fbpx
เวลาไปเดท หารค่าใช้จ่ายยังไงให้เวิร์ค?

เวลาไปเดท หารค่าใช้จ่ายยังไงให้เวิร์ค?

กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในความสัมพันธ์แบบโรแมนติก การออกเดทถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง และในการออกเดทคงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าตั๋วหนัง ฯลฯ ซึ่งในหลายวัฒนธรรม วิธีการออกค่าใช้จ่ายก็ดูจะเป็นสิ่งหนึ่งในการสร้างความประทับใจให้อีกฝ่าย

แต่ปัญหาโลกแตกของคู่เดทมีอยู่ว่า “แล้วจะแบ่งค่าใช้จ่ายอย่างไร ให้อีกฝ่ายรู้สึกดีกับเราล่ะ?”

คำถามแนวนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่มักถามไถ่กันบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกระทู้ใน pantip.com ส่วนคำตอบก็มีหลากหลาย บางความเห็นก็บอกว่าให้ฝ่ายชายออกให้ บ้างก็ว่าให้ผลัดกันออก บ้างก็ว่าให้หารเท่าๆ กัน (บางความเห็นยืนยันหนักแน่นว่าต้องหาร) ยิ่งสมัยนี้มีแอปพลิเคชันช่วยหารค่าใช้จ่าย โอนเงินง่ายด้วยโมบายแบงกิ้ง ก็ยิ่งทำให้การหารค่าใช้จ่ายง่ายขึ้นไปอีก

แม้กระทั่งในความเห็นที่บอกว่าต้องช่วยกันจ่าย ก็มีรายละเอียดยิบย่อย เช่น หารเท่า หารตามการใช้จ่าย หารไม่เท่า คิดเลขกลมๆ คิดเลขเป๊ะๆ ฯลฯ อย่างไรก็ดี ก็มีบางความเห็นบอกว่า การหารแบบเท่าๆ กันให้ความรู้สึกแปลกๆ ยิ่งถ้าเอาแบบเป๊ะๆ ถึงหลักหน่วยยิ่งรู้สึกแปลกไปใหญ่

น่าปวดหัวไหมล่ะครับ

บางคนอาจมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็ก แต่จริงๆ แล้ว วิธีการหารหรือออกค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องพฤติกรรมความหยุมหยิม (pettiness) ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายสาขาวิชาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตวิทยา หรือด้านธุรกิจ เนื่องจากความหยุมหยิมอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้

เมื่อต้นปี 2019 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard, Columbia และ Virginia ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัย[1] ที่ทำการทดลองและสอบถามผู้คนว่ามีความรู้สึกอย่างไร หากพบเจอพฤติกรรมหยุมหยิมในเรื่องเงินในความสัมพันธ์หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบโรแมนติก ความสัมพันธ์แบบเพื่อน ตลอดจนความสัมพันธ์กับบริษัท ร้านค้าต่างๆ

ผลการศึกษาพบว่า ในคู่ที่กำลังมีความสัมพันธ์กับแบบโรแมนติกมาอย่างน้อยหนึ่งเดือน คนที่ตอบแบบสอบถามจะไม่ค่อยพึงพอใจนัก หากคนที่คบอยู่ด้วยเป็นคนหยุมหยิมเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น จดและแบ่งค่าใช้จ่ายต่างๆ จนถึงบาทถึงสตางค์สุดท้าย จำว่าใครออกค่าใช้จ่ายต่างๆเวลาไปเดทกัน

การศึกษายังพบว่า ไม่ว่าจะเป็นคู่ที่คบกันนานหรือสั้น อยู่ในสถานะการคบกันแบบไหน หรือคนที่ตอบแบบสอบถามจะเป็นคนหยุมหยิมหรือไม่ พฤติกรรมหยุมหยิมเรื่องเงินของคนที่คบอยู่นั้น จะทำให้ความพึงพอใจของผู้ตอบแบบสอบถามต่อคนที่คบกันอยู่ลดลง นอกจากนี้ ถ้าความสัมพันธ์จบลง ผู้ตอบแบบสอบถามที่คบกันคนที่หยุมหยิม จะมีความรู้สึกเสียใจน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามที่เลิกกับคนไม่หยุมหยิม

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่การคบกับคนที่คิดเล็กคิดน้อยเรื่องเงินจะมีความสุขน้อยกว่า แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

งานวิจัยนี้อธิบายว่า เราสามารถแบ่งประเภทความสัมพันธ์ได้สองแบบ แบบแรกคือ Exchange relationship (ความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยน) คือความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายจะได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนกัน (นึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับร้านค้า กับธนาคาร เป็นต้น) อย่างที่สองคือ Communal relationship (การอยู่ร่วมกัน) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายจะคำนึงถึงความเป็นอยู่อีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าฝ่ายตน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและคนในครอบครัว

ในความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยน คนมักจะคาดหวังและรู้สึกพอใจกับความเป๊ะในเรื่องเงินของอีกฝ่าย ในทางกลับกัน ก็มักจะไม่พอใจหากร้านค้าไม่เป๊ะเรื่องเงินกับเรา ลองนึกถึงเวลาที่ supermarket ปัดเศษสตางค์สุดท้ายขึ้น หรือแท็กซี่ปัดค่าโดยสารขึ้นเป็นเลขกลมๆ สิครับ

ในขณะที่ การเป๊ะมากในเรื่องเงินกับเพื่อนหรือแฟนอาจเป็นเรื่องแปลก (คงไม่มีใครที่ขับรถไปส่งเพื่อน แล้วขอเก็บเงิน) ทั้งนี้เพราะอีกฝ่ายอาจคิดว่าเราคิดกับเขาแบบพ่อค้าแม่ค้า มากกว่าการเป็นเพื่อนกันหรือคนรักกัน นอกจากนี้การหยุมหยิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือเรื่องเวลากับอีกฝ่าย อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกังวลว่าจะทำอะไรผิดพลาดในความสัมพันธ์นี้รึเปล่า ซึ่งความรู้สึกนี้สามารถนำไปสู่ความไม่ต้องการที่จะมีความสัมพันธ์แบบอยู่ร่วมกันกับเราต่อไป

มาถึงตรงนี้อาจมีคนแย้งได้ว่า เพราะความสัมพันธ์มันไม่ดีอยู่แล้วรึเปล่า เลยทำให้ต่างฝ่ายต่างหยุมหยิมเรื่องเงินกับอีกฝ่าย ทางทีมวิจัยเลยทำการทดลองเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าความหยุมหยิมเป็นสาเหตุทำให้ความพอใจในความสัมพันธ์มีน้อยกว่าต่างหาก

ในการทดลอง ผู้วิจัยให้ผู้ตอบแบบสอบถามดูพฤติกรรมการจ่ายเงินของบุคคลสมมติคนหนึ่งกับเพื่อน ผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ โดยจะมีบุคคลสมมติสองแบบ แบบแรกเป็นการจ่ายแบบตัวเลขกลมๆ (เช่น 10, 35, 20 เหรียญ) แบบที่สองเป็นการจ่ายแบบตัวเลขไม่กลม (เช่น 9.99, 34.95, 20.06 เหรียญ) แล้วถามผู้ตอบแบบสอบถามว่า อยากเป็นเพื่อนกับคนแบบไหน? ปรากฎว่ากว่า 80 % ของผู้เข้าร่วมการทดลอง อยากเป็นเพื่อนกับคนที่โอนเงินให้เพื่อนแบบเลขกลมๆ มากกว่าที่จะจ่ายให้เพื่อนแบบเป๊ะยันจุดทศนิยม

นัยสำคัญของผลการทดลองนี้คือ การสนับสนุนว่า ความหยุมหยิมเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่มีความสัมพันธ์กับเราไม่ค่อยมีความสุขนัก และไม่ได้จำกัดแค่ในความสัมพันธ์แบบโรแมนติกเท่านั้น แต่กับเพื่อนๆ ก็เช่นกัน

ที่น่าสนใจคือ แม้จะเป็นคนใจกว้างในภาพใหญ่ แต่ถ้าเป็นคนหยุมหยิม ก็ไม่เวิร์คอีกเช่นกัน ทีมวิจัยศึกษาเรื่องนี้ด้วยการให้คนโสดมาประเมินว่าอยากเดทกับคนแบบไหน โดยพิจารณาจากพฤติกรรมในการไปช่วยเพื่อนย้ายบ้าน ผลการศึกษาพบว่า คนที่แจ้งเวลาในการช่วยเพื่อนแบบไม่ต้องเป๊ะมาก เช่น บ่ายโมงถึงบ่ายสาม จะเป็นที่ชื่นชอบที่สุด ในขณะที่คนที่หยุมหยิมเรื่องเวลา เช่น บอกว่าจะไปช่วย 2 ชั่วโมง 11 นาที จะมีคนที่อยากไปเดทด้วยน้อยลงมาก ทั้งนี้ต่อให้เขายินดีช่วยเพื่อนเป็นเวลามากกว่าก็ตาม

ในทำนองเดียวกัน คนที่ได้รับ Gift card แทนคำขอบคุณจากเพื่อนเป็นมูลค่ากลมๆ เช่น บัตรสตาร์บัคส์มูลค่า 200 บาท ดูจะพอใจกว่าการได้บัตรสตาร์บัคส์มูลค่า 217 บาท แม้ว่าอย่างหลังจะมีมูลค่ามากกว่าก็ตาม

(อย่างไรก็ดี ในงานวิจัยไม่ได้ศึกษาว่า ถ้าให้บัตรสตาร์บัคส์มูลค่าสูงมากแบบเลขไม่กลม เช่น 111,111 บาท จะทำให้อีกฝ่ายพอใจกว่า 200 บาทหรือไม่ ซึ่งขอตั้งสมมติฐานเบื้องต้นไว้ ณ ที่นี้ว่า ถ้ามูลค่าต่างกันเยอะมาก อาจให้ผลที่แตกต่างกัน แต่ถ้ามูลค่าไม่ต่างกันมากนัก ความหยุมหยิมจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกยินดีน้อยกว่า)

เวลาถกเถียงกันประเด็นนี้ หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญคือ ‘วัฒนธรรม’ มีผลต่อพฤติกรรมและความรู้สึกในการแชร์หรือไม่ เพราะมีความเป็นไปได้ที่แต่ละประเทศ ก็มีวัฒนธรรมการแชร์ที่ต่างกันไป จนทำให้แนวทางในประเทศหนึ่งอาจนำมาใช้ในอีกที่หนึ่งไม่ได้

ในงานศึกษานี้ ทีมวิจัยจึงทำการศึกษาครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างในหลายประเทศ ทั้งจากคนอเมริกา และคนกลุ่มที่พูดภาษาเยอรมัน เช่น คนออสเตรีย คนเยอรมัน และคนสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งคนกลุ่มหลังมีงานศึกษาก่อนหน้านี้ที่บ่งบอกว่ามีระดับความเป๊ะมากกว่า อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาก็ยังออกมาเหมือนกันว่า ไม่ว่าคนที่มาจากวัฒนธรรมความเป๊ะที่ต่างกันอย่างไร ก็ไม่ชอบคนที่หยุมหยิมกับเพื่อน ไม่ว่าจะเรื่องเงินหรือเรื่องเวลากันทั้งนั้น

แล้วทำอย่างไรถึงจะเวิร์ค?

ไมค์ นอร์ตัน อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Harvard หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากงานศึกษานี้คือ อย่าพยายามเป็นคนที่ยืนยันที่จะเป๊ะหรือหยุมหยิมในการหารค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือเรื่องเวลา กับคนที่คบกันหรือกับเพื่อนก็ตาม นอร์ตันแนะว่า จริงๆ แล้วการผลัดกันออก เช่น วันนี้ไปกินข้าวกัน เราขอออกไปก่อน ก็อาจทำให้เขารู้สึกดีกับเรา และอาจพาเราไปเลี้ยงข้าวบ้างในโอกาสหน้า ซึ่งทำให้เรามีความสัมพันธ์กันไปเรื่อยๆ[2]

 


[1] จากบทความชื่อ “Pettiness in Social Exhchange” ซึ่งตีพิมพ์ใน “Journal of Experimental Psychology: General” ซึ่งเป็นวารสารที่ได้ Ranking ในระดับดีมาก สำหรับผู้ที่สนใจงานวิจัยนี้ สามารถฟังแบบสรุปได้จาก Podcast Freakonomic ในตอนที่ 382

[2] จากบทสัมภาษณ์ Michael Norton ใน Freakonomics ตอนที่ 382 และ ใน https://ideas.ted.com (The subtle, surprising way that payment apps may be affecting your relationships)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save