fbpx
พลังแห่งภาพถ่าย พลังแห่งการขับเคลื่อนประชาธิปไตย

พลังแห่งภาพถ่าย พลังแห่งการขับเคลื่อนประชาธิปไตย

พรรณรังสี ประดิษฐ์ธรรม เรื่อง

ภาพนำโดย เมธิชัย เตียวนะ

ปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์มากมายและจะต้องถูกจารึกเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำลายเพดานที่เคยกดทับประชาชนและนำพาสังคมมุ่งเดินหน้าต่อไปอย่างไม่มีวันหันหลังกลับ โดย ‘ภาพถ่าย’ ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้

พลังของการถ่ายภาพได้ทำลายกรอบข้อจำกัดของเวลาลง ทำให้ผู้คนสามารถรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ แม้จะไม่ได้อยู่ในสถานที่หรือช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ตาม และเมื่อภาพถ่ายเหล่านั้นถูกอัปโหลดบนโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งทวีความสามารถให้พวกเราก้าวข้ามข้อจำกัดในการรับรู้ข่าวสารได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าใครก็ตามที่มีอินเทอร์เน็ตก็จะรับรู้ได้ว่า ณ ช่วงเวลาเดียวกัน เกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละพื้นที่ ไม่เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ รวมไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ช่างภาพจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการอยู่แนวหน้าของเหตุการณ์และก่อร่างสร้างพลังของภาพถ่ายขึ้นมา

กลุ่มช่างภาพ REALFRAME จึงได้จัดวงเสวนาออนไลน์ ชวนเหล่าช่างภาพที่ทำงานในสนามการเมืองไทยมาพูดคุยกันในหัวข้อ ‘มองภาพถ่ายในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนกระบวนการประชาธิปไตยและการทำลายเพดาน’ ร่วมพูดคุยโดย เมธิชัย เตียวนะ จาก The101.world, ศิริชัย อรุณรักษ์ติชัย จาก Getty Image, ปฏิภัทร จันทร์ทอง และสมศักดิ์ เนตรทอง จาก REALFRAME ซึ่งมานำเสนอผลงานชุดจากสนามการเมืองในช่วงปี 2563 และร่วมพูดคุยถึงการทำงานในฐานะ ‘ช่างภาพ’ กับการบันทึกภาพเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแง่มุมทางกฎหมายในการถ่ายภาพการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกกับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw

 

เรื่องราวเบื้องหลังภาพถ่ายแต่ละใบ

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลความสงบการชุมนุมในเมืองหาดใหญ่ยืนตั้งแถว ในขณะที่นักกิจกรรมที่ใส่ชุดมินเนี่ยนยืนเต้นอยู่ข้างหน้า ซึ่งมินเนี่ยนได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ใช้ล้อเลียนการเคลื่อนไหวของฝั่งตรงข้าม (ภาพโดย ศิริชัย อรุณรักษ์ติชัย)

 

การพูดคุยครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอผลงานภาพถ่ายของ ศิริชัย อรุณรักษ์ติชัย จาก Getty Image ในชื่อผลงาน ‘Visual Expression in Thai Democracy Uprising’ หรือ ‘ความคิดสร้างสรรค์ในพื้นที่การชุมนุม’ ประกอบไปด้วยภาพถ่ายการแสดงออกทางสัญลักษณ์และศิลปะแสดงสดต่าง ๆ (performance art) ที่เกิดขึ้นภายในม็อบ

“แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเป็นที่แรก แต่เป็นสิ่งที่โดดเด่นมากในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ และมีพลังในการดึงดูดความสนใจของสื่อไทยและต่างชาติ การแสดงออกรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีความสร้างสรรค์ จัดจ้านและถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง มีการเล่นกับวัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) อย่างเช่น มินเนี่ยน อีกทั้งมีไหวพริบที่ดี เช่น การนำเป็ดยางที่ใช้ในการสลายการชุมนุมมาใช้เป็นสัญลักษณ์หลักในการเคลื่อนไหวครั้งต่อไป การชุมนุมมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมาให้ดูเรื่อยๆ ทุกอาทิตย์

“เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น BlackLivesMatter หรือแม้กระทั่งม็อบในฮ่องกงที่ถือว่าเป็นแบบอย่างของการเคลื่อนไหวในไทย ผมคิดว่าในเรื่อง visual communication ก็ยังไม่เท่าระดับของการเคลื่อนไหวในไทย”

ศิริชัยตั้งคำถามว่า เหตุที่มีการหยิบใช้ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ในการเคลื่อนไหวเป็นเพราะบริบทสภาพสังคมที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้หรือไม่ รวมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยและถูกทำให้ลืมเลือนไปจากสังคม ทำให้เราจำเป็นต้องแสดงออกผ่านทางสัญลักษณ์หรือใช้กิจกรรมบางอย่างเพื่อเล่าประเด็นที่ต้องการเรียกร้อง

 

ผู้ชุมนุมชูแท่งไฟรูปหมุดคณะราษฎร 2563 (ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ)

 

ถัดมา เมธิชัย เตียวนะ จาก The101.world ได้นำเสนอภาพชุด ‘หมุดหมายของคณะราษฎร 2563’ ซึ่งเกิดจากการสังเกตเห็นรูปแบบบางอย่างจากภาพถ่ายการชุมนุมตลอดปีที่ผ่านมาของตนเอง หลังจากที่มีการฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ในวันที่ 20 กันยายน ที่ท้องสนามหลวง ในการชุมนุมครั้งต่อๆ มาก็มีการใช้สัญลักษณ์หมุดดังกล่าวแทรกอยู่ตามจุดต่างๆ ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งเมธิชัยได้เปรียบเทียบว่าหมุดเหล่านี้คล้ายกับ Easter Egg ที่ถูกแทรกไว้ในฉากต่างๆ ของภาพยนตร์

“นับจากวันที่มีการฝังหมุดคณะราษฎร 2563 เราได้เห็นการนำสัญลักษณ์หมุดไปทำเป็นฟิลเตอร์ในอินสตาแกรมหรือรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊ก ขณะที่ภายในม็อบเราก็จะเห็นสัญลักษณ์นี้บนสิ่งของหลายอย่าง ทั้งธง สติกเกอร์ เสื้อยืด หมวก รวมไปถึงในรูปแบบแท่งไฟที่แฟนคลับนิยมใช้กันในคอนเสิร์ต

“นอกจากรูปแบบของสัญลักษณ์ที่แตกแขนงออกไป กลุ่มต่างๆ ที่ออกมาชุมนุมก็มีความหลากหลายขึ้นมาก ทั้งกลุ่ม LBGTQ+ กลุ่มนักเรียนเลว เป็นต้น เราได้เห็นจุดร่วมของการเคลื่อนไหวที่หลากหลายเหล่านี้ผ่านสัญลักษณ์หมุดคณะราษฎร 2563 ซึ่งสื่อความหมายตามข้อความที่ปรากฏบนหมุดว่า “ประเทศนี้เป็นของราษฎร” และอีกนัยหนึ่งก็สะท้อนถึง 3 ข้อเรียกร้องที่ทุกขบวนการเคลื่อนไหวมีร่วมกัน ทำให้เห็นถึงความรู้สึกที่มีร่วมกันและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการเคลื่อนไหวผ่านการใช้สัญลักษณ์เหล่านี้” เมธิชัยอธิบาย

 

บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ (ภาพโดย ปฏิภัทร จันทร์ทอง)

 

ภาพชุดต่อมาเป็นของ ปฏิภัทร จันทร์ทอง จาก REALFRAME ในชื่อว่า ‘Along the way ‘Article 112” ที่เข้าไปสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ชายวัย 80 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 4 คดี ปฏิภัทรได้เล่าเรื่องราวเบื้องหลังชีวิตของบัณฑิตตลอดเส้นทางการต่อสู้และความยากลำบากที่ต้องเผชิญในคดีมาตรา 112 จากการพูดคุยและบันทึกภาพที่บ้านของบัณฑิต

“ลุงบัณฑิตมีความเชื่อในความเท่าเทียมและเสรีภาพในการแสดงออกตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่ม ประกอบกับพื้นฐานชีวิตของลุงบัณฑิตเป็นคนที่ถูกสังคมกดทับและรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมมาโดยตลอด เลยสื่อสารเรื่องราวและประเด็นที่ตนเองต้องการเรียกร้องออกมาผ่านการเขียนหนังสือ ด้วยความที่เป็นคนชอบแสวงหาความรู้ ลุงบัณฑิตจึงมักใช้เวลาอ่านหนังสือที่หอสมุดและแปลหนังสือภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ผลงานของลุงบัณฑิตมีทั้งหมดกว่า 20 เล่ม ทั้งที่เป็นงานแปลและงานเขียนของตนเอง ซึ่งงานเขียนส่วนใหญ่จะเป็นแนวเสียดสีสังคมที่สะท้อนเรื่องราวความไม่เป็นธรรม และมักจะพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม”

ปฏิภัทรเล่าต่อว่า บัณฑิตถูกจับกุมในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ครั้งแรก พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมยังไม่คุ้นเคยกับกฎหมายมาตรา 112 นัก เขายังถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่ามีอาการทางประสาทเพื่อลดทอนคุณค่างานเขียนของบัณฑิต อย่างไรก็ตามบัณฑิตมักเข้าร่วมงานเสวนาการเมืองและการชุมนุมในวาระต่างๆ ที่ขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองและสังคม การถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 เป็นครั้งที่ 4 ของบัณฑิตเกิดขึ้นคำกล่าวของเขาในงานเสวนาแห่งหนึ่งว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองที่อยู่ใต้เท้าของใครบางคน” โดยในที่สุดแล้วศาลตัดสินยกฟ้อง

ในช่วงระยะหลังมานี้บัณฑิตที่อายุมากขึ้นเริ่มประสบปัญหาสุขภาพ ปัจจุบันต้องเจาะท่อปัสสาวะที่ท้องและแขวนถุงปัสสาวะไว้กับตัวตลอดเวลา เนื่องจากตัดกระเพาะปัสสาวะและไตออกไปข้างหนึ่งเพราะโรคมะเร็ง

 

ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

 

สมศักดิ์ เนตรทอง อีกหนึ่งช่างภาพที่มาร่วมพูดคุยได้นำเสนอภาพถ่ายของตนเองในชื่อว่า ‘เสียงเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียม LGBTQ กับประชาธิปไตย’ สมศักดิ์เริ่มเท้าความถึงประสบการณ์การถ่ายภาพการชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 ของตนเองที่ทำให้ได้ติดตามการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมาโดยตลอด ซึ่งแต่ละครั้งนั้นก็มีรูปแบบการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องที่แตกต่างกันออกไป

“ในปี 2563 ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมีความหลากหลายมาก เริ่มจากกลุ่มเยาวชน นักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของพวกเขา รวมไปถึงการเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ให้กับคนรากหญ้าด้วยเช่นกัน เรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงในม็อบครั้งนี้จำนวนมาก ทำให้เห็นว่าทุกประเด็นสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ ถือเป็นความก้าวหน้าของภาคประชาชนที่สามารถขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศไปพร้อมกับการเรียกร้องทางการเมืองได้” สมศักดิ์กล่าว

ภาพถ่ายชุดนี้ของสมศักดิ์เกิดขึ้นจากความสนใจในการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ+ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและเรื่องราว รวมถึงมีเอกลักษณ์ของตัวเองในการเรียกร้อง โดยเฉพาะธงสีรุ้ง ที่ทำให้สมศักดิ์รู้สึกสนุกทุกครั้งในการลงสนามเพื่อเก็บภาพและเกิดความสนใจว่าทำไมกลุ่ม LGBTQ+ จึงออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้

สมศักดิ์ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ ‘ทาทา’ ศิริ นิลพฤกษ์ หนึ่งในผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวและเข้าร่วมการชุมนุม ทาทาเคยมีประสบการณ์ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 และเคยขึ้นเวทีปราศรัยในประเด็นมาตรา 112 จนเกือบจะโดนดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วยเช่นกัน ภายหลังทาทาได้ลดการเคลื่อนไหวเบื้องหน้าลงและได้เข้ามาช่วยกลุ่มเฟมินิสต์และกลุ่มเสรีเทยพลัสในการทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เช่น การผลักดันกฎหมายทำแท้งปลอดภัย อย่างไรก็ตามเบื้องหลังชีวิตของทาทานั้นไม่ได้เป็นคนที่มีพร้อม เธอเป็นบุคคลไร้บ้าน ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่เป็นหลักแหล่ง อาศัยอยู่ที่เกสต์เฮ้าส์เดือนต่อเดือน โดยไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันที่ขาดรายได้ตนจะไปอาศัยอยู่ที่ใด แต่ถึงกระนั้นทาทายังคงทำงานช่วยเหลือสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันทาทาได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิอิสรชนในการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ในการดำรงชีพให้กับคนไร้บ้านและแจกจ่ายอาหารทุกวันอังคารในย่านคลองหลอด

 

มาตรา 112 กับการทำงานในฐานะ ‘ช่างภาพ’

 

ภาพโดย ปฏิภัทร จันทร์ทอง

 

ปัจจุบันมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ดำเนินคดีกับแกนนำหรือนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่กับผู้เข้าร่วมชุมนุมเอง ซึ่งนำไปสู่บรรยากาศความกลัวในการแสดงความคิดเห็น ไม่เพียงแต่ความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในสังคม แรงกดดันเหล่านี้ส่งผลต่อการทำงานของช่างภาพเช่นกัน แม้ว่าช่างภาพจะไม่ได้แสดงออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำโดยตรง แต่แสดงออกผ่านการถ่ายภาพและการนำเสนอภาพก็ตาม

ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นตรงกันว่า ปัญหาคือขอบเขตที่ไม่ชัดเจนของการใช้กฎหมายมาตรา 112 และการเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องเป็นใครก็ได้ ทำให้ไม่รู้ว่าการทำหน้าที่ในฐานะช่างภาพของตนจะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหน้าที่ของช่างภาพคือการถ่ายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นและรายงานไปตามความเป็นจริง ขอบเขตที่ไม่ชัดเจนของมาตรา 112 จึงกลายเป็นการปิดกั้นเสรีภาพสื่อในระดับหนึ่งและทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ

ยิ่งชีพกล่าวเสริมถึงข้อจำกัดในการถ่ายภาพว่า “ภาพถ่ายที่มีประเด็นทางการเมืองนั้นจะถ่ายติดพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้ หรือในกรณีที่จะถ่ายภาพติดพระบรมฉายาลักษณ์ก็จะต้องติดแบบเต็มตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากมาก เพราะเกือบทุกที่ที่มีการชุมนุมก็มักจะมีพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ และต่อมาเมื่อเกิดข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น การใช้คำหรือข้อความต่างๆ บนป้ายที่ผู้ชุมนุมเขียนก็กลายเป็นปัญหาเช่นเดียวกันจากขอบเขตที่ไม่ชัดเจนของมาตรา 112”

นอกจากการจำกัดตัวเองในการทำงานภาพแล้ว ปฏิภัทร จาก REALFRAME ได้กล่าวถึงการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อต่างๆ ว่า “การออกมาพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ครั้งแรกของทนายอานนท์ นำภา ไม่ได้เป็นที่พูดถึงของสื่อมากนักในช่วงเวลานั้น หรือแม้กระทั่งข้อเรียกร้องที่มีคำว่าปฏิรูปสถาบันฯ ในหลายสื่อก็เลี่ยงที่จะใช้คำนี้ หลังจากนั้นจึงมีการขยับเพดานขึ้น สังคมพูดถึงประเด็นนี้มากขึ้น สื่อที่เซ็นเซอร์ตัวเองก็ค่อยๆ ขยับมาพูดถึงกันมากขึ้น”

ยิ่งชีพได้แบ่งปันถึงประสบการณ์ในการเลือกภาพถ่ายมาเผยแพร่ในฐานะของ iLaw ว่า ในการเคลื่อนไหวประเด็นนี้ช่วงแรกนั้น iLaw เองมีเพดานที่ต่ำมาก แต่เมื่อกระแสสังคมเริ่มพูดถึงกันมากขึ้นก็มีการขยับเพดานขึ้นมาภายหลัง

“ในช่วงแรกมีการเซ็นเซอร์เยอะมาก ป้ายข้อความหรือรูปที่ยังไม่แน่ใจ เราก็ไม่เอาไว้ก่อน ต่อมามีสื่อหลายที่ที่พยายามดันเพดาน รวมทั้งการพูดถึงประเด็นนี้ของผู้ชุมนุมก็มีเพิ่มมากขึ้น iLaw ถึงได้มีการขยับเพดานขึ้น และแม้ว่าตัวเราจะเรียนกฎหมายมา แต่เรารู้ว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้นไม่ได้ตรงไปตรงมาเสมอไป ทุกวันนี้ยังมีคดีที่ตีความกว้างและตีความเลยเส้นอยู่ตลอด กลายเป็นการทำงานของเราเลยยังเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่พอสมควร ทำให้บางครั้งรู้สึกว่าเรากล้าหาญไม่เพียงพอในสถานการณ์ปัจจุบัน” ยิ่งชีพกล่าว

 

ภาพถ่ายเปลี่ยนโลก

 

ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง

 

การพูดคุยดำเนินต่อมาถึงความรู้สึกของช่างภาพในฐานะผู้ที่อยู่หน้างานและบทบาทของช่างภาพในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนการที่นำพาสังคมไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองต่อภาพถ่ายในการขับเคลื่อนขบวนการที่แตกต่างกันออกไป

สมศักดิ์อธิบายถึงการทำงานภาพว่า เป็นงานที่บันทึกประวัติศาสตร์ของเรื่องราวหนึ่งๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นในปัจจุบัน ทำให้ทุกครั้งที่ทำงานจะต้องตั้งใจบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นอย่างดีที่สุดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“ภาพถ่ายมีส่วนทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจสิ่งที่ม็อบต้องการจะสื่อ รวมไปถึงการเป็นประจักษ์พยานในการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น บางครั้งการไม่มีภาพถ่ายเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่หวังดีสามารถสร้างเรื่องราวที่ไม่ใช่ความจริงขึ้นมาบิดเบือนการเคลื่อนไหวได้ เราในฐานะช่างภาพจึงพยายามที่จะถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จริงๆ แล้วมันเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสันติ เพราะฉะนั้นภาพถ่ายเองก็มีความสำคัญในการขับเคลื่อนม็อบในส่วนนี้ไปด้วย” สมศักดิ์กล่าว

ยิ่งชีพเสริมความคิดของสมศักดิ์ว่า ในขณะเดียวกันภาพถ่ายก็เป็นการการบอกเล่าเรื่องราวให้กับคนที่ไม่สามารถไปอยู่ ณ ที่ตรงนั้นได้ รวมถึงเป็นการส่งต่อข้อความไปให้คนที่ไม่ได้มาเข้าร่วมได้เห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ปลอดภัย ซึ่งมีความหมายต่อขบวนการเคลื่อนไหวเป็นอย่างมาก รวมไปถึงเสริมคุณค่าของภาพถ่ายในทางกฎหมายว่าเป็นหลักฐานที่จะคุ้มครองและยืนยันความบริสุทธิ์ของคนๆ หนึ่งได้เช่นเดียวกัน

เมธิชัยกล่าวว่า นอกเหนือจากการเป็นประจักษ์พยานแล้ว พลังของภาพถ่ายนั้นคือความสามารถในการสร้างบทสนทนา โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย งานส่วนตัวของตนเองจึงชอบใช้สัญลักษณ์และการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ มาอยู่ในภาพเดียวกันเพื่อให้เกิดการตีความ บางทีการตีความของช่างภาพเองก็อาจจะไม่ได้มองเห็นความหมายเท่ากับสายตาของผู้ชมภาพ ที่จะสร้างบทสนทนาและขยายไปสู่ประเด็นอื่นๆ ต่อไป

ปิดท้ายด้วยศิริชัยที่ยกประโยคของ John Vink อดีตสมาชิก Magnum ที่เคยกล่าวไว้ว่า จริงๆ แล้วภาพถ่ายทำได้เพียงให้ข้อมูลในระดับหนึ่งเท่านั้น มันจึงไม่สามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ แต่ผู้ที่เห็นภาพต่างหากคือผู้ที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้

 

การชุมนุม ภาพถ่าย และสิทธิส่วนบุคคล

 

ภาพโดย ศิริชัย อรุณรักษ์ติชัย

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังจะถูกประกาศใช้ในช่วงกลางปี 2564 ได้จุดประกายบทสนทนาให้ช่างภาพทั้ง 4 ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเรื่องสิทธิส่วนบุคคลที่ต้องเผชิญในการทำงานภาคสนาม รวมถึงมุมมองด้านกฎหมายจากยิ่งชีพในเรื่องขอบเขตของการทำงานภาพ

ปฏิภัทรได้เริ่มต้นกล่าวว่า ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวค่อนข้างเป็นข้อจำกัดในการทำงานของช่างภาพในปีที่ผ่านมาพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายภาพที่เห็นหน้าตาของผู้ชุมนุม ด้วยเหตุที่ว่าภาพถ่ายที่เห็นสีหน้า แววตา และการกระทำช่วยให้คนรับสารสามารถรับพลังนี้เพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นการทำงานบนข้อจำกัดเรื่องความเป็นส่วนตัวจึงทำให้พลังในภาพถ่ายลดลง

“ช่างภาพทุกคนต่างก็รู้ข้อจำกัดในการเก็บภาพเบื้องต้นอยู่แล้ว อย่างภาพเด็กหรือเยาวชนก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่อ่อนไหว เราจะใช้วิธีประเมินจากความจำเป็นและอาศัยการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาว่าผู้ชุมนุมยินดีที่จะเปิดเผยใบหน้าหรือสะดวกให้นำภาพไปเผยแพร่หรือไม่ หากเขาโอเคเราก็โอเค เขาไม่โอเคเราก็ไม่โอเค” สมศักดิ์แบ่งปันมุมมองของตนเอง

ประเด็นนี้ถือเป็นความท้าทายของยุคสมัยสำหรับยิ่งชีพ โดยเป็นการปะทะกันของสองคุณค่า ระหว่างความเป็นส่วนตัวกับเสรีภาพของสื่อ ในด้านหนึ่งนั้นความเป็นส่วนตัวก็เป็นสิ่งเดียวกันกับความปลอดภัยของคนที่ไม่อยากถูกถ่ายใบหน้าของตนอย่างชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้ยังคงกำลังเป็นที่ถกเถียงกันจนกว่าที่จะสามารถกำหนดมาตรฐานร่วมกันได้

ยิ่งชีพได้อธิบายเพิ่มเติมถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในกลางปีนี้ว่าไม่ได้มีข้อกฎหมายที่ระบุว่าห้ามถ่ายภาพบุคคลในที่สาธารณะ แต่กฎหมายฉบับนี้มุ่งใช้ในการกำกับผู้ที่มีอำนาจเหนือในการครอบครองข้อมูลของประชาชนทั่วไป เช่น บริษัทเครือข่ายมือถือ เป็นต้น

“เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การชุมนุมสาธารณะคือการที่ผู้คนร่วมกันแสดงออกบางอย่างต่อสาธารณะ ซึ่งจำนวนคนที่มีมากจะสื่อถึงเสียงสนับสนุนที่มีจำนวนมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นคนที่มาร่วมการชุมนุมสาธารณะเพื่อแสดงออกนั้น โดยพื้นฐานจะต้องสละความเป็นส่วนตัวเพื่อแสดงออกและนำเสนอสิ่งที่ตนเองต้องการต่อสังคม การออกมาชุมนุมคือการให้ความยินยอมแล้วว่าเอาภาพฉันไปใช้ได้ แต่กระนั้นก็ดี บริบทของประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความไม่ปกติ มีการติดตามคุกคามผู้ชุมนุมของตำรวจไทย ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน จากภาพที่ถ่ายติดใบหน้าของผู้เข้าร่วมชุมนุม สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นภาวะยกเว้นที่ทำให้เราไม่สามารถออกไปชุมนุมหรือแสดงออกในที่สาธารณะอย่างปลอดภัยได้ เลยนำมาสู่ความกลัวและการเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคลตามมาในที่สุด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

“ทั้งนี้แม้ว่าการสงวนไม่ถ่ายภาพติดใบหน้าของผู้ชุมนุมจะไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย หากแต่เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันในการอยู่ร่วมกันในสังคม ในฐานะช่างภาพ เราจึงจำเป็นจะต้องตกลงกับผู้ที่ออกมาแสดงออกในการถ่ายภาพที่เน้นใบหน้าถึงความสมัครใจ แต่สำหรับบางกรณีอย่างผู้ปราศรัยหรือผู้ที่ถือป้ายรณรงค์ต่างๆ คนเหล่านี้อยู่ในฐานะที่แสดงเจตนาแล้วว่าเขายินดีสละสิทธิส่วนบุคคลในการเปิดเผยใบหน้าผ่านการที่เขาออกมายืน ณ ที่ตรงนั้น” ยิ่งชีพกล่าว

 

ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ

 

ก่อนจบการพูดคุยในงาน ช่างภาพทั้ง 4 คาดหวังอยากให้สังคมเข้าใจการทำงานของช่างภาพมากขึ้นว่าเป็นงานหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวและสื่อสารสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการเรียกร้องให้ได้ดีที่สุดผ่านภาพถ่าย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save