fbpx

เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในระบอบประยุทธ์ กับ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

จากวิกฤตสาธารณสุข สู่วิกฤตเศรษฐกิจ ถึงวิกฤตการเมือง สังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์กำลังเผชิญความท้าทายที่แหลมคมที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ 

ภายใต้มรสุมที่ถาโถม ระบอบประยุทธ์กลับถูกมองว่าไร้น้ำยาและกำลังจะนำพาประเทศไทยไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลว 

101 ชวน รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองของระบอบประยุทธ์ และภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ-การเมืองไทย ในวันที่คนไทยกำลังทุกข์ยากที่สุด


YouTube video


:: โรคระบาดแยกไม่ขาดจากการเมือง ::



วิกฤตโควิดถือว่าเป็นโอกาสในการทดสอบระบบการเมืองของแต่ละประเทศ เมื่อเจอวิกฤตโควิดเหมือนกัน แต่ผลลัพธ์มันออกมาไม่เหมือนกันเพราะเหตุใด ปัจจัยชี้ขาดคือระบบการเมือง ถ้าเป็นระบบประชาธิปไตย รัฐบาลจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้รวดเร็ว จริงจังและรับผิดชอบ เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นต้องมีการตำหนิติเตียน ลาออกหรือเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ไปเลย

ในประเทศที่เป็นเผด็จการ ผู้ปกครองไม่ต้องฟังเสียงประชาชนก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เขาจะดำเนินการในแบบที่คิดว่าอยู่ในประโยชน์ของเขา คำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมือง คะแนนเสียง ความนิยม ฐานอำนาจและผลประโยชน์ที่มีอยู่ในระบอบนั้นเป็นหลัก สวัสดิภาพของประชาชนก็อาจจะไม่ได้มีความสำคัญอันดับหนึ่งเสียทีเดียว

กรณีของประเทศไทยเราเห็นได้ชัดว่า วิกฤตการณ์โควิดที่ผ่านมามีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน มีการกล่าวว่ากันมากมายว่ามีการใช้ผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ จนทำให้ผลออกมาไม่เป็นแบบที่ควรจะเป็น


:: ปัญหาวัคซีนสะท้อนระบบอำนาจนิยม ::



ปัญหาวัคซีนแสดงให้เห็นถึงปัญหาใจกลางว่าระบบการเมืองปัจจุบันเป็นระบบที่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการของประชาชน เอาสวัสดิภาพไปผูกติดกับความมั่นคงทางการเมืองของผู้มีอำนาจ เช่น การพยายามให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีน การดื้อดึงที่จะใช้วัคซีนบางตัวที่มีข้อสงสัยในเรื่องของประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้เกิดแบบไม่น่าจะเกิดเลย

ต้องยอมรับว่าระบอบในทุกวันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบสมบูรณ์อย่างประเทศที่เจริญแล้ว สำหรับฝั่งที่เชียร์เขาอาจบอกว่านี่คือระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือการรวบอำนาจรวมศูนย์ที่ค่อนข้างสูงมาก โดยอำนาจส่วนใหญ่จะโดนรวบไว้ภายใต้ระบอบที่เรียกว่าระบอบอำนาจนิยม โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพเป็นแก่นกลาง แต่ห่อหุ้มไว้ด้วยรัฐธรรมนูญปี 60 การเลือกตั้งและระบบรัฐสภาเป็นเปลือก โดยมีสปอนเซอร์หลักเป็นกลุ่มทุนผูกขาดซึ่งมีอยู่ไม่กี่กลุ่ม

ในที่สุดการตัดสินใจในวาระที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพของประชาชนจะไปผูกติดกับการเมืองแบบนี้ว่า คุณต้องไม่ไปกระทบกับการเมือง ไม่ไปกระทบการกระจายหรือรวมศูนย์อำนาจ และมาตรการที่เกิดขึ้นก็จะต้องเป็นประโยชน์กับการรวมศูนย์อำนาจในลักษณะนี้ ไม่ทำให้เสียหายหรือเปลี่ยนแปลงไป

พอเป็นแบบนี้ ประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องใหญ่ๆ ก็จะตัดสินกันจากอำนาจนอกสภา แล้วใส่ผ่านรัฐบาลคุณประยุทธ์เข้ามาที่ ครม. ส่วนสภาก็ทำหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างจำกัด เช่น เรื่องงบทหารที่อภิปราย วิจารณ์กันยังไงก็ไม่สามารถคัดค้านอะไรได้ ได้แค่ตั้งคำถาม

สถานการณ์โควิดในปัจจุบันก็เหมือนกัน ศบค. จะดำเนินการแบบนี้ นโยบายวัคซีนเป็นแบบนี้ ในสภาก็พูดไป ไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐโดยตรงได้ เพราะการตัดสินใจมันรวมศูนย์มาก


:: โควิดบั่นทอนกำลังขบวนการประชาธิปไตย ::



หากวิกฤตโควิดยืดเยื้อออกไปประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส แทนที่จะเกิดการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง มันอาจเกิดผลตรงข้ามก็เป็นได้ เพราะว่าคนที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงจะอ่อนกำลัง เมื่อคุณเจ็บป่วย ค้าขายไม่ได้ หนี้ท่วม คุณก็ไม่มีกำลังที่จะออกไปเคลื่อนไหวทางการเมือง

ฉะนั้น วิกฤตใช่ว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน สำหรับคนที่เจอปัญหาพวกนี้ จะเอาเวลาที่ไหนไปคิดเรื่องภาพใหญ่ทางการเมือง มันต้องใช้แรงใช้ทรัพยากรเยอะ คุณเจอทั้งวิกฤตทั้งโรคภัย มันก็ไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

อาจเรียกได้ว่าวิกฤตครั้งนี้กระตุ้นให้คนเห็นปัญหามากขึ้นและเริ่มเห็นความจำเป็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่การที่เริ่มเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงกับการตั้งใจว่าต้องลงมือทำอะไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมันอีกเรื่อง รับรู้อย่างเดียวมันได้ แต่การลงมือทำเป็นอีกเรื่องซึ่งตอนนี้ผมยังไม่เห็น คนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็เป็นคนจำนวนหนึ่งซึ่งพูดกันตามจริงคือมันยังไม่พอ


:: ไล่ประยุทธ์ออก ไม่จบ ::



การเมืองตอนนี้เรียกระบอบประยุทธ์อาจจะยังไม่เหมาะ เพราะคำว่าระบอบประยุทธ์หมายความว่า ถ้าคุณประยุทธ์ออกไป ระบอบนี้ก็จะหายไปด้วย ซึ่งมันไม่ใช่ คุณประยุทธ์เป็นตัวจักรอันหนึ่งที่สำคัญในระบอบนี้ แต่ถึงไม่มีคุณประยุทธ์ก็มีคนอื่นมา ถ้าชนชั้นปกครองยังเห็นว่าคุณประยุทธ์ยังมีประโยชน์ คุณประยุทธ์ก็จะเป็นนายกต่อไปเรื่อยๆ และจะออกก็ต่อเมื่อชนชั้นปกครองมองว่าหมดประโยชน์แล้ว อยู่ไปก็สร้างปัญหาหรืออะไรก็แล้วแต่

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่คุณประยุทธ์เพียงคนเดียว มันเป็นปัญหาเชิงระบอบ เอาประยุทธ์หนึ่งออก ก็มีประยุทธ์สอง ประยุทธ์สาม ตราบใดที่ยังเป็นระบอบรวมศูนย์อำนาจแบบนี้อยู่

เพราะฉะนั้นการบอกว่าจะไล่ประยุทธ์เพียงคนเดียวจึงเป็นปัญหาที่ผมเคยวิจารณ์ไว้ ว่าคุณไล่ประยุทธ์เพียงคนเดียวมันไม่จบหรอก เพราะคุณไล่ประยุทธ์ออกไป มันก็จะเป็นประยุทธ์สองมาแทนอยู่ดี ตราบใดที่ยังเป็นรัฐธรรมนูญปี 60 มี ส.ว. 250 คนอยู่ มีองค์กรอิสระสารพัด กองทัพยังมีอำนาจมากมายอย่างในปัจจุบัน นายกคนต่อไปถ้าไม่เป็นคุณประยุทธ์ก็อาจจะเป็นนายทหารนอกราชการอีกคนที่คุณสมบัติเหมือนคุณประยุทธ์ก็ได้


:: กระแสโลกาภิวัตน์ไม่ช่วยเปลี่ยนการเมืองในประเทศ ::



10-20 ปีที่ผ่านน่าจะพิสูจน์แล้วว่ากระแสโลกาภิวัตน์เป็นเงื่อนไขที่กดดันจากภายนอก แต่มันไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ถ้าการเมืองภายในไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากภายใน

ดูอย่างพม่า แม้เขายอมเปิดประเทศมากขึ้น  มีการเลือกตั้ง ยอมรับให้อองซานซูจีเข้าสู่ระบบโดยที่ทหารยังสามารถควบคุมได้อยู่ แต่พอจะมีการผลักดันให้รัฐขยายอำนาจก็เกิดรัฐประหาร เพราะทหารเสียประโยชน์ เราก็จะเห็นว่าการเมืองระหว่างประเทศไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก เพราะสุดท้ายการเมืองต้องเปลี่ยนจากภายในประเทศ

เช่นเดียวกับประเทศไทย ตลอด 6-7 ปีมานี้ ทั้งยุโรป อเมริกาก็กดดันประเทศไทยมาโดยตลอด เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เราก็เห็นว่ามันไม่ดีขึ้น คดีต่างๆ ยังเยอะอยู่ นักโทษทางการเมืองก็ยังมีเยอะอยู่ การใช้กฎหมายทางการเมือง เช่น ม.112 ม.113 ม.116 ก็ยังมีอยู่เยอะ เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงจะเห็นได้ว่ากระแสโลกาภิวัตน์เป็นเงื่อนไขจากภายนอก แต่สุดท้ายก็ไม่ชี้ขาด

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save