fbpx
ราษฎร์ธรรมนูญ

ราษฎร์ธรรมนูญ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ ‘ราษฎรทั้งหลาย’ ที่เกิดขึ้นและดำเนินมาอย่างต่อเนื่องใน พ.ศ. 2563 จะยืดเยื้อทอดยาวออกไปมากเพียงใด หรือจะประสบผลอันเป็นรูปธรรมบั้นปลายในลักษณะเช่นไร แต่ข้อเรียกร้องที่กระหึ่มก้องสังคมไทยในตลอดห้วงปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นหลักหมายทางความคิดที่สำคัญซึ่งได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

อีกนัยหนึ่ง หลักหมายทางความคิดดังกล่าว หรือ ‘ราษฎร์ธรรมนูญ’ อันหมายความถึงกรอบโครงร่างทางความคิดของชุดกติกาในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสถาบันทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอของสามัญชนอันหลากหลาย ทั้งในเชิงของกลุ่มองค์กร ปัจเจกบุคคล ทั้งที่เป็นการรวมตัวกันขึ้นในชั่วขณะหรือที่มีการเกาะกลุ่มมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

โดยกรอบความคิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสะสมข้อมูลที่แพร่กระจายในสื่อสมัยใหม่ ข้อเท็จจริงที่เห็นได้ในเชิงประจักษ์ ปรากฏการณ์ความเสื่อมถอยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สภาพปัญหาซึ่งตอกย้ำซ้ำเติมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก่อนตกผลึกเป็นชุดความคิดผ่านการอภิปรายถกเถียงทางปัญญาในพื้นที่สาธารณะ

หากกล่าวสรุปรวบยอดทางความคิด กรอบร่างทางความคิดของ ‘ราษฎร์ธรรมนูญ’ ประกอบด้วยหลัก 6 ประการ ดังนี้

 

หนึ่ง สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่พ้นไปจากการเมือง

 

แม้ประเด็นดังกล่าวจะเป็นประเด็นที่ 3 ใน ‘3 ข้อเรียกร้อง’ (ประยุทธ์ออกไป, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นหลักหมายสำคัญของการขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวที่ดำรงอยู่ในขณะนี้

หากพิจารณาถึงข้อเรียกร้องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพระราชอำนาจในยามรัฐประหาร, การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สิน, หน่วยงานและข้าราชบริพารที่เกี่ยวข้อง, งบประมาณรายจ่ายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นต้น ข้อเสนอดังกล่าวก็เพื่อให้เกิดการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นไปตามระบบรัฐสภาดังที่เกิดในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ซึ่งล้วนแล้วยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้อย่างมั่นคงบนหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ตามระบบรัฐสภา

อันประกอบด้วย กษัตริย์ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง (the king reigns but does not rule) หรือ ‘ทรงราชย์แต่ไม่ทรงรัฐ’ และกษัตริย์ไม่อาจกระทำความผิด (the king can do no wrong) โดยมีความหมายประกอบกันว่ากษัตริย์จะดำรงเกียรติยศอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ แต่ไม่ได้ใช้อำนาจในการบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง หากมีรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ทำหน้าที่และรับผิดชอบในการกระทำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียก็ตาม การดำรงอยู่ในลักษณะเช่นนี้จะทำให้กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่อย่างมั่นคงและได้รับการเทิดทูนในฐานะประมุขของรัฐ

ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมิได้เป็นสิ่งอื่นใดที่มากไปกว่าการจัดวางพระมหากษัตริย์ในเชิง ‘สถาบัน’ ให้เป็นไปตามหลักการของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเยี่ยงนานาอารยประเทศ

 

สอง รัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพ

 

ข้อเรียกร้องที่ก้องกังวานอย่างมากก็คือ ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการบริหารจัดการปัจจัยพื้นฐานที่จะเอื้อให้ผู้คนสามารถมีชีวิตได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบสวัสดิการทั้งกับผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป

การเคลื่อนไหวที่นำโดยกลุ่มนักเรียนเลว คือความพยายามที่ชัดเจนที่สุดในการต่อสู้กับระบบการศึกษาซึ่งกลายมาเป็นอุปสรรคกับการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก การให้ความสำคัญกับเสื้อผ้า หน้า ผม ผ่านการใช้อำนาจบังคับของกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารสถาบันการศึกษาจำนวนมากเพื่อต้องการปกป้องความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขณะที่ความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนไทยกลับไม่ได้มีผลประเมินที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบโรงเรียนนับตั้งแต่ประถมศึกษาขึ้นมาถึงระดับมัธยมศึกษาคือตัวอย่างของการทำลายศักยภาพในการใฝ่รู้และการตั้งคำถาม และเป็นผลสืบเนื่องต่อมาถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่การศึกษากลายเป็นเพียงการท่องจำความรู้โดยปราศจากแง่มุมของการตั้งคำถาม การแสวงหาคำตอบ

ยังไม่นับรวมไปถึงความเหลื่อมล้ำของการศึกษาที่ปรากฏชัดเจนระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด, โรงเรียนในเมืองกับนอกอำเภอเมือง, มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ

ความไร้ประสิทธิภาพและความเหลื่อมล้ำในปัจจัยที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตเช่นนี้ดำรงอยู่อย่างกว้างขวางทั้งในโรงเรียน โรงพยาบาล ระบบประกันสังคม เสียงเรียกร้องจึงต้องการให้เกิดรัฐสวัสดิการที่สามารถรองรับชีวิตผู้คนได้อย่างมีคุณภาพและอย่างทั่วถึงครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่ม

 

สาม สังคมพหุวัฒนธรรม

 

ในการเคลื่อนไหวของเหล่าราษฎรได้มีการแสดงตัวและการเรียกร้องของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลาย เฉพาะอย่างยิ่งในด้านของเพศภาวะ (gender) ชาติพันธุ์ หรือลัทธิความเชื่อ

การเรียกร้องของกลุ่มสตรีนิยม (feminist) กลุ่มเพศหลากหลาย (LGBT) ที่ต้องการให้เกิดความตระหนักในสิทธิและเสรีภาพที่ถูกละเลยและมองข้าม เช่น ความรุนแรงทางกายภาพต่อหญิง, ระบบครอบครัวแบบชายหญิงที่ปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน, การเลือกปฏิบัติหรือจัดวางสถานะของเพศหลากหลายให้ต่ำกว่าบุคคลชายหญิง เป็นต้น มีการเรียกร้องให้ต้องมีความละเอียดอ่อนและยอมรับต่อปรากฏการณ์ที่ดำรงอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง รวมทั้งต้องทำให้กฎหมายยอมรับให้ความแตกต่างหลากหลายสามารถถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกทางกฎหมาย

รวมไปถึงการเรียกร้องให้มีการยอมรับอำนาจในการกำหนดชะตากรรมท้องถิ่นด้วยมือของกลุ่มคนในพื้นที่ต่างๆ ผู้คนบางแห่งอาจมีความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ ความเชื่อ ศาสนา การยอมรับความแตกต่างหลากหลายก็เพื่อให้บุคคล ชุมชน ท้องถิ่น สามารถมีวิถีชีวิตที่เป็นอิสระและไม่ต้องอยู่ภายใต้การกดบังคับหรือถูกทำให้กลายเป็นกลุ่มคนชายขอบจากอำนาจรัฐ

 

สี่ ระบบนิติรัฐที่ชัดเจน

 

ความล้มเหลวอันเป็นที่ประจักษ์มาอย่างน้อยก็มากกว่าหนึ่งทศวรรษก็คือ ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ดำเนินไปอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และมีความเที่ยงธรรม

ในด้านหนึ่ง มีการใช้กฎหมายโดยฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐอย่างกว้างขวางในการบั่นทอน คุกคาม ปราบปราม ประชาชนฝ่ายที่ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย การกระทำใดๆ ที่อาจไม่ได้เป็นความผิดในยามปกติก็อาจเป็นความผิด หรือความผิดอันเล็กน้อยก็อาจกลายเป็นความผิดที่รุนแรง โดยองค์กรในกระบวนการยุติธรรมต่างให้ความร่วมมืออย่างเป็นระบบอันเป็นผลให้การใช้กฎหมายเพื่อจัดการกับผู้เห็นแตกต่างไปจากผู้มีอำนาจรัฐสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน

ในอีกด้านหนึ่ง การตัดสินขององค์กรที่มีอำนาจตุลาการก็มีลักษณะของการเลือกข้าง หรือ ‘สองมาตรฐาน’ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เป็นอิสระหรือไม่ก็ตาม ดังจะพบว่าข้อพิพาทแทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะมีแนวโน้มที่สนับสนุนให้ระบอบอำนาจนิยมที่สืบทอดต่อมาจากคณะรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ขณะที่หากจำเลยเป็นฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับระบอบอำนาจนิยม แม้การกระทำเพียงเล็กน้อยหรือยังไม่มีความชัดเจนในทางกฎหมายก็พร้อมที่จะกลายเป็นความผิดที่ต้องได้รับโทษอย่างรวดเร็วและรุนแรง

การทุบศาลพระภูมิที่แยกลาดพร้าวเมื่อเย็นวันที่ 2 ธันวาคม 2563 จึงเป็นปฏิกิริยาที่อาจไม่ได้มีเป้าหมายไปที่เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หากแต่หมายถึงระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไร้ซึ่งสภาวะ ‘นิติรัฐ’ เพื่อทำให้เกิดการตระหนักอันจะมาซึ่งการฟื้นฟูและปฏิรูปในกลไกและองค์กรเหล่านี้

 

ห้า ระบอบประชาธิปไตยที่เสมอภาคและเป็นธรรม

 

แม้จะได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ก็ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญกับระบอบรัฐธรรมนิยมมิใช่เป็นสิ่งเดียวกัน สังคมบางแห่งอาจมีรัฐธรรมนูญโดยปราศจากระบอบรัฐธรรมนูญนิยมดำรงอยู่ควบคู่ (constitution without constitutionalism) หรือในความหมายอย่างกว้างอาจหมายถึงภาวะของการมีรัฐธรรมนูญแต่อยู่ในภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

สังคมไทยก็เช่นกัน แม้จะมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้รวมทั้งมีการเลือกตั้งติดตามมา แต่พร้อมกันไปก็จะพบว่ามี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างสำคัญ, ระบบการเลือกตั้งที่ทำให้เกิด ส.ส. ปัดเศษ, การยุบพรรคเพื่อย้ายพรรคของ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบประหลาดพิกล, กกต. ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งที่ไร้ประสิทธิภาพ, การดำเนินการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ดูราวกับจะมีการประสานงานกันเป็นอย่างดีนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนกระทั่งการยุบพรรคให้สิ้นสภาพและตัดสินลงโทษกรรมการบริหารพรรค

การเลือกตั้งอันเป็นกระบวนการที่ประชาชนคาดหวังว่าจะสามารถเป็นกลไกในการแสดงความคิดเห็นและความปรารถนาของตนเองเพื่อนำไปสู่ระบบการเมืองที่ ‘เห็นหัว’ ประชาชนก็ได้ถูกทำให้มีความสำคัญน้อยลง การปรับปรุงระบบการเลือกตั้งและองค์กรที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ด้วยความหวังว่าจะสามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เสมอภาคและดำเนินการด้วยความเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับความเห็นต่างทางการเมืองได้อย่างสันติด้วยความเห็นพ้องจากผู้คนในการยอมรับกติกาดังกล่าว

 

หก อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร

 

ข้อเรียกร้องทั้งหมดข้างต้นวางอยู่บนหลักการพื้นฐานที่สำคัญก็คือประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง การดำรงอยู่ในฐานะของที่สถิตความชอบธรรมสูงสุดย่อมทำให้อุดมการณ์ เป้าหมาย การออกแบบโครงสร้างระบบการเมือง จะต้องรองรับต่อความปรารถนาของประชาชนเป็นที่ตั้ง ประชาชนในฐานะ ‘ส่วนรวม’ ของสังคมการเมืองจะมีความสำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใด องค์กร สถาบันทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเป็นไปเพื่อสนองตอบต่อหลักการพื้นฐานดังกล่าว

แม้การเคลื่อนไหวของราษฎรอาจยังไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม แต่คุณูปการอย่างไพศาลที่ได้บังเกิดขึ้นแล้วก็คือ การนำเสนอกรอบความคิดสำหรับสังคมไทยในการกำหนดกติกาในทางการเมืองที่จะต้องมีการอภิปราย ถกเถียง โต้แย้ง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า

แนวความคิดเหล่านี้เป็นการเสนอชุดความคิดที่เป็นหลักคุณค่าอันสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยและสังคมส่วนใหญ่ แนวความคิดเหล่านี้ไม่ได้ทำลายอดีตลงอย่างสิ้นซากหากเป็นข้อเสนอเพื่อปรับอดีตให้เข้ากับโลกในปัจจุบัน แนวความคิดเหล่านี้เสนอให้สร้างความเสมอภาคทดแทนความเหลื่อมล้ำ แนวความคิดเหล่านี้ต้องการเห็นระบบการเมืองที่เป็นของทุกคนมากกว่าเป็นของชนชั้นนำกลุ่มเดียว แนวความคิดเหล่านี้ต้องการเห็นผู้คนมีเสรีภาพและพัฒนาศักยภาพของตัวตนและชุมชนมากกว่าการกดทับของกฎหมายและอำนาจรัฐ

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของราษฎรจะลงเอยอย่างไรในบั้นปลาย แต่กรอบแนวคิดของ ‘ราษฎร์ธรรมนูญ’ ได้หยั่งรากและแพร่กระจายไปในสังคมอย่างกว้างขวางแล้ว ไม่ว่าจะพยายามลิดใบ ตัดกิ่ง ตัดยอด ให้เหี้ยนเตียนลงอย่างไร แต่แนวความคิดเช่นนี้ก็ยากจะสูญสิ้นหายไป คงรอแต่วันที่จะงอกงามและเจริญเติบโตขึ้นมาเท่านั้น

ไม่มีประโยคใดเหมาะสมสำหรับการจบบทความนี้มากไปกว่าการยืนยันว่า “อำนาจนิยมจงพินาศ ราษฎร์ธรรมนูญจงเจริญ”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save