนุรักษ์ของต่างประเทศมาศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าที่มีประชาชนอาศัยอยู่ เช่น โมเดลในการจัดการป่าร่วมกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน เรื่องนี้ต้องถูกผลักเข้าไปในเชิงสถาบันและต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ซึ่งล้าหลังและผิดตั้งแต่เริ่มแรก ให้เป็นกฎหมายที่รับรองสิทธิพื้นเมืองของประชาชน เป็นกฎหมายที่มีฐานคิดมาจากการกระจายสิทธิ

นอกจากกฎหมายแล้ว การปฏิรูปเชิงสถาบัน ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทของนักป่าไม้-นักอุทยานเสียใหม่ ไม่ใช่เน้นแต่การปราบปราม ซึ่งเป็นทิศทางทางการทหารที่สร้างแต่ความขัดแย้ง แต่ต้องมีบทบาทของการเป็นนักส่งเสริม ทำอย่างไรให้นักป่าไม้สามารถเข้าใจระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน และให้คำปรึกษาร่วมกันวางแผนการจัดการที่ดินป่ากับชาวบ้าน หรือหากรัฐคิดว่าระบบไร่หมุนเวียนที่เป็นอยู่ยังขาดการวางแผน ก็ลองไปวางแผนร่วมกับชาวบ้าน หรือจะลองนำระบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวนเกษตรหรือเกษตรคงที่ซึ่งไปด้วยกันได้กับป่าและไร่หมุนเวียนมาผสมผสาน เพื่อสร้างเสริมนิเวศวิทยา ขณะเดียวกันชาวบ้านก็อยู่ได้แลมีรายได้ 

การเปลี่ยนบทบาทของนักป่าไม้ให้สามารถทำงานส่งเสริมชาวบ้าน จะทำให้คน  5 ล้านไม่เป็นปัญหาหรือเป็นปฏิปักษ์กับป่าอนุรักษ์ เป็นการเปิดทางเลือกในการคิดเรื่องนี้เสียใหม่ แต่ถ้ามองแต่ว่าการทำไร่คือการทำลายป่าและต้องย้ายชาวบ้านออกมาอย่างเดียว อย่างนั้นก็จบ 

อธิบดีกรมอุทยานฯ เคยพูดว่า ปัญหาใหญ่ของการจัดการป่าอนุรักษ์บ้านเราคือการมีประชาชนทำเกษตรอยู่ในพื้นที่ป่าหลายล้านไร่ พูดอย่างนี้ก็จบแล้ว เพราะเป็นการมองชาวบ้านในฐานะตัวปัญหา ไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่การแก้ปัญหา สิ่งที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ไม่ได้พูดถึงคือระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนนั้น เป็นระบบเกษตรดั้งเดิมที่มีอยู่มานานพอๆ กับการทำนา เพราะคนอยู่ในป่ามาก่อน สิ่งนี้ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาประเภทหนึ่ง ที่คนซึ่งอยู่มาดั้งเดิมสามารถคิดวิธีการที่ป่าจะฟื้นฟูขึ้นมาภายในรอบระยะเวลาหนึ่งๆ และสร้างเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านซึ่งเก็บสะสมมาเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี ไร่หมุนเวียนจึงเป็นแหล่งสะสมความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชนับร้อยชนิด หลายชนิดปลูกในที่ราบไม่ได้ ความหลากหลายทางชีวภาพประเภทนี้ กลับไม่มีที่ทางในโมเดลป่าอนุรักษ์ของไทย 

ดิฉันอยากเสนอให้กรมอุทยานฯ หันมาให้คุณค่ากับเกษตรพื้นบ้าน เท่าๆ กับที่ให้ความสำคัญต่อสัตว์และพันธ์ุพืชในป่า เพราะนิเวศวิทยาเกษตรและป่าที่อยู่มานับร้อยปี ไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกัน หากแก่งกระจานจะเป็นมรดกโลก สิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ควรได้แก่วิถีชีวิตที่รักษาเป้าหมายของธรรมชาติไว้ ทั้งเพื่อเกื้อกูลต่อชีวิตของชุมชน และเพื่อประโยชน์ของสังคม ป่าประเภทนี้จึงจะเป็นมรดกโลกที่แท้จริง 

ในระดับสาธารณชน อยากเสนอให้สื่อกระแสหลักเปิดพื้นที่ให้กับการเข้าใจวิถีชีวิตของคนบนที่สูงมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรเราจึงจะมีสื่อซึ่งเข้าหาประชาชนและค้นหาข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ เราจะพบว่าในกรณีบางกลอย ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะว่ามีเครือข่าย NGO เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน ประเด็นนี้แทบจะไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลักเลย ในขณะที่ชนชั้นกลางในเมืองก็เห็นดีเห็นงามต่อการใช้ความรุนแรงในการใช้ยุทธการทางการทหารเข้าจัดการปัญหา ฉะนั้นสื่อจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่จะเปลี่ยนโมเมนตัมอันนี้ โดยการให้พื้นที่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริงของป่าและตีแผ่ชีวิตของคนบนที่สูงให้ได้รับการเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น 

การเมืองเรื่องป่า เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองร่วมสมัยมากขึ้น ม็อบคนรุ่นใหม่เองก็นับรวมประเด็นบางกลอยเข้าไปอยู่ในการต่อสู้ของขบวน มองปราฏการณ์นี้อย่างไร ทำไมประเด็นเรื่องป่าอนุรักษ์กับชาติพันธุ์ถึงเข้ามามีบทบาทในการเมืองกระแสหลักมากขึ้น

เพราะมันสะท้อนความไม่เป็นธรรม หัวใจหลักของเรื่องนี้คือความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนได้รับจากรัฐ ไม่ใช่แค่เฉพาะกรณีบางกลอย กรณีของคนรุ่นใหม่เองก็โดนเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งคู่สะท้อนปัญหาโครงสร้างใหญ่เลยว่า สิทธิที่พึงมีของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของประชาชนที่ไร้เสียง ถูกรัฐที่มีอำนาจลิดรอนสิทธิไปอย่างไม่เป็นธรรม พอเรามองผ่านกรอบคิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองเรื่องสีเขียวก็ดี หรือการเมืองเรื่องสิทธิในการแสดงออกในที่สาธารณะก็ดี แทบเป็นเรื่องที่ไม่ต่างกันเลย 

ดิฉันคิดว่าคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้เข้าใจเรื่องไร่หมุนเวียนมากหรอกว่าเป็นอย่างไร แต่พวกเขามีประสบการณ์ร่วมของการถูกลิดรอนสิทธิและการโดนกระทำจากรัฐอย่างไม่เป็นธรรมแบบเดียวกับชาวบ้าน พวกเขาทั้งคู่ถูกรัฐทำให้กลายเป็นคนซึ่งไร้เสียง ดิฉันคิดว่าชาวบ้านกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็เป็นกลุ่มคนเดียวกัน คือเป็นกลุ่มคนที่ถูกรัฐปล้นชิงสิทธิและอำนาจที่เคยมีไป

จริงๆ กรณีบางกลอยเป็นกรณีคลาสสิก เพราะชาวบ้านถูกกระทำในระดับที่ลึกและหลายระนาบมาก พวกเขาถูกกระทำซ้ำซากในระดับที่ลงลึกไปถึงระดับครอบครัว ไม่ใช่แค่สูญเสียที่ดินทำกินอย่างเดียว แต่สูญเสียไปถึงคนที่รัก โดยที่เขาพูดอะไรไม่ได้เลย ดิฉันคิดว่าสิ่งนี้สร้างความสะเทือนใจในระดับกว้างต่อผู้คน เป็นปัญหาการเมืองที่สร้างความเจ็บปวดในระดับลึก ซึ่งคนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะคนรุ่นเขาเองก็เห็นความเจ็บปวดเช่นนี้ ในขณะที่ชาวบ้านก็โดนปล้นชิงสิทธิและอำนาจในการดำรงชีพ คนรุ่นใหม่ก็โดนปล้นชิงเสรีภาพในการแสดงออก 

ด้วยประสบการณ์ร่วมอันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากจะออกมาสนับสนุนชาวบ้าน

‘ป่า’ มักจะถูกมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับ ‘เมือง’ เสมอ สำหรับคุณที่ศึกษาป่ามาอย่างต่อเนื่อง มองว่า ‘ป่าไทย’ สะท้อน ‘เมืองไทย’ อย่างไร

ป่าถูกทำให้เป็นคู่ตรงข้ามกับเมือง แต่ไม่ได้แปลว่าเมืองไม่ได้ใช้ประโยชน์จากป่า มันเป็นคู่ตรงข้ามลวง คนในเมืองมักออกมาโปรโมตแนวคิดที่ว่าต้องปล่อยป่าให้อยู่อย่างธรรมชาติ ป่าต้องอยู่ตรงข้ามกับเมืองที่ศิวิไลซ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนในเมืองเป็นผู้เสพความสมบูรณ์จากป่าเยอะที่สุด อย่างที่รู้กันว่าป่าเป็นปอดของคนในเมือง ช่วงวันหยุดพวกเขาก็พากันแห่เข้าไปตั้งเต็นท์และเสพประโยชน์จากป่า โดยที่ไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าประโยชน์ที่พวกคนในเมืองได้รับเกิดขึ้นจากต้นทุนของอะไรบ้าง 

ดังนั้นถ้าตอบคำถามนี้ ดิฉันคิดว่าวิธีคิดในการมองป่าแยกออกจากเมืองเป็นวิธีคิดที่มักง่ายและไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่าเมืองพึ่งบริการของคนที่อยู่ในป่าซึ่งรักษาป่ามายาวนาน 

เมืองไทยในภาพใหญ่ก็เป็นเช่นนี้ เราเป็นเมืองที่ตัดตอนคุณูปการของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่า อย่างช่วงโควิด เราจะเห็นว่าชาวบ้านที่อมก๋อยเอาผลผลิตในไร่ของเขาลงมาแจกคนในเมือง ซึ่งเขาไม่ได้บอกว่าเป็นการทำบุญหรือทำความดี เขาแค่เอามาให้เฉยๆ ส่วนเหตุผลที่ให้ก็ง่ายๆ เพราะคนในเมืองซื้อผลผลิตจากเขา เขาก็อยากช่วยคนในเมือง คำว่า ‘ช่วย’ สะท้อนวิธีคิดในการมองความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยน สะท้อนความสัมพันธ์ที่เท่ากันของเมืองกับป่า

ดังนั้นดิฉันอยากจะเรียกร้องว่าเลิกผลิตซ้ำวาทกรรมการมองป่าแยกกับเมืองได้แล้ว สิ่งที่เราควรทำคือ ทำอย่างไร เมืองกับป่าจะพึ่งพาอาศัยกันในเชิงแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมได้อย่างไร และคนในเมืองจะอยู่อย่างไรจึงจะทำให้ทั้งป่ากับเมืองไปด้วยกัน โดยที่ไม่ใช่ให้คนในป่ากลายเป็นผู้ที่แบกรับต้นทุนนี้อยู่ฝ่ายเดียว 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save