fbpx
พระไพศาล วิสาโล ที่ข้าพเจ้ารู้จัก

พระไพศาล วิสาโล ที่ข้าพเจ้ารู้จัก

วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์  เรื่องและภาพ

 

10 พฤษภาคม 2560  เป็นวันวิสาขบูชา และเป็นวันเกิดครบ 60 ปีของพระไพศาล วิสาโล ผู้เกิดปี พ.ศ. 2500 กึ่งพุทธกาลพอดี

ครั้งหนึ่ง ผมเคยเขียนถึงพระไพศาล วิสาโล ว่า

“ในบรรดานักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ที่บวชเป็นพระในอดีต พระไพศาลน่าจะเป็นพระรูปเดียวที่ยังอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ผมจำได้ว่าตอนแรกท่านจะบวชพรรษาเดียว จนถึงทุกวันนี้สามสิบกว่าปี ท่านมั่นคงกับหนทางสว่างสงบของท่านอย่างแท้จริง”

พระไพศาล วิสาโล บนดอยหลวงเชียงดาว เมื่อปี 2556

 

ผมรู้จักพระไพศาล วิสาโล ครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2517 ตอนอายุ 13 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ม.ศ.1 ท่านชื่อ ‘ไพศาล วงศ์วรวิสิทธ์’ ชื่อเล่นว่า ‘เตี้ย’ เรียนอยู่ชั้น ม.ศ.5 โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก

เราทั้งสองคนต่างเป็นสมาชิกกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา แต่ละปีจะมีกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาไปสร้างโรงเรียนในต่างจังหวัด และเป็นที่รวมเด็กนักเรียนหัวก้าวหน้าผู้สนใจปัญหาสังคมและการเมือง หรือเรียกว่า ‘ฝ่ายซ้าย’ ในเวลานั้น

ช่วงนั้นสังคมไทยเพิ่งผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บรรยากาศทางการเมืองเปิดกว้าง แนวคิดประชาธิปไตยแพร่หลายไปสู่ทุกหนแห่ง ดังกระแสน้ำที่ไหลไปตามช่องว่างต่างๆ ในสังคมจนท่วมท้น

ภาพจำของหลวงพี่เตี้ยในสมัยนั้นคือ นักเรียนนุ่งขาสั้น สะพายย่ามจนไหล่เอียง ด้วยน้ำหนักหนังสือภาษาไทยและอังกฤษหลายเล่ม พี่เตี้ยเป็นฝ่ายวิชาการของกลุ่มนักเรียนหัวก้าวหน้า มีหนังสือใหม่ๆ มาให้นักเรียนรุ่นน้องอ่านอยู่เสมอ

ปีนั้นผมเคยออกค่ายกับหลวงพี่เตี้ย ไปสร้างโรงเรียนต่างจังหวัดกับนักเรียนประมาณ 40 คนที่จังหวัดสุรินทร์ โดยมีบราเดอร์วิจารณ์ ทรงเสี่ยงชัย อธิการหัวก้าวหน้าแห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้เป็นหัวเรี่ยวแรงสำคัญในการก่อตั้งกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา เป็นที่ปรึกษาและเป็นเสมือนกันชนคอยแก้ต่างแก้ตัวให้กับพวกเรา ซึ่งถูกครูหลายคนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ตอนนั้น

ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าวัน ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย อาบน้ำสระขุ่นราวสีโอวัลติน มีเต๊นท์ผ้าใบป้องกันฝน ทำงานกลางแดด แบ่งงานกันผสมปูน เทพื้นคอนกรีต ตีฝาไม้ สร้างส้วม สร้างอาคารเรียน บางคนก็เข้าเวรทำอาหาร ล้างจาน งานหลายอย่างที่ไม่เคยทำก็ได้ประสบการณ์กันถ้วนหน้า

พวกเรา รุ่นพี่รุ่นน้อง สนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว ชาวค่ายหลายคนก็เติบโตขึ้นมาเป็นนักคิดนักเขียน อาทิ พจนา จันทรสันติ, ดร.วีระ สมบูรณ์, ดร.ไชยันต์ ไชยพร ฯลฯ

มองย้อนกลับไป แทบไม่น่าเชื่อว่า เด็กนักเรียนอายุ 13-17 โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาสองคนและชาวบ้าน สามารถสร้างโรงเรียนขนาดเล็กได้สำเร็จ ไม่รวมฝีมือการหาเงินจากการขอรับบริจาคจากห้างร้านบริษัทและการจัดดนตรี ได้เงินมาสร้างโรงเรียนหลังละ 7-8 หมื่นบาท

ตกเย็นชาวค่ายจะแบ่งทีมเตะบอลกับชาวบ้าน หลวงพี่เตี้ยเป็นศูนย์หน้า เล่นบอลเก่งมาก โดยเฉพาะฝีมือการเลี้ยงลูกหลบกองหลังเข้าทำประตู

แต่งานที่ทำให้เราสนิทกัน ก็คือ ‘งานหนังสือ’

หลวงพี่เตี้ยเป็นสาราณียกรนิตยสารรายเดือนของโรงเรียน เรียกว่า ‘อัสสัมชัญสาส์น’

จากวารสารที่เป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของนักเรียนและโรงเรียน หลวงพี่เตี้ยทำให้วารสารเล่มนี้มีเนื้อหาก้าวหน้ามาก มีบทความวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาและสังคมในสมัยนั้นอย่างเข้มข้น มีบทความแปลต่างประเทศน่าสนใจ ใช้วารสาร (ที่โรงเรียนบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องเป็นสมาชิกทางอ้อม) เพื่อปลุกจิตสำนึกให้นักเรียนได้หันมาสนใจปัญหาสังคม ความยากจนและความอยุติธรรม แต่จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ก็ไม่ทราบได้

เมื่อหลวงพี่เตี้ยจบชั้น ม.ศ.5 ผมก็ได้มาช่วยกองบรรณาธิการอัสสัมชัญสาส์นสืบทอดต่อ ในฐานะกองบรรณาธิการ ผมทำหน้าที่คิดหัวข้อ และให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมเขียนเรียงความแสดงทัศนะต่างๆ ผมทำหน้าที่รวบรวมและคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในนิตยสาร อาทิหัวข้อว่า “เรียนหนังสือไปเพื่ออะไร” “ความเห็นเรื่องศีลธรรมในปัจจุบัน” ฯลฯ และเชิญหลวงพี่เตี้ยให้มาเขียนบทความด้วย

ปี 2518 หลวงพี่เตี้ยสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงนั้นมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีการก่อตั้ง ‘กลุ่มอหิงสา’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชื่อในการต่อสู้กับรัฐอย่างสันติวิธี ท่ามกลางเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำนักศึกษา ชาวนาและกรรมกรจำนวนมาก

‘กลุ่มอหิงสา’ ประกอบด้วยนักคิด นักเขียน และนักศึกษาหลายคน อาทิ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ เป็นแกนนำ พจนา จันทรสันติ, สันติสุข โสภณสิริ, วิศิษฐ์ วังวิญญู, วีระ สมบูรณ์, พระประชา หุตานุวัตร, ไพศาล วงษ์วรวิสิทธิ์ ฯลฯ โดยมี ‘ปาจารยสาร’ นิตยสารหัวก้าวหน้าในเวลานั้น ซึ่งมีเนื้อหาด้านการศึกษา ปัญหาสังคม และแนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิถีพุทธและหลักอหิงสา เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการเผยแพร่แนวความคิดของกลุ่ม

หลวงพี่เตี้ยได้รับมอบหมายให้เป็นสาราณียกรต่อจากรุ่นพี่คนอื่น  และชวนผมไปเป็นกองบรรณาธิการด้วย  ผมจึงกลายเป็นกองบรรณาธิการของนิตยสารหัวก้าวหน้าที่อายุน้อยที่สุด

แม้จะอยู่กันคนละแห่ง แต่เราก็ยังพบปะกันสม่ำเสมอ ต้องเข้าไปช่วยกันปิดต้นฉบับปาจารยสาร โดยมีบ้านของรุ่นพี่คนหนึ่งเป็นทั้งบ้านพักและที่ทำงานของบรรดาหนุ่มสาวอุดมการณ์แรงกล้า เรามีหนังสือมาแนะนำกันอ่าน มีเรื่องถกเถียงทางความคิดกันมากมาย ส่วนผมได้แต่นั่งฟังด้วยความสนใจ

เท่าที่สังเกต หลวงพี่เตี้ยมีลักษณะเป็นนักวิชาการ ชอบการถกเถียง และดูเหมือนเวลาทั้งหมดจะอุทิศให้กับการแสวงหาความรู้อันไม่สิ้นสุด จนมองไม่ค่อยเห็นชีวิตส่วนตัว นอกจากการเตะบอลและดูหนัง

แม้จะจบจากโรงเรียนไปแล้ว หลวงพี่เตี้ยก็ยังแวะมาเยี่ยมเยียนรุ่นน้องที่อัสสัมชัญเสมอ แน่นอนว่าพวกเราเชิญมาให้การศึกษากับสมาชิกค่ายรุ่นน้อง และพี่เตี้ยยังไปเยี่ยมค่ายอาสาพัฒนาที่หมู่บ้านเลิงแสง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ฝีมือการเตะบอลกับชาวค่ายยังตรึงตาตรึงใจพวกเรามาจนบัดนี้

บางครั้งผมก็แวะไปหาหลวงพี่เตี้ยที่ชุมนุมพุทธศาสตร์และประเพณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บนชั้นสองโรงอาหารเก่าตรงข้ามตึกรัฐศาสตร์ ปัจจุบันได้ทุบทิ้งไปแล้ว เวลานั้นบรรดานักศึกษาฝ่ายซ้ายก็มักจะมอง ‘กลุ่มอหิงสา’ ที่สนใจการต่อสู้แบบสันติวิธี ไม่เชื่อในแนวทาง “จับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ” ว่าเป็นพวกฝ่ายขวา ขณะที่บรรดาฝ่ายขวาก็มอง ‘กลุ่มอหิงสา’ ที่ต่อต้านรัฐบาลว่าเป็นพวกฝ่ายซ้าย

ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่กี่วัน มีการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อประท้วงรัฐบาลที่ปล่อยให้จอมพลถนอม กิตติขจร บวชเณรเข้ามาเมืองไทย และทำให้มีผู้ต่อต้านเสียชีวิตอย่างลึกลับ ‘กลุ่มอหิงสา’ ได้มารวมตัวกันที่ชมรมพุทธ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลด้วยแนวทางสันติวิธี สมาชิกกลุ่มหลายคนได้ประท้วงรัฐบาลด้วยการอดอาหาร ในจำนวนนี้มีพี่เตี้ยด้วย

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราได้ทราบข่าวว่าหลวงพี่เตี้ยกับเพื่อนหลายคนถูกตำรวจจับ รถบรรทุกนักศึกษาพาไปไหนไม่มีใครทราบ ตอนนั้นข่าวสับสน ลือกันสยดสยองมากว่า พวกนักศึกษาที่ถูกจับถูกยิงตายหมด บ้างก็ว่าถูกนำตัวไปที่ชลบุรี เอามีดแทงปอดแล้วถ่วงหินโยนลงทะเล

เช้าวันที่ 7 ตุลาคม พวกเราแยกย้ายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ ศิริราช ตำรวจ วชิระ ไปตรวจดูรายชื่อของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เผื่อว่าจะมีรายชื่อของเพื่อนเราอยู่ด้วย แต่ก็ไม่พบเลย ซึ่งทำให้นึกหวั่นใจว่า อาจจะสูญหายไปหรือโดนโยนลงทะเลไปแล้ว

ตอนสายวันนั้นทราบข่าวว่านักศึกษาถูกจับไปควบคุมตัวอยู่ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ใกล้กับแยกหลักสี่ (ปัจจุบันคือสโมสรตำรวจ) พวกเราก็รีบนั่งรถเมล์ไปที่นั่นทันที รอด้วยใจระทึก จนกระทั่งมีการประกาศรายชื่อของผู้ต้องหาทั้งหมด เป็นความตื่นเต้นครั้งสำคัญในชีวิต ราวกับรอฟังผลประกาศเอ็นทรานซ์ เพราะรอลุ้นให้มีรายชื่อของเพื่อน เป็นการยืนยันว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่

และชื่อ ‘ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์’ ก็ถูกประกาศออกมา พร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคนด้วยความโล่งอกของคนที่ห่วงใย ต่อมาอีกไม่กี่วันก็ได้รับการปล่อยตัว

หลังจากนั้นไม่นาน หลวงพี่เตี้ยได้เข้าร่วม ‘กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม’ เป็นที่รวมบรรดานักคิดหลายศาสนาที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงและความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคม และเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี งานแรกอันท้าทายคือ การรณรงค์ให้มีการปล่อยผู้นำนักศึกษาและประชาชน 18 คนที่ถูกจับจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อาทิ สุธรรม แสงประทุม, ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ฯลฯ

ผมได้เข้าไปเป็นอาสาสมัครช่วยงานกลุ่มฯ มีการติดต่อกับองค์กรต่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty) เพื่อส่งข้อมูลผลักดันให้ต่างประเทศกดดันรัฐบาลทหารให้มีการ “ปลดปล่อยนักโทษทางความคิด” มีการจัดเวรไปเยี่ยมผู้ต้องหาเพื่อเป็นการให้กำลังใจ ทำจดหมายข่าวเผยแพร่ และรณรงค์ให้มีการยกเลิกกฎหมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ กฎหมายภัยสังคม โดยมีหลวงพี่เตี้ยเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของกลุ่มฯ และไม่นานผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ก็ได้รับการปลดปล่อยออกจากคุก

ช่วงนั้นบรรยากาศทางการเมืองน่ากลัวมาก ที่ทำงานของกลุ่มประสานงานฯ อยู่ริมถนนประมวญ แถวสาทร มีสันติบาลมาคอยดักเฝ้าพวกเราอยู่ตลอด เพราะเป็นเพียงไม่กี่กลุ่มที่เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยในการท้าทายรัฐบาลทหารตอนนั้น แต่พวกเราก็อดทนทำงานอย่างเงียบๆ จนภารกิจจบสิ้น

ปี พ.ศ. 2522 ผมสอบเข้าธรรมศาสตร์ ติดคณะเดียวกับหลวงพี่เตี้ย คือคณะศิลปศาสตร์ แต่ต่างสาขา ท่านเรียนสาขาประวัติศาสตร์ ผมเรียนสาขาวรรณคดีอังกฤษ และเมื่ออยู่ชั้นปีหนึ่ง พี่เตี้ยจบไปแล้ว ทำงานอยู่กลุ่มประสานงานศาสนาฯ ผมเป็นเด็กกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเต็มตัว จึงไม่ได้ทำงานร่วมกันเหมือนในอดีต แต่ก็ยังติดต่อกันบ้าง

ผมทราบข่าวว่าหลวงพี่เตี้ยบวชเงียบๆ และไม่ได้เจอกันเลย เมื่อผมจบจากรั้วมหาวิทยาลัย มาร่วมก่อตั้งนิตยสาร ‘สารคดี’ ในปี พ.ศ. 2528 ครั้งหนึ่งเดินทางไปจังหวัดชัยภูมิ ทำเรื่องราวชีวิตของหลวงพ่อคำเขียน ณ วัดป่าสุคะโต การเดินทางตอนนั้นยากลำบากในการเข้าถึงวัดกลางป่า โดยไม่ทราบมาก่อนว่า หลวงพี่เตี้ยได้มาจำพรรษาปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าแห่งนี้กับพระอาจารย์ของท่าน

หลังจากนั้นจึงมีโอกาสติดต่อกันบ่อยขึ้น ท่านเคยบอกว่าอ่าน ‘สารคดี’ มาตั้งแต่เล่มแรกๆ  ส่วนหนึ่งมาจากเนื้อหาหลักของ ‘สารคดี’ คือ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนั้นไม่ค่อยมีปรากฏในนิตยสารเล่มอื่น และตรงกับความสนใจของหลวงพี่เตี้ย จากเดิมที่ท่านสนใจแต่ปัญหาการเมือง การศึกษาและสังคม แต่เมื่อได้บวช จำพรรษาวัดป่ามานาน ทำให้ท่านเริ่มหันมาสนใจธรรมชาติและปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วงเวลานั้นกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

ช่วงนั้นหลวงพี่เตี้ยได้จัดทำ ‘จดหมายข่าวอนุรักษ์’ เป็นจุลสารเล่มเล็กว่าด้วยเรื่องราวการอนุรักษ์ธรรมชาติ เราสองคนจึงมีการติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน  และผมได้เรียนเชิญหลวงพี่เตี้ยมาเป็นนักเขียนประจำของ ‘สารคดี’ กลายเป็นคอลัมน์ที่มีผู้อ่านนิยมมากที่สุด

หลวงพี่เตี้ยเป็นพระนักเทศน์ผู้มีชื่อเสียง มีผู้นิมนต์ไปเกือบทุกวัน โดยเฉพาะเรื่อง “เตรียมตัวตายอย่างมีสติ” ซึ่งถือเป็นงานที่ท่านได้บุกเบิกเป็นคนแรกๆ จนสังคมไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก ท่านมักเตือนสติสังคมทุกครั้งที่มีความขัดแย้ง ไม่ว่าความเห็นทางการเมืองหรือปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ นอกจากนั้น ท่านได้มาเปิดประเด็นเรื่อง “ฉลาดทำบุญ” เมื่อสิบกว่าปีก่อน ให้สังคมได้รับรู้ว่า มีวิธีการทำบุญที่น่าสนใจมากกว่าการใช้เงินทำบุญอย่างเดียว

หลวงพี่เตี้ยใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือสื่อสารให้คนเข้าใจและเตือนสติผู้คนในสังคม ซึ่งอาจได้ผลในวงกว้างกว่าการเดินสายไปแสดงธรรม หลวงพี่เตี้ยอาจเป็นพระนักคิดนักเขียนไม่กี่รูปในประเทศที่มีงานเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอ ท่านยังไม่ยึดติดกับรูปแบบกระดาษ แต่ใช้สื่อออนไลน์ในการเผยแพร่เนื้อหา เพจพระไพศาล วิสาโล มีผู้ติดตามมากกว่าสองแสนคน

ทุกวันนี้ผมได้มีโอกาสรับใช้ท่านเป็นระยะ ไปเยี่ยมท่านที่วัดป่าภูหลง ช่วยหาปัจจัยในการปลูกป่าและดับไฟป่า บางครั้งก็เป็นโชเฟอร์ขับรถให้ท่าน บางครั้งก็อาสาพาท่านไปเดินป่าอย่างเงียบๆ ครั้งหนึ่งพาท่านไปล่องเรือตามแม่น้ำสาละวิน เข้าไปในเขตอิทธิพลของกะเหรี่ยงที่ยังต่อสู้กับทหารพม่า ครั้งหนึ่งพาท่านปีนขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งท่านเดินตัวปลิว นำหน้าฆราวาส แข็งแรงแทบไม่รู้สึกเหนื่อยหอบเลย

หลวงพี่เตี้ยเป็นคนชอบเดินทางสัมผัสธรรมชาติและชีวิตผู้คน ราวกับปลาได้น้ำ แต่น้อยครั้งที่ท่านจะมีโอกาสได้เดินทางจากภารกิจอันรัดตัว

หลายปีก่อนพวกเราชาวค่ายชวนกันไปรำลึกความหลัง กลับไปเยี่ยมค่ายสมัยเป็นนักเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อน และได้ชวนหลวงพี่เตี้ยนั่งรถไปด้วยกัน ท่านมีความสุขมากเมื่อกลับไปดูหมู่บ้านที่พวกเราเคยออกค่ายมาสร้างโรงเรียน แม้บัดนี้โรงเรียนจะผุพังไปตามกาลเวลาแล้ว แต่ชาวบ้านหลายคนที่เป็นเด็กน้อยในตอนนั้นยังจำพวกเราได้ดี โดยเฉพาะพระเตี้ย พระชื่อดังที่พวกเขาเห็นข่าวบ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์

ในความรู้สึกของผมที่รู้จักหลวงพี่เตี้ยมาสี่สิบกว่าปี ท่านยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง จากเด็กกิจกรรมสมัยเป็นนักเรียน จนมาบวชเป็นพระ ก็ยังเป็นพระนักกิจกรรมเหมือนเดิม ชีวิตของท่านเป็นนักทำกิจกรรมไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะครองผ้าสีอะไร หากนิยามว่า ‘คนทำกิจกรรม’ คือ คนที่ทำงานเพื่อคนอื่น ท่านไม่เคยคิดถึงตัวเอง แต่คิดถึงคนอื่นเป็นหลัก

ผมเคยถามท่านว่า “ไม่คิดจะสึกบ้างหรือ” ท่านบอกว่า “คิดสิ ทำไมจะไม่คิด คิดจะสึกตั้งแต่บวชได้สามเดือนแล้ว แต่อยู่แล้วสบายใจ จึงอยู่ไปเรื่อยๆ” จนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าหากวันใดครองผ้าเหลืองแล้วไม่สบายใจ ท่านคงสึกแน่นอน เพราะท่านไม่ได้ยึดติดกับอะไร

มีคนถามผมว่า ทำไมท่านอายุจะหกสิบแล้ว แต่ใบหน้ายังอ่อนเยาว์ยิ่ง ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่านมีชีวิตเพื่อผู้อื่นโดยแท้ และที่สำคัญคือท่านปล่อยวางได้

นานมาแล้ว ผมเคยพบพระป่าอาวุโสรูปหนึ่ง หน้าตาแจ่มใสอิ่มบุญยิ่งนัก ท่านสอนผมประโยคหนึ่ง ในการใช้ชีวิตให้เป็นอิสระ และผมจำไปตลอดชีวิตว่า “รู้ แต่อย่า รู้สึก” ฟังแล้วเข้าใจ แต่รู้ว่าปฏิบัติได้ยากมาก

ผมคิดว่า พระไพศาล วิสาโล คือคนประเภทที่เข้าถึงคำพูดนี้

“รู้ แต่อย่า รู้สึก”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save