fbpx
ค่ำคืนของรำวงเพชรบุรี : ลานดิน กลิ่นตาล และงานรื่นรมย์

ค่ำคืนของรำวงเพชรบุรี : ลานดิน กลิ่นตาล และงานรื่นรมย์

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

 

รองเท้าผ้าใบมัดเชือกแน่นเปรี๊ยะ เสื้อเชิ้ตลายสก๊อตหรือเสื้อคอปก กับกางเกงยีนทรงขากระบอก เป็นเครื่องแบบของ ‘หนุ่มๆ’ ที่รอขึ้นไปโค้งขอเต้นรำกับเหล่านางรำบนเวที

หลังจบเพลงเปิดเวที คาถามหานิยม วงดนตรีบรรเลงเพลงต่อไปทันทีที่โน้ตตัวสุดท้ายของเพลงแรกจบลง ไต่ระดับจากจังหวะเชื่องช้า แล้วค่อยๆ รัวเร็วขึ้น จนจังหวะก้าวขาและหมุนตัวของคนบนเวทีต้องเร็วตามไปด้วย

ราตรียังเยาว์วัย ผู้คนเริ่มทยอยมารวมกันที่ลานดิน วันธรรมดา ที่นี่เป็นเนินทรายของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แต่วันนี้พิเศษ เพราะ ‘เจ๊ดาว’ เจ้าของสถานที่ จ้างเครื่องเสียง เวที และนางรำ เปลี่ยน ‘ลานดิน’ ให้กลายเป็น ‘ลานดิ้น’ ของคนเมืองเพชร

รำวงเพชรบุรี ขึ้นชื่อลือชามานานหลายชั่วอายุคน พี่ที่คุมเครื่องเสียงยืนยันว่า ช่วงวันสงกรานต์และปีใหม่คิวของรำวงเพชรบุรีถูกจองข้ามปีจนตารางงานบนกระดานไม่เหลือที่ว่าง

ถ้าจะให้ครบองค์ งานรำวงครั้งหนึ่งต้องพรั่งพร้อมด้วย 3 อย่าง คือ คณะนางรำ กองเชียร์ เครื่องเสียงและเวที

นางรำ คือหน้าตา เปรียบเป็นละครคือนักแสดงนำ เปรียบเป็นการชกมวยคือนักมวย

กองเชียร์ คือสีสัน เปรียบเป็นละครคือลูกคู่พระเอกนางเอก เปรียบเป็นการชกมวยคือคนพากย์เสียง

เครื่องเสียงและเวที คือฉากหลัง เปรียบเป็นละครคือแสงสีเสียงสถานที่ เปรียบเป็นการชกมวยคือปี่ชวา กลองแขก ฉิ่ง และสังเวียน

ทั้งสามอย่างผสานกันจนกลายเป็นความรื่นรมย์บันเทิงที่เข้าไปอยู่ในชีวิตของคนเมืองเพชร

 

 

พี่ที่ขายปลาหมึกย่าง เบียร์ และบุหรี่ในงานบอกว่ารำวงเพชรบุรีจัดขึ้นตามโอกาสพิเศษ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ แล้วแต่จะมีที่ไหนจ้างไป คนในอำเภอก็จะตามข่าวจากป้ายประกาศ และเสียงเล่าปากต่อปาก ลุงบางคนในงานบอกด้วยเสียงกระตือรือร้นว่า “ผมแต่งตัวรอตั้งแต่ 6 โมงเย็น”

วันนี้เป็นคิวของคณะนางรำจากวงชื่อดังอันดับต้นๆ ของเมืองเพชร คือ เพลินพิศ วงศ์จินดา และน้องโบว์ นภาพร วงที่มีนางรำโด่งดังในระดับ 6 แสนวิวในเฟซบุ๊ก พอรวมกับกองเชียร์ ส.หาดสวรรค์ ที่มาพร้อมกับพิธีกร นักร้อง และวงดนตรีที่รู้จังหวะ รู้มุกกันเป็นอย่างดี ทำให้ค่ำคืนดำเนินไปอย่างครื้นเครง

หลังเวที เหล่านางรำบางส่วนจากคณะน้องโบว์ในชุดเลี่ยมทอง กำลังนั่งแต่งหน้า จัดชุดให้เข้าที่ รอขึ้นเวทีในรอบถัดไป หัวหน้าคณะชื่อ ‘โบว์’ ตอนกลางวันทำงานบัญชี ตอนกลางคืนมาเต้นรำวง ทำงานช่วยธุรกิจครอบครัวที่ส่งมารุ่นต่อรุ่น โบว์ฝึกรำวงตั้งแต่อายุ 12 ปี จนตอนนี้อายุ 20 กว่าขึ้นมาเป็นหัวหน้าวงเต็มตัว

นางรำส่วนมากยังอยู่ในวัยสาว มีตั้งแต่ 16 ไปจนถึง 30 ปี ได้ค่าแรง 200-300 บาทต่อคืน ผลัดขึ้นเต้นรอบละ 5 เพลง รวมทั้งคืนประมาณ 4 ชั่วโมง

แน่นอน — รายได้ที่แท้จริงไม่ใช่ค่าแรง แต่คือ ‘ทิป’ จากคนที่มาร่วมรำวงด้วย ถ้าเต้นจังหวะเข้ากันดี ทิปก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามความพอใจ

ใกล้ๆ กันนางรำจากวงเพลินพิศ วงศ์จินดา สวมชุดสีชมพู ก็ตั้งท่าเปลี่ยนจากรองเท้าแตะเป็นรองเท้าส้นสูง รอขึ้นไปเต้นในรอบถัดไป สลับกันอยู่อย่างนี้จนจบงาน จากที่พูดคุย นางรำยังอยู่ในวัยเรียน พูดคุยกันด้วยสำเนียงเพชรบุรี หลายคนในนี้หาเงินส่งตัวเองเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย

 

 

“ก็จัดกันแบบนี้เรื่อยๆ แหละครับ บางทีลุงๆ ที่มาเต้น เขาก็มาเพื่อออกกำลังกาย บางคนเป็นอัมพฤกษ์ก็ใช้เวทีนี้แหละฝึกกล้ามเนื้อ ให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อน” บางเสียงบอกเล่าจากผู้หมวดที่มาคอยดูแลความเรียบร้อยในวันงาน จริงอย่างว่า นักเต้นที่มาร่วมงาน ส่วนมากเป็นเหล่าคุณลุงที่เตรียมพร้อมมาเต็มแม็ค รองเท้ากีฬาที่เหมาะกับการใส่ไปยิม เปลี่ยนมาใช้เคลื่อนสเต็ปเท้าบนเวทีแห่งนี้ แววตาก็แช่มชื่นตามอัตราความสนุกของเสียงเพลง

บรรยากาศในงานค่อยๆ ไต่ระดับความสนุกขึ้นไปเรื่อยๆ คนที่ขึ้นไปเต้นรอบแรกทยอยเดินลงบันไดลงมา ส่วนคนที่รอรอบถัดไปก็ก้มลงผูกเชือกรองเท้าเตรียมขึ้นไปโชว์เสต็ปบนเวที เสียงเพลงค่อยๆ ขยับเป็นเพลงลูกทุ่งอีสานที่จังหวะบังคับให้หัวต้องโยก จนมาถึงเพลงห่อหมกฮวกไปฝากป้า ทุกคนในลานนั้นก็แทบจะบังคับขาให้ไม่ขยับไม่ได้

ลุงบางคน ยังขึ้นไปเต้นเป็นรอบที่ 3 จนถึงเพลง “โอ้ เธอน่ารักตอนเมา ธารารัตน์ เบาๆ” ท่าเต้นของคุณลุงก็ไม่ได้เบาตามไปกับเนื้อเพลงเลย หากแต่โยกตามอุณหภูมิของร่างกายที่แค่มองก็ยังสนุก

 

 

หากมองอย่างผิวเผิน รำวงเพชรบุรีอาจแต่งชุดโชว์เนื้อหนังอยู่บ้าง จนอาจทำให้บางใครไม่ชอบใจ แต่ถ้ามองลึกลงไปในท่าเต้น และภาษากายของนางรำกับคนที่ขึ้นไปเต้นด้วย ทั้งหมดดำเนินไปอย่างเนิบน้วย และมีแบบแผนรูปแบบที่ชัดเจน

“คำอย่างพวกเต้นกินรำกิน พวกหนูก็ได้ยินมาตลอด แต่เรารู้ว่าเราทำอะไร ท่าเต้นเราก็ซ้อมมาอย่างดี ไม่ได้ลามกอนาจาร งานนี้ทำแล้วก็ได้ตังค์ เป็นประเพณีของคนเพชรที่มีมานานด้วย เราก็จะทำของเราต่อไป” นางรำคนหนึ่งในวงเพลินพิศ วงศ์จินดา บอกกับเราแบบนี้

แม้ในปัจจุบันรำวงเพชรบุรีจะมีการเปลี่ยนท่ารำไปตามยุคสมัยและตามเพลงใหม่ๆ อยู่บ้าง แต่ท่ารำพื้นฐานดัดแปลงมาจากรำวงย้อนยุค ที่มีรากมาจากรำโทนซึ่งเป็นประเพณีของคนภาคกลาง ก่อนที่คนเมืองเพชรจะประยุกต์ท่ารำเป็นของตัวเอง จนกลายเป็นรำวงเพชรบุรีที่โด่งดังและเป็นเอกลักษณ์

 

 

หากอยู่ในเมืองกรุง การนัดไปเที่ยวที่ทองหล่อ-เอกมัย คือไลฟ์สไตล์ของคนเมือง ที่เพชรบุรี การเตรียมตัวเพื่อออกไปเต้นในวันงานรำวง ก็นับเป็นสิ่งชุบชูใจของคนในชุมชน เหมือนที่เคยเป็นมาตลอดเกือบร้อยปี

จากเสียงเคาะไม้ เต้นรำบนลานดิน หลังฤดูเก็บเกี่ยวในสมัยก่อน ปัจจุบันกลายเป็นเสียงเพลงจากเครื่องดนตรีไฟฟ้า กระจายเสียงผ่านลำโพงขนาดใหญ่ดังกระหึ่มจนลานตาลสะเทือน แสงจากตะเกียงกลายเป็นแสงสปอตไลท์หลากสีที่ตัดสลับทิศทาง ควบคุมระดับอารมณ์ของผู้คนได้อยู่หมัด แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนเดิมคือ ความรื่นรมย์ของผู้คน ที่ยังส่งต่อกันผ่านยีน ‘รักความบันเทิง’ จากรุ่นสู่รุ่นไม่มีผิดเพี้ยน

 

 

คนเมืองเพชรหลายต่อหลายคน มักบอกเราว่า คนเมืองเพชรเป็นคนใจเพชร — ใจเพชรที่หมายถึงใจนักเลง ไม่ใช่ใจไม้ไส้ระกำ

กลิ่นตาลที่หอมอบอวล ยามขับรถผ่านดงตาลและร้านขนม ทำให้บรรยากาศของเพชรบุรีนุ่มนวลและเป็นมิตร แม้สำเนียงเพชรบุรีจะดูห้วนสั้น แต่ทุกประโยคนั้นจริงใจตรงไปตรงมา พวกเขาภูมิใจในกลิ่นตาล ดนตรี อาหาร และรำวง ในขณะที่ความเจริญก็กำลังจะตัดผ่านมาในรูปแบบของมอเตอร์เวย์สายใต้ ที่ลากเส้นแยกหมู่บ้านกับดงตาลออกจากกันจนสะบั้น ในบางที่ เวทีรำวงอาจต้องย้าย เพราะโครงการถนนสายใหญ่รุกคืบเข้ามาทุกขณะ

วิถีของผู้คนยังดำรงต่อไป เช้าตรู่ขับมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านเพื่อไปดงตาล และเลี้ยงวัว ต้นตาลสูงตระหง่านบนที่ดินที่ส่งต่อมาตั้งแต่รุ่นอำแดงยังคงเป็นชีวิต เป็นเลือดเนื้อของคนเพชรบุรี กลิ่นน้ำตาลหอมออกมาจากเตาฟืนเป็นกลิ่นที่หล่อเลี้ยงบรรยากาศของทุ่งนาป่าตาล เสียงกระดิ่งวัว และภาพคนปีนตาลเป็นเรื่องสามัญประหนึ่งการกินข้าว และในยามพลบค่ำ ผู้คนก็ออกมารวมตัวสังสรรค์ในงานรื่นรมย์ รู้จักกันบ้าง ไม่รู้จักกันบ้าง แต่ก็เชื่อมโยงกันด้วยพื้นที่และรากเดียวกัน

รำวงเพชรบุรีเป็นหนึ่งในภาพขยายความเป็น ‘คนเมืองเพชร’ จากความเป็นไปทั้งหมดในเมืองนี้ และท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่เข้ามาตามยุคสมัย พวกเขากำลังหาสมดุลที่เหมาะสม เหมือนจังหวะการรำที่ลงตัวกับดนตรี

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save