fbpx

มรณกรรม(เลิก)อำพราง : สนทนาเรื่องความตายกับ ‘ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์’ ในวันที่โรคระบาดทำให้เราไม่อาจตายดี

ยิ่งโควิด-19 แพร่ระบาดเรื้อรังเท่าไร ดูเหมือนความตายก็ยิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัด

นับตั้งแต่ไวรัสโคโรนาเผยตัวแผลงฤทธิ์ในประเทศไทยปลายปี 2019 ลากยาวมาจนถึงบัดนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีผ่านหูผ่านตาคนในสังคมทุกวัน โดยเฉพาะปัจจุบันการระบาดระลอกสามทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว ข่าวคราวเรื่องความตายจึงยิ่งบีบคั้นหัวใจแสนสาหัส

บ้างจากไปอย่างโดดเดี่ยวในบ้าน บ้างเสียชีวิตข้างทางท้องถนน บางคนก็รู้จักสนิทชิดเชื้อ แต่กลับไม่มีโอกาสร่ำลา – เราอาจกล่าวได้ว่าการสูญเสียจากวิกฤตครั้งนี้ทำให้ความตายแลดูใกล้ตัวกว่าที่เคย กระทั่งน่าหวาดหวั่นกว่าที่เคย

แม้ความตายจากโควิด-19 จะเป็นความตายอันไม่พึงปรารถนา แต่ด้านหนึ่ง มันกลับเป็นสถานการณ์บีบบังคับให้สังคมไทย – โดยเฉพาะสังคมเมืองต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่หลีกเลี่ยงการสนทนามาโดยตลอด เราไม่เคยจับเข่าคุยกันเรื่องความตาย การตาย หรือวิธีการจัดการร่างหลังความตายอย่างจริงจัง จะด้วยวัฒนธรรมที่กำหนดว่านี่คือหัวข้ออัปมงคลก็ดี หรือจะด้วยความเจริญทางการแพทย์ที่ทำให้คนเชื่อว่าสามารถยื้อเวลาตายได้ก็ดี ผลของการเก็บงำอำพรางความตายในสังคมด้วยสิ่งเหล่านี้เผยผลกระทบออกมาเมื่อเจอวิกฤต

คนไม่รู้จะรับมือกับความตายและกระบวนการจัดการร่างหลังความตายที่เปลี่ยนไปอย่างไร ไม่มีกลไกรองรับผู้เสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละพื้นที่ ไม่มีการสื่อสารจากภาครัฐว่าควรปฏิบัติต่อศพผู้ติดเชื้อแบบไหน ฯลฯ

นี่อาจถึงเวลาที่เราต้องกลับมาเพ่งพินิจความตายในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา 101 จึงชวน รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานศึกษา ‘การตายและความตายในเมือง’ งานวิจัยในโครงการ ‘คนเมือง 4.0’ อนาคตชีวิตคนเมืองของไทย มาร่วมเปิดปมความตายที่ถูกซุกซ่อนไว้ไม่พูดถึงในสังคม ตั้งแต่ชนิดของความตาย เส้นทางการจัดการร่างหลังความตาย ความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์โรคระบาด และสิ่งที่รัฐต้องวางแผนรับมือความตายในอนาคต 


ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์


อาจารย์ศึกษาเรื่องความตาย จึงอยากเริ่มต้นด้วยคำถามว่าประเด็นเรื่องความตายน่าสนใจอย่างไร และทำไมเป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจ

ทุกเรื่องในความเป็นมนุษย์ของเรานั้นล้วนมีค่าและน่าสนใจเหมือนกันทั้งสิ้น ประเด็นความตายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในมหาสมุทรแห่งเรื่องราวและประสบการณ์อันหลากหลาย แต่ก็เป็นส่วนเดียวที่ทุกคนในโลกมีร่วมกัน เพราะเมื่อเกิดมามีชีวิตย่อมไม่มีผู้ใดหนีพ้นไปจากความตายได้  น่าเสียดายที่การตายและความตายเป็นเรื่องที่ชวนให้เกิดความรู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง น่าหวาดกลัว และการเผชิญความตายเป็นบทเรียนชีวิตที่ร้อยเรียงอยู่กับความทุกข์ การพลัดพรากจากลา และความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีมนุษย์คนไหนมีความสุขหรือสนุกเมื่อต้องนึกถึงมัน ดังนั้นคนจึงไม่อยากหยิบยกมาพูดคุย เพราะมีเรื่องอื่นในชีวิตอีกมากมายที่น่าเอาเวลาไปนึกถึง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ไม่ว่าเราจะกระอักกระอ่วนหรือมีทีท่าอย่างไรต่อความตาย ความตายก็ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา เฉพาะในประเทศไทย ในหนึ่งปีมีคนตายประมาณ 5 แสนกว่าคนจากหลากหลายสาเหตุ ทุกเพศ ทุกวัย คิดเป็นอัตราการตายจะอยู่ที่ประมาณ 8 คนต่อ 1,000 ประชากร หากมองในแง่ความสูญเสียของประเทศก็อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรนักถ้าเทียบกับจำนวนประชากร 70 ล้านคนที่เรามี และอัตราการเกิดเฉลี่ย 10 คนต่อ 1,000 ประชากร แต่มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ของครอบครัวหรือใครสักคนที่ผูกพันกับเขาเหล่านั้น และหากมองต่อไปอีกจะพบว่าความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างเรื่องทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องและกำหนดความตายที่เกิดขึ้นไม่น้อยทีเดียว

ถ้ามองจากมุมนี้การศึกษาความตายทางวิชาการจะช่วยให้เราค่อยๆ สะสมข้อมูล เห็นภาพความตายที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งความเหมือน ความต่าง และความเฉพาะตัวที่อยู่ในบริบท มองเห็นช่องว่าง รวมถึงตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็นอยู่ ค้นหาความเป็นไปได้ของคำตอบ เพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงวิชาการต่อไป

โดยทั่วไป ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเพ่งพินิจหรือรับรู้เรื่องความตาย อย่างแรกแน่นอนว่าการระลึกถึงความตายทำให้ชีวิตเรามีทิศทางมากขึ้น ความตายเป็นความวิตกกังวล เป็นความกลัวที่ลึกที่สุดของมนุษย์ ความกลัวตายทำให้มนุษย์สร้างสรรค์และพัฒนามาสู่จุดนี้ สร้างบ้านสร้างเมือง คิดค้นยารักษาโรค พัฒนาการทางการแพทย์ การออกแบบวิถีชีวิต และอีกหลายๆ อย่างรอบตัวเราล้วนตอบสนองต่อความกังวลต่อความตาย (death anxiety) ในชีวิตประจำวัน เราเลือกรับประทานอาหาร ขวนขวายไปออกกำลังกาย ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้จ่าย การออมเงิน การลงทุน หรือแม้แต่แสวงหาความสุขให้เต็มที่ ก็เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตและความตายที่จะมาถึงทั้งสิ้น

อนึ่ง คนเรามักคิดถึงความตายใน 2 สถานการณ์ สถานการณ์แรกคือในบริบทที่ความตายยังไม่เข้ามาประชิดตัว ยังไม่เป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้น ยังไม่ถึงเวลาที่มองเห็นแล้วว่าความตายใกล้ตัวแค่ไหน คนส่วนมากจะไม่ได้นึกถึงความตายในชีวิตประจำวัน พูดง่ายๆ คือความตายไม่ถูกนำมารวมในสมการชีวิต สภาพสังคมเองก็นำพาเราออกห่างจากเรื่องตาย เพราะเราต้องใช้เวลาไปกับการสร้างชีวิต เราอาจจะมองเห็นความตายผ่านประสบการณ์ของคนอื่น เช่น มีคนใกล้ตัวหรือคนรู้จักเสียชีวิต ฟังข่าว ก็อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่าถ้าเป็นเราจะทำยังไง แล้วก็ผ่านไป 

สถานการณ์ที่สอง คือการรับมือกับความตายในฐานะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเราจริงๆ รู้แล้วว่าความตายมาอยู่ตรงหน้า เช่น กรณีคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง คนที่เคยต่อสู้กับความตายแบบตาต่อตา คนที่ตกอยู่ในอันตรายที่คุกคามชีวิตหรือผ่านประสบการณ์เฉียดตาย ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ความตายกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ว่าจะรับได้หรือรับไม่ได้ก็แล้วแต่ ส่วนสถานการณ์ที่ความตายเกิดขึ้นกะทันหันคงเรียกว่าไม่มีโอกาสได้คิด

สถานการณ์แรกนั้นคือสถานการณ์ของคนปกติ หลายคนอาจมองว่าเป็นหนทางของความประมาท แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าชีวิตก็เป็นอย่างนี้  สถานการณ์ที่สอง ความแตกต่างคือการมองเห็นขอบเขตของเวลาและจุดจบ พอจะคาดการณ์ได้ว่ายังมีเวลาเหลือมากน้อยเท่าไร และคาดหมายได้ว่าชีวิตจะต้องเจออะไรบ้าง จะจัดการอะไรอย่างไร ในท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะเอาเวลาที่เหลือไปใช้อย่างไร บางคนนี่คือโอกาสทองเพราะเป็นเวลาที่ได้ทำความเข้าใจและค่อยๆ ยอมรับความตาย

เราเข้าใจว่าการยอมรับความตายเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา แต่สุดท้ายผู้ที่ยอมรับได้ก็จะมีความมั่นคงทางจิตใจมากขึ้น ชีวิตมีทิศทาง มีความสุข พูดง่ายๆ ว่าใช้ชีวิตอย่างความหมายมากขึ้นในแต่ละวัน แน่นอนว่าความเศร้าหมองเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้น แต่การจากไปอย่างยอมรับย่อมดีกว่า

อย่างไรก็ตาม จิตใจและทรัพยากรสนับสนุนเป็นต้นทุนที่คนแต่ละคนมีไม่เท่ากันสำหรับการรับมือกับการตายทั้งในทางความคิดและในความเป็นจริง ตรงนี้จึงขอหมายเหตุไว้ก่อนว่าเป็นจุดที่เราสามารถนำไปคิดเชิงนโยบายว่าจะมีกลไก นโยบาย หรือกลยุทธ์ทางสังคมใดบ้างที่สามารถช่วยให้ปัจเจกรับมือกับการตายได้

ประโยชน์อย่างที่สองของการเพ่งพินิจความตายคือช่วยขัดเกลากิเลส เพราะเป็นการนึกถึงความไม่แน่นอน แต่ละคนอาจจินตนาการความตายแตกต่างกัน บางคนนึกภาพของโรงพยาบาล ศพ สังขาร เกิดความรู้สึกกลัว กังวล แต่มันจะทำให้เรารู้จักการปล่อยวาง ค่อยๆ สร้างจิตตระหนักรู้เรื่องความตาย และยอมรับได้เมื่อความตายมาถึง ซึ่งมีการพิสูจน์เป็นวิทยาศาสตร์ว่าจิตที่ผ่านการฝึกมีแนวโน้มว่าสุขสงบเมื่อเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต ส่วนตัวเชื่อว่าใครๆ ก็อยากเข้าถึงความตายแบบสงบ ไม่มีใครอยากเข้าถึงความตายแบบไม่พร้อม กะทันหัน หรือเจ็บปวด การขัดเกลาชีวิตด้วยความตายจึงมีประโยชน์ในแง่นี้ 

อีกส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นประโยชน์ในทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะสังคมไทย หลังจากทำงานเรื่องความตายมาระยะหนึ่ง เราเห็นว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมอบรมสั่งสอนปัจเจกบุคคลทั้งทางตรงทางอ้อมให้ไปรับผิดชอบหรือดูแลความตายของผู้อื่น เช่น ถ้ามีคนในครอบครัวป่วยหรือตาย เป็นหน้าที่ของลูกหลานที่ต้องเข้าไปดูแล อันที่จริงวัฒนธรรมนี้ไม่ได้ผิดอะไร แต่ส่วนที่ขาดไปคือเราไม่ค่อยมีโอกาสตัดสินใจเรื่องความตายด้วยตัวเอง

ลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมไทยในเรื่องสุขภาพและความตายอย่างหนึ่งคือ เมื่อถึงจุดที่ต้องมีการตัดสินใจเรื่องความเป็นความตาย จะรักษาต่อไหม ใส่ท่อหรือไม่ใส่ จะกระทำการ invasive ระดับไหน เราไม่มีโอกาสบอกล่วงหน้า ลูกหลานจะเข้ามาตัดสินใจแทน แล้ววัฒนธรรมความกตัญญูก็มีส่วนทำให้ลูกหลานตัดสินใจว่าต้องสู้ให้ถึงที่สุด ต้องยื้อ ไม่ปล่อยให้ตาย แม้มาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จะให้สิทธิผู้ป่วยว่าสามารถทำหนังสือเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาเพื่อยืดเวลาตายได้ แต่ก็ไม่เคยถูกขับเคลื่อนใช้งานอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะสังคมและวัฒนธรรมไม่เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารกันเรื่องความตาย การตัดสินใจจึงจะเกิดขึ้นในนาทีสุดท้ายและต้องตกเป็นภาระของผู้อื่น คนที่ตัดสินใจแทนนี่เขาก็ทุกข์นะ เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจทางใดก็มีข้อจำกัด

อย่างไรก็ดี ตอนนี้สังคมไทยเริ่มเปิดมากขึ้น มีคนอยากรู้เรื่องแบบนี้มากขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทำให้ในปัจจุบัน ความตายไม่ได้ถูกคิดถึงแต่ในมุมของผู้สูงอายุที่เตรียมตัวตายอย่างสงบเพียงอย่างเดียว ยังมีมิติอื่นๆ ที่น่าสนใจให้ศึกษา


มิติที่อาจารย์สนใจคือความตายในเมือง ถ้ามองเผินๆ ความตายเกิดขึ้นที่ไหนก็น่าจะเหมือนกัน แล้วความตายในเมืองพิเศษกว่าอย่างไร เหตุใดจึงต้องทำการศึกษา

เมืองไม่ได้ทำให้ความตายมีข้อยกเว้น ความตายคือความตาย ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ทุกคนเสมอกัน แต่ที่เราศึกษาความตายในเมืองเพราะมีสมมติฐาน คือเมืองทำให้เห็นบริบทของความตายที่หลากหลาย ทั้งความเหลื่อมล้ำ ความเสี่ยง ความสิ้นหวัง หรือความหวังที่ดำรงอยู่อย่างแนบแน่นในความเป็นเมือง

หากให้จำกัดความว่าเมืองคืออะไรกันแน่ เมืองคือสังคมประเภทหนึ่งที่มีความซับซ้อนและพัฒนาไปเรื่อยๆ เมื่อนึกถึงเมือง คนก็จะเห็นภาพที่หลากหลาย บางคนนึกถึงพื้นที่ศูนย์รวมของคนและความล้ำสมัย เช่น เมืองหลวง ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม ตึกสูงระฟ้า หรือแม้กระทั่งวัตถุ เช่น คอมพิวเตอร์ เหล่านี้คือการบอกเล่าความหมายของเมืองผ่านสัญลักษณ์ของความเป็นศูนย์กลางและความเจริญ แต่ขณะเดียวกัน ภาพของเมืองที่ใครหลายคนเห็นอาจจะเป็นภาพแทนของความแตกต่าง ย้อนแยง เช่น ตึกสูงที่ผุดขึ้นกลางชุมชนแออัด การจราจรติดขัดที่มีทั้งรถยนต์ รถเมล์ มอเตอร์ไซค์วิ่งปะปนกับคนเดินเท้า บางคนก็เห็นรูปธรรมของเมืองผ่านนามธรรมในภาพของการเคลื่อนที่ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินที่ตัดกันอย่างซับซ้อนลึกลงไปจากจุดที่เราสามารถมองเห็น 

โดยรวมแล้ว เมืองจึงเป็นสัญลักษณ์ของความซับซ้อน ความลึกลับ และความพยายามจัดระเบียบโดยเทคโนโลยีอย่างชัดเจน แม้มีมิติซ้อนทับกันอยู่มากมายทั้งด้านที่เป็นรูปธรรม นามธรรม และพลวัตหรือการเคลื่อนที่ แต่ส่วนที่เป็นรูปธรรมอาจจับต้องได้ง่ายที่สุดเพราะมีการกำหนดขอบเขตและโครงสร้างทางกายภาพไว้ค่อนข้างชัดเจน เช่น การใช้ความหนาแน่นของประชากร ระดับการพัฒนา หรือความเป็นศูนย์กลางเข้ามาเป็นเกณฑ์การมองว่าที่ใดเป็นเมือง ที่ใดไม่ใช่เมือง ในเบื้องต้น เมืองจึงเป็นพื้นที่ประเภทหนึ่งที่ถูกจัดหมวดหมู่ให้เราแยกได้ง่าย เป็น classification พื้นที่ รู้ว่านี่คือเมือง นี่คือขอบเมือง นี่คือชนบท การจัดแบ่งลักษณะนี้มีประโยชน์ต่อการกำหนดขอบเขตและวิธีการในการบริหารจัดการ 

แต่อีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าสำคัญมากในการทำความเข้าใจเมือง คือเรื่องของคน เรามองเมืองแค่พื้นที่อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเห็นคนอยู่ในนั้น คนคือผู้สร้างเมืองผ่านกิจกรรมที่พวกเขาทำ ตามคุณค่า (value) ตามเป้าหมายที่เป็นผลผลิตอันซับซ้อนของสังคมกับคน ภาพของคนเมืองในปัจจุบันคือการเป็นเจ้าของและเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุและเทคโนโลยี เช่น คนใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนทุกที่ บนท้องถนน ในบ้าน ในรถสาธารณะ  พวกเขากำลังสร้างเมืองรูปแบบใหม่ผ่านความคุ้นเคยและเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีนี้เอง เมืองจึงเป็นสิ่งที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์บางอย่างที่แฝงฝังอยู่ในประวัติศาสตร์และในตัวคนแต่ละยุคสมัย ไม่ใช่สิ่งที่เกิดแล้วดำรงอยู่ แต่เมืองถูกสร้างตลอดเวลาจากการมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของผู้คน เราเองเห็นเมืองเป็นภาพของชีวิตในหลากหลายฉากทัศน์ เป็นมากกว่าพื้นที่หรือสถานที่ มันคือชีวิต และมันมีอนาคตรออยู่

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความหลากหลายของเมืองก็แฝงด้วยความเหลื่อมล้ำ เพราะนอกจากคนจะเป็นผู้สร้างเมืองผ่านคุณค่าและอุดมการณ์บางอย่างแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่เมืองเป็นเรื่องของคน เมืองจึงจำเป็นต้องถูกจัดระเบียบด้วยกลไกต่างๆ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่จำกัด โดยกลไกหรือระบบที่สร้างเมืองก็อาจจะเป็นเรื่องการออกแบบผังเมือง สถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต อีกส่วนที่สำคัญคือกลไกทางการเมือง ที่เข้ามาตัดสินใจว่าเมืองจะถูกบริหารอย่างไร ทั้งในด้านของการเงินการคลัง การจัดสรรพื้นที่ การจัดการความเสี่ยง เมื่อนำนโยบายไปใช้ในเมืองที่มีปัจจัยอื่นๆ อยู่แล้วอย่างชนชั้นทางสังคม เศรษฐกิจ เพศ ย่อมมีคนบางกลุ่มเหลื่อมล้ำมากกว่าคนอื่น  เมืองจึงเป็นพื้นที่ของความเหลื่อมล้ำเช่นกัน



หากจะมองกลับมาที่เรื่องการตายกับเมือง เรามีข้อสังเกตว่าโดยปกติแล้วเมืองมักถูกสร้าง (ผ่านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม) และถูกออกแบบ (ผังเมือง สถาปัตยกรรม และการเมือง) ให้รองรับกิจกรรมที่ว่าด้วย ‘ชีวิต’ เป็นหลัก นั่นก็คือเมืองเป็นพื้นที่สำหรับการมีชีวิต ชีวิตในเมืองเรื่องใหญ่คือที่อยู่อาศัย ที่กิน (การบริโภค) การเดินทาง การทำงาน และกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย เช่น กิจกรรมสันทนาการ การสังสรรค์ การสร้างครอบครัว เหล่านี้เป็นฟังก์ชันหลักของเมือง เมืองที่ดีสามารถตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมืองอาจถูกออกแบบเผื่อบางเรื่องที่ไม่ปกติของสังคมอย่างการเจ็บป่วยอยู่บ้าง เช่น พื้นที่ของโรงพยาบาล และเผื่อไปถึงเรื่องความตาย เช่น พื้นที่ของสุสาน วัด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องหลัก  

ชีวิตที่ดำรงอยู่ในความเป็นเมืองซึ่งถูกจำแนกด้วยโครงสร้างทางสังคม เช่น รายได้ เชื้อชาติ ศาสนา นอกจากจะเป็นตัวบอกได้ว่าเราเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วม หรืออยู่ในบทบาทใดเมื่อดำรงอยู่ในเมือง ตลอดจนพื้นที่ลักษณะอื่นแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็มีผลกำหนดการตายและความตายในระดับหนึ่ง เช่น residential zone หรือการแบ่งเขตที่อยู่อาศัยด้วยเกณฑ์ทางสังคม พื้นที่บางแห่งของเมืองผู้อยู่อาศัยจะมีความเสี่ยงต่ออาชญากรรม เช่น ในชุมชนแออัด ในที่รกร้างไม่ได้รับการจัดระเบียบ บางพื้นที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เช่น อยู่ใกล้โรงงานสารเคมี บางพื้นที่มีความเป็นพิษทางอากาศ ทางน้ำ หรือในดินสูงกว่าพื้นที่อื่น พื้นที่จึงมีผลต่อสุขภาวะและวิถีการตายเช่นกัน ยังไม่นับว่าคนบางกลุ่มจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนอื่นเพราะเป็นผู้หญิง หรือเพราะเป็นชนกลุ่มน้อยอีกด้วย

โจทย์เรื่องการตายหรือความตายนั้นมักจะหายไปจากภาพของเมือง ถ้าพูดถึงความตายกับเมืองหรือการตายในเมืองเราจะจับต้นชนปลายลำบาก เมืองจะไปเกี่ยวกับความตายอย่างไรนั้นอาจไม่ได้สัมพันธ์แบบตรงไปตรงมา แต่หากเราเชื่อว่าเมืองคือเรื่องของชีวิต และชีวิตกับความตายเป็นเรื่องที่แยกไม่ขาดจากกัน เพราะการตายไม่ได้จู่ๆ เกิดขึ้นไร้ที่มา แต่เป็นผลต่อเนื่องจากการดำเนินชีวิต ชีวิตกับความตายเป็นเส้นทางเดียวกันเพียงแค่การตายนั้นอยู่ในช่วงเวลาสุดท้าย ดังนั้น อะไรก็ตามที่เมืองกำหนดชีวิตย่อมไม่แปลกที่จะมีผลต่อการตาย 

ถ้าเมืองคือการจัดระเบียบที่เอื้อต่อความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ การตายก็คงหนีการถูกอภิปรายในประเด็นความเหลื่อมล้ำไม่พ้น หากเรามองเมืองในฐานะของพลวัตที่ขับเคลื่อนอย่างซับซ้อน เป็นพื้นที่ศูนย์รวมของประวัติศาสตร์ ผู้คน การสร้างสรรค์ วัตถุ สิ่งของมากมาย เมืองก็คืออนาคตบางอย่างที่ยังมาไม่ถึง และในการศึกษาเรื่องการตายในเมือง เราพยายามจะฉายภาพอนาคตของการตายบนเงื่อนไขของเมืองและคน และอุดมการณ์ และอื่นๆ เพื่อมองหาความเป็นไปได้ที่จะอธิบายวิถีการตาย ตลอดจนความเป็นไปได้ของทางเลือกต่างๆ บนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เรามีและจินตนาการไปถึงในปัจจุบัน 

การศึกษาความตายในภาพใหญ่ทำให้เราเข้าใจภาพรวมของสังคมว่า ตกลงแล้วเราอยู่ในสังคมที่เอื้อต่อการตายที่ดีมากน้อยแค่ไหน

การศึกษาความตายในภาพใหญ่ทำให้เราเข้าใจภาพรวมของสังคมว่า ตกลงแล้วเราอยู่ในสังคมที่เอื้อต่อการตายที่ดีมากน้อยแค่ไหน ว่ากันถึงนโยบาย พื้นที่ ผู้คน การตระหนักรู้ มีมากน้อยอย่างไร หรือเราจะมุ่งเน้นแต่การไปข้างหน้าและทิ้งคนที่กำลังจะตายไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ ถ้าเราใช้มุมมองแบบประโยชน์นิยม ความตายก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นเราจึงมองว่าการศึกษาความตายสามารถเป็นจุดๆ หนึ่งที่ชี้วัดคุณภาพและคุณธรรมของสังคมได้ด้วย


ช่วยยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยว่าความตายในเมืองจะชี้วัดคุณธรรมของสังคมได้อย่างไร

สังคมคือกลไกของการอยู่ร่วมกัน เมืองก็เช่นกัน กลไกของการอยู่ร่วมกันจะเอาอะไรเป็นตัวตั้ง จะเอาความเป็นธรรม ความเสมอภาค สิทธิ เสรีภาพ หรือหลักการแบบที่ทำให้การอยู่ร่วมกันหมายถึงการพึ่งพาอาศัย แบ่งปัน ร่วมทุกข์ร่วมสุข เพื่อลดความทุกข์และภาระอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำ เมื่อมองมาที่คนป่วยใกล้ตาย ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร พอถึงจุดสุดท้ายของชีวิต เขาคือคนที่มีความเปราะบางที่สุด ควรได้รับความดูแลจากรัฐและคนใกล้ชิด ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงการแจกเงินให้ประทังชีวิต แต่ต้องมีวิธีการอื่นๆ ที่ถูกคิดมาดีแล้วด้วย

โจทย์สำคัญของปัญหาการตายไม่ดีไม่ได้มีแค่ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ยังมีปัญหาเรื่องการขาดผู้ดูแลเพราะสังคมเปลี่ยนวิธีคิดไปแล้ว ครอบครัวลูกหลานยังมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ไหม ถ้าไม่ใช่ควรเป็นใคร หรือควรมีระบบอะไรรองรับ ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม สุดแท้แต่โชคชะตาว่าใครจะโชคดีโชคร้าย วิธีการที่สังคมดูแลคนป่วยหรือคนใกล้ตายจึงเป็นตัวชี้วัดคุณภาพและคุณธรรมของสังคมโดยรวมแบบหนึ่ง สังคมที่น่าอยู่ไม่ใช่เมืองที่เจริญแต่แห้งแล้งน้ำใจ หรือมีแต่ความเจริญทางวัตถุแต่ว่างเปล่าในจิตใจ อยู่ใกล้แต่เหมือนไกล เป็นต้น


จากการศึกษาที่ผ่านมา อาจารย์มองเห็นความตายในเมืองเป็นอย่างไร

เรามองเห็นความตายที่หลากหลาย ทั้งในเชิงเวลา พื้นที่ สาเหตุการเสียชีวิต และอะไรอีกหลายๆ อย่าง ในงานวิจัยจัด trajectory หรือเส้นทางของความตายที่เกิดขึ้นในเมืองไว้ 7 ลักษณะ

1. ความตายจากการเจ็บป่วย 2. การตายจากอุบัติเหตุ 3. การตายจากฆาตกรรม 4. การตายแบบตัดสินใจกระทำด้วยตัวเองหรืออัตวินิบาตกรรม 5. การตายที่เกิดจากความเสี่ยงทางสังคม 6. การตายทางเลือก และ 7. การตายทางสังคม

เวลาพูดถึงความตายต้องพูดให้ชัดว่าเรากำลังพูดถึงส่วนไหนเพราะประเด็นปัญหาของการตายแต่ละลักษณะแตกต่างกัน เช่น ความตายจากการเจ็บป่วย เราอาจเห็นภาพความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา เห็นการขาดระบบการดูแล เห็นความสำคัญของการได้แสดงเจตนาในวาระท้ายเพื่อลดความลำบากของลูกหลานหรือคนใกล้ชิดที่ต้องมาตัดสินใจแทนเรา หรือแม้แต่ความพยายามจะยืดชีวิตยื้อความตายอย่างสุดกำลัง และในเส้นทางของการเจ็บป่วย กลุ่มเปราะบางที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยใกล้ตายด้วยกันคือกลุ่มคนที่ไม่มีทางเลือก กลุ่มคนที่มีทุนด้านต่างๆ น้อย ทำให้พลังต่อรองน้อย 

อย่างการตายด้วยอุบัติเหตุก็มีประเด็นน่าสนใจว่า ส่วนใหญ่เป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความประมาท เมาสุรา ทะเลาะวิวาท กลั่นแกล้งกัน ดังนั้นการตายจากอุบัติเหตุอาจจะไม่มีกลุ่มเปราะบางแบบเฉพาะเจาะจง เพราะทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเท่าๆ กัน  อีกกรณีที่น่าสนใจคือการตายจากความเสี่ยงทางสังคม ซึ่งต่างไปจากความตายที่สังเกตได้ประเภทอื่นๆ มันเป็นปัจจัยแฝงที่มากับสังคมเมื่อเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่เสี่ยงภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้เกิดมลพิษ การพัฒนาที่ล่วงล้ำธรรมชาติจนกลายเป็นภัยพิบัติ น้ำท่วม ความแปรปรวนของสภาวะอากาศ การเกิดโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ กระทั่งเกิดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ สงคราม อาวุธชีวภาพ ก่อการร้ายประเภทมือระเบิดพลีชีพ (suicide bombers) สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบมาถึงเรา ทำให้เราเสี่ยงต่อการตายเพิ่มขึ้น และถ้าเรามองดูดีๆ ความตายทั้ง 7 ประเภทนี้ ลึกๆ ก็มีที่มาจากสังคมทั้งนั้น


เราสามารถจำแนกความตายที่เกิดจากความเสี่ยงทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรมแค่ไหน สมมติถ้ามีคนใช้ชีวิตในเมือง สูดฝุ่น PM 2.5 จนเป็นโรคปอดและเสียชีวิต เราจะทราบได้อย่างไรว่าความตายของเขาเชื่อมโยงถึงฝุ่น PM 2.5 หรือจริงๆ เราอาจกล่าวได้ว่าความตายทุกประเภทแฝงด้วยความเสี่ยงทางสังคม 

ต้องมองที่สาเหตุของการเจ็บป่วย ซึ่งการที่มนุษย์ป่วยเกิดจากสองสาเหตุ หนึ่งคือเกิดจากสภาพร่างกาย ปัจจัยภายในตัวเรา มีกลุ่มโรคบางกลุ่มที่วินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคจากปัจจัยภายใน และสองคือเกิดจากสิ่งที่เรารับเข้ามาในร่างกาย พฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างหลังเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ ถ้าเราวินิจฉัยได้ว่าการเจ็บป่วยของเราเกิดจากพฤติกรรม จะเห็นความเหลื่อมล้ำที่แฝงอยู่ในนั้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัย แต่อีกส่วนเกิดจากการไม่มีทางเลือกในการใช้ชีวิต สภาพสังคมบีบบังคับให้คุณไม่สามารถเลือกอาหารที่จะรับประทานเข้าไปหรือไม่มีเวลามาออกกำลังกาย

ถ้าเราสังเกต กลุ่มโรค Noncommunicable diseases (NCDs) เป็นโรคที่เกิดจากสภาพสังคมบีบคั้นทั้งนั้น ต่อให้คุณมีความรู้เรื่องการป้องกันโรคว่าควรจะกินอาหารที่สะอาด ถูกหลักโภชนาการ เป็นอาหารคลีน ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ แต่ถ้าคุณเป็นคนจนก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมีความรู้อย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องมีความพร้อมด้านอื่นๆ ด้วย คุณถึงจะไม่เจ็บป่วย

สำหรับคำถามที่ว่าจะรู้ได้ยังไงว่าเราป่วยจากการสูดฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาความเสี่ยงทางสังคม อย่างที่บอก ถ้าเราวินิจฉัยได้ว่าโรคไม่ได้เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย หรือสังเกตเห็นลักษณะแบบแผน (pattern) การป่วยบางอย่าง เช่น มีคนบางกลุ่มป่วยเพิ่มมากขึ้นในสถานการณ์และช่วงเวลาที่เจาะจง เห็นลักษณะร่วมกันบางอย่าง ก็ทำให้เราสามารถสันนิษฐานได้ว่าไม่ใช่การเจ็บป่วยจากปัจจัยภายใน แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ถูกกระตุ้นอย่างผิดปกติ  สิ่งที่น่ากังวลคือความเสี่ยงทางสังคมบางเรื่องเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น อย่างอากาศที่หายใจ น้ำในแม่น้ำ ถึงไม่มีขยะลอยอยู่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะสะอาด ตอนนี้เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเต็มไปหมดเลย



ความตายจากโรคระบาดเช่นโควิด-19 ก็เป็นความตายที่อาจารย์จัดว่าเกิดจากความเสี่ยงทางสังคมเช่นกัน จากข่าวคราวความสูญเสียที่ผ่านมา อาจารย์มีข้อสังเกตอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับความตายจากโควิด-19 บ้าง

การตายจากโควิด-19 เป็นความตายที่หดหู่ น่าเศร้า ยิ่งในมุมมองผู้สูญเสียที่ต้องเห็นคนในครอบครัวจากไปโดยช่วยเหลืออะไรไม่ได้ ไม่ได้ดูใจก่อนตาย บางคนไม่มีโอกาสแม้แต่จะเผาศพ สิ่งเหล่านี้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่คนมากมายในสังคมขณะนี้ ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความตายจากโควิด-19 ไว้สัก 3-4 ประเด็น

ประเด็นแรก ความตายของโควิด-19 ชี้ให้เห็นความตายในวิถีหดหู่แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หากเป็นการตายในบริบทโรงพยาบาล เราจะเห็นภาพผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงห้องไอซียู ถูกแยกออกจากคนอื่นๆ กระทั่งแพทย์พยาบาลก็ไม่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ภายใต้เงื่อนไขการรักษาพยาบาลที่ต้องระวังเรื่องการติดเชื้อมากๆ ทำให้เป็นไปได้ว่าผู้ป่วยหลายคนต้องตายจากไปโดยลำพัง ไม่มีโอกาสได้สั่งลากับใคร เป็นความตายที่โดดเดี่ยว

สำหรับเรามองว่าโควิด-19 ได้ทำให้เกิด disruption ของสิ่งที่เป็นหัวใจของการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย นั่นก็คือ การสร้างความผูกพัน การฟัง การเข้าถึงหัวใจและความรู้สึก การใช้สัมผัส การสื่อสารด้วยอวัจนะภาษา ทั้งหมดคือหัวใจของความเป็นมนุษย์ในการดูแล แต่ขณะนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะการรักษาระยะห่างและการต้องใส่หน้ากากที่ปิดความรู้สึกอีกมากมาย ประเด็นนี้อาจสร้างความค้างคาใจให้ญาติที่ต้องการเห็นวาระสุดท้ายเกิดขึ้นอย่างสงบหรืออย่างน้อยก็ได้รับการดูแลระดับหนึ่ง อีกประเด็นที่เป็นเรื่องร้อนคือต้องมีการเลือกว่าจะช่วยใครมากน้อยเท่าไรในความจำกัดของทรัพยากรที่มี ดังนั้นประเด็นการดูแลระยะท้ายในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 จะมีแง่มุมทางศีลธรรมของการดูแลเป็นเรื่องสำคัญ 

กลับกัน หากเราเปลี่ยนบริบทเป็นการตายที่บ้าน ผู้ป่วยอาจจะไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่ภาพที่เกิดขึ้นคือความตายแบบบีบคั้น (struggle) เป็นความตายที่ลูกหลานช่วยไม่ได้แม้จะอยู่บ้านเดียวกัน คนในบ้านต้องระวังตัวมาก เครียดหนัก ทุกคนต่างกลัวว่าจะติดไหม ติดแล้วจะตายไหม ทั้งหมดเป็นความรู้สึกที่บีบคั้น ถ้าเป็นบริบทการตายบนท้องถนนหรือที่สาธารณะก็ยิ่งน่าสลดมากขึ้นไปใหญ่ ฉะนั้น ความตายจากโควิด-19 มีมิติเรื่องอารมณ์เศร้า สลดหดหู่สูงมากแทบทั้งหมด

ประเด็นที่สอง ความตายจากโควิด-19 ฉายภาพความเปราะบางของสังคม ถ้าอ่านข่าวจะรู้สึกว่าคนที่เสียชีวิตส่วนมากคือกลุ่มคนที่เปราะบาง ขาดต้นทุนทางสังคมหลายๆ อย่าง ผิดกับคนที่มีเส้นสาย มีเงิน จะได้รับการรักษาและเข้าถึงวัคซีนง่ายกว่า

ประเด็นถัดมาคือเรื่องความพร้อม ความตายจากโควิด-19 เป็นความตายแบบไม่ทันได้เตรียมตัว หรือต่อให้อยากเตรียมก็ไม่ทัน เป็นความตายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครได้เตรียมใจ

ประเด็นสุดท้าย ความตายจากโควิด-19 ในหลายๆ กรณี เป็นการตายที่ไม่สมควรตาย ลักษณะสำคัญของความตายขณะนี้คือ ‘เขาจะไม่ตาย ถ้าเขาป้องกันตัวได้’ หรือ ‘ถ้าเขามีทางเลือก’ การติดเชื้อของคนจำนวนหนึ่งเกิดจากการไม่มีทางเลือก ไม่อาจหนีออกจากสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงได้เลย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า คนในชุมชนแออัด คนประกอบอาชีพบางอาชีพอย่างไรเดอร์ คนรับส่งของ คนเหล่านี้มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ แต่ก็ต้องยอม เพราะต้องทำงาน ต้องเดินทางออกนอกบ้าน หรือต้องติดเชื้อจากการไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้  ไม่มีทุนทรัพย์มากพอจะย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ ที่ไม่มีความเสี่ยง 

นอกจากการติดโควิด-19 เพราะคนไม่มีทางเลือก ยังมีการติดเชื้อจากความหละหลวมของคนอื่นในสังคม เราต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดโควิดหรือติดแล้วแต่ไม่มีอาการ ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพราะคิดว่าตนเองคงไม่ติด ถึงติดก็คงไม่เป็นไรมาก คนกลุ่มนี้เป็นพาหะสำคัญที่สามารถแพร่เชื้อในวงกว้างจนทำให้เกิดความตายที่ไม่ควรตาย

อันที่จริงเมื่อติดเชื้อแล้วหลายคนก็มีโอกาสหาย แต่โอกาสหายของเขาจะลดลงและโอกาสตายจะเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ใช้รอเข้ารับการรักษา ประเด็นเรื่องการตายที่ไม่ควรตายจึงมีข้อสังเกตเรื่องปัญหาของระบบบริหารจัดการด้านการตรวจและรักษารวมอยู่ด้วย เราจะเห็นภาพการรอตรวจหาเชื้อให้แน่ใจว่าเป็นผู้ติดเชื้อจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งในระบบที่มีทั้งการตรวจเชิงรุก ตรวจคัดกรอง และการไปหาที่ตรวจเอง ไม่ว่าวิธีไหน คนล้วนต้องรอทั้งนั้น ช่วงเวลาของการรอทำให้ไม่สามารถระบุสถานภาพการเป็นผู้ป่วยได้ หลายคนที่ติดเชื้อก็มีอาการมากขึ้น มันเป็นช่วงเวลาที่เสียเปล่าของกระบวนการรักษา

ครั้นติดเชื้อก็ต้องรอเข้าระบบการรักษาอย่างที่เราเห็น ช่วงแรกๆ มีปัญหาเพราะต้องรอเข้ารับการรักษาผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ มีเบอร์เดียวแต่คู่สายไม่พอ หลังๆ มีหน่วยงานอื่นเข้ามา ก็กลายเป็นว่ามีคนรับเรื่องหลายทางจนงง มีเบอร์ให้โทรจนงง โทรกันซ้ำซ้อน พอผู้ป่วยได้รับการติดต่อกลับก็ไม่รู้จะไปรักษาที่ไหนดี ยิ่งมีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น การบูรณาการก็ยิ่งยาก ตามด้วยความคับคั่งในระบบ สุดท้ายทำให้ผู้ป่วยต้องรอการรักษาจนเสียชีวิต การตายจากโควิด-19 หลายกรณีมีสาเหตุสำคัญจากการรอ รอตรวจ รอการรักษา รอความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ดีและการสื่อสารความเสี่ยงกับสาธารณะท่ามกลางภาวะที่มีข้อมูลข่าวสารผิดเพี้ยนแพร่กระจายไปพร้อมโรคระบาด (infodemic)


ถัดจากความตายคือการจัดการกับร่างหลังความตาย ในยุคที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนมาก การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากศพเป็นเรื่องสำคัญ อาจารย์มองเห็นไหมว่าตอนนี้เรามีกระบวนการจัดการศพเหล่านี้อย่างไร เหมาะสมหรือไม่

ในสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าความตายที่เกิดขึ้นจะมีสาเหตุที่แท้จริงเป็นอะไรก็แล้วแต่ มักจะถูกจัดประเภทเป็นศพเสี่ยงสูงไว้ก่อน ถ้าเราจัดหมวดหมู่ของศพตอนนี้ จะมีศพที่เสียชีวิตจากโควิดโดยมีผลการตรวจแน่ชัด เรียกว่ากลุ่มศพโควิด ต่อมาเป็นศพที่สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 คือไม่ได้ผ่านการตรวจ มีข้อที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีความเสี่ยง เช่น คนในครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ พอเสียชีวิตจึงสันนิษฐานว่าเป็นผู้ติดเชื้อเหมือนกัน และสุดท้ายคือศพที่ไม่ทราบว่าติดโควิด-19 หรือไม่ ไม่รู้จะอ้างอิงกับอะไร เช่น จู่ๆ พบคนเสียชีวิตบนท้องถนน ตายเงียบๆ ในห้องพัก ทั้งที่ไม่มีผลตรวจติดโควิด-19 เป็นต้น

เหตุที่เราต้องแบ่งศพเช่นนี้ เพราะการจัดประเภทศพจะสัมพันธ์กับวิธีการจัดการศพที่จะเกิดตามมา ในสถานการณ์ที่มีผู้ติดโควิด-19 มากมาย ศพสามประเภทที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งศพติดเชื้อ ศพสงสัยว่าติดเชื้อ หรือกระทั่งไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่จะถูกจัดการแบบพิเศษในฐานะศพติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งก็มีวิธีการต่างไปจากการจัดการปกติ กระทั่งต่างจากการจัดการศพโรคระบาดที่ผ่านมาอย่าง SARs หรือ MERS เพราะตอนนี้มีข้อสันนิษฐานว่าศพโควิดสามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ด้วย คนที่เพิ่งตายจากโควิด-19 ยังคงแพร่กระจายเชื้อได้เหมือนคนติดเชื้อคนหนึ่ง

ทีนี้ศพติดเชื้อต้องจัดการยังไงบ้าง? เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่ศพจะแพร่เชื้อหรือเกิดการปนเปื้อน การจัดการศพจึงมีเงื่อนไขที่บีบคั้นมาก เรื่องแรกคือเวลา ศพต้องถูกจัดการอย่างรวดเร็ว การดำเนินการจากที่ตายสู่ที่เผาต้องเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะศพติดเชื้อไม่สามารถรับการฉีดยารักษาสภาพศพได้ จึงต้องรีบดำเนินการอย่างรวดเร็วก่อนที่ศพจะเน่าเปื่อย

เรื่องที่สองคือศพติดเชื้อต้องการการจัดการด้วยมาตรการป้องกันขั้นสูงสุดเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อหรือการปนเปื้อน หมายความว่าต้องลดขั้นตอนการจัดการศพทั้งหมด จากปกติเมื่อมีผู้เสียชีวิต ศพปกติจะมีการฉีดฟอร์มาลีน หรือถ้าตายอย่างผิดธรรมชาติ ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคภัย แต่เป็นการตายจากอุบัติเหตุ ฆาตกรรม โดนสัตว์ทำร้าย ฆ่าตัวตาย ก็ต้องผ่านการผ่าพิสูจน์ก่อนค่อยฉีดฟอร์มาลีน แต่ศพโควิดผ่านขั้นตอนเหล่านี้ไปได้เลย ถูกบายพาสไปหมด

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับศพให้น้อยที่สุด ไม่ใช่แค่ญาติไม่สามารถเข้ามาร่ำลาได้เพราะเกรงจะติดโควิด-19 จากศพ แต่ยังหมายถึงลดการจัดพิธีกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากด้วย  เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าศพโควิดมีเงื่อนไขการจัดการที่ต่างไปจากศพอื่นๆ ปัญหาคือสังคมไทยยังไม่มีระบบที่มีศักยภาพมากพอจะจัดการหรือรองรับศพโรคระบาดเช่นนี้จำนวนมาก ไม่มีการจัดสรรทรัพยากร อุปกรณ์สำคัญอย่างถุงใส่ศพ น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการจัดการเรื่อง logistic ในการขนย้ายศพ กล่าวคือ ถ้ารถขนศพคันไหนไปรับศพโควิดแล้วจะไม่สามารถรับศพประเภทอื่นได้ อย่าลืมว่าเรายังมีการตายประเภทอื่นเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ด้วย

อีกประเด็นสำคัญ คือ โควิด-19 ในฐานะโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้เกิดความหวาดกลัวในสังคม นำมาซึ่งการตั้งข้อรังเกียจผู้ติดเชื้อ และย่อมไปถึงการตายจากโควิดด้วย การตายจากโควิด-19 เป็นการตายที่ถูกตีตรา เหมือนที่เราเห็นในช่วงพีกของการระบาดว่าไม่มีวัดอยากรับศพโควิดไปฌาปนกิจ หรือวัดรับแต่ชุมชนออกมาต่อต้าน เพราะทุกคนกลัวจะมีการปนเปื้อนจากศพ  ปัญหาใหญ่ของการจัดการศพโควิดจึงเป็นเรื่องอคติด้วย ความกลัว ความไม่รู้ส่งผลให้ต่อการจัดการศพอย่างมาก การที่วัดจำนวนน้อยรับเผาศพโควิด ทำให้ศพเกิดการกระจุกตัวที่วัดบางแห่ง แทนที่จะกระจายไปตามวัดต่างๆ สุดท้ายก็เกิดกรณีเผาจนเมรุแตก การที่เมรุแตกไม่ใช่ว่าตายเยอะแบบอินเดียจนเผาไม่ทันนะ แล้วก็ไม่ใช่เพราะการตายเกิดมากเกินศักยภาพการจัดการ แต่เป็นเรื่องของอคติที่ทำให้การจัดการศพเกิดภาวะคอขวด

แม้ภายหลังสถานการณ์เรื่องวัดจะดีขึ้น แต่เราก็ยังเห็นว่าเจ้าหน้าที่ ลูกหลานยังคงกลัว บางคนไม่อยากรับเถ้ากระดูกกลับบ้าน เรื่องอคติที่มีต่อศพจึงเป็นเรื่องที่ควรสื่อสารให้ชัดเจนด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์ เท่าที่วิเคราะห์จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่าศพโควิดมีความอันตรายแค่ในช่วงที่เขาเพิ่งเสียชีวิตใหม่ๆ จนถึงช่วงที่ยังไม่ได้บรรจุลงถุงใส่ศพ แต่เมื่อบรรจุลงถุงแล้ว มีการปฏิบัติตามแนวทางการฆ่าเชื้อตามขั้นตอนทุกอย่าง ตามหลักการก็ไม่น่าจะมีความเสี่ยงเรื่องการแพร่เชื้อแล้ว เราควรสื่อสารกันให้เข้าใจว่าช่วงไหนของศพมีความเสี่ยงบ้าง ไม่ใช่ปฏิบัติราวกับว่าศพโควิดจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ  



การจัดการศพติดเชื้อเหมือนเป็นแนวทางจัดการร่างหลังความตายแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่สำหรับกระบวนการจัดการศพแบบปกติที่เราเคยทำ มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างไหม

โดยทั่วไป การจัดการร่างหลังความตายมักแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนสำคัญ แต่ละช่วงจะมีพิธีการ พิธีกรรม หรือวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

ขั้นตอนแรก หลังการตายเกิดขึ้นจะต้องมีการประกาศให้ผู้อื่นรับทราบว่าคนคนนี้เสียชีวิตแล้ว (announcing death) จะประกาศอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าความตายเกิดขึ้นที่ไหน ถ้าเป็นที่บ้าน วิธีประกาศที่เป็นทางการคือญาติไปแจ้งตายเพื่อให้รัฐรับทราบว่าสถานภาพบุคคลนั้นได้สิ้นสุดลง มีการตายเกิดขึ้น ซึ่งต้องไปแจ้งเขตภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางกรณีที่เราสงสัยหรือรู้ว่าเป็นการตายแบบผิดธรรมชาติ ก็ต้องแจ้งตำรวจเพื่อให้ตำรวจและแพทย์มาตรวจสถานที่เกิดเหตุก่อน ขั้นตอนการ announce death จึงถือว่าเป็นขั้นตอนการแจ้งข่าวแก่สาธารณะและประกาศให้รู้ว่าศพนี้ตายตามธรรมชาติหรือผิดธรรมชาติ ที่จะมีผลในเชิงกฎหมายและคดีความต่อไป

พอมีศพโควิดเกิดขึ้น ถ้าตายในโรงพยาบาลหรือในสถานที่ที่รองรับเขาในฐานะผู้ป่วยโควิด-19 ก็ไม่มีอะไรมาก แต่ถ้าตายในกรณีหมิ่นเหม่ ไม่แน่ใจว่าติดโควิด-19 ตายหรือเปล่า ทั้งในบ้าน บนท้องถนน ยากจะบอกว่าเสียชีวิตจากโควิด-19 ชัดเจนถ้ายังไม่เกิดกระบวนการตรวจสอบ โควิด-19 จึงเข้ามาเปลี่ยนกระบวนการและวิถีของการ announce death คือต้องทำอย่างรัดกุมมากขึ้นก่อนประกาศว่าเสียชีวิตเพราะอะไร 

ขั้นตอนต่อมาหลังจากแจ้งตายเรียบร้อย ทราบแน่ชัดว่าแล้วการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากอะไร มีผลทางกฎหมายเรียบร้อย สิ่งที่ทำต่อมาเป็นการจัดการเกี่ยวกับร่าง (ศพ) ซึ่งก็คือการเตรียมพร้อมให้แก่ร่างนั้นก่อนนำไปประกอบพิธี วิธีการก็จะเชื่อมโยงถึงขั้นตอนการประกอบพิธีในแต่ละสังคมต่อไป แต่อย่างน้อย หลักการสำคัญของขั้นตอนนี้ที่มีร่วมกัน คือขั้นตอนการจัดการร่างต้องกระทำโดยการให้เกียรติและให้ความเคารพต่อร่างผู้ตาย ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ตายด้วยสาเหตุอะไร เราต้องเคารพในฐานะที่เขาเคยเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นพ่อแม่พี่น้องของคนอื่น

ปฏิบัติการสำคัญในขั้นตอนนี้คือการฉีดยารักษาสภาพศพ ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมแบบสังคมสมัยใหม่ แต่เดิมสังคมไทยจะจัดการศพแค่เรื่องกลิ่น ด้วยการโรยปูนขาว ใช้ใบชา ใช้ผ้าซับอะไรต่างๆ ไม่ได้ชะลอการเน่าเปื่อยของศพ แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่มีความรู้สึกปฏิเสธความตายก็ดี หรืออื่นๆ ก็ดี ศพมักถูกจัดการให้ไม่เหมือนคนตาย การรักษาสภาพศพในสังคมตะวันตกค่อนข้าง aggressive มาก มีเทคโนโลยี น้ำยาเคมี เครื่องมือหลายอย่างที่สามารถทำให้ศพคล้ายคลึงกับมนุษย์ที่มีชีวิตมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์กับพิธีกรรมที่เขาจัด พิธีกรรมของตะวันตกจะมีการเชิญคนมาร่ำลา คนจำเป็นต้องเห็นหน้าศพจึงต้องทำแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมไทย วิธีการรักษาสภาพศพค่อนข้างแตกต่างจากสังคมตะวันตกอย่างชัดเจน กล่าวคือเราค่อนข้าง low-tech ในการรักษาสภาพศพ และไม่ได้มีความพยายามเปลี่ยนศพให้ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่ยังไม่เสียชีวิต เราทำเพื่อไม่ให้ศพเน่าระหว่างการประกอบพิธีเท่านั้น  โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนนี้เช่นกัน การฉีดยารักษาสภาพศพก่อนนำไปประกอบพิธีหรือมีเป้าหมายให้ญาติมาร่ำลาไม่สามารถทำได้ แม้กระทั่งฉีดเพื่อตรวจชันสูตรศพก็ทำไม่ได้ นี่เป็นประเด็นที่น่าคิดตามเหมือนกันนะว่าถ้าการชันสูตรทำไม่ได้ สาเหตุการตายมีความกำกวม ประเด็นการฆาตกรรมแฝงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ถัดมาเป็นขั้นตอนการประกอบพิธี ทั้งพิธีทางศาสนาหรือทางโลกแล้วแต่ความประสงค์ของผู้เสียชีวิตและญาติ ปัจจุบันก็เห็นกันอยู่ว่าทำได้ยากมาก เนื่องจากต้องป้องกันการรวมตัวของคนด้วย อันที่จริงเราอาจเห็นการปรับตัวในเชิงพิธีกรรม เปลี่ยนจากการจัดงานในลักษณะเดิมมาพึ่งพาเทคโนโลยี ไลฟ์ video call แทน แต่ก็มีคำถามเหมือนกันว่า การปรากฏตัวทางกายภาพอย่างการไปร่วมงานพิธีกรรมมีความสำคัญในฐานะกลไกบรรเทาความเศร้าในจิตใจมากน้อยแค่ไหน การเชื่อมต่อผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลจะแทนที่ได้หรือไม่ได้    

หลังจากศพผ่านการประกอบพิธีกรรมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดการเพื่อทำให้ศพหายไปอย่างถาวร โดยปกติสังคมทั่วโลกใช้ 2 วิธีหลักๆ คือการเผากับการฝัง ปัจจุบันเมื่อเกิดศพโควิด คำแนะนำของประเทศส่วนใหญ่คือควรกำจัดศพด้วยการเผา ประเทศไทยพื้นฐานเราจัดการศพด้วยการเผาอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหา แต่สำหรับต่างประเทศที่มีธรรมเนียมในการฝัง เช่น ในกลุ่มชาวคริสต์ และมุสลิม ที่การฝังเป็นพิธีการทางศาสนาที่สำคัญและมีความหมายลึกซึ้งต่อการตายดี ธรรมเนียมเหล่านี้ถูกท้าทายมากว่าต้องเปลี่ยนไปเผาดีไหม บางกลุ่มก็ยอมรับไม่ได้ ตัวอย่างประเทศกัมพูชาออกคำสั่งว่าศพทั้งหมดที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 ต้องนำไปเผา ประชากรที่เป็นชาวมุสลิมออกมาคัดค้าน ห้ามนำศพชาวมุสลิมไปเผา แม้จะเป็นคนเพียงไม่เกินร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมดแต่ก็มีพลังพอที่จะทำให้รัฐบาลต้องทบทวน จนท้ายที่สุดต้องยอมผ่อนปรน หรือประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรหลักอย่างอินโดนีเซียก็ยังจัดการศพด้วยการฝังอยู่

จุดนี้ก็ต้องบาลานซ์ในเชิงความหลากหลายของวัฒนธรรมเหมือนกันว่าวิธีการ dispose ร่าง โดยเฉพาะศพโควิดควรจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแสดงว่าพิธีกรรมที่ผูกกับความเชื่อและความหวังเกี่ยวกับความตายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการร่างคือพิธีการระลึกถึง ถ้าเป็นคติหรือพิธีกรรมแบบพุทธคือให้ญาติมาทำบุญ จัดพิธีระลึกในรูปแบบต่างๆ นี่ก็ได้รับผลกระทบด้านการรวมตัวอยู่บ้าง แต่ยังปฏิบัติได้ในกติกาของการรักษาระยะห่าง แต่โดยสรุปคือโควิด-19 เข้ามามีผลต่อกระบวนการจัดการศพที่เคยมีอยู่ทั้งหมดเลย ตั้งแต่การ announce death กระบวนการ care of death พิธีกรรมต่างๆ ถูกตัดทิ้ง ด้านวิธี dispose และพิธีระลึกถึงก็ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย


เป็นไปได้ไหมที่ผลกระทบจากโควิด-19 จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อธรรมเนียมการจัดการศพหรือพิธีกรรมในระยะยาว

ถ้าถามว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงถาวร หรือเป็น new normal ใหม่หรือเปล่าก็คงขึ้นอยู่กับคนในสังคมว่าท้ายที่สุดแล้วจะตอบรับกับแนวทางที่เป็นอยู่อย่างไร แต่เบื้องต้นต้องตั้งหลักว่าพิธีกรรมทั้งหลายที่ถูกจัดขึ้นมีเป้าหมายสำหรับผู้ตายและผู้อยู่ พิธีกรรมจึงมีความหมายที่ลึกซึ้ง เราเห็นมิติทางสังคมในพิธีกรรม เช่น ความช่วยเหลือของคนรู้จักที่หยิบยื่นให้ครอบครัวผู้สูญเสีย ทั้งกำลังใจ ปัจจัย แรงงาน และอื่นๆ  เรายังเห็นความเชื่อและความหวังของการส่งผู้ตายไปดีอยู่ในพิธีกรรมที่มีต่อศพโดยตรงอีกไม่น้อย เช่น พิธีรดน้ำศพ พิธีสวด ที่ต้องมีร่างหรือศพปรากฎอยู่ด้วยในเวลาที่ประกอบพิธีนั้น  โดยภาพรวมพิธีกรรมในช่วงที่ยังมีร่างหรือศพปรากฎอยู่จึงมีเพื่อการปลอบประโลมในทุกฝ่าย และเป็นหลักยึดให้ครอบครัวผู้สูญเสียมีความหวังและสามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้

พิธีกรรมทำให้ความหมายเหล่านี้เกิดได้ด้วยเวลา วัตถุ ผู้คน และที่สำคัญคือการปรากฏอยู่ของร่างหรือศพนั้นด้วย แต่ในยุคโควิด-19 เราจะเห็นชัดเจนว่าองค์ประกอบทั้งหลายของพิธีกรรมถูกตัดออก มันจึงไม่ใช่พิธีกรรมในความหมายทางวัฒนธรรมที่เราเข้าใจและปฏิบัติกันมา แต่คือปฏิบัติการของการควบคุมโรค

ในยุคโควิด-19 เราจะเห็นชัดเจนว่าองค์ประกอบทั้งหลายของพิธีกรรมถูกตัดออก มันจึงไม่ใช่พิธีกรรมในความหมายทางวัฒนธรรมที่เราเข้าใจและปฏิบัติกันมา แต่คือปฏิบัติการของการควบคุมโรค

ดังนั้นถ้าคนหมู่มากรู้สึกสะเทือนใจจากการไม่ได้จัดพิธีกรรมให้ผู้เสียชีวิต หรือเชื่อว่าพิธีกรรมผูกติดอยู่กับการตายดี โอกาสที่เราจะเปลี่ยนไปจัดงานศพแบบเรียบง่าย กลายเป็น new normal ของสังคมก็อาจจะยาก เพราะสังคมไทยส่วนใหญ่เมื่อจัดงานศพ ไม่ว่าจะเป็นพิธีการนำศพมาตั้ง รดน้ำ บำเพ็ญกุศล ไปจนถึงการเผาและพิธีทำบุญหลังจากเสียชีวิต 7 วัน 50 วัน หรือ 100 วัน ทั้งหมดเชื่อว่าทำไปเพื่อส่งให้ผู้ตายไปสู่สุขคติ หากคนเชื่อว่าผู้ตายไม่ตายดีถ้าปราศจากพิธีกรรม ยังเป็นการตายที่ไม่สมบูรณ์ ความเปลี่ยนแปลงคงเกิดขึ้นยาก

ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นช่วงเวลาที่จะทำให้คนเห็นว่า ‘แก่น’ จริงๆ ของการจัดงานศพคืออะไร พิธีกรรมที่เราจัดกันอยู่ทุกวันนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งทำไปเพื่อสร้างหน้าตาทางสังคมของคนที่ยังอยู่ เป็นเรื่องทางธุรกิจ โควิด-19 ทำให้เรากลับมาทบทวนเหมือนกันว่าขั้นตอนที่จำเป็นของงานศพจริงๆ มีอะไรบ้าง การสวดพระอภิธรรมยาวนาน การเชิญแขกเหรื่อมากมาย ต้องมีพวงหรีด มีอาหารเสิร์ฟ ไม่ใช่สาระสำคัญของงานศพเลย การสวดพระอภิธรรม สวดบังสกุลเป็นการทำให้คนเป็นเข้าใจความตายมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นอีกอย่างคือคนเห็นภาพชัดเจนว่าอะไรที่สำคัญสำหรับการจัดพิธีกรรม สำคัญต่อการจัดการร่างหลังความตาย ส่วนประกอบของพิธีกรรมที่มีไว้เพื่อหน้าตาของคนเป็นจะหายไป 

นอกจากนี้ สิ่งที่จะเริ่มปรากฏชัดและกลายมาเป็นพิธีกรรมคู่ขนาน คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อทำให้การเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเป็นเรื่องง่ายขึ้น  เรามองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่มีขึ้นเพื่อทดแทน แต่เข้ามาเสริมและเป็นทางเลือกมากขึ้น ในขั้นต่อไปก็เชื่อว่าจะเกิดการเติบโตของ digital funeral ในมิติต่างๆ ตามมา


ในเมืองที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ อาจารย์เห็นภาพการซ้อนทับระหว่างปัญหาความเหลื่อมล้ำและโควิด-19 อย่างไรบ้าง

พูดแล้วมันก็เจ็บ ความตายจากโควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่ามีโอกาสตายน้อยกว่า เพราะมีความสามารถในการเข้าถึงระบบการรักษา สาธารณสุขต่างๆ มากกว่า

ข่าวคนป่วยนอนรอความช่วยเหลือจนเสียชีวิตในบ้าน ไม่มีใครเป็นคนมีฐานะดีเลย มีแต่คนจนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเผชิญการตายจากโควิด-19 เยอะกว่า เป็นปัญหาตั้งแต่เรื่องของการติดเชื้อที่คนจนไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่สามารถกันตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยง ในขณะที่คนรวยมีพื้นที่มากกว่า แยกกักตัวกันโรคได้ง่ายกว่า แล้วยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการรักษา (access to care) ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นชัดว่ามีโอกาสไม่เท่ากัน เราต่างรู้ดีว่าคนรวยมีเส้นสาย มีโอกาสได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ดีกว่า หรือแม้กระทั่งการทำ home-isolation คนจนก็ไม่สามารถทำได้ ยกเว้นจะติดกันทั้งบ้านแล้วทำกันทั้งบ้าน ความเหลื่อมล้ำส่งผลให้เมื่อติดเชื้อแล้ว มีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพน้อยกว่าคนรวย ช้ากว่าคนรวย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนโยบายกระจายวัคซีนที่ไม่ได้อยู่บนหลักการจัดลำดับความสำคัญ (priority) ที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ความเป็นจริง (ถอนหายใจ) และเราอาจจะตายใจตั้งแต่แรก จึงไม่มีการวางแผนเรื่องวัคซีนระยะยาว ไหนจะเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อและกระจายวัคซีนที่เป็นปัญหาเช่นเดียวกันอย่างที่ทุกคนทราบอยู่ ยังไม่นับว่าเราอยู่ในวาทกรรมการด้อยค่าและการหวังผลทางการเมืองจากปรากฏการณ์การตายในช่วงโควิด-19 นี้ด้วย แต่ไม่ว่าคนรวยหรือจน เมื่อตายแล้วก็ไม่ต่างกัน ต้องไปเผาที่วัด ลูกหลานไม่ได้เจอ งานศพไม่สามารถจัดได้ตามปกติ คงมีแค่เรื่องความตายนี่ล่ะมั้งที่เป็นสัจธรรมว่าสุดท้ายคนทุกคนก็เท่ากัน


ความตายอีกรูปแบบหนึ่งในช่วงโควิด-19 คือการฆ่าตัวตาย สถานการณ์การฆ่าตัวตายในช่วงโรคระบาดมีความเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างจากห้วงยามปกติอย่างไรไหม

สถานการณ์และปรากฏการณ์โควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่บีบคั้นให้ทุกคนต้องดิ้นรน มีความทุกข์ ความสิ้นหวัง และอีกหลายอารมณ์เกิดขึ้นซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบทางจิตใจต่อบุคคลและสังคมอย่างมหาศาล ผลหนักเบามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเขาจะรับมือกับมันได้ดีอย่างไร บางคนมีประสบการณ์ บางคนมีทรัพยากรจึงรับได้ดี แต่บางคนก็ถูกสถานการณ์ที่บีบคั้นนี้ผลักมาถึงทางตัน และเราก็จะได้ข่าวว่าบางคนเลือกที่จะจบชีวิตจากไป

อย่างไรก็ตาม การฆ่าตัวตายในช่วงโควิด-19 อาจไม่ได้เกิดจากปัจจัยโรคระบาดเพียงอย่างเดียว มันคงไม่แฟร์ถ้าจะบอกว่าการฆ่าตัวตายทั้งหมดเกิดเพราะเครียดจากโควิด-19 แต่ละคนคงมีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย โควิด-19 อาจจะเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้าย เวลาเราพูดถึงการฆ่าตัวตายจึงควรพูดให้เป็นธรรมต่อผู้เสียชีวิตและทุกฝ่ายด้วย

ตอนนี้มีคนพยายามรวบรวมสถิติการฆ่าตัวตายในช่วงโควิด-19 หลายๆ ประเทศเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการฆ่าตัวตายและโควิด-19 ล่าสุดมีงานศึกษาที่รวบรวมข้อมูลจาก 21 ประเทศ ทั้งกลุ่มประเทศรายได้สูง รายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ พบว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 บางประเทศลดลง บางประเทศก็เท่าเดิม จะมีเพิ่มแค่บางประเทศที่มีรายงานสถานการณ์แพร่ระบาดหนักๆ

น่าสังเกตว่ากลุ่มประเทศรายได้สูงและรายได้ปานกลาง อัตราการฆ่าตัวไม่ได้เปลี่ยนหรือเปลี่ยนน้อยมาก สิ่งที่มีเพิ่มขึ้นเหมือนกันคือรายงานเรื่องความเครียด นั่นเท่ากับว่าคนมีความเครียดเพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้มีคนฆ่าตัวตายมากขึ้นเสมอไป ยกเว้นที่ญี่ปุ่นซึ่งมีข้อมูลว่าอัตราการฆ่าตัวตายในช่วงโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ก็ต้องเข้าใจว่าข้อมูลสถิติที่เล่าให้ฟังนี้เป็นข้อมูลที่เก็บมาด้วยระเบียบวิธีและช่องทางที่หลากหลาย แต่ละประเทศอาจไม่ได้มีมาตรฐานการเก็บข้อมูลที่เหมือนกัน ฉะนั้นก็มีข้อพึงระวังในการศึกษาข้อมูลประเภทนี้ว่าความแตกต่างด้านระเบียบวิธีเก็บข้อมูลส่งผลถึงความน่าเชื่อถือและคุณภาพของข้อมูลด้วย กรณีประเทศไทยก็มีหมายเหตุเช่นกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มาจากรายงานของตำรวจและคำบอกเล่า ไม่ได้เกิดจากระบบ early detection ไม่มีระบบพิสูจน์ และบางครั้งมีปัญหารายงานล่าช้าด้วย 



จากสถิติการฆ่าตัวตายที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกประเทศในช่วงโควิด-19 มันพอทำให้เราเข้าใจหรือเห็นภาพอะไรเกี่ยวกับปรากฏการณ์การฆ่าตัวตายในสังคมไทยมากขึ้นไหมว่า ตกลงปัญหาของเราอยู่ตรงไหนกันแน่

เมื่อเราพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายของบางประเทศไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเลย ทำให้มองได้สองเรื่อง

หนึ่ง การทำความเข้าใจการฆ่าตัวตายต้องเข้าใจในฐานะเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ไม่ใช่ประสบการณ์หรือปัญหาส่วนตัว หมายถึงเราควรนำบริบทสังคมมาพิจารณาการเสียชีวิตด้วย ไม่ใช่มุ่งอธิบายว่าการฆ่าตัวตายเกิดจากปัญหาส่วนบุคคล สังคมมีส่วนในการบ่มเพาะปัญหาฆ่าตัวตายหลายรูปแบบ แค่โครงสร้างสังคมก็ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนแล้ว เช่น สังคมปัจจุบันมีความเป็นปัจเจกนิยมสูง เราไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือเป็นส่วนหนึ่งของอะไรเท่าไร ต่างคนต่างอยู่ อย่างที่สังคมไทยพูดกันอยู่บ่อยๆ ว่าอยู่บ้านติดกันยังไม่รู้จักกันเลย มันทำให้คนรู้สึกโดดเดี่ยวมาก และความเป็นปัจเจกนิยมนี้ก็มีแนวโน้มขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ทุกที่ หรือในสังคมญี่ปุ่น ทำไมจึงเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง จะว่าคนญี่ปุ่นเปราะบางก็คงไม่ใช่ มันอาจเป็นเพราะปัจเจกบุคคลถูกสอนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงมากทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญ ความเข้มแข็งของสังคม ถ้าเขาล้มเหลวก็อาจเกิดความรู้สึกผิด รู้สึกเป็นภาระและต้องรับผิดชอบ ลักษณะพื้นฐานทางสังคมจึงมีผลให้ต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตายหรือไม่ฆ่าตัวตายของคน

สอง ทัศนคติของคนในสังคมส่งผลต่อปัญหาการฆ่าตัวตาย หากเราสันนิษฐานว่าคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายคงต้องการความช่วยเหลือบางอย่างก่อนจะตัดสินใจเช่นนั้น เราก็คงต้องพิจารณาทัศนคติของคนในสังคมต่อปัญหาสุขภาพจิตควบคู่กันด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าแต่ละคนมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือหรือป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายมากน้อยแค่ไหน ในสังคมไทยยังไม่ยอมรับความเจ็บป่วยทางใจและความรู้สึกเท่าไร ทั้งๆ ที่คนป่วยทางใจมีมากและทุกข์ทรมานไม่แพ้คนเจ็บป่วยทางกาย บางคนอับอาย โดดเดี่ยวอ้างว้างเพิ่มขึ้นเพราะไม่ถูกยอมรับ และแน่นอนว่ามันส่งผลถึงระบบการดูแลรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในสังคม ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นได้

ถ้าเราเข้าใจว่าการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดจากปัจจัยส่วนบุคคล แต่สัมพันธ์กับสังคมอย่างซับซ้อน สังคมจำเป็นต้องมีช่องทางให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเยียวยาช่วยเหลือจะทำได้อย่างตรงจุดมากขึ้น มีโอกาส early detection ป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายได้มากขึ้น 

กลับมามองเรื่องการฆ่าตัวตายในช่วงโควิด-19 ในไทย จากการศึกษาค้นคว้ามา มีหลายคนวิเคราะห์ว่ามีการฆ่าตัวตายช่วงนี้มีความสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจอย่างมาก สาเหตุหลักคือคนถูกเลิกจ้าง ตกงาน เกิดความเครียด ซึ่งก็น่าสนใจเหมือนกันเพราะมีคนบางกลุ่มมองว่าโควิด-19 ไม่ได้ทำให้เขาเครียดขนาดนั้น มันทำให้เขามีเวลาทำอะไรมากขึ้น อยู่กับครอบครัวมากขึ้น ไม่ต้องขับรถฝ่าการจราจรออกไปทำงาน บางคนก็เครียดน้อยลงเพราะมีเวลาว่างมากขึ้น แต่ฉากทัศน์ (scenario) นี้ใช้อธิบายแทนคนทั้งสังคมไม่ได้ มีคนอีกมากที่ตกงานจากโควิด-19 แล้วเขาไม่ได้ต้องการเวลาว่าง เพราะนั่นเท่ากับเขาไม่มีรายได้ ขอไม่ว่างดีกว่าจะได้ไปทำงานแลกเงินประทังชีวิต

เราจะเห็นชัดเลยว่าตอนนี้เวลาว่างเป็นสิ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ เป็น luxury สำหรับคนบางคนเท่านั้น  หลายคนเมื่อต้องอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำงาน ขาดรายได้ ก็เกิดความเครียดสูง มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่าบางครั้ง การฆ่าตัวตายก็มีสาเหตุจากการที่คนไม่ได้เตรียมตัว ไม่เข้าใจสถานการณ์ ไม่สามารถมองเห็นอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นจึงไม่สามารถตั้งสติรับมือได้ นี่ก็เป็นบทเรียนในช่วงวิกฤตว่าถ้าเรามีการสื่อสารที่บอกข้อเท็จจริง ฉายภาพไปข้างหน้าว่าคนกำลังจะเผชิญกับอะไรอย่างถูกต้อง ชัดเจน ก็อาจช่วยลดความเครียด ช่วยเยียวยาสุขภาพจิตในยุคโควิด-19 ได้  


ทุกวันนี้รัฐสื่อสารเรื่องความตายจากโรคระบาดในรูปแบบตัวเลขผู้เสียชีวิตเท่านั้น แทบไม่ได้เห็นการสื่อสารเรื่องความตายแบบอื่นๆ เลย อาจารย์คิดว่าสิ่งที่รัฐควรเติมในการสื่อสารเรื่องความตายคืออะไร   

รัฐบาลไม่ได้สนใจเรื่องการสื่อสารเกี่ยวกับความตายมากเท่าไร ยกเว้นบอกผ่านตัวเลข ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นความผิด ความบกพร่องเรื่องการสื่อสารจากรัฐขนาดนั้น เพราะจริงๆ เขาก็มีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก อาจไม่สามารถลงรายละเอียดการเสียชีวิตของแต่ละคนได้ จึงเป็นหน้าที่สื่อมวลชนในการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมนุษย์ ความเจ็บปวดแทน

หน้าที่ของรัฐคือจะทำอย่างไรไม่ให้คนต้องตาย โดยเฉพาะความตายที่ไม่สมควรตาย และถ้ามีการตายเกิดขึ้น รัฐจะรับผิดชอบเยียวยา จัดการศพอย่างไร ห้วงเวลานี้สิ่งที่เป็นปัญหาในการสื่อสารของรัฐไทยมากที่สุดคือเรื่องการจัดการศพ เพราะรัฐไม่มีการสื่อสารอะไรมากไปกว่า guideline ในการบรรจุศพ

คนที่ใช้ประโยชน์จาก guideline ของรัฐได้คือคนที่ไปทำงานบรรจุศพ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ทำหน้าที่นั้น สาธารณะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย สิ่งที่จะเป็นประโยชน์และควรออกมาให้ข้อมูลคือเรื่องความปลอดภัยหรืออันตรายจากศพ สื่อสารโดยคิดถึงเส้นทางการจัดการศพเป็นหลัก guideline ที่มีอยู่ของกระทรวงสาธารณสุขก็มองแค่การจัดการเฉพาะจุดที่เขาตาย แต่ในความเป็นจริงศพมีการเคลื่อนย้าย และมีความเสี่ยงในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน

จุดที่ศพตายใหม่ๆ มีสภาพไม่ต่างอะไรจากคนติดเชื้อ เพราะฉะนั้นการบรรจุศพลงถุงเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูง อันตราย เจ้าหน้าที่คนทำงานต้องปฏิบัติตาม guideline อย่างเคร่งครัด เช่น กำหนดมาว่าควรนำศพใส่ถุงยังไง ต้องใส่ถุงสองชั้น ใช้พนักงานช่วยกี่คน ต้องพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อตลอด ทุกคนมีหน้าที่และตำแหน่งชัดเจน รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ให้คนทำงานอย่างชุด PPE ถุงมือ เพราะเขาเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด

หลังจากนำศพลงถุงก็ไม่น่ามีอันตรายแล้ว กระบวนการขนศพไปวัด ส่งศพเข้าเมรุล้วนมีความเสี่ยงต่ำ ถ้ามองภาพการจัดการศพโดยไม่ใช่ศพเป็นตัวตั้ง แต่มองเส้นทางการจัดการ จุดที่ศพมีความเสี่ยงที่สุด เราจะเห็นผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่มูลนิธิ บริษัทรับจัดการศพ สัปเหร่อ และแยกได้ว่ากลุ่มไหนมีความเสี่ยงบ้าง อย่างสัปเหร่อมีแค่หน้าที่เผา เสี่ยงน้อยกว่าคนบรรจุศพแน่นอน หากไม่มองอย่างนี้ ไม่สื่อสาร คนทั่วไปก็คิดว่าศพติดเชื้อแพร่เชื้อได้ตลอด อันตรายตลอดจนรู้สึกกลัวกันไปหมด



จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อาจารย์เห็นข้อบกพร่องหรือความเปราะบางของเมืองในการรับมือความตายของคนอย่างไรบ้าง

เราขาดแผนรับมือกรณีที่เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก (mass fatality) หากมองในกรอบการวิเคราะห์ความตายทั้ง 6 แบบไม่รวมการตายทางสังคม การตายที่สุ่มเสี่ยงจะเกิด mass fatality ได้ คือการตายจากอุบัติเหตุ การตายจากความเสี่ยงทางสังคมซึ่งประกอบไปด้วยภัยพิบัติ โรคอุบัติใหม่หรือโรคติดต่อ และการตายจากสงครามหรือความขัดแย้งต่างๆ การเกิด mass fatality ย่อมหมายถึงการมีศพจำนวนมากให้จัดการ คำถามคือเมืองมี capacity ที่จะรองรับศพเหล่านั้นไหม มีสิ่งอำนวยความสะดวก (facility) รองรับการจัดการความตายเตรียมพร้อมหรือเปล่า

ในสภาวะโรคระบาดหรือแม้แต่ภัยพิบัติอย่างสึนามิ เราไม่สามารถมองว่าความตายเป็นเรื่องส่วนบุคคล บ้านใครบ้านมัน ให้ครอบครัวจัดการกันเอง โดยเฉพาะศพจากโรคระบาดยิ่งทำไม่ได้ การไม่มีแผนรับมือหรือการเตรียมความพร้อมจะทำให้วิกฤตยิ่งหนักขึ้น มีอคติต่อกันมากขึ้น นี่เป็นบทเรียนที่สำคัญ


ปัญหาที่อาจารย์กล่าวมา เกี่ยวไหมว่าเพราะสังคมไทยมี taboo เรื่องความตาย การพูดถึงความตายเป็นสิ่งอัปมงคลจึงกระทบต่อการจัดการความตายในช่วงวิกฤตแบบนี้

มีผลแน่นอน ยิ่งในเมืองที่มีความเจริญมากขึ้นเรื่อยๆ ความเป็น taboo ของความตายยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความเจริญด้านระบบสาธารณสุข การแพทย์มีบทบาทใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์แทบตลอดเวลา ในสังคมสมัยใหม่และสังคมไทยมีวัฒนธรรมพึ่งพิงระบบการแพทย์และแพทย์สูงมาก การแพทย์กลายมาเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวัฏจักรชีวิต ไม่เกิดก็ทำให้เกิด จะแก่ก็ทำให้ไม่แก่ เจ็บก็ทำให้หาย เจ็บแล้วไม่ตาย ยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วตอนนี้ก็ยังไม่สามารถเอาชนะความตาย ไม่แน่ว่าอนาคตอาจทำได้ เพราะมีความพยายามทดลองทำอยู่ ทั้งการทำ cryonics (การแช่แข็งศพของมนุษย์โดยหวังว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ฟื้นคืนชีพกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง) มนุษย์จักรกล (human cyborg)

สิ่งเหล่านี้พยายามทำให้คนเห็นว่าความตายเป็นเพียงปัญหาทางเทคนิคที่ระบบการแพทย์กำลังหาทางแก้ไขอยู่ ปัจจุบันไม่ใช่แค่ระบบการแพทย์ด้วย มีการนำวิศวกรรม เทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อที่สักวันมนุษย์จะสามารถหนีพ้นจากความตาย มนุษย์จึงมองความตายเป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้ชีวิต มีความสัมพันธ์เป็นปรปักษ์ (hostile) ต่อกัน กระทั่งไม่ยอมรับความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและต้องการกำจัดออกไป

ความเจริญทางกายภาพเองก็มีผลทำให้เราไม่นึกถึงและไม่พูดถึงเรื่องความตาย ตัวเองเคยสงสัยว่าทำไมเวลาคนเล่าเรื่องผี ผีจะหลอกคนในที่มืดๆ ในป่าช้า หรือในชนบท แล้วในเมืองไม่มีผีหลอกบ้างเหรอ วันหนึ่งมีโอกาสฟังคนสายมูคุย เขาบอกว่าวิธีเดียวที่ทำให้ผีไม่หลอกคุณ คือคุณอย่าไปคิดถึงผี อย่าไปให้ค่าเขา เราจึงได้คำตอบว่าทำไมในเมืองจึงไม่มีผีหลอกเรา ความเจริญทางกายภาพของเมืองที่เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์ สิ่งอำนวยความสะดวก ความทันสมัยมันดึง (distract) เราออกจากเรื่องผี เรื่องความตาย ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดถึงความตายที่นี่ เพราะเรามีชีวิตที่ดี มีห้างสรรพสินค้า ระบบคมนาคมขนส่ง ถ้าเจ็บป่วยก็สามารถไปโรงพยาบาลได้  ดังนั้นด้วยสิ่งแวดล้อมที่ไม่ชวนให้เรานึกถึงผี ผีจึงไม่หลอก

นอกจากนี้ ระบบทุนนิยมยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความตายกลายเป็น taboo เพราะทุนนิยมมาในนามของการพัฒนา ในนามการให้ทางเลือก ทุนนิยมทำให้คนหลายคนรู้สึกว่าถ้ามีเงิน ความตายหรือการเจ็บป่วยสามารถใช้เงินชะลอได้ เชื่อว่าเราจัดการความตายได้ โดยเฉพาะความตายที่ไม่เป็นธรรมชาติ ความตายจึงยิ่งกลายเป็น taboo ในระบบทุนนิยมที่ทำให้คนเชื่อว่ามีสิทธิ์เลือก

ความเป็น taboo ของความตายส่งผลต่อเรื่องการตายดี เมื่อสังคมคิดว่าความตายเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นสิ่งอัปมงคล ห้ามพูดถึง จะทำให้ประเด็นความตายถูกปิดกั้น ไม่เกิดการสนทนา ไม่เกิดการตระหนัก ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนว่าเราควรจะเตรียมพร้อมรับมือต่อความตายแบบต่างๆ อย่างไร ไม่เห็นว่ามีทรัพยากรอำนวยความสะดวกมากน้อยแค่ไหน จะช่วยเหลือกันและกันอย่างไร อีกทั้งยังปิดกั้นโอกาสที่เราจะสามารถตายได้อย่างหมดห่วง ถ้าเราถือว่าการตายอย่างหมดห่วงคือการตายที่ยอมรับได้ ผ่านการตระหนัก วางแผนจัดการตนเอง พูดคุยกับลูกหลานถึงความต้องการของเรา หรือได้ขอขมาลาโทษ สั่งเสียทั้งหมด ความเป็น taboo นี่ล่ะที่เป็นอุปสรรคปิดกั้นไม่ให้เรามีบทสนทนาที่ปลดปล่อยตนเองและยอมรับความตาย

หากจะให้มอง death taboo นี้ยังทำให้ครอบครัวขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการศพ และเปิดช่องว่างให้เกิดธุรกิจแสวงหากำไรจากการจัดการความตายแทน ในเมื่อคนไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความตาย ครอบครัวก็ปล่อยให้คนอื่นช่วยดูแลแทน บางครอบครัวไม่รู้กระทั่งขั้นตอนจัดงานเพราะมีคนทำให้ทั้งหมด

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกจึงมีการเคลื่อนไหวเรียกว่า “green death” คือการพยายามนำความตายกลับมาสู่ครอบครัว ขจัดความเป็น taboo ออกไปโดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมมากขึ้น ลองคิดดูสิว่าร่างนี้คือร่างของคนที่คุณรัก แต่พอหมดลมหายใจ คุณกลับปล่อยไป ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาอีกเลย เราไม่ควรตกเป็นเหยื่อขององค์กรธุรกิจที่บอกว่าคุณควรจะทำนู่นซื้อนี่เพื่อแสวงหากำไร ผลกระทบอีกมิติหนึ่งจากความเป็น taboo ของความตายคือทำให้คนที่ทำงานในกระบวนการจัดการร่างหลังความตายอย่างสัปเหร่อ เจ้าหน้าที่นิติเวช พนักงานฉีดยารักษาสภาพศพ ถูกตีตรา อย่าลืมว่าเมื่อความตายเป็น taboo แล้ว ศพหรืองานจัดการหลังความตายก็มีแนวโน้มเป็น taboo ด้วย ไม่มีใครอยากทำงานโดยที่ถูกมองแบบนั้น 


ถ้าความเจริญภายในเมืองมีส่วนทำให้เกิด taboo เกี่ยวกับความตาย งั้นมีวิธีการออกแบบเมืองที่ลบล้าง taboo เหล่านั้นบ้างไหม

ในอนาคต เมืองต้องมีนโยบายเป็นมิตรกับความตายมากขึ้น กล่าวคือเมืองต้องไม่คิดแค่โจทย์การใช้ชีวิต แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ความตายถูกมองเห็นได้ พื้นที่ทางกายภาพของเมืองควรส่วนหนึ่งที่แสดงภาพของความตาย ทำให้คนเข้าใจความตายผ่าน setting ที่เข้าใช้ชีวิตอยู่

ตัวอย่างพื้นที่ทางกายภาพของเมืองที่เป็นมิตรกับความตายคือในต่างประเทศมีการแปลงสุสานเป็นสวนสาธารณะให้คนเข้ามาวิ่ง เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน ส่วนหนึ่งได้ประโยชน์ด้านสุขภาพ อีกส่วนหนึ่งทำให้คนได้ใกล้ชิดกับความตายมากขึ้น คนจะได้ไม่รู้สึกกลัว ไม่รู้สึกแปลก ความตายจะถูกมองเห็นในเมือง ไม่ต้องหลบซ่อนและต้องห้าม

แต่เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องของนักออกแบบผังเมืองหรือของใครคนหนึ่งเพียงคนเดียว ท้ายที่สุดเราคงต้องกลับมาทบทวนเมืองถูกสร้างมาโดยกลไกอะไร ถ้าเรามีระบบการเมืองที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล (governance) ที่ดี ประชาชนจะมีส่วนร่วมหรือมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน รัฐจะได้ยินเสียงความต้องการ ความคิด และมองเห็นความเป็นมนุษย์ได้อย่างรอบด้าน ทำให้อนาคตของเมืองมีความเข้มแข็งจากการเห็นวงจรชีวิตของคนทั้งชีวิต 



สำหรับอนาคตหลังวิกฤตโควิด-19 อาจารย์พอมีข้อเสนอไหมว่าเราควรวางแผนรับมืออย่างไร ไม่ให้สังคมต้องบอบช้ำจากความตาย โดยเฉพาะความตายแบบ mass fatality เช่นนี้อีก

อันที่จริงการวางแผนเพื่ออนาคตควรนำการตายในบริบทต่างๆ มาเป็นโจทย์ ไม่ได้นึกวางแผนเฉพาะการตายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างเดียว และควรมองให้เห็นผลกระทบที่เกิดจากความตาย ไม่ได้มองแค่พอคนตายแล้วก็จบ ความตายต้องถูกใส่เข้าไปในสมการทางการเมือง โดยมีเป้าหมายหลักคือการทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่มีรายได้หรือ GDP สูงขึ้น และส่วนตัวเชื่อว่าการที่คนคนหนึ่งจะตายดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าสังคมมีระบบสาธารณสุขที่ดี เพราะบางครั้งคนที่ตายไม่ได้เข้าไปใช้บริการระบบสาธารณสุข แต่การตายดีเกิดจากนโยบายทางสังคมที่ดีในหลายๆ มิติของชีวิตประกอบกัน นโยบายที่ empower ให้คนมีชีวิตดีในแบบที่เขาพึงมี

ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตบางเรื่องเป็นสิ่งที่เราเห็นวี่แววมาบ้างแล้ว เช่น ในสังคมสูงวัย ผู้สูงอายุมีโอกาสตายอย่างโดดเดี่ยวหรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง ตายโดยลำพังไม่มีใครรู้ ปัญหาแบบนี้เราจะเตรียมตัวรับมืออย่างไร เป็นไปได้ไหมที่จะมีนโยบายชนิดยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ขณะที่ผู้สูงอายุต้องการการดูแล ก็มีคนเจเนอเรชันเด็กกว่าประสบปัญหาขาด mentor ให้คำแนะนำเรื่องต่างๆ คนต่างเจเนอเรชันมีโอกาสสานสัมพันธ์กันน้อยมาก เราอาจออกแบบนโยบายที่เป็นข้อต่อให้ผู้สูงอายุมีโอกาสอยู่ร่วมกับคนที่เด็กกว่า ต่างคนต่างเกื้อกูลกัน เมืองที่ดีควรมีนโยบายโอบอุ้มคนเหล่านี้

กรณีความตายจากความเสี่ยงทางสังคม ไม่ว่าภัยพิบัติหรือโรคอุบัติใหม่ ก็มีวี่แววเช่นกันว่าจะเกิดขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพียงแค่เราไม่รู้ว่าจะออกมามีหน้าตาแบบไหน การตายแบบ mass fatality เป็นส่วนที่ไม่ไกลเกินคาดการณ์ โจทย์หลังยุคโควิด-19 คือเราจะวางแผนรับมือ mass fatality ที่เป็นการตายทับลงไปในจำนวนการตายปกติในสังคมอย่างไรไม่ให้มีศพถูกทิ้งไว้ในสังคมจนกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง จิตใจของผู้คน

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องคิดคือ การแก้ไขปัญหาความเปราะบางในจิตใจที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย หรือฆ่ากันมากขึ้นในวิถีที่รุนแรงขึ้น น่าสลดหดหู่ขึ้น หากมองในมุมการออกแบบเมือง ก็อาจต้องจัดให้มีพื้นที่ที่ช่วยให้คนผ่อนคลาย เช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ แม้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตได้ทั้งหมด แต่ก็อาจจะช่วยบรรเทาได้บ้าง ทำให้คนรู้สึกว่าเมื่อเครียดก็ออกไปข้างนอกได้ ไม่จำเป็นต้องหมกตัวอยู่คนเดียว มีสิ่งอำนวยความสะดวกทำให้ลืมความเครียดได้บ้าง

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ การเมืองที่ดีคือจุดตั้งต้นของเรื่องการคิดนโยบายบริหารเมืองที่ดี สร้างเมืองที่ดีแก่ผู้คน


สุดท้ายนี้ อาจารย์วางแผนเรื่องความตายของตัวเองไว้อย่างไร

เป็นสิ่งที่คิดตลอดแต่ยังดูเหมือนจะยังคิดไม่ตกเลยว่าถ้าเลือกได้อยากมีความตายแบบไหน เพราะลึกๆ ก็ทราบว่าเราไม่สามารถควบคุมการตายและความตายได้ทั้งหมด  ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากตายในแบบที่ตัวเองพร้อม ยอมรับได้ และจะขอมากไปไหมถ้าบอกว่าอยากได้อยู่ใกล้คนที่รักในลมหายใจสุดท้าย

การยอมรับเป็นเรื่องของใจและเป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่สุด การมีใจที่พร้อมต้องเกิดทั้งจากการฝึกฝนของตัวเราเอง ค่อยๆ เรียนรู้ ทำความคุ้นเคยกับความตาย นอกจากนี้ต้องเกิดจากการที่เรามีระบบสนับสนุนที่ดีด้วย คนส่วนมากไม่อยากให้การเจ็บป่วยในระยะท้ายและการตายของตนตกเป็นภาระของผู้อื่น หรือไม่อยากให้การตายต้องมีความเจ็บปวดทรมานทางกาย หากไม่มีระบบรองรับที่ช่วยให้เขามองเห็นทางออกตรงนี้ การยอมรับความตายจะเกิดขึ้นได้ยาก 

ส่วนเรื่องจัดการร่างหลังความตาย ตอนนี้มีทางเลือกใหม่ๆ ที่สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เช่น การนำศพไปทำปุ๋ย สลายศพด้วยความเย็น เพราะการจัดการร่างที่มีอยู่ตอนนี้อย่างการเผาหรือฝัง มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ควันพิษจากการเผาศพที่มาจากเครื่องประกอบในพิธี โลง ของตกแต่ง และจิปาถะที่ใส่เข้าไปในโลงตามคติความเชื่อ หากเตาเผาไม่มีประสิทธิภาพพอก็จะเป็นปัญหา ประเด็นพวกนี้อาจมีทางแก้หรือทางออกด้วยการพัฒนาเชิงเทคโนโลยี แต่จะเป็นไปได้มากน้อยอยู่ที่การยอมรับของสังคมและการมีกฎหมายที่ก้าวหน้าอีกหลายด้าน  ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเห็นทางเลือกในการจัดการหลังความตายที่ตอบโจทย์ของชีวิตคนแต่ละคน จะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องศาสนา เรื่องอัตลักษณ์ เรื่องโลกหน้า อะไรก็ได้ ขอให้มีพื้นที่สำหรับทุกทางเลือกให้มากที่สุด และถ้าโอกาสอำนวย เราก็อยากมีส่วนในการผลักดันให้เกิดทางเลือกเหล่านี้ในสังคมไทย



ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save