fbpx
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

เมื่อที่แห่งนี้ไม่มี ‘ความหวัง’ : มองปรากฏการณ์ ‘ย้ายประเทศ’ กับ ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครสักคนคิดเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในชีวิต แต่การเกิดขึ้นของ ‘กลุ่มย้ายประเทศ’ ที่รวมตัวกันผ่านการตั้งกรุ๊ปในเฟซบุ๊ก ทำให้เห็นถึงความไม่ปกติในสังคม เมื่อผู้คนนับล้านมารวมตัวกันทางโซเชียลมีเดียและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการย้ายไปต่างประเทศ

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ การรับมือโรคระบาดที่ไม่ได้ประสิทธิภาพของรัฐบาล การเมืองที่ไม่เห็นทางออก สังคมที่ไม่เห็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิต ปัญหานานาเหล่านี้ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการอยู่ในแผ่นดินเกิดอาจไม่ใช่คำตอบของชีวิตอีกต่อไป

ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผู้ที่ศึกษาเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อคนกลุ่มใหญ่ในสังคมมีความคิดเรื่องการย้ายประเทศพร้อมกัน 101 จึงพูดคุยกับ ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ศึกษาเรื่องการแต่งงานข้ามชาติและชีวิตของผู้หญิงไทยในต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มองถึงผลสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นและประเด็นที่รัฐควรรับฟังเพื่อรับมือกับปัญหานี้

เหนืออื่นใด สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจปัญหาที่นำมาซึ่งความไม่พอใจในสังคม โดยไม่ลดทอนปัญหาเพียงว่าคนเหล่านี้เป็นพวก ‘ชังชาติ’

เมื่อมองปรากฏการณ์กลุ่มย้ายประเทศผ่านมุมมองของคนที่ศึกษาเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน มองเห็นความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

กลุ่มย้ายประเทศเป็นเสมือนการทำแบบสำรวจเบื้องต้น (survey) ที่ทำกับกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่มาก มีทั้งการเข้ามาแสดงความเห็นเชิงคุณภาพ มีการทำโพลในกลุ่มด้วยกันเอง ในฐานะคนที่ศึกษาประเด็นเรื่องการย้ายถิ่น (migration) นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจให้เราลงไปสังเกตการณ์ ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นก็ตาม

เมื่อเห็นคนมารวมกลุ่มกันมากขนาดนี้ในเวลาที่เร็วขนาดนี้ เราจึงดูว่ามีแรงจูงใจอะไรที่ทำให้คนอยากย้ายประเทศ จากโพลในกลุ่ม เหตุผลอันดับหนึ่งคือเรื่องการเมือง ความเป็นอยู่ ผิดหวังกับการจัดการของรัฐบาล โดยมีเรื่องโควิดผสมเข้ามาและผลักให้กลุ่มนี้ไปเร็วมาก คนตั้งกลุ่มคนแรกคือคนทำร้านอาหาร พอโดนปิดร้านหลายรอบเขาก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ต้องออกไปนอกประเทศ พอตั้งกลุ่มปรากฏว่ามีคนรู้สึกแบบเขาเยอะมาก จึงรวมตัวกันเร็วมาก

คนที่อยู่ในกลุ่มนี้ บางส่วนเป็นเด็กอายุ 16-17 ปีที่เข้ามาดูแล้วคิดว่าอยากไปต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและทักษะระดับหนึ่งเข้ามาแลกเปลี่ยนกันว่าถ้าจะย้ายไปต่างประเทศต้องสอบวัดระดับภาษาอะไรบ้าง เป็นกลุ่มแรงงานที่มีทักษะ (skilled worker) ต่างจากการย้ายถิ่นของคนไทยในอดีต

คนไทยเริ่มออกจากประเทศไปทำงานตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ช่วง พ.ศ. 2520 กว่าๆ โดยเป็นการทำงานชั่วคราวผ่านเอเจนต์ เขาไม่ได้ไปบุกเบิกเอง แต่มีเอกชนมาช่วยจัดการ คนเหล่านี้เป็นแรงงานทักษะต่ำ (low-skilled worker) ต่างจากตอนนี้ คนที่อยากไปไม่ใช่แรงงานทักษะต่ำ เป็นคนที่พอจะมีทรัพย์สิน มีการศึกษา แต่อยู่ไทยก็ยังชนกำแพงบางอย่าง ในกลุ่มย้ายประเทศจะมีแฮชแท็ก #ทีมวิศวกร #ทีมพยาบาล เรามองเห็นเทรนด์ว่าคนที่มีทักษะเริ่มจริงจังเรื่องการออกไปนอกประเทศ

แม้ว่าตอนนี้ยังไม่เห็นผลกระทบ แต่ถ้าเทรนด์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ประเทศเราจะเจอปัญหาสมองไหลค่อนข้างหนัก ตอนแรกคนอาจคิดเฉยๆ ว่าอยากไปเมืองนอก แต่พอมีกลุ่มย้ายประเทศทำให้มีข้อมูลและเห็นว่ามีคนที่ไปแล้วประสบความสำเร็จได้จริง เช่น ไปเป็นหมอหรือพยาบาลอยู่แคนาดา-ออสเตรเลีย ซึ่งประเทศพวกนี้เปิดรับอยู่

การมองเห็นประเทศอื่นเปิดรับแรงงานก็ช่วยดึงดูดให้คนอยากออกไป?

เราต้องมองสองทาง ทางหนึ่งคือปัจจัยผลัก เช่น เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศ แต่ปัจจัยดึงดูดก็มี ส่วนใหญ่ประเทศที่มีช่องทางไปได้คือ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งแคนาดาและออสเตรเลียที่ขาดแคลนแรงงานก็จะมีนโยบายชัดเจนว่าต้องการแรงงานมีทักษะ แต่ในยุโรปมีนโยบายแบบนี้ไม่มากนักและไม่เปิดเท่ากับอเมริกา แคนาดา หรือออสเตรเลีย คนที่ไปยุโรปส่วนมากใช้ spouse visa คือแต่งงานแล้วย้ายไป

ก่อนนี้เห็นสถานทูตสวีเดนชวนคนไปทำงาน แต่การอยู่ที่สวีเดน ถ้าไม่พูดภาษาสวีเดนก็ใช้ชีวิตยาก คนเรามีจินตภาพว่าไปแล้วจะอยู่ได้ ก็เป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว การย้ายไปต่างประเทศมีหลายอุปสรรคที่ต้องเจอ

กลุ่มย้ายประเทศเป็นกระแสที่คนมารวมตัวกัน จะสำเร็จไหมต้องดูไปอีกนาน แต่ทำให้มองเห็นเทรนด์ว่าแรงงานมีทักษะอยากออกไปนอกประเทศมากขึ้น ถ้าเทรนด์นี้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ จะเกิดสมองไหลอย่างมีนัยสำคัญ และกลุ่มที่ออกไปคือวัยทำงาน ถ้ามองในเชิงประชากรศาสตร์ ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สัดส่วนคนแต่ละวัยเริ่มเป็นปิรามิดคว่ำ วัยทำงานน้อยลง อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (super-aged society) ระบบสวัสดิการรัฐอาจไม่สามารถรองรับได้ ตอนนี้เรามีแค่เบี้ยคนชราเดือนละไม่กี่บาท ถ้าเรามีคนสูงวัยมากกว่านี้และมีคนทำงานน้อย ก็ต้องมาดูว่าโครงสร้างรัฐจะจัดการอย่างไร ถ้าในอนาคตมีคนทำงานออกไปจำนวนมาก เศรษฐกิจก็จะแย่เหมือนกัน 

ตอนนี้เราต้องการคนดูแลผู้สูงอายุ อัตราการเกิดเราน้อยลง คนทำงานน้อยลง คนแก่มากขึ้น ถ้ามีการย้ายถิ่นออกมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องสมองไหล (brain drain) แต่จะส่งผลถึงการสูญเสียกำลังคน (manpower drain) และเรื่องการสูญเสียทุนมนุษย์ (human capital drain) กว่าจะทำให้คนหนึ่งคนมีการศึกษา มีทักษะ มีความรู้ แต่พอเรียนจบแล้วก็ไปอยู่ต่างประเทศ

เรื่องสมองไหลในประเทศไทยมีนานแล้ว แต่ไม่มีการรวมตัวกันเยอะขนาดนี้มาก่อนและเราไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ เมื่อก่อนก็มีเด็กที่ได้ทุนรัฐบาล แล้วหนีทุนอยู่เมืองนอก ทำงานบริษัทเทคโนโลยีแล้วส่งเงินกลับมาใช้หนี้

เราน่าจะคำนึงถึงเรื่องการลงทุนในทุนมนุษย์ที่สูญเปล่าหากคนมีการศึกษาเหล่านี้ออกนอกประเทศ

ต้องมองหาว่าจะดึงดูดให้คนเหล่านี้อยู่ในประเทศได้ยังไง ทุกคนบอกว่าตัวเองทำงานหนักมาก แต่เงินก็ไม่พอกิน สภาพการเมืองแบบนี้ยิ่งบีบให้ไม่เห็นอนาคต เขาจึงอยากไปต่างประเทศ เป็นทุนมนุษย์ที่เราอุตส่าห์ปลุกปั้น อย่างหมอพยาบาล แต่มันก็หายไปอย่างรวดเร็ว

เรามองได้ไหมว่ากลุ่มที่อยากย้ายประเทศตอนนี้มีลักษณะต่างกับผู้ย้ายถิ่นฐานในอดีต เช่นจากเดิมที่ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานทักษะต่ำ ตอนนี้เป็นแรงงานการศึกษาสูงหรือแรงงานที่มีวิชาชีพเฉพาะทาง

ไม่มั่นใจที่จะตอบ อย่างแคนาดามีนโยบายรับผู้อพยพที่เป็นแรงงานมีทักษะมานานแล้ว ได้ยินว่าสิบปีที่แล้วก็มีหมอย้ายครอบครัวกันไป ที่จริงมันอาจมีอยู่แล้ว แต่ไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องการย้ายออก เราให้ความสำคัญกับการศึกษาแรงงานที่ย้ายเข้ามาจากลาว พม่า กัมพูชา จะหาตัวเลขคนไทยที่ย้ายออกนอกประเทศได้ยากมาก ข้อมูลกระจัดกระจาย กระทรวงการต่างประเทศมีตัวเลขจากสถานทูตว่าแต่ละประเทศมีคนไทยอยู่กี่คน แต่ไม่ได้สะท้อนการไหลเวียนของคน ไม่รู้ว่าเขาไปด้วยแรงจูงใจอะไร ย้ายไปในลักษณะไหน ทำให้มองไม่เห็นแนวโน้มในแต่ละปีของแต่ละประเทศ

เขาบอกว่าในอังกฤษมีคนไทยเจ็ดหมื่นกว่าคน ทั้งที่จริงแล้วน่าจะมีเยอะกว่านั้น มีคนเยอะมากที่ไปเรียนแล้วเปลี่ยนสถานะวีซ่าไปเรื่อยๆ เรียนจบก็ทำงาน แล้วแต่งงาน กลุ่มนี้เราก็จะไม่รู้ ในอเมริกาบอกว่ามีคนไทยสามแสนกว่าคน ที่จริงอาจมีเยอะกว่านั้น เพราะคนไทยก็ไปอยู่นานแล้วจนมีไทยทาวน์

ถ้าจะมองว่าคนย้ายถิ่นฐานในอดีตแตกต่างกับคนย้ายถิ่นรุ่นหลังอย่างไร อยากยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่ตัวเองศึกษา คนที่แต่งงานไปอยู่อังกฤษสมัยก่อนกับสมัยนี้เริ่มไม่เหมือนกัน เมื่อก่อนจะเป็นคนจากภาคอีสาน ทำงานทักษะต่ำ เช่น งานโรงงานหรืองานบริการ พอเห็นโอกาสไปอังกฤษได้ก็ไป ซึ่งคนย้ายถิ่นรุ่นหลังจะมีมุมมองหลายอย่างที่ต่างออกไป

คนรุ่นก่อนที่ไปเขาคิดแค่ว่าไปเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ 90% ของคนที่ได้สัมภาษณ์คือเขาอยากกลับไทยในบั้นปลายและคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ยังยึดโยงกับสถาบันหลักของชาติแม้ว่าจะอยู่อังกฤษมาหลายสิบปีแล้ว

คนในกลุ่มย้ายประเทศจะมีการตั้งคำถามกับอำนาจต่างๆ ในสังคม แต่คนไทยที่ย้ายไปสมัยก่อนจะยึดโยงกับความเป็นไทยมาก เช่น ต้องส่งลูกไปโรงเรียนไทย ลูกต้องพูดไทยได้ ต้องไปวัดไหว้พระ คนสมัยก่อนจะต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ถ้ามีปัญหาก็ไปวัด ไปคุยกับพระ จากที่เคยสัมภาษณ์คนไทยในอังกฤษ ส่วนใหญ่คนที่ไปวัดส่วนใหญ่คือคอนเซอร์เวทีฟ พอถามเรื่องเบร็กซิต เขาก็บอกว่าโหวตออก เพราะไม่อยากให้ผู้อพยพเข้ามาเยอะ เดี๋ยวคนโปแลนด์เข้ามาแย่งงานลูกเขา ซึ่งเขามองว่าตัวเองเป็นพลเมืองแล้ว

เราต้องมองกลุ่มย้ายประเทศแบบซีเรียสแค่ไหน เขามาระบายกันเฉยๆ หรือแสดงออกทางการเมืองเท่านั้นหรือเปล่า

กลุ่มนี้สะท้อนความซีเรียสบางอย่าง คนที่ไม่พอใจมารวมตัวกัน แล้วเขาเห็นทางออกคือการย้ายประเทศ แต่คงไม่ใช่ว่าหนึ่งล้านคนในกลุ่มจะออกไปหมดเลย เข้าใจว่าคนจำนวนมากอยากเข้ามาอ่านประสบการณ์ เพราะการออกนอกประเทศไม่ใช่ว่าจะทำได้เลย มีขั้นตอนเป็นปี คนที่มาแชร์ประสบการณ์ส่วนใหญ่ก็มีแต่เรื่องที่ประสบความสำเร็จ แต่คนที่ไปต่างประเทศแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็เยอะ

ปกติการไหลของคนในโลกจะถูกจำกัดโดยนโยบายรัฐที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ถูกจำกัดด้วยโควิดที่ทำให้ทุกอย่างชะงัก แต่หลังจากโควิดคิดว่าจะมีการไหลออกของผู้อพยพไทยอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตอนนี้เหมือนคนโดนขัง เพราะไปไหนไม่ได้ แต่เขามีเวลาศึกษาว่าถ้าจะไปต้องพัฒนาตัวเองยังไง มีการแนะนำกันว่าต้องเรียนภาษา ต้องมีทักษะอะไรบ้าง เขามีเวลาเตรียมตัว ถ้าการเดินทางระหว่างประเทศเปิดแล้วจะมีคนออกเยอะมาก แต่ถ้าเทียบตัวเลขระหว่างเข้ากับออก ก็จะมีคนเข้ามาเยอะกว่าอยู่ดี เพราะประเทศเราตัวเลขคนเข้ามามีมากกว่าอยู่แล้ว

ในทางหนึ่งเวลาคนย้ายถิ่นมักทำงานที่ลดทักษะตัวเอง เช่น จบหมอแล้วต้องไปทำงานร้านอาหาร

นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง หมอ พยาบาล วิศวกร มักมองว่าจะไปทำงานแบบเดิมในต่างประเทศ ความจริงต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ถ้าภาษายังไม่ได้ก็ต้องไปทำงานอื่นก่อนซึ่งเป็นทักษะที่ต่ำลงมา เราเคยเขียนบทความว่า คนที่มีการศึกษาสูง มีหน้าที่การงานที่ดีในไทย พอไปอยู่ต่างประเทศต้องไปเสิร์ฟอาหาร ทำความสะอาด ดูแลผู้ป่วย และทำไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้โยกย้ายอาชีพ คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่ลดทักษะตัวเองและทำงานนั้นนาน แทบไม่ได้โยกย้ายไปทำงานที่ถนัด มีน้อยมากที่สามารถทำงาน professional ได้ นี่เป็นเรื่องที่คนยังไม่ได้คิดถึง คิดเพียงว่าจะจับคู่งานในทักษะเดิมของตัวเอง

ในกระแสมุมกลับ มีพวกที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศหลายคนบอกว่าอยู่เมืองไทยดีสุดแล้ว แต่ตัวเองก็ยังอยู่ต่างประเทศ

เราเคยสัมภาษณ์คนที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศยุคก่อนหน้านี้ เขาคิดว่าเป็นการไปอยู่ชั่วคราว ไม่ได้ไปตั้งรกราก พอเกษียณแล้วก็กลับไทย เพราะเขารู้สึกว่าประเทศไทยอยู่ง่ายที่สุดแล้วและค่าครองชีพถูก ยังรักประเทศไทย มีจินตกรรมของชาติไทยว่าที่นี่ดีที่สุด ที่นี่คือบ้านเกิด ต่างจากคนในกลุ่มย้ายประเทศที่คิดว่าจะย้ายไปตั้งรกรากเลย อาจแค่กลับมาเที่ยวไทยเท่านั้น

มุมมองของคนที่ย้ายไปแล้วคิดว่าประเทศไทยดี อยากกลับมาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายก็เป็น myth of return วาดภาพไว้ว่าจะกลับมาได้ แต่ในความเป็นจริงพอเกษียณแล้วเขาอาจไม่มีทรัพย์สินพอที่จะย้ายมาตั้งรกรากใหม่ที่ประเทศไทย นี่เป็นมุมมองอย่างหนึ่งของ migration studies ว่าผู้อพยพจะมีจินตนาการของการกลับบ้าน ถ้าได้ดีแล้วจะกลับมาเกษียณพักผ่อนอยู่บ้าน ซึ่งมีส่วนน้อยมากที่จะทำแบบนั้นได้

ส่วนคนในกลุ่มย้ายประเทศก็มี myth ว่าไปแล้วจะดี จะประสบความสำเร็จ ได้เงินเยอะ

แต่ละฝ่ายก็มี myth อะไรคือแก่นแกนความจริงของคนที่อยากย้ายไปและอยากย้ายกลับ

แก่นแกนของความจริงคือคุณต้องมีต้นทุน มีทรัพย์สิน ถ้าอยากย้ายกลับมาก็ต้องมีที่ทางให้กลับมาอยู่ได้ คนที่อยากกลับมีทั้งประเภทที่พูดลอยๆ กับประเภทที่ผ่อนคอนโดในไทยรอไว้ ซื้อที่ดิน วางแผนชีวิต

สำหรับคนที่แต่งงานไปอยู่อังกฤษ คนที่มีทรัพย์สินส่วนใหญ่คือคนที่ตอนอยู่ในไทยก็เป็นชนชั้นกลาง มีทุนทางสังคม (social capital) รู้ว่าต้องเก็บเงินอย่างไร ลงทุนแบบไหน ส่วนคนที่ตอนอยู่ไทยเป็นแรงงานทักษะต่ำ เขามักจะไม่วางแผนระยะยาว แต่จะมองปัจจุบันว่าตอนนี้ความเป็นอยู่ดีแล้ว เขาอยากกลับไทยแต่ไม่ได้วางแผนจริงจัง

ส่วนคนที่จะออกไปก็มี myth การจะออกนอกประเทศก็ต้องมีเงิน ต้องสอบภาษา เพิ่มทักษะ สมัครวีซ่า ทุกอย่างล้วนใช้เงิน

ถ้ามองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีคนออกไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก เห็นความคล้ายกันบ้างไหม

ฟิลิปปินส์มีแรงงานออกนอกประเทศเยอะ เขาออกไปเป็นระลอก เป็นสิบๆ ปีแล้ว ไปดูแลผู้สูงอายุ เป็นพยาบาล ทำงานบริการ โดยมีรัฐบาลสนับสนุน มีการจัดการเป็นระบบ ช่วยอำนวยความสะดวกขนกล่องที่คนฟิลิปปินส์โพ้นทะเลส่งกลับบ้าน รวมถึงอำนวยสะดวกเรื่องการส่งเงินกลับมา ส่วนไทยไม่ได้เป็นระบบขนาดนั้น ใครจะไปทำงานต่างประเทศก็ไปฝึกทักษะที่กรมแรงงาน เขาพยายามทำให้เป็นระบบ แต่คนส่วนใหญ่ก็ไปแบบนอกระบบอยู่ดี เช่น พวกผีน้อย เราไม่ได้มีการจัดการแรงงานอย่างเป็นระบบเหมือนฟิลิปปินส์ และคนฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ไปด้วยเหตุผลการเมืองโดยตรง

ส่วนไทยเรื่องการออกนอกประเทศเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปมานานแล้ว ครั้งนี้ดูน่าจะเป็นคลื่นขนาดใหญ่ ก็น่าสนใจ

ในประวัติศาสตร์โลก เมื่อก่อนคนสามารถย้ายถิ่นฐานเป็นคลื่นขนาดใหญ่ได้โดยง่าย แต่ในยุคนี้เป็นไปได้แค่ไหนที่คนจะย้ายออกพร้อมกันแบบนั้น

ในยุคนี้ถ้าจะย้ายออกพร้อมกันจำนวนมากคือการลี้ภัย แบบซีเรีย โรฮิงญา หรือ boat people ของเวียดนามสมัยสงครามที่ไปยังยุโรปหลายประเทศ ส่วนไทยยังไม่มีการไหลออกแบบนี้ การเมืองเราแย่ แต่ยังพออยู่ได้ ไม่ได้รบกันแบบประเทศเหล่านั้น ถ้าไปถึงจุดแบบที่ซีเรียหรือเวียดนามเผชิญก็อาจมีคนออกไปอย่างนั้น เพราะคนต้องหาที่ที่ปลอดภัยสำหรับตัวเองและครอบครัวมากที่สุด

คนที่ต่อต้านกระแสย้ายประเทศอาจบอกว่าคนพม่า คนลาว ก็อพยพเข้ามาไทยเยอะ ที่นี่ก็ดีอยู่แล้ว พวกที่อยากย้ายประเทศไม่พอใจกันไปเองหรือเปล่า

เขาไม่ได้มองในเชิง relative ประเทศพม่าหรือลาวเทียบเราไม่ได้ ค่าแรงของเขาต่ำกว่าเรา ค่าแรงเรามากกว่า แต่เมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วมันแพง แล้วตอนนี้ทุกอย่างโดนปิด สถานประกอบการปิด คนไม่มีเงิน ล้มละลาย ต้องรับผิดชอบชีวิตลูกจ้างอีก การออกนอกประเทศดูเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ ให้เขามีชีวิตต่อไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ คนที่บอกว่าไม่พอใจก็ออกไปเลย นั่นคือคุณไม่พยายามแก้ปัญหา แต่มองแค่ว่าคนพวกนี้เป็นพวกชังชาติ ไม่ได้คิดแบบมีตรรกะรองรับ ถ้าอยากให้เขาอยู่ก็ต้องทำประเทศให้ดี ทำการเมืองให้ดี น่าจะดีกว่าการบอกว่าไม่พอใจก็ออกไป เป็นการเพิกเฉยต่อปัญหาในประเทศ

มีเคสหนึ่งที่เราเคยสัมภาษณ์ เขาเป็นคนอีสานที่ไปอยู่อังกฤษ เรียนจบปริญญาตรีในไทย แต่เขาบอกว่าอยู่ไทยปริญญาตรีก็ไม่พอ ต้องไปเรียนภาษาที่อังกฤษเพื่อเพิ่มทักษะ เรียนไปแล้วเจอแฟนก็แต่งงานกันแล้วไม่กลับมา เขาโดนปิดกั้นโอกาสในสังคมไทยที่การศึกษาปริญญาตรีก็ไม่ช่วยอะไร เพราะถึงคุณจะเรียนจบปริญญาตรีหรือปริญญาโทจากต่างจังหวัด แต่ก็ต้องมาหาโอกาสในกรุงเทพฯ และแข่งกับคนชั้นกลางกรุงเทพฯ ซึ่งภาษาดี เรียนกันมาคนละแบบ ทุนทางสังคมก็ต่างกัน นี่คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ในมุมมองของรัฐควรมองปรากฏการณ์ย้ายประเทศอย่างไร มีเรื่องไหนที่ควรตระหนักและควรรับมือเรื่องนี้อย่างไร

รัฐต้องรับฟังคนพวกนี้มากขึ้น นี่เป็นโอกาสดีมากที่รัฐจะรู้ว่าทำอะไรพลาดไปถึงมีคนอยากออกจากประเทศ แต่รัฐคงไม่ทำ และอาจมองว่าคนเหล่านี้เป็นศัตรูของรัฐ เป็นพวกไม่รักชาติ นี่คือการเพิกเฉยปัญหา รัฐต้องหาทางพัฒนาโอกาสให้คนเหล่านี้

ข้อมูลในกลุ่มย้ายประเทศมีเยอะมาก เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่มาก มีการทำโพลในกลุ่มว่าอยากไปเพราะอะไร มีแฮชแท็กทำให้เราหาข้อมูลง่ายมาก คำตอบอยู่ในนั้นหมดแล้ว รัฐจะทำอย่างไรกับปัญหาแบบนี้ เอสเอ็มอีมาเล่าปัญหาว่าเขาต้องปิดร้าน ไม่มีคนช่วยเลยเหรอ ในกลุ่มก็มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก นี่คือกลุ่มที่มาร้องเรียนรัฐ

เห็นข้อมูลในกลุ่มแล้วมีอะไรที่เซอร์ไพรส์ไหม

สิ่งที่สนใจคือการได้อ่านชีวิตของคนมากกว่าว่าเขาเดินทางไปแล้วเจออะไรบ้าง ขั้นตอนการเปลี่ยนชีวิตเป็นอย่างไร ไปถึงแล้วทำยังไง มีโพสต์หนึ่งเป็นคนไทยไปทำงานเป็นเชฟร้านอาหารที่ออสเตรเลีย กลับมาแล้วโดนรถชนจนพิการ ไม่มีโอกาสที่จะไปเมืองนอกได้อีกแล้ว มันสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง ถ้าเขายังอยู่ออสเตรเลียก็อาจจะไม่พบเจออุบัติเหตุแบบนี้ และถ้าเขาเป็นคนพิการที่ออสเตรเลียคงมีโอกาสทำงานที่ดีกว่านี้และชีวิตคงดีกว่านี้ สามารถใช้ชีวิตได้แบบไม่ติดขัด

เข้าไปดูแล้วเราเห็นอาชีพที่ไม่ค่อยเห็นในต่างประเทศ เช่น พยาบาลในสาขาเฉพาะ คนรับจ้างเก็บศพ สัปเหร่อ คนรับสร้างบ้านในออสเตรเลียที่พบว่ามีการสอนทักษะและมีรายได้ดี หรือแรงงานก่อสร้างก็รายได้ดี แต่ไม่ค่อยมีคนทำเพราะต้องใช้ทักษะ พวกช่างอิเล็กทรอนิกส์จะมีคนต้องการมาก แต่ส่วนใหญ่คนไทยก็ไปทำงานร้านอาหาร

เทรนด์ที่เกิดขึ้นไม่ได้น่าประหลาดใจ เพราะก่อนที่จะมีกลุ่มนี้ เราคิดว่าถ้าโควิดหมดคงมีคนออกนอกประเทศเยอะแน่ๆ แล้วพอมีกลุ่มนี้ขึ้นมาก็มีคนเข้าไปในกลุ่มเยอะมา

ตอนนี้มีคนจำนวนมากที่อยากย้ายประเทศ ถ้ารัฐเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกจะเป็นผลเสียไหม หรือเราอาจมองได้ว่าเป็นการส่งออกแรงงานแบบฟิลิปปินส์

ถ้ารัฐมีนโยบายที่ดี ดึงดูดให้คนที่ออกไปแล้วอยากสร้างอะไรกลับมาให้ประเทศได้คงจะดี บทความของศิรดา เขมานิฏฐาไทเขียนว่ามีผลสองด้าน บางประเทศมีคนออกไปแล้วส่งเงินกลับมาทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองในประเทศได้ แต่บางประเทศการส่งเงินกลับแบบนี้ก็ทำให้อำนาจนิยมคงอยู่ ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็คงดี แต่ถ้าเรายังเป็นอำนาจนิยมอยู่และส่งเสริมให้คนออกไปแล้วส่งเงินกลับมาในประเทศ ก็ไม่รู้ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม รัฐบาลก็ยังเป็นอำนาจนิยมอยู่

ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เปิดรับความคิดเห็นมากขึ้น จะมองเห็นว่าสิ่งที่คนส่งกลับมาได้ ไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน แต่มีเรื่อง social remittance คือทักษะความรู้ต่างๆ ที่คนกลับมาช่วยฝึกอบรมคนในประเทศ ฝึกภาษาหรือเทคโนโลยี เราต้องเห็นว่าคนย้ายถิ่นมีศักยภาพในการทำประโยชน์กลับมาให้ประเทศได้ แต่เราไม่เคยสนับสนุนเขา ไม่เห็นความสำคัญในภาพใหญ่ กลายเป็นเรื่องเล็กๆ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่แค่อยากให้เด็กลูกครึ่งกลับมาเรียนรู้วัฒนธรรมไทย อยากให้เป็นคนไทย แต่ไม่ได้มองเรื่องการแลกเปลี่ยนทักษะ

เราควรเห็นคุณค่าของคนที่ออกไปและเห็นคุณค่าของคนที่เข้ามา อย่าปฏิบัติกับเขาอย่างผู้อพยพ แค่คำเรียกว่าต่างด้าว หรือ alien ที่เราใช้อยู่ในเอกสารราชการก็สะท้อนวิธีคิดแล้วว่าเราเห็นเขาไม่เหมือนคน

เราต้องมองว่าคนที่ออกไปมีทักษะที่สามารถส่งกลับมาได้ แต่มันจะไม่เกิดขึ้นถ้าเราไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เราก็จะไม่มองว่าความคิดเห็นหรือทักษะนั้นเป็นประโยชน์อะไร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save