fbpx
เมื่อโลกไม่มีใบที่สอง นโยบายสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่ประเด็นรองอีกต่อไป กับ เพชร มโนปวิตร

เมื่อโลกไม่มีใบที่สอง นโยบายสิ่งแวดล้อมต้องไม่ใช่ประเด็นรองอีกต่อไป กับ เพชร มโนปวิตร

“นี่คือสัญญาณเตือนสีแดงสำหรับมนุษยชาติ (a code red for humanity)” คือคำเตือนจากองค์การสหประชาชาติ หลังมีการเผยแพร่รายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ซึ่งระบุว่า ภายในปี 2030 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้ถึง 10 ปี อันจะส่งผลมหาศาลต่อสภาวะของโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่จะเลวร้ายขึ้นอย่างมาก รวมทั้งระดับน้ำทะเลที่กำลังจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก โดยปรากฏการณ์เหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง หากคนทั่วโลกไม่รีบช่วยกันแก้ไขเสียแต่ตอนนี้

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นประเด็นใหญ่ที่ผู้คนจากหลายมุมโลกกำลังให้ความสนใจ ดังเห็นได้จากปรากฏการณ์การออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนของเหล่ามวลชนที่ขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่นำโดยเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) รวมทั้งการเคลื่อนไหวในช่วงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ซึ่งนับเป็นการประชุมที่ได้รับการจับจ้องมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในภาวะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวต่อสภาวะโลกร้อน 101 จึงชวน ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef สนทนาถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ใกล้เดินถึงจุดที่ไม่อาจแก้ไขได้ พร้อมร่วมเสนอแนะหาแนวนโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.245 เจาะประเด็นสิ่งแวดล้อม ‘COP26’ เมื่อโลกไม่มีใบที่สอง กับ เพชร มโนปวิตร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกตอนนี้ถือว่ากำลังรุนแรงมากขนาดไหน

ก่อนหน้าที่จะมีเวที COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทุกคนมองกันว่าปี 2021-2030 จะเป็นทศวรรษที่ชี้เป็นชี้ตายของมนุษยชาติ (defining decade) เลยก็ว่าได้ เพราะมีข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีรายงานการประเมินครั้งที่ 6 (The Sixth Assessment Report – AR6) ว่าด้วยความเข้าใจเชิงกายภาพของระบบภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ออกมา โดยการทำรายงานของ IPCC ใช้วิธีระดมอาสาสมัครนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมาทำงานร่วมกัน จากนั้นจึงส่งผลรายงานการประเมินให้แต่ละประเทศตรวจสอบรับรองก่อน เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ทุกประเทศไม่สามารถปฏิเสธได้ และเป็นกลไกที่นำไปสู่การตัดสินใจเดินหน้าหลายๆ มาตรการที่ทุกชาติควรจะต้องร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีรายงานพิเศษหลายๆ ฉบับส่งสัญญาณว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสจะเป็นอันตราย แม้กระทั่งอุณหภูมิในปัจจุบันที่เพิ่มอยู่ประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส ก็ทำให้เราได้เห็นภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นแบบควบคุมได้ยาก อย่างเป็นที่ประจักษ์แล้ว

หากย้อนมองผลการประชุม COP26 ที่ผ่านมา มองเห็นความหวังหรือไม่ หรือมองว่าน่าผิดหวัง

ผมคิดว่ามองได้ทั้งสองมุม ส่วนหนึ่งก็มีพัฒนาการที่ดูจะมีความหวังเหมือนกัน ส่วนใครจะมองว่าการประชุมครั้งนี้สำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองที่ต่างกัน ถ้าไปคุยกับประเทศเจ้าภาพอย่างสหราชอาณาจักร เขาก็รู้สึกว่ามีความคิดริเริ่มดีๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศการยุติตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030, คำประกาศลดก๊าซมีเทนให้ได้ 30% ภายในปี 2030 หรือแม้แต่ว่าคำประกาศว่าจะต้องเลิกใช้ถ่านหิน แต่ขณะเดียวกันประธานาธิบดีจากเกาะบาร์เบโดส ซึ่งเป็นหมู่เกาะในแถบแคริบเบียน กล่าวในพิธีเปิดการประชุม COP26 ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ไม่ต่างจากคำสั่งประหารชีวิตสำหรับคนที่อยู่ในหมู่เกาะ เห็นได้ว่าคนที่กำลังเผชิญภัยพิบัติรู้สึกว่ามันเรื่องเป็นความเป็นความตายมาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นประเด็นใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงยังมีแรงต้าน อย่างรายงานข่าวจาก BBC พบว่า ตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เป็นตัวแทนจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลถึงกว่า 500 คน ด้านหนึ่งอาจจะมีข้อแก้ตัวว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องเข้าไปร่วมประชุมเพื่อที่จะปรับตัวให้ทัน แต่ภาคประชาสังคมก็มองว่ายังมีการต่อรองเรื่องผลประโยชน์สูงมาก

พลังการเงินและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นชะลอข้อผูกมัด (commitment) ต่างๆ ของแต่ละประเทศ แม้แต่ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้ง 20 ประเทศก็ยังมีเป้าหมายที่อาจจะยังไม่ชัดเจน เราอาจจะเห็นเป้าหมายที่ค่อนข้างก้าวหน้าในประเทศทางยุโรปที่มีเป้าหมายที่ค่อนข้างทะเยอทะยานและมีแผนที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ผู้นำสูงสุดของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในเวลานี้อย่างจีนและรัสเซีย ไม่มาเข้าร่วม COP26 เพราะฉะนั้นก็มีแววว่าอาจจะไม่ได้ให้คำมั่นกับแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง

มีความท้าทายอื่นใดบ้างที่ส่งผลต่อเป้าหมายความพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหรืออย่างมากไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

ณ ตอนนี้ หากมองโลกในแง่ดีที่สุด เมื่อเอาเป้าหมายการลดอุณหภูมิของแต่ละประเทศ (nationally determined contributions – NDCs) มาบวกรวมเข้าด้วยกันจะพบว่า ถ้าทุกประเทศทำได้ตามเป้าหมาย ตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจจะควบคุมให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.8 องศาเซลเซียส ซึ่งหลายคนก็ยังตั้งข้อสงสัยกับตัวเลขนี้ โดยรายงานของ The Washington Post พบว่า ตัวเลขที่หลายประเทศเสนอขึ้นมามีพื้นฐานจากตัวเลขที่พิสูจน์ไม่ได้จริง ยกตัวอย่างมาเลเซียที่ใช้ตัวเลขชี้วัดการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของป่า ที่สูงกว่าประเทศอินโดนีเซียถึง 4 เท่า ทั้งที่สภาพแวดล้อมเป็นป่าเขตร้อนเหมือนกัน นี่จึงเป็นตัวชี้วัดว่าตัวเลขที่แต่ละประเทศส่งมาก็ยังเป็นตัวเลขที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า อาจจะเป็นการตั้งเป้าหลอกๆ ก็ได้ นักวิชาการจึงยังเคลือบแคลง และยังต้องมีกระบวนการอีกหลายอย่างเพื่อพิสูจน์ว่า ตัวเลขที่แต่ละประเทศเสนอเป็นจริงตามนั้นหรือเปล่า

นอกจากนี้ ถ้าย้อนกลับไป 7 ปีที่แล้ว ก็เคยมีปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้แห่งนิวยอร์ก ซึ่งเป็นปฏิญญาว่าด้วยการยุติการตัดไม้ทำลายป่า ลักษณะเดียวกันกับที่กลาสโกว์ โดยกล่าวถึงการลดการตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2020 และต้องยุติการตัดไม้ทำลายป่าโดยสิ้นเชิงภายในปี 2030 ซึ่งมี 200 กว่าประเทศร่วมลงนาม แต่ผลปรากฏว่าผ่านมา 7 ปี ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าคำประกาศหรือการตั้งเป้าหมายที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ดี หลายๆ ครั้งก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ และยิ่งเป็นเรื่องภาวะโลกร้อน ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ มีหลายคนบอกว่าผู้นำที่ออกมาประกาศเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ส่วนใหญ่ก็แทบไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้วทั้งนั้น

เมื่อเป้าหมายต่างๆ ไม่ถูกรองรับด้วยนโยบายที่เป็นจริงก็ไม่แปลกที่กลุ่มรณรงค์ข้างนอกหรือกลุ่มองค์กรอนุรักษ์จะมองว่า ตอนนี้ยังไม่มีผลลัพธ์นโยบายการเปลี่ยนผ่านให้เห็นอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เพื่อลดแรงกดดัน

ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ มองว่ามีนโยบายหรือแนวทางอะไรที่เป็นไปได้บ้าง

สหภาพยุโรปค่อนข้างที่จะก้าวหน้าในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยช่วงก่อนโควิด สหภาพยุโรปได้ประกาศผลักดัน ‘กรีนนิวดีล’ (Green New Deal) ซึ่งเป็นนโยบายที่เปลี่ยนผ่านสังคมทุกภาคส่วนให้ไปสู่สีเขียวมากขึ้น ตั้งแต่การคมนาคม การผลิตอาหาร การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่ให้ความสำคัญเพียงภาคพลังงานอีกต่อไปแล้ว

การเกิดโรคระบาดเองก็สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงกับเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย เพราะว่าคนที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุ ซึ่งก็คือกลุ่มคนเปราะบางที่มีภูมิคุ้มกันน้อยที่สุดในประเทศและไม่ได้มีระบบตาข่ายความปลอดภัย (safety net) กลับเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ และเมื่อพอมามองภาพใหญ่ในเรื่องสภาพภูมิอากาศก็คล้ายกัน เพราะประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยก็กลายเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากภัยพิบัติ

ดังนั้น การจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) จึงไม่ใช่แค่เรื่องพลังงาน แต่ต้องเปลี่ยนผ่าน ปรับปรุง ปฏิรูปนโยบายแทบทั้งหมด ต้องมองเรื่องการอนุรักษ์ต้นทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ การผลิตที่มีความยั่งยืน การออกแบบเมืองแบบใหม่ การออกแบบการปรับปรุงโครงสร้างที่จะต้องรับมือกับภัยพิบัติให้ดีมากขึ้น และการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของชุมชนด้วย­

กลไกเพิ่มเติมอะไรที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก

สุดท้ายแล้ว กลไกที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้โลกเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือไปสู่สังคมที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมได้ ก็ต้องผ่านการเจรจาตกลงในระดับนานาชาติ และที่จริงเวที COP เองก็เป็นกลไกที่ดีที่สุด แต่ผมคิดว่าแรงกดดันจากภายนอกก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือแรงกดดันจากภาคประชาสังคม อย่างการออกมาประท้วงของพวกเขาก็มีอิทธิพลมากพอสมควร เช่นเดียวกับบทบาทของสื่อมวลชนที่เข้าไปเจาะลึกประเด็นต่างๆ

ผมคิดว่าประเด็นโลกร้อน ที่จากเดิมเป็นประเด็นชายขอบ ได้ถูกโยกมาอยู่เวทีกลางแล้ว และอย่าลืมว่าอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีพื้นฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์จะเป็นตัวยืนยันเองว่า ไม่ว่าคุณจะมีคำประกาศสวยหรูยังไง แต่ถ้าเกิดว่าผลลัพธ์ไม่เป็นไปได้ มันก็จะถูกนำมาตอกย้ำให้แต่ละชาติจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย

มีการพูดกันว่านโยบายลดโลกร้อนขัดแย้งกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศต้องเผชิญ คุณมีความเห็นอย่างไร

ผมคิดว่ามันเป็นข้ออ้างที่จริงเพียงส่วนเดียว ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก ข้ออ้างที่จำเป็นจะต้องใช้ถ่านหินหรือว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากราคาถูกที่สุด อาจจะไม่จริงอีกต่อไปแล้ว อีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้าหรือแม้แต่ตอนนี้เอง ราคาต้นทุนพลังงานหมุนเวียนก็ลงมาสูสีกับพลังงานดั้งเดิมแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือต้องส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านได้เร็วที่สุด

ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันเยอะที่ COP26 ก็คือการลดเงินอุดหนุนให้กับภาคอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะได้เงินมหาศาลเอามาสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถที่จะเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน หมายความว่าประเทศเหล่านี้ยังสามารถพัฒนาประเทศไปได้ โดยก้าวข้ามวงจรการพัฒนาแบบประเทศพัฒนาแล้วที่พึ่งพาถ่านหินในสมัยก่อน

อีกประเด็นที่สำคัญก็คือเรื่องเงินทุน โดยหนึ่งในข้อตกลงปารีสตั้งเป้าไว้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะช่วยอุดหนุนเงินให้ประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือความเสียหายและเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจจากภาวะโลกร้อนปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ผลการประเมินทางเศรษฐกิจจะวิเคราะห์ว่า มูลค่าที่จะช่วยประเทศเหล่านี้ได้ควรเป็นหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปต่อปี แต่ลำพังเป้าหมายที่ปีละแสนล้านดอลลาร์ตอนนี้ ก็ยังทำไม่ได้ ตรงนี้จึงเป็นข้อถกเถียงที่คลาสสิกระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ขณะที่ประเทศร่ำรวยไม่ได้อยากผูกมัดที่จะลงขันเงินตรงนี้เสียเท่าไหร่ ประเทศกำลังพัฒนาก็มองว่าประเทศร่ำรวยควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ เพราะถือเป็นกลุ่มประเทศที่ใช้ทรัพยากรของโลกล่วงหน้าไป จนนำมาสู่ภัยพิบัติที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ จึงเกิดการเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยเหล่านี้ลงขันเงินให้พวกเขาให้ได้

มีคนพูดกันเยอะว่า บางประเทศต้องพัฒนาก่อน คือต้องทำลายทรัพยากรก่อน จากนั้นจึงค่อยเข้าสู่การอนุรักษ์ แต่ผมว่ากรณีของการเตรียมพร้อมรับวิกฤตอย่างสภาวะโลกร้อนหรือว่าโรคระบาด เราได้เห็นว่าต้นทุนที่จะทำให้สังคมนั้นอยู่รอดได้หรือไม่ก็คือการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ผมคิดว่าการอนุรักษ์ต้นทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ควรต้องเป็นประเด็นหลักของสังคม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพูดกันเยอะว่าเราจะต้องเอาธรรมชาติกลับมาเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา (Nature-based Solutions – NBS)

ย้อนมามองที่ประเทศไทย คุณมองถึงท่าทีของรัฐบาลไทยต่อปัญหานี้อย่างไร ทำได้มากพอหรือยัง

ก็วัดได้ยากนะครับ แต่อย่างน้อยที่สุดที่เราเห็นก็คือนายกฯ เดินทางไปประชุม COP26 ด้วยตัวเอง ตรงนี้ก็ต้องให้เครดิต เพราะผู้นำสูงสุดหลายประเทศก็ไม่ได้ไปเอง ซึ่งก็อาจสะท้อนว่าไม่ได้สนใจอย่างสิ้นเชิง ส่วนคำประกาศที่นายกฯ บอกว่าจะเพิ่มการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี 2030 จะเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ก็ต้องย้อนกลับมามองว่า นโยบายที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงนั้นสอดรับกับสิ่งที่ได้ไปประกาศหรือเปล่า

นายกฯ ได้พูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งมี 3 องค์ประกอบได้แก่ Bioeconomy (เศรษฐกิจชีวภาพ) ซึ่งก็คือเศรษฐกิจที่พัฒนาและเพิ่มมูลค่ามาจากทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่น ตามด้วย Circular Economy ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ซึ่งก็คือการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดของเสียน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดเป็นวงจรหมุนเวียนกลับไปได้ และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ผมคิดว่าเหล่านี้เป็นกรอบนโยบายที่ดีมาก และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แต่ก็ต้องมาดูนโยบายที่ใช่ในการขับเคลื่อน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่เราขาดก็คือโรดแมป แล้วถ้าดูในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าแค่เรื่องการแยกขยะ เราก็ยังล้มเหลวอยู่ เพราะภาครัฐยังไม่ได้มีโครงสร้างหรือสิงที่เอื้อให้คนแยกขยะได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่ฝันกับสิ่งที่เป็นจึงต่างกันเยอะ แม้เราจะไปประกาศว่าจะร่วมมือกับประชาคมโลกต่อสู้อย่างเต็มที่ แต่นโยบายในประเทศเราก็ยังไม่ได้สอดรับสักเท่าไหร่

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอา BCG มาเปลี่ยนเป็นโรดแมปและใส่เข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เราก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น แล้วถ้าเรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ BCG ก็อาจเรียกว่าเป็นกรีนนิวดีลของประเทศเราได้

บนเวที COP26 ประเทศไทยกลับไม่ได้ร่วมลงนามให้คำมั่นยุติการตัดไม้ทำลายป่า รวมไปถึงข้อตกลงอื่นๆ อย่างการลดมีเทน หรือการเลิกใช้ถ่านหิน คุณมองท่าทีของรัฐบาลตรงนี้อย่างไร

จริงๆ การยุติการใช้ถ่านหิน การลดมีเทน หรือการยุติการทำลายป่าไม้ เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องร่วมขบวนอยู่แล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามีแผนที่จะเข้า แต่จำเป็นต้องผ่านมติ ครม. ก่อน แล้วถึงจะดำเนินการต่อไป ซึ่งเราก็คงต้องเฝ้าจับตากันต่อไปว่า ในเมื่อรัฐบาลไทยประกาศเจตนารมณ์ต่างๆ ชัดเจน แล้วสุดท้ายเราจะเข้าร่วมปฏิญญาต่างๆ หรือเปล่า

ถ้าพิจารณาเป้าหมายที่ประเทศไทยประกาศไว้ อย่างการเป็น Carbon Neutral ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 คุณว่าเป้าหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้แค่ไหน

ผมอยากเน้นว่า เป้าหมายอาจไม่สำคัญเท่ากับนโยบายที่จะเกิดขึ้นจริงๆ อย่างการเปลี่ยนผ่านการพึ่งพาถ่านหิน และการทุ่มเทงบประมาณลงทุนในภาคพลังงานหมุนเวียน ซึ่งตอนนี้ในเชิงเทคโนโลยี มันก็แทบจะเป็นการกึ่งบังคับให้มีการเปลี่ยนผ่านอยู่แล้ว เพราะต้นทุนในการผลิตพลังงานหมุนเวียนก็ต่ำลงมา เพียงแต่ว่าระบบผลิตพลังงานของประเทศไทยยังค่อนข้างถูกผูกขาดอยู่ จึงต้องคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่จะมีการกระจายอำนาจ (decentralize) เช่น ประชาชนทุกคนอาจมีส่วนร่วมที่จะผลิตไฟฟ้าเองได้ อย่างการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา จนสามารถพึ่งตนเอง และยังป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ด้วย

แล้วเราก็ต้องคอยจับตากันว่า นโยบายประกอบต่างๆ ที่จะเอื้อให้มีการเปลี่ยนผ่านเร็วขึ้น จะมีความจริงจังขนาดไหน อย่างนโยบายเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles – EV) ซึ่งถ้าจริงจังก็อาจจะต้องแก้ไขเรื่องกำแพงภาษี เปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น และราคารถยนต์ไฟฟ้าก็ควรจะต้องสูสีกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ถ้าไปดูหลายๆ ประเทศ อย่างในยุโรปเองก็ประกาศแล้วว่าภายใน ค.ศ. 2030 จะเลิกจำหน่ายรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์แบบเดิม โดยจะกลายเป็น EV ทั้งหมด ถ้าเกิดว่าประเทศไทยไม่อยากตกขบวนเรื่องนี้ ก็ต้องเริ่มส่งเสริมและปรับปรุงกฎเกณฑ์ภายในอย่างจริงจัง

คุณว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยใส่ใจกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

ถ้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวิกฤตขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็จะถูกบังคับไปโดยปริยายให้ต้องกันมาใช้กลไกต่างๆ เข้ามาจัดการอย่างเข้มข้นขึ้น เช่น กลไกของ COP ซึ่งถ้ารัฐบาลจับกระแสโลกได้ รัฐก็จะต้องเข้ามาสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่าน เช่นทำให้การผลิตทุกอย่างมีการคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนและเรื่องรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) มากขึ้น เพราะต่อไปการแข่งขันทางเศรษฐกิจจะข้องเกี่ยวมากกับเรื่องมาตรฐานความยั่งยืน ไม่ได้แข่งกันแค่ในเรื่องของราคาอย่างเดียวอีกต่อไป

อย่างทางยุโรปตอนนี้ก็เริ่มมีการออกกฎเกณฑ์ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นสัญญาว่าต่อไปการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายที่นั่น จะต้องมีการรายงาน carbon footprint ของสินค้า ซึ่งถ้า carbon footprint สูง ก็อาจไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปจำหน่ายก็เป็นไปได้ โดยการยกเหตุผลแบบนี้เพื่อใช้การกีดกันทางการค้า (trade barrier) ถือว่ามีผลในการที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศพอสมควร ตรงนี้ก็จะบีบให้เราต้องปรับเปลี่ยน เหมือนตอนที่เราโดยสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองในเรื่องการทำประมง ก่อนหน้านี้เราไม่ได้แก้มานาน พอโดนใบเหลือง เราถึงมารื้อระบบเรื่องนี้กันจริงจัง เพราะไม่อย่างนั้นก็จะส่งออกสินค้าไปไม่ได้

แรงกดดันจากประชาชนมีพลังไหมที่จะช่วยผลักดันให้เป้าหมายสำเร็จ แล้วถ้ามองประเทศไทย คุณว่ากระแสความตื่นตัวของเรามากพอที่จะเป็นแรงกดดันได้หรือยัง

ผมคิดว่าขบวนการเคลื่อนไหวข้างนอก อย่างขบวนการของเกรต้า ธันเบิร์ก ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่มีแรงกดดันหรือมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ผมเชื่อว่าเป้าหมายจะยิ่งเลื่อนลอย

ผมว่าเกรต้าเป็นคนตรงและกล้าพูดเบื้องลึกเบื้องหลัง ที่เมื่อก่อนมักจะไม่ค่อยมีคนพูดกัน อย่างเรื่องการตกแต่งตัวเลขหรือการวางเป้าหมายที่มันไม่มีแผนรองรับ เธอสามารถแปลข้อมูลทางวิชาการมาเป็นขบวนการเคลื่อนไหวได้อย่างแหลมคม และช่วยทำให้ข้อต่อรองต่างๆ เข้าใกล้เป้าหมายที่แท้จริงมากขึ้น

ผมคิดว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมแยกกันไม่ออกกับประเด็นสากลอื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย หรือความไม่เท่าเทียม ซึ่งความจริงแล้ว เยาวชนไทยในช่วงที่ผ่านมาตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยกันเยอะ แต่พอเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจไม่ได้มีการเคลื่อนไหวได้ชัดเจนเท่า ทั้งที่สองเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงและไปด้วยกันได้ ตรงนี้อาจมีคำอธิบายว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตย อาจไม่ต้องไปเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว แต่สามารถไปเรียกร้องประเด็นอื่นๆ ขณะที่ประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย การเรียกร้องประชาธิปไตยก็เหมือนกับเป็นบันไดขั้นแรกในการได้มาซึ่งประเด็นอื่นๆ รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจจะเพราะอย่างนี้ เลยกลายเป็นว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ก่อน แต่จริงๆ ผมว่าเยาวชนไทยก็สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เพียงแต่การเคลื่อนไหวไม่ชัดเจนเท่าเรื่องประชาธิปไตย

สุดท้าย คุณว่าเราควรจะบอกคนไทยอย่างไร ว่าพวกเขาจำเป็นต้องหันมาสนใจกับเรื่องโลกร้อนมากขึ้นกันเสียแต่ตอนนี้

ที่ผ่านมา คนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งผมอยากจะให้เปลี่ยนภาพจำอันนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะที่จริงภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้โดยตรง ไม่ใช่เรื่องอนาคต ต่อไปนี้เราจะไปหวังกับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือประเด็นสังคมอื่นๆ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจริงจัง เราก็ไม่สามารถคาดหวังกับสิ่งเหล่านั้นได้อีกต่อไป

เพราะฉะนั้น การให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกร้อน ต้องอยู่ในหัวข้อหลักที่เราจะต้องคุยกันหนักกว่าเดิม รวมทั้งควรเป็นประเด็นที่ต้องมีการแข่งขันทางนโยบายในการเลือกตั้ง ถ้าไปมองหลายๆ ประเทศทั่วโลก ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกขยับมาเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องอย่างเดียวอีกแล้ว


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save