fbpx

“เราพ่ายแพ้ต่อโฆษณาชวนเชื่อ” บทเรียนจากเลือกตั้งฟิลิปปินส์สู่เลือกตั้งไทย ในยุคข้อมูลเท็จระบาด

“มันไม่ใช่แค่การใช้ข้อมูลเท็จเป็นเครื่องมือ แต่พูดอย่างกว้างกว่านั้น มันคือโฆษณาชวนเชื่อ และปรากฏว่าโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาได้รับชัยชนะ”  

เจสัน กอนซาร์เลส (Jason Gonzales) ผู้อำนวยการพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) แห่งประเทศฟิลิปปินส์ เล่าย้อนให้เราฟังถึงช่วงเวลาของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2022 ที่อดีตรองประธานาธิบดี เลนี โรเบรโด (Leni Robredo) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่พรรคเสรีนิยมให้การสนับสนุน เป็นอันต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) หรือ บงบง มาร์กอส (Bongbong Marcos) ลูกชายของอดีตผู้นำเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos, 1965-1986) กอนซาร์เลสย้ำว่า โฆษณาชวนเชื่อคือเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่ทำให้มาร์กอส จูเนียร์ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

“เขาทุ่มเทเวลาไปหลายปีกับความพยายามแก้ไขและสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ในยุคพ่อของเขาขึ้นมาใหม่ พยายามสร้างภาพว่าครอบครัวตัวเองคือผู้ตกเป็นเหยื่อของการถูกใส่ความ และยังขายฝันให้ประชาชนว่าจะนำพายุคทองในตอนนั้นกลับคืนสู่ฟิลิปปินส์อีกครั้ง วาทกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเยอะ และคนฟิลิปปินส์จำนวนมากก็ซื้อมัน” กอนซาร์เลสเล่า

“การบิดเบือนเรื่องราวในประวัติศาสตร์ อย่างการพยายามบอกว่าช่วงเวลาแห่งการประกาศกฎอัยการศึก (1972-1981) ภายใต้ยุคมาร์กอสคือยุคทองของฟิลิปปินส์ เรียกได้ว่าเป็นการสร้าง ‘ข้อมูลเท็จ’ (disinformation) อย่างแน่นอน และยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลเท็จที่ว่าด้วยเรื่องราวในอดีตนี้ได้ถูกนำมาใช้ทำให้ประชาชนฝันหวานถึงอนาคต เมื่อเราพูดถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น นั่นจึงยังไม่อาจเรียกว่าเป็นข้อมูลเท็จ หากแต่คือ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ (propaganda) เพราะฉะนั้นมันสรุปได้อย่างง่ายๆ ว่าพวกเขาใช้ข้อมูลเท็จเป็นรากฐานในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อขายฝันให้ประชาชน” กอนซาร์เลสอธิบายต่อ

“เราอาจจะยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่าการใช้ข้อมูลเท็จคือเหตุผลหลักที่ทำให้มาร์กอส จูเนียร์ชนะการเลือกตั้ง มันอาจจะมีหลายปัจจัย แต่ต้องยอมรับว่าข้อมูลเท็จมีส่วนช่วยเขาเยอะมาก เพียงแต่ไม่รู้ว่าช่วยมากขนาดไหน” อีวอน ชัว (Yvonne Chua) รองศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ (University of the Philippines) และผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มตรวจสอบข้อมูลเท็จในช่วงการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ Tsek.ph ให้ความเห็นจากการเฝ้าสังเกตความเคลื่อนไหวของข้อมูลเท็จในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ชัวเล่าต่อว่า อันที่จริงการเคลื่อนไหวสร้างข้อมูลเท็จของมาร์กอส จูเนียร์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 2022 เท่านั้น “เขาทำมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2016 ที่เขายังลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเสียอีก เขาพยายามใช้ทุกช่องทางทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ในการรีแบรนด์ครอบครัวตัวเองด้วยการบิดเบือนประวัติศาสตร์ในยุคพ่อของเขา ซึ่งเลวร้ายไปถึงขั้นการนั่งเทียนเขียนตำนานปรัมปราขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตระกูลตัวเอง”

“วาทกรรมและเรื่องเล่าเท็จทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ถูกหยิบมารีไซเคิลเล่าใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยมีการบอกเล่าขึ้นมาในฟอร์แมตใหม่ และมีการบอกเล่าหรือส่งต่อโดยคนหน้าใหม่ๆ เป็นเช่นนี้มาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปตามปรัชญาข้อหนึ่งที่ว่า เมื่อคุณพูดเรื่องโกหกไปซ้ำๆ ในที่สุดก็จะมีคนที่เชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง” ชัวกล่าว

“ในการเลือกตั้งปี 2016 มาร์กอส จูเนียร์ พ่ายแพ้ให้กับโรเบรโดในการชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี นับจากนั้นมา เขาจึงพยายามอย่างหนักขึ้นเพื่อจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2022 โดยพยายามเคลื่อนไหวใช้ข้อมูลเท็จใส่ร้ายป้ายสีโรเบรโด ผ่านบรรดาผู้สนับสนุนของเขาเอง กระทั่งเมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่มาถึง เขาก็ลงแข่งกับโรเบรโดอีกครั้ง และครั้งนี้ปรากฏว่าเขาชนะ” ชัวเล่าต่อ

Tsek.ph ได้เคยทำการศึกษาถึงผลกระทบของข้อมูลเท็จต่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่างๆ ในช่วงการเลือกตั้งปี 2022 โดยพบว่าข้อมูลเท็จที่ Tsek.ph เก็บรวบรวมได้ในช่วงเวลานั้นสร้างภาพลบต่อโรเบรโดมากที่สุด และขณะเดียวกันก็สร้างภาพบวกต่อมาร์กอสมากที่สุด  

“แม้ว่าพรรคเสรีนิยมและโรเบรโดจะไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ถูกข้อมูลเท็จโจมตีในช่วงการเลือกตั้ง แต่พูดได้ว่าเราคือคนที่โดนหนักที่สุด” กอนซาร์เลสยืนยันจากประสบการณ์ของตัวเอง

“การโจมตีพรรคเราไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เราโดนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte, 2016-2022) ตัวเขา รวมถึงคนรอบตัวและผู้สนับสนุนเขามักชี้นิ้วโทษเรา โดยโทษว่าปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศมีต้นเหตุมาจากรัฐบาลพรรคเสรีนิยมในช่วงเวลาก่อนๆ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็โทษเราไว้ก่อน หรือต่อให้ใครก็ตามที่ไม่ใช่คนในพรรคเราหรืออาจจะไม่ใช่ผู้สนับสนุนพรรคเรา แต่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐ ก็จะถูกติดป้ายเหมารวมหมดว่าเป็น ‘พวกเหลือง’ (Dilawan) ซึ่งเป็นสีประจำพรรคเรา” กอนซาร์เลสเล่าต่อ

กอนซาร์เลสยังชี้ว่าการระดมใส่ร้ายโจมตีต่อพรรคเสรีนิยมมาอย่างต่อเนื่องมีผลโดยตรงที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคแย่ลง ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนผ่านผลการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การเลือกตั้ง 2022 เท่านั้น แต่ยังเห็นได้ชัดในการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2019 ในสมัยดูเตร์เต ซึ่งปรากฏว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลดูเตร์เต รวมถึงพรรคเสรีนิยมเอง ไม่สามารถชนะที่นั่งวุฒิสมาชิกได้แม้แต่ที่นั่งเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เจสัน กอนซาร์เลส (Jason Gonzales)
ในงาน ‘เจาะ (อิทธิพล) ปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์ (Online Manipulation) กับผลการเลือกตั้ง:
บทเรียนจากฟิลิปปินส์สู่ไทย’ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2023
ขอบคุณภาพจาก Cofact Thailand

คำบอกเล่าของกอนซาร์เลสสะท้อนให้เห็นว่า การระบาดของการใช้ข้อมูลเท็จไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2022 และไม่ได้มีเพียงตระกูลมาร์กอสที่ใช้กลวิธีนี้ แต่มันได้ปกคลุมภูมิทัศน์สังคมการเมืองของฟิลิปปินส์มาต่อเนื่องก่อนหน้านั้นหลายปี และไม่ได้จำกัดเพียงในช่วงการเลือกตั้งเท่านั้น อีกทั้งฟิลิปปินส์ยังถือเป็นประเทศที่เผชิญปัญหาการระบาดของข้อมูลเท็จหนักเป็นอันดับต้นๆ และถือเป็นที่แรกๆ ของโลก โดยผู้บริหารของ Facebook เคยเปรียบเปรยไว้ว่า ฟิลิปปินส์คือ ‘ผู้ติดเชื้อหมายเลขศูนย์’ (patient zero) ของการระบาดของข้อมูลเท็จทางออนไลน์ของโลก โดยจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารเท็จระบาดหนักในฟิลิปปินส์คือการเลือกตั้งปี 2016 ซึ่งดูเตร์เตลงทุนใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจนผลักดันตนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างได้ผล   

“นับแต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น เราสังเกตเห็นว่าผู้สมัครหลายๆ คนมีการใช้กลวิธีการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะได้เห็นแล้วว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลสำหรับผู้สมัครบางคนในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ จนทำให้ข้อมูลข่าวสารเท็จระบาดจนเข้าขั้นวิกฤตในทุกการเลือกตั้ง และที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือประชาชนยังไม่ค่อยตระหนักถึงปัญหานี้” ชัวกล่าว

อาสาสมัครออนไลน์ตอบโต้ข้อมูลเท็จ: การโต้กลับของพรรคเสรีนิยม

จากการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2016 ถึงการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2019 พรรคเสรีนิยมตระหนักว่า ข้อมูลเท็จที่มุ่งโจมตีพรรคในช่วงการเลือกตั้งคือภัยคุกคามสำคัญ ทำให้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2022 พรรคเสรีนิยมตัดสินใจเดินหน้าต่อสู้กับปฏิบัติการข้อมูลเท็จด้วยตัวเอง

“เราจัดตั้งกำลังอาสาสมัครเพื่อมาตอบโต้ข้อมูลเท็จที่พุ่งตรงมาเล่นงานเราบนสื่อสังคมออนไลน์” กอนซาร์เลสเล่า

เขาอธิบายถึงอาสาสมัครให้ฟังว่า “อาสาสมัครที่มารวมตัวกันนี้ไม่ได้มีการติดป้ายบ่งบอกว่าเป็นคนของพรรคเรา พวกเขามีทั้งคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคหรือผู้สนับสนุนของพรรคเสรีนิยม แต่คือกลุ่มคนที่รับรู้ถึงปัญหานี้แล้วเต็มใจมาช่วยเราในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จ โดยที่พรรคให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่างๆ พวกเขาคือกำลังสำคัญในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา”  

“สิ่งที่อาสาสมัครกลุ่มนี้ทำไม่เชิงว่าเป็นการตรวจสอบความจริงเท็จของข้อมูล (fact-checking) แต่เรียกว่าเป็นการทำ positive branding มากกว่า หมายความว่า เมื่อเราพบว่าผู้สมัครของเราคนไหนถูกข้อมูลเท็จเข้ามาโจมตีบนสื่อสังคมออนไลน์ อาสาสมัครของเราก็จะเข้าไประดมคอมเมนต์ตอบโต้ว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่เป็นความจริง” กอนซาร์เลสเล่าถึงวิธีการทำงาน

กอนซาร์เลสเล่าให้เราฟังต่อว่า การเลือกใช้วิธีการต่อสู้กับข้อมูลเท็จในรูปแบบนี้มีที่มาจากการศึกษาถึงพฤติกรรมการเสพข่าวสารของผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีข้อสังเกตว่าคนทั่วไปมักอ่านเพียงหัวข้อเรื่องหรือพาดหัวข่าว โดยไม่อ่านเนื้อหา แต่ข้ามไปอ่านช่องคอมเมนต์ ทำให้ปฏิบัติการต้องเน้นไปที่พื้นที่ช่องคอมเมนต์เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้คนมีโอกาสมองเห็นมากขึ้น

“ช่องคอมเมนต์คือพื้นที่ที่คนเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหา และยังมีผลมากในการโน้มน้าวความคิดเห็นของผู้คน เราถึงเลือกต่อสู้กับข้อมูลเท็จโดยใช้พื้นที่ช่องคอมเมนต์ของโพสต์ที่เป็นข้อมูลเท็จ และวิธีการทำงานของเราก็คือ เราไม่ได้เข้าไปต่อสู้กับทุกโพสต์ที่เป็นข้อมูลเท็จ แต่เราเลือกเข้าไปสู้เฉพาะเพียงโพสต์ที่มีการแพร่กระจายไปไกลหรือเป็นไวรัลแล้วเท่านั้น แต่หากเป็นโพสต์ที่ยังไม่แพร่ไปไกลมาก เราจะไม่เข้าไปคอมเมนต์ เพราะถ้าเราเข้าไปกระหน่ำคอมเมนต์ใต้โพสต์พวกนี้ มันอาจจะไปกระตุ้นให้โพสต์กลายเป็นไวรัล จนกลายเป็นว่าคนมีโอกาสเห็นข้อมูลเท็จพวกนี้มากขึ้นกว่าเดิม สรุปคือเราต้องชั่งน้ำหนักตลอดว่าจะทำอย่างไรที่จะต่อสู้หักล้างข้อมูลเท็จโดยที่ไม่ไปทำให้คนมีโอกาสข้อมูลเท็จพวกนี้เพิ่มขึ้น” กอนซาร์เลสอธิบาย

สามัคคีคือพลัง – กำเนิดพันธมิตรตรวจสอบข้อมูลเท็จ

“เรื่องน่ายินดีที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งปี 2022 คือหลายสำนักข่าว ไม่ว่าจะสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ หรือสำนักข่าวท้องถิ่น เริ่มมองเห็นถึงความสำคัญว่าควรจะต้องมีการทำงานตรวจสอบความเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากขึ้น หลายสำนักข่าวได้เข้ามาแสดงบทบาทในการทำ fact-checking กันเยอะขึ้นมาก” ชัวกล่าวโดยย้ำว่า ไม่เพียงแต่พรรคการเมืองที่ต่อสู้ข้อมูลเท็จด้วยตัวเองเท่านั้น แต่สื่อมวลชนฟิลิปปินส์ยังคงแสดงบทบาทในการเป็นผู้ปกป้องรักษาความจริงให้กับสาธารณชน โดยได้เห็นบทบาทที่เข้มข้นและแข็งขันขึ้นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้น สื่อมวลชนฟิลิปปินส์ยังตระหนักว่า หนทางที่จะต่อสู้กับข้อมูลเท็จที่ระบาดหนักได้ คือพวกเขาต้องรวมพลังกัน

“ข้อมูลข่าวสารเท็จมีจำนวนมหาศาล ตัวการที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จก็มีเป็นจำนวนมาก จึงแน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่สำนักข่าวใดสำนักข่าวหนึ่งจะต่อสู้กับมันได้เพียงลำพัง นี่คือสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองด้วย ฉันเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง VERA Files (สื่อไม่แสวงหาผลกำไรที่เน้นทำงาน fact-checking ในฟิลิปปินส์) ซึ่งตอนนั้นฉันก็เรียนรู้ว่าต่อให้เราใช้คนทั้งทีมมา fact-checking แต่ก็ยังน้อยเกินไปที่จะสู้กับข้อมูลเท็จที่มีอยู่นับไม่ถ้วนได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันจัดตั้งพันธมิตรสื่อขึ้นมาเพื่อทำงานต่อสู้กับข้อมูลเท็จด้วยกัน” ชัวเล่า โดยพันธมิตรตรวจสอบข้อมูลเท็จที่เธอร่วมตั้งขึ้นมานั้นก็คือ Tsek.ph

Tsek.ph ได้รับการก่อตั้งในปี 2019 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการตรวจสอบข้อมูลเท็จในช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมที่มีขึ้นในปีนั้นโดยเฉพาะ โดยมีการรวบรวมหลายองค์กรที่ไม่ใช่เพียงสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถาบันทางวิชาการ และภาคประชาสังคม ที่มีบทบาทหน้าที่ข้องเกี่ยวกับการต่อสู้ข้อมูลข่าวสารเท็จ เข้ามาทำงานร่วมกัน โดย Tsek.ph ถือเป็นพันธมิตรตรวจสอบข่าวปลอมกลุ่มแรกของประเทศฟิลิปปินส์

หน้าเว็บไซต์ของ Tsek.ph

“ความท้าทายของการก่อตั้งพันธมิตรนี้ขึ้นมาคือ ภูมิทัศน์สื่อมวลชนของฟิลิปปินส์ที่มีการแบ่งขั้วอย่างรุนแรง โดยมีทั้งสื่อที่เลือกอยู่ฝั่งบางพรรคการเมือง และมีทั้งสื่อที่ยังยืนหยัดทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และที่สำคัญ การแข่งขันในสมรภูมิสื่อฟิลิปปินส์ก็ค่อนข้างหนัก ทำให้สื่อไม่ค่อยยินดีที่จะทำงานร่วมกันเท่าไหร่ และถ้ายิ่งถ้าพันธมิตรนั้นจะมีสำนักข่าวไหนเป็นแกนนำ สำนักข่าวอื่นจะยิ่งไม่อยากเข้าร่วม เพราะไม่อยากถูกนำโดยสำนักข่าวอื่น จึงยากมากที่จะรวมสื่อมวลชนให้มาทำงานร่วมกันได้ แต่ประเด็นคือพวกเขาเริ่มเห็นความสำคัญที่ว่ต้องมีการทำงานร่วมกันในการต่อสู้ข้อมูลเท็จ เพราะฉะนั้น ฉันและวิทยาลัยสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์เลยเข้ามาเป็นโตโผหลักในการดึงแต่ละสำนักข่าวมารวมตัวกัน โดยที่มีเราเป็นแกนนำเอง นี่ทำให้พวกเขารู้สึกสะดวกใจที่จะเข้าร่วมมากขึ้น จนในที่สุด Tsek.ph ก็เกิดขึ้นมาได้” ชัวเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Tsek.ph

ภายใต้ Tsek.ph องค์กรสื่อและองค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก ต่างทำหน้าที่ตรวจสอบหักล้างข้อมูลเท็จอย่างเป็นเอกเทศจากกัน โดยแต่ละองค์กรสามารถผลิตและเผยแพร่ผลงานการตรวจสอบหักล้างข้อมูลเท็จบนแพลตฟอร์มของตัวเอง ก่อนที่ทาง Tsek.ph จะนำผลงานเหล่านั้นขึ้นมาเผยแพร่บนแพลตฟอร์มกลางซึ่งมีทั้งในรูปแบบเว็บไซต์และบัญชีบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างอิงไปที่แพลตฟอร์มขององค์กรผู้ผลิตผลงาน นอกจากนี้ Tsek.ph ยังอนุญาตให้องค์กรสมาชิก และแม้กระทั่งสาธารณชนทั่วไป สามารถนำผลงานตรวจสอบหักล้างข้อมูลเท็จเหล่านี้ไปเผยแพร่ต่อได้ โดยมีเงื่อนไขคือต้องมีการอ้างอิงที่มาผลงาน (Creative Commons with Attribution)

“ข้อดีของมันคือมันเหมือนกับว่าแต่ละองค์กรจะได้แบ่งเบาช่วยเหลือกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น Tsek.ph มีสำนักข่าว MindaNews ซึ่งเป็นองค์กรสื่อท้องถิ่นที่ประจำอยู่ในภูมิภาคมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เป็นสมาชิก สำนักข่าวนี้ก็เจาะจงผลิตผลงานตรวจสอบข้อมูลเท็จที่เกี่ยวข้องเฉพาะประเด็นในภูมิภาคของเขา โดยที่สื่อใหญ่ระดับประเทศที่อาจไม่มีเวลาเข้าไปเจาะลึกในพื้นที่นั้น หรือสื่ออื่นๆ ที่อยู่นอกภูมิภาคหรือไม่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นของภูมิภาคนั้น ก็สามารถนำผลงานตรวจสอบข้อมูลเท็จของ MindaNews ไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มตัวเองได้ด้วย โดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงตรวจสอบเอง” ชัวอธิบาย

“และสมมติว่าถ้าองค์กรไหนไปพบข้อมูลบางเรื่องที่สงสัยว่าอาจเป็นข้อมูลเท็จ แต่รู้สึกว่าตัวเองอาจไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลนั้นด้วยตัวเอง ก็สามารถส่งข้อมูลนั้นเข้ามาที่ช่องทางติดต่อกลางของเรา เพื่อให้องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นนั้นนำไปตรวจสอบต่อไป” ชัวอธิบายเพิ่มเติม

อีวอน ชัว (Yvonne Chua)
ในงาน ‘เจาะ (อิทธิพล) ปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์ (Online Manipulation) กับผลการเลือกตั้ง:
บทเรียนจากฟิลิปปินส์สู่ไทย’ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2023
ขอบคุณภาพจาก Cofact Thailand

หลังจากการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2019 Tsek.ph ยังสานต่อภารกิจตรวจสอบข้อมูลเท็จในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2022 ด้วยจำนวนสมาชิกที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังขยับขยายไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่มาแรงในฟิลิปปินส์ เช่น TikTok, Youtube, Instagram และ Viber นอกจากนี้ จากเดิมที่ Tsek.ph มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมการตรวจสอบหักล้างข้อมูลเท็จให้กับสมาชิกของเครือข่ายอยู่แล้ว ในการเลือกตั้ง 2022 Tsek.ph ก็ได้ปรับเพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตรอบรมฝึกหัดขึ้นไปอีก

“มันถือได้ว่าเราประสบความสำเร็จมากขึ้นไปอีกกับการทำงานในการเลือกครั้งนี้ (ปี 2022) โดยเฉพาะในแง่จำนวน ผลงานตรวจสอบหักล้างข้อมูลเท็จที่เราผลิตออกมาได้ก็มีเพิ่มขึ้นมาก จากการเลือกตั้งปี 2019 ที่เราทำได้ประมาณ 130 ชิ้น เพิ่มขึ้นมาถึงเกินกว่า 1,500 ชิ้นในการเลือกตั้งปี 2022 ส่วนหนึ่งเพราะว่าสมาชิกเครือข่ายของเรามีความมั่นใจในการทำงานตรวจสอบหักล้างข้อมูลเท็จขึ้นกว่าเดิมด้วย และนอกจากนี้ ผลงานของเรายังได้รับการอ้างอิงจากทั้งสำนักข่าวในประเทศและต่างประเทศรวมกันมากกว่า 100 ครั้ง ซึ่งนี่ก็เป็นภาพสะท้อนว่าสื่อให้ความสำคัญกับการต่อสู้ข้อมูลเท็จมากขึ้น” ชัวกล่าว

ในการเลือกตั้งปี 2022 ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ไม่ได้มีเพียง Tsek.ph เท่านั้นที่เป็นองค์กรพันธมิตรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเท็จ แต่ยังมีภาคีเครือข่ายอื่นๆ โดยอีกหนึ่งเครือข่ายที่โดดเด่นคือ #FactFirstPH ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2022 เพื่อรับกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในปีนั้นโดยเฉพาะ

ขุดรากถอนโคน เปิดโปงปฏิบัติการปล่อยข้อมูลเท็จทั้งเครือข่าย: สำนักข่าว Rappler กับภารกิจสืบสวน ‘ไอโอ’

“เวลาที่สื่อมวลชนต่อสู้กับข้อมูลเท็จ เรามักจะเน้นสู้กับตัวเนื้อหาของมัน ด้วยการทำ fact-checking ซึ่งมันเหมือนเราคอยเล่นเกมวิ่งตามไล่จับมันทีละโพสต์ๆ พอตรวจสอบโพสต์หนึ่งเสร็จ โพสต์ข้อความเท็จอื่นก็เกิดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ และมันก็มีจำนวนมหาศาลเกินกว่าที่เราจะไล่จับมันได้ทั้งหมด และต้องอย่าลืมด้วยว่ากว่าที่เราจะตรวจสอบข้อความใดข้อความหนึ่งเสร็จ มันก็กระจายไปไกลถึงไหนต่อไหนแล้ว” ดอน เควิน ฮาปาล (Don Kevin Hapal) หนึ่งในนักข่าวของ Rappler สำนักข่าวออนไลน์ชื่อดังของฟิลิปปินส์ บอกเล่าให้ฟังถึงความยากลำบากของการทำงาน fact-checking ในประเทศของตัวเอง

Rappler ถือเป็นหนึ่งในสำนักข่าวหลักของฟิลิปปินส์ที่เดินหน้าทำงานตรวจสอบหักล้างข้อมูลข่าวสารมาต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ที่สำนักข่าวเริ่มพบว่าข้อมูลเท็จที่หวังผลทางการเมืองแพร่สะพัดอย่างหนักบนโลกออนไลน์ จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 2022 Rappler ก็ยังคงทำงาน fact-checking พร้อมกับเป็นหนึ่งในโต้โผในการก่อตั้งพันธมิตรตรวจสอบข้อมูลเท็จอย่าง #FactFirstPH

แต่ Rappler ก็ตระหนักว่าการทำ fact-checking อย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับการระบาดข้อมูลเท็จที่ขยายใหญ่ขึ้นทุกวัน

ดอน เควิน ฮาปาล (Don Kevin Hapal)
ขอบคุณภาพจาก Rappler.com

“เราเริ่มรู้สึกว่าเราต้องต่อสู้กับข้อมูลเท็จโดยมองไปให้ไกลกว่าแค่ตัวเนื้อหาของมัน คือเราต้องมองไปถึงขั้นที่ว่าข้อมูลเท็จพวกนี้แพร่กระจายออกไปได้อย่างไร แพร่ไปช่องทางไหน ใครเป็นคนทำให้มันเผยแพร่ ซึ่งเราบอกได้ว่า Rappler คือสำนักข่าวแรกในประเทศฟิลิปปินส์ที่ต่อสู้กับข้อมูลเท็จด้วยการสืบสวนวิธีการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ” ฮาปาลเล่า

Rappler เริ่มเดินหน้าทำงานสืบสวนการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จมาตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2016 โดยต้องประยุกต์ใช้เทคนิคและเครื่องมือขั้นสูง โดยเฉพาะในเชิงวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) ด้วยเทคนิคกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ทำให้ Rappler ต้องมีการทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) วิศวกรข้อมูล (data engineer) รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในหลายขั้นตอน โดย Rappler ก่อตั้งแผนกนิติวิทยาดิจิทัล (Digital Forensic Team) เพื่อทำงานในด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งหัวหน้าทีมก็คือฮาปาลเอง

จากการทำงานสืบสวนเรื่องดังกล่าวมาหลายปี ฮาปาลพบว่าการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนสื่อสังคมออนไลน์ในหลายครั้งเกิดจากการทำงานกันอย่างเป็นเครือข่าย มีบุคคลหรือหน่วยงานทำงานเบื้องหลังอย่างเป็นระบบ และเป็นการทำเพื่อบรรลุเป้าประสงค์บางอย่าง โดยเฉพาะในทางการเมือง โดยมีคำเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘network disinformation’ หรือ ‘network propaganda’ หรืออย่างกว้างกว่านั้น ยังเรียกได้ว่าเป็น ‘information operation’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันดีในชื่อว่า ‘ไอโอ’ (IO)

ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายงานศึกษาที่ชี้ว่าฟิลิปปินส์มีการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์ที่หวังผลทางการเมืองอย่างเข้มข้น เช่นเดียวกับ Rappler ที่ได้ตีแผ่ถึงเครือข่ายปฏิบัติการเหล่านั้นผ่านหลายชิ้นงานข่าวสืบสวน โดยฮาปาลเล่าว่าเครือข่ายหลักๆ ที่พบคือเครือข่ายที่สนับสนุนดูเตร์เต และเครือข่ายที่สนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์   

ฮาปาลยกกรณีเครือข่ายปฏิบัติการของมาร์กอส จูเนียร์ในช่วงการเลือกตั้งปี 2022 ขึ้นมาเล่าให้เราฟัง พร้อมกับแสดงแผนภาพจำลองที่เขาทำขึ้นมาให้เราดูประกอบ

ภาพจำลองเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารภายใต้มาร์กอส จูเนียร์ โดย Rappler

“ต้องบอกก่อนว่าที่คุณเห็นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่แค่เท่านี้คุณก็คงเห็นได้แล้วว่าเครือข่ายของเขายิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่ละจุดวงกลมใหญ่ (สีน้ำเงิน) ที่ปรากฏบนแผนภาพนี้คือบัญชีผู้ใช้ กลุ่ม หรือแฟนเพจต่างๆ บน Facebook ที่เป็นต้นทางแพร่กระจายของข้อมูลที่สนับสนุนมาร์กอส และจุดวงกลมเล็กๆ (สีฟ้า) ก็คือบัญชี กลุ่ม หรือแฟนเพจที่นำข้อความพวกนี้ไปกระจายต่อ ซึ่งเราก็พบว่า เมื่อเทียบกับผู้สมัครชิงประธานาธิบดีคนอื่นๆ ในการเลือกตั้งครั้งนั้น เครือข่ายบัญชีที่สนับสนุนมาร์กอสมีการเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลได้อย่างเป็นระบบมากที่สุด” ฮาปาลอธิบาย และเสริมว่าเครือข่ายของมาร์กอส จูเนียร์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง 2022 แต่พบมาตั้งแต่ช่วงราวต้นทศวรรษ 2010 ก่อนจะพัฒนาขึ้นมาต่อเนื่องจนขยายใหญ่อย่างที่เห็น

ฮาปาลอธิบายต่อไปว่า “เครือข่ายพวกนี้พยายามสร้างระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยปลีกตัวออกมาจากระบบนิเวศสื่อกระแสหลัก พวกเขาสร้างแฟนเพจข่าว อินฟลูเอนเซอร์ หรือบล็อกเกอร์เป็นของตัวเอง ทำตัวให้เหมือนเป็นสื่อมวลชนที่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งที่จริงพวกเขาก็เป็นแค่นักเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ แต่มันก็ประสบความสำเร็จในการดึงคนเข้าสู่ ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อน’ (echo chamber) ที่พวกเขาสร้างขึ้น และกีดกันสื่อกระแสหลักออกไปนอกวงโคจรของคนกลุ่มนี้ ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้มาอย่างเร็วที่สุดคือตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งปี 2016 เครือข่ายของดูเตร์เตก็มีลักษณะคล้ายๆ อย่างนี้เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แน่นอนว่าข้อมูลข่าวสารที่ออกมาจากสื่อกระแสหลักก็จะเจาะเข้าไปใน echo chamber พวกนี้ได้ยาก และแน่นอนเช่นกันว่าผลงาน fact-checking ที่พวกเราทำเพื่อหักล้างข้อมูลของเขาก็ยากที่จะไปถึงคนกลุ่มนี้ได้ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การทำ fact-checking อย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว แต่เราจำเป็นต้องตีแผ่ให้เห็นภาพของทั้งเครือข่ายที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จ”  

กว่าจะสามารถตีแผ่ให้สาธารณชนเห็นภาพเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเท็จ ฮาปาลเล่าว่ากระบวนการทำงานมีความยากและซับซ้อน โดยต้องพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวและบนสนทนาบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่มีอยู่มหาศาลให้เป็นระบบระเบียบ ด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยในการเข้าถึงฐานข้อมูลของแพลตฟอร์ม รวมถึงเครื่องมือที่ Rappler พัฒนาขึ้นมาเองโดยมีชื่อว่า Shark Tank ซึ่งเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลของ Facebook ก่อนที่ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จะถูกนำมาวิเคราะห์ทั้งในเชิงการหาความเชื่อมโยงของการทำงานระหว่างบัญชีต่างๆ ในเครือข่าย (network analysis) และการวิเคราะห์ระดับวาทกรรม (metanarrative analysis) ด้วยการใช้แนวทางทางภาษาศาสตร์ เพื่อค้นหาว่าเครือข่ายเหล่านี้ต้องการส่งสารอะไร และต้องการชักนำความคิดของประชาชนให้คิดเห็นไปทางใด โดยหลักการทำงานนี้ก็ได้ถูกใช้ในการสืบสวนเครือข่ายปฏิบัติการของมาร์กอส จูเนียร์ในการเลือกตั้ง 2022

“แทนที่เราจะทำแค่ตรวจสอบข้อมูลเท็จเกี่ยวกับมาร์กอสเป็นชิ้นๆ เราถอยออกมามองภาพที่ใหญ่กว่านั้น เรานำข้อมูลเท็จหลายๆ ชิ้นมาวิเคราะห์เพื่อหาว่าไอเดียที่เป็นร่มใหญ่ที่ข้อมูลเท็จพวกนี้ต้องการสื่อสารคืออะไร (metanarrative) อย่างในกรณีมาร์กอส จูเนียร์ มันมีทั้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความสำเร็จต่างๆ ในยุคมาร์กอสผู้พ่อ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นสมัยนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจตอนนั้น และวีรกรรมต่างๆ ของมาร์กอส เราก็วิเคราะห์และนำไปสู่บทสรุปที่ว่า สิ่งที่เครือข่ายของเขาต้องการสื่อสารถึงผู้คนคือว่ายุคมาร์กอสคือยุคทอง (golden age) เพื่อจะสร้างความชอบธรรมในการกลับสู่อำนาจของตระกูลมาร์กอส และจากนั้นเราก็มาวิเคราะห์ต่อถึงการทำงานของเครือข่ายว่า พวกเขามีเส้นทางการส่งต่อข้อมูลอย่างไรบนสื่อสังคมออนไลน์ บัญชีไหนบ้างเป็นคนเผยแพร่” ฮาปาลขยายความ

ผลงานข่าวสืบสวนเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของ Rappler สามารถสร้างผลสะเทือน โดยหลายผลงานนำไปสู่การออกประกาศจากบริษัทแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในการสั่งปิดเครือข่ายบัญชีที่งานสืบสวนค้นพบ หลังจากที่บริษัทแพลตฟอร์มสามารถตรวจสอบยืนยันอีกขั้นหนึ่งได้ว่าบัญชีเหล่านี้ทำงานภายใต้เครือข่ายเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎของแพลตฟอร์ม อย่างผลงานข่าวสืบสวนเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของมาร์กอส จูเนียร์บนทวิตเตอร์ในช่วงการเลือกตั้ง 2022 ก็นำไปสู่การสั่งปิดเครือข่ายดังกล่าวที่มีมากกว่า 300 บัญชีเพียงไม่กี่วันต่อมาหลังผลงานข่าวถูกเผยแพร่

“เห็นได้ว่างานสืบสวนของเรานำไปสู่การทำลายเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร โดยหลายบัญชีถูกสั่งปิดลงไปได้พร้อมกันในคราวเดียว เมื่อเทียบกับการทำรายงานข่าวหักล้างข้อมูลเท็จเป็นรายชิ้นที่ทำให้บัญชีที่เป็นต้นทางเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นถูกสั่งปิดเพียงทีละไม่กี่บัญชีเท่านั้น” ฮาปาลกล่าว

แต่ทำไมเราถึงยังแพ้?

แม้การเลือกตั้งปี 2022 ถือได้ว่าเป็นครั้งที่ปรากฏความพยายามในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จทางออนไลน์อย่างแข็งขันกว่าการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ผลเลือกตั้งปรากฏว่า มาร์กอส จูเนียร์ ผู้ที่หลายงานศึกษาชี้ว่าลงทุนกับการทำปฏิบัติการข้อมูลเท็จ ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

เพราะอะไร กองทัพต่อสู้ข้อมูลเท็จในฟิลิปปินส์ถึงได้พ่ายแพ้อย่างราบคาบ?

“ต้องยอมรับว่าข้อมูลเท็จมีอยู่ล้นหลามจนเกินกำลังของเราที่จะต่อสู้กับมันได้ เมื่อมีคลื่นแห่งข้อมูลเท็จลูกหนึ่งซัดเข้ามา แล้วเราต่อสู้กับมันได้ คลื่นลูกใหม่ก็จะซัดเข้ามาอีกเรื่อยๆ” ชัวตอบคำถามของเราในข้อนี้

“เราเห็นหลายความพยายามในการโต้กลับข้อมูลเท็จก็จริงอยู่ แต่เราไม่อาจสู้มันได้ด้วยปริมาณ รวมทั้งความเร็วของมัน จากที่ฉันได้ย้อนไปศึกษาก็พบว่ากว่าที่เราจะผลิตผลงานออกมาตอบโต้ต่อข้อมูลเท็จได้ ข้อมูลเท็จนั้นก็ไปไกลเป็นไวรัลก่อนนั้นนานแล้ว มันมีช่องว่างของเวลาตรงนี้เกิดขึ้น” ชัวขยายความ

ฮาปาลก็ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า “เรากำลังสู้ในสงครามอสมมาตร (asymmetrical warfare) คือกำลังของเราไม่อาจไปต้านทานปฏิบัติการข้อมูลเท็จเหล่านั้นที่มีขนาดใหญ่โต ทำงานอย่างเป็นระบบโครงสร้าง และมีเงินหนุนหลังมหาศาลได้เลย”

ขณะที่กอนซาร์เลสก็ชี้ว่า “จะว่าไปมันก็มีหลายเหตุผล อีกเหตุผลหนึ่งก็คือการที่ผลงานในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จยังไม่อาจเข้าถึงผู้คนได้มากเท่ากับตัวข้อมูลเท็จที่แพร่กระจายไปแล้วก่อนหน้านั้น ข้อมูลเท็จไปไกลจนเป็นไวรัลได้ ตรงกันข้ามกับงาน fact-checking ที่คนไม่ค่อยเห็น”

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาปั้นเรื่องราวได้เก่งและสามารถเข้าถึงใจผู้คนได้ดีมาก ขณะที่พวกเรา (พรรคเสรีนิยม) ทำสิ่งนี้ได้ไม่ดีเท่าเขา ต้องยอมรับว่าจุดอ่อนของเราคือเราชอบสื่อสารอะไรที่มีความเป็นวิชาการ มีหลักการ ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ จนอาจเข้าใจยากต่อผู้คนทั่วไปที่เดินตามท้องถนน นี่ทำให้เรื่องราวของเราไม่ดึงดูดใจและย่อยง่ายเท่าของเขา และไม่สามารถไปหักล้างเขาได้ในความรู้สึกนึกคิดของใครหลายคน” กอนซาร์เลสให้ความเห็น

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ทำให้ปัญหาการระบาดของข้อมูลเท็จในช่วงการเลือกตั้ง 2022 ที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะได้ คือรูปแบบของการแพร่กระจายข้อมูลเท็จที่มีวิวัฒนาการก้าวหน้าจนยากที่จะตามทัน

“ข้อมูลเท็จมีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากกิ้งก่าที่เปลี่ยนสีไปตามสภาพแวดล้อม พัฒนาการในแง่หนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือตัวผู้แสดงที่เปลี่ยนไป ถ้าย้อนไปการเลือกตั้งปี 2016 คนที่เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลเท็จหลักๆ ก็คืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนติดตามจำนวนมาก อาจจะประมาณ 50,000-100,000 คนขึ้นไป แต่พอเริ่มถูกจับได้ มันก็เปลี่ยนรูปไปให้แนบเนียนขึ้น โดยถึงจุดหนึ่งคนเผยแพร่ข้อมูลเท็จหลักๆ ก็เปลี่ยนจากอินฟลูเอนเซอร์รายใหญ่ เป็นรายเล็ก (micro-influencer หรือ nano-influencer) ที่ไม่ได้มีผู้ติดตามมาก อาจจะแค่หลักพันหรือหมื่นคน แต่มีความจับต้องได้และเข้าถึงง่าย และที่สำคัญมันยังเขยื้อนการเผยแพร่ข้อมูลจากพื้นที่สาธารณะไปสู้พื้นที่ปิด เช่น กลุ่มส่วนตัว (private group) บน Facebook มันเลยยากในการที่เราจะมองเห็นและตรวจสอบมันมากขึ้นกว่าเดิม ในการเลือกตั้งปี 2022” ชัวอธิบาย

ขณะที่ฮาปาลก็ให้ข้อมูลในประเด็นนี้ว่า “ช่วงหลังๆ ที่แพลตฟอร์มเริ่มปรับอัลกอริทึม (algorithm) เช่น Facebook ที่ทำให้แฟนเพจเข้าถึงคนได้ยากขึ้น พวกเขาก็เริ่มปรับตัวไปใช้ช่องทางกลุ่มและให้ความสำคัญกับพวกแฟนเพจที่ไม่ได้มีผู้ติดตามเยอะมากขึ้น”

“และอีกสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อพวกเขาเริ่มตระหนักว่าการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของตนเริ่มติดอยู๋ในห้องเสียงสะท้อน พวกเขาก็พยายามจะทะลุกำแพงออกไปสู่ผู้รับสารคนใหม่ๆ ด้วยการอาศัยช่องทางอย่างแฟนเพจหรือกลุ่มที่ไม่ได้มีเนื้อหาหลักเป็นเรื่องการเมืองมากขึ้น เช่นใช้กลุ่มศาสนา หรือกลุ่มบันเทิง โดยมีการสอดแทรกเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเข้าไปผสมผสานอย่างแนบเนียน นี่จึงเป็นความท้าทายสำคัญของการทำงานต่อสู้กับข้อมูลเท็จในการเลือกตั้งปี 2022” ฮาปาลขยายความ

ไม่เพียงเท่านั้น ฮาปาลและชัวยังชี้ตรงกันว่า ปฏิบัติการเผยแพร่ข้อมูลเท็จยังมีการปรับตัวเข้าไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งในการตรวจสอบข้อมูลเท็จ

“ในการเลือกตั้งปี 2016 แหล่งเผยแพร่ข้อมูลเท็จจำนวนมากมักมีลักษณะเป็นลิงก์เนื้อหาบนเว็บไซต์ ต่อมาในการเลือกตั้ง 2019 มันก็เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบภาพนิ่งมากขึ้น ก่อนที่การเลือกตั้ง 2022 เราจะเห็นในรูปแบบวิดีโอเยอะขึ้น เช่นบนแพลตฟอร์ม TikTok และ YouTube ด้วยรูปแบบข้อมูลเท็จที่เปลี่ยนไปต่อเนื่อง ทำให้เราต้องปรับวิธีรับมือกับมันในทุกการเลือกตั้ง อย่างล่าสุดที่มาในรูปวิดีโอ มันก็ทำให้เราทำงานยากขึ้น เช่นว่ากว่าที่เราจะตรวจสอบมันได้ เราต้องดูมันจนจบคลิปซึ่งอาจจะยาวเป็นชั่วโมง และตอนที่เราทำผลงานออกมาตอบโต้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เราก็ต้องทำออกมาเป็นคลิปวิดีโอเหมือนกัน ซึ่งก็ต้องใช้เวลามากขึ้นไปอีก” ชัวอธิบาย

“และที่สำคัญ เราได้เห็นการโพสต์เนื้อหาแบบเดียวกันในลักษณะข้ามแพลตฟอร์มมากขึ้น (cross-platform content) เช่นคลิปเดียวกันอาจจะโพสต์ทั้งบน Facebook, TikTok และ Youtube มันเลยยากมากขึ้นสำหรับเรา เพราะเท่ากับว่าเราต้องมาสอดส่องหลายแพลตฟอร์มมากขึ้นด้วย และต้องอย่าลืมอีกว่ามันมีข้อมูลเท็จที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มประเภทแชตด้วย เช่น Messenger และ Line คำถามก็คือเราจะตรวจสอบข้อความบนแพลตฟอร์มพวกนี้ได้อย่างไร” ชัวกล่าว

ประเทศไทยเรียนรู้อะไรได้บ้าง?

“ข้อมูลเท็จมีมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว จริงไหม? ถ้าคุณเป็นคริสเตียน คุณก็คงรู้ว่าการโกหกครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นที่สวนอีเดน ที่อดัมกับเอวาโดนงูล่อลวงให้ขโมยแอปเปิล หรือเรื่องราวของคลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโธนี ก็มีข้อมูลเท็จเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญของเหตุการณ์ เพราะฉะนั้นฉันคิดว่าเราไม่มีวันที่จะกำจัดข้อมูลเท็จออกไปได้ เพราะผู้คนย่อมต้องการใช้มันเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะนักการเมืองที่ต้องใช้มันเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง”

คำพูดของชัวอาจฟังดูเหมือนว่าเราหมดหวังที่จะต่อสู้กับข้อมูลเท็จ แต่ถึงอย่างนั้น ชัวบอกว่าเราไม่สามารถยอมแพ้ต่อมันได้

“เรากำจัดมันไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการป้องกันผู้คนจากข้อมูลเท็จ และทำให้ผู้คนรู้เท่าทันต่อมันได้” ชัวกล่าว

ในกรณีฟิลิปปินส์ แม้ว่าความพยายามต่อสู้กับการระบาดของข้อมูลเท็จที่ผ่านมาจะยังไม่เห็นผลนัก แต่ชัวเชื่อว่าความพยายามเหล่านี้ยังต้องดำเนินต่อไป รวมถึงการเดินหน้าพันธมิตรตรวจสอบข่าวปลอมที่มาจากการรวมพลังของหลายองค์กรและหลายภาคส่วน ซึ่งชัวมองว่าถึงอย่างไรก็ยังมีความจำเป็นสูงโดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับฮาปาลที่ก็มองว่าความร่วมมือยังคงเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จ อย่างการทำงานสืบสวนเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเอง ที่นับว่ามีความยากและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพื่อจะทำงานให้บรรลุผล

หากย้อนมามองประเทศไทย ในเดือนพฤษภาคมนี้ การเลือกตั้งใหญ่ก็กำลังจะมาถึง และการระบาดของข้อมูลเท็จในช่วงการเลือกตั้งก็จัดเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายภาคส่วนกำลังมีข้อกังวลและเริ่มออกมาแสดงท่าทีที่จะร่วมต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวในรูปแบบของตัวเอง

หนึ่งในความพยายามที่มีแนวโน้มกำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างในเร็วๆ นี้คือการจัดตั้งพันธมิตรตรวจสอบข้อมูลเท็จ โดยกำลังมีความพยายามรวบรวมบรรดาองค์กรสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ หลายองค์กรเข้ามาร่วมมือกัน ซึ่งเรียกได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับ Tsek.ph หรือ #FactFirstPH ของฟิลิปปินส์

ในฐานะผู้มีประสบการณ์เป็นโต้โผจัดตั้งพันธมิตรตรวจสอบข้อมูลเท็จ ชัวเสนอแนะว่า นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว การตั้งพันธมิตรตรวจสอบข้อมูลเท็จมีต้นแบบจากอีกหลายประเทศให้ศึกษา เช่น อินโดนีเซียและบราซิล โดยประเทศไทยสามารถพิจารณาตัวอย่างจากหลายๆ โมเดล ก่อนเลือกว่าโมเดลใดสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสถานการณ์ของประเทศไทย อีกทั้งคนที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งพันธมิตรเองก็ต้องมีการปรึกษาหารือกับองค์กรที่จะเข้าร่วมอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อหาแนวทางความร่วมมือที่จะสะดวกใจต่อแต่ละองค์กรในการมาทำงานร่วมกันมากที่สุด และทำให้ทุกองค์กรรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของในพันธมิตรนี้ให้ได้มากที่สุด

“อีกสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้ รวมทั้งประเทศไทยก็อาจจะเรียนรู้จากเราได้ ก็คือว่าบุคคลหรือองค์กรที่มาเข้าร่วมพันธมิตร อาจไม่จำเป็นต้องมีทักษะหรือประสบการณ์ในการทำงาน fact-checking มาก่อน แต่เพียงแค่เขามองเห็นว่าข้อมูลเท็จเป็นปัญหาและมีความสนใจที่จะทำเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว หน้าที่ของเราคือพยายามติดปีกฝึกทักษะให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญและมีความมั่นใจในการทำงาน fact-checking มากขึ้น อย่างใน Tsek.ph เอง หลายๆ องค์กรที่มาเข้าร่วมตั้งแต่การเลือกตั้ง 2019 ก็ยังไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้กันมาเท่าไหร่ แต่พวกเขาก็มีความมั่นใจในการทำงานนี้มากขึ้นเมื่อถึงการเลือกตั้ง 2022 และนอกจากนั้น องค์กรที่เข้ามาฝึกฝนกับเรา ต่อให้สุดท้ายแล้วเขาจะไม่เข้าร่วมพันธมิตรของเราก็ไม่เป็นไร แต่เขาสามารถเอาทักษะที่ได้ตรงนี้ไปทำงานของตัวเองตามลำพังได้ ก็ถือว่าดีแล้ว” ชัวเสนอแนะเพิ่มเติม

นอกจากในแง่การก่อตั้งและรวบรวมสมาชิกแล้ว ชัวชี้ว่ายังมีอีกหลายโจทย์ใหญ่ที่พันธมิตรตรวจสอบข้อมูลเท็จต้องคิด เช่นโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผลงาน fact-checking ของเราเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจต้องคำนึงถึงการใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง และการศึกษาความนิยมของแต่ละแพลตฟอร์ม ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานยังอาจต้องก้าวข้ามไปไกลยิ่งกว่าการทำงาน fact-checking โดยต้องมีการเสริมสร้างทักษะความรู้ความเท่าทันของประชาชนที่มีต่อข้อมูลเท็จ และที่สำคัญคือการทำงานอาจต้องไม่จำกัดเพียงโลกออนไลน์เท่านั้น เพราะเราไม่อาจมองข้ามโลกออฟไลน์ที่ก็มีข้อมูลเท็จอยู่มหาศาลและยังมีประชากรจำนวนมากรับข้อมูลข่าวสารในทางนี้อยู่ เหล่านี้คือโจทย์ที่ Tsek.ph กำลังขบคิดเพื่อเดินหน้าทำงานในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และเป็นโจทย์ที่ประเทศไทยสามารถเก็บไปคิดคำนึงได้

ขณะที่ฮาปาลก็ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า เนื่องจากรูปแบบข้อมูลเท็จมีพัฒนาการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงของมัน เพื่อให้ต่อสู้ได้อย่างตรงจุด และที่สำคัญ ฮาปาลยังชี้ว่า บทบาทท่าทีของบริษัทแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ถือเป็นหัวใจสำคัญมากในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จ โดยทุกภาคส่วนจำเป็นต้องออกมาส่งเสียงเพื่อให้แพลตฟอร์มรับผิดชอบต่อปัญหานี้มากขึ้น

“บริษัทแพลตฟอร์มต้องมีความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นแหล่งของการเผยแพร่ข้อมูลที่เท็จ ซึ่งสำนักข่าว Rappler มองว่าที่ผ่านมาบริษัทแพลตฟอร์มยังไม่มีความรับผิดชอบเพียงพอ เราจึงแสดงบทบาทเรียกร้องต่อแพลตฟอร์มในเรื่องนี้มาตลอด และผมก็อยากให้อีกหลายภาคส่วนมาแสดงพลังร่วมกันในเรื่องนี้” ฮาปาลกล่าว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

9 Mar 2018

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์เส้นทางการเมืองของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนที่สามารถรวบอำนาจมาอยู่ในมือได้สำเร็จเด็ดขาด สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

อาร์ม ตั้งนิรันดร

9 Mar 2018

Asean

10 Feb 2020

‘หมวย’ นักสิ่งแวดล้อมหญิง นักแอนตี้คอร์รัปชันชาวลาวที่โลกควรรู้จัก

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ ศุภกฤต เขียนถึง ‘หมวย’ ผู้หญิงธรรมดาที่ค้นพบว่าเสียงของเธอมีความหมาย และใช้มันส่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมรอบตัว

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

10 Feb 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save