fbpx
เปิดใจ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาพรรคเพื่อไทย ในวันที่ถูกบีบจากอำนาจเก่า – ถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่

เปิดใจ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาพรรคเพื่อไทย ในวันที่ถูกบีบจากอำนาจเก่า – ถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

หากเรายอมรับกันว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย

ในบรรดาข้อเรียกร้องที่พุ่งมายังพรรคการเมืองเวลานี้ ดูเหมือนสังคมไทยกำลังคาดหวังและถามหาซูเปอร์พรรคการเมือง หรือพรรคการเมืองในอุดมคติ ที่จะพาประชาชนฝ่าวิกฤตการเมืองที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน และพาประเทศโต้คลื่นลมความท้าทายแห่งอนาคต

สำหรับพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุดมาตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร สร้างพรรคไทยรักไทย สู่พรรคพลังประชาชน จนถึงยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำ-นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก

อะไรคือสิ่งที่พรรคการเมืองใหญ่พรรคนี้กำลังพบเผชิญ ตั้งแต่แรงบีบอัดของอำนาจเก่าและความท้าทายจากคนรุ่นใหม่

คำถามที่ว่า “พรรคเพื่อไทยคิดจะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือไม่” และ “พรรคเพื่อไทยพร้อมหรือยัง”  เป็นคำถามที่รอการพิสูจน์ ไม่ใช่แค่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เท่านั้นที่เฝ้ารอคำตอบ ไม่ว่าจะรักหรือชังก็ตาม อาจเป็นทั้งสังคมที่รอพิสูจน์เช่นกัน

ระหว่างที่ 101 สัมภาษณ์ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เขาเปรียบเปรยตอนหนึ่งว่า “เราอาจจะเป็นหัวหอกที่ยึดติดด้ามไม่เพียงพอ พอเขวี้ยงไป ด้ามมันไม่ได้ไปด้วย หอกก็พุ่งไปไม่ได้ไกล” และ “ถ้าวันนี้เอาคนดังอย่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มาวางยุทธศาสตร์ให้ 10 ปี เรายังไม่รู้เลยว่าเราจะยอมรับได้ไหม เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอด”

คำเปรียบเปรยดังกล่าวเสมือนว่าพรรคเพื่อไทยกำลังครุ่นคิดถึงอะไรบางอย่าง และมองเห็นโจทย์ที่ยากยิ่ง

เพื่อไม่ให้เสียเวลา บทสัมภาษณ์นี้พยายามพุ่งเป้าขยายผลจากการครุ่นคิดของพรรคเพื่อไทย จากยุคสมัยที่รุ่งโรจน์ที่สุดสู่ยุคสมัยที่ต้องเผชิญสารพัดวิบากรรมทางการเมือง โดยมีพ่อบ้าน “อ้วน” แอ่นอกตอบรับทุกคำถามโดยไม่เบือนหน้าหนี

ภูมิธรรม เวชยชัย

การเป็นเลขาธิการพรรคในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้อำนาจทหาร เหมือนต้องเป็นพ่อบ้านที่ทำครัวแล้วชวนเพื่อนมากินข้าวที่บ้านไม่ได้ ทำกิจกรรมทางเมืองไม่ได้ รู้สึกอย่างไร

อึดอัด เป็นความยากลำบากเพราะเราถูกปกครองให้อยู่ภายใต้ระเบียบของผู้มีอำนาจที่ถืออาวุธ ถือตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์มากำหนดความเป็นอยู่ของสังคม

เราต้องมาดูกันว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นและเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจมันเกิดจากอะไร มีคนสร้างขึ้นหรือเกิดตามธรรมชาติ เมื่อมันเกิดบรรยากาศที่คนใช้อำนาจพิเศษเข้ามาดำเนินการ ก็ยากลำบากอยู่แล้ว

วันนี้ก็พัฒนามา 4 ปีแล้ว ผมคิดว่าประจักษ์ชัดต่อสายตาพี่น้องประชาชนแล้วว่าบ้านเมืองไม่ได้มีเหตุอะไรที่วุ่นวาย ทุกคนก็รักประเทศ ถ้ามองคนอยากเลือกตั้งเป็นความขัดแย้งและความวุ่นวาย แสดงว่าคุณมองด้วยทัศนคติที่แคบและผิด คุณต้องยอมรับว่ามันคือการแสดงออกของกลุ่มคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น

ขณะนี้สังคมอยู่ด้วยความไม่ชัดเจนทั้งหมด เวลาฝ่ายผู้มีอำนาจพูดว่าทุกอย่างเป็นไปตามโร้ดแมป แต่โร้ดแมปท่านเปลี่ยนทุกปี ความชัดเจนคือความไม่ชัดเจน สังคมจึงไม่มั่นใจ และความไม่มั่นใจจะแก้ได้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่บอกว่าอย่าพูดมาก

ผมอยากให้รัฐบาลไตร่ตรองเรื่องนี้ให้รอบคอบ เพราะต่อให้เอาหินหนักๆ มาถ่วงกาน้ำที่มันเดือด ไม่ให้ฝากาขยับ แรงดันภายในมันจะเป็นปัญหา เป็นความอึดอัดของคนทั้งสังคม

วันนี้คุณไปพูดว่าจีดีพีจะดีขึ้น อนาคตจะดีขึ้น แต่ชาวบ้านรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าเขาเพิ่มขึ้นไหม คุณบอกเศรษฐกิจดี คุณไปถามคนตามห้างฯ สิ เขาบอกมีแต่คนเดินไม่มีคนซื้อ กำลังซื้อหดหาย มันไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฐานล่างหรือกำลังซื้อภาคประชาชนมีความเข้มแข็งขึ้น ต่อให้พูดให้น่าสบายใจเท่าไหร่ก็ไม่สัมพันธ์กับชีวิตที่ประชาชนเจอ

ผมไปต่างจังหวัด ไปนอนโรงแรมใหญ่ประจำจังหวัด ลงมาห้องอาหาร สมัยก่อนจะมีดนตรี เปียโน มีคนนั่งดื่มไวน์ นั่งทานอาหารคุยกัน วันนี้มีโต๊ะผมอยู่โต๊ะเดียว เขาบอกเป็นอย่างนี้มานานพอสมควรแล้ว

เพราะฉะนั้น อารมณ์แบบนี้เขาต้องการการเปลี่ยนแปลง รัฐต้องลดบทบาทในการควบคุม สร้างกลไกการตรวจสอบให้โปร่งใส แล้วก็ทำให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทร่วมคิดกับอนาคตของประเทศ

 

ตอนนี้หลายคนรู้สึกว่าเพื่อไทยไร้หัว ไม่มีผู้นำที่เข้มแข็งหนักแน่นในการพาพรรคฝ่าวิกฤตการเมือง หรือเอาเข้าจริง ต่อให้มีหัวหน้าพรรคที่ประชาชนยอมรับก็ทำอะไรมากไม่ได้

ผมว่าเปรียบเทียบผิดไปนิดหนึ่ง เพื่อไทยมีหัวเยอะเกินไป (หัวเราะ) ไม่ขาดแคลนเลย อุ่นหนาฝาคั่งพอสมควร

ต้องทำความเข้าใจ เราถูกรัฐประหาร คุณจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ยอมรับและลี้ภัยหายหน้าไปจากวงการเมืองไทย เมื่อท่านลาออก ตามกฎหมายเราก็ต้องใช้รักษาการ และต้องดำเนินการเลือกหัวหน้าพรรคภายใน 30 วัน แต่ว่าไม่สามารถทำได้เพราะเราอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษ ทุกคนในเวลานี้เป็นผู้รักษาการมา 4 ปีแล้ว มากกว่าตัวจริงอีก ถ้าหากว่ามีการยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ที่ 3/60 ให้มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนได้ การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ก็จะเกิดขึ้นได้ภายใน 30 วัน แล้วเราก็จะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้

เพราะฉะนั้นวันนี้พรรคไม่ได้ไร้หัว รักษาการหัวหน้าพรรคยังอยู่ แต่การเลือกหัวหน้าพรรคก็ดี เลือกคณะกรรมการบริหารพรรคก็ดี เลือกเลขาธิการพรรคก็ดี มันต้องผ่านการเจรจาตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกพรรค แต่สาขาพรรควันนี้ก็ถูกยุบไปหมดแล้ว ถ้าจะโทษการไร้หัว ก็ต้องโทษ คสช. จริงๆ ไม่เฉพาะเพื่อไทย พรรคอื่นๆ ก็เหมือนกันทั้งหมด

พรรคเพื่อไทยในวันที่ไม่มียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นอย่างไร แกนนำพรรคอีกบางส่วนต้องลี้ภัย โจทย์ของกรรมการพรรคที่ร่วมสร้างพรรคกันมาคิดว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางจากการชูตัวบุคคลไปเป็นแบบอื่นไหม

เป็นเรื่องธรรมดา พรรคเรามีผู้นำที่โดดเด่น มีศักยภาพมาก นายกฯ ทักษิณยังอยู่ในดวงใจของคน เพราะท่านเป็นผู้นำมีวิสัยทัศน์ นายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตน ผู้คนรักใคร่ เป็นคนที่เข้ามาผลักดันการทำงานต่างๆ ให้เกิดความร่วมมือกับทุกฝ่ายได้ และสามารถนำพาความร่วมมือไปช่วยผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้

เพราะฉะนั้นการที่เรามีผู้นำที่อยู่ในใจของประชาชน อารมณ์ความรู้สึกของคนก็รู้สึกหงอยเหงาไปบ้างในลักษณะที่สูญเสียผู้นำไป วันนี้ท่านไม่ได้เป็นแค่คนของพรรคเพื่อไทย หรือคนของประชาชนไทยเท่านั้น วันนี้ท่านเป็นคนของโลก ได้รับการยอมรับเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานหลายแห่งในโลก

เมื่อกฎระเบียบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกเขียนขึ้นมาและพยายามกีดกันท่านให้ออกจากระบบการเมืองปัจจุบัน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจจะขัดขวางความผูกพันที่ท่านมีต่อประชาชนชาวไทยได้ เราไม่ได้ยึดอยู่ที่ตัวบุคคล เราชื่นชม เคารพนับถือในความเป็นท่าน ยึดมั่นในวิสัยทัศน์และศักยภาพที่ท่านมี เราได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นด้วยการสร้างพรรคให้มีหัวใจยึดกุมความปรารถนาในการแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่

โดยระบบของพรรคเพื่อไทยจริงๆ แม้จะมีผู้นำที่โดดเด่น แต่ที่ผ่านมาก็เป็นการนำโดยหมู่คณะอยู่แล้ว เรามีบุคลากรในทุกด้าน มีนักกฎหมายเลื่องชื่อจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชน เป็นนักกฎหมายที่เคยเป็นทั้งอาจารย์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นอดีตอัยการสูงสุด อดีตผู้พิพากษา อดีตประธานศาลปกครอง เรามีนักต่อสู้ที่มีจุดยืนเพื่อสิทธิเสรีภาพ

ที่บอกว่าไร้หัว เป็นคำพูดเหมือนเราไม่มีใครเลย แต่ไม่ใช่ เกือบ 20 กว่าปี มันหล่อหลอมให้เรามีหัวใจดวงเดียวกัน ทุกวันนี้ที่ยังอยู่ได้และไม่มีใครจะทำลายเราออกไปจากเวทีการเมืองได้เพราะว่าความเป็นเราที่ยังประทับในใจพี่น้องประชาชน เพียงแต่ต้องรักษาและยึดมั่นในสิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน ถ้าบุคลากรของพรรคเพื่อไทยไม่ทำลายความคาดหวังที่พี่น้องประชาชนมีกับเรา และไม่ทรยศต่อเจตนารมณ์ เราเชื่อว่าเรายังเป็นพรรคที่แข็งแกร่งและยืนหยัดได้ด้วยขาของตัวเอง

 

นอกจากเรื่องนโยบายกินได้ที่พูดกันมานานแล้ว อะไรทำให้ความเป็นพรรคการเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่ไทยรักไทยมาถึงเพื่อไทยยังอยู่ในใจประชาชนส่วนใหญ่ เงื่อนไขทางสังคมอะไรอีกบ้างที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

ผมว่าถ้าไปดูบรรยากาศทางการเมือง หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ประมาณปี 2538 ก่อนจดจัดตั้งพรรคไทยรักไทยปี 2541ตอนนั้นระบบพรรคการเมืองยังไม่เข้มแข็ง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของระดับชนชั้นนำเป็นหลัก การแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนยังไม่สามารถแก้เป็นเรื่องเป็นราวได้ ประชาชนรู้สึกว่านักการเมืองให้สัญญาลมๆ แล้งๆ

ส่วนที่เราเริ่มเข้ามาทำงานการเมือง มีที่มาจากการได้รับผลสะเทือนทางการเมือง 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรก คือ เราผ่านช่วง 14 ตุลาฯ มา และผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายในประเทศที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างๆ พี่น้องประชาชนที่ออกไปใช้แรงงานในต่างประเทศก็ดี หรือการขับเคลื่อนตัวพลเมืองของเราก็ดี ในด้านหนึ่งเป็นการดิ้นรนหาทางออกในเรื่องชีวิตทางเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะว่าประชาธิปไตยหมายถึงวิถีชีวิต เป็นวิถีชีวิตที่เคารพในความเป็นมนุษย์ของกัน เคารพในสิทธิเสรีภาพ ทุกคนสามารถแสวงหาทางเลือกของชีวิตได้

การที่ชาวบ้านได้มีโอกาสไปใช้ชีวิต ไปใช้แรงงานในตะวันออกกลาง ในสิงคโปร์ ในฮ่องกง สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป เขาได้ไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนที่เคารพสิทธิเสรีภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ในช่วงที่เรากำลังก้าวเข้ามาสู่การเมือง

เรื่องที่สอง เป็นผลต่อเนื่องมาตั้งแต่พฤษภาฯ 2535 มันสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของคนในสังคมขณะนั้นว่าเขาไม่ต้องการนายกฯ คนนอก คำพูดเสียชีพอย่าเสียสัตย์ของนายกรัฐมนตรีขณะนั้นถึงได้กลายเป็นปัญหา เพราะท่านสัญญาอย่างหนึ่ง พอถึงเวลาท่านเสียคำพูด

สถานการณ์อย่างนั้นทำให้คนตื่นตัวขึ้นมา และอยากเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดอนาคตและระบอบการปกครอง จึงได้มีการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 เพราะพี่น้องประชาชนเขาอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นการเมืองมีเสถียรภาพ มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เกิดองค์กรอิสระต่างๆ

ประกอบกับเราได้ผู้นำอย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้นำที่มีความเข้มแข็ง เป็นความเข้มแข็งที่ไม่ใช่ด้วยกำลังอาวุธ แต่ด้วยทัศนคติและวิสัยทัศน์ มีความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของโลก มีความเข้าใจในการดำเนินการจัดการปัญหาด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้อง สิ่งที่เราทำคือการเสนอนโยบายเพื่อใช้เป็นสัญญาประชาคม หรือเป็นธงนำของการบริหารประเทศ

จำได้ว่า ตอนที่เราเสนอความคิดและไปชวนคนมาทำงานนั้นมีความยากลำบากมาก หลายคนรู้สึกว่าถ้าเอานโยบายมาทำงาน ต้องรอตายไปอีกสักชาติแล้วเกิดใหม่ แต่เรามุ่งมั่นเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดน่าจะเป็นทางออกได้ และก็ไม่ใช่การขายฝันที่เอาคำพูดมาพูดแบบเท่ๆ

เราเดินทางไกลด้วยการลงไปหาพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ไปตามมหาวิทยาลัยเพื่อพบอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกด้าน ไปหาพี่น้องประชาชนในโรงงาน สลัม ไปพบกับปราชญ์ชาวบ้าน และกลุ่มนักธุรกิจรายย่อย ปัญหาที่เขาเผชิญร่วมกันคือรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ กระจุกอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง แทนที่จะเป็น facilitator เอื้อให้ทุกคนกลายเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เอง

แล้วกฎระเบียบทางราชการที่เป็นอุปสรรค เราก็พยายามแก้เพื่อให้เกิดการพัฒนาได้ มันจึงเกิดคำขวัญทางการเมืองที่พูดออกมาคำหนึ่งแล้วคนบอกใช่ ตรงใจ เช่น มีคำที่เป็นหัวใจอยู่สามคำ “ลดรายจ่าย” “เพิ่มรายได้” และ “ขยายโอกาส” สามคำนี้สะท้อนปรัชญาความคิดในการทำงานการเมืองของเรามาจนถึงวันนี้

สามคำนี้เปลี่ยนประเทศไปอย่างไร

ชาวบ้านอาจจะพอมีเงิน แต่เขาต้องจ่ายอะไรมากมาย เช่น ค่าสุขภาพ ค่าดอกเบี้ย ค่าประกันพืชผลต่างๆ ค่าเรียนลูก ค่ากินอยู่ มันไม่พอ เราช่วยลดภาระเขาได้ ยกตัวอย่าง เราเสนอให้มีการพักชำระหนี้เกษตรกร ที่ผ่านมาเขาหาเงินได้มาเท่าไหร่ ต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ยหมด แต่เราให้พักหนี้สามปี ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย มันคือการสร้างโอกาสให้เขามีความเข้มแข็ง

สำหรับคนยากคนจน ปัญหาคือเขาไม่มีสินทรัพย์เหมือนคนมีอันจะกิน อยากลงทุนก็เอาที่ดินไปวางกับแบงค์ แต่ชาวบ้านไม่มี ฉะนั้นกองทุนหมู่บ้านจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่อยู่ๆ เอาเงินไปแจกเขา จากประสบการณ์ที่ทำกันมา พบว่าประชาชนรู้จักกันดีในหมู่บ้าน ดูแลตรวจสอบกันเองได้ เขารู้ว่าคนไหนไม่มีเงินจริงๆ และควรจะผ่อนปรนกัน ตอนที่เสนอนโยบายนี้ก็มีคำถามจะเอาเงินมาจากไหน 7 หมื่นหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้าน ก็ 7 หมื่นล้าน เป็นเรื่องใหญ่มาก

เรามานั่งดูตัวเลขกัน งบประมาณมีมหาศาล แต่ที่ผ่านมางบประมาณของรัฐถูกใช้โดยไม่มีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง แล้วยังมีการใช้ที่รั่วไหลไปอีกจำนวนมาก หลายเรื่องใช้โดยที่ยังไม่ใช่เวลาหรือไม่จำเป็นต้องใช้ เราก็เอามาจัดการตรงนี้เป็นเงินทุนหมุนเวียน พอคิดถึงความจำเป็นของชาวบ้าน กระบวนการสร้างเศรษฐกิจฐานรากจึงเกิดขึ้น

เงินที่อยู่กับชาวบ้านต่างกับเงินที่อยู่กับเศรษฐี ข้าวไข่เจียวหรือสเต็กเนื้อสันก็อิ่มเท่ากัน เราไม่ได้เรียกร้องว่าต้องหาสเต็กให้ชาวบ้านกินในภาวะที่ยังขาดแคลน แต่ขอให้ท้องเขาอิ่ม และเงินของเขาทุกบาททุกสตางค์สามารถไปซื้อสิ่งที่ดูแลคุณภาพชีวิตครอบครัวเขาได้

ภูมิธรรม เวชยชัย

คุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่คุณเห็นมีปัญหาอะไร

ปัญหาเป็นเรื่องโอกาสไม่เท่ากัน ถ้าคุณได้สัมผัสกับชีวิตของประชาชนทั้งในเขตเมืองและชนบท จะรู้ว่าปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาใหญ่ คนทำมาค้าขายหาเช้ากินค่ำ ถ้าเขาไม่จำเป็นจริงๆ หรือถึงขนาดทำงานไม่ไหวต้องล้มหมอนนอนเสื่อ เขาไม่ไปโรงพยาบาลกันหรอก และพอไปหาหมอก็เจอสภาพการบริการสาธารณสุขที่แย่มาก

พอเราไปดูความเป็นจริง เราพบว่าสาธารณสุขไม่ได้ขาดแคลนอะไร แต่มันมีการใช้งบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพและซ้ำซ้อน พอเราคุยกันมันจึงเกิดเป็นกองทุนสุขภาพ เคาะตัวเลขงบประมาณแล้วรู้ว่าทำได้ ถ้าจัดการดีๆ ก็กลายมาเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

การพบชาวบ้านทำให้เรารู้ว่าลักษณะการวางนโยบายแบบปกติ ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ ถ้ามีหมู่บ้านไหนน้ำท่วม สะพานขาด การจะหางบมาซ่อมแซม เขาต้องรอการสำรวจของกระทรวง บางทีรอกันกันหลายปี การใช้นโยบาย SML หมู่บ้านใหญ่ กลาง เล็ก เวลาเขามีปัญหาไม่ต้องรอการตัดสินใจ ไม่ต้องรอส่วนกลางลงไปทำ นี่คือหัวใจของการกระจายอำนาจ ไม่ใช่แค่โยนเงิน แต่คือการถ่ายระบบการคิดการตัดสินใจไปให้ชาวบ้าน เพราะถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ส่วนกลาง ก็ไม่เรียกกระจายอำนาจ

คนวิจารณ์ก็ไปบอกเขาเสพสุข ซื้อมือถือ แต่คุณอยู่กรุงเทพฯ ระบบสาธารณูปโภค รัฐจ่ายให้เงินทั้งหมด ถนนหนทาง รัฐจ่ายเป็นหมื่นล้าน คุณเดินทางสบาย แต่ชาวบ้านเมื่อก่อนเวลาออกจากหมู่บ้าน เขามีรถเที่ยวเดียว ขาไปออกตีห้า ขากลับหกโมงเย็น เวลาออกไปซื้อของในเมือง ซื้อเสร็จไปไหนไม่ได้ ต้องรอถึงเย็นเพื่อกลับบ้าน หน้าฝนในต่างจังหวัดเสียชีวิตกันไปเท่าไหร่

แต่พอเขามีโทรศัพท์ ก็สามารถติดต่อง่ายเหมือนคนกรุงเทพฯ คุณจะไปมองแค่ความฟุ่มเฟือยไม่ได้ เขาใช้เพื่อจัดการชีวิตเขา เขาใช้มอเตอร์ไซค์ เขายอมเสียค่าน้ำมัน เพื่อได้เวลาที่เพียงพอไปทำอย่างอื่นได้ เขาจะขี่รถเข้าจังหวัดตอนไหนก็ได้ ไม่ต้องรอตื่นตีห้า

อย่างการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ที่ผ่านมาคุณต้องมีที่ดินมีบ้านเพื่อเอาไปวางที่แบงค์แล้วแลกเป็นเงิน แต่คนไม่มีบ้านหรือที่ดินทำไงล่ะ สินทรัพย์ควรถูกตีความมากกว่าเรื่องที่ดิน ฝีมือทำกับข้าวก็เป็นสินทรัพย์ ถ้าทำก๋วยเตี๋ยวอร่อยก็การันตีได้ว่ารอดแน่ แต่ถ้าคุณติดกรอบแบบเดิม เมื่อไหร่คนจนจะได้โอกาส

เหมือนต้นไม้ ถ้าจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ต้องรดน้ำที่ราก อย่าไปรดที่ใบเพราะมันได้แค่ความชุ่มชื่น แต่ถ้าน้ำถึงรากมันสร้างความเติบโต ที่วิจารณ์กันก็วิจารณ์เพียงแค่รูปแบบบางส่วนว่าเอาเงินไปแจกเขาเสมือนว่าเราทำให้เขางอมืองอเท้า แต่เราสร้างเงื่อนไขให้ชีวิตเขาไม่เดือดร้อนดิ้นรนมากจนเกินไป และกำลังให้โอกาสกับเขาในการใช้ทรัพยากรที่เขามีส่วนเป็นเจ้าของในฐานะพลเมืองของชาติด้วยเหมือนกัน

แต่ว่าความเป็นจริงของสังคม มันมีการดำรงอยู่ของโครงสร้างอำนาจต่างๆ กลไกระบบราชการที่บางส่วนมันเทอะทะไร้ประสิทธิภาพและซ้ำซ้อน

สมัยนั้นประเมินล่วงหน้าได้ไหมว่าถ้าไปแตะโครงสร้างราชการ แล้วจะเกิดปัญหาตามมา

เรารู้ว่าเป็นปัญหาและต้องฝ่าไป ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่เข้ามาทำงาน ฉะนั้นจะเห็นว่า อะไรก็ตามที่เราพูดกับประชาชน จะถูกเอามาบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาลและเสนอต่อสภาเป็นแผนบริหารจัดการประเทศ ที่ผ่านมาพอคุณเลือกตั้งเสร็จ ตั้งรัฐบาลได้ปั๊บ มันจะมีแผนงานที่สภาพัฒน์กำหนดมาให้เดินไป คล้ายๆ วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแบบตอนนี้

พอเข้ามาภายใต้โครงสร้างอำนาจของระบบราชการ ก็ยังมีปัญหาอีกมาก เมื่อไปกระทบโครงสร้างของอำนาจต่างๆ ในสังคม เป็นธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงในทุกสังคม ต้องมีอำนาจที่ไม่สบายใจ ไม่เห็นด้วย หรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กระบวนการก็ไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง มีการรัฐประหารเกิดขึ้น บางคนซึ่งเป็นอดีตนายทหารผู้ใหญ่มาบอกกับผมว่าเสียใจเหมือนกันที่ตอนนั้นคิดและตัดสินใจหลายเรื่องไม่ได้ใคร่ครวญให้ดี ทำให้ประเทศชะงัก

เราได้รับบทเรียนว่า บางทีนอกจากเราตั้งใจเดินไปข้างหน้าแล้ว บางครั้งอาจล้ำไปกว่าความเข้าใจของคนในสังคม เหมือนเราเป็นหอกที่กำลังจะพุ่งออกไปข้างหน้า ถ้าเราทำให้หัวหอกกับด้ามหอกเป็นส่วนเดียวกัน การพุ่งจะไปได้ไกล และมันจะนำไปสู่โลกอนาคตที่เร็ว

แต่ว่าในช่วงที่เปลี่ยนแปลง เราอาจจะเป็นหัวหอกที่ยึดติดด้ามไม่เพียงพอ พอเขวี้ยงไป ด้ามมันไม่ได้ไปด้วย หอกก็พุ่งไปไม่ได้ไกล

 

ทำไมพรรคถึงเป็นเป้าขนาดนี้ 

เป็นธรรมดาของสังคม ถ้าในสังคมที่ความรับรู้ยังไม่เท่ากัน ถ้ามีคนรู้สึกว่าผลประโยชน์หรือความรู้สึกของตนถูกกระทบก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมเชื่อในความดีงามของมนุษย์ว่า มนุษย์จะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตน และไม่มีอะไรทำให้เห็นเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้คนในสังคมได้เห็นร่วมกันว่านี่คือพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทุกคนใจกว้าง ให้โอกาสกับประชาชน ทุกอย่างจะถูกคลี่คลาย ปัญหาที่วุ่นวายมันจะจบลงได้

หลายคนเชียร์เพื่อไทยให้ชนกับขั้วอำนาจเก่า เพราะประนีประนอมมาเยอะแล้ว ที่ผ่านมาก็ตั้งรับอยู่ฝ่ายเดียว การจะชน-ไม่ชนขึ้นอยู่กับอะไร

พรรคเพื่อไทยชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับระบอบเผด็จการ เรายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาที่ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ที่สำคัญคือเราเชื่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วยสันติวิธี หลีกเลี่ยงความรุนแรง เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่จะนำไปสู่การปะทะรุนแรง เราจะหลีกเลี่ยง เราจะไม่พยายามให้สังคมเกิดการทำลายล้าง และพยายามจะไม่เป็นเงื่อนไขสร้างอุปสรรคนี้ให้เกิดขึ้น

แต่เรายอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงอาจต้องมีการเผชิญหน้าเป็นธรรมดา ทั้งการถกเถียง หาข้อสรุป เราต้องสร้างค่านิยมให้คนในสังคมรู้จักอดทน ฟังให้เยอะ โดยเฉพาะความเห็นที่แตกต่าง เหมือนที่เขาบอกกันว่า ระบอบประชาธิปไตยเหมือนสวนดอกไม้หลากสีที่มีสีสันแพรพันธุ์มากมาย

ความงดงามของสวนดอกไม้ฉันใด ระบอบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างทางความคิดของผู้คนก็เป็นความงดงามฉันนั้น ฉะนั้นไม่ต้องไปเกรงกลัวความแตกต่าง

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยมีความพยามจะชงแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ซึ่งคาดกันว่าถ้ารัฐบาลเลือกผู้นำกองทัพเองได้ ก็คงไม่เจอการยึดอำนาจจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ทำไมถึงเลิกผลักดันไปเสียดื้อๆ วันนี้เสียดายไหมที่คุมกองทัพไม่ได้

หลักคิดของเราคือกองทัพจะต้องไม่เทอะทะ อุ้ยอ้าย และใหญ่โตเกินความพอดี แต่กองทัพจะต้องกระชับ หรือ จิ๋วแต่แจ๋ว มีประสิทธิภาพ เพราะการต่อสู้หรือแนวการป้องกันประเทศสมัยใหม่ไม่ได้ต้องการคนจำนวนมากถือดาบเข้าไปวิ่งชนกันเหมือนสมัยก่อน เพราะฉะนั้นกองกำลังต่างๆ ในการต่อสู้หรือป้องกันประเทศไม่ได้ใช้จำนวนคนมหาศาล หากแต่ควรมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงคุณภาพของกองทัพ

ส่วนกลไกการบริหารกองทัพ ในระบอบประชาธิปไตยกองทัพควรจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายนโยบาย

อะไรก็ตามที่คิดว่ายังไม่ทันสมัย หรืออะไรก็ตามที่ยังไม่อยู่ในหลักการที่ควรจะเป็น ก็เป็นเรื่องที่กองทัพกับรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยต้องหารือร่วมกัน หาจุดสมดุลในการบริหารประเทศและภัยความมั่นคงต่างๆ ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ในประเทศประชาธิปไตย ทหารอาจใช้ระบบอาสาสมัครที่ทุกประเทศพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์มากกว่า ทั้งหมดล้วนต้องหารือร่วมกันทั้งสิ้น การจะให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองมีอำนาจในการบริหารจัดการและถ่วงดุลกองทัพต้องหาจุดสมดุลที่พอดี เป็นเรื่องที่ควรเปิดให้สังคมวงกว้างได้มีการระดมความคิดเห็นให้เกิดข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้วโดยเฉพาะคนอีสานไม่ได้โง่จนเจ็บ คนชั้นล่างยกระดับมาเป็นคนชั้นกลางได้ มีฐานะทางสังคม เพื่อไทยก็มีฐานเสียงอีสานมากที่สุด อะไรคือหัวใจหรือความคาดหวังที่อีสานต้องการ จนถึงวันนี้ยังเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไปแล้ว

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ผมคิดว่าฐานของทั้งสังคมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพมากพอสมควร ทั้งการเคลื่อนย้ายของประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจากสังคมแบบดั้งเดิมมาเป็นสังคมข่าวสาร ชีวิตของคนที่ไปอยู่ในทุกๆ แหล่งของโลกได้ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างการเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่เป็นการสอนทางตำรา แต่เป็นประชาธิปไตยแบบวิถีชีวิต นั่นคือการได้ไปดำรงอยู่และได้รู้ว่าคุณค่าของการที่คนเรามีศักยภาพ มีความสามารถ ตัดสินใจเรื่องอะไรต่างๆ ในโลกที่เขาไปเจอ เป็นประสบการณ์ในการใช้ชีวิตแบบประชาธิปไตย

พอกลับเข้ามาในไทยแล้ว เขามีสถานะ มีที่ยืนในทางเศรษฐกิจและการเมืองใหม่ๆ เขามีโอกาสเข้าสู่ในกระบวนการที่มีส่วนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ อบต. อบจ. เทศบาล หรือแม้กระทั่งมีบทบาทกำหนดตัวผู้แทนราษฎรได้

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ชนชั้นนำไทยหลายคนยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่าง วันนี้แจ๊ค หม่า สามารถสร้างการค้าระดับโลก โดยที่เขาไม่ต้องลงไปสร้างโรงงานผลิตในที่ต่างๆ เขาเข้าใจหัวใจของประเทศว่าเป็นเรื่องเทคโนโลยี เขาใช้ระบบเครือข่าย สามารถลิงก์กับโรงงานผลิตทั่วโลกได้

ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีวิสัยทัศน์ เราจะไม่ใช่ผู้เปลี่ยนแปลงที่ทันการณ์ เราจะเป็นผู้ที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง และเราจะเป็นผู้ถูกกระทำ

คนรุ่นผมอยากรับราชการ อยากเป็นเจ้าคนนายคน อยากเป็นผู้มีอำนาจรัฐ เพราะรู้สึกมีเกียรติยศ พอรุ่นลูกรุ่นหลาน เขาอยากเป็นผู้ประกอบการรายย่อย อยากทำการค้า ฐานความคิดเปลี่ยนไป ความเข้าใจโลกเปลี่ยนไป ถ้ากรอบคิดมีความเข้าใจและรู้จักวิธีในการจัดการปัญหา ก็เอาวิธีคิดที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกไปประสานกับความเป็นจริงของชีวิตพี่น้องประชาชน หน้าที่ของเราคืออำนวยประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกัน และนำพาประเทศให้มันหลุดพ้นจากอุปสรรค

เป็นฐานคิดเริ่มต้น เป็นปรัชญาตั้งแต่เริ่มไทยรักไทยมาเลย ?

นั่นคือหัวใจ คือการเริ่มแก้ปัญหาด้วยปรัชญาความคิดที่ถูกต้อง พอมีหลักคิดที่ถูกต้อง เวลาไปเจอความเป็นจริง มันจะปรับไปได้ถูกต้อง ถ้าเริ่มต้นดูจากแค่ปรากฏการณ์และไม่มีหลักคิดอะไรมารองรับ บางทีมันจะงุนงงอยู่กับปรากฏการณ์ เพราะปัญหามันเยอะ ปัญหาเข้ามาหาเรามากจนไม่สามารถทำอะไรได้

ผมว่าเวลาและความเป็นจริงของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะค่อยๆ สอนคนในสังคมให้เข้าใจความเป็นจริง ซึ่งเป็นโจทย์ของทุกพรรคการเมือง ทุกพรรคมีโจทย์ที่ต้องทำความเข้าใจในประชาชนแต่ละพื้นที่ที่มีความเห็นแตกต่างกัน หน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะเสนอตัวเป็นรัฐบาล ต้องเข้าใจความเป็นจริงของทรัพยากรทุกส่วนของประเทศ และเข้าไปหาทางออกให้สังคมนั้น

 

พรรคเพื่อไทยก่อตั้งมาเข้าปีที่ 11 ในห้วงเวลาที่ขั้วอำนาจเก่าพยายามจะลบพรรคทิ้งให้ได้ อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดของการทำพรรคการเมืองให้เข้าถึงใจคนมากที่สุด

ต้นทุนที่พรรคเพื่อไทยมีคือผลสำเร็จของพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน สิ่งที่จะเป็นปัญหาของเรา คือเราจะต้องสืบสานเจตนารมณ์ตรงนั้นให้ได้ อย่าให้ต้นทุนนั้นกลายเป็นปัญหาและอุปสรรค ถ้าเราไม่สามารถที่จะรักษาสิ่งต่างๆ นี้ได้ มันจะทำให้ความนิยมลดน้อยถอยลง

หัวใจสำคัญของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยคือสืบสานเจตนารมณ์เดิม และคิดพัฒนาต่อยอดต่อไป อุปสรรคแรกของเราคือความไม่ต่อเนื่อง บุคลากรยุคแรกโดนตัดสิทธิ์ไป 111 คน พอกำลังจะตั้งสติได้โดนไปอีก 109 คนในยุคพลังประชาชน เราถูกตัดตอนหลายรอบ แต่ความเข้มแข็งคือเรารักษาจุดยืนอุดมการณ์พรรคได้ ฉะนั้นความไม่ต่อเนื่องของทรัพยากรบุคคลก็เป็นความยากลำบากของเราอย่างหนึ่ง

อุปสรรคที่สอง ความยากลำบากที่สุดคือเราสู้กับระบบอนุรักษนิยมที่ยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

การเปลี่ยนแปลงความคิดคนต้องใช้เวลา ใช้การพิสูจน์ ใช้ความต่อเนื่อง ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา อย่างน้อยสุด เราได้เห็นการทำงานของคนอื่นที่ไม่เชื่ออย่างที่เราทำ และมันพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็น เลยยิ่งทำให้สิ่งที่เราเคยทำมาได้รับความนิยม และความเชื่อมั่นจากชาวบ้านมากขึ้นว่าวิธีคิดแบบเรามันไปได้

วันนี้ชาวบ้านเห็นวิธีคิดการวางกรอบประเทศ 20 ปี มันฝืนความเป็นจริงของโลก สมมติผมพูดให้สุดขั้ว วันนี้เขานั่งเครื่องบินกันแล้ว คุยกับคุณวันนี้เสร็จ พรุ่งนี้ผมขึ้นเครื่องบินไปทานอาหารเช้าที่นิวยอร์ก แต่ถ้าคุณจะเอาแบบเดิม คุณก็ไปรอขึ้นเรือที่คลองเตย อีก 6 เดือนค่อยเจอกันที่นิวยอร์ก

ถ้าวันนี้เอาคนดังอย่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มาวางยุทธศาสตร์ให้ 10 ปี เรายังไม่รู้เลยว่าเราจะยอมรับได้ไหม เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอด

ในทางรูปธรรม ด้วยกติการัฐธรรมนูญแบบนี้ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายพรรคการเมือง มีการควบคุมการใช้เงินและการทำนโยบายประชานิยมเข้มข้นมาก ที่ผ่านมากรณีจำนำข้าว ถูกตีความว่าผิด เพื่อไทยจะเดินหน้านโยบายที่เป็นจุดแข็งของตัวเองมาตลอดต่ออย่างไร

ทุกๆ พรรคการเมืองสนใจและระมัดระวังในการใช้วินัยการเงินการคลังอยู่แล้ว และในการดำเนินการ การเสนอนโยบายของพรรคการเมืองเป็นการแสดงเจตนารมณ์ และเป็นการสร้างฉันทมติของประชาชนว่าสิ่งใดคือปัญหาและเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ

ส่วนจะทำได้หรือไม่อย่างไร ถ้ารัฐบาลถือเป็นนโยบายกำหนดไปแล้ว อยู่ในแผนการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลต้องมีหน้าที่ไปดูทรัพยากรต่างๆ การทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ถ้าไปกระทบหรือสร้างปัญหากับระบบวินัยการเงินการคลังก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

แต่การที่จะให้เสนอนโยบายมาและให้ควบคุมโดยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมอบหมายให้ กกต. หรือองค์กรของรัฐเป็นผู้ควมคุมการนำเสนอของฝ่ายพรรคการเมืองก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล และไม่อาจให้คนจำนวน 5-7 คน เป็นผู้รอบรู้ทุกด้านที่จะสามารถมาตัดสินใจการใช้นโยบายแทนพี่น้องประชาชนได้

ผมยังเชื่อมั่นว่าสิ่งใดที่เป็นกติกาที่ฝืนความเป็นจริงและไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน สิ่งนั้นไม่ถูกต้อง และจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้

ภูมิธรรม เวชยชัย

การที่ชนชั้นนำเก่ากลัวการเปลี่ยนแปลงขนานไปกับประชาชนที่เติบโตขึ้นทุกวัน จากประสบการณ์ ในอนาคตถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลอีก ต้องดีลกับพลังจากสองฝั่งนี้อย่างไรเพื่อให้ความขัดแย้งมีทางผ่อนคลายไม่แตกหัก

ถ้าเราเข้าใจในหลักปรัชญาพื้นฐานเหล่านี้ ระบบประชาธิปไตยก็จะมีกระบวนการที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วมถกเถียงและเรียนรู้ร่วมกัน ถึงที่สุดก็ต้องยอมรับที่จะหาข้อยุติในหลักการเสียงข้างมากหรือเสียงส่วนใหญ่ได้รับการยอมรับ โดยที่เราต้องสงวนสิทธิ์และความคิดเห็นของเสียงข้างน้อยเอาไว้

แค่ว่าสังคมไทยต้องรู้จักอดทนและเรียนรู้ที่จะให้ระบบมีพัฒนาการด้วยตัวของระบบเอง ผมเชื่อว่าประชาชนในระบอบประชาธิปไตยและกลุ่มชนชั้นนำต่างๆ จะได้เรียนรู้จากความเป็นจริงในสังคม แล้วทุกฝ่ายจะเห็นและยอมรับว่าเราล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติ ผมยังเชื่อเช่นนี้และยังมีความหวังเสมอ

 

ถ้าเปรียบเทียบในยุคที่เริ่มตั้งพรรคไทยรักไทย ถือว่าตอนนั้นยังไฟแรงกัน แต่ปัจจุบันเป็นเวลาของคนรุ่นใหม่ที่กำลังมีไฟมาสานต่อ ขอถามส่วนตัวว่าทำไมยังมีแรงทำพรรคต่อในห้วงเวลาที่น่าอึดอัดที่สุด

ผมอายุ 65 แล้ว แต่ภารกิจของประเทศมันไม่จบสิ้น เราคิดทำแต่ไม่คิดจะยึดครองหรือจะทำตลอดไป วันนี้คนอายุ 20 กว่าๆ ที่เขากำลังเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ ยังไม่เคยได้เลือกตั้งเลย และเขายังอยู่ในช่วงชีวิตที่ต้องเผชิญกับเผด็จการ เราต้องหาวิธีรองรับ คิดถึงคนรุ่นใหม่ๆ และให้โอกาสคนรุ่นใหม่ๆ

ผมให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ผมต้อนรับพรรคที่เกิดขึ้นใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเขาจะคิดเหมือนหรือต่างจากเรา หรือมีแนวทางประชาธิปไตยเข้มมากเข้มน้อยก็ตาม ผมว่ามันมีประโยชน์ โดยเฉพาะพรรคในแนวทางประชาธิปไตย

เราอย่าสำคัญผิดว่าตัวเองคือผู้กุมชะตาและกำหนดอนาคตของคนอื่น เพราะถ้าเริ่มคิดอย่างนี้มันจะเป็นหนทางไปสู่โศกนาฏกรรมของชีวิตตัวเอง

 

ความรู้สึกที่ว่าเป็น passion ของคนอายุ 65 เลยไหม อยากจะฝ่าฟัน อยากจะเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อจะอยู่เชื่อมกับคนรุ่นใหม่

ทุกคนก็มีความฝันและคงอยากเห็น อย่างน้อยสุด คนที่มีจุดยืนอาสาเข้ามาทำงานการเมือง หรือทำงานในส่วนที่เป็นการทำงานเพื่อสังคม มาถึงอายุ 60 กว่า เขารู้ว่าภารกิจของเขาไม่มีวันสิ้นสุด และภารกิจต้องมีคนสืบทอดต่อ เขาก็คงอยากเห็นคนมาสานต่อ อยากให้มีคนมาสานฝันให้มันงดงามไปเรื่อยๆ จะว่าเป็น passion ของคนวัยสูงอายุก็ได้

ผมคิดว่าโลกข้างหน้าเป็นโลกของคนรุ่นใหม่ โลกนี้ไม่ได้มีแค่ผู้ใหญ่ ยังมีคนที่เขาจะเติบโตขึ้น เราเหลือเวลาอย่างมากก็ 5 ปี 10 ปี 15 ปี ไม่เกิน 20 ปี เพราะฉะนั้นต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วม ต่อยอดจากประสบการณ์ และมีโอกาสเลือกอนาคตได้มากขึ้น

ในบรรดาคำวิพากษ์วิจารณ์ที่พูดถึงพรรคเพื่อไทย เรื่องไหนที่น่ารับฟัง เป็นจริง และควรเอามาทบทวนกันภายในพรรคมากที่สุด เช่น พรรคขึ้นกับคุณทักษิณมากเกินไป หน่วยงานอย่างกระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงศึกษาธิการที่ควรจะเน้นการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตยก็ไม่ทำ ตำราเรียนยังเป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยม หรือแม้แต่การปฏิรูปข้าราชการ กองทัพ ตำรวจก็ไม่ทำ

มีอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ ประเด็นแรก เรื่องผู้นำ ต้องยอมรับว่าผู้นำของเราที่ผ่านมาเป็นผู้นำที่โดดเด่น เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และมีประสิทธิภาพ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการดำเนินชีวิตและเป็นที่ยอมรับ ไม่เฉพาะภายในประเทศแต่ระดับโลกด้วย ผู้นำโลกที่โดดเด่นไม่อาจสร้างกันได้ง่ายๆ เป็นความพิเศษที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ แต่ความเป็นทีมต่างหากที่ต้องทำ ฉะนั้นผมคิดว่าถ้าพรรคเพื่อไทยจะสามารถลบจุดอ่อนตรงนี้ได้ ต้องทำให้เห็นว่าเราไม่ได้ยืนอยู่ได้ด้วยผู้นำเพียงคนเดียว

การพัฒนาทีมที่แข็งแกร่งและมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เหมือนเล่นวงออเคสตร้า ขาดคอนดักเตอร์ไปก็ไม่ได้หมายความว่าวงดนตรีจะเล่นไม่ได้เลย แต่อาจจะขาดความไพเราะไปบ้าง

ประเด็นที่สอง เราเรียนรู้กันมา 20 ปี อันนี้เป็นข้อเด่นของพรรคเก่าที่มีประสบการณ์ ซึ่งต่างกับพรรคใหม่ที่มีเจตจำนงกับความปรารถนาอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่คนรุ่นเก่าก็ต้องเรียนรู้ต้องพยายามถามตัวเอง หรือตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่าทำตัวให้เป็น dead wood หรือไม้ตายซาก

ส่วนความเป็นคนมีประสบการณ์ เวลาคิดอะไรมันมีฐานความเป็นจริงรองรับ เมื่อก่อนเรานึกอยากจะทำอะไร เราไปเลย เป็นกามนิตหนุ่ม แต่คนมีประสบการณ์จะรอบคอบมากขึ้น

คนรุ่นเก่าก็หมั่นเตือนตัวเอง อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว อย่ามัวแต่ชื่นชมความสำเร็จในอดีตจนเป็นเครื่องบั่นทอนให้ไปข้างหน้าไม่ได้

ส่วนที่บอกว่าเราเป็นรัฐบาลแล้วหลายเรื่องเราไม่ทำหรือไม่สามารถทำได้นั้น ผมเรียนอย่างนี้ว่าความเป็นจริงก็คือในโลกหรือประเทศที่มีปัญหาต่างๆ มากมาย มันมีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของเรื่องที่ควรต้องทำ อันนี้อาจจะเห็นแตกต่างกันได้ ถ้าไปถามนักการศึกษา เขาต้องจัดการเรื่องการศึกษาเป็นอันดับแรก ไปถามนักเศรษฐศาสตร์ เขาว่าชีวิตปากท้องสำคัญที่สุด ถ้าแก้ปากท้องไม่ได้ ไม่ต้องไปพูดเรื่องอื่น ถ้าไปถามนักการทหาร เขาจะบอกว่าให้ไปจัดการเรื่องความมั่นคงให้ดี อย่าให้โครงสร้างของผู้มีอำนาจที่ถืออาวุธอยู่ใช้ไปในทางที่จะใช้อำนาจเพื่อตัวเอง

เราก็ยังต้องทบทวนและก็ต้องมาดูว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญก่อนหลังที่ต้องทำ แต่เรายังคิดว่าความเดือดร้อนและชีวิตของประชาชนเป็นปัจจัยแรก ถ้าไม่สามารถคลี่คลายปัญหาประชาชนในเรื่องนี้ได้ สังคมก็เดินต่อไปไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องวางองคาพยพในการเตรียมประเทศให้มีความพร้อมในการเดินไปข้างหน้าให้ได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่โครงสร้างอำนาจ ตรงนี้ยอมรับว่ายากมาก

วันนี้แค่พูดเท่ๆ ไม่ได้ เช่น ผมพูดว่าผมไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีไหม ดีนะ แต่จบไหม ไม่จบ เวลาหาเสียงเราต้องบอกประชาชนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคยังไง ถ้าเห็นด้วยก็ต้องบอกว่ามันยากยังไงในการแก้ ต้องลงรายละเอียด ถ้าทั้งสังคมมี consensus ร่วมกันว่าการสร้างกติกาต้องเอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่มามัดมือมัดเท้า แบบนี้การแก้ปัญหาถึงจะเกิดขึ้นได้

ถ้าพูดถึงการจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหา การนิรโทษกรรมสุดซอยเมื่อปี 2556 วันนี้เพื่อไทยสรุปบทเรียนอย่างไร

เรื่องนี้ถึงที่สุดจะเป็นประสบการณ์ที่ให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ จริงๆ เรื่องนิรโทษกรรมสุดซอยเริ่มต้นจากความปรารถนาดีที่อยากเห็นสังคมมีข้อยุติ และให้กระบวนการต่างๆ กลับไปสู่ความยุติธรรม และให้กระบวนการต่างๆ เริ่มต้นด้วยกระบวนการที่โปร่งใส ทุกคนเข้าสู่กระบวนการ แต่การสื่อสารที่ชัดเจนและการทำความเข้าใจกับสังคมอาจจะด้อยไป ฉะนั้น พอมันเกิดขึ้นมา มันถึงเกิดความรู้สึกเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แตกต่างกันไปเต็มไปหมดจนเกิดปัญหา

ผมคิดว่าหัวใจสำคัญอยู่ที่การให้ประชาชนรับรู้และตัดสินใจว่าเขาจะเลือกวิธีการในการจัดการปัญหาอย่างไร อันนี้คือบทเรียน ฉะนั้นครั้งต่อไปไม่ว่าจะเรื่องใดๆ การเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะที่กระทบความเข้าใจของพี่น้องประชาชน หรือกระทบความเห็นที่แตกต่างกัน ยิ่งต้องทำให้เป็นเรื่องสาธารณะที่ทุกฝ่ายทำความเข้าใจอย่างเต็มที่ มีกระบวนการที่จะหาความยอมรับร่วมกันของสังคม หัวใจเรื่องนี้เป็นหัวใจที่ใช้กับทุกเรื่องได้ ไม่เฉพาะกับนิรโทษกรรมอย่างเดียว

วันนี้มีพรรคคนรุ่นใหม่ๆ ทั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคเกรียน พรรคสามัญชน มีผลอะไรกับเพื่อไทยไหม ในขณะที่คนรุ่นใหม่เหล่านั้นก็มองว่าพรรคการเมืองแบบเดิมที่มีอยู่ไม่ตอบสนอง ในฝ่ายประชาธิปไตยมีจุดร่วมอะไรกันได้ไหม

ต้องเข้าใจว่าความต้องการของทุกคนเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็ไม่มีมาตรฐานว่าอะไรคือความถูกต้องที่สุด มันไม่มีใครสามารถตอบโจทย์ใครได้ทุกคน เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของพรรคต่างๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องต้อนรับเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น มันเป็นวิธีการที่ทำให้สังคมพัฒนาและก้าวหน้า

การที่สังคมเปิดให้มีทางเลือกเยอะๆ มีวิธีคิดเยอะๆ สังคมไม่เสียประโยชน์ อย่างน้อยสุด สังคมได้เห็นว่ามีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การดำรงอยู่ของสิ่งเก่าก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่มีอะไรเป็นบรรทัดฐานว่าอะไรคือความดีที่สุด

ฉะนั้นการเกิดขึ้นของหลายๆ พรรค ผมว่าก็เป็นเวทีที่ทำให้สังคมมีตัวเลือกและก็เป็นวิธีที่ทำให้สังคมได้เรียนรู้ได้รับฟังสติปัญญาที่กว้างขวางขึ้น

อย่างน้อยที่สุด การสะท้อนของเขาก็เป็นสัญญาณที่ทำให้เราได้มีโอกาสทบทวนและตรวจสอบตัวเอง หลายเรื่องฟังเสร็จ เรายิ่งมั่นใจในสิ่งที่เราเป็น หลายเรื่องฟังเสร็จก็ยอมรับว่าปัญหาของเราต้องแก้ไข

แม้แต่วิธีแสดงออกทัศนะทางการเมืองก็เปลี่ยนไป ถ้าเป็นรุ่นพวกผมก็ต้องไปป่าวประกาศติดโปสเตอร์ทั้งคืน ดึงคนมาเจอกันบนถนนเต็มไปหมด ปัจจุบันอาจจะนั่งอยู่หน้าจอ แล้วก็จิ้มๆ พลัง F5 ก็เคยสร้างความปั่นป่วนได้มาแล้ว สมัยผมถ้าทำอะไรสักอย่าง ผมต้องพยายามให้หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ได้เข้าใจให้มากที่สุด วันนี้เขานั่งอยู่ข้างหน้าจอและสามารถสื่อสารสิ่งที่เขาคิดให้กับคนในสังคมได้เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านด้วยซ้ำไป

ในฐานะเคยเป็นผู้คิดใหม่ๆ แบบนั้น และผ่านประสบการณ์จนยืนมาได้อยู่อย่างทุกวันนี้ อย่างน้อยที่สุดก็มีกำลังใจว่าหลายเรื่องของเรา เราก็ไม่พลาด เพราะถ้าพลาด เราก็เติบใหญ่มาขนาดนี้ไม่ได้ แต่บางเรื่องอาจต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยเฉพาะถ้าเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกัน จะได้มาช่วยกันสร้างสรรค์ความเป็นประชาธิปไตย และแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น

 

ที่ผ่านมาเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เป็นคู่แข่งมาตลอด แต่ 4 ปีที่ผ่านมา วันที่ทั้งคู่มีทหารคุม ยังรู้สึกว่าเป็นคู่แข่งกันไหม หลังเลือกตั้ง 62 ถ้าเพื่อไทยเกิดได้เสียงมาก แต่อาจต้องใช้เสียงประชาธิปัตย์มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อคานเสียงทหาร จะเป็นไปได้ไหม ประเมินโจทย์เหล่านี้ยังไง

วันนี้เราแข่งกับตัวเอง ถ้าเรามองว่าทุกคนคือคู่แข่ง ความโน้มเอียงที่จะมองเป็นศัตรูก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เราก็จะมุ่งทำลายล้าง โจมตีพรรคการเมืองเพื่อให้เราอยู่รอดได้ มันจะไม่มีข้อยุติ และไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน วันนี้เราไม่คิดว่าใครเป็นศัตรู เราคิดว่าเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เราตรวจสอบตัวเราเอง มองตัวเองให้รอบคอบและรอบด้านมากขึ้น

ถ้าเราเอาปัญหาของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง อะไรที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาของประชาชนและประเทศได้ประโยชน์ พรรคการเมืองก็ต้องกลับไปทบทวน  หลายเรื่องถ้ามีประโยชน์ เขาจะทำก็ต้องให้เขาทำ อย่าไปขัดขวาง แม้ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม

ภูมิธรรม เวชยชัย

เพื่อไทยต้องทำงานหนักอะไรอีกบ้าง เพื่อที่จะชักชวนคนทั่วไปหรือคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยสนใจการเมือง หรือเบื่อการเมืองเพราะรู้สึกว่าน้ำเน่า ให้หันมาช่วยทำการเมืองให้สร้างสรรค์ หรือเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องประชาธิปไตย

ผมว่าทุกพรรคการเมืองต้องทำงานหนักเพื่อทำให้คนในสังคมได้เชื่อตามความคิดความเชื่อของตน ต้องสร้างความชัดเจนว่าตัวเองมีจุดยืนยังไง ส่วนเรื่องนโยบายก็ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเรามีทัศนะที่เปิดกว้างยังไง เรามีคนสืบทอดต่อเนื่องจากเรายังไง

วันนี้ น่าเสียดายนิดนึง คือเราแตกต่างจากพรรคอื่นตรงที่เราเป็นเป้าหมายของการจ้องทำลาย เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง แต่เราก็ไม่ได้ท้อแท้ ยังพิสูจน์ตัวเองต่อไป ถามว่ามีคนรุ่นใหม่ในพรรคไหม เรามี ไม่ได้ขาดแคลน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะมีคนเหล่านี้ออกมาแสดงตัวให้เห็น

การเมืองในฝันของคุณที่ผ่านทั้ง 6 ตุลาฯ พฤษภาฯ 35 รัฐประหาร 49 สลายชุมนุม 53 รัฐประหาร 57 กระทั่ง คสช. อยู่ยาวมา 4 ปี เป็นอย่างไร

ผมอยากเห็นการเมืองของประเทศมีสองลักษณะ หนึ่ง มีความเป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าประชาธิปไตยเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมามีส่วนร่วมที่สุด เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต กำหนดชีวิตของเขาได้

เพราะฉะนั้นผมว่าทหารต้องออกจากการเมืองไป อย่าเข้ามายุ่งเกี่ยว ไปทำหน้าที่ของตนเอง ทหารไม่ควรจะอ้างสิทธิและความชอบธรรมอะไรที่จะมากำหนดและตัดสินอนาคตของคนอื่น ทหารคือประชาชนเท่าๆ กันกับคนอื่น มีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากับคนอื่น ถ้าอยากจะมีส่วนตัดสินอนาคตประเทศก็ไปหย่อนบัตรเหมือนประชาชนคนอื่น เช่นเดียวกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ใช้แรงงาน หรือชาวนาคนหนึ่ง

อันที่สอง ต้องยึดมั่นและให้ประชาชนเขามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ทั้งการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจก็ดี เขาเป็นคนที่ประสบปัญหาและเป็นผู้เผชิญปัญหา ฉะนั้น ถ้าระบบของเราเคารพในความเป็นตัวเขา ยอมรับเขาแม้เขาจะมีบางด้านที่แตกต่าง แต่ความเป็นมนุษย์มีเหมือนกัน ไม่มีใครมีสิทธิบอกว่าเสียงของคนกรุงเทพฯ เหนือกว่าคนต่างจังหวัด

ไม่มีใครมีสิทธิจะบอกว่าตัวเองเป็นลูกเจ้าสัวหมื่นล้านแล้วจะเหนือกว่าลูกชาวนาที่พ่อแม่มีเงินไม่กี่พันบาท คุณอาจจะเก่งในบางด้าน แต่คุณเก่งเท่าเขาในบางด้านไม่ได้เหมือนกัน คุณหาเงินเก่งเพราะพ่อคุณรวย แต่คุณก็ปลูกข้าวไม่เก่งเท่าเขาเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจปรัชญาพื้นฐานเหล่านี้ในการอยู่ร่วมกัน สังคมไปไม่รอด

ถ้าระบอบการเมืองยอมรับในประชาธิปไตย กุญแจอันนี้จะนำพาไปประเทศไปสู่ความสงบสุขได้

ตั้งแต่ไทยรักไทยมาถึงเพื่อไทย ถือเป็นพรรคการเมืองในฝันหรือยัง ภาพความเป็นจริงกับที่หวังไว้ใกล้เคียงกันไหม

ความฝันมนุษย์ไม่มีจุดยุติ มันมีแต่การอยากเห็นสิ่งที่ดีที่สุด และสิ่งที่ดีไม่สมบูรณ์ มันมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอยู่ตลอดไป ทุกอย่างปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา

ความเป็นจริงของมนุษย์ก็คือเราต้องเข้าใจกฎความเปลี่ยนแปลงของสังคม และก็เข้าใจความอนิจจัง ฉะนั้นทุกคนก็มีความหวัง เพราะเชื่อว่าโลกจะเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรหยุดนิ่งอยู่กับที่ ยังไงก็ต้องเปลี่ยนแปลง

เมื่อเราเชื่อในความใฝ่ดีของมนุษย์ พรรคเพื่อไทยก็ยังมีความหวัง ไม่ว่าเราจะถูกกระทำอย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าสิ่งที่เราคิด เราทำ เรายืนอยู่ข้างความดี ความถูกต้อง มันเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราทำงานไป ภารกิจไม่ใช่ของเราคนเดียว ภารกิจนี้สานต่อกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save