fbpx
ปทุมธานีโมเดล : หนึ่งตัวอย่างการรับมือ COVID-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ปทุมธานีโมเดล : หนึ่งตัวอย่างการรับมือ COVID-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

 

ขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับทุกหย่อมหญ้า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเกินล้าน และเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้แต่ละประเทศต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดในครั้งนี้

สำหรับประเทศไทย นอกจากการใช้มาตรการทางกฎหมายแล้ว เรายังรณรงค์ให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เหมือนกับในอีกหลายประเทศ โดยให้ทุกคนร่วมกันกักตัวอยู่แต่ในบ้าน เพื่อลดการพบปะเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่หลายคนก็ประสบความยากลำบากในการกักตัวเอง เพราะไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมในการกักตัว รวมทั้งผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน มีรายได้น้อย และต้องอาศัยอยู่ร่วมกับสมาชิกครอบครัวโดยไม่มีห้องแยก

อีกปัญหาที่พบคือ ผู้เข้าเกณฑ์อาจเกิดความกลัวและอาย ไม่กล้าเปิดเผยว่าตัวเองอาจติดเชื้อโควิด-19 เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ และพร้อมที่จะตั้งข้อรังเกียจคนกลุ่มนี้ได้ทุกเมื่อ ท้ายที่สุดคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จากมาตรการที่อาจจะยังไม่ครอบคลุมมากพอ

การที่เราไม่สามารถคัดแยกผู้ต้องสงสัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศไทยเสี่ยงจะเดินตามรอยประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตสูง ตรงข้ามกับประเทศที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคค่อนข้างคงที่ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือฮ่องกง ที่มีมาตรการการแยกตัวหรือกักแยกผู้ที่มีความเสี่ยงได้เร็วเพื่อตัดตอนการกระจายตัวของจำนวนผู้ติดเชื้อ จะมีผลต่อการควบคุมการแพร่กระจายของโรคอย่างมีนัยสำคัญ

จากข้อท้าทายดังกล่าว หลายภาคส่วนในสังคมจึงได้ร่วมมือกันพยายามแก้ปัญหา ซึ่งหนึ่งกลุ่มที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการพยายามบริหารจัดการการคัดแยกกลุ่มผู้ต้องสงสัยคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพลศึกษา (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สภาสถาปนิก เครือข่ายจิตอาสา ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) ได้รวมทีมเข้าช่วยเหลือเพื่อจัดตั้งศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก (Isolation Facility) สำหรับกลุ่มเสี่ยงซึ่งไม่มีสถานที่กักตัวที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ภายใต้ ‘ปทุมธานีโมเดลต้านไวรัสโคโรนา 2019’

 

ปทุมธานีโมเดล : หนึ่งตัวอย่างการรับมือ COVID-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

เริ่มแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำด้วยการหาและคัดแยกกลุ่มเสี่ยง

 

จาก Report of the WHOChina Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID19) ได้ระบุแผนการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไว้ 9 ข้อ ซึ่งข้อที่น่าสนใจคือ การหาและแยกผู้ป่วยออกมาให้เร็วที่สุด การห้ามผู้ป่วยออกมายังพื้นที่สาธารณะ และการเพิ่มสถานที่รองรับผู้ป่วย

ในการหาและแยกผู้ป่วยออกมา รวมถึงการห้ามผู้ป่วยออกมายังพื้นที่สาธารณะ จำเป็นจะต้องดำเนินการผ่านกลไก ‘ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก’ (ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาล) เพื่อทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถกักตัวได้

จะเห็นว่า ถ้าเรามีศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ และทำให้เกิดระบบการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่เชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้มีความเสี่ยงจะไม่ไปปะปนกับผู้ใช้บริการโรงพยาบาล รวมถึงเป็นทางเลือกให้ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือผู้มีรายได้น้อยที่พักอาศัยอยู่ในสถานที่แออัด สามารถมาพักอาศัยที่ศูนย์ฯ แทนได้ในระหว่างการกักตัว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อกับคนในครอบครัวและชุมชนได้ด้วย

เพื่อเป็นการหาบริเวณสำหรับศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ‘ปทุมธานีโมเดลต้านไวรัสโคโรนา 2019’ ถือเป็นโครงการต้นแบบแห่งแรกที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากตัวจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลธัญบุรี โดยศูนย์ฯ จะถือเป็นหน่วยสนับสนุน (supporting unit) ที่สำคัญในขั้นตอนการคัดกรองและคัดแยก ซึ่งสถานที่กักแยกจะอยู่ห่างไกลจากชุมชน มีอาณาบริเวณกว้างขวาง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีแนวทางการปฏิบัติที่ครอบคลุม รัดกุม เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

กระบวนการจัดการกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโคโรนาไวรัส 2019

 

ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและต้องการจะเข้ารับการกักแยกต้องผ่านการคัดกรองจากโรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานีก่อน จากนั้นจึงเดินมาทางที่ศูนย์ฯ ด้วยรถพยาบาลที่มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อ และเข้ารับการกักแยกทันทีเมื่อถึงศูนย์ฯ โดยผู้ที่ต้องกักตัวจะได้อยู่ในห้องส่วนตัวคนเดียว มีห้องน้ำในตัว และไม่มีบุคคลอื่นใดเข้าไปในห้องระหว่างการกักแยก แต่สามารถติดต่อกับครอบครัวได้ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่ทางศูนย์ฯ มีบริการให้ และยังมีอุปกรณ์ดำรงชีวิตพื้นฐาน ตั้งแต่เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ซักผ้า ไปจนถึงบริการอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ ผู้เข้ารับการกักแยกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในศูนย์ฯ จะสวมอุปกรณ์ป้องกันเต็มรูปแบบ และจะไม่มีโอกาสได้พบปะกับผู้เข้ารับการกักแยกเลย เพื่อให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย

ในกรณีที่ผู้เข้ารับการกักตัวคนไหนมีอาการเข้าข่ายว่าอาจจะติดเชื้อโควิด-19 ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลธัญบุรีจะเข้าไปประเมินอาการ และนำตัวไปยังโรงพยาบาลทันทีด้วยรถพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผู้เข้ารับการกักตัวจะไม่ได้เจอกับใครนอกจากทีมแพทย์

นอกจากทีมที่ทำงานในศูนย์ฯ แล้ว ยังมีเครือข่ายจิตอาสาและอาสาสมัครลงพื้นที่ชุมชนเพื่อคอยดูแลครอบครัวของผู้ที่ถูกกักแยก รวมถึงเน้นสื่อสารทำความเข้าใจกับชุมชนด้วย และเมื่อผู้ที่ถูกแยกได้รับการวินิจฉัยให้กลับบ้านได้หลังกักตัวครบ 14 วันแล้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จะคอยดูแลติดตามผลต่อไปอีก 7 วัน

ปัจจุบัน มีผู้ที่เข้ารับการกักแยกอยู่ที่ศูนย์ฯ แล้วประมาณเกือบ 30 คน ซึ่งโมเดลนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยง แต่ไม่มีสถานที่กักตัวที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยังมีการทำงานร่วมกับชุมชนอีกด้วย กล่าวคือ นอกจากจะเข้าไปพูดคุยและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ยังมีการจ้างงานคนในชุมชน เช่น ให้ทำอาหารส่งมาที่ศูนย์ฯ ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้ และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

จะเห็นว่า โมเดลดังกล่าวเป็นการทำงานและบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน และเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำได้อย่างครอบคลุม ตั้งแต่การดูแลผู้ถูกกักแยกให้ปลอดภัย อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมและลดภาระความแออัดของโรงพยาบาล ตัวผู้ถูกกักแยกเองก็มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เพราะการกักตัวที่ศูนย์ฯ จะช่วยลดภาระที่เกิดจากการขาดรายได้ในช่วงกักตัวเอง รวมถึงยังดึงเอาชุมชนเข้ามาเป็นเสมือนด่านหน้า (front line) เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมตัดตอนการแพร่ระบาดในชุมชนด้วย

จะเห็นได้ว่า ปทุมธานีโมเดลสามารถเป็นต้นแบบในการนำไปขยายผลต่อในจังหวัดอื่นทั่วประเทศต่อไป และถ้าเรามองให้ลึกลงไปกว่านั้น ปทุมธานีโมเดลจะเป็นโมเดลสำคัญในระบบสาธารณสุขภาพใหญ่ เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ให้ทุกคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมและเท่าทัน เพื่อจะได้ไม่ต้องมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

สำหรับผู้ที่สนใจปทุมธานีโมเดล สามารถดูรายละเอียดและติดตามโครงการได้ที่ https://tijrold.org/rold-in-action

 

ของใช้สำหรับกักตัว COVID-19

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save