fbpx
อยากให้ประชาชนไปฉีดวัคซีน? รัฐก็จ่ายเงินมาสิ!

อยากให้ประชาชนไปฉีดวัคซีน? รัฐก็จ่ายเงินมาสิ!

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

การประกาศความสำเร็จของหลายบริษัทในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถือได้ว่าเป็นข่าวดียิ่งสำหรับผู้คนทั่วโลก การมาถึงของวัคซีนเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของจุดจบของฝันร้ายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น จุดจบที่ว่าก็อาจยังไม่ได้มาถึงในเร็ววันนี้ เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ต่างกำลังเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับจำนวนผู้มาฉีดวัคซีนที่น้อยเกินคาด ถึงแม้ว่าวัคซีนจะฟรีก็ตาม จนทำให้การฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงเป็นไปอย่างล่าช้า

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หลายคนฉงนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

การศึกษาโดยสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) ระบุว่าชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 37 เท่านั้นที่พร้อมจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าฉีดวัคซีน โดยสาเหตุหลักๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากไปฉีดวัคซีนกันก็คือ ความกังวลถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของวัคซีน เพราะกระบวนการคิดค้นและผลิตวัคซีนโควิด-19 ดูจะรีบด่วนกว่ากระบวนการของวัคซีนอื่นๆ ในอดีต นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังมีความคิดที่ว่า ตนเองไม่ใช่กลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19

นี่จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยสองนักเศรษฐศาสตร์ชื่อก้องอย่าง เกรกอรี แมนคิว (Gregory Mankiw) และโรเบิร์ต ลิทัน (Robert Litan) ได้เสนอทางออกที่แสนจะกำปั้นทุบดิน นั่นก็คือการ ‘ให้เงิน’ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน

ใจเย็นก่อนนะครับ ผมทราบว่าหลายคนกำลังเตรียม ‘ฉอด’ แนวคิดดังกล่าว อย่างนั้นผมขอด่าให้เบาๆ พอหอมปากหอมคอว่า “รัฐบาลก็ให้ประชาชนมาฉีดฟรีแล้ว แต่ทำไมถึงยังงอมืองอเท้า ไม่เห็นแก่ส่วนรวม” “ไม่ยอมมาฉีดวัคซีน ก็ปล่อยให้ติดโควิดไป จะได้รู้สำนึก” “นี่แหละเค้าเรียกว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา” ฯลฯ

คำถามก็คือว่า การให้เงินจูงใจประชาชนไปฉีดวัคซีนสมเหตุสมผลหรือไม่ในทางเศรษฐศาสตร์ ในเมื่อต้นทุนของการระบาดที่ยาวนานหรือการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็นนั้น อาจสูงกว่าราคาที่ต้องจ่ายเพื่อกระตุ้นให้คนมาฉีดวัคซีนให้เยอะที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ทำไมถึงไม่อยากไปฉีดวัคซีน?

 

ในมุมมองของภาครัฐ วัคซีนสร้างประโยชน์สาธารณะอย่างมหาศาล การฉีดวัคซีน (หมายถึงวัคซีนในภาพรวม มิใช่วัคซีนโควิด-19)  จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตของเด็กได้ราว 2-3 ล้านคนและผู้ใหญ่กว่า 6 แสนคนทั่วโลก วัคซีนยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการการเติบโตที่ดี ผลการเรียนดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาความยากจน และช่วยสร้างความเท่าเทียมในสังคมได้ด้วย นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ว่า วัคซีนยังให้ผลตอบแทนที่คุ้มทุน เพราะการลงทุนฉีกวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันประชาชนทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับผลประโยชน์ในเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจตอบแทนกลับคืนมา คิดเป็นตัวเงินได้อย่างน้อยถึง 16 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับว่าได้ผลตอบแทนถึง 16 เท่าของเงินลงทุน

ขณะที่ ในฝั่งผู้บริโภค ทุกคนย่อมรู้ดีว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดโรคระบาด แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ขี้เกียจโดยธรรมชาติ จึงมีแนวโน้มจะผัดวันประกันพรุ่ง หากไม่มีแรงกระตุ้นให้ไปฉีดวัคซีน หรืออาจมองโลกในแง่ดีเกินไปว่า สมาชิกในครอบครัวคงมีโอกาสติดโรคเพียงเล็กน้อย หรือรอไว้เจ็บป่วยขึ้นมา ค่อยพาไปรักษาก็ยังไม่สาย

นอกจากนี้ มนุษย์ยังให้ความสำคัญกับความสุขระยะสั้นมากกว่าผลประโยชน์ระยะยาว แม้ว่าภาครัฐในหลายประเทศจะให้บริการวัคซีนแบบฟรีๆ แต่การไปรับวัคซีนนั้นยังต้องเสียทั้งค่าเดินทาง เสียเวลาทำมาหากิน บางครั้งยังอาจถูกผลข้างเคียงของวัคซีนเล่นงานจนต้องนอนซมไปสองสามวัน  อีกทั้งในพื้นที่ห่างไกลซึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขยังไม่เข้มแข็ง การเดินทางไปฉีดวัคซีนก็อาจเสียเที่ยว เพราะหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยู่ ทำให้ประชาชนยิ่งหมดศรัทธาที่จะมารับบริการ

แน่นอนครับว่า เวลาที่ใครก็ตามป่วยไข้อาการสาหัสจนทนไม่ไหว ทุกคนต่างก็พร้อมไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ก็ยอม แต่ในแง่ของการสาธารณสุขเชิงป้องกัน เช่น การฉีดวัคซีนหรือการใช้มุ้งกันยุงนั้น คนกลับมีความคิดต่างออกไป เพราะผลิตภัณฑ์หรือบริการลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ ‘รอได้’ เพราะถึงไม่ซื้อตอนนี้ ก็ยังไม่มีใครตาย เพียงแต่ต้องรับความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นในอนาคต (ซึ่งก็เป็นเรื่องของวันข้างหน้า ไม่ใช่วันนี้!)

การศึกษาเชิงประจักษ์หลายชิ้นยืนยันตรงกันว่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (Price Elasticity of Demand) ของผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านสาธารณสุขเชิงป้องกันนั้นสูงอย่างยิ่ง กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้านั้นสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย คนจะต้องการซื้อหรือรับบริการน้อยลงแบบฮวบฮาบ ตัวอย่างเช่น การศึกษาในประเทศเคนยาพบว่า การปรับราคายาถ่ายพยาธิจากแจกฟรีเป็นเม็ดละ 10 บาท ส่งผลให้สัดส่วนเด็กที่ทานยาดังกล่าวลดลงจาก 79 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ การเพิ่มราคาของมุ้งกันยุงจากแจกฟรีเป็นราว 20 บาท ก็ส่งผลให้ปริมาณผู้ซื้อมุ้งลดลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์

ในทางกลับกัน การที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านสาธารณสุขเชิงป้องกันมีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาที่สูงนั้น ก็สามารถตีความได้อีกแง่หนึ่งว่า การให้ ‘แรงจูงใจ’ ที่จะซื้อสินค้าหรือรับบริการแก่ประชาชนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย จะสามารถเพิ่มอัตราการเข้ารับบริการหรือซื้อผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุขเชิงป้องกันได้อย่างมหาศาลเช่นกัน

 

ฉีดวัคซีน 1 เข็มได้เลนทิล 1 ถุง

 

หนึ่งในผลงานการศึกษาที่คลาสสิกเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนรับวัคซีนครบกำหนด คือผลงานของอภิจิต บาเนอร์จี (Abhijit Banerjee) เอสเธอร์ ดัฟโล (Esther Duflo) และคณะ ที่ได้ทำการศึกษาในประเทศอินเดีย เกี่ยวกับการรับวัคซีนสำคัญ 4 ชนิดในกลุ่มเด็กๆ ได้แก่ วัคซีนวัณโรค วัคซีนโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน วัคซีนโปลิโอ และวัคซีนหัด คางทูมและหัดเยอรมัน ซึ่งเป็นวัคซีนเด็กๆ จำเป็นต้องเดินทางไปฉีดที่สถานพยาบาลอย่างน้อย 5 ครั้ง

ในฝั่งอุปทาน อินเดียมีปัญหาด้านคุณภาพของสถานพยาบาล อย่างเช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มักจะไม่ค่อยอยู่ให้บริการบ่อยครั้ง จนทำให้ประชาชนที่ต้องการมาใช้บริการรู้สึกไม่เชื่อมั่น ทีมวิจัยแก้ไขปัญหานี้โดยออกแบบกลไกกำกับดูแลจุดบริการให้เข้มข้นขึ้น เช่น การถ่ายรูปที่ระบุวันที่และเวลาเพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่พร้อมให้บริการประชาชนจริงๆ

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เด็กๆ กว่าร้อยละ 80 ในชุมชนเดินทางไปฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่สัดส่วนเด็กที่ได้รับวัคซีนครบทุกครั้งกลับไม่ได้เพิ่มอย่างน่าพอใจ โดยเพิ่มขึ้นจาก 6 เปอร์เซ็นต์เป็น 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทีมวิจัยพบว่าเด็กๆ จำนวนมากมักหยุดเดินทางไปฉีดวัคซีน หลังจากที่ไปยังสถานพยาบาลเป็นครั้งที่สอง

เมื่อการแก้ไขฝั่งอุปทานเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ คณะวิจัยจึงเพิ่มแรงจูงใจในฝั่งอุปสงค์ โดยกำหนดให้ทุกครั้งที่ผู้ปกครองพาเด็กมาฉีดวัคซีน จะได้รับถั่วเลนทิล ธัญพืชสามัญประจำครัวของชาวอินเดียติดไม้ติดมือกลับไปด้วยจำนวน 1 กิโลกรัมคิดเป็นมูลค่าราว 30 บาท การสร้างแรงจูงใจดังกล่าวทำให้สัดส่วนเด็กที่ได้รับวัคซีนครบทุกครั้งเพิ่มขึ้นเป็น 39 เปอร์เซ็นต์ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

อีกหนึ่งข้อค้นพบที่น่าประหลาดใจจากโครงการดังกล่าวคือ การให้แรงจูงใจเพิ่มเติมนั้นกลับทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในการฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 4 ชนิดลดต่ำลงจากราว 56 ดอลลาร์สหรัฐเหลือเพียง 27 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการที่เด็กๆ มาฉีดวัคซีนมากขึ้นนั้นหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิมนั่นเอง

การศึกษาชิ้นนี้ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า การให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพเพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กมาฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน แต่การให้แรงจูงใจเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติมแก่ผู้ปกครองจะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการพาเด็กๆ มาฉีดวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิผลและคุ้มค่าคุ้มทุน

 

จ่ายเงินให้ประชาชนไปฉีดวัคซีน
ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

 

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลเผชิญกับสองปัญหาสำคัญพร้อมกันคือ ปัญหาด้านสาธารณสุขจากการระบาดของโรค และปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองปัญหาสามารถได้รับการแก้ไขไปพร้อมกันได้ โดยการแจกเงินโดยตรงแก่ประชาชนแบบถ้วนหน้า ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องไปรับวัคซีนโควิด-19 เสียก่อน เพราะไหนๆ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกก็ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยยิงเงินเข้าสู่กระเป๋าของกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว แต่จะไม่ดีกว่าหรือ หากเพิ่มเงื่อนไขอย่างการให้ผู้รับเงินต้องไปฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยเร่งรัดกระบวนการจำกัดการระบาดเพื่อให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติรวดเร็วยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

บางคนมองว่า แค่แจกวัคซีนฟรีๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ทำไมถึงต้องไปแจกเงินจูงใจเพิ่มเติม เกรกอรี แมนคิว ตอบคำถามดังกล่าวโดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย ‘ผลกระทบภายนอก’ (externalities) ที่มีแนวคิดว่า หากกิจกรรมไหนสร้างผลกระทบภายนอกเชิงลบแก่สังคม เช่น การปล่อยมลภาวะ รัฐก็ต้องจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาชดเชยให้กับผู้ได้รับความเสียหาย แต่ในทางกลับกัน หากกิจกรรมไหนสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สาธารณะ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด ภาครัฐก็ควรตบรางวัลให้ในรูปแบบของเงินอุดหนุน (Subsidy)

วิธีคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรัฐบาลในหลายประเทศเองต่างก็ใช้ ‘เงิน’ เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมีพฤติกรรมในทางที่รัฐเห็นว่าเหมาะสม เช่น โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer) อย่างการกำหนดให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไปตรวจสุขภาพตามตารางที่กำหนดไว้ หรือกำหนดให้เด็กๆ จะต้องสมัครเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานและต้องเข้าเรียนอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะได้รับเงินตามจำนวนที่ระบุไว้

ประเทศไทยเองก็เพิ่งริเริ่มโครงการลักษณะดังกล่าวมาได้ไม่นานในชื่อว่า ‘โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข’ ซึ่งจัดการดูแลโดยกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนจากครัวเรือนยากจน

อย่างไรก็ดี ภายใต้บริบทของโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมบางคนก็เห็นต่างออกไป โดยมองว่าการจ่ายเงินให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะการตอบสนองของมนุษย์ต่อเงินที่ใช้จูงใจนั้นไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์คิดเสมอไป

ภายใต้สถานการณ์ที่มนุษย์ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำ การจ่ายเงินเป็นแรงจูงใจอาจทำให้คนตอบตกลงว่าจะทำมีแนวโน้มลดลง เพราะคนอาจตีความว่าเงินที่ได้รับคือ ‘ค่าชดเชยความเสี่ยง’ ดังนั้นการจ่ายเงินให้คนไปฉีดวัคซีนก็อาจทำให้คนมองว่า ที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยในการไปฉีกวัคซีน ก็เป็นเพราะวัคซีนเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์

นอกจากนี้ การจ่ายเงินให้คนไปฉีดวัคซีนอาจกลายเป็นการลดแรงจูงใจของกลุ่มประชาชนที่รู้สึกว่า การไปฉีดวัคซีนคือการเสียสละเพื่อส่วนรวม หากลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็จะคล้ายกับการที่เราจะจ่ายเงินให้แม่ทำกับข้าวให้เราทาน การมอบเงินดังกล่าวอาจเป็นการทำร้ายความรู้สึกผู้รับมากกว่าทำให้รู้สึกยินดี เพราะการที่แม่ทำกับข้าวให้เราทานนั้น ไม่ได้ต้องการผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่คือความสุขใจจากการที่ได้ทำเพื่อคนในครอบครัว

ประเด็นชวนคิดเหล่านี้คือปัญหาในโลกที่หนึ่ง ซึ่งกำลังจะเป็นปัญหาของประเทศไทยด้วยในอีกไม่ช้า ผู้เขียนเองก็ยังลุ้นอยู่ว่าประชาชนคนไทยจะตอบรับวัคซีนมากน้อยขนาดไหน ถ้าทุกคนเชื่อมั่นแล้วพร้อมจะต่อแถวฉีดวัคซีน ก็ถือว่าดีไป บทเรียนจากต่างแดนก็คงเป็นแผนสำรองที่รัฐบาลต้องเตรียมไว้เผื่อใช้ในคราวคับขัน

จะจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงิน ประเด็นสำคัญตอนนี้คือ ขอให้มีวัคซีนให้คนไทยได้ฉีดก่อนก็แล้วกัน!

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save