fbpx
คน-ความรู้-อำนาจ : โจทย์ท้าทาย สกสว. ในโลกใหม่

คน-ความรู้-อำนาจ : โจทย์ท้าทาย สกสว. ในโลกใหม่

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรืออดีตสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชวนผมเข้าร่วมงานเสวนา TSRI Virtual Forum 2020 เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศภายใต้ระบบโลกใหม่” ใน panel #2 หัวข้อ “คนกับความรู้ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ร่วมกับ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร และ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ดำเนินรายการโดย สุทธิชัย หยุ่น จึงขอเรียบเรียงและขยายความประเด็นอภิปรายของผมในวันนั้นมาเผยแพร่เพื่อให้สังคมแลกเปลี่ยนถกเถียงกันต่อครับ

 

 

เราทุกคนคือนักวิจัยและนักนวัตกรรม

 

คำถามที่ว่าบุคลากรในระบบวิจัยและนวัตกรรมมีจำนวนเพียงพอหรือไม่ สัดส่วนที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ ผมคงตอบไม่ได้เพราะไม่เคยทำวิจัยเรื่องนี้  แม้ว่าแผนการสร้างนักวิจัยอาชีพและนักนวัตกรรมอาชีพมีความสำคัญก็จริง แต่อยากชวนมองโจทย์ที่ท้าทายขึ้นไปอีกว่า ทำอย่างไรให้ทุกคนเป็นนักนวัตกรรมได้ ทำอย่างไรให้คนไทยตั้งแต่เด็กจนแก่มีสปิริตความเป็นนักวิจัยและนักคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัว ซึ่งผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ เพราะนักนวัตกรรมสร้างได้

สำหรับผม นักวิจัยคือคนที่พยายามจัดการความจริง ทั้งในแง่การทำความเข้าใจและอธิบายความจริงที่อยู่เบื้องหน้าเรา รอให้เราค้นหา หรือในแง่ถอดรื้อเบื้องหลังกระบวนการผลิตสร้างความจริง เราค้นหา-เข้าถึง-ถอดรื้อความจริงผ่านแว่นตาที่ใช้มองโลก (world view) แบบต่างๆ ด้วยวิธีทำงาน (methodology) แบบต่างๆ เรียกว่านักวิจัยพยายามเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจทุกข์ เข้าใจเหตุแห่งทุกข์ ส่วนนักนวัตกรรมคือคนที่หาทางแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ สร้างแนวทางใหม่ๆ ที่ใช้การได้จริง จนคนวงกว้างยอมรับและนำไปใช้ต่อ เป็นคนทำงานเพื่อนำเสนอหนทางดับทุกข์

ดังนั้น นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในระดับ disrupt ระบบเท่านั้น เวลาผมนึกถึงนักวิจัยหรือนักนวัตกรรมจึงไม่ได้หมายถึงแต่คนที่มีอาชีพเป็นนักวิจัยหรือนักนวัตกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ในสถาบันวิจัย หรือในบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่รวมถึงศิลปิน สื่อมวลชน พ่อค้าแม่ค้า นักการเมือง เกษตรกร ผู้ประกอบการ ฯลฯ ที่ชอบสำรวจ ทดลอง กล้าคิด กล้าจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ  เป็นคนที่ช่างสังเกต ชอบตั้งคำถาม และใช้ความรู้และประสบการณ์ในการหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาท้าทายในชีวิตของตัวเอง ครอบครัว การงาน และสังคม

ถ้าจับตรงนี้เป็นแก่น คนที่เรานั่งนับกันว่าอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือในสถาบันวิจัยกี่คน มีพอไหม อาจเป็นแค่นักวิจัยหรือนักนวัตกรรมแต่ในป้ายชื่อ แต่ไม่ใช่นักวิจัยหรือนักนวัตกรรมพันธุ์แท้ ไม่ได้ฟัง-คิด-ถาม-เขียน-พูด-ทำในแบบนักวิจัย ไม่ได้มีสปิริตของนักนวัตกรรม แม้คนในระบบเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์มากอย่างที่เราหวัง มิพักต้องตั้งคำถามด้วยว่า คนกลุ่มนี้ต้องใช้ชีวิตการงานอยู่ในระบบนิเวศด้านวิจัยและนวัตกรรมแบบไหน ระบบเอื้อให้พวกเขาได้ใช้ความสามารถของตนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด

คำถามที่ ‘ใช่’ มากกว่าจึงน่าจะเป็น เราจะสร้างสังคมที่รักการเรียนรู้และเชื่อในความรู้ได้อย่างไร เราจะสร้างวัฒนธรรมวิจัยอย่างไร และทำอย่างไรให้คนธรรมดาทั่วไปมีจิตวิญญาณของนักนวัตกรรม ซึ่งมันโยงไปกับระบบการเรียนรู้ของทั้งสังคม

เราไม่สามารถฝากความหวังไว้ที่สถาบันการศึกษาทางการอย่างมหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะมหาวิทยาลัยปรับตัวช้า เต็มไปด้วยโครงสร้างและกฎกติกาที่ไร้ความหมาย แข็งตัว และล้าหลัง ไม่เชื่อมโยงกับอะไรทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตหรือชุมชน ถึงวันนี้ มหาวิทยาลัยไม่ใช่แหล่งผูกขาดปัญญาความรู้ของสังคมอีกต่อไป สังคมทั้งสังคม (ที่ทำงาน ครอบครัว ชุมชน ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วงการหนังสือ สื่อสารมวลชน) ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ใหม่ตลอดชีวิตด้วย สำหรับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ใหญ่และคนแก่

สกสว.ไม่ควรตีกรอบการทำงานเฉพาะกับสถาบันความรู้แบบทางการในระบบเป็นหลักเท่านั้น ไม่ควรมุ่งทำงานเฉพาะกับนักวิจัยอาชีพและนักนวัตกรรมอาชีพ แต่น่าจะตีโจทย์ให้กว้างขึ้น ถึงแก่นขึ้น โดยทำงานร่วมกับสถาบัน นักวิจัย และนักนวัตกรรมนอกระบบทางการในหลากหลายแวดวงให้มากขึ้น

 

นักวิจัยและนักนวัตกรรมสร้างได้

 

โลกเก่าถูกเขย่าอย่างหนักให้ต้องเปลี่ยน ระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลกป่วยมาตั้งแต่ยุคก่อนโควิดแล้ว ในทางการเมือง ระเบียบโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยถูกท้าทายด้วยกระแสประชาธิปไตยไร้เสรี (illiberal democracy) กระแสลมพัดแรงไปทางขวาในหลายประเทศ ผู้นำอำนาจนิยม ผู้นำชาตินิยมเอียงขวา และผู้นำเผด็จการครองอำนาจได้ง่ายขึ้น ประชาธิปไตยเผชิญหน้าความท้าทายใหญ่ ในทางเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ภายใต้ระเบียบโลกเสรีนิยมใหม่ถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรมในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง ความยั่งยืน และการสร้างงานดีมีคุณค่า

โจทย์ความท้าทายของโลกยุคหลังโควิดยิ่งยากขึ้นไปอีก ในทางเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โอกาสในการสร้างงานดีมีคุณค่ายิ่งยากขึ้น เอาแค่ให้คนมีงานทำเสียก่อนก็ยังเป็นงานแสนยาก รัฐเข้าแทรกแซงตลาดโดยตรงมากขึ้นเพื่อแก้วิกฤต นโยบายอุตสาหกรรมฟื้นกลับมา เช่น การห้ามส่งออก (เช่น อุปกรณ์การแพทย์ อาหาร) การขึ้นภาษี การสนับสนุนอุตสาหกรรมเฉพาะ นอกจากนั้น ขนาดของรัฐก็ใหญ่ขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับโครงการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจขนานใหญ่ เรายิ่งต้องการความโปร่งใสและระบบการตรวจสอบรัฐจากภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ทั้งจากสื่อ เอ็นจีโอ และนักวิชาการ

ในทางการเมือง รัฐขยายพื้นที่เข้าแทรกแซงชีวิตทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจมากขึ้น ในนามของความมั่นคงด้านสุขภาพ รัฐเข้าไปล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัว เช่น ตรวจสอบการติดต่อสื่อสารและการเดินทางของผู้คน ทำตัวเป็นรัฐพี่เบิ้มที่คอยเฝ้าจับตาดูประชาชน และผู้มีอำนาจในรัฐมักไม่ยอมปล่อยมือจากอำนาจที่ได้รับมากขึ้นในช่วงวิกฤต อำนาจฉุกเฉิน-อำนาจพิเศษกลายเป็น new normal คำถามสำคัญคือเราจะหาสมดุลในเรื่องเหล่านี้อย่างไร

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความรู้มีอายุสั้นมาก โลกเต็มไปด้วยความผันผวนไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ มีความซับซ้อน ทุกอย่างเกาะเกี่ยวสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหมด  ในโลกใหม่สังคมยิ่งต้องการคำถามใหม่ คำตอบใหม่ ทางเลือกใหม่ นวัตกรรมใหม่ คนพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของนักวิจัยและนักนวัตกรรม ในความหมายที่ทุกคนเป็นนักวิจัยและนักนวัตกรรมได้

ทำไมทุกคนถึงมีความสำคัญ?

เพราะปัญหาในโลกยุคใหม่มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น เต็มไปด้วยปัญหาที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ดังนั้น สถาบันใดสถาบันหนึ่ง ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงลำพัง การยึดติดกับความสำเร็จในอดีต องค์ความรู้ในอดีต คนในอดีต อาจไม่มีความหมายเลยก็ได้  โลกวันนี้จึงต้องอาศัย “ปัญญารวมหมู่” (collective wisdom) ของทั้งสังคม เพื่อหาวิธีทำงานที่ก้าวข้ามโจทย์ท้าทายแสนยากเหล่านี้ รวมทั้งสังคมเองก็คาดหวังการมีส่วนร่วมในการออกแบบและผลักดันนโยบายด้วย หมดยุคของการปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้เพียงหยิบมือมาตัดสินใจแทน

ทีนี้เราจะสร้างนักวิจัยและนักนวัตกรรมที่เหมาะกับโลกใหม่ได้อย่างไร?

นักวิจัยและนักนวัตกรรมไม่ได้เกิดมาพร้อมปัญญาที่เก่งกว่าชาวบ้าน แต่มาจากสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่ดี เรียนรู้แต่เนื้อหาไม่พอ (ไม่นับว่าเนื้อหาก็ต้องปรับให้ทันโลก เข้าถึงแก่นความรู้ และมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์) เรายังต้องฝึกทักษะและสร้างคาแรกเตอร์ของผู้เรียนด้วย เราต้องการการเรียนรู้รูปแบบใหม่

ในหนังสือ “คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก” (Creating Innovators) ของโทนี วากเนอร์ (Tony Wagner) แห่ง Harvard Innovation Lab เสนอว่า ในโลกใหม่เราต้องการนักนวัตกรรมที่มีทักษะความสามารถในด้านต่างๆ เหล่านี้

  • การตั้งคำถาม เพราะคำถามเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมและการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ที่ช่วยดึงให้เราออกจาก status quo
  • การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการฝึกเผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่คาดคิดและไม่เคยเจอมาก่อน
  • ความสามารถในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทำงานร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่แตกต่างจากตัวเอง
  • ความสามารถในการเป็นผู้นำ ไม่ใช่ด้วยอำนาจบังคับ แต่ด้วยพลังจูงใจ
  • ความสามารถในการปรับตัว ลื่นไหลตามสถานการณ์ รวดเร็วทันกาล
  • ความคิดริเริ่ม ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นผู้ประกอบการ
  • การจัดการข้อมูล ทั้งในแง่การเข้าถึง คัดสรร วิเคราะห์ ตีความ และใช้ประโยชน์จากข้อมูล
  • ความสามารถในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์
  • การใฝ่รู้ มีจินตนาการ
  • ความสามารถในการเชื่อมโยง มีความเป็นสหวิทยาการในตัว มองเห็นปัญหาในมิติต่างๆ อย่างบูรณาการ หาวิธีแก้ที่ทะลุกรอบแต่เป็นไปได้
  • ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เพราะช่วยให้เราลองมองโลกจากมุมที่หลากหลาย ซึ่งต้องการทักษะการฟังและการสังเกต
  • ความชอบทดลองและลงมือทำ – ดังที่มีผู้กล่าวว่า “โลกไม่สนใจว่าคุณรู้อะไร แต่สนใจว่าคุณจะทำอะไรกับสิ่งที่คุณรู้มากกว่า”

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับแนวคิดทักษะอนาคตใหม่ (21st Century Skills) ซึ่งสรุปออกมาได้เป็น 4Cs ได้แก่ Critical thinking, Creativity, Collaboration และ Communication

แล้วเราจะสร้างนักนวัตกรรมได้อย่างไร?

วากเนอร์นำเสนอ 3Ps เป็นคำตอบ

  • Play – ความมีอิสระที่จะเล่น ทดลอง และค้นพบ วัฒนธรรมการทดลองมีความสำคัญ ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่พลาดได้ สร้างโอกาสเรียนรู้จากการลงมือทำและการทำผิด
  • Passion – ความหลงใหลเป็นแรงขับสำคัญในการสร้างนวัตกรรม ผ่านการทุ่มเทฝึกฝนและลงมือทำจนลงลึก เอาอยู่ และเป็นยอดฝีมือในเรื่องที่สนใจ
  • Purpose – ความมุ่งมั่นตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความแตกต่าง และสร้างการเปลี่ยนแปลง

คำถามก็คือ ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ สสกว.พยายามจะสร้างขึ้นนั้น มีลักษณะเป็นพื้นที่อิสระที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ หรือเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกรอบการทำงาน กฎระเบียบ และแบบฟอร์มที่รุงรัง-ล้าหลัง, สกสว.สามารถดึงคนเก่งที่มี passion ในหลากหลายวงการมาร่วมทำงานได้ไหม สกสว.ทำงานกับใคร กว้างขวางและหลากหลายแค่ไหน ระบบพัฒนานักวิจัยและนักนวัตกรรมของ สกสว.เป็นอย่างไร ทำให้เขาเติบโตบนเส้นทางที่เขาหลงใหลได้หรือไม่ และ สกสว. มีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงไหม กล้าคิดใหญ่ไหม ตั้งคำถามถูกเรื่องไหม

 

6 ‘รู้’ ในโลกใหม่

 

ในโลกใบใหม่ นักวิจัยและนักนวัตกรรมควรรู้อะไรและรู้อย่างไร เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่ามี 6 ‘รู้’ ที่จำเป็นในโลกใหม่

หนึ่ง รู้เชื่อมโลก – ต้องมี global awareness ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองโลก โลกเปลี่ยนอย่างไร นำไปสู่อะไร เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร

สอง รู้รอบ-รู้หลัก – ต้องรู้รอบในชุดความรู้พื้นฐานที่สำคัญ เข้าใจแก่นของเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและสังคม เช่น

  • economic literacy: การทำงานของเศรษฐกิจ การจัดการด้านการเงินและทรัพยากรต่างๆ
  • civic literacy: การมีส่วนร่วมทางสังคมในฐานะพลเมือง สิทธิเสรีภาพ จิตสาธารณะ
  • health (and wellbeing) literacy: การดูแลตัวเองและคนรอบตัวทางร่างกายและจิตใจ
  • environmental literacy: เรากับโลกสัมพันธ์กันอย่างไร การกระทำของเรากระทบโลกอย่างไร ทำอย่างไรให้ collective action ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การต่อสู้กับ climate change ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • information literacy: ความสามารถในการเข้าใจ ตีความ วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมินข้อมูล
  • media literacy: ความรู้ทันสื่อ ว่าสารในสื่อถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ความจริงถูกสร้างมาอย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไร

สาม รู้วิพากษ์ – ผมนึกถึงชุดบทความของ อ.นิธิที่ตั้งคำถามว่า “…มีไว้ทำไม” เช่น ทหารมีไว้ทำไม เราจำเป็นต้องตั้งคำถามกับทุกสถาบันในสังคมว่าอะไรคือเป้าหมายและเหตุผลในการดำรงอยู่ของมัน และสถาบันต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อรักษาคุณค่าในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจะเป็นสังคมความรู้ เชื่อและใช้ความรู้ ก็ต้องใช้พลังแห่งเหตุผลเป็นตัวผลักดัน ความเป็นไปได้ใหม่และอนาคตใหม่ของสังคมเริ่มจากการวิพากษ์และตั้งคำถาม

การตั้งคำถามท้าทาย status quo คือแก่นสำคัญของความเป็นนักวิจัยและนักนวัตกรรม คนมักจะหลงคิดว่างานวิชาการคืองานศักดิ์สิทธิ์ ตำราคือความจริงแท้ เราต้องทำให้คนเข้าใจว่างานวิชาการไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ ทฤษฎีก็คือเรื่องเล่าชุดหนึ่งที่พยายามอธิบายและเข้าถึงความจริงให้มากที่สุด มันไม่ใช่ความจริงแท้อันสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นถ้ามีทฤษฎีใหม่ๆ ที่อธิบายความจริงได้ดีกว่า ทฤษฎีเก่าก็ถูกล้มล้างไป ความรู้จึงพัฒนาต่อยอดไปได้

เราต้องทำให้คนกล้าท้าทาย กล้าวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งที่เป็นอยู่ ถ้าสังคมยิ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่เราตั้งคำถามไม่ได้มากเท่าไร วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ วัฒนธรรมการท้าทายเพื่อแสวงหาความจริงก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่า เราเรียนรู้กันอย่างไรในครอบครัว ในโรงเรียน ในระดับสังคม และเรารับสื่อแบบไหน ถ้าในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีแต่วัฒนธรรมอำนาจนิยม ถ้าสื่อรับใช้หรือหวาดกลัวอำนาจแล้วไม่พูดถึงความจริงที่แตกต่าง คนก็จะไม่รู้จักตั้งคำถาม ทุกคนก็จะถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ที่ถูกผลิตซ้ำดั้งเดิม หรือถ้าเราตั้งคำถามแล้วแต่ถูกคุกคามด้วยความรุนแรงกลับมา สิ่งใหม่จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือ creative economy หรือประเทศนวัตกรรม ไม่ได้ ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพและไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นนี้แล้ว ปัญหาอย่างกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) ที่ต้องแก้ด้วยความรู้ ทักษะ และนวัตกรรม จึงไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่มันคือปัญหาทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรมด้วย

สี่ รู้เรียนรู้ – แก่นของการเรียนรู้ตลอดชีวิตคืออะไร นี่เป็นหนึ่งคำถามที่จะนำพาอีกหมื่นล้านคำถามตามมา

ห้า รู้ทันอำนาจ – คำถามสำคัญคือ “อำนาจอยู่ตรงไหนในสมการระหว่างคนกับความรู้” ในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ความรู้คือพลังการผลิต (force of production) คนกับความรู้คือรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิต (social relation of production) ในสมการคนกับความรู้ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ยังมี “อำนาจ” เป็นโครงสร้างส่วนบน (superstructure) ที่คอยกำกับอยู่ด้วย

คนทำงานบนฐานความรู้อย่างเทคโนแครตหรือนักวิชาการมักลืมว่าอำนาจอยู่ตรงไหน และส่งผลอย่างไร เราคุยเรื่องคนกับความรู้โดยไม่สนใจมิติเชิงอำนาจไม่ได้ เพราะอำนาจเป็นโครงสร้างส่วนบน เป็นปัจจัยเชิงสถาบันที่กำกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างคนกับความรู้ไว้ ว่าความรู้จะถูกนำไปรับใช้ใคร อะไรที่ใครควรรู้หรือห้ามรู้ ความรู้แบบไหนควรถูกรู้ก่อนเพื่อประโยชน์ของใคร ใครจะมีสิทธิเข้าถึงความรู้ ใครจะมีสิทธิตั้งโจทย์วิจัย ใครจะมีสิทธิได้ทุนวิจัย ซึ่งอำนาจที่กล่าวถึงหมายรวมทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย

ถ้าจะวิเคราะห์และประเมินผลงานของ สกสว. เราไม่สามารถดูได้แค่ KPI หรือ OKR ตามแผนอย่างเดียว แต่เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยความรู้มีความสำคัญมากว่า สกสว.รับใช้ใคร (รัฐบาลหรือประชาชน) represent อะไรหรือใคร ทำงานกับใคร รับผิดรับชอบต่อใคร ใช้อะไรเป็นเครื่องวัดผลสำเร็จของการทำงาน เป็นอิสระหรือไม่อย่างไรในความหมายไหน

หก รู้เพื่อเปลี่ยน – ความรู้ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม เราจะใช้วิกฤตใหญ่รอบนี้เป็นโอกาสในการทำให้ประเทศไทยดีขึ้นในเชิงโครงสร้างได้อย่างไร เราจะออกแบบมาตรการแก้วิกฤตระยะสั้นให้ส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศในระยะยาวอย่างไร เช่น พัฒนาโรงพยาบาลเพื่อรับมือโควิดในทางที่ทำให้ระบบโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้นในอนาคตระยะยาวด้วย เราจะออกแบบนโยบายกระตุ้นและพลิกฟื้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าในทางที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นและคนไทยเก่งขึ้นได้อย่างไร งบประมาณควรจะถูกจัดสรรอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุดโดยตอบโจทย์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

5 นวัตกรรมที่ลืมไม่ได้

 

นวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องการประดิษฐ์ ไม่ใช่แค่เรื่องการทดลองในห้องทดลอง ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีในการผลิตสิ่งของ แต่รวมถึงวิธีคิด วิธีตั้งคำถาม โมเดลธุรกิจ การออกแบบองค์กร รวมถึงนโยบายสาธารณะด้วย

ผมคิดว่านอกจากนวัตกรรมที่ทาง สกสว. สนใจ ซึ่งภายใต้โครงสร้างใหม่ ดูจะโฟกัสน้ำหนักไปที่ด้านวิทยาศาสตร์ ยังมีนวัตกรรมด้านอื่นๆ ที่ไม่ควรลืมที่จะหยิบมาถกแถลงกัน

หนึ่ง นวัตกรรมเชิงนโยบาย – เราต้องคิดใหม่ทั้งเรื่องกระบวนการกำหนดนโยบาย เนื้อหาของนโยบาย การผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง (การเมืองของนโยบายสาธารณะ) เช่น ถ้าเราจะคิดเรื่องความมั่นคงต้องไม่จบที่เรือดำน้ำ มันตื้นและหยาบเกินไป ถ้าจะช่วยเกษตรกรยากจนควรทำอย่างไรให้ตรงเป้าและไม่สร้างผลกระทบที่ไม่คาดคิดในระยะยาว หรือจะผลักดันนโยบายที่มีประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ดันมีผู้เสียประโยชน์เป็นคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจมากอย่างไร เช่น นโยบายส่งเสริมการแข่งขัน ต่อต้านการผูกขาด เราจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร

สอง นวัตกรรมเชิงสถาบัน – สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรื้อรัฐไทย รัฐไทยเป็นรัฐอำนาจนิยม รัฐผูกขาดรวมศูนย์ รัฐพิธีกรรม รัฐราชการที่แข็งกระด้าง รัฐไซโลที่กลไกต่างๆ แยกส่วนไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน รัฐไทยจะเป็นแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ต่อไปแล้ว เพราะอำนาจทำลายนวัตกรรม ทำลายความรู้ ถ้าประเทศใช้แต่อำนาจเป็นหลักในการกำหนดนโยบาย จะมีองค์กรวิจัยไว้ทำไม เพราะทำวิจัยไปก็ได้ประโยชน์ไม่เต็มที่

เราต้องการนวัตกรรมรื้อภาครัฐที่ทำให้ได้ smart state และ open government เราต้องการรัฐของ-โดย-เพื่อประชาชน รัฐที่รับผิดชอบต่อประชาชน เห็นหัวประชาชน และฉลาดทันโลก รวมทั้งยืดหยุ่นปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีด้วย

สาม นวัตกรรมการกระจายผลประโยชน์ – ที่ผ่านมาเราสนใจแต่นวัตกรรมสร้างประสิทธิภาพ ว่าผลิตอย่างไรให้ effective ลดต้นทุน เพิ่มกำไรอย่างไร แต่มักละเลยเรื่องความเป็นธรรม ทำอย่างไรให้ประโยชน์ที่ได้จากนวัตกรรมถูกนำไปจัดสรรและกระจายอย่างเป็นธรรม

ดานี รอดริก บอกว่าปัญหาของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์คือ ระบบนี้สร้าง ‘งานที่ดี’ ได้น้อยเกินไป – งานที่ดีและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองและคนกลุ่มน้อยของสังคม ซึ่งอยู่ในภาคการผลิตก้าวหน้าที่อยู่บนฐานของความรู้และนวัตกรรม ส่วนคนที่เหลือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่าของสังคม ต้องอยู่กับงานที่ไม่ดี และไม่ค่อยมีส่วนสร้างนวัตกรรม อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากมันน้อยด้วย

ดังนั้น นอกจากคิดสร้างนวัตกรรมแล้ว ต้องคิดด้วยว่าเราจะกระจายประโยชน์จากเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและความรู้อย่างไร

สี่ นวัตกรรมการเรียนรู้ – เราต้องคิดทั้งเรื่องรูปแบบและกระบวนการเรียนรู้ใหม่ โดยเฉพาะโอกาสในการใช้เครื่องมือใหม่ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล ในการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน อีกทั้งไม่ใช่นึกถึงแค่หน้าเด็กๆ ในฐานะผู้เรียนเท่านั้น แต่รวมผู้ใหญ่จนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ด้วย

ห้า นวัตกรรมการเมือง – เราต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ ในฐานะ ‘สัญญาประชาคมใหม่’ ที่รองรับ ‘สามัญสำนึกใหม่’ ของผู้คนในยุคสมัยใหม่  ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญในการออกจากความขัดแย้งด้วยสันติ

รัฐธรรมนูญใหม่ควรเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ นับรวมทุกฝ่ายที่หลากหลายอยู่ในนั้น มองเห็น ‘ชาติ’ เท่ากับ ‘ประชาชน’ สร้างระบบการเมืองที่เชื่อมั่นในพลังของประชาชน มีหลักนิติธรรม เป็นรัฐธรรมนูญแห่งอนาคตที่รับมือการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้าได้ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเพื่อมุ่งรักษาอดีตหรือมัวจมปลักกับปัญหาเก่าหรือความขัดแย้งดั้งเดิมจนไม่เคลื่อนไปข้างหน้าเสียที แม้ว่าพลวัตของสังคมการเมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาก็ตาม

ระบอบเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมสร้างความรู้ไม่ได้ สร้างวัฒนธรรมวิจัยไม่ได้ และไม่ใช่เนื้อดินที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการสร้างนวัตกรรม มันเป็นระบอบแห่งความกลัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักเหตุผล แต่อยู่กับอำนาจดิบ เป็นระบอบปิดที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับอะไร การที่สถาบันทางปัญญาไปรับใช้ระบอบเผด็จการและเดินร่วมวิถีเผด็จการจึงเข้าใจได้ยาก เพราะขัดต่อเหตุผลในการดำรงอยู่ของตัวเอง ในประวัติศาสตร์โลก สถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยมักเป็นสถาบันแห่งแสงสว่างเพื่อดับความมืด ดับอวิชชา ท้าทายอำนาจ ท้าทาย status quo แต่สถาบันวิจัยไทยและมหาวิทยาลัยไทยมักรับใช้อำนาจ ธำรงรักษาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมไทยไม่ไปไหน

 

หยุดหวังการเปลี่ยนแปลงจากผู้มีอำนาจ

มุ่งมั่นทำงานเคียงข้างสังคม

 

เป้าหมายสูงสุดของงานวิจัยคือการสร้างความเปลี่ยนแปลง เรากำลังค้นหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้น จุดหมายปลายทางของงานวิจัยคือการถูกนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่รวมถึงบทบาทพื้นฐานอย่างการเปิดโลกความรู้ให้ผู้คน การจัดกรอบความคิด (framing) เปิดประเด็นถกเถียงสาธารณะ และตั้งคำถามที่ควรถามในสังคม

การทำวิจัยมักเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักวิชาการ บางคนอาจจะคิดว่าแค่ทำงานวิจัยที่ดีมีคุณภาพก็ถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางในตัวเองแล้ว เขียนเสร็จส่งงานแล้วจบกัน แต่ผมคิดว่าไม่ใช่แค่นั้น เราต้องลงมือผลักดันให้งานดีๆ ถูกเผยแพร่ไปสู่สังคมวงกว้างและถูกนำไปใช้ประโยชน์ นักวิจัยต้องสื่อสารกับสังคมให้เป็นด้วย เล่าเรื่องให้เป็นเพื่อสร้างอิมแพคจากงานวิจัย รวมถึงต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ว่าจะสื่อสารกับสาธารณะผ่านช่องทางไหน อย่างไร จังหวะเวลาใด เพราะนักวิจัยจำนวนมากไม่รู้จักวิธีทำงานร่วมกับสื่อมวลชน ถ้าเราทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมตรงนี้ดีๆ สุดท้ายสังคมจะได้ประโยชน์ ได้ฟังความรู้จากตัวละครที่ทำงานวิจัยจริงๆ ในแบบที่รู้เรื่อง-เข้าใจได้ มองเห็นความเชื่อมโยงกับตัวเขา สนุกกับความรู้ และนำความรู้ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบของตัวเองได้

การนำความรู้ออกไปหาคนหมู่มาก สุดท้ายมันย้อนกลับมาทำให้งานวิชาการเข้มแข็ง เพราะถ้าคนทำงานวิชาการได้ปะทะสังสรรค์กับผู้คนที่หลากหลาย ได้ออกจากพื้นที่ปลอดภัยมาสัมพันธ์เชื่อมโยงกับโลกจริง ก็จะสามารถตั้งโจทย์ที่สนุกและน่าสนใจขึ้น ผมนึกถึงคำที่อาจารย์อัมมาร สยามวาลา บอกว่า เราไม่สามารถหาคำตอบที่น่าสนใจได้จากโจทย์ที่ไม่ดี คำตอบที่ดีมาจากโจทย์ที่ดีเท่านั้น เพราะฉะนั้นการออกไปปะทะกับสังคมพบเจอผู้คนจะช่วยขยายโลกของนักวิชาการให้กว้างขึ้น ทำให้โจทย์หรือคำถามในงานวิจัยคมขึ้นรอบด้านขึ้น งานวิชาการในอนาคตก็จะมีทั้งคุณภาพและคุณค่ามากขึ้น

นักวิชาการไทยทำงานวิจัยกันไม่น้อย เราตั้งคำถามกับโจทย์สำคัญๆ ของประเทศเยอะมาก แล้วก็มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากฐานวิชาการแทบจะทุกเรื่อง แต่ปัญหาก็คือว่าประเทศนี้ไม่ได้กำหนดนโยบายด้วยความรู้ ประเทศนี้กำหนดนโยบายด้วยอำนาจ ที่ผ่านมานักวิชาการจำนวนหนึ่งที่มีความรู้ก็หาวิธีการผลักดันความรู้ไปสู่นโยบายด้วยการเข้าหาอำนาจ เอางานวิจัยของตัวเองไปยื่นใส่มือผู้มีอำนาจ ไปกระซิบข้างหูผู้มีอำนาจ แล้วก็หวังว่าผู้มีอำนาจจะเอาไปปฏิบัติ มันถึงไม่เคยเวิร์ค เพราะปัญหามันอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจไม่มีเหตุอะไรที่จะเอาความรู้พวกนี้ไปทำต่อ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงมันกระทบกับฐานะอำนาจเดิมของเขา มันทำให้ทำงานยากขึ้น เหนื่อยขึ้น ทำให้ผลประโยชน์ที่เคยได้รับหายไป ดูตัวอย่างจากข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปหลายเรื่องในยุค คสช. เช่น ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูประบบต่อต้านคอร์รัปชั่น สุดท้ายตัวหลักที่ขวางเรื่องนี้ก็คือเหล่านายพลผู้มีอำนาจในรัฐบาลทหารทั้งนั้น

โลกของการเมืองมันเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนแล้ว เทคโนแครตจะมัวติดอยู่ในการเมืองแบบเทคโนแครตไม่ได้แล้ว เราต้องเชื่อมั่นในพลังของประชาชนในระบบการเมืองเปิด อย่าหวังแค่วิ่งตรงไปหาผู้มีอำนาจ เราต้องพยายามสื่อสารความรู้โดยตรงกับประชาชน แล้วเราก็หวังว่าประชาชนจะย้อนกลับมาช่วยเราในการเข้าไปกำกับ บังคับ และกดดันผู้มีอำนาจให้ต้องปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย เพราะเราไม่สามารถปฏิรูปประเทศนี้จากผู้มีอำนาจในรัฐราชการได้ (มิต้องพูดถึงว่า รัฐราชการที่มีกองทัพเป็นผู้นำ) เราต้องปฏิรูปประเทศจากฐานข้างล่าง จากประชาชน

สกสว. และกลไกต่างๆ ในระบบวิจัยและนวัตกรรมต้องให้ความสำคัญกับการทำงานความรู้ร่วมกับสังคมวงกว้าง ตลอดกระบวนการทำวิจัยทั้งต้นน้ำ (ตั้งโจทย์วิจัย) กลางน้ำ (ทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ) และปลายน้ำ (สื่อสารความรู้สู่สาธารณะ)

 

4 ความฝันถึง สกสว.

 

ผมเคยทำงานร่วมกับ สกว. หลายครั้งในหลายบทบาท รู้ว่าคน สกว. ที่กลายมาเป็น สกสว. ในปัจจุบันนั้น ตั้งใจทำงานและมีจิตสาธารณะสูง เลยอยากให้กำลังใจในภารกิจใหม่ที่ยากกว่าเดิมมาก อยากให้ความเหนื่อยมันตอบโจทย์ประเทศได้จริงๆ ไม่ได้เหนื่อยกับสิ่งที่มีประโยชน์จำกัด ส่งผลกระจุกตัวในกลุ่มเล็กๆ แต่ไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงสังคม หรือทำเรื่องเก่าๆ ซ้ำไปซ้ำมา กับคนเดิมๆ

ถ้าถามถึงความฝันว่า ผมอยากเห็น สกสว. ทำงานอย่างไร ในฐานะคนที่ติดตาม สกสว. อยู่ห่างๆ ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจระบบใหม่ทั้งหมด เพราะยังไม่เคยศึกษาลงลึกและไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ สกสว. ยุคใหม่ คำตอบคงเป็นแบบนี้ครับ

หนึ่ง การทำงานแบบ ‘ล่างขึ้นบน’ ที่ผู้คนทั้งในและนอกระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มองตัวเนื้องาน รวมทั้งนักวิจัยและนักนวัตกรรมในความหมายกว้างแบบที่เปิดประเด็นไว้ตอนต้น ทำงานเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริง กับชุมชน กับท้องถิ่น กับผู้คนและองค์กรที่หลากหลาย ช่วยกันกำหนดโจทย์ ช่วยกันลงมือทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่โจทย์และคนทำงานถูกกำหนดมาจากเทวดา ตั้งแต่ผู้มีอำนาจในรัฐบาล รัฐสภา กระทรวง บอร์ด และผู้บริหาร

สอง การทำงานแบบมีระยะห่างกับผู้มีอำนาจ ผมไม่อยากเห็น สกสว. เป็นองค์กรรับงานรับโจทย์จากรัฐบาลแบบ passive แบบเป็นลูกน้อง แต่ให้ทำตัวเป็นองค์กรธงนำในการสร้างบทสนทนาในสังคมด้วยปัญญา รวมถึงให้คำแนะนำและเป็นคู่คิดกับรัฐบาลและสังคมแบบ active

กฎหมาย สกว.ยุคแรกเมื่อปี 2535 พยายามออกแบบให้ สกว.มีความเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจทางการเมือง เป็นสถาบันทางปัญญาที่มีเสรีภาพทางวิชาการ ทำโจทย์ชี้นำประเทศไปข้างหน้า สกว.มีส่วนสำคัญในการสร้างฐานความรู้ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในหลายเรื่อง เช่น ชุดงานวิจัยที่ต่อมากลายเป็นฐานคิดและข้อเสนอสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เป็นต้น สิ่งที่ต้องสำรวจตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอคือการระมัดระวังไม่ให้โครงสร้างใหม่ตามกฎหมายใหม่พา สกสว. ย้อนกลับไปอยู่ในรัฐราชการมากขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้ สกสว. ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ล้าหลังและมองแคบ ผมฝันอยากเห็น สกสว. เป็นองค์กรนักคิด ไม่ใช่นักเทคนิค และเป็นมันสมองมากกว่าเป็นแขนขาของรัฐบาล

สาม การทำงานแบบไม่อยู่ภายใต้ระบบสัมปทานผูกขาด เปิดรับความหลากหลาย นักวิจัยหรือสถาบันวิจัยสามารถทำงานในโจทย์ที่ตัวเองเลือกและมี passion มีกระบวนการพิจารณาให้ทุนและบริหารทุนบนฐานของการแข่งขันที่เปิดกว้าง ทำอย่างไรให้โจทย์วิจัยแต่ละโจทย์ถูกมองจากหลากมุมมอง หลายศาสตร์ เกิดการทำงานข้ามกลุ่ม ข้ามศาสตร์ ข้ามพื้นที่ แล้วมีระบบที่ดีและเก่งในการบริหารจัดการความหลากหลายอย่างเป็นเอกภาพ โดยเข้าใจว่าความเป็นเอกภาพ (unity) ไม่ได้เท่ากับความเหมือนกัน (conformity)

โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรไม่ให้หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ทำงานเชิงกระจุก ไม่ทำงานแต่กับกลุ่มที่คุ้นเคย-มองเห็น-นึกออก หรือกลุ่มที่อยู่แต่ในเมืองใหญ่ นอกจากนั้น ทำอย่างไรให้ PMU หลากหลายขึ้น represent โลกความรู้ที่กว้างกว่ารั้วมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยแบบดั้งเดิม หรือหน่วยงานราชการ เพราะคนเก่ง นักวิชาการ นักวิจัย นักนวัตกรรม ไม่ได้อยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว เราจะเปิดพื้นที่ให้กับคนทำงานในโลกความรู้ในความหมายกว้างนอกรั้วมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการได้อย่างไร

สี่ การทำงานเพื่อปิดช่องว่างของระบบวิจัยและนวัตกรรม สกสว.ควรเป็นเจ้าภาพในภารกิจที่สำคัญ เช่น

(1) ภารกิจร่วมสร้างนักวิจัยและนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ ทำให้พวกเขาลงหลักปักฐานในวงการวิชาการได้ทั้งในเชิงความรู้และวิชาชีพ มีระบบโค้ชที่ปรึกษาที่ดี มีระบบที่เปิดพื้นที่ให้คนทำงานความรู้รุ่นใหม่รักษาไฟและ passion ของเขาไว้ได้ ไม่ถูกทำลายด้วยระบบนิเวศด้านวิจัยและนวัตกรรมที่ย่ำแย่

(2) ภารกิจส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมในส่วนที่ตลาดไม่ทำงาน เช่น งานสำคัญที่ถ้ามองแคบๆ จะหลงคิดว่าไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ หรืองานที่ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกบนเส้นทางสู่ความสำเร็จ ทำให้มีต้นทุนสูงจนตลาดไม่กล้ารับความเสี่ยง

(3) ภารกิจเชื่อมต่อนักวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามกลุ่มเพื่อมาตอบโจทย์สำคัญของประเทศร่วมกัน ส่งเสริมธรรมชาติความเป็นสหวิทยาการ และแก้ปัญหาความล้มเหลวในการร่วมมือกัน (coordination failure) ในระบบวิจัยและนวัตกรรม

 


 

หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถรับชมเทปบันทึกภาพงานเสวนาได้ผ่านคลิปด้านล่างนี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save