fbpx
พระยาพหลพลพยุหเสนา : “อยู่ในที่เปนผู้ใหญ่ ก็ตั้งใจจะไม่ให้ผู้มาทีหลังเขาดูแคลน”

พระยาพหลพลพยุหเสนา : “อยู่ในที่เปนผู้ใหญ่ ก็ตั้งใจจะไม่ให้ผู้มาทีหลังเขาดูแคลน”

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

shin egkantrong ภาพประกอบ

 

“ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” เป็นสุภาษิตที่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์) “เลือกเอามาเปนบทประจำดวงตราสกุลพหลโยธิน”

แม้เจ้าคุณพหลฯ จะตายจากไปกว่า 72 ปีแล้ว แต่ชื่อของท่านก็ยังปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่เลือนในฐานะหัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทย แม้ว่าหมุดคณะราษฎรอันเป็นอนุสรณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ท่านได้ไปยืนอ่านประกาศในย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ณ พระลานพระราชวังดุสิต จะปลาสนาการไปแล้วอย่างน่าฉงนก็ตาม

 

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) (29 มีนาคม 2430 – 14 กุมภาพันธ์ 2490)

 

กำเนิด-เครือญาติ

 

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2430 ในครอบครัวนายทหาร เป็นบุตรชายของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน)  มีปู่ชื่อฉ่ำ นายเวรกรมพระอาลักษณ์สมัยรัชกาลที่ 4 ผู้นำตัวบุตรชาย (กิ่ม) ถวายเป็นมหาดเล็กของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และมีขุนพัฒน์อากร เป็นทวด

ขุนพัฒน์อากรเป็นญาติกับพระอินทร์อากร บิดาของเจ้าจอมมารดาอำภาในรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นแม่ของกรมขุนวรจักรธรานุภาพ  โดยที่กรมขุนวรจักรฯ เป็นปู่ของ ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คุณชายในสกุลปราโมชจึงเรียกพระยาพหลพลพยุหเสนาว่า “อา”

 

บิดามารดาของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์)

 

พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) มีภรรยาหลายคน คุณหญิงจับ แม่ของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นคนที่ 5 โดยเธอเป็นธิดาของพระยาเจ่ง แม่ทัพมอญ

พี่น้องต่างมารดาของพระยาพหลฯ (พจน์) เช่น

  • หลวงสาลียากรพิพัฒน์ (เชษฐ์) บุตรคุณหญิงแขไข
  • พลโท พระยาพหลโยธินรามินทราภักดี (นพ) บุตรคุณหญิงสาหร่าย
  • นายไปล่ พหลโยธิน บุตรนางเปลี่ยน
  • นางกราย และพันโท จมื่นสุรฤทธิ์พฤฒิไกร (ฝั่ง) บุตรเจ้ากัลยา ราชธิดาของเจ้าหลวงลาว
  • พระอินทรเทพ (คุ้ม) และหลวงอนุสรณ์นนทิกิจ (ชด) บุตรนางติ๋ว
  • ร้อยโท สถิต พหลโยธิน บุตรนางคำ

 

พระยาพหลโยธินรามินทราภักดี (นพ) พี่ชายต่างมารดา

 

ด้วยความที่เป็นครอบครัวใหญ่ ทำให้พระยาพหลฯ (พจน์) มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับหลายคนที่โลดแล่นในวงการการเมืองไทย เช่น นายยิน สมานนท์ สมาชิกคณะราษฎร และ ส.ส.ชุดแรก ซึ่งเป็นลูกของนางกราย นายแนบ พหลโยธิน สมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร บุตรชายของพระยาพหลโยธินรามินทราภักดี (นพ) และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ผู้เป็นบุตรเขยของพระยาพหลฯ (นพ)

และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศกับท่านผู้หญิงน้อมก็มีบุตรธิดาหลายคน เช่น นางถนิต ภรรยาหลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์) ผู้เขียน อธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ (2475) ซึ่งเป็นคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเล่มแรกของไทย และนางสมศรี ภรรยานายเผดิม อังสุวัฒนะ สมาชิกคณะราษฎร

 

นามสกุลพระราชทาน

 

พระยาพหลโยธินรามินทราภักดี (นพ) พี่ชายต่างมารดา อายุมากกว่าพระยาพหลฯ (พจน์) หลายปี  ดังปรากฏในประวัติว่า เมื่อ ด.ช.พจน์ อายุย่าง 11 ขวบ บิดาถึงแก่กรรม พระยาพหลฯ (นพ) แต่เมื่อเป็น พันตรี หลวงศิลปสารสราวุธ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 4 เป็นผู้จัดการโกนจุกให้ ครั้นแล้วได้พา ด.ช.พจน์ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกัลยามิตร อีก 7 วัน

ต่อมาถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2456 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุลให้พระยาพหลโยธินรามินทราภักดี (นพ) ดังนี้

ตามที่เจ้าได้ขอให้ข้าตั้งนามสกุลให้นั้น ข้ามีความยินดีและเต็มใจจะตั้งให้ตามปรารถนา และข้าได้ตรวจดูลำดับวงษ์สกุลของเจ้าแล้ว เห็นว่าผู้ที่ได้มามีชื่อเสียงปรากฏขึ้นก็คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) ผู้เปนบิดาของเจ้า และทั้งตัวเจ้าเองก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณจนได้มีบรรดาศักดิเปนพระยาพหลอีกคน๑  สมควรอยู่ที่จะให้มีคำว่า “พหล” อยู่ในนามสกุลของเจ้า เพื่อจะได้เปนเครื่องเตือนใจให้บรรดาพี่น้องและลูกหลานผู้ร่วมสกุลกันนั้น พยายามรักษาชื่อเสียงไว้ให้ดี ให้สมแก่ที่ได้เกิดมาในสกุลอันดี 

ข้าขอให้นามสกุลของเจ้าว่า “พหลโยธิน” (เขียนเปนตัวโรมันว่า Bahalayodhin) ให้เปนมงคลนามสำหรับตัวเจ้าและพี่น้องลูกหลานสืบไป ขอให้สกุลพหลโยธินมีความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงอยู่ในกรุงสยามนี้ชั่วกัลปาวสาน

 

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุล “พหลโยธิน”

 

นิมิตประหลาดที่ญี่ปุ่น

 

หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมนีและรับราชการทหารในประเทศสยาม จนได้เป็นพันตรี หลวงสรายุทธสรสิทธิ์ (พจน์ พหลโยธิน) แล้ว วันที่ 1 มกราคม 2462 ย้ายมากรมจเรทหารปืนใหญ่ เพื่อเตรียมตัวออกไปราชการที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อตรวจรับปืนใหญ่และดูกิจการต่างๆ ของกองทัพบกญี่ปุ่น

 

เมื่อกระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเมื่อรัชกาลที่ 6 สืบราชสมบัติต่อจากพระบรมราชชนก ณ สถานทูตสยาม กรุงเบอร์ลิน เจ้าคุณพหลฯ แต่เมื่อเป็นนักเรียนเยอรมัน ยืนด้านหลัง ที่มีลูกศรชี้

 

เมื่อเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว วันหนึ่งคุณหลวงไปเห็นอนุสาวรีย์ของ “ไซโง ทากาโมริ” (Saigō Takamori) ผู้ซึ่งรวบรวมกำลังจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือเป็นผู้ดำเนินนโยบายปราบปรามอำนาจของโชกุนลง แล้วอัญเชิญพระเจ้าแผ่นดินมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คุณหลวงจึงถามล่ามว่าบุคคลผู้นี้เป็นใคร  เมื่อล่ามอธิบายจบแล้วได้ทักว่า “รูปนี้ช่างคล้ายท่านมาก บางทีต่อไปเบื้องหน้าท่านจะได้เป็นอย่างท่านผู้นี้อยู่บ้างกระมัง

หลังจากนั้น คุณหลวงได้รับเชิญไปบ้านของเศรษฐีญี่ปุ่นผู้หนึ่งซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของโซโงผู้นี้ แต่เผอิญกางเกงตรงหน้าแข้งซ้ายของคุณหลวงขาด เขาเห็นไม่สมควร จึงขอตัวกับร้อยเอก อะมะทุตสุ ผู้เป็นล่าม แย้งว่าตนชอบพอกับท่านเศรษฐี รับว่าเมื่อถึงที่บ้านแล้ว จะพูดขอยืมกางเกงมาให้เปลี่ยน

เมื่อถึงบ้าน ล่ามก็จัดแจงหากางเกงมาเปลี่ยนให้ พอคุณหลวงเปลี่ยนกางเกงเสร็จ ล่ามก็ทักเป็นคำรบสองว่า “แปลกแท้ๆ ท่านสวมกางเกงตัวนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ น่าประหลาดจริงๆ ภายหน้าท่านอาจจะได้เป็นอย่างท่านบารอนไซโงแน่ๆ

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “นับว่าเป็นนิมิตรชอบกลอยู่ ซึ่งในกาลต่อมาเจ้าคุณพหลฯ ได้มากระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน อันเป็นลักษณะคล้ายคลึงกันมากกับบารอนไซโงผู้มีอนุสาวรีย์อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเข้าใจว่าเจ้าคุณพหลในเวลานั้นอาจจะมิได้นึกฝันว่าจะเป็นไปได้เช่นนั้นก็ได้

 

Saigō Takamori ภาพจาก https://www.britannica.com/biography/Saigo-Takamori

 

อนุสาวรีย์ไซโง ทากาโมริ ที่สวนสาธารณะอูเอโนะ กรุงโตเกียว ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:SaigoTakamori1332.jpg

 

ผู้อภิวัฒน์

 

พันตรี หลวงสรายุทธสรสิทธิ์ เจริญก้าวหน้าในราชการเป็นลำดับ ถึงปี 2466 ได้เป็นพันโท ปี 2467 เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระในราชทินนามเดิม ต่อมาอีก 4 ปี ได้เป็นพันเอก และได้เป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา ตามอย่างชื่อบิดา ในปี 2474

เจ้าคุณพหลฯ เป็นผู้มีกิริยาวาจาสงบเสงี่ยม สุภาพอ่อนน้อมต่อผู้บังคับบัญชา และนายทหารผู้ใหญ่ทั่วไป เป็นผู้ที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่ามีความเคารพและภักดีต่อเจ้านาย เป็นคนซื่อตรง และประกอบด้วยเมตตากรุณาธรรม คนโดยมากจึงมิได้คาดคิดว่า บุคคลผู้นี้จะเป็นผู้คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ให้กลับคืนสู่ราษฎรผู้เป็นเจ้าของประเทศ

การเป็นหัวหน้าคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ โดยยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คืองานสำคัญยิ่งใหญ่ในชีวิตของเจ้าคุณพหลฯ

คุณพี่ก็มีอายุอยู่มาได้เห็นโลกจนพ้นครึ่งคน นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว หาควรจะอาลัยไยดีในชีวิตที่เหลืออยู่ไม่ ขอจงเห็นแก่ความเจริญของบ้านเมือง รับร่วมมือกับคุณประยูร เพื่อให้การใหญ่ครั้งนี้ได้สำเร็จลุล่วงไป แม้จะมีภัยถึงแก่ชีวิต ก็จะได้ชื่อเสียงปรากฏในพงศาวดาร ว่าต้องตายเพราะคิดกู้แผ่นดิน ถึงจะทำการมิสำเร็จ ก็จะปรากฏเกียรติคุณเป็นเยี่ยงอย่างแก่ชนชั้นหลังไปชั่วกาลนาน

นี่เป็นคำกล่าวของจมื่นสุรฤทธิ์พฤฒิไกร น้องชายร่วมสายเลือดของเจ้าคุณพหลฯ ที่ชักชวนให้ร่วมกับคณะของนายประยูร ภมรมนตรีและเพื่อน ที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองกัน จนก่อให้เกิดเป็นคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ร่วมมือกันทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน

สำหรับเจ้าคุณพหลฯ เคยให้สัมภาษณ์ถึงมูลเหตุจูงใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ว่า “ทำอย่างไรหนอการบริหารแผ่นดินจึงจะไม่ผูกขาดไว้ในกำมือของพวกเจ้านายและพวกเสนาผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน เพราะว่าถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นอยู่เรื่อยๆ ไปแล้ว และฉวยพวกผู้ใหญ่ เกิดดำริอะไรโง่ๆ ขึ้นมามิหยุดหย่อน และพวกผู้น้อยที่มีปัญญา ซึ่งในบางคราวก็อาจจะมีความเห็นดีๆ ได้นั้น จะขืนขัดทัดทานไว้ก็มิฟังแล้ว ก็อาจเป็นเหตุให้บ้านเมืองประสบความล่มจมได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีวันเจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านเขาได้เป็นแน่

 

เจ้าคุณพหลฯ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่วังปารุสกวัน

 

นายกรัฐมนตรี

 

นอกจากเป็นผู้นำก่อการฯ แล้ว เจ้าคุณพหลฯ ยังเป็นผู้พิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญด้วย การยึดอำนาจในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ซึ่งถูกหาว่าเป็นการรัฐประหารครั้งแรกนั้น สมควรจัดว่าเป็นการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญด้วยการยึดอำนาจคืนมาจากกลุ่มปฏิปักษ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง กล่าวคือ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา เจ้าคุณพหลฯ และพวก จึงยึดอำนาจคืนมาเพื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและนำรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ มิได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแต่อย่างใด

หลังจากขับไล่เจ้าคุณมโนฯ ไปแล้ว เจ้าคุณพหลฯ ต้องรับเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ตั้งแต่ปี 2476-2481 โดยยอมรับอยู่ในกติกาของระบอบรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้มีการซักถาม และรับฟังเสียงจากสภาผู้แทนราษฎร ดังจะเห็นได้ว่าเจ้าคุณพหลฯ ลาออกตามวิถีของระบบรัฐสภาหลายครั้ง ดังนี้

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา “เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่ท่านจะต้องลาออก จึงมีความเสียใจที่จะอนุญาตไม่ได้” ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2476

 

กรณีเรื่องสัญญาการจำกัดยางพาราที่รัฐบาลลงนามกับนานาประเทศเพื่อให้ผู้ทำสวนยางได้รับประโยชน์และให้ยางมีราคาดีขึ้น  เมื่อรัฐบาลเสนอสัญญาเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมพิจารณาเรื่องนี้โดยผู้แทนราษฎรในจังหวัดที่มีสวนยางชี้แจงทางได้ทางเสียในข้อสัญญา เมื่อมีการลงคะแนน ที่ประชุมเห็นว่าถ้าให้สัตยาบันสัญญานี้จะทำให้ราษฎรของประเทศสยามที่มีอาชีพทำสวนยางถูกผูกมัดเสียเปรียบเป็นอันมาก จึงลงมติไม่อนุมัติตามที่รัฐบาลเสนอขอสัตยาบันด้วยคะแนน 73 ต่อ 25 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร จนนายกรัฐมนตรีต้องลาออก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2477

ต่อมา กรณีการนำที่ดินพระคลังข้างที่มาซื้อขายกันในราคาถูกเป็นพิเศษ และผู้ที่มีโอกาสซื้อได้ง่ายดายก็เป็นบุคคลในรัฐบาล สมาชิกคณะราษฎร รวมถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายเลียง ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 จนเจ้าคุณพหลฯ ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเปิดโอกาสให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ ไม่เพียงเท่านั้นคณะผู้สำเร็จราชการทั้ง 3 ท่าน ยังขอลาออกด้วย

และอีกครั้งหนึ่งในกรณีขอให้มีรายละเอียดตามงบประมาณแผ่นดินโดยแจ่มแจ้ง ซึ่งนายถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด กับพวก เสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับวิธีการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณว่าในการที่รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อสภา ให้เสนอรายละเอียดทั้งรายรับ-รายจ่ายให้ชัดแจ้ง เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทราบก่อนอนุมัติ เจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าทำไม่ได้เพราะจะผูกพันรัฐบาลมากเกินไป  ถ้าที่ประชุมจะรับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเช่นนี้รัฐบาลจะขอลาออก

ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับญัตตินี้ด้วยคะแนน 45 ต่อ 31  ทำให้เจ้าคุณพหลฯ ขอลาออก แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่เห็นพ้องด้วยเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์โลกปั่นป่วนและใกล้เวลารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนิวัตพระนคร เจ้าคุณพหลฯ จึงยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481

 

คณะรัฐมนตรี รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา สมัยที่ 5 มีหลวงพิบูลสงครามยืนอยู่ด้านซ้ายข้างเจ้าคุณพหลฯ

 

เชษฐบุรุษ

 

“ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนชื่อดังกล่าวยกย่องเจ้าคุณพหลฯ ไว้มาก ดังได้เขียนไว้ว่า “ท่านเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา เปนบุคคลแรกของประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงตราเกียรติคุณให้ปรากฏลือชาไว้ในแผ่นดิน และได้ทรงสถาปนายกย่องไว้ในฐานะเชษฐบุรุษ หรือนัยหนึ่งรัฐบุรุษหลักของประเทศ และได้พระราชทานวังปารุสกวันให้เปนที่พำนักของท่านตลอดชั่วชีวิต

เมื่อเจ้าคุณพหลฯ ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ได้ก้าวเข้าสืบตำแหน่งนี้ จนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จอมพล ป. มีเรื่องให้ต้องลาออกไปในปี 2487  มีเสียงเรียกร้องให้เจ้าคุณพหลฯ กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง เพราะเป็นยามที่ชาติเผชิญพาลภัย ไฟสงครามลุกโชนขึ้นมาอีกครา จึงได้ขอให้เจ้าคุณพหลฯ เข้ามา ไม่อาจให้สายไป

แต่เจ้าคุณพหลฯ ปฏิเสธ โดยให้สัมภาษณ์กุหลาบ สายประดิษฐ์ ไว้ตอนหนึ่งว่า

ตอนที่ผมบอกสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และปล่อยตำแหน่งนั้นแก่คุณหลวงพิบูลนั้น ผมได้บอกแก่คุณหลวงพิบูลว่า ผมสละตำแหน่งนั้นโดยเด็ดขาด และโดยเต็มใจ  ฉะนั้นขอคุณหลวงพิบูลอย่ามีกังวลว่าผมจะกลับมาครองตำแหน่งนั้นอีก

และเน้นว่า

นี่แหละคุณ เมื่อผมได้ลั่นวาจาไว้เช่นนั้นแก่เขาแล้ว ผมจะกลับเข้ามารับตำแหน่งนั้นสืบต่อจากเขา เขาก็อาจคิดไปว่าผมมาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากเขาไป และวาจาของผมก็จะไม่เปนวาจาสัตย์  ผมอยู่ในที่เปนผู้ใหญ่ ก็ตั้งใจจะไม่ให้ผู้มาทีหลังเขาดูแคลนวาจาของเราได้  นี่แหละคุณเป็นเหตุผลประกอบที่ทำให้ผมจำต้องปฏิเสธการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากคุณหลวงพิบูล

 

 

 

บรรณานุกรม

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2543.
  • กุหลาบ สายประดิษฐ์. มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา [กุหลาบ สายประดิษฐ์], 2548.
  • จำนงค์ ทองประเสริฐ. พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เป็นยิ่งกว่า เชษฐบุรุษ. อนุสรณ์ครบรอบ 120 ปี พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) 29 มีนาคม 2550.
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2559.
  • ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. “พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เชษฐบุรุษของไทย,” รัฐสภาสาร ปีที่ 33 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2528.
  • แผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กวก.ศป.. “พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน),” นิตยสารทหารปืนใหญ่ ปีที่ 61 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2558.
  • ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์. 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2541. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552.
  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (พ.ศ. 2475-2517). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมการช่าง, 2517.
  • รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22/2477 วันที่ 13 กันยายน 2477 ครั้งที่ 12/2480 วันที่ 27 กรกฎาคม 2480  และครั้งที่ 21/2481 วันที่ 11 กันยายน 2481
  • ส. พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555.

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save