fbpx
ไดโนเสาร์ติดปีก นักประดิษฐ์อนาคต : พัทน์ ภัทรนุธาพร เด็กไทยในวงการวิทยาศาสตร์โลก

ไดโนเสาร์ติดปีก นักประดิษฐ์อนาคต : พัทน์ ภัทรนุธาพร เด็กไทยในวงการวิทยาศาสตร์โลก

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เราถูกกับดักของปัจจุบันขังไว้ ทำให้ไม่สามารถจินตนาการถึงอนาคตได้ เมื่อจินตนาการไม่ได้ เราก็เดินไปหาอนาคตไม่ถูก

ถ้อยความข้างต้นเป็นของ พัทน์ ภัทรนุธาพร หรือ พีพี เด็กหนุ่มจากปัตตานี ผู้กำลังโลดแล่นอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์โลกอย่างสนุกสนาน

ความเชื่ออย่างแรงกล้าที่จะสร้างสิ่งใหม่ “ไม่ใช่เพื่อวันนี้ แต่เพื่ออนาคต” เป็นพลังผลักดันให้พีพีประดิษฐ์นวัตกรรมล้ำยุคจนได้ร่วมงานกับองค์กรชั้นนำและนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก และได้ขึ้นพูดบนเวที TED x ASU ที่สหรัฐอเมริกาในหัวข้อ Prototyping the Impossible 

พีพีเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project – JSTP) ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมต้น ค่ายนี้รวบรวมเด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์มาสร้างนวัตกรรมร่วมกัน เขาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “เหมือนโรงเรียน X-Men”

จากนั้น พีพีได้ร่วมก่อตั้ง Futuristic Research Group (Freak Lab) กลุ่มคนไทยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อโลกอนาคต คิดข้ามขั้นไปไกลถึงการสิ่งใหม่ขึ้นมาบนโลก เช่น Making Food with the Mind : Connecting Food 3D Printer with BCI – เครื่องปรินต์อาหารที่ผลิตตามความต้องการของคนโดยอ่านจากคลื่นสมอง โปรเจกต์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เเละสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)  รวมถึงงาน Art Installation ชื่อ Emoti-Khon โปรเจกต์ผลิต AI เพื่ออ่านคนจากสีหน้า แล้วแสดงอารมณ์ออกมาด้วยใบหน้าโขน ฯลฯ

โปรเจกต์เครื่องปรินต์อาหารที่เล่าข้างต้นกำลังจะถูกพัฒนาร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) เพื่อสร้างอาหารเพื่อนักบินอวกาศ ไม่นับงานวิจัยอีกหลายชิ้นของพีพีที่ได้รับการตีพิมพ์และได้รับรางวัล

สิ่งที่พีพีและเพื่อนร่วมทีมกำลังทำอยู่คือการหลอมรวมธรรมชาติเข้ากับเทคโนโลยี หรือ Biotechnology – เส้นทางแห่งอนาคตของวงการวิทยาศาสตร์โลก

ตอนนี้พีพีกำลังเรียนปริญญาตรีที่ College of Liberal Arts and Sciences, Arizona State University ความสนใจด้านวิชาการคือการใช้ชีววิทยาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในโลก มิหนำซ้ำยังชอบเรียนศิลปะและปรัชญาอีกด้วย

ล่าสุดพีพีเพิ่งได้รับจดหมายตอบรับให้เข้าศึกษาปริญญาโทและเอกที่ MIT Media Lab, Massachusetts Institute of Technology โดยมี Pattie Maes หนึ่งในแรงบันดาลใจวัยเด็กของเขาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  พีพีบอกว่า MIT Media Lab เป็นห้องแล็บและสนามเด็กเล่นในฝันของเหล่านักวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นแหล่งผสมผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะเข้าด้วยกัน และสร้างสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกมาแล้วมากมาย

101 ชวนเด็กหนุ่มที่ชอบไดโนเสาร์เป็นชีวิตจิตใจคนนี้มาคุยข้ามโลก ผ่านเทคโนโลยี Video Call ว่าด้วยผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมือของเขา ชีวิตวัยเด็ก มุมมองต่อระบบการศึกษาและวงการวิทยาศาสตร์ของไทย

เขากำลังพาเราติดปีกบินไปในโลกอนาคต!

พัทน์ ภัทรนุธาพร

ศาสตร์-ศิลป์ที่ไร้ขอบเขต

 

ชีวิตการเรียนที่สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างไร 

ผมเรียนในมหาวิทยาลัยที่ประหลาด อยู่กลางทะเลทราย ผมเลือกมาเรียนที่นี่เพราะมีสถาบันวิจัยชื่อ Biodesign Institute โฟกัสที่การทำความเข้าใจ Biotechnology as a design elements หมายความว่า เราสามารถใช้ความรู้ Biology มาดีไซน์เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ผมได้เรียนทั้งด้าน art และ science หรืออะไรต่างๆ ที่อยู่ระหว่างสองอย่างนี้

เทอมนี้ผมเรียนวิชา Designing Space Food พูดถึงการออกแบบอาหารในอวกาศ ซึ่งคล้ายกับงานวิจัยที่ทำอยู่ และได้เรียนวิชา International Relations กับซอมบี้ วิชาสัตว์ประหลาดกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น หลักสูตรนี้ที่สหรัฐอเมริกามีข้อดีคือ ค่อนข้างยืดหยุ่นมาก คุณเลือกวิชาที่สนใจได้เอง ขอแค่ให้หน่วยกิตครบตามจำนวนที่กำหนด เขากำหนดว่าต้องเรียนวิทยาศาสตร์กี่หน่วยกิต มนุษยศาสตร์กี่หน่วยกิต ส่วนจะเรียนวิชาอะไร คุณไปเลือกเอาเอง

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือเขาไม่ได้แยก Art กับ Science ออกจากกัน ทั้งคู่เป็นสายของความรู้ที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ เป็น Pure Knowledge ผมได้เรียนวรรณกรรมและปรัชญาทั่วโลก อ่านงานของกรีก อียิปต์ เมโสโปเตเมีย ไปจนถึงคาร์ล มาร์กซ ผมมีความสุขกับการศึกษาปรัชญามาก เพราะชอบทั้ง Art กับ Science อยู่แล้ว

ตอนนี้ทำโปรเจกต์วิจัยอะไรอยู่บ้าง

ผมอยู่โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project – JSTP) มาตั้งแต่มัธยมต้นจนเข้ามหาวิทยาลัย กลุ่มนี้ก็ยังรวมตัวทำงานด้วยกันอย่างเหนียวแน่น จนตั้งกลุ่มวิจัยชื่อ Freak Lab ขึ้นมา มีทั้งคนใน JSTP และคนนอกที่สนใจคิดเรื่องเทคโนโลยี คิดโปรเจกต์แห่งอนาคต ไม่ใช่แค่ 4.0 แต่เป็น 444.0

ก่อนหน้านี้เรามีโปรเจกต์ทำเครื่องปรินต์อาหารสามมิติ ได้งบมาจากสหรัฐอเมริกา ได้รางวัล Biomimicry ต่อมาเราเห็นโครงการของ สวทช. กับ GISTDA มองหาข้อเสนองานวิจัยไปทดลองในอวกาศ ทีมเราก็เลยคิดกันว่าเครื่องปรินต์อาหารสามมิติจะเอามาแก้ปัญหาของนักบินอวกาศได้ยังไง เพราะตอนนี้อาหารของนักบินอวกาศถูกทำขึ้นบนโลกแล้วก็ค่อยส่งขึ้นไปบนอวกาศ

เราอยากทำอาหารที่มีความเฉพาะสำหรับนักบินอวกาศแต่ละคน ให้เขาได้กินอาหารที่จำเป็น มีรสชาติที่ชอบ เช่น คนไทยก็อาจจะชอบรสชาติแบบไทย ก็จะปรินต์รสชาติส้มตำ โดยมีสารอาหารที่เขาต้องการ ดูจากน้ำหนักตัวและพฤติกรรมในอวกาศ เกิด personalization ขึ้น เราก็เลยทำข้อเสนอใช้การสร้างต้นแบบ (prototype) ของเครื่องปรินต์ที่เราทำอยู่แล้วมาสร้างอาหารต้นแบบขึ้นมา

โครงการนี้ถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 โครงการที่ได้รับคัดเลือกให้ทดลองจริงในสถานีอวกาศนานาชาติ ดังนั้นตอนนี้ทีมของเราก็กำลังวุ่นวายกับการทดลองสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์

การทดลองขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่พรุ่งนี้นักบินอวกาศจะกินได้เลย เราสนใจเรื่องของการผสมสารอาหารต่างๆ กัน เช่น สมมตินักบินมีน้ำหนักตัวเท่านี้ ต้องการคาร์โบไฮเดรตจำนวน 100 กรัมต่อวัน ต้องการโปรตีน 50 กรัมต่อวัน เราสนใจว่าสามารถใช้เครื่องปรินต์สามมิตินี้วัดวัตถุดิบในอัตราส่วนที่ต่างกันได้ไหม เพราะว่าความหนืดและความเหนียวของสารแต่ละตัวก็ไม่เท่ากัน คำถามต่อไปหลังจากใส่คุณค่าทางโภชนาการถูกต้องแล้วก็คือ เราจะใส่รสชาติส้มตำเข้าไปได้ไหม แล้วใช้เครื่องปรินต์สามมิติสร้างอาหารขึ้นมา

เครื่องปรินต์อาหารสามมิติ ในโปรเจกต์ Making Food with the Mind ก่อนถูกพัฒนาต่อเป็นโปรเจกต์ Space Food

เครื่องปรินต์อาหารสามมิติ ในโปรเจกต์ Making Food with the Mind ก่อนถูกพัฒนาต่อเป็นโปรเจกต์ Space Food

Biotechnology สำคัญกับโลกแห่งอนาคตอย่างไร 

มนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกแค่ไม่ถึงล้านปีด้วยซ้ำ แต่สิ่งมีชีวิตในโลกใช้เวลาร่วม 65 ล้านปีตั้งแต่ไดโนเสาร์​วิวัฒนาการ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของการขาดแคลนอาหาร สิ่งมีชีวิตพัฒนากลยุทธ์ในการแก้ปัญหาต่างๆ มาก่อนที่มนุษย์จะเกิดขึ้นมาบนโลกอีก ดังนั้นการมองเข้าไปในธรรมชาติ คือการมองหากลยุทธ์หรือ Solution ที่ได้รับการทดสอบมาแล้วเป็นแสนๆ ล้านๆ ปี  มนุษย์ควรจะให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่เกิดจากการเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิต

สิ่งมีชีวิตเป็นหนึ่งในระบบที่ซับซ้อนที่สุด ถ้ามองจากมุมมองทางวิศวกรรม เป็นระบบที่ซ่อมแซมตัวเองได้ ขยายจำนวนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องซื้อหรือหาอุปกรณ์ข้างนอก นกบินได้ก่อนที่มนุษย์จะสร้างเครื่องบินได้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจในกระบวนการทางชีววิทยาจะทำให้เราสามารถสร้างเทคโนโลยีที่ไม่ใช่แค่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหมือนนกที่บินอยู่ในอากาศ มันไม่ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือใช้น้ำมันเหมือนเครื่องบิน ค่อนข้างคลีนมากๆ ดังนั้น Bio is The Future.

นิโคลาส เนโกรปอนเต (Nicholas Negroponte) โปรเฟสเซอร์ MIT Media Lab บอกว่า “Bio is The New Digital” เพราะว่าตอนนี้ Bio-Tech เข้าไปอยู่ในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การเกษตร หรือแฟชั่น เราใช้แบคทีเรียมาสร้างเส้นใยที่จะเอามาทำเสื้อ ในสัปดาห์หนึ่งเราสามารถสร้างแบคทีเรียขึ้นมาเป็นแผ่นได้เร็วกว่าตัวไหมหรือการสังเคราะห์เยอะเลย เราสามารถเอาแบคทีเรียมาสร้างเป็นอินซูลิน สำหรับคนขาดแคลนอินซูลิน เราสามารถโปรแกรมให้แบคทีเรียทำอะไรหลายๆ อย่าง Clean Up สิ่งแวดล้อมก็ได้

หรือแม้แต่ในมิติด้าน Computing เรากำลังสนใจว่า Bio จะกลายมาเป็นคอมพิวเตอร์ได้ยังไง ตอนนี้งานวิจัยที่ไมโครซอฟต์ ไอบีเอ็ม ได้เริ่มเอา DNA ในร่างกายเรามาเก็บข้อมูลแบบอื่นที่ไม่ใช่ข้อมูลทางพันธุกรรม ถ้าเราดูในคอมพิวเตอร์ ในฮาร์ดดิสก์ที่เราใช้ ข้อมูลถูกบันทึกเป็นเลขฐานสอง 0101 ใน DNA ของมนุษย์ก็มีวิธีการเก็บข้อมูลคล้ายๆ กัน แต่เป็น ATCG แทน ดังนั้นถ้าเราสามารถเปลี่ยน 0101 มาเป็น ATCG ได้ เราก็จะรวม Bio เข้ากับดิจิทัลได้

ยังมีอะไรที่ล้ำๆ เป็นจินตนาการล่าสุดของสายนี้บ้าง

พอเราพูดถึง Bio is The New Digital คำถามคืออะไรที่ไม่ใช่ดิจิทัล เรามีแท็บเล็ตที่ทำให้เราสามารถ touch information ได้ สามารถ feel อะไรต่างๆ ได้ เรามี Physical Computing เช่น ถ้าเราดูงานของ MIT Media Lab เขาสามารถทำให้โต๊ะกลายเป็น Interface ได้ คอมพิวเตอร์ไม่ได้อยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้ว มันมาอยู่ในสิ่งของ มาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยอยู่มาก่อน ตอนนี้ดิจิทัลเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่แล้ว แม้แต่ในวัฒนธรรมของเรา

โปรเจกต์หนึ่งใน Freak Lab เราทำงานจัดแสดง ใช้ AI มาอ่านหน้าคน แล้วเอาหน้ากากโขนมาใส่แทน หลายๆ ครั้งเราดูเฟซบุ๊ก เราดูอินเทอร์เน็ต เราดูข่าว แต่ไม่รู้ว่าเรารู้สึกยังไง เหมือนโดนกระแสชีวิตพัดพาไป เราก็เลยสนใจว่ามีวิธีไหมที่เทคโนโลยีจะทำให้เราตระหนักรู้อารมณ์ของเราเองได้ เราสร้างเป็น art installation ขึ้นมา โดยการใช้ AI มาอ่านหน้าคน เอาหน้ากากโขนกับหน้ากากตัวพระสะท้อนเข้าไป คือถ้าอารมณ์ไม่ดี หน้ากากที่ซ้อนทับลงไปบนหน้าก็จะเป็นหน้ากากยักษ์ วิเคราะห์จากการแสดงออกของสีหน้า ดูที่ปากและคิ้ว

โจทย์ต่อมาที่น่าสนใจคือ แล้วถ้า AI อ่านผิดละ เราจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ยังไง อารมณ์จากข้างนอกหรือข้างใน อันไหนคืออารมณ์ที่แท้จริง แต่เราไม่ได้พยายามจะตอบคำถามนี้ เราพยายามสะท้อนออกมาเพื่อชวนให้คนตั้งคำถามเพิ่ม จะเห็นว่า Computing โยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับ Bio สังคม วัฒนธรรม ในทุกๆ มิติแล้ว

Art Installation : Emoti-Khon

Art Installation : Emoti-Khon

ไดโนเสาร์ การทดลอง และห้องเรียน

 

พีพีเติบโตมาอย่างไร ทำไมถึงสนใจวิทยาศาสตร์

ตอนเด็กๆ ผมโตในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะแม่เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น ตอนนั้นปัตตานีเป็นเมืองที่ค่อนข้างสงบสุขมาก ยังไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง แล้วก็แยกตัวโดดเดี่ยวมาก เป็นเมืองท่องเที่ยว เท่าที่ผมจำความได้เป็นเหมือนเป็นสรวงสวรรค์แดนใต้ เห็นความผสมผสานระหว่างมัสยิดที่สีสวยมากกับผู้คนตอนเช้าในตลาด ผมประทับใจมาก ข้างบ้านก็มีอาจารย์คนอื่นอาศัยอยู่ ผู้ใหญ่คุยวิชาการกัน ผมก็เลยอยู่ในแวดวงแบบนี้มาตลอดตั้งแต่เด็กๆ

เนื่องจากที่บ้านไม่มีสัตว์เลี้ยง แถวบ้านไม่ค่อยมีเพื่อนวัยเดียวกัน ผมเลยเล่นไดโนเสาร์ของตัวเอง แต่มันก็ไม่ถูกใจ จนต้องทำขึ้นมาเอง เอากระดาษมาขยำๆ ทำเปเปอร์มาเช่ ปั้นไดโนเสาร์ตั้งแต่เด็กๆ  เรารู้ว่าอยากได้ไดโนเสาร์แบบนี้ แต่ไม่รู้จะทำยังไง ก็เอากระดาษรอบตัวมาขยำ พอได้รูปร่างใกล้เคียงแล้ว ก็เอาเทปมาติด ทำให้รู้ว่าถ้าต้องการแบบนี้จะต้องทำแบบไหน ทั้งหมดก็คือการสร้างต้นแบบ (Prototype) นั่นแหละครับ ฝึกมาตั้งแต่เด็กๆ

แล้วคุณแม่ผมเป็นคนมันมาก เป็นอาจารย์ด้านการศึกษา ก็จะให้ความสำคัญเรื่องการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ที่บ้านจึงมีของเล่น หนังสือ หรืออุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ ส่วนคุณพ่อเป็นข้าราชการ มาจากสายเศรษฐศาสตร์ เป็นคนที่เข้าใจความเชื่อมโยงต่างๆ ในโลกนี้ เช่น เกาหลีเหนือจะปล่อยนิวเคลียร์หรือไม่ พ่อก็จะวิเคราะห์ให้ฟังว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สาเหตุเพราะอะไร สัมพันธ์กับอะไรบ้าง พ่อชอบพาไปเดินในสวน ไปดูมดเดิน ดูสัตว์แปลกๆ ไต่ เขาเป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับธรรมชาติ ถ้าแม่เป็นวิชาการแบบในมหาวิทยาลัย พ่อก็เป็นวิชาการแบบนอกห้องเรียน

ผมโตมาในครอบครัวแบบนี้ เป็นลูกคนเดียว แม่เล่าให้ฟังว่าตอนผมเกิดใหม่ๆ ยายเอาจิ๊กซอว์รูปไดโนเสาร์มาติดอยู่ใกล้ๆ เปล แล้วผมก็มองไดโนเสาร์ จนชอบไดโนเสาร์ ตอนเด็กๆ มีวลีเด็ดคือเวลาไปที่ไหนก็จะกระตุกเสื้อแม่แล้วถามว่า “มีอะไรเป็นไดโนเสาร์บ้าง”

ผมชอบไดโนเสาร์ เพราะเป็นสัตว์ที่ครบส่วน ตัวใหญ่ มีฟัน มีหาง มีเขี้ยว มีหนาม คือมันมีทุกอย่างที่สัตว์ปัจจุบันมีไม่ครบ อย่างกิ้งก่าก็ตัวเล็กกระจิ๊ดนึง มันไม่ strong เหมือนเมนเทอร์ลูกเกด (หัวเราะ) แต่ไดโนเสาร์มัน strong มันใหญ่ มันเท่ บอกไม่ถูก เป็นสัตว์ที่เพอร์เฟกต์

พัทน์ ภัทรนุธาพร

ชีวิตการเรียนตอนต้นเป็นอย่างไร 

ผมเรียนที่โรงเรียนอนุบาลสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นช่วงที่ความคิดต่างๆ พัฒนาสูงมาก มีครั้งหนึ่งอยู่ที่โรงเรียน เกิดน้ำขังแล้วมีน้ำผุดๆ ขึ้นมา ผมกับเพื่อนก็ไปนั่งมุงดู แล้วเถียงกันว่าอะไรทำให้น้ำผุดขึ้นมา เราเถียงกันว่าน่าจะเป็นแมลง ถ้าเป็นแมลงจะเป็นแมลงแบบไหน นั่นแค่ประถมเองนะครับ แต่ผมจำได้ขึ้นใจเลย เพื่อนประมาณ 5-6 คน นั่งเถียงกัน คุยกันว่าเดี๋ยวกลับบ้านจะไปเปิดดูหนังสือแมลงว่ามีแมลงไหนบ้างที่น่าจะทำให้เกิดน้ำผุด แล้วเราก็กลับมารวมตัวกันใหม่ เอาหนังสือมาบอกว่าน่าจะเป็นตัวนั้นตัวนี้ สุดท้ายครูเข้ามาบอกว่า อ๋อ น่าจะเป็นเพราะท่อรั่ว เราก็แบบ โห กำลังสนุกกันอยู่เลย ครูมาสกัดจินตนาการ

เมื่อก่อนก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอโตขึ้นมาถึงรู้สึกว่า บรรยากาศการเรียนในตอนนั้นเป็นบรรยากาศการเรียนที่ดีที่สุด เพราะว่าตอนเด็กไม่ได้รู้สึกเครียด หรือต้องเรียนเพื่อสอบ เรากับเพื่อนไปเล่นกัน ดูว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็เถียงกันว่าน่าจะเป็นอะไร นี่คือการเรียนวิทยาศาสตร์แบบที่ควรจะเป็น

ครูที่โรงเรียนสนับสนุนให้ทำอะไรแปลกๆ ได้ เช่นแสดงละครวิทยาศาสตร์ โดยทำเป็นรายการข่าวของคุณสรยุทธมาสัมภาษณ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งตอนนั้นทุกคนอินมาก หรือการที่ผมกับเพื่อนเกือบทั้งห้องไปยึดสวนผักของโรงเรียนทำเป็นที่ทดลองโครงงาน ติดป้ายว่า Research Cam จริงๆ คือเราจะทำ Research Camp แต่สะกดไม่ถูก ผมไม่เคยเจอกลุ่มเพื่อนที่ไหนอินกับการเรียนขนาดนี้ เราไม่ใช่เรียนแบบกวดวิชา แต่เรียนเพื่อจะเข้าใจความรู้ เพราะมันสนุก เป็นบรรยากาศการเรียนที่บ่มเพาะดีมากๆ

แล้วสมัยมัธยมละ 

ผมมาเรียนต่อที่ มอ.วิทยานุสรณ์ หาดใหญ่ เป็นโรงเรียนที่เน้นการทำโครงงาน การทำโจทย์วิทยาศาสตร์ ก็เป็นโรงเรียนที่สนุกสนาน ทำให้ผมได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่จริงจังมากขึ้น แล้วก็ได้รับคัดเลือกเข้ากลุ่ม JSTP ตั้งแต่มัธยมต้น ทำให้รู้ว่า อ๋อ ในมหาวิทยาลัยไทย เขาเรียนกันอย่างนี้นะ อาจารย์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนเรียนปริญญาตรีก็เลยอยากจะไปเห็นโลกกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่แล็บในไทย แต่อยากเห็นความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่เขาโคลนไดโนเสาร์กัน หรือส่งจรวดแบบ Sci-Fi มากๆ ผมเลยตัดสินใจว่าอยากมาเรียนมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา ตอนชั้นมัธยม 6 ก็เลยมาเป็นเด็กนักเรียนแลกเปลี่ยนก่อนเพื่อดูว่าการเรียนที่นี่เป็นยังไง เลยมาจบมัธยม 6 ที่สหรัฐอเมริกาแทน

 

ระบบการเรียนที่สหรัฐอเมริกาต่างจากที่ไทยอย่างไร

มันมาก โรงเรียนที่นี่ก็คล้ายๆ มหาวิทยาลัย เขาไม่ได้กำหนดว่าเด็กจะต้องเรียนอะไร สมัยอยู่ไทย ทุกคนต้องเรียนวิชาเดียวกันหมดเลย แต่ตอนอยู่อเมริกา คุณเลือกได้ว่าอยากจะเรียนวิชาอะไรบ้าง พอเปลี่ยนคาบเรียนปุ๊บ แต่ละคนก็เดินหาห้องเรียน แล้ววิชาก็หลากหลาย บางคนรู้ว่าตัวเองอยากเป็นนักแสดงละครเวที ก็จะเรียน Theatre ตั้งแต่มัธยม เขามีโรงละคร  ขายบัตรจริงจัง ผมก็มีไปช่วยด้วย สนุกสนาน

อาจารย์ที่นั่นสอนอย่างไร

เขาก็มีหนังสือเรียนปกติ มีเนื้อหาเรื่องเซลล์ เรื่องนิเวศวิทยาเหมือนที่เราเรียน แต่การเรียนของเขาเป็นคำถามปลายเปิดหมดเลย คำถามปลายปิดที่ถามว่า “เซลล์คืออะไร” จะเป็นวิชาแบบประถมหรือมัธยมต้น แต่พอเป็นมัธยมปลายแล้วจะเป็นคำถามเปิดกว้าง ถามว่าสิ่งที่เราเรียนเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมยังไง มีปัญหาเรื่องน้ำมันรั่วไหล เราจะเข้าใจมันผ่านทางชีววิทยาได้ยังไง จะแก้ปัญหาได้ยังไง ค่อนข้างยึดโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวมากพอสมควร

เด็กเดินเข้ามาในห้องก็นั่งมองกระดานที่มีคำถามปลายเปิดเหล่านี้ แล้วครูก็จะเปิดด้วยการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นกว้างๆ ก่อน เป็นคำถามชวนให้คิด เสร็จแล้วค่อยมาลงในรายละเอียดว่าเรื่องเซลล์มีอะไรบ้าง เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับ accountability ของเด็ก คือหมายความว่า เวลาอาจารย์สั่งให้ไปอ่านหนังสือ เขาก็คาดหวังว่า คุณอ่านมาแล้ว มาถึงคุณก็พร้อมที่จะถกเถียงได้เลย

นอกห้องเรียนเราก็ต้องหาความรู้อยู่ตลอด?

ใช่ครับ แต่ผมคิดว่าหลักสูตรของเราลึกกว่า ตอนที่ผมทำโครงงานในประเทศไทย ได้อยู่กับเนื้อหาที่ยากกว่า แต่โรงเรียนธรรมดาที่ผมเรียนในอเมริกา เขากระตุ้นให้เด็กมีความคิด เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นค่อนข้างมาก ไม่ได้ใช้เครื่องมือหรูหราเหมือนที่ไทย ผมเคยทำวิจัยใช้ Scanning Electron Microscope เครื่องละหลายล้าน แต่ที่อเมริกาแค่ปลูกต้นถั่วธรรมดา ก็สามารถชวนเด็กคิดถึงประเด็นลึกๆ ได้ ผมว่าครูเขาเจ๋งมาก

 

ช่วงไหนที่เรามั่นใจแล้วว่าจะเรียนอะไร

รู้ตัวมาตลอดว่าอยากจะเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ก็รู้ด้วยว่าไม่ได้อยากจะเรียนวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ผมอยากเรียนทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี สังคม ปรัชญา ผมได้คติมาจากพ่อ เขาบอกว่าอะไรที่สนุก เรียนไปเลย ไม่ต้องสนใจว่าเป็นศาสตร์อะไร เพราะศิลปะ-วิทยาศาสตร์ไม่มีอยู่จริงหรอก มนุษย์ค้นหาความรู้เพราะสนุกที่จะทำ ริชาร์ด ไฟน์แมน นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลก็บอกว่า ทุกๆ อย่างล้วนน่าสนใจทั้งนั้น ถ้าเราศึกษาอย่างละเอียดและลึกซึ้งมากพอ ผมว่าคนที่สุดยอดจะไม่แคร์หรอกว่าเป็นศาสตร์ไหน เขาแคร์แค่ว่า สนุก มัน ทำแล้วเจ๋ง ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์สาขาไหนก็เอามารวมกันได้หมด

พัทน์ ภัทรนุธาพร

วิพากษ์ระบบการศึกษาไทย

จากที่เรียนมาแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ อยากให้ลองมองระบบการศึกษาไทยในภาพรวมว่าเป็นอย่างไร

จริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องระบบการศึกษา แต่ประเทศไทยมีอำนาจนิยมครอบอยู่ ถ้าเข้าใจตรงนี้ ก็จะเข้าใจในหลายๆ มิติ อำนาจนิยมก็คือ กระทรวงศึกษาธิการใช้อำนาจบีบว่าโรงเรียนต้องสอนอะไร เพื่อจะได้ประเมินตามกระทรวง ผู้อำนวยการก็มาบีบครูว่าต้องสอนอย่างนี้ โรงเรียนถึงจะได้คะแนนดี ครูก็มาบีบเด็กต่อ เด็กต้องทำตามกฎนะ ไม่งั้นครูจะหักคะแนน เด็กก็ถูกกดอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถขับดันความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้ พอเด็กถูกกดแบบนี้หลายๆ ครั้งโดยไม่รู้ตัว เมื่อโตขึ้นไปก็จะไปกดขี่คนอื่นแบบที่ตัวเองเคยโดนมา เหมือนรุ่นน้องโดนรุ่นพี่รับน้องก็ไม่ชอบ แต่พอเป็นรุ่นพี่ซะเองก็ทำแบบเดียวกันอีก

การที่เราอยู่ในสังคมอำนาจนิยม ทำให้กลายเป็นพวกชอบใช้อำนาจไปโดยไม่ตั้งใจ ตรงนี้ค่อนข้างอันตรายมาก เพราะพอเราใช้อำนาจ ก็จะไม่ใช้เหตุผล บอกตัวเองว่าเราใหญ่กว่า มีอำนาจเหนือกว่า และถูกเสมอ แล้วเราจะเรียนรู้ไปทำไม ถ้าแค่เชื่อผู้ใหญ่ ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้แล้วในสังคม

ทั้งหมดนี้ค่อนข้างเลวร้ายมาก แก้ได้ยาก เป็นอย่างนี้มาตลอด คนที่เคยโดนแบบไหน โตขึ้นก็ยังจะทำแบบนั้น ยิ่งทำให้ระบบดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ผมก็ยังเชื่อว่ามีความหวัง เหมือนในสตาร์วอร์ส มันก็มีความหวัง ต่อให้โดนกลุ่มจักรวรรดิ ด้านมืดถล่มตลอด ก็ยังรวมกลุ่มกันต่อสู้ได้

โมเดลความหวังคือแบบนั้นครับ ต้องมีเครือข่ายของคนที่อยู่ด้วยกันแล้วมีพลังขึ้นมา ผมโชคดีมากที่เข้ามาอยู่ในกลุ่ม JSTP เพราะทำให้รู้สึกว่า ผมไม่ได้เป็นตัวประหลาดคนเดียว มีคนอื่นๆ กำลังทำอะไรมันๆ เจ๋งๆ อยู่ในประเทศนี้มากมาย เป็นคนไทยเหมือนกันนี่แหละ แล้วพอเรามารวมกันทำโปรเจกต์ที่มีพลัง ก็ทำให้ต่างชาติยอมรับได้เเละสร้าง impact ให้กับโลกได้

ดังนั้นเวลาเราเห็นกลุ่มเด็กไทยรวมตัวกันเพื่อต้องการทำอะไรสักอย่าง เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าเกิดกลุ่มคนที่ขึ้นมาต่อต้านระบบได้ เพียงแต่ว่าการพยายามล้มหรือต่อต้านระบบ บางทีอาจจะไม่ใช่โฟกัสที่ดีเท่าไหร่ เพราะว่าล้มไปแล้วก็อาจจะมีคนชั่วร้ายคนอื่นเข้ามา ผมว่าการรวมกลุ่มกันแล้วทำตัวอย่างให้เห็นว่า การศึกษาที่เราอยากจะเห็นเป็นอย่างไร น่าจะทรงพลังกว่า

มันมีความหวังอยู่ครับ แต่ว่าเราต้องรวมกัน การล้างระบบไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราควรจะทำ เราควรจะทำสิ่งดีๆ อย่างอื่นด้วยเหมือนที่ Buckminster Fuller บอกว่า “You never change something by fighting the existing reality. To change something, build a new model that makes the existing model obsolete.”

ถ้าเราอยากจะลุกขึ้นทำอะไรสักอย่าง แต่ถูกสกัดกั้น หรือถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ เราจะจัดการอย่างไร

ตอนนี้มีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก แล้วเราสามารถรวมกันเป็นกลุ่มออนไลน์ คุณอยากเต้น ก็มีกลุ่มคนที่รวมกันเต้น คุณอยากทำหุ่นยนต์ ก็มีกลุ่มที่อยากทำหุ่นยนต์ คุณอยากปฏิวัติการศึกษา ก็มีกลุ่มที่อยากปฏิวัติการศึกษา สิ่งที่ต้องทำก็แค่มองหากลุ่มที่เข้ากับเรา ตอนปฐมนิเทศที่อเมริกาเขาบอกว่าให้ Find your tribe คือหาเผ่าของคุณให้เจอ หาคนที่คิดเหมือนกัน มีอุดมการณ์เดียวกัน อยากทำเหมือนๆ กัน แล้วพลังเราจะเยอะขึ้น ทำอะไรที่มี impact ได้ เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ พอทำได้แล้ว ก็มีแรงดึงให้คนอื่นเข้ามาจอย แล้วโมเมนตัมก็จะใหญ่ขึ้น

แล้วในกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้จะทำอย่างไร 

เพื่อนในกลุ่ม JSTP หลายคนสนใจเรื่องการศึกษา มีพี่คนหนึ่งไปทำ Teach for Thailand เขาเล่าให้ฟังว่าเด็กในหลายโรงเรียนก็มีปัญหา ผมไม่อยากใช้คำว่าเด็กมีปัญหา เพราะเหมือนเป็นการบอกว่านี่เป็นปัญหาของเด็ก แต่เขาโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อให้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางคนก็มีปัญหาครอบครัว บางคนก็ติดการพนัน หรือเล่นยาเสพติด  มันมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่

แล้วครูหลายๆ คนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนที่ทำให้เด็กสนุก ไปให้ความสำคัญกับเนื้อหาว่าต้องทำให้โรงเรียนตัวเองสอบโอเน็ตได้คะแนนดี หลายคนโฟกัสว่าความรู้ของตัวเองคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างเป็นปัญหามากพอสมควร

ระบบการศึกษาในฝันของพีพีเป็นแบบไหน

JSTP ให้อะไรผมเยอะมาก กลุ่มนี้ทำโมเดลการศึกษาซึ่งได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล JSTP เป็นโครงการของ สวทช. ทุกปีเขาจะให้เด็กส่งใบสมัครเข้ามาในโครงการ ใครก็ได้ มาจากชนบทหรือในเมืองก็ได้ แล้วอาจารย์ก็จะไปสัมภาษณ์ ผ่านแล้วก็เข้ามาอยู่ในทีมเเบบ The Face Thailand

ค่าย JSTP ไม่ใช่ค่ายผลิตนักวิทยาศาสตร์ แต่ผลิตนักคิดให้เห็นความเชื่อมโยงในทุกๆ สรรพสิ่ง เรา challenge เด็ก ให้โจทย์ยากๆ เป็นเกมให้เด็กแก้ปัญหา เป็นคำถามปลายเปิด ไม่ได้มีคำถามถูกกับผิด แล้วทำงานวิจัยออกมา

อย่างล่าสุดเราทำค่ายธีม Social Robot คือไม่ได้สร้างหุ่นยนต์ที่แข็งแรง แต่ทำอย่างไรให้หุ่นยนต์มีมิติความเป็นมนุษย์ แล้วสามารถสื่อสารกับมนุษย์รู้เรื่อง เราก็สอนเด็กให้ไปดู performance การเต้นโขน ว่าแสดงสีหน้ากันอย่างไร เรียนเกี่ยวกับ Bio สอนการสื่อสารกันอย่างไร สุดท้ายเด็กทำ Social Robot ออกมาเจ๋งมาก คือหุ่นยนต์เป็นหน้าโขน เป็นหุ่นยนต์หนุมาน ซึ่งเรานึกไม่ถึง

จริงๆ เด็กไทยไม่ได้โง่หรือแย่ เพียงแต่ไม่ได้ถูกสอนให้ทำอะไรมันๆ และไม่ได้ถูกสอนให้มาเจอการปะทะของความรู้หลายๆ ศาสตร์ เราเรียนคณิต เคมี ชีวะ แยกกัน เด็กไทยเหมือนเด็กที่ถูกทำให้เป็นง่อย แล้วเราก็พยายามจะเอาเด็กง่อยมาวิ่งแข่งกัน แล้วมันจะไปทำอะไรได้ แต่ JSTP โชว์ให้เห็นว่า เราสามารถเอาเด็กมาแก้โจทย์ที่ยากกว่าในโรงเรียนได้ เช่น โจทย์สร้าง Social Robot เป็นโจทย์ที่ซับซ้อนมากเเต่สนุก เด็กได้เรียนรู้ความเชื่อมโยง แล้วในที่สุดคุณก็จะแก้ปัญหาพวกนี้ได้ ส่วนโจทย์ของโรงเรียนง่ายกว่านี้ แต่ไม่สนุก

 

เราจะทำอย่างไรให้วิธีการแบบนี้กระจายไปทั่วทั้งประเทศ

เหตุผลที่วิธีแบบนี้ไม่ได้กระจาย ส่วนตัวเชื่อว่าเกิดจากการที่เขาไม่ได้อยากทำ คือเขารู้ว่ามันมีอยู่ เกิดขึ้นจริง แต่ปัญหาอยู่ที่อำนาจนิยม เพราะถ้าคุณสอนอะไรที่เจ๋งๆ ดีๆ มันๆ คนก็จะปกครองยาก ผู้ใหญ่ก็จะกลัวว่าเดี๋ยวเด็กมันจะมาปฏิวัติ ไม่เคารพผู้ใหญ่ เขารู้อยู่ว่าสิ่งที่เราทำมันดีมันเจ๋ง แต่ก็รู้สึกว่าเด็กแบบที่เป็นอยู่นี้ก็น่ารักเรียบร้อยดี เชื่องๆ แบบนี้ดีแล้ว เด็กที่ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นเป็นเด็กก้าวร้าว ผิดปรกติ ต้องกลับไปเรียนคัดไทยเพิ่ม (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่าเราไม่มีองค์ความรู้ดีๆ แต่เพราะผู้มีอำนาจไม่ได้ต้องการแบบนั้น

อยากชวนวิพากษ์วิจารณ์การสอนวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ 

ตอนผมเรียนฟิสิกส์ บทที่ 1 คือนิวตัน ทำไมอยู่ๆ โผล่มาที่นิวตันเลย มันไม่มีเหตุผลตั้งแต่ต้นแล้ว วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเหตุผล ความเข้าใจธรรมชาติ เป็นเรื่องที่มาจากความสนใจ นิวตันไม่ได้ถูกบังคับให้ไปค้นพบแรงโน้มถ่วง เขาแค่ใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนใจ เต็มไปด้วยความอยากรู้ เลยค้นพบแรงโน้มถ่วง นักเรียนควรจะได้เรียนวิทยาศาสตร์แบบที่นิวตันค้นพบแรงโน้มถ่วง ไม่ใช่แบบ…ทุกคนท่องกฎของนิวตันข้อที่ 1 ตรงกันข้ามเลย ถ้านิวตันมาเรียนวิทยาศาสตร์แบบนี้ ก็คงสอบตก (หัวเราะ)

ตอนผมเรียนวิทยาศาสตร์ที่อเมริกา ครูจะเล่าการผจญภัยของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขาอยากรู้ว่าทำไมแอปเปิ้ลตก ก็เลยไปทำการทดลองนี้นั่นนี่ แล้วพอนักเรียนเห็นเส้นทาง เห็นว่าข้อมูลเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร ก็จะทำให้รู้สึกว่าคนนี้เจ๋งจังเลย คิดแบบนี้ได้ไง มันตื่นเต้น แต่ระบบการศึกษาไทยถ้าเปรียบเทียบเป็นหนังก็คือ เปิดเรื่องมาพระเอกจูบนางเอกเลย ไม่รู้สองคนนี้มารักกันได้อย่างไร ระบบการศึกษาอเมริกันจะชูให้เห็นว่าเขาจีบกันแบบนี้ โชว์ให้เห็นความโรเเมนติก เด็กก็เลยตื่นเต้น

เพราะอย่างนี้เด็กไทยถึงเกลียดวิชาวิทยาศาสตร์ใช่ไหม จู่ๆ ให้มาท่องสูตร

ใช่ มันไม่มีเหตุผล วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเหตุผล มันไม่มีเหตุผลตั้งแต่แรกแล้วว่าทำไมต้องท่อง ตายตั้งแต่ต้นแล้ว

เคยต้องท่องอะไรไหม

ผมท่องตารางธาตุไม่ได้ เคยมีช่วงที่ท่องได้ เพราะมีคนสอนท่องเป็นเพลง แต่ผมว่ามันไม่จำเป็น ผมไม่เคยเห็นนักเคมีที่อเมริกาคนไหนท่องได้เลย เขาอาจจะจำได้เพราะต้องใช้บ่อยๆ แต่เขาไม่ได้ท่องเพื่อท่อง ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเด็กไทยต้องท่องตารางธาตุ ไม่ใช่ว่าเราจะไปปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคาร ไม่ได้ไปตรวจสารเหล่านี้ทุกวัน ที่ถ้าไม่ท่องแล้วจะตาย ไม่ท่องแล้วภารกิจจะล้มเหลว เราใช้ชีวิตได้โดยไม่จำเป็นต้องท่อง

จริงๆ แล้วการท่องจำไม่ควรมีอยู่ในการศึกษาเลยไหม

การท่องว่าไหนคือซ้าย ไหนคือขวา อันนี้จำเป็น เพราะช่วยให้เราข้ามถนนได้ ผมเป็นคนที่จำวันเวลาไม่ค่อยได้ อาจจะท่องเดือนไม่ได้ด้วยซ้ำ ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มนุษย์สร้างขึ้น มันจึงเปลี่ยนได้ วันหนึ่งเกิดรัฐบาลอยากจะเปลี่ยนเอาเดือนกุมภาพันธ์มาไว้หลังสุด ก็ต้องจำใหม่ ผมเลยไม่อยากจำเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ แต่รู้ว่ามันมีประโยชน์ที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ตามปกติ

แต่ที่เหนือกว่านั้น บางทีเราจำได้เพราะว่าเราใช้งานบ่อย ถ้าคุณเป็นนักเคมี คุณก็จะจำได้เอง คุณไม่ต้องมาบอกให้เด็กจำตอนเรียน ทีนี้พอเด็กต้องจำโดยไม่มีเหตุผล มันก็ทำลายเด็ก กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มีเหตุผล แต่เราไปท่องมันซะแล้ว มันตลกร้าย เป็นมุกที่น่าจะได้รางวัล

แล้ววงการวิทยาศาสตร์ไทยในสายตาคุณเป็นอย่างไร

โดยรวมวงการวิทยาศาสตร์ไทยกำลังมีทิศทางที่ดี มีการพูดถึงวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่ในห้องทดลอง แต่มีการนำออกมาสู่ผู้คน มีรายการวิทยาศาสตร์ มี Maker Movement ที่กระตุ้นให้คนธรรมดาลุกขึ้นมาเป็นนักสร้างนวัตกรรม มี Startup Thailand ที่กระตุ้นให้เกิดการบ่มเพาะผู้ประกอบการ แปลงจากเทคโนโลยีไปสู่บริษัทสตาร์ทอัพ ทั้งหมดนี้เป็นแนวโน้มที่ดีมาก

แต่ว่าอย่างหนึ่งที่เราควรจะต้องระวังก็คือ วาทกรรมที่บอกว่าวิทยาศาสตร์มีไว้เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน เพื่อปัจจุบัน เพื่อกินเพื่อใช้

ต้องอธิบายก่อนว่า วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ของความรู้ ความรู้มีมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว ตั้งแต่ไอน์สไตน์ กาลิเลโอ นิวตัน เป็นความรู้ที่เอามาใช้ประโยชน์ในทุกๆ วันได้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นเรื่องของความเข้าใจ ว่าอะไรเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อะไรทำให้เกิดสิ่งที่เรามีปฏิสัมพันธ์อยู่ในทุกๆ วัน

วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่แก้ปัญหาอยู่แล้ว การสร้างวาทกรรมว่า เราจะทำวิจัยเฉพาะอันที่แก้ปัญหาได้ หรือเฉพาะที่กินได้ ขายได้ เป็นการลดความสำคัญของวิทยาศาสตร์ลงไป แทนที่เราจะเข้าใจว่าโลกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร โลกประกอบด้วยอะไรบ้าง มีความซับซ้อน ก็เหลือเพียงแค่ว่าเราจะทำเพื่อปัจจุบันเท่านั้น

ถ้าเราย้อนกลับไปดูในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยของ NASA หรืองานวิจัยที่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์โดยตรงเลย เช่น การศึกษารังสีอินฟาเรดในจักรวาล การศึกษาการทำงานของดาวเทียม การศึกษาว่าเราจะส่งข้อมูลจากนอกโลกกลับมาในโลกได้อย่างไร งานวิจัยเหล่านี้ดูเหลือเชื่อ แทบจะกินไม่ได้ แต่มันทำให้เกิดนวัตกรรมที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ เช่น ไมโครเวฟ ก็เกิดมาจากการศึกษาการเเผ่รังสี การที่เราสามารถใช้ GPS เดินทาง ใช้ Google Map ขับรถไปไหนมาไหนได้ ก็เกิดจากการที่ NASA สร้างงานวิจัยขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ระหว่างในโลกกับนอกโลก

งานวิทยาศาสตร์ไม่ควรจะถูกจำกัดเฉพาะสิ่งที่เรากินได้เท่านั้น เพราะทำให้เราไม่สามารถมองเห็นอนาคต สิ่งที่เรากินได้ตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะกินได้ต่อไปในอนาคต อีกหน่อยเราอาจจะไม่ได้ใช้น้ำมันแล้ว รถอาจขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ถ้าเรามัวแต่สนใจสิ่งที่อยู่ปัจจุบัน บางครั้งเราก็จะมองไม่เห็นถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า

มีปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจของโทมัส คูนน์  (Thomas Kuhn) นักปรัชญาแห่งวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่าวิทยาศาสตร์มี 2 แบบ แบบที่หนึ่ง Normal science นั่นคือ เราเอางานที่มีอยู่แล้วทั่วๆ ไป มาดัดแปลงนิดๆ หน่อยๆ ใส่ตัวแปรเพิ่มขึ้น เอามาใส่สารเคมี เติมนั่นเติมนี่ แล้วดูว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่โอเค เราจะสร้างงานวิจัยออกมาได้เรื่อยๆ เพราะเราก็แค่ดัดแปลงอันก่อนหน้านี้

แบบที่สอง Paradigm shift นั่นคืองานการค้นคว้าที่ทำให้โลกทัศน์และความคิดของเราเปลี่ยนแปลงไป เช่น การค้นคว้าของ NASA ที่ส่งคนไปดวงจันทร์ได้ ทำให้เราเปิดพรมแดนใหม่ๆ ว่า มนุษย์ไม่ได้อยู่แค่บนโลกเท่านั้น แต่เราสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ในจักรวาลหรือเปล่า

การวิจัยแบบนี้เป็นงานที่ต้องใช้ความคิด แล้วก็ความกล้า หลายๆ คนบอกว่าต้องใช้งบประมาณมหาศาลด้วย แต่ผมคิดว่าเรื่องงบประมาณมาทีหลัง ถ้าเรามีความกล้า แล้วมีความคิดว่า เฮ้ย เราอยากจะทำอะไรเจ๋งๆ มันๆ ก็จะพุ่งไปได้

งานวิทยาศาสตร์ของไทยตอนนี้ยังเป็นแบบแรก ผมอยากเห็นงานวิจัยที่มี Paradigm shift ที่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนบนโลก เช่นของ Freak Lab ที่ทำกับ มจธ. เเละ VISTEC เราทำเครื่องอ่านคลื่นสมองมาปริ้นอาหาร งานนี้ได้รับการยกย่องจาก MIT ว่าเป็นงานที่ทำให้เกิด Paradigm shift ในมุมมองที่ว่า อีกหน่อยเราจะไม่ได้อ่านคลื่นสมองหรือศึกษาสมองของมนุษย์เพื่อทางการแพทย์อย่างเดียว เเต่เราสามารถอ่านคลื่นสมองเพื่อมาตอบโจทย์อื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้ (Ubiquitous)

ตอนนี้เราใช้โทรศัพท์ทัชสกรีนได้ อีกหน่อยเราอาจจะไม่ต้องใช้ข้อความในการสื่อสาร แค่คิดแล้วข้อความก็ออกมาได้เลย มันจะไปอยู่ในพรมแดนใหม่ๆ เราอยากเห็นงานวิจัยแบบนี้เพิ่มขึ้น ที่โชว์ให้เห็นว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ไม่ใช่แค่การเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลง

คุยข้อเสียของไทยมาเยอะ คิดว่าสังคมไทยมีข้อดีอย่างไร

มีเยอะมาก แล้วการที่เรามองไม่เห็นเป็นการมองข้ามมาก เคยมีผลงานวิจัยที่เราทำเครื่องมือดักแมลงที่มีต้นแบบจากต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง โดยใช้โครงสร้างการสานของไทยมาเป็นเทคนิคสร้างเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา เรามีองค์ความรู้เจ๋งๆ หลายเรื่อง มีพลังมากๆ เรามีสมุนไพร มีวิธีการปรุงอาหารซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยาได้ด้วย เรามีวิธีการสร้างบ้านหนีน้ำท่วมได้ เพราะเรายกสูงตั้งแต่ต้น เรารู้แล้วว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ เราก็มีเทคนิคแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เรามีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เรามีดนตรีที่เฉพาะตัว หลายๆ อย่างพวกนี้เป็น Cultural Heritage ที่มีพลังมาก แต่เรายังไม่สามารถเอามาใช้ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แล้วเดินไปข้างหน้าได้
เครื่องดักแมลงที่มีต้นแบบจากต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง

เครื่องดักแมลงที่มีต้นแบบจากต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง

เพราะอะไรเราถึงยังไปต่อไม่ได้

ก็คล้ายกับเรื่องอำนาจนิยม พอผู้มีอำนาจคิดว่าตัวเองควบคุมสิ่งนี้ได้ สิ่งนี้เลยเป็นของฉัน ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้ามาขยับงานพวกนี้ได้ เหมือนอย่างพิเชษฐ กลั่นชื่น ที่ทำโขนเป็น Contemporary Dance ทำให้เกิดการไปต่อ ศิลปะทั่วโลกมีการเดินทางต่อ เราไม่ได้หยุด Impressionism ไว้ที่ Impressionism เราไม่ได้หยุดภาพเขียน Romanticism ไว้ที่ Romanticism มันมีวิวัฒนาการ งานศิลปะกำลังพัฒนา แต่เรากลับคิดว่า สิ่งที่ดีที่สุดเกิดขึ้นในอดีตแล้ว เราไม่สามารถสร้างสิ่งที่ดีกว่านั้นได้แล้ว เราต้องทำตัวอย่างให้เห็น

คิดว่าปัญหาความขัดแย้งในประเทศมีส่วนทำให้วงการศึกษา วงการวิทยาศาสตร์ หรือวงการศิลปะ ไม่เดินหน้าไหม

คือมันมีความขัดแย้งในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลาง แล้วก็มีความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเห็นคู่ขนานของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แล้วในขณะเดียวกันทั่วโลกก็มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ตั้งแต่จูเลียส ซีซาร์ออกรบ จนถึงสงครามโลก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

มีความรุนแรงหลายๆ อย่างที่ไม่ได้ถูกนำมาบอกเล่า มีคนหลายคนที่ได้รับความรุนแรงจากการเมืองที่คนกำลังจะหลงลืม การบอกว่ามาสามัคคีกันเถอะ มันง่ายเกินไป เพราะคนหลายๆ คนยังไม่ได้รับความยุติธรรม พ่อผมบอกว่าเราสนใจการเมืองได้ แต่อย่าเป็นเหยื่อการเมือง ผมว่าถ้าทุกคนโฟกัสที่จะแก้ปัญหาการเมืองทั้งหมด แล้วไม่พยายามจะทำอย่างอื่นไปด้วย วันหนึ่งเมื่อการเมืองคลี่คลายลง เราก็จะไม่ได้ทำอะไรไว้รอเลย

วิธีทำให้ประเทศของเราดีขึ้นได้ คือการพยายามเบนความสนใจไปทางอื่นด้วย การเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก มันส่งผลกับผู้คนทั้งประเทศ เช่น ในอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ จะตัดงบ NASA ก็เลยทำให้เกิดโมเดลใหม่ๆ มีบริษัทเอกชน แบบ SpaceX ของอีลอน มัสก์ เกิดขึ้นมา ถ้าประชาชนมีพลัง ต่อให้รัฐไม่มีเสถียรภาพ พลังของประชาชนที่เข้มแข็งก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศไปได้ รัฐบาลเป็นเพียงแค่คนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

เรามีฐานรวมข้อมูลของทั้งโลกแล้ว อินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงองค์ความรู้ เข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงการศึกษาด้วย ถ้าคิดว่าการศึกษาสำคัญที่สุด อย่ามัวพะวงว่าต้องรอให้รัฐบาลแก้ เรามาโฟกัสตรงจุดที่อยากทำแล้วลงมือ

พลเมืองไม่จำเป็นต้องไปแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างเดียว เราสามารถทำให้ประเทศดีขึ้นได้ ด้วยความแตกต่างของเรา ด้วยทักษะของเรา ให้ Think Beyond คือคิดให้เหนือออกจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ถ้าความขัดแย้งวันนี้คลี่คลาย เราจะทำให้เดินไปถึงตรงไหนต่อ Think Beyond แล้วก็ Make Future คือไม่ใช่แค่คิด แต่สร้างด้วย ไม่ว่าจะสร้างอะไรก็แล้วแต่ สร้างความรู้ สร้างเทคโนโลยี สร้างการศึกษา

มีเวลาผ่อนคลายบ้างไหม เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ 

ตลอดเวลาเลยครับ ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเหล่านี้เยอะมาก ล่าสุดไปดู Black Panther มา สนุกสนานมาก ช่วงหลังงานของผมจะสนใจสิ่งที่เรียกว่า Speculative Design คนไม่ค่อยให้ความสนใจในไทยเท่าไหร่ ทั้งที่เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมาก คือปกติเราจะดีไซน์อะไรก็แล้วแต่เพื่อที่จะแก้ปัญหา หรือว่าทำในสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ Speculative Design ให้ความสำคัญกับการออกแบบสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือไม่เคยเกิดขึ้น เหมือนในหนัง Black Panther เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ของ Speculative Design คือดีไซน์เมืองแอฟริกาที่มีเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากทั้งเมือง

ผู้สร้างหนังจินตนาการโดยสมมติว่า ถ้าประเทศในแอฟริกาเจริญแล้วจะเป็นอย่างไร ทำให้คนที่เห็นดีไซน์พวกนี้สามารถจินตนาการความเป็นไปได้ต่างๆ ขึ้นมา คนแอฟริกันไปดู Black Panther ก็ไม่ได้จินตนาการว่าตัวเองเป็นได้แค่ทาส แต่จินตนาการว่าตัวเองเป็นประเทศโลกที่หนึ่งได้ด้วย งานดีไซน์ช่วยเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางวัฒนธรรมและการเมืองได้

ประเทศไทยก็เหมือนกัน เราไม่เคยดีไซน์อนาคตว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วขึ้นมาไลฟ์สไตล์จะเป็นอย่างไร พอเรามีจินตนาการแล้วค่อยคิดว่าแล้วเราจะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร แต่เราถูกกับดักของปัจจุบันขังไว้ ทำให้ไม่สามารถจินตนาการถึงอนาคตได้ เมื่อจินตนาการไม่ได้ เราก็เดินไปหาอนาคตไม่ถูก ดังนั้น Speculative Design ซึ่งออกแบบความเป็นไปได้ทั้งหมด จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

  

มีประเทศไทยในจินตนาการของตัวเองไหม

มี ประเทศไทยแทบไม่เคยมีภัยพิบัติอะไรเลยนอกจากสึนามิ อาหารก็ดี ถ้าไม่ได้ทะเลาะกันเรื่องการเมือง โดยรวมก็เป็นคนน่ารัก มีทรัพยากรธรรมชาติที่ดี ทิวทัศน์สวยงาม ประเทศไทยในอนาคตของผม คือการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ แล้วเอาเทคโนโลยีที่แอดวานซ์เข้ามาเติม เราไม่ได้เอาความเป็นอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ใส่เข้าไป แต่เอาความเป็นไทยสร้างอนาคตขึ้นมา

ความเป็นไทยคืออะไร

ความเป็นไทยคือความยืดหยุ่น ทำส้มตำ หาปูไม่ได้ ก็เอาอย่างอื่นมาใส่แทน เราก็กินกันได้ มันคือการที่เราเข้าใจและเคารพสิ่งแวดล้อม เรามีวัฒนธรรมในการขอขมาพระแม่คงคา มีวัฒนธรรมที่มองคนอื่นเป็นครอบครัวเดียวกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผมว่าน่ารักมากเลย มีเสน่ห์มากๆ ยังไม่ได้รวมถึงงานศิลปะและออกแบบที่ทรงพลังแล้วก็เฉพาะตัวมาก ซึ่งเกิดมาจากการที่เราเอาวัฒนธรรมต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เเละที่อื่นๆ มาปะทะสังสรรค์กัน จนเกิดเป็นสไตล์ของเราเอง งานหลายๆ ชิ้นที่ผมทำคือ การรวมเอารูปแบบงานศิลปะผสมสไตล์ไทยมาใส่ในเทคโนโลยีที่ซับซ้อน เป็นงานออกแบบที่เป็นอนาคต

มองอนาคตตัวเองไว้อย่างไร 

อยากเป็นไดโนเสาร์ (หัวเราะ) ผมมีความสุขมากกับการเดินทาง ทำงานกับคนที่อยู่ในไทยและอเมริกา ได้เป็นตัวเชื่อมผู้คน แล้วก็ได้ทำอะไรมันๆ ออกมาอีกเรื่อยๆ อนาคตก็คงทำอะไรแบบนี้ต่อ อาจจะเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยที่อเมริกาสักแห่งหนึ่ง

ตอนนี้ผมมีบริษัทผลิตเทคโนโลยี เป็นสตาร์ทอัพของผมกับเพื่อนอเมริกันอีกแห่งหนึ่ง ชื่อ HumanityX คิดว่าคงจะเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทนี้ต่อไปในอนาคต แล้วก็หวังว่าจะทำให้กลุ่มวิจัยในเมืองไทยขยายออกไป ตอนนี้ก็มีอาจารย์จากหลายๆ มหาวิทยาลัยอยากเข้ามาทำโปรเจกต์ด้วย กลุ่มงานวิจัยก็ค่อยๆ โตขึ้น

ผมคิดว่าถ้ากลุ่มวิจัยในไทยไม่ได้ทำวิจัยที่หวังแค่จะกินวันนี้ แต่ทำอะไรที่หวังว่าจะเป็นสิ่งที่เจ๋งที่สุดของโลก สร้างอนาคตให้กับเราได้ มันจะดีมาก เราต้องทำวิจัยเพื่ออนาคตเพราะปัจจุบันจะหนีเราไปเสมอ อะไรที่เราบอกว่าจะทำเพื่อวันนี้ สักพักหนึ่งคนก็ทำได้แล้ว ทั่วโลกก็เข้าถึงได้แล้ว เพราะว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้เร็วมาก ทุกอย่างมันเคลื่อนที่เร็ว เราต้องคิดไปให้ไกลมากๆ ถึงเป็นผู้นำได้ เพราะถ้าเรามัวคิดแค่ทุกวันนี้ ทุกคนก็วิ่งตามถึงกันได้หมดแล้ว

ภาพตอนพีพีขึ้นเวที TEDxASU ในหัวข้อ Prototyping the Impossible

ภาพตอนพีพีขึ้นเวที TEDxASU ในหัวข้อ Prototyping the Impossible

ไดโนเสาร์มักจะถูกเปรียบเป็นความล้าสมัย แต่ตัวคุณกลับคิดอะไรที่ล้ำมากๆ เลย

ผมเป็นไดโนเสาร์ที่ติดเกียร์ไว้ตรงปีกด้วย มันจะเร็ว (ยิ้ม) เสือชีตาห์นี่วิ่งเร็วใช่มั้ย แต่ไดโนเสาร์ติดปีกแล้วบินฟิ้วไปเลย เราต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เราบอกว่าไทยแลนด์เป็นไดโนเสาร์เพราะว่าช้า สูญพันธุ์เร็ว เราก็เอาไดโนเสาร์มาใส่เกียร์สิ วิ่งเร็วเลยคราวนี้ เพราะตัวมันใหญ่ โมเมนตัมเยอะ คือเราอย่ามองว่ามันเป็นวิกฤต คิดว่าทุกอย่างเลวร้ายไปหมด มันคือโจทย์ชั้นดีว่าเราจะเอามาใช้อย่างไรต่อในการทำเรื่องมันๆ

พูดถึงระบบของคนรุ่นเก่ามาเยอะ อยากจะพูดอะไรถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อนๆ เราบ้าง

เวลาผมรู้สึกเหนื่อยๆ ผมจะคุยกับอาจารย์ที่ JSTP แล้วอาจารย์จะบอกว่า GO! GO!  GO!  DO!  DO!  DO! พอเราทำหลายๆ อย่าง มีคนเห็นงานเรา มีงานวิจัยที่จะได้ขึ้นไปบนอวกาศ ได้ทำเทคโนโลยีมันๆ ได้ไปทำงานกับ IBM ทำงานกับนักวิทย์ฯ รางวัลโนเบล ทำงานกับ NASA เราเริ่มทำเล็กๆ แล้วพอคนเห็น มันก็ใหญ่ขึ้น เครือข่ายก็ใหญ่ขึ้น

พอลงมือทำ เราจะได้พลัง พอได้พลัง เราก็จะทำอีก แล้วเราก็จะทำไปเรื่อยๆ อย่ารอว่าต้องได้รับการยอมรับ ต้องรอให้ผู้ใหญ่มายืนยัน รอให้คนนั้นคนนี้มาเห็นชอบ เราทำในแบบที่เราทำได้ไปก่อน แล้วก็พยายามเอาตัวเองโตเข้าหาแสง หาให้ได้ว่าแสงรอบๆ ตัวเราคือใคร แล้วเราก็จะโตขึ้นๆ

อะไรก็แล้วแต่ที่อยากทำ ขอให้มันๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save