fbpx
Futurising Thailand: มองไทยในเวทีการแข่งขันระดับโลก ผ่านสายตาสภาพัฒน์ฯ - ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล

Futurising Thailand: มองไทยในเวทีการแข่งขันระดับโลก ผ่านสายตาสภาพัฒน์ฯ – ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล

กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

ปนัฐ ธนสารช่วงโชติ ภาพ

 

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน?

คำตอบนี้ย่อมตอบได้หลายแบบ หลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับว่าเลือกใช้ทฤษฎี หรือตัวชี้วัดอะไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวชี้วัดยอดนิยมอันดับต้นๆ ที่มักอ้างกันในเอกสารวิชาการ หรือบทวิเคราะห์เศรษฐกิจชั้นนำ คือ ‘การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน’ ไม่ว่าจะเป็น Global Competitiveness Index 4.0 ของ World Economic Forum หรือ IMD World Competitiveness Rankings ของ International Institute for Management Development (IMD)

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอ้างสถาบันไหน คงไม่เกินจริงนัก หากจะบอกว่า ‘ประเทศไทยอยู่ระดับกลางๆ’

แม้การอยู่กลางๆ จะดูไม่เป็นบวกหรือเป็นลบ แต่ภายใต้ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกแบบใหม่ การเป็นประเทศระดับกลางๆ อาจไม่ใช่สถานะที่ดีสักเท่าไหร่ และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกำลังคิดและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

ภายใต้โครงการFuturising Thailand – สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก กับ สภาพัฒน์’ 101 ชวน ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาประเมินที่ทางของประเทศไทยในเวทีการแข่งขันระดับโลก

ในฐานะหนึ่งในทีมงานคนสำคัญของ ‘สภาพัฒน์’ ที่ดูแลรับผิดชอบโจทย์เรื่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยตรง ดร.ปัทมา เชื่อว่า “การที่ประเทศไทยอยู่ตรงกลางๆ หมายความว่า เรายังมีโอกาสที่จะขยับตัวไต่ระดับขึ้นไปอีกมาก”

 

 

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในแทบทุกมิติ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศ สภาพัฒน์ฯ ตีโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร

การปรับตัวของประเทศในปัจจุบันอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘โลก 4.0’ ซึ่งคำนี้มีการตีความที่หลากหลายมาก ยังเข้าใจไม่ตรงกัน เมื่อเข้าใจไม่ตรงกัน ความคาดหวังต่อโลก ต่อการพัฒนาประเทศก็ไม่ตรงกันด้วย

สภาพัฒน์ฯ ตีโจทย์ว่าโลก 4.0 เป็นโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน หรือที่เรียกว่า ‘VUCA World’ นั่นคือ เต็มไปด้วยความอ่อนไหว (Vulnerability) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความไม่ชัดเจนคลุมเครือ (Ambiguity) ซึ่งถ้ามองลึกลงไปอีกชั้นจะเห็นว่า ต้นตอของโลกแบบนี้คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด

ทุกคนรู้ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากและต้องปรับตัว แต่ก่อนจะปรับตัว เราต้องเข้าใจด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะการปฏิวัติดิจิทัลทำให้เกิดการผสานเทคโนโลยีหลายๆ แบบเข้าด้วยกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดอยู่ในมือของพวกเรา แต่ก่อนเราใช้โทรศัพท์สื่อสารทางเสียงเท่านั้น แต่ทุกวันนี้การสื่อสารทางภาพเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังใช้ฟังก์ชั่นอื่นๆ เยอะแยะเต็มไปหมด

โทรศัพท์มือถือเป็นตัวอย่างง่ายๆ เท่านั้น ในอนาคตเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ คลาวด์ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ นาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี วัสดุใหม่ๆ กระทั่งความรู้เกี่ยวกับระบบคิด (cognitive science) จะหลอมรวมกัน และจะเปลี่ยนโลกไปในแบบที่เราไม่เคยเจอและคาดคิดมาก่อน

 

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำไปสู่อะไร

นัยยะที่สำคัญคือ รูปแบบของธุรกิจและการเจริญเติบโตของธุรกิจจะพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว เมื่อสักสองสามปีก่อนเราเห็นเลยว่าทุกคนพูดถึงสตาร์ทอัพกันหมด แม้ตอนนี้โมเดลแบบสตาร์ทอัพจะยังคงเป็นที่สนใจอยู่ แต่ก็เริ่มมีคนหาโมเดลใหม่มาแล้ว

ในเชิงสังคม คุณภาพชีวิตและรูปแบบการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปหมด เราจะเห็นว่าพฤติกรรมการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามาเอื้อทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น คนที่ปรับตัวได้เร็ว คว้าโอกาสได้ ก็สามารถก้าวกระโดดได้ แต่ในทางกลับกันก็ทำให้คนบางกลุ่มตกอยู่ข้างหลัง เช่น กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี นอกจากนี้ เทคโนโลยียังนำมาช่วยทำให้เราสุขภาพดีขึ้น อายุยืนยาวขึ้น แต่ก็มีโจทย์ที่ต้องคิดเพิ่มด้วย เช่น ในสังคมสูงอายุ เราจะดูแลผู้สูงวัยอย่างไร ผู้สูงอายุจะพึ่งพาตนเองโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่และความเป็นเทคโนโลยีอัฉจิยะอย่างไร

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่าเป็นความท้าทาย

 

โจทย์ใหญ่ที่สภาพัฒน์ฯ กำลังทำอยู่ คือการยกระดับความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่ หัวใจของการแข่งขันขันในยุคปัจจุบันคืออะไร

หัวใจของความสามารถในการแข่งขันยังเป็นเรื่องเดิมคือ การเพิ่มผลิตภาพ (productivity) แต่วิธีการเพิ่มผลิตภาพในโลกใหม่ มันไม่เหมือนในโลกแบบเก่า เดิมเราเน้นแต่การเพิ่มประสิทธิภาพ (efficiency) แต่ทุกวันนี้ต้องพูดถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value creation) ด้วย หรือพูดอีกอย่างก็คือ ‘ต้องผลิตในสิ่งที่ตลาดต้องการ ตลาดชอบ นำตลาดได้ด้วยประสิทธิภาพ คุณภาพ ส่งถึงมือได้อย่างรวดเร็ว และด้วยต้นทุนที่สมเหตุสมผล’

ในโลกแห่งการแข่งขันตอนนี้ สินค้าและบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด และ ‘ของใหม่’ เหล่านี้เองที่กำหนดทิศทางของตลาด ในขณะเดียวกัน ความต้องการของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้ามองมุมนี้จะเห็นว่า นวัตกรรมกำลังกลายเป็นหัวใจของธุรกิจและเศรษฐกิจแบบใหม่ ประเด็นที่อยากจะเน้นย้ำคือ เวลาพูดถึงนวัตกรรมไม่ได้หมายถึงนวัตกรรมในแง่การมีสินค้าใหม่ๆ อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงนวัตกรรมในกระบวนการผลิต การสร้างระบบการตลาด การบริหารจัดการ การจัดองค์กร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราสามารถนำมาต่อยอดเพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณค่าได้ทั้งสิ้น

ไม่มีใครรู้สูตรสำเร็จอยู่ที่ไหน แต่สิ่งที่พอบอกได้คือ ในโลกแบบนี้ ประเทศไทย เศรษฐกิจไทย ภาคธุรกิจไทย และคนไทยจะต้องว่องไว ปราดเปรียว (agile) พร้อมเปลี่ยนแปลง

 

 

เท่าที่ประเมิน ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่ว่ามานี้

ถ้าเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของโลกให้เหมือนว่าเป็น learning curve หรือ potential curve ตอบได้เลยว่า ประเทศไทยอยู่ตรงกลางๆ ซึ่งหมายความว่า เรายังมีโอกาสที่จะขยับตัวไต่ระดับขึ้นไปอีกมาก

ถ้าดูจากตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้กันในระดับสากล จะเห็นว่าปัจจัยที่มีส่วนกำหนดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบนิเวศนวัตกรรม คุณภาพการศึกษา ทุนมนุษย์ หรือโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยอยู่ระดับกลางๆ หมดเลย ในแง่นี้ความท้าทายสำคัญของไทยจึงเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์การพัฒนา เราต้องหันกลับมามองตัวเองว่า เรามีความพร้อมทางด้านใด อะไรคือจุดแข็ง อะไรคือจุดอ่อน

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงเลือกใช้ยุทธศาสตร์ในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็น ‘กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม’ ไม่ว่าในเรื่องของอาหาร ยานยนต์ การท่องเที่ยว ฯลฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ไทยต้องรักษาความเข้มแข็งไว้ให้ได้ โดยการเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพื่อทำให้ต่อยอดในแง่ของมูลค่า บางเรื่องอาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในตัวเนื้อสาระของสินค้าและบริการ แต่การใส่เทคโนโลยีเข้าไปจะทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนอีกกลุ่มคือ ‘กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่’ หรือที่เรียกกันว่า ‘New S Curve’ ซึ่งเป็นตัวที่ภาครัฐคาดหมายว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งหมดนี้ดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับตัวด้านปัจจัยพื้นฐานทั้งในเรื่องคน กฎระเบียบ ระบบราชการ และระบบโลจิสติกส์ที่ตอบโจทย์

 

ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาข้างต้น อะไรคือความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทย

จุดอ่อนสำคัญคือ คุณภาพทุนมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมหลายประเด็นมาก ทั้งคุณภาพการศึกษา คุณภาพของการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดทักษะใหม่ที่จำเป็น การสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) การสร้างบรรยากาศให้คนรักการเรียนรู้

การปฏิรูปภาครัฐก็เป็นโจทย์สำคัญและจำเป็น เพราะไม่ว่าจะอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม ภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและการดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ หรือจะพูดอีกแบบหนึ่งก็ได้ว่า productivity ของภาครัฐเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ productivity ของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ดังนั้น แนวคิดสำคัญในเรื่องนี้คือ การทำให้ภาครัฐกะทัดรัด ทันสมัย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นท้าทายอื่นๆ ที่สำคัญเช่น การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างบรรยากาศการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องตอบโจทย์ทั้งเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค และมีการแข่งขันในตลาดที่เสรีและเป็นธรรม

 

อยากชวนเจาะลึกไปที่โจทย์ด้านการปฏิรูปกฎหมายและสถาบัน เพราะเป็นคอขวดเดิมที่เจอมาตลอด ประเทศไทยต้องทำอะไรบ้างเพื่อยกระดับปัจจัยเชิงสถาบัน  

ต้องทบทวนว่ากฎหมายและกฎระเบียบทีมีอยู่ มีเพื่อจุดประสงค์ใดและมีความทันสมัยหรือไม่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องลงไปคุยในรายละเอียด เช่น ในเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรม เราก็ต้องไปดูว่าระบบกฎหมายที่เป็นอยู่เอื้อกับการพัฒนานวัตกรรมหรือไม่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างไร การสนับสนุนให้เอกชนพัฒนานวัตกรรมเป็นอย่างไร จะออกแบบระบบอย่างไรให้เอกชนมีแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการจูงใจในการทำงานร่วมกับภาครัฐด้วย ฯลฯ

หรือถ้าจะพูดในกรอบของการส่งเสริมการแข่งขัน โจทย์คือว่า ทำอย่างไรการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมจึงจะเกิดขึ้นจริง ทำอย่างไรพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเพิ่งมีการปรับใหม่ให้ทันสมัยจึงจะสามารถนำไปบังคับใช้ได้ เป็นต้น

หรือถ้าจะพูดในกรอบของ ‘ความง่ายในการทำธุรกิจ’ (ease of doing business) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ธนาคารโลกใช้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราก็ต้องกลับไปทบทวนดูว่ากฎระเบียบปัจจุบันเอื้อให้เกิดแรงจูงใจในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่เริ่มขอจัดตั้งธุรกิจ เรื่องการขอสินเชื่อ เรื่องการขออนุญาตก่อสร้าง เรื่องการขอใช้ไฟฟ้า ถ้าเกิดว่ามีการบังคับคดีจะต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน เกิดการล้มละลาย บังคับคดียังไง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ต้องการการคิดอย่างเป็นระบบ

นอกจากการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยแล้ว ต้องยกเลิกกฎระเบียบซึ่งล้าสมัยไป เช่น บางกฎระเบียบไม่ได้ใช้แล้ว บางกฎระเบียบไม่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระบวนการนี้มีคำเรียกเฉพาะว่า ‘regulatory guillotine’ หรือการเอากฎหมายไปทำกิโยติน ไปฆ่าทิ้งเสีย

อย่างไรก็ตาม เราจะปฏิรูปกฎหมายหรือสถาบันแต่เพียงลำพังไม่ได้ เพราะมันต่างซ้อนทับและเกี่ยวพันกันหมด กฎหมายและกฎระเบียบส่วนหนึ่งเป็นผลมากจากระบบราชการและภาครัฐ ซึ่งยังติดอยู่กับกรอบคิด (mind set) แบบเดิม ดังนั้น การปฏิรูปกฎหมายจึงแยกไม่ออกจากการปฏิรูประบบราชการ ต้องทำให้ภาครัฐมองเห็นภูมิทัศน์ของโลกใหม่และเศรษฐกิจใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้รูปแบบและการทำงานของระบบสถาบันมีประสิทธิภาพ

 

 

World Economic Forum ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดทำตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเองก็บอกว่า การสร้างนวัตกรรมไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ดังนั้น แต่ละประเทศควรให้ความสำคัญกับการสร้าง ‘ระบบนิเวศของนวัตกรรม’ (innovation ecosystem) แทน ในบริบทของไทยสร้างระบบนิเวศนี้ได้หรือไม่ อย่างไร

คำว่า ‘innovation ecosystem’ อาจเทียบเคียงได้กับคำว่า ‘national innovation system’ ซึ่งเราใช้กันอยู่แล้ว โดยแก่นแล้วเป็นการวิเคราะห์ว่า องค์ประกอบอะไรบ้างที่ช่วยทำให้เกิดนวัตกรรม แน่นอนว่าองค์ประกอบเหล่านี้มีการปฏิสัมพันธ์ต่างกันตามบริบทของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ มองว่าองค์ประกอบที่สำคัญคือ ภาครัฐ ระบบการศึกษา ภาคเอกชน สถาบันวิจัย ระบบการเงินที่จะเอื้อต่อการทำนวัตกรรม สภาพตลาด บรรยากาศและกฎระเบียบต่างๆ ที่จะมีผลต่อการพัฒนาและการนำนวัตกรรมไปใช้

เมื่อมองเห็นแล้วว่าองค์ประกอบมีอะไรบ้าง สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ หนึ่ง ความเข้มแข็งของแต่ละองค์ประกอบ ต้องดูว่าองค์ประกอบด้านใดแข็งแรงแล้ว ด้านใดยังมีจุดอ่อนอยู่ สอง องค์ประกอบเหล่านั้นสามารถทำงานเชื่อมโยงกันเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมจริงได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นที่สองนี้สำคัญมาก เพราะนวัตกรรมไม่สามารถพัฒนาได้ด้วยองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของระบบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดำเนินการร่วมกัน กลุ่มประเทศ OECD จะบอกชัดเจนเลยว่า นวัตกรรมหมายถึงการเชื่อมโยงขององค์ประกอบเหล่านี้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยลงทุนมาค่อนข้างมากในแต่ละองค์ประกอบข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการทำ R&D ในภาคเอกชน ซึ่งมีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ รวมถึงสนับสนุนการทำงานระหว่างภาคเอกชนกับภาคการศึกษาด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีการให้ทุนเพื่อพัฒนาระบบนวัตกรรมพอสมควร แต่การปฏิสัมพันธ์กันเพื่อทำให้เกิดผลยังไม่ราบรื่น

 

แต่เท่าที่เห็น ประเทศไทยก็ยังสร้างนวัตกรรมไม่ค่อยได้ มีอะไรที่เราต้องแก้ไขอีก

มีสามเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ระบบนวัตกรรมของไทยเกิดขึ้นในลักษณะที่เหมาะสม

ประการแรก การทำงานในระดับยุทธศาสตร์และนโยบายจะต้องมีความสอดคล้องกัน พูดให้เป็นรูปธรรมคือ เราต้องมียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ โดยที่ทุกองคาพยพในระบบเข้าใจทิศทางและเข้าใจในเป้าหมายอย่างเดียวกัน เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม ‘New S Curve’ ทุกระดับต้องเข้าใจตรงกันว่า นี่คือสาขาที่เราต้องการผลักดันให้มีความก้าวหน้า และพัฒนานวัตกรรมในสาขานี้ร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ต้องเป็นไปทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน

วิธีคิดเช่นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของอุตสาหกรรมเท่านั้น การสร้างนวัตกรรมทางสังคมก็ต้องการความสอดคล้องกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เช่นกัน เช่น การตั้งเป้าว่าจะแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องการทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องเข้ามาผลักดันโจทย์เดียวกัน

ประการที่สอง เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละองค์ประกอบ โดยเฉพาะเรื่องระบบการศึกษาและทุนมนุษย์ เพราะในทุกองคาพยพของการสร้างนวัตกรรมล้วนมีทุนมนุษย์แทรกอยู่ทั้งสิ้น

ประการที่สาม เราต้องออกแบบระบบให้แต่ละองค์ประกอบเหล่านี้เชื่อมโยงกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยขาดสิ่งที่เรียกว่า innovation integrator หรือ system integrator หน่วยงานนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ จะมีความสำคัญมาก เพราะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่แปลงโจทย์ยุทธศาสตร์ให้เป็นโจทย์เชิงปฏิบัติ รวมถึงมีหน้าที่กำกับดูแลด้วย

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านระบบนวัตกรรมของประเทศอยู่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานเหล่านี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็น system integrator ได้

 

เวลาคุยพูดถึงเรื่องการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน หลายคนจะวิจารณ์ว่าภาครัฐให้ความสนใจเฉพาะแต่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ละเลยมิติอื่นๆ คำถามคือเราควรจะรักษาสมดุลอย่างไร

ถ้าดูองค์ประกอบของตัวชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขัน จะเห็นชัดเจนว่าเรากำลังดูประเทศจากมุมมองต่างๆ ที่หลากมิติมาก เช่น คุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษา คุณภาพของทุนมนุษย์ สภาพสิ่งแวดล้อม การบริการสาธารณสุข ระบบยุติธรรม

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า การยกระดับความสามารถในการแข่งขันไม่ใช่เรื่องของการทำมาหากินได้ดีเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน นี่คือเหตุผลและน่าจะเป็นเป้าหมายปลายทางท้ายสุดว่า ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

จากทั้งหมดที่คุยกันมา สภาพัฒน์วางบทบาทตัวเองไว้อย่างไร

การทำงานของสภาพัฒน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ แยกออกเป็นสามระดับ

ระดับแรก ระดับของการจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะยาวและแผนแม่บทต่างๆ และการถ่ายทอดลงมาสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะ 5 ปี บทบาทสำคัญของสภาพัฒน์คือการเป็นองค์หลักที่ทำหน้าที่ชี้ทิศทางให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน มีความชัดเจน และทำให้ทุกคนทราบว่าการขับเคลื่อนควรจะไปในทิศทางใด และเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญ

การที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ชี้ทิศทาง การทำงานจริงสภาพัฒน์จึงต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐด้วยกันเอง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ระดับที่สอง ระดับปฏิบัติ สิ่งที่สภาพัฒน์ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ คือ เริ่มตั้งแต่ในเรื่องของตัวชี้วัด ข้อมูล การสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ถึงเรื่องความหมาย นิยาม การสร้างความเข้าใจในความรู้พื้นฐานต่างๆ ปัจจุบันสภาพัฒน์พยายามทำงานในระดับนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารกับสาธารณะในวงกว้าง เราอยากให้ประชาชนเห็นและเข้าใจอย่างแท้จริงว่า ยุทธศาสตร์และนโยบายมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวันของคนไทยอย่างไร และที่สำคัญสภาพัฒน์ต้องผลักดันให้เกิดการบูรณาการทั้งในแนวนอน (horizontal integration) และแนวตั้ง (vertical integration)

ระดับที่สาม เป็นระดับของการวางกรอบการติดตามประเมินผล งานในส่วนนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นอีกส่วนงานที่สภาพัฒน์ทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างใกล้ชิดแล้ว ยังเป็นส่วนที่ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเกิดขึ้นได้จริง เพราะในการขับเคลื่อนนโยบายเราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า การดำเนินการที่ผ่านมาได้ดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว ใครทำอะไร แล้วการดำเนินการด้วยภาคส่วนต่างๆ มีช่องว่างอย่างไร และต้องมี feedback กลับมาว่าเราต้องมีการทบทวนปรับแผนกันอย่างไรบ้าง เป็นต้น

สภาพัฒน์ตระหนักดีว่า หากต้องการทำหน้าที่ในสามระดับให้ดี สภาพัฒน์ต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น มีฐานความรู้ในเชิงข้อมูลและวิชาการมาสนับสนุนการทำงาน นอกจากนี้ สภาพัฒน์เองต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถปรับตัวได้เร็ว ว่องไว ปราดเปรียว ที่สำคัญต้องมีภาวะผู้นำ (leadership) ในการชี้นำทิศทาง เพื่อสร้างความชัดเจน และทำให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีความมั่นใจ ว่าทิศทางในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยจะเป็นอย่างไร

 

 


#sponsor #สภาพัฒน์ #futurisingthailand #สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

Interviews

11 Apr 2019

เจาะเบื้องหลังปฏิบัติการสร้าง ‘อนาคตใหม่’ กับ ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

คุยกับชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมสำรวจทรรศนะในการฝ่ามรสุมการเมืองไทย

กองบรรณาธิการ

11 Apr 2019

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save