fbpx

เจาะประเด็นสิ่งแวดล้อม ‘COP26’ เมื่อโลกไม่มีใบที่สอง กับ เพชร มโนปวิตร

“นี่คือสัญญาณเตือนสีแดง (Code Red) สำหรับมนุษยชาติ” คือคำเตือนสุดท้ายจากองค์การสหประชาชาติและบรรดานักวิทยาศาสตร์เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ถึงอุณหภูมิโลกที่กำลังทะยานขึ้นเกินขีดจำกัด อันจะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อโลก หากไม่รีบช่วยกันแก้ไขเสียแต่ ‘ตอนนี้’ ทุกสายตาทั่วโลกจึงต่างจับจ้องไปที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ด้วยความหวังว่าผู้นำโลกจะบรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาร่วมกันก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

101 ชวน ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef สนทนาถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ใกล้เดินถึงจุดที่ไม่อาจแก้ไขได้ พร้อมเจาะลึกผลการประชุม COP26 ว่าเพียงพอหรือล้มเหลวที่จะพามนุษยชาติให้รอดพ้นจากปัญหานี้

:: วิเคราะห์การประชุม COP26 ที่ผ่านมา ::

ปี 2563 เป็นปีที่ครบรอบ 5 ปีของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทำให้ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) หลายประเทศทั่วโลกจึงต้องมารายงานความคืบหน้าของความพยายามไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือถ้าเป็นไปได้ก็ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เพราะแม้ว่าตอนนี้อุณหภูมิในปัจจุบันจะเพิ่มอยู่ที่ 1.09 องศาเซลเซียส แต่สิ่งที่เห็นในเชิงประจักษ์คือภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ฝนตกปริมาณเยอะ หรือในช่วงแล้งก็แล้งนาน ซึ่งความเสียหายในเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนตระหนักแล้วว่าเรื่องอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสถือเป็นความเป็นความตาย อย่างในช่วงพิธีเปิดการประชุม COP26 ประธานาธิบดีของประเทศบาร์เบโดสซึ่งเป็นตัวแทนประเทศหมู่เกาะที่เผชิญกับภัยพิบัติประกาศว่า “2 องศาเซลเซียส คือคำสั่งประหารชีวิตของประเทศที่เป็นหมู่เกาะ” จึงไม่น่าแปลกใจที่สื่อมวลชนและเหล่าผู้นำประเทศจะเห็นตรงกันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นประเด็นใหญ่

จากการประชุมที่ผ่านมา เราสามารถมองการประชุม COP ครั้งที่ 26 ได้ 2 มุมมอง มุมมองแรกเป็นการมองแบบมีความหวัง โดยสามารถพิจารณาได้จากการมีความคิดริเริ่มโครงการดีๆ เช่น  คำประกาศให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าไม้ภายในปี 2030 นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ยังมีผู้เข้าร่วมมากถึง 25,000 คนและเป็นครั้งแรกที่มีผู้นำประเทศเข้าร่วมมากกว่า 120 คน

มุมมองที่สอง มองว่ายังมีแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ตามรายงานของ BBC พบว่า ตัวแทนของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมีจำนวนมากที่สุดในการเข้าร่วมประชุม เป็นเหตุให้ภาคประชาสังคมมองว่ายังมีการต่อรองผลประโยชน์อยู่สูงมาก ประกอบกับผู้นำสูงสุดของจีนและรัสเซียก็ไม่มาเข้าร่วม ส่งผลให้การประชุมมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับความจริงจังและไม่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง

:: ข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ::

ถ้าหากถามว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นภายในการประชุม COP26 จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายในการลดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้ไปถึง 2 องศาเซลเซียสได้ไหม ผมมองว่า ณ วันนี้ขนาดเรามองโลกในแง่ดีที่สุด ก็ยังมีหลายจุดที่ถูกตั้งข้อสงสัย ยกตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) ที่ประเทศภาคีของความตกลงปารีสกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตน ซึ่งถ้าหากทุกประเทศทำได้ตามเป้าหมายที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ ตอนนี้เราอาจจะลดอุณหภูมิเฉลี่ยลงได้ถึง 1.8 องศาเซลเซียส

ทว่า หลายคนเริ่มตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าว เพราะจากรายงานของ The Washington Post พบว่า ตัวเลขที่หลายประเทศเสนอมามีพื้นฐานมาจากตัวเลขที่พิสูจน์ไม่ได้จริง เช่น มาเลเซียใช้ตัวเลขการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าไม้สูงกว่าตัวเลขที่อินโดนีเซียซึ่งมีป่าเขตร้อนเหมือนกันใช้ถึง 4 เท่า นี่เป็นตัวชี้วัดที่กำลังบอกว่าตัวเลขที่แต่ละประเทศส่งมาอาจจะไม่ใช่ตัวเลขจริงๆ เป็นเหตุให้นักวิชาการเคลือบแคลง

ประการที่สอง การตั้งเป้าหมายจากการมองโลกในแง่ดีหลายๆ ครั้งก็ไม่เป็นจริง เช่น ร้อยละ 90 ของเป้าหมายในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพยังไม่เป็นจริง รวมถึงการเพิ่มอัตราพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติทางบกและทางทะเลก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหากกลุ่มนักรณรงค์หรือกลุ่มนักอนุรักษ์จะมองว่าตอนนี้ยังไม่มีผลลัพธ์นโยบายการเปลี่ยนผ่านให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เพื่อลดแรงกดดัน

:: ท่าทีของไทยในเวทีโลกกับนโยบายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ::

เราต้องย้อนมาดูว่าประเทศไทยมีนโยบายสอดรับกับคำประกาศว่าจะลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% ภายในปี 2030 บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ตามที่ประชุมหรือไม่

นายกฯ ได้พูดถึงการใช้ ‘โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG)’ เป็นกรอบนโยบายที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ซึ่ง BCG หมายรวมถึงคำว่า ‘Bio’ หรือในที่นี้คือการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรชีวภาพที่เรามี เช่น ทรัพยากรในท้องถิ่น แทนที่จะมองในเรื่องปริมาณ ส่วนคำว่า ‘Circular’ คือการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยวัสดุเหลือใช้จะต้องหมุนเวียนกลับสู่วงจรการผลิตใหม่ได้ และคำว่า ‘Green’ หมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยชูเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งนโยบาย BCG เป็นกรอบโครงร่างที่ดี เพียงแต่เราขาดหมุดหมายหรือโรดแมป ว่าถ้าไทยจะพัฒนาเศรษฐกิจจากทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ เราจะต้องทำอะไรบ้างและทำภายในปีไหน

นอกจากนี้ การอนุรักษ์ระบบนิเวศดั้งเดิมก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการลดโลกร้อน แต่ปรากฏว่าพอมองนโยบายตัวนี้ กลับมีข้อขัดแย้งอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเมื่อไม่นานมานี้ ที่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐเสนอโครงการขอเข้าใช้พื้นที่อนุรักษ์

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ในขณะที่เราประกาศร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ แต่เรากลับไม่มีนโยบายภายในประเทศที่รองรับเท่าไหร่

:: แนวทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทย ::

หากถามว่า BCG สามารถกลายเป็น Green New Deal ของไทยได้หรือไม่ ผมว่าเป็นไปได้ ถ้าเราเอา BCG มาเปลี่ยนเป็นโรดแมปที่กำหนดเส้นเวลาการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นรูปธรรม ว่าในแต่ละช่วงเวลาจะต้องมีนโยบายอะไรเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่าน

เนื่องจากทุกปัญหาเกี่ยวโยงกัน การแก้ปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่แค่การเลิกใช้ถ่านหินอย่างเดียว แต่จะต้องแก้ปัญหาในประเด็นอื่นด้วย เช่น การคมนาคม เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องปฏิรูปนโยบายทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน

และเมื่อมีโรดแมปแล้ว ก็ต้องนำใส่เข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นเหมือนเข็มทิศเศรษฐกิจของเรา เช่นนี้ก็พอเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่ามันจะเป็นจริงได้อย่างไร

:: ไทยต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกขบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ::

ต่อไปกระแสโลกจะให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่การแข่งขันเรื่องราคาอย่างเดียวแล้ว ดังจะเห็นได้จากการออก ‘มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)’ ของสหภาพยุโรป ที่เริ่มส่งสัญญาณมาแล้วว่าในการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปจะต้องมีการรายงานการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint : CF) ของสินค้า

นอกจากนี้ ในเชิงเทคโนโลยีก็เป็นการกึ่งบังคับให้มีการเปลี่ยนผ่าน เพราะต้นทุนในการผลิตพลังงานหมุนเวียนก็ต่ำลง เพียงแต่ว่าระบบผลิตพลังงานของประเทศไทยยังค่อนข้างถูกผูกขาดอยู่ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการกระจายอำนาจในเรื่องการผลิตไฟฟ้า เช่น ความจริงในตอนนี้ทุกคนสามารถติดตั้งโซลาเซลล์ตามหลังคาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเองได้แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งระบบส่วนกลาง เรื่องนี้ก็จะช่วยเร่งในการเปลี่ยนผ่าน

เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลไทยสามารถจับกระแสโลกเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ รัฐบาลจะต้องช่วยสนับสนุนทั้งในส่วนผู้บริโภค ผู้ผลิต รวมไปถึงผู้ประกอบการ และจะต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ภายในอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ไทยตกขบวนของการเปลี่ยนผ่าน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save