fbpx

อย่าประเมินสันติวิธีบวกเกินไป อย่าประเมินความรุนแรงลบเกินไป

คำพูดหนึ่งของอาจารย์อาวุโสผู้สนใจด้านสันติวิธีที่ผมจำได้ติดหูตลอดมาก็คือ “ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าสันติวิธีจะประสบความสำเร็จเสมอไป”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความข้อนี้เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย สันติวิธีไม่ได้เป็นแนวทางการเคลื่อนไหวที่จะยืนยันได้ว่าจะต้องประสบความสำเร็จในบั้นปลายเฉกเช่นธรรมะต้องชนะอธรรม อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มร้อยแต่ความข้อนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมที่มีต่อสันติวิธีเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นที่เข้าใจได้หากลองปรับเปลี่ยนถ้อยคำดังกล่าวให้กลายเป็น “ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าสันติวิธีจะประสบความล้มเหลวเสมอไป”

การเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีกลายเป็นแนวทางซึ่งได้รับความสนใจจนมีการศึกษาและนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวาง เหตุผลหนึ่งอันเป็นที่ยอมรับกันก็คือ หากต้องมีการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้ากับรัฐแล้ว ประชาชนจะเป็นผู้ที่มีโอกาสต้องประสบความสูญเสียเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐเป็นองค์กรที่ผูกขาดและสะสมความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงจนมีทักษะเหนือกว่าประชาชนอย่างเทียบไม่ติด

จึงนำมาสู่ข้อสรุปว่าหนทางที่ดีที่สุดของประชาชนมือเปล่าเมื่อต้องการต่อสู้กับรัฐก็คือการใช้สันติวิธีเป็นเครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม สันติวิธีก็ไม่ใช่แนวทางการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ทุกครั้งดังที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว นักวิชาการบางคนได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดและความเป็นไปได้ในการบรรลุสู่เป้าหมายของสันติวิธีที่ต้องสัมพันธ์กับเงื่อนไขบางประการ เช่น ระบอบการปกครองที่ต้องมีความเป็นธรรม (just) อยู่ในระดับหนึ่ง อันหมายถึงแนวความคิดเรื่องสิทธิของประชาชนต้องเป็นที่ยอมรับ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (อย่างตรงไปตรงมา) เป็นต้น การเคลื่อนไหวสันติวิธีจึงยากที่จะเป็นไปได้ในสังคมที่มีรูปแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือค่อนไปทางอำนาจนิยมอย่างสูง

หรือเงื่อนไขภายในของสังคมนั้นๆ จะต้องไม่ตกอยู่ในภาวะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างร้าวลึก ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นอยู่ในอุดมการณ์หรือความเชื่อของตนเอง กระทั่งยากที่จะรับฟังและทำความเข้าใจต่อท่าทีของอีกฝ่ายหนึ่ง ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของสันติวิธีประการหนึ่งก็คือการกระตุ้นสำนึกความยุติธรรม (sense of justice) ของผู้คน ในสังคมที่ผู้คนต่างปิดหูปิดตาจากอีกฝ่ายหนึ่งย่อมยากที่จะทำให้สำนึกแห่งความยุติธรรมที่ร่วมกันสามารถบังเกิดและแผ่กว้างออกไป

แม้จะมีคุณูปการอย่างไพศาลต่อการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่ก็มีคำถามและข้อถกเถียงอยู่ไม่น้อยที่จำเป็นต้องได้รับการตระหนักถึงเช่นเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย สันติวิธีแนวทางหนึ่งได้ถูกนำเข้ามาในลักษณะที่ควบคู่ไปกับความเชื่อทางศาสนา อันมีผลให้แนวคิดของสันติวิธีแบบไทยๆ หันมาเน้นย้ำเกี่ยวกับท่าทีและจิตวิญญาณของผู้สมาทานต่อแนวคิดนี้เป็นอย่างมาก

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ข้อวิจารณ์ที่มีต่อการเคลื่อนไหวซึ่งอุดมไปด้วยการใช้คำหยาบคำด่าทอ ชูนิ้วกลาง กระทั่งไปถึงการเผารถตำรวจจะถูกมองว่าจะมิใช่เป็นสันติวิธีหากเป็นปฏิบัติการของการใช้ความรุนแรงในอีกรูปแบบ

ในเบื้องต้น ยกเอาข้อถกเถียงว่าการกระทำดังกล่าวจะถูกนับรวมว่าเป็นสันติวิธีหรือไม่เอาไว้ก่อน รวมถึงจะเรียกว่าเป็นความรุนแรงแบบหนึ่งก็ได้ แต่สิ่งที่อยากชวนสนทนาในที่นี้ก็คือ ‘ความรุนแรง’ ในแบบที่เราได้ประจักษ์ต่อสายตาโดยเฉพาะที่สามเหลี่ยมดินแดง จะสามารถช่วยบ่งบอกความหมายอะไรให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีได้บ้าง ผู้เขียนอยากลองเสนอบางประเด็น ดังนี้

หนึ่ง เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีที่เกิดขึ้นไม่สามารถรองรับและโอบอุ้มผู้คนจำนวนหนึ่งเอาไว้ได้ ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาเธอเหล่านั้นไม่ใช่ผู้ผ่านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ด้วยสถานะและแรงบีบคั้นของปัญหาที่โถมลงบนตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง ทำให้ไม่อาจรอคอยการชุมนุมแบบสะสมกำลังที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงอีกนานแค่ไหน

การตอบโต้เมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงจากอำนาจรัฐก็คือ การแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจต่อการบริหารจัดการที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะให้กลับบ้านแล้วมากันใหม่ก็ยิ่งกระเทือนต่อต้นทุนในชีวิตมากยิ่งขึ้น จะมาใหม่ก็ได้แต่อย่างน้อยก็ขอเขวี้ยงขวดใส่พวกมันหรือเผายางให้ควันคลุ้งไว้ก่อน

น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เกิดการให้ความหมายของสันติวิธีในแง่มุมที่ไม่ได้ถูกครอบงำไว้โดย ‘มหาบุรุษ’ หรือกลิ่นอายของแนวคิดทางศาสนา หากแต่เป็น ‘สันติวิธีของสามัญชน’ ที่จะเปิดกว้างให้ผู้คนสามารถมีสันติวิธีในแบบที่ตนเองสามารถครอบครองและใช้มันได้อย่างสอดคล้องกับเงื่อนไขของตนเอง

สอง ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นช่วยสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เอาเข้าจริงแล้ว เนื้อแท้ของรัฐไทยก็คือความสามารถในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในแบบที่ไม่ต้องมีความรับผิดใดๆ ติดตามมา 

ในห้วงเวลามากกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนในแบบที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในนานาอารยประเทศ ไม่ว่าจะด้วยการยิงกระสุนยางแนวระนาบ การยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มชุมนุม การจับกุมผู้ชุมนุมด้วยการใช้กำลัง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาอย่างซ้ำซากกระทั่งกลายเป็นภาพชินตาของผู้คนในสังคม แม้ว่าในช่วงแรกอาจเกิดความไม่พึงพอใจแต่ในท้ายที่สุดปฏิบัติการดังกล่าวก็เกิดซ้ำขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

กระทั่งบัดนี้ก็ไม่มีการสอบสวนค้นหาความจริงกับการยิงเข้าที่ดวงตาของไฮโซหนุ่มที่เข้าร่วมการชุมนุมว่ามาจากเจ้าหน้าที่รัฐคนใด หน่วยงานไหน ข้อถกเถียงอันชวนสมเพศกลับกลายเป็นว่าเขาตาบอดจริงหรือไม่

มีงานศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงภาวะลอยนวลพ้นผิดไปจากการใช้ความรุนแรงของรัฐไทย การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามและเข่นฆ่าผู้คนในหลายเหตุการณ์สำคัญ นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, เมษายน – พฤษภาคม 2553 ไม่ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะจบลงด้วยฝ่ายประชาชนประสบ ‘ชัยชนะ’ หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือไม่มีผู้รับผิด หรือกล่าวอย่างเลวร้ายที่สุดคือไม่มีผู้ที่มีความผิดในการล้มตายของประชาชน[1]

การใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อกลุ่มผู้ชุมนุมช่วยย้ำเตือนให้เห็นได้ว่าความรุนแรงจากอุ้งมือของรัฐไทยยังไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญใช่หรือไม่ ยังคงเป็นรัฐที่สามารถใช้และไม่ต้องรับผิดในอำนาจป่าเถื่อนของตนเองใช่หรือไม่

สาม ทั้งการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีและแบบที่ถูกมองว่าไม่ค่อยจะสันติวิธีนั้นดูราวกับจะไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นได้มากเท่าใด รัฐบาลยังสามารถดำรงอยู่ต่อไป ขณะที่มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีเพิ่มเป็นทวีคูณมากยิ่งขึ้น สื่อกระแสหลักถูกควบคุมจากอำนาจรัฐเข้มข้นขึ้น

ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้ คงทำให้ไม่อาจหลีกเลี่ยงคำถามสำคัญที่ John Rawls ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรงนั้นจะใช้ได้ในสังคมที่อยู่ใกล้เคียงกับความเป็นธรรม (nearly just society)[2] อันหมายความว่ายากจะใช้ในประเทศเผด็จการเต็มรูปแบบหรือห่างไกลจากความเป็นธรรมอย่างมาก

ประเด็นที่อาจทำให้เราต้องขบคิดกันมากขึ้นก็คือว่าแม้สังคมไทยปัจจุบันอาจไม่ใช่เผด็จการเต็มรูปแบบ แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ‘อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ แบบที่เป็นอยู่ รวมถึงความขัดแย้งแบบร้าวลึกลงในกลุ่มคนที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน สังคมเช่นนี้จะมีคุณลักษณะที่ทำให้สันติวิธีสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีความหมายหรือไม่

ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าผมปฏิเสธสันติวิธีและสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชนในการเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ เช่นเดียวกันกับผู้คนจำนวนไม่น้อย ผมก็มีความเห็นว่าไม่ควรมีใครต้องสูญเสียในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องต่ออุดมการณ์ที่ตนเองเห็นว่าเป็นสิ่งชอบธรรม ในสถานการณ์ที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดและมีทักษะต่อการใช้กำลังอย่างมาก สันติวิธีจึงอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความสูญเสียของประชาชนได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เราก็พึงระมัดระวังถึงการประเมินสันติวิธีในทางที่เป็นบวกมากเกินไป พร้อมกันกับการประเมินให้การใช้ความรุนแรงกลายเป็นปฏิบัติการที่มีด้านลบมากเกินไปเช่นกัน


[1] งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทชิ้นหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ของผู้เขียนเรื่อง ‘กฎหมายในความรุนแรง ความรุนแรงในกฎหมาย : การลอยนวลพ้นทางกฎหมายของรัฐในกรณีการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง’ โดยภาสกร ญี่นาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2564 งานชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่าระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทยมีบทบาทอย่างไรในการทำให้เจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้กระทำความรุนแรงสามารถหลุดลอยไปจากความผิดและความรับผิดในทางกฎหมายในเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งสี่เหตุการณ์ได้โดยกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมแทบจะไม่ได้กล้ำกรายให้ระเคืองผิวได้แม้แต่น้อย

[2] ดูรายละเอียดใน John Rawls, A Theory of Justice (Cambridge, Massachusetts: The Belknap Press of Harvard University Press, 1999) chapter vi, The definition of civil disobedience

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save