fbpx

Phantasmapolis: เมืองผีกับกระต่ายบนดวงจันทร์

Bang & Lee (Korea), 2021, The Place That Has No Name, three-channel video, sound installation with projectors, 4.1 sound system, wall text, drawing, 3D animation, 3D printed ceramic sculpture, round table, dimension variable


ปลายปีที่แล้ว เพื่อนภัณฑารักษ์ชาวไต้หวันเชื้อสายญี่ปุ่นชื่อ Takamori Nobuo มาชวนผู้เขียนไปทำงานด้วยกันในเทศกาลศิลปะ Asian Art Biennial ครั้งที่ 8 ที่พิพิธภัณฑ์ National Taiwan Museum of Fine Arts (NTMoFA) ที่เมืองไถจง ในธีมไซไฟ-โลกอนาคต (แบบเอเชีย) โดยชื่อธีมว่า Phantasmapolis ซึ่งขอเรียกสั้นๆ ว่า “เมืองผี”[i]

Phántasma = ผี ภาพหลอน ภาพฝัน ภาพลวงตา จินตนาการ การหลอกหลอน

Polis = เมือง

Phántasma + Polis = เมืองผี และอื่นๆ ที่สามารถตีความได้ในขอบข่ายของคำนี้

นี่เป็นคำชวนที่เซอไพรส์อย่างมากค่ะ เพราะ Futurism หรือ ‘ไซไฟ’ ไม่เคยอยู่ในวงโคจรการทำงานของผู้เขียนเลย ในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่วุ่นวายอยู่กับเรื่องของ ‘อดีต’ หรือ ‘อดีตที่ปรากฏในปัจจุบัน’ ในงานศิลปะ การทำงานทั้งหมดเป็นการมองย้อนหลังมากกว่าจะมองไปข้างหน้า แต่ถึงแม้ว่าจะไม่เคยทำงานเกี่ยวกับอนาคต ไซไฟ หรืออะไรทำนองนั้นเลย ผู้เขียนก็ตอบรับคำชวนนี้ไปด้วยความคิดที่ว่า ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่จะออกจากอาณาเขตอันคุ้นเคยเพื่อไปเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ คำชวนดังกล่าวยังน่าสนใจด้วยชื่อธีม Phantasmapolis ซึ่งเป็นการผสมระหว่างคำกรีกสองคำคือ “Phántasma” กับ “Polis” ทำไมเทศกาลศิลปะเอเชียจึงมีชื่อธีมเป็นภาษาจากภูมิภาคอื่นที่ไม่ใช่เอเชีย? นี่คือจุดเริ่มต้นของการคิดในเชิงงานภัณฑารักษ์ เราจะสร้างคำอธิบายที่รองรับเหตุผลในการทำงานอันประกอบไปด้วยการคิด การเขียน และการนำเสนอผ่านการคัดสรรศิลปิน รวมถึงจะสร้างบทสนทนาในรูปแบบต่างๆ บนธีมนี้ภายในเทศกาลศิลปะได้อย่างไร? โจทย์ดังกล่าวท้าทายตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้ยิน ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ต้นตอของชื่อธีมนั้นมาจาก Phantasmagoria นวนิยายไซไฟที่เขียนโดยสถาปนิกยุคโมเดิร์นชาวไต้หวัน หวัง ต้าหง (Wang Dahong) ซึ่งมีส่วนที่เป็นรากมาจากคำกรีกเช่นกัน

ในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 18 “Phantasmagoria” หมายถึงการแสดงแนวสยองขวัญประเภทหนึ่ง เป็น horror theatre ผีๆ ส่วนนวนิยาย Phantasmagoria ของหวัง ต้าหงว่าด้วยชีวิตในโลกอนาคตในปี 3069  

ถ้าคำ “Phántasma” สามารถเดินทางไปในที่ต่างๆ และกลายรูปไปเป็นชื่อเรียกของสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ด้วยการผสมเข้ากับคำอื่นจนเกิดเป็นคำใหม่ ทำไมเทศกาลศิลปะเอเชียจึงจะทำเหมือนกันไม่ได้ล่ะ? ถ้าหวัง ต้าหงเขียนนิยายไซไฟเป็นภาษาอังกฤษ (มีการแปลเป็นภาษาจีนตามมาในภายหลัง) โดยตั้งชื่อแบบนี้ได้ ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้ล่ะ?

ต่อคำถามที่ว่า ‘ทำไม?’ คำตอบคือ ‘ทำไมจะไม่ได้?’

ถ้อยคำและภาษามีพลวัต สามารถเคลื่อนจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งได้ แต่ในขณะที่ ‘คำ’ เคลื่อนที่ได้ ‘คน’ กลับเคลื่อนที่ไม่ได้เหมือน ‘คำ’ โควิด-19 ทำให้ภัณฑารักษ์ทั้งห้า อันประกอบด้วยผู้เขียน, Takamori  Nobuo, Ho Yu-Kuan (ไต้หวัน), Tessa Maria Guazon (ฟิลิปปินส์) และ Anushka Rajendran (อินเดีย) ต้องทำงานร่วมกันบนโลกออนไลน์ผ่านการประชุมใน Google Meet, อีเมล และเอกสารใน Google Drive จริงอยู่ว่าต่อให้ไม่มีโควิด-19 เราก็ต้องติดต่อกันผ่านช่องทางที่ว่านี้อยู่ดี แต่มันจะมีจุดหนึ่งที่ทีมงานทั้งหมดรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์และศิลปินบางส่วนควรต้องทำงานร่วมกันในพื้นที่จริง โดยเฉพาะในช่วงติดตั้งผลงานก่อนเปิดเทศกาล ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้เลยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว และผู้เขียนซึ่งเป็นคนเดียวที่ยอมเดินทางไปกักตัว 21 วันก็ได้แต่นั่งมองหลังคาพิพิธภัณฑ์จากหน้าต่างของห้องพักในโรงแรม (ที่ก็อยู่หลังพิพิธภัณฑ์นั่นแหละ) แต่ไม่สามารถเดินเข้าไปได้จนกระทั่งสองวันก่อนเปิดงาน

ห้วงเวลาประหลาดช่วงโควิด-19 นี้ชวนให้นึกถึงการเคลื่อนที่ที่อยู่นอกเหนือไปจากการเคลื่อนที่ทางกายภาพ เมื่อการเดินทางของร่างกายที่ปกติถูกกำกับด้วยเงื่อนไขของพรมแดนรัฐชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ไปประเทศไหนต้องขอวีซ่าหรือไม่) ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขอื่น เราก็ต้องสร้างหนทางอื่นที่จะทำให้การทำงานเป็นไปได้ขึ้นมาทดแทน ภาวะ ‘ข้ามชาติ’ (transnational) และ ‘ข้ามภูมิภาค’ (transregional ในกรณีของคำกรีก) ในสถานการณ์นี้ดูจะเป็นอะไรที่พิเศษและมีความหลอนๆ เป็น Phántasma อย่างหนึ่งที่จะกินเวลาต่อเนื่องไปถึงอนาคต เพราะภาวะ ‘หลังโควิด’ ยังเดินทางมาไม่ถึง (อย่างน้อยก็ในประเทศไทยที่เรายังไม่สามารถ ‘อยู่ร่วม’ กับสิ่งนี้ได้ในการใช้ชีวิตแบบปกติ ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าคำ “ความปกติใหม่” หรือ “new normal” ในบ้านเรานั้นเป็นเพียง oxymoron) 

Archive and Research Project by Tessa Maria Guazon (The Philippines), 2021, Prospecting: Archival Documents from the Philippines


ในทางปฏิบัติ ภัณฑารักษ์ทั้งห้าแบ่งงานกันออกเป็นส่วนๆ โดยแต่ละคนตีความคำว่า “Phantasmapolis” แตกต่างกันออกไป มีทั้งการมองเห็นอนาคตในอดีตผ่าน archive และอนาคตในสายตาของปัจจุบัน พื้นที่ ผี เมือง และสภาวะชวนหลอน ถึงแม้อาคารพิพิธภัณฑ์จะเป็นพื้นที่หลักในการจัดแสดงผลงาน เทศกาลศิลปะนี้ก็ยังมีพื้นที่ประเภทอื่นๆ ทับซ้อนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมขนาดเล็กชื่อ The Dark Side of the Moon-Perspective โดยกลุ่มสถาปนิก office aaa (ไต้หวัน) ที่เป็นทั้งผลงานศิลปะในตัวเองและพื้นที่รองรับ Archive and Research Project เกี่ยวกับเควียร์ชื่อ Beyond Time and Sex: An Opsis of Queer Sci-fi in Asia โดย Nicole (I-Chun) Wang (ไต้หวัน) หรือ online platform ชื่อ Phantas.ma โดย Pad.ma (CAMP & 0x2620) (อินเดีย) สำหรับ Video Art Project ชื่อ Phantasmapolis: Looking Back to the Future โดยภัณฑารักษ์ชาวอินเดีย Anushka Rajendran

‘พื้นที่’ ยังหมายรวมถึงพื้นที่ของการพูดคุยเพื่อต่อบทสนทนาเกี่ยวกับผลงานศิลปะที่จัดแสดงภายในเทศกาล[ii] งานภัณฑารักษ์ในส่วนของผู้เขียนคือการสร้างงานเสวนาสองวันที่ครอบคลุมการทำงานของภัณฑารักษ์ทั้งห้าและประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏผ่านผลงานศิลปะซึ่งแต่ละคนคัดเลือกมาอีกที ในที่นี้จึงไม่ใช่การคัดเลือกผลงานศิลปะเพื่อจัดแสดงในรูปของนิทรรศการ แต่เป็นการคัดเลือกผู้คนโดยวางอยู่บนฐานของสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้น เป็นงานภัณฑารักษ์ซ้อนงานภัณฑารักษ์ เพราะภัณฑารักษ์ก็เป็นส่วนที่ถูกคัดเลือกไปพร้อมกับศิลปินที่พวกเขาคัดเลือกมาอีกทีหนึ่งให้ขึ้นมานั่งพูด (อีกนัยหนึ่งคือ perform) บนเวทีเดียวกัน

Songs from the Moon Rabbit, 2021 Asian Art Biennial Forum


ความที่ keyword คำหนึ่งของเทศกาลคือ ‘อวกาศ’ (outer space) ผู้เขียนจึงตั้งชื่องานเสวนาว่า Songs from the Moon Rabbit หรือ “บทเพลงจากกระต่ายบนดวงจันทร์” ที่มาของชื่อนี้มีอยู่สามอย่าง นั่นคือ keyword ‘อวกาศ’ ซึ่งพาไปสู่การค้นพบ (หรือก็คือการกดสำรวจใน Google) บทสนทนาตลกๆ ของนักบินอวกาศในยานอะพอลโล 11 ที่ว่าให้มองหากระต่ายบนดวงจันทร์ และการ์ตูนที่มีความอวกาศ ความระบบสุริยะจักรวาลของเด็กยุค 90 คือเซเลอร์มูน เมื่อมีวัตถุดิบสามอย่างนี้แล้ว จึง ‘ปรุง’ มันเข้าด้วยกันด้วยกระบวนการเชิงภัณฑารักษ์ ซึ่งก็คือการ conceptualize เพื่อสร้าง ‘โครงเรื่อง’ ให้กับตัวงานเสวนาผ่านการเขียนบทนำนั่นเอง

095:17:28 Evans: Roger. Among the large headlines concerning Apollo this morning, is one asking that you watch for a lovely girl with a big rabbit. An ancient legend says a beautiful Chinese girl called Chang-O has been living there for 4,000 years. It seems she was banished to the Moon because she stole the pill of immortality from her husband. You might also look for her companion, a large Chinese rabbit, who is easy to spot since he is always standing on his hind feet in the shade of a cinnamon tree. The name of the rabbit is not reported.

095:18:15 Collins: Okay. We’ll keep a close eye out for the bunny girl.”

เมื่อไปเจอบทสนทนาของนักบินอวกาศซึ่งดู surreal, but nice (เพิ่งดู Notting Hill ที่เอากลับมาฉายใหม่ในเน็ตฟลิกซ์) อย่างมากเข้า ก็ไม่อยากจะเขียนบทนำแบบธรรมดา รวมทั้งอยากจะ tribute ให้กับความสามารถในการเขียนนวนิยายไซไฟของหวัง ต้าหง ผู้ซึ่งเคยออกแบบอนุสาวรีย์เกี่ยวกับดวงจันทร์ที่ไม่ได้สร้างคือ Selene—Monument to Man’s Conquest of the Moon ผู้เขียนก็เลยทำการแต่งเรื่องต่อไปจากบทสนทนาดังกล่าวว่า กระต่ายบนดวงจันทร์ที่ได้ยินเสียงนักบินอวกาศคุยกันนั้นคิดอะไรบ้าง (กระต่ายมีหูทิพย์ นั่งฟังอยู่ในความมืดของ Lunar Maria) และกระต่ายที่ว่านี่ก็ไม่ได้เป็นตัวผู้อย่างที่พวกเขาคิดหรอกนะ แต่ไม่มีเพศ (ใดๆ ก็ตามที่มีความหมายบนพื้นโลก ไม่จำเป็นต้องมีความหมายในอวกาศนอกโลกไปด้วย) กระต่าย (ใช้สรรพนามว่า ‘they’) ได้ครุ่นคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ (ตรงนี้อดไม่ได้เลยจริงๆ ที่จะต้องแอบใส่คำว่า “Silver Crystal” หรือ “ผลึกเงินมายา” ในเซเลอร์มูนลงไปในบทนำด้วย) ถึงคำถามว่าด้วยทวีป, ภูมิภาค, ประเทศ และรัฐชาติ ในพื้นที่เหนือพ้นขอบเขตพรมแดนอย่างอวกาศ สิ่งเหล่านี้ยังมีความหมายอยู่ไหม? ศิลปะและจินตนาการเกี่ยวกับอนาคตจะพาเราไปไหนได้บ้าง?

บทนำอันมีความเป็นเรื่องแต่งหน่อยๆ นี้ประมวลเป้าหมายของเทศกาลศิลปะที่โฟกัสที่ ‘เอเชีย’ ตลอดจนความเป็นไซไฟ-โลกอนาคต และการ ‘ข้าม’ ของภาษา วัฒนธรรมและความคิดอันเป็นแกนของ Phantasmapolis เข้าไว้ด้วยกัน โดยแตกออกบทเพลงหกบทของกระต่ายบนดวงจันทร์ ซึ่งก็คือ panel discussion ทั้งหกนั่นเอง นอกจากภัณฑารักษ์ทั้งห้าและศิลปินที่เข้าร่วมในเทศกาลแล้ว ยังมีผู้ร่วมเสวนาเป็นนักวิชาการจากภายนอกเพื่อเชื่อมโยงตัวเทศกาลเข้ากับงานศึกษาค้นคว้าในเรื่องทำนองเดียวกันที่มีอยู่แล้วบนโลกใบนี้ด้วย  

วันแรก 30 ตุลาคม ประกอบด้วย Strolling Through the Cities of the Un-Arrival สำหรับภัณฑารักษ์ทั้งห้ามาเล่าถึงการทำงานของแต่ละคนภายใต้ร่ม Phantasmapolis ตามด้วย The Cabinet of Queer Sci-Fi ว่าด้วยผลงานเควียร์ๆ ทั้งหลาย และThe Spectral Terrain ซึ่งเปิดพื้นที่ให้กับการพูดคุยถึงผลงานที่เสนอประเด็นเชิงสิ่งแวดล้อมกับความเป็นเมือง (ผี) อนาคตแบบดิสโทเปียที่ปรากฏเค้าลางตั้งแต่ปัจจุบัน
   

Bakudapan Food Study Group (Indonesia), 2021, The Hunger Tales, mixed media, dimension variable (This project is collaboratively developed with Pandhu Vandhita and Kanosena Hartadi)


Archive and Research Project by Nicole (I-Chun) Wang (Taiwan), 2021, Beyond Time and Sex: An Opsis of Queer Sci-Fi in Asia, co-organized by the Cultural Taiwan Foundation and in partnership with SEA plateaus


Shabendu De (India), 2019, An Elegy for Ecology, The World Without Us (after Welsman), inkjet print on Hahnemühle Photo Rag® 91.4 x 137.2 cm (Supported by grants from MurthyNAYAK Foundation and KHOJ)


วันที่สอง 31 ตุลาคม ประกอบด้วย The Society in the Cloud กล่าวถึงงานศิลปะที่จินตนาการถึงชุมชนและสังคมในอนาคตแบบต่างๆ ตั้งแต่การกลับมาของชนเผ่าที่สาบสูญไปจนถึงอนาคตของสังคมผู้สูงอายุ The Eclipse Shadow ว่าด้วยพื้นที่แสดงงานที่ซ้อนอยู่ในพื้นที่ของเทศกาลซึ่งเปรียบดั่งเงามืดของดวงจันทร์ที่ทาบลงบนผิวโลก และ Standing at the Threshold  ที่ศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับหลากมิติของเวลามาร่วมพูดคุยกัน


Hootikor (Lama Motis + Cheku Chelagu) (Taiwan), 2021, Breathing Beneath the Heavy Fog of Desire, mixed media, dimension variable


office aaa (Taiwan), 2021, The Dark Side of the Moon-Perspective, wood, metal, 200 x 560 x 1360 cm


Mattie Do (Laos), 2019, The Long Walk, 116 mins


สองวันจบไปอย่างเมื่อยล้ากับการใส่หูฟังเพื่อสลับไปมาระหว่างภาษาจีนกับภาษาอังกฤษ ผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนหนึ่งต้องคุยทางออนไลน์เพราะว่าไม่มีใครบ้ามากักตัว 21 วันเหมือนผู้เขียน (จริงๆ กักตัว 14 วันค่ะ ที่เหลือเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า self-health management ออกมาซื้อของนิดหน่อยได้ตามความจำเป็น ห้ามเพ่นพ่าน) 

บทความนี้เปิดเผยขั้นตอนและกระบวนการทำงานซึ่งมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างมาก แต่อันที่จริงก็ไม่มีอะไรเป็นความลับ แค่ปกติทำงานแล้วไม่ได้เล่าให้ใครฟังว่าตอนคิดงานทำยังไงบ้างเฉยๆ ค่ะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการค่อยๆ ปะติดปะต่อกันระหว่างสิ่งที่ค้นพบโดยบังเอิญกับสิ่งที่สะสมไว้อยู่ในหัว เกี่ยวกับศิลปะบ้าง ไม่เกี่ยวบ้าง การฟุ้งซ่านเป็นเรื่องสนุกเสมอ และบางครั้ง การเริ่มต้นนับหนึ่งโดยเดินทางอ้อมก็น่าสนใจกว่าเดินทางตรง

อย่างที่เขียนไปข้างต้นว่า ผู้เขียนไม่ใช่มนุษย์ไซไฟโลกอนาคตใดๆ เลย Futurism เดียวที่รู้จักก็คือขบวนการศิลปะในยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (อดีตอีกแล้ว) แต่ก็ไม่อยากจะเริ่มต้นทำงานด้วยการไปอ่านเกี่ยวกับศิลปะเอเชียแนวไซไฟหรือโลกอนาคต (มีคนทำและเขียนไว้ค่ะ ไม่ใช่ว่าไม่มี) อยากจะเข้าหาเรื่องนี้จากเส้นทางอื่น ก็เลยไปลงเรียนวิชาวรรณกรรมกับวิทยาศาสตร์กับ อ.รวิตะวัน โสภณพนิช ในโครงการที่เปิดให้คนนอกลงทะเบียนเรียนร่วมกับนักศึกษาได้ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์มาเทอมหนึ่ง ได้ไปเจอเรื่องสนุกมากมาย ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างจักรวาลวิทยาในยุคกลางกับงานเขียนของ Dante (ภาค Paradiso ใน Divine Comedy) ไปจนถึงบทกวี The Lay of the Trilobite (1885) ของ May Kendall ที่วิพากษ์ทฤษฎีวิวัฒนาการของ Darwin ผ่านปากของฟอสซิลตัว trilobite บนภูเขา ถึงแม้ว่าจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับเอเชียในวิชานี้เลย แต่ก็เป็นหนึ่งเทอมที่มีผลกับการทำงานเทศกาลศิลปะนี่มากจริงๆ เป็นการไปเปิดโลกและสายตาแบบใหม่

เหนื่อยไหม? ไม่เหนื่อยค่ะ เพราะถ้าไม่มีสนามเด็กเล่นให้กับตัวเองบ้าง ผู้เขียนต้องเฉาตายท่ามกลางกองเอกสารประกันคุณภาพ (ชวนหลอนยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด) ซึ่งดูเป็นภาษาต่างดาวที่เข้าใจยากมากกว่างานศิลปะไซไฟอันประหลาดล้ำเหลือเสียอีก


Chulayarnon Siriphol (Thailand), 2020, Give US A Little More Time, four-channel animation video, 12 mins


Genevieve Chua (Singapore), 2017, Seconds Accumulating on a Hundred Years, acrylic on linen, 230 x 550 cm



[i] เทศกาลศิลปะ Asian Art Biennial ครั้งนี้มีศิลปะไทยเข้าร่วมสามคน ได้แก่ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ในส่วนการคัดเลือกของผู้เขียน, สิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์ ในส่วน Video Art Project โดยภัณฑารักษ์ชาวอินเดีย Anushka Rajendran และธัญสก พันสิทธิวรกุล ในส่วน Archive and Research Project เกี่ยวกับเควียร์โดยนักวิจัยชาวไต้หวัน Nicole (I-Chun) Wang

[ii] พื้นที่อีกประเภทหนึ่งของผู้เขียนคือหน้ากระดาษ หนังสือ (ยังบอกไม่ได้ว่าชื่ออะไร แต่คงจะไม่ได้ย้อนกลับมาเขียนถึงที่นี่หรอกค่ะ) ซึ่งจะตีพิมพ์ช่วงท้ายของเทศกาลในเดือนมีนาคมปีหน้าจะเป็นส่วนขยายของธีม Phantasmapolis กล่าวคือ ไม่ใช่งานเขียนเกี่ยวกับผลงานที่จัดแสดง (เพราะว่ามีสูจิบัตรของเทศกาลอยู่แล้ว) แต่ว่าด้วย Asian Futurism และไซไฟในเอเชียในแง่มุมอื่น นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้คัดเลือกศิลปินสามคนคือจุฬญาณนนท์ ศิริผล, Genevieve Chua (สิงคโปร์) และ Mattie Do (ลาว) เข้าร่วมแสดงในเทศกาลด้วย   

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save