fbpx
Back to the Future เรียนรู้ดั่งปรารถนา

Back to the Future เรียนรู้ดั่งปรารถนา

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

– 1 –

“เราเกิดคำถามว่าตัวตนและความอยากรู้เรื่องต่างๆ ของเราหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่”

‘ไฟท์’ กิตติภัฏ แตงเลี่ยน จากคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ปี 2 บอกความรู้สึกของตัวเองเมื่อคุยกันถึงโรงเรียนที่เคยร่ำเรียนมา ก่อนเข้ามาร่วมศึกษาใน ‘โรงเรียนอนาคต’

ใครหลายคนก็คงบอกทำนองนี้ เหมือนการหลับใหลอยู่ในวังวนอันเนิ่นนานและไร้ชีวิตชีวา แต่จู่ๆ เมื่อถามว่าแล้วโรงเรียนที่เราต้องการเป็นอย่างไร ก็คล้ายโลกใบใหม่เคลื่อนมาตรงหน้า เราเห็นและมองหา ที่ไหนกักขัง ที่ไหนปลดปล่อย ให้ความหวัง

โรงเรียนอนาคตไม่ได้อยู่ในอนาคต แต่อยู่ในวันนี้ อีกพื้นที่หนึ่งในเวลาคู่ขนาน

นึกถึงที่ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์หนุ่ม หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนาคตบอกเช่นเดียวกันว่า การศึกษาไทยรวมศูนย์มากเกินไป ไม่ปรับตัวและถูกผูกขาดไว้กับรัฐอำนาจนิยม

“การศึกษาจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกล่อมเกลาคน มากกว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ การศึกษาที่ผ่านมาทำให้ passion ของคนหายไป”

โรงเรียนอนาคต, การตั้งคำถามกับตัวเอง

เหตุผลสั้นๆ ของประจักษ์ส่วนหนึ่งจึงเกิดการผลักให้มีพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ในเงื่อนไขจำกัด ที่เขาคิดถึงโจทย์ใหม่ๆ และท้าทาย อย่างน้อยก็เพื่อเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เวลานี้มาสะกิดหลังทุกคนแล้ว

สองอาทิตย์เต็มตั้งแต่ วันที่ 8-22 กรกฎาคมที่ผ่านมา นักเรียน-นักศึกษา ม.6-ปี 4 รวม 30 ชีวิต ต่างที่ต่างทาง จากคนละสถาบัน คนละความสนใจ พวกเขามาร่วมกินนอน-เรียนรู้ร่วมกันในห้องเล็กๆ มุมหนึ่งใน ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ด้วยเวลาเพียงสองอาทิตย์ แต่คนหนุ่มสาวต่างได้เรียนรู้ประเด็นต่างๆ เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่, ความท้าทายใหม่ในโลกทุนนิยม, Cosmopolitanism, ความยั่งยืนและระบบนิเวศ, ความยุติธรรม, การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล จากครูบาอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้

ไม่เท่านั้น พวกเขายังได้ฝึกการคิดวิพากษ์, ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ, การเขียนอย่างสร้างสรรค์, ทักษะการสื่อสาร, การถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี, ศิลปะการแสดง, การพูดในที่สาธารณะ

เรื่องใหญ่ ห้องเล็ก เวลาน้อย มันจึงคล้ายกับแคปซูลเม็ดเล็กๆ ที่พวกเขากลืนเข้าไปแล้วเกิดบิ๊กแบงทางการเรียนรู้ออกมา

โรงเรียนอนาคต, workshop

–  2 –

ก่อนหน้าที่โรงเรียนอนาคตจะเริ่มต้น ประจักษ์บอกว่าเขาเองก็เคยขาด passion ในชีวิต และไม่รู้จะเลือกไปทางไหนต่อขณะที่กำลังจะก้าวออกมาจากเด็กมัธยมไปสู่ชั้นอุดมศึกษา

“ผมโชคดีที่ได้เจอครูที่ดี เปิดใจคุยได้ บวกกับความสนใจเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้ผมเดินมาในทางที่เป็นผมทุกวันนี้” อาจารย์หนุ่มอธิบายจุดสตาร์ทในเส้นทางของตัวเอง

เขาคิดว่าคนรุ่นใหม่กำลังเจอความท้าทายรอบด้าน โลกที่มีความผันผวน เปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ในความท้ายทายที่เกิดขึ้นก็มีทั้งความกังวลและความหวัง เขาเห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ว่ามีพลังในการเปลี่ยนแปลงได้ เขาไม่เชื่อว่าสังคมไทยจะต้องหดหู่และหยุดนิ่งไปตลอด เพราะเราไม่อยากอยู่ในสังคมแบบนั้น

“สิ่งที่เราเห็นชัดคือในสายตาของเด็กๆ ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ทำให้พวกเขาผิดหวัง ในขณะที่ทุกคนมีศักยภาพที่จะทำอะไรสร้างสรรค์ ลองไปดูนักธุรกิจเก่งๆ นักวิทยาศาสตร์ หรือศิลปิน คนเหล่านี้มักเป็นขบถกับการศึกษา ไม่มีใครเป็นเด็กเรียนเชื่องๆ”

ท่ามกลางความหดแคบและตีบตันของการศึกษาไทย พื้นที่การศึกษาทางเลือกก็คล้ายจะงอกเป็นดอกเห็ด โรงเรียนอนาคตก็เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ใหญ่

เขามองว่าทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังสร้างระบบการศึกษารูปแบบใหม่ที่ทำให้เด็กมองว่าตนเองเป็นพลเมืองโลก (Global citizen) มีสำนึกในมนุษยธรรม มีความห่วงใยและเอื้ออาทร และพร้อมจะเชื่อมต่อกับคนอื่นโดยไม่เอาพรมแดนเป็นตัวขวางกั้น

ประจักษ์ ก้องกีรติ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนาคต
ประจักษ์ ก้องกีรติ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนาคต

“เรื่องทีมหมูป่าก็เป็นกรณีศึกษาเรื่องมนุษยธรรมที่ดี เด็กบางคนไม่มีสัญชาติ แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือเพราะความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นโรงเรียนอนาคตไม่พยายามเน้นความเป็นไทยเลย แต่เน้นความเป็นพลเมืองโลก”

ประจักษ์บอกอีกว่า เด็กทุกคนมีของ คำพูดที่ว่าเด็กไทยไม่มีศักยภาพนั้นไม่จริง ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้เด็กทุกคน มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย มีบรรยากาศที่เป็นมิตร เราจะเห็นการคิดเชิงวิพากษ์ เห็นความมุ่งมั่นในการคิดที่แตกต่างและการตั้งคำถาม

“ความยากคือปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นปัญหาขนาดภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่มาก เราไม่รู้ว่าใครจะเขยื้อนมันได้บ้าง แต่ความท้าทายคือเราหวังว่าโรงเรียนอนาคตจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยข้อเท็จจริงหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงในโลกนี้มันเริ่มจากคนส่วนน้อยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นยากแค่ไหน”

– 3 –

โรงเรียนไม่ใช่ค่ายมวยก็จริง แต่นักมวยมีพี่เลี้ยงได้ นักเรียน-นักศึกษาก็มีพี่เลี้ยงได้เช่นกัน

พฤหัส พหลกุลบุตร พร้อมกับฐิตินบ โกมลนิมิ สองนักจัดกระบวนการเรียนรู้อิสระ เป็นทีมที่พยายามเชื่อมคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายในโรงเรียนอนาคตให้เรียนรู้ร่วมกัน

“สิ่งแรกที่เราเห็นความเป็นคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ได้สะท้อนออกมา คือ เขารู้สึกเหมือนกับว่าชีวิตกูไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วข้างบนก็โยนอนาคตที่กูไม่ได้เลือกมาให้กูแบก มันเป็นความอึดอัดคับข้องที่เห็นชัดมาก” พฤหัสอธิบาย

เขาบอกว่าการเรียนรู้ที่สำคัญคือการสลัดเปลือกออกไป และเปลือกที่คลาสสิกมาก เช่น การเช็คชื่อในห้องเรียน หรือการแต่งกาย ไม่มีใครคลางแคลงอีกแล้วว่าเปลือกเหล่านี้ไม่จำเป็นอย่างไร

ถ้าการเรียนรู้คือหนทางที่ยาวไกลไม่สิ้นสุด พฤหัสบอกด้วยความขำขันว่า โรงเรียนในระบบที่ผ่านมาให้การเรียนรู้ที่ไกลที่สุดด้วยการสอบ ซึ่งชี้วัดศักยภาพของมนุษย์ไม่ได้เลย

“การดึงศักยภาพของคนออกมา ไม่ใช่การพยายามใช้ความคิดอย่างเดียว ความคิดเป็นเพียงฐานคิด แต่คนเรายังมีฐานใจ มีเรื่องอารมณ์ และฐานกาย เป็นเรื่องร่างกาย การเคลื่อนไหวใช้แรงด้วย เราเชื่อในศิลปะ กระบวนการที่มีศิลปะทำให้การเรียนรู้เกิดบาลานซ์ ไม่หนักสมองเกินไป เช่น ในช่วงเช้าเป็นการอภิปรายความรู้ ช่วงบ่ายเป็นการทำเวิร์คช็อปละคร เด็กๆ ก็ชอบนะ เหมือนเขาได้ลองทำในสิ่งที่ไม่ถนัดหรือไม่เคยทำมาก่อน”

พฤหัสเชื่อเรื่องความสมดุล ที่มีการลงมือปฏิบัติ ใช้ทั้งจินตนาการ ความรู้ ผลคือเด็กที่มีความถนัดแตกต่างกัน บางคนอาจไม่ชอบ บางคนชอบมาก จะมีพื้นที่ตรงกลางในการเชื่อมกัน การมีพื้นที่ตรงกลางคือการเปิดให้ทุกคนลงมาเล่นในสิ่งที่พวกเขาเป็น แล้วการแลกเปลี่ยนก็เกิดขึ้น

“ปัญหาของโรงเรียนที่ไม่สร้างกระบวนการเรียนรู้ เพราะความกลัวของครู กลัวว่าเด็กจะมีอำนาจ กลัวว่าเด็กจะซน กลัวว่าเด็กจะโดดเรียน พอกลัวมากๆ ก็ใช้เครื่องมือเชิงอำนาจมากดไว้ ทั้งเรื่องเครื่องแบบ เช็คชื่อ เพราะลึกๆ กลัวจะควบคุมไม่ได้ กลัวความวุ่นวาย แต่ถ้าเราเชื่อในตัวเด็ก เชื่อว่าเขามีคุณค่าเราก็ไม่ต้องกลัว” พฤหัสบอก

โรงเรียนในอนาคต, กิจกรรม, workshop

ในฐานะพี่เลี้ยงอีกคนที่ร่วมสร้างกระบวนการให้โรงเรียนอนาคตคึกคักและเบิกบาน ฐิตินบสะท้อนว่าบรรยากาศการเรียนรู้นี้อยู่บนฐานของเทคโนโลยี เราอาจเห็นเขาก้มหน้ากดมือถือ แต่จริงๆ คือการโน้ต บางคนโน้ตเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเกิดครูไปตัดสินว่าเด็กกำลังเล่นโทรศัพท์ ไม่สนใจเรียนจะเป็นอย่างไร

เธอรู้สึกว่า โรงเรียนอนาคตไม่ได้ท้าทายเด็กเท่านั้น แต่ท้าทายคนสอน อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เก่งๆ แทบไม่เคยถูกเตรียมให้สอนการเรียนในแบบศตวรรษที่ 21 อาจารย์เก่งๆ ที่เคยสอนมาทั้งเทอม แต่พอมาสอนในโรงเรียนอนาคต เขามีเวลาไม่กี่ชั่วโมงและต้องสร้างการแลกเปลี่ยนกับเด็กให้ได้ สิ่งนี้เป็นความท้าทายที่น่าสนใจ

และเพื่อจะบิ๊กแบงต่อไปอีกขั้น คำถามที่เบสิคที่สุดที่ฐิตินบยกมาใช้ในห้องเรียนคือ “คุณได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง” และ “คุณจะนำสิ่งนั้นกลับไปใช้ต่ออย่างไร”

แน่นอน, เป็นคำถามเบสิคที่อาจต้องครุ่นคิดไปทั้งชีวิต และคงไม่ได้มีคำตอบเดียว ไม่ว่าจะสำหรับผู้เรียนหรือผู้สอนก็ตาม

โรงเรียนในอนาคต, กิจกรรรม, workshop

–  4 –

หนึ่งใน passion ของไฟท์ นักศึกษาจากคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ที่เราคุยกันตอนต้น คือการอยากเป็นอาจารย์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความท้าทายของไฟท์ไม่ได้อยู่ที่จะเป็นอาจารย์ตามความใฝ่ฝันอย่างไร แต่เหมือนกับเธอจะครุ่นคิดลึกลงไปกว่านั้น

เธอคิดถึงเงามืดในตัวเอง เป็นความยากอย่างหนึ่งในชีวิตที่ต้องเพ่งมองจิตใจตัวเอง

“การเหยียดเป็นสิ่งที่เราเกลียดมาก แต่เราก็ทำ นี่เป็นความกลัวลึกๆ เราไม่กลัวที่จะโง่ แต่เรากลัวจะไปเหยียดหรือดูถูกคนอื่น”

ใช่หรือไม่ว่า ในวันเวลาของคนเป็นอาจารย์ ถ้าละวางการดูถูก ตัดสินพิพากษาลูกศิษย์ตัวเองได้ โลกศิวิไลซ์ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

“สังคมที่ไม่ต้องบังคับ เช่น การรับน้อง บางมหา’ลัยบอกว่าถ้าคุณไม่เข้ารับน้อง ก็จะไม่ได้เก็บหน่วยกิตกิจกรรม ทั้งที่กิจกรรมควรเป็นสิ่งที่นักศึกษาได้เลือกเอง” ไฟท์อธิบาย

สังคมโรงเรียน-มหา’ลัยแบบไหนที่คนรุ่นใหม่ต้องการ เพื่อจะได้ไม่ต้องผลักใครออกไปอยู่นอกพรมแดนของการศึกษา ไฟท์บอกว่าสังคมที่คนเคารพความต่าง รู้จักการฟัง และมีเสรีภาพในการพูด

‘พอลลีน’ เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ สาวนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ปี 4 เป็นอีกคนที่เข้ามาโรงเรียนอนาคต เธอบอกว่าก่อนหน้านี้ภาพในหัวเกี่ยวกับอนาคตตัวเองไม่ชัด

“เราเรียนจบเอก PR ประชาสัมพันธ์ และโท JR สื่อสารมวลชน มันเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างขัดกัน PR ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนมาซื้อของเรา ส่วน JR ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง”

เธอเล่าว่า กระบวนการเรียนรู้ที่นี่ได้พาให้ออกจากพื้นที่ comfort zone เช่น ตอนที่อยู่ที่คณะเราจะมองคนที่อายุน้อยกว่าเราเป็นเด็กมากเลย แต่ที่นี่ทุกคนเป็นเพื่อนกัน

“ก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่า Passion ของเรามันหายไป แต่ตอนนี้รู้สึกว่ามันกลับมาแล้ว ลืมไปแล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เราจดบันทึกการเรียนแบบตั้งใจคือเมื่อไหร่ แต่ในสองอาทิตย์นี้เราจดจนสมุดเกือบเต็ม ก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้ว่าเราเก่งอะไร ทำอะไรได้ดี ชอบบ่นกันเองกับเพื่อนว่าเราเป็นเป็ด ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งสักอย่าง แต่ตอนนี้พบว่าเราเป็ดที่ดีได้” พอลลีน อธิบายตัวเอง

ระหว่างที่พวกเขาได้เรียนการพูดในที่สาธารณะ แต่ละคนถูกให้โจทย์ว่าอะไรคือสิ่งที่อยากทำในอนาคต ให้เวลาพูด 3 นาที ห้องเรียนเล็กๆ ถูกจำลองบรรยากาศเป็นทอล์คโชว์

แน่นอน, ความฝันคนหนุ่มสาวกว้างไกล ไร้ถูกผิด เมื่อถึงคิวของ ‘ซู’ ซูรัยยา วาหะ สาวมุสลิมจาก คณะรัฐประศาสนศาสตร์และธรรมาภิบาล ม.ชินวัตร ปี 2 บอกว่าสิ่งที่เธออยากทำคือ “สร้างสันติภาพ”

จากเด็กสาวเติบโตในเมืองยะลา และไปเรียนที่มาเลเซียในช่วงมัธยมปลาย ก่อนจะกลับมาเรียนต่อในไทย

ไม่มีเหตุผลที่ซับซ้อน คนที่เกิดมาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นและอยู่กับความรุนแรงในระดับที่พรากชีวิตคนไปหลายพันคนในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ย่อมอยากเห็นความสงบ

ซูเองก็ด้วย ถ้าความสงบคือเส้นทางของสันติภาพ ซูประกาศแล้วว่าเลือกอยู่ในเส้นทางนี้

“เราได้ไปงานเสวนาสันติภาพที่ฟิลิปปินส์ มีโอกาสได้ฟังความเห็นคนที่อยู่ในความขัดแย้ง พอกลับมาเราก็ไปลงพื้นที่ในปัตตานี ได้ฟังเรื่องราวจากคนในพื้นที่ ทำให้รู้ว่ามีหลายๆ คนที่ต้องขึ้นมาเรียนหรือมาโตในกรุงเทพฯ ถ้ามีโอกาสพวกเขาก็อยากกลับบ้าน แต่เขากลับไม่ได้ เพราะจะโดนมองเป็นผู้ต้องสงสัย มันเป็นความอึดอัดของคนรุ่นเรามาก”

เมื่อมองไปที่ความหวังของการศึกษา ที่จะช่วยปูทางไปสู่สันติภาพแบบที่ซูต้องการ เธอมองว่าการศึกษาเวลานี้ไม่ได้ปลูกฝังเรื่องนี้เลย ในทางกลับกันยังเห็นว่ายิ่งห่างไกลด้วยซ้ำ

“แม้ว่านักศึกษาไม่น้อยที่พยายามทำกิจกรรมสันติวิธีอยู่ แต่ก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เมื่อเทียบกับนักศึกษาทั้งประเทศ เราพยายามหาแนวทางร่วมกันว่าจะเชื่อมอย่างไร ที่ทำได้คือพยายามสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยของกันและกัน”

นี่อาจเป็นสิ่งแรกที่เธอรู้สึกกับโรงเรียนอนาคต เธอเห็นบรรยากาศของความหลากหลายและการแลกเปลี่ยนทางความคิดกัน แม้ว่าเธอจะยอมรับว่าวิถีชีวิตมุสลิมที่เธออยู่นั้น จะไม่ค่อยได้เห็นความหลากหลายมากขนาดนี้ และนี่เป็นครั้งแรกที่เธอเจอเพื่อนๆ ที่ต่างออกไป

ในโรงเรียนอนาคต นอกจากคนหนุ่มสาวระดับอุดมศึกษาแล้ว ยังมีนักเรียนชั้น ม.6 เข้าร่วมด้วย และ ‘อาร์ท’ จิรเมธ คิญชกวัฒน์ จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นหนึ่งในนั้น

เขาบอกว่ารู้ตัวตั้งแต่ ม.ต้นว่าอยากเรียนสายวิทยาศาสตร์ แต่การที่เขาได้เจออาจารย์สายสังคมศาสตร์ที่ดี ทำให้เขาเห็นว่า ทุกครั้งที่ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ เขาจะคิดถึงผลลัพธ์ของมันว่าทำไปเพื่ออะไรและเพื่อใคร

“การเรียนวิทยาศาสตร์อาจทำให้เราไม่ได้มองจากมุมมองที่คนอื่นมอง นี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ผมมาโรงเรียนอนาคต ถ้าเราเข้าใจในหลายสาขาวิชามากขึ้น เราก็จะมองโลกได้กว้างขึ้น มันทำให้เราคุยกับคนอื่นง่ายขึ้น เพราะรู้เรื่องอะไรที่ลงลึกด้านเดียว เราจะไม่เข้าใจว่าสังคมมันทำงานยังไง”

อาร์ทเพิ่งจบ ม.6 หมาดใหม่ เขากำลังจะไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์และระบบประสาท ที่ประเทศเกาหลีใต้ เขายอมรับว่าความสนใจของเขาเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อมมาถึงการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ซูเล่า

“ผมอาจไม่ได้ช่วยอะไรกับนักเคลื่อนมาก แต่อย่างน้อยผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมสนใจคือคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ผมอยากเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือโรคระบาดที่ลดน้อยลง ผมอยากเห็นคนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคในราคาถูก”

อาร์ทกำลังพ้นจากวัยนักเรียนไปสู่โลกใบใหม่ อะไรคือโรงเรียนแบบที่อาร์ทอยากเห็น สังคมแบบไหนที่จะสร้างโรงเรียนในอุดมคติออกมาได้

“สังคมที่แอคทีฟในการเรียนรู้ สังคมที่ไม่บังคับให้เด็กต้องมีคำตอบเดียวโดยเฉพาะการวัดผลสอบ ผมคิดว่าสังคมแบบนี้จะทำให้เกิดโรงเรียนที่สอนเด็กให้เข้าใจชีวิต”

–  5 –

ครั้งแรกของโรงเรียนอนาคต ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ก็เพิ่งจะรดน้ำพรวนดิน ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการเพาะปลูก เห็นว่านอกจากเรื่อง passion ที่เป็นหัวใจของคนหนุ่มสาวแล้ว มิตรภาพระหว่างกันก็นับว่าสำคัญสำหรับกระบวนการเรียนรู้ตลอดสองอาทิตย์

“มิตรภาพเป็นสิ่งที่ไม่มีในระบบการศึกษาแบบเก่าที่เต็มไปด้วยระบบโซตัส เพราะฉะนั้นผมก็ต้องมาคลุกคลีอยู่กับเด็กๆ เราบอกวิทยากรทุกคนที่มาว่าให้มาทำกระบวนการแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่การมานั่งบรรยาย เน้นการถามตอบเป็นหลัก กระบวนการแบบนี้ไม่ได้เปลี่ยนแค่ตัวเด็ก แต่มันเปลี่ยนตัวเราเองด้วย”

โรงเรียนในอนาคต, กิจกรรรม, workshop

ประจักษ์บอกว่าคนรุ่นเขายิ่งแก่ตัวไป ยิ่งติดกับดักของโลกเก่า เราอยู่ในโลกเก่าที่ตีกรอบวิธีคิดไว้หมดแล้ว ข้อดีของคนรุ่นใหม่คือพวกเขาอยู่ในโลกใหม่โดยสิ้นเชิง มีวิธีคิดวิธีมองโลกอีกแบบ เหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

“คนเป็นครูจะอธิบายหรือจะจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่อย่างไร ในโลกสมัยใหม่ที่การเรียนรู้ไม่ใช่แบบ top down แม้ว่าคุณจะรู้ทุกอย่างหรือเก่งที่สุดในวงการของตัวเอง สุดท้ายคุณจะโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นอย่างไรว่าเรื่องของคุณมันสำคัญ”

เมื่อนักรัฐศาสตร์หนุ่มที่หันมาจุดประกายการศึกษาที่สร้างมิตรภาพและปลุกแรงปรารถนาในคนหนุ่มสาว เฝ้ารอวันเวลาที่เมล็ดพันธุ์เบ่งบาน อะไรคือสิ่งที่เขาอยากเห็นกับโรงเรียนอนาคตในฤดูกาลหน้า

โรงเรียนในอนาคต, กิจกรรรม, workshop

“เราเริ่มจากโจทย์ว่าพวกเขาอยากเห็นสังคมแบบไหน เป็นการเปิดขอบฟ้าของความเป็นไปได้ คนรุ่นผมเวลาออกความเห็นมักจะชี้ถึงข้อจำกัด แต่เสน่ห์ของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เริ่มจากข้อจำกัด พวกเขามีความคิดว่า everything is possible ขอบฟ้าเขากว้างกว่าเรา โรงเรียนอนาคตก็อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาร่วมสร้างมันเอง”

ถ้ามองเห็นร่วมกันว่าโลกใหม่ของโรงเรียนและการศึกษาไม่ใช่ที่คุมขังความฝัน และหลายครั้งที่เรายอมกักขังตัวเองไว้กับอดีตมานานเกินไป

เมื่อไหร่ที่ประตูถูกเปิดออก เราจะกลับไปอยู่ในอนาคต

…………………………………………………….

หมายเหตุ: “โรงเรียนอนาคต” – ประสบการณ์เรียนรู้แนวใหม่ เพื่อร่วมปลูกอนาคตสังคมไทย เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด, ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รู้จักโรงเรียนอนาคตให้มากขึ้นได้ ที่นี่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save