fbpx
รัฐธรรมนูญวิปริต การเมืองวิปลาส สังคมวิปโยค

รัฐธรรมนูญวิปริต การเมืองวิปลาส สังคมวิปโยค

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

นับตั้งแต่ก่อนและสืบเนื่องมาจนกระทั่งภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ข้อวิจารณ์สำคัญต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ

1. การออกแบบระบบการเมืองที่ทำให้สถาบันทางการเมืองมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างเบาบาง 2. ทำให้สถาบันที่เสียงข้างน้อยจากการแต่งตั้งมีอำนาจเหนือกว่าสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 3. การวางแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวด้วยน้ำมือของชนชั้นนำส่วนน้อย

ข้อวิจารณ์ที่หนึ่ง สะท้อนออกมาในการออกแบบการเลือกตั้งแบบพิศดารอันมีผลให้ไม่อาจมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และในทางตรงกันข้ามมีพรรคการเมืองปัดเศษเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พร้อมไปกับ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเข้ามาทำหน้าที่สืบทอดอำนาจให้ยืดเยื้อยาวออกไป และยังมีการกำหนดให้ผู้นำเหล่าทัพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวุฒิสภา

ข้อสอง บรรดาองค์อิสระที่เกิดขึ้นล้วนแต่มาจากการคัดเลือกและแต่งตั้งขององค์กรที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนแม้แต่น้อย การให้ความเห็นชอบกับองค์กรอิสระหลายองค์กรเป็นอำนาจของวุฒิสภา ขณะที่การควบคุมของประชาชนต่อบรรดาองค์กรอิสระเหล่านี้ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง เช่น ประชาชนไม่สามารถเข้าชื่อเพื่อให้มีการตรวจสอบหรือถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้

ข้อสาม การกำหนดแผนยุทธศาสตร์และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่วางแผนระยะยาว 20 ปี (2561-2580) อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการกำหนดชะตากรรมของประเทศชาติและชีวิตผู้คน อาจกล่าวได้ว่านี่คือการแช่แข็งสังคมไทยให้อยู่กับโครงการทางการเมืองของชนชั้นนำที่ล้าหลัง ไม่ทันกับยุคสมัย

ดังนั้น แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2562 ซึ่งอาจทำให้ดูราวกับว่าสังคมไทยได้เดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีกระบวนการเลือกตั้งเป็นกลไกพื้นฐาน แต่ด้วยการออกแบบโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองในลักษณะที่กล่าวมา ทำให้อำนาจทางการเมืองของประชาชนในระบบการเมืองปัจจุบันกลับมีอยู่อย่างเบาบางเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งหมดส่งผลสืบเนื่องกลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองอันแสนจะ ‘วิปลาส’ ให้เห็นประจักษ์มาอย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายครา

– การจัดตั้งรัฐบาลด้วยกลุ่มบุคคลที่มาจากแรงสนับสนุนของอำนาจนอกระบบ รวมกับนักการเมืองที่ถูกกวาดต้อนให้เข้ามาอยู่ร่วมในฝั่งฟากของการสืบทอดอำนาจ แม้ว่าในอดีตอาจเป็นผู้ที่เป็น ‘เสื้อแดง’, ‘ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ’, ‘คัดค้านรัฐธรรมนูญ’ ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของรัฐบาล

– การถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

– กระบวนการยุติธรรมที่ปล่อยคดีของบุคคลที่กระทำความผิดหมดอายุความลง ด้วยข้อสังเกตว่าเป็นผลมาจากการย้ายค่ายย้ายฝั่งทางการเมือง

– การนำบุคคลที่ต้องโทษในคดีร้ายแรงมาเป็นดำรงตำแหน่งในรัฐบาลโดยไม่สนใจต่อมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาแบบไม่เกรงกลัวต่อพยานหลักฐานอันชัดเจน

– การแสดงความเห็นของผู้แทนประชาชนในฟากฝั่งรัฐบาลที่ดูถูกว่าประชาชนโง่ ไม่มีความรู้

– การทำงานของ กกต. ที่ดำเนินการกับพรรคอนาคตใหม่เป็นสำคัญ ขณะที่ดำเนินการอย่างละเอียดละออและต้องใช้เวลาเป็นอย่างมากในกรณีที่เป็นข้อกล่าวหาต่อบุคคลและพรรคการเมืองที่อยู่ในฝ่ายรัฐบาล

– การทำงานและการตัดสินของบรรดาองค์กรอิสระที่ทำให้เกิดเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยที่ขัดกับหลักวิชาและองค์ความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ อันทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากนักวิชาการแทบทุกสีทุกค่าย

– การขาดแผนที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาซึ่งมาจากความผันผวนอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ที่เทคโนโลยีมีผลอย่างมาก

– และอื่นๆ อีกมากมายจนเหลือจะพรรณนา รวมทั้งเป็นที่แน่ชัดว่าความวิปลาสทางการเมืองจะยังคงปรากฏให้เห็นเกิดขึ้นต่อไป

ผลสืบเนื่องอย่างสำคัญจากรัฐธรรมนูญที่วิปริตผิดเพี้ยนได้กลายเป็นเงื่อนไขพื้นฐานต่อการทำให้เกิดการเมืองวิปลาสขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจว่าภาวะเช่นนี้เป็นปรากฏการณ์อันเป็นปกติของสังคมการเมือง ทั้งที่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นความผิดปกติชนิดที่ไม่อาจยอมรับได้ ไม่ใช่เพียงในสังคมเสรีประชาธิปไตยเท่านั้น แม้ในสังคมไทยในห้วงเวลาก่อนหน้าวิกฤติการเมืองแบ่งสีแบ่งค่ายก็มีความแตกต่างไปอย่างมีนัยสำคัญ

รัฐธรรมนูญวิปริตไม่เพียงสร้างสถานการณ์การเมืองวิปลาสให้เกิดขึ้น ภายใต้ความผันผวนของระบบการเมืองเช่นว่าก็ยังส่งผลให้สังคมไทยตกต้องอยู่ในความยุ่งยากซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับตั้งแต่ความขัดแย้งการเมืองที่ยังคงดำรงอยู่และเพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ขยายถ่างกว้างขึ้นระหว่างคนจนและคนรวย ความไร้น้ำยาในการเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาไวรัสโคโรนา ภัยแล้ง ฝุ่น PM 2.5 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เห็นหัวชุมชนหรือคนในท้องถิ่น ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำให้เราต่างต้องตกอยู่ในภาวะสังคมวิปโยคที่รุนแรงครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

แน่นอนว่าการขับไล่ผู้นำและรัฐบาลชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงหากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะในเบื้องต้น จะแสดงให้เห็นถึงพลังของแรงกดดันที่มีและความอ่อนแอทางความชอบธรรมของระบบการเมืองที่ดำรงอยู่

แต่ลำพังความเปลี่ยนแปลงเพียงเท่านี้ก็ยังไม่อาจนำมาซึ่งการทำให้สังคมไทยสามารถมองเห็นอนาคตข้างหน้าได้อย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญที่วิปริตอย่างรอบด้านก็จะยังความวิปลาสทางการเมืองให้เกิดขึ้นอีก พร้อมกันไปกับสังคมหรือประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่แบกรับความวิปโยคไว้บนบ่าของตน มีความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปในหลายสถาบันที่สัมพันธ์กับโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของการปรับแก้อำนาจทางการอันจะทำให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านความยุ่งยากในขณะนี้ไปได้

แม้การจัดการกับโครงสร้างและสถาบันการเมืองโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สามารถเห็นผลสำเร็จได้ภายในชั่วข้ามวันข้ามคืนหรือภายในสัปดาห์ มีอุปสรรคอีกมากมายมหาศาลที่รออยู่ข้างหน้า ทั้งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน สามารถกล่าวถึงได้ บางอย่างก็ดำรงอยู่อย่างคลุมเครือ ยากจะกล่าวถึง อย่างไรก็ตาม ดูราวกับมีทางเลือกอยู่ไม่มากนักในการเผชิญหน้ากับความยุ่งยากที่คุกคามสังคมไทยอยู่ในห้วงเวลานี้

เราคงต้องก้าวเดินต่อไปด้วยความหวังว่าความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นจะยุติลง สังคมต้องไม่ปล่อยให้เป็นภาระของคนรุ่นหลังที่จะต้องมาแบกรับในสิ่งที่เขาไม่ได้สร้างขึ้น ภาวะของความวิปริต, วิปลาส, และวิปโยค ในลักษณะดังกล่าวควรจะต้องจบลงเพื่อให้คนรุ่นถัดไปได้มีโอกาสสร้างเส้นทางในแบบที่พวกเขาปรารถนา

อันเป็นการสร้างสังคมที่มองเห็นแต่ละคนเป็นเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียม มีเกียรติและศักดิ์ศรีที่ต้องได้รับการเคารพ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เศษฝุ่นที่ไร้ความหมายและคุณค่าใดๆ เฉกเช่นที่เป็นอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save