fbpx
คุยกับ ภาสกร อินทุมาร ว่าด้วยการละคอน วิพากษ์ละครเวทีร่วมสมัย และละครโทรทัศน์ไทย คนทำงานศิลปะอยู่อย่างไรในบ้านเมืองนี้

คุยกับ ภาสกร อินทุมาร ว่าด้วยการละคอน วิพากษ์ละครเวทีร่วมสมัย และละครโทรทัศน์ไทย คนทำงานศิลปะอยู่อย่างไรในบ้านเมืองนี้

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองตลอดทศวรรษกว่าที่ผ่านมา ศิลปินแสดงออกทางการเมืองผ่านงานศิลปะที่หลากหลาย  ‘ละครเวที’ มิเพียงมิใช่ข้อยกเว้น หากเป็นช่องทางการแสดงออกที่โดดเด่นเสียด้วยซ้ำ

ผลงานของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร, B-Floor Theatre, อนัตตา ฯลฯ สะท้อนมุมมองต่อสังคมและการเมืองไทยอย่างมีชั้นเชิงและแหลมคมผ่านการแสดงอันยอดเยี่ยม เรียกได้ว่าวิกฤตการเมืองขับเน้นให้สังคมประจักษ์ถึงฝีไม้ลายมือของนักละครไทย และมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้วงการละครเวทีคึกคักขึ้นมา

101 ชวน ดร.ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อยู่ในแวดวงละครเวทีมานับสิบปีมาคุยเรื่องแวดวงละครเวทีของไทย และตั้งคำถามว่าละครทำหน้าที่อะไรต่อสังคมได้บ้าง

เขาทำงานในเชิงเคลื่อนไหวหลายรูปแบบ ทั้งทำละครกับกลุ่มเด็กผู้ที่มีเชื้อ HIV, ทำละคร (บน) เวทีพิพิธภัณฑ์ ช่วยพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องผ่านการแสดง, เป็น Content Producer รายการ ก(ล)างเมือง สารคดีว่าด้วยเรื่องเมืองและผู้คนของ Thai PBS, ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวของการละครร่วมสมัยของไทย, เขียนบทความเชิงวิพากษ์ละครในนิตยสารหลายฉบับ, ไม่นานมานี้เพิ่งกำกับการแสดงละครเวทีที่คัดมาเฉพาะตอน เรื่อง Desire Under the Elms บทละครของยูจีน โอนีล (Eugene O’Neil) และล่าสุดกำลังหาพื้นที่ใหม่ๆ ของวงการศิลปะร่วมกับพระจันทร์เสี้ยวการละคร และ Documentary Club ไว้สำหรับเล่นละคร ฉายภาพยนตร์ จัดนิทรรศการทัศนศิลป์ หรือแม้แต่สร้างพื้นที่ทางวรรณกรรม

เขาบอกว่าทุกอย่างที่เขาทำและสนใจมีจุดร่วมเดียวกัน คือการต่อสู่กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม จะบอกว่าใช้ละครเพื่อต่อสู้ ก็ไม่ใช่หรอก ฟังดูบู๊ไปหน่อย แต่ส่วนมากมักจะเกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมและเรื่องของคนชายขอบ

การประสาน ‘ศิลปะ’ กับ ‘การเมือง’ ให้กลมกลืนและสื่อความหมายเป็นสิ่งน่าสนใจใน พ.ศ.นี้ ในยุคที่ไม่สามารถพูดอะไรออกไปตรงๆ บทสนทนาต่อไปนี้จึงว่าด้วยเรื่องของศิลปะกับการเมือง และพลังของละครที่เราอาจยังมองไม่เห็น

ภาสกร อินทุมาร

มีวิธีสะท้อนประเด็นทางสังคมการเมืองผ่านละครยังไง

การใช้เครื่องมือทางการละครให้คนตั้งคำถามกับโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม หรือให้ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง มีมานานมากแล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก เรียกว่าเป็นการละครของผู้ถูกกดขี่ เราจะไม่เห็นลักษณะนี้ในละครบ้านเรามากนัก เต็มที่ก็คือทำละครประเด็นชุมชน

ผมสนใจการเล่าเรื่องที่นำไปสู่การตั้งคำถาม เพื่อคิดต่อ ผมเคยทำงานเอ็นจีโอมาก่อน อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่สิ่งที่ผมสนใจคือการทำละคร จะบอกว่าใช้ละครเพื่อต่อสู้ ก็ไม่ใช่หรอก ฟังดูบู๊ไปหน่อย แต่ส่วนมากมักจะเกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมและเรื่องของคนชายขอบ

ผมทำงานศิลปะและการละครกับผู้ติดเชื้อ HIV เคยทำงานในประเด็นป้อมมหากาฬ เรื่องการถูกไล่รื้อ หรือแม้แต่ในประเด็นเรื่องเพศสภาพก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ส่วนใหญ่งานผมจะสนใจในเรื่องการต่อสู้ทางวาทกรรม เรื่องวิธีคิดของคนในสังคม ไม่ได้เข้าไปต่อสู้ในทางกฎหมาย แต่ข้อจำกัดของละครคือสเกลมันเล็ก เลยทำได้ทีละเล็กๆ

ละครทำหน้าที่ยังไงบ้าง

ผมเล่าเรื่องของต่างประเทศก่อนแล้วกัน เดี๋ยวจะเล่าเรื่องของไทยต่อไป

ตัวอย่างเช่น ละครเรื่อง The Vagina Monologues ของนักละครชื่อ Eve Ensler เธอเคยถูกกระทำความรุนแรงมาก่อนในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ เลยใช้กระบวนการสัมภาษณ์ผู้หญิง 200 กว่าคน ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ สถานะทางสังคม การศึกษา ในประเด็นเรื่องอวัยวะเพศและความรุนแรงทางเพศ แล้วเอาข้อมูลจากการสัมภาษณ์ 200 กว่าคน มาเรียบเรียงเป็นบทละคร โดยทำเป็น Monologues หรือ บทละครพูดเดี่ยว เพื่อเล่าเรื่องความรุนแรงที่ผู้หญิงได้รับ

เธอตระเวนเล่นทั่วอเมริกาและในอีกหลายๆ ประเทศ จนในที่สุดเกิด V-Day ขึ้น เป็นวันต่อต้านความรุนแรงในผู้หญิง นี่คือบทบาทที่ละครทำได้ แต่ถ้าละครตั้งรับอยู่กับที่ก็อาจไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก ต้องพาไปสู่ public space ถึงจะสร้าง movement ขึ้นมาได้

ในไทยผมกับพรรคพวกที่ทำงานด้านเอดส์ ชื่อกลุ่ม เราเข้าใจ ทำละครว่าด้วยเรื่องเด็กที่มีเชื้อ HIV เพราะเขาจะมีภาวะถูกกดทับ ถูกเลือกปฏิบัติ เลยอยากหาเครื่องมือว่าทำอย่างไรจะเข้าใจสภาวะของเด็กได้ เราก็ใช้เรื่องเล่าที่มาจากตัวเด็ก เอาข้อมูลที่เด็กเล่าผ่านภาพวาด บทกวี หรือการตอบคำถาม มาประมวลเป็นสิ่งที่เด็กอยากจะพูดเกี่ยวกับตัวเอง กลายเป็นเรื่อง ความสุข ความทุกข์ ความหวังของเขา แล้วให้เด็กเล่นเอง ตระเวนเล่นไปตามภูมิภาคต่างๆ ด้วย ถือว่าประสบความสำเร็จนะ อยู่ในพื้นที่สื่อเยอะมาก ถูกพูดถึงเยอะ

เป้าหมายของเราก็คือต้องการให้สังคมเห็นว่าเด็กที่มีเชื้อ HIV ก็เป็นเด็กคนหนึ่ง ไม่ได้ต่างจากเด็กทั่วไป ในสังคมมีมายาคติว่าเด็กเหล่านี้ไม่ต้องไปเรียนหนังสือมากหรอก เดี๋ยวก็ป่วย เดี๋ยวก็ตาย เราต้องการให้คนเห็นร่างกายที่แข็งแรงของเด็ก เห็นการเคลื่อนไหวร่างกายกึ่งๆ กายกรรมอยู่ในนั้นด้วย ส่วนเรื่องเล่าก็ให้เห็นว่าเขาเหมือนเด็กทั่วไป มีความสุข ความทุกข์ ความหวัง

พอใจกับผลลัพธ์ที่ออกมาแค่ไหน

ผมก็พอใจนะ เอาเข้าจริงมันไม่ใช่แค่สื่อสารกับสังคม มัน empower เด็กด้วย ถ้าจะตอบคำถามก็คือว่า เป็นการใช้กระบวนการทางละคร แบบที่ไม่ใช่นักละครคิดให้เองแล้วแค่เล่าประเด็นเขา มีคอนเซ็ปต์ในเชิงเฟมินิสม์ ว่า Speak for other ไม่โอเค ไม่ควรจะเป็นเราที่ไปพูดแทน เพราะแสดงให้เห็นว่าอำนาจในการส่งเสียงอยู่ที่เรา ไม่ใช่เขา  แล้วการที่จะให้เขา voice ตัวเอง ก็อาจจะยังไม่ง่ายนักในสังคมนี้ แต่เราก็ทำงานในเชิงกระบวนการให้เขาได้ส่งเสียงออกมา

อย่างกรณีเด็กเขาจะพูดตลอดว่า ยิ่งพอเขาได้ไปเล่นละคร มีคนให้ความสนใจ ผู้คนปรบมือ ชื่นชมเขา ก็เป็นการ empower เขาด้วย ผมเคยเอาเปเปอร์เรื่องนี้ไปเสนอต่างประเทศ ผมใช้คำว่า Redefining Self คือการนิยามตัวเองใหม่ พูดถึงการใช้เครื่องมือทางศิลปะ โดยเฉพาะละคร กรณีงานนี้เลย นำไปสู่การที่เด็กนิยามตัวเขาขึ้นมาใหม่ จากการที่ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกดทับ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีอนาคต จนตอนนี้เขาก็มีชีวิตเติบโตเป็นของตัวเองเหมือนคนทั่วไป อาจจะไม่ได้มีชีวิตดีงามทุกคน แต่ว่าก็เป็นไปตามบริบทของเขา ก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม

ที่ผ่านมาเป็นประเด็นย่อยๆ แล้วถ้าเป็นประเด็นในเรื่องโครงสร้างใหญ่ของสังคม เช่น เรื่องการเมือง ละครทำอะไรได้บ้าง

ผมอยากจะให้เป็นอย่างนั้นนะ ในบางประเทศทำได้ เช่นละครของนักละครชาวออสเตรเลีย ที่ทำเรื่อง Identity politics การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ของคนอะบอริจิ้น จนในที่สุดแล้วมันก็เกิดการ dialogue กัน ยกประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้หายไป นำกลับมาในบริบทปัจจุบัน ทำให้คนขาวย้อนกลับมามองว่าเคยทำอะไรกับอะบอริจิ้นบ้าง รวมทั้งให้คนอะบอริจิ้นเองมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมออสเตรเลีย

หรือในฟิลิปปินส์ ที่ขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส มีเครือข่ายละครเพื่อประชาชนอยู่ทั่วไปหมด ตอนนั้นสื่อทุกอย่างถูกปิดหมด สิ่งเดียวที่เคลื่อนไหวได้ก็คือละคร กลุ่มละคร 200-300 กลุ่มรวมตัวกันก่อตั้งเครือข่ายละครประชาชนแห่งฟิลิปปินส์ เอาละครไปเล่นในชุมชน กระจายตัวแบบจรยุทธ์เลย ถึงแม้รัฐบาลจะตรวจบทละครก่อน แต่พอถึงโมเมนต์ที่เล่นจริงก็ไม่เล่นตามนั้น เขาแสดงสภาวะที่ถูกกดขี่ เห็นการคอร์รัปชันของมาร์กอส เพื่อปลุกเร้าให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้ นี่คือฟังก์ชั่นของละคร ทำหน้าที่แทนเครื่องมืออื่นที่ทำไม่ได้ ไปสร้างการเรียนรู้ กระตุ้นประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ จนในที่สุดก็ขับไล่มาร์กอสสำเร็จ

แต่เราก็ไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นเพราะละครทั้งหมด เพราะมีขบวนการเคลื่อนไหวที่ใหญ่มากในประเทศ แต่ข้อแข็งของละครก็คือมัน visualized ได้ ทำนามธรรมให้ปรากฏออกมาเป็นเรื่อง เป็นการกระทำ แล้วเล่นกับความรู้สึกคนได้ ผู้ชมเห็นเหตุการณ์อยู่ตรงหน้า ได้รับประสบการณ์ตรง แม้ว่าจะเป็นตัวละครก็ตามแต่ ผมไม่รู้หรอกว่าส่งผลในเชิงกฎหมายยังไงบ้าง แต่แน่นอนว่าส่งผลในการจัดปรับโครงสร้างอำนาจบางอย่างในทางสังคม ซึ่งก็เข้าใจว่าคงเกี่ยวข้องกับกฎหมายและนโยบายต่อไปด้วย เพียงแต่ว่าถ้าโดยละครเดี่ยวๆ ไม่ได้มีอำนาจมากที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ขนาดนั้น อยู่ที่บริบท และสิ่งที่ละครพาตัวเองเข้าไปอยู่ด้วย

แล้วมองย้อนกลับมาที่ไทย ดูเหมือนว่าตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 จะมีกลุ่มละครเวทีที่ทำเรื่องการเมืองมากขึ้น?

ผมว่าปี 2559 ชัดเจนกว่า ครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา 2519 ก่อนหน้านี้ จะมีกลุ่มที่ทำละครการเมืองอยู่ 2 กลุ่มที่ชัดเจน หนึ่งคือ B-Floor เป็น physical theatre เล่นประเด็นการเมืองแต่เป็นเชิงสัญลักษณ์ เป็นการใช้ร่างกาย อาจจะไม่ปะทะคนแรงมาก สอง คือพระจันทร์เสี้ยว แต่ก็ไม่ใช่การเมืองในเชิงโครงสร้างของรัฐ ไม่ได้ไปแตะรัฐ สนใจในประเด็นเรื่องอำนาจ ความเป็นชายขอบ เรื่องความเป็นผู้หญิง

แต่ในช่วง 40 ปี 6 ตุลา ทำกันเยอะและชัดเจน B-Floor ก็ทำเรื่อง Fundamental ส่วนพระจันทร์เสี้ยวเอาเรื่องของนักเขียนชาวชิลีมาทำ ว่าด้วยเหตุการณ์ช่วงที่นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ทำรัฐประหาร แล้วอยู่ในอำนาจนานสิบกว่าปี มีการใช้กำลัง การฆ่าผู้ที่ต่อต้าน ข่มขืนผู้หญิง เราไม่ได้เอามาทั้งบท เล่าตัดสลับไปมา แล้วเสียบบริบทแบบไทยเข้าไป เหมือนว่าเราเป็นนักละครแล้วมาซ้อมละครเรื่องนี้ ระหว่างพักซ้อมเราก็มานั่งคุยกันว่า ตอนนั้น 6 ตุลา 2519 อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ เกิดหรือยัง แล้วก็สลับไปเล่นเรื่องของชิลี ชื่อเรื่อง รื้อ ผมก็เล่นด้วย หยิบยืมเรื่องของชิลีมาเล่าเรื่อง 6 ตุลา

กลุ่มละครอนัตตาทำเรื่อง ที่ไม่มีที่ ว่าด้วยเรื่องคนตายสองคน ที่ลูกตัวเองตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา คนหนึ่งเป็นตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ ส่วนลูกตัวเองเป็นนักกิจกรรมที่เข้าไปเคลื่อนไหว

ละครเวทีเรื่อง รื้อ - พระจันทร์เสี้ยวการละคร สินีนาฏ เกษประไพ กำกับการแสดง
ละครเวทีเรื่อง รื้อ – พระจันทร์เสี้ยวการละคร
สินีนาฏ เกษประไพ กำกับการแสดง
ภาพถ่ายโดย จีรณัทย์ เจียรกุล
Posted by Crescent Moon
ที่มา : http://crescentmoonspace.blogspot.com/2016/

แล้วในไทยละครสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดไหน

ถ้าเทียบกับตัวอย่างในต่างประเทศที่เล่ามา ผมยังไม่เห็นว่าละครที่ position ตัวเองว่าทำเรื่องการเมืองจะเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทย เหตุผลเพราะ หนึ่ง สเกลเล็กมาก audience เล็กมาก เกิดขึ้นกับกลุ่มละครขนาดเล็กๆ ที่มีคนดูรอบละ 30-40 คน ปริมาณรอบเล่นก็น้อย

สอง ละครที่พูดถึงประเด็นทางการเมือง เช่น 6 ตุลาฯ เป็นการสะท้อนภาพว่าเกิดอะไรขึ้น เกี่ยวเนื่องกับการครบรอบ 40 ปี แต่ว่าถ้าไม่ใช่กรณีนี้ ก็มีละครในเชิงนี้น้อย  B-Floor ก็ทำเหมือนกัน นานๆ หน เช่น มโนแลนด์ ก็เสียดสี แต่กลุ่มคนดูเฉพาะมาก

มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมละครเวทีในสังคมไทยด้วย ส่วนมากคนที่ดูละครเป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มคนที่มีการศึกษา กลุ่มคนที่พร้อมจะ appreciate ละครในรูปแบบนั้นๆ อยู่แล้ว เช่นละครของ B-Floor ซึ่งเป็น physical จริงๆ คนก็เข้าใจไม่ยากนักหรอก แต่คนจะ อ๋อ รู้แล้วว่าพูดถึงอะไร อันนี้เป็นสัญลักษณ์ของอะไร สะใจดีว่ะ จบ ก็ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

หรือแม้แต่ละครเด็กที่มีเชื้อ HIV ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกบุคคล แต่ยังไม่มากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ที่ปัจเจกบุคคลเหล่านี้จะกลายเป็นมวลชนขนาดใหญ่แล้วนำไปสู่การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เพราะคนดูละครมีไม่กี่คน

ละครจึงไม่ได้ไปเพิ่ม ไม่ได้ไป push ให้เราทำอะไรต่อ ละครกลุ่มละครเล็กๆ ย่อยๆ จึงไม่ส่งผลในเชิงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงระบบ หรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ เช่น พระจันทร์เสี้ยวทำละครในประเด็นผู้หญิง คนเข้าใจไหม เข้าใจ แต่ว่าการที่คนจะลุกขึ้นมาหลังจากดูละครแล้วจะไปทำอะไรต่อ ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย

ผมไม่รู้หรอกว่าคนทำละครมีเจตจำนงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนั้นหรือเปล่า ถ้ามีก็เบาบางมาก เพราะมันก็แค่ทำหน้าที่สะท้อนอะไรบางอย่างออกมาให้เห็น แล้วคนที่อ่านเห็น ก็เข้าใจ สนุกกับการอ่านความหมาย คนดูก็เป็นแฟนคลับกันแล้ว กลุ่มเดิมๆ นั่นแหละ คือวัฒนธรรมการดูละครบ้านเราต่างจากตะวันตก รากเหง้าการไปดูละครเวทีของเขาเป็นสภาวะปรกติ เขาไปดูละครกันตั้งแต่มัธยม อยู่โรงเรียนก็อ่านบทละคร เล่นละคร มีความเข้าใจละคร ดูละครเวทีเป็นปรกติ แต่ของเราไม่ปรกติ

ภาพการแสดงจากละครเรื่อง Fundamental ของกลุ่ม B-Floor Theatre
ภาพการแสดงจากละครเรื่อง Fundamental ของกลุ่ม B-Floor Theatre
กำกับการแสดงโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล

ละครต่างจากลิเก-หมอลำยังไง

อันนั้นเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ ไม่เหมือนกัน ดูในฐานะที่เป็นความบันเทิง ดูกันมาตลอดอยู่แล้ว ส่วนละครในเชิงสร้างการเรียนรู้ก็มีมาตั้งแต่อดีต มีความเป็นการเมือง คำว่า ‘การเมือง’ สำหรับผม คือเป็นเรื่องอำนาจทั้งหมด คือการผลิตซ้ำเรื่องอำนาจนำ เช่น ช่วงที่ผ่านมามี สี่แผ่นดิน การเมืองสุดๆ เป็นการผลิตซ้ำระบบคุณค่า อำนาจนำ ตอกย้ำ ยืนยัน ปักหมุด เป็นการเมืองตั้งแต่วรรณกรรมแล้ว เราก็รู้อยู่ว่ามันคืออะไร

กลายเป็นว่าสี่แผ่นดินเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า เป็นเสียงที่ดังกว่า

ใช่ เพราะสเกลใหญ่ แล้วเขามีสื่อในมือ คนที่ไปดูคือคนที่เชื่อ ที่คิดแบบนั้นอยู่แล้ว คนที่ไม่ได้คิดแบบนั้นก็ไม่อยากไปดูหรอก ละครมีความเป็นพิธีกรรมอยู่แล้ว โรงละครก็เหมือนสถานประกอบพิธีกรรม คนหมู่มากไปรับความรู้สึกชุดเดียวกัน ร้องไห้ในเรื่องเดียวกัน ปลาบปลื้มซาบซึ้งตื้นตั้นในเรื่องเดียวกัน กลายเป็นการผนึกแน่นลงไปอีกว่าสิ่งที่ละครพูดเป็นความถูกต้องดีงาม แล้วในที่สุดเมื่อมองในภาพใหญ่ก็กลายเป็นการตอกย้ำผลิตซ้ำอำนาจนำให้ดำรงอยู่ในสังคม แล้วคนที่ไปดูก็เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งมีพลังมากอยู่

แล้วละครสเกลใหญ่ๆ ก็สอดรับกับ perception เดิมของคนไทยที่เห็นละครเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ โดยเฉพาะรัชดาลัยเขาเป็นดาราค่ายแกรมมี่ อย่างน้อยคนได้ดูได้ฟังเพลง ได้เห็นอะไรฟู่ๆ ฟ่าๆ สื่อในมือเขาเยอะ โปรโมตให้เป็นกระแสขึ้นมาได้ คนไปดูก็เป็นชนชั้นกลางที่เสพความบันเทิง และมีกำลังทรัพย์ เขาอาจจะไม่ได้มีฐานการดูละครมาก่อน แต่ถูกทำให้เห็นว่าการไปดูละครแบบนี้ดูมีรสนิยม ได้คุยกับเพื่อนฝูงว่าไปดูมาแล้ว ได้คุยถึงสิ่งที่เป็นกระแสอยู่ในทีวีตอนนี้ว่าคุณต้องไปดูนะ ดีงามอย่างนี้อย่างนั้น แล้วคุณก็เอนจอยกับการได้เห็นนักแสดงที่คุณชอบปรากฏตัวตรงหน้า แม้ว่าคุณจะนั่งอยู่แถวหลังสุดก็ตาม

ผมว่าเป็นเทรนด์บางอย่างที่เขาไม่ได้ไป appreciate ความเป็นละครจริงๆ แล้วความเป็น musical สำหรับผมเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์เต็มรูปแบบ กระทั่งละครของต่างประเทศเอง เช่น มิสไซ่ง่อน หรือ Les Miserables แม้ว่าจะมีประเด็นทางสังคม แต่สำหรับผมก็ยังคงเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์อยู่ เพราะมีความบันเทิงที่มากับดนตรี เพลง มูฟเม้นต์ ไฟ ฉาก

หมายความว่าละครเวทีเล็กๆ ที่ทำกันไม่เอนเตอร์เทนคนเหรอ

ไม่เอนเตอร์เทน มีบ้างที่เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ พวกละครแนวคอมเมดี้ทั้งหลาย แต่ด้วยความเป็นสเกลแบบนี้ ผมไม่รู้ว่า perception จริงๆ คนมองยังไง ผมคิดว่าคนไม่รู้จักและไม่คุ้นเคยมากกว่า คนคุ้นกับทีวีและหนังมากกว่า เราก็รู้อยู่ว่าเป็นประมาณไหน ตัวบท ตัวเรื่อง พล็อตกระแสหลัก พล็อตเริ่มแบบนี้ต่อด้วยแบบนี้ มีคอนฟลิกท์ สลับซับซ้อน มีไคล์แมกซ์ ทุกอย่างจบลงด้วยความราบรื่น โลกนี้กลับสู่สภาพปรกติ ทุกคนก็เอนจอย

ขนบการละครการแสดงในบ้านเราไม่ได้เป็นขนบแบบสมจริงอยู่แล้ว เช่น ลิเก งิ้ว เราจึงเอนจอยความไม่สมจริงในการแสดงได้ง่ายมาก ละครเวทีสเกลเล็กๆ แม้ว่าจะเป็นคอมเมดี้ บางทียังมีประเด็นอะไรบางอย่าง ไม่ได้บันเทิงมากๆ แบบทีวี ผมอาจจะวิเคราะห์ไม่ขาดหรอกในแง่นี้ เอาเข้าจริงนะ เรายังไม่สามารถทำให้คนในสังคมทำความรู้จักละครเวทีได้มากพอ คนถึงยังไม่ได้มาดู

แล้วเรายังไม่สามารถขยายฐานการทำความรู้จัก เราไม่สามารถโปรโมตผ่านสื่อสารมวลชนได้ เพราะเราไม่ได้มีเงิน เราก็โปรโมตผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็แชร์กันไปตามเครือข่ายที่คุ้นเคย วงก็ไม่ได้ขยายออก ไม่ได้เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะผ่านสื่อมวลชนอันนี้ก็วิเคราะห์ลำบาก เพราะคนก็บอกว่าสื่อกระแสหลักไม่ฟังก์ชั่นแล้ว โซเชียลมีเดียต่างหากที่ฟังก์ชั่น ซึ่งฟังก์ชั่นแค่ไหนเราก็ไม่แน่ใจ

แล้วเราจะทำยังไงให้ละครเข้าไปสู่คนหมู่มากได้

เรื่องโครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญมาก หนึ่ง ในเบื้องต้นต้องสร้างวัฒนธรรมการดูละครให้แพร่หลาย ในภาษาทางวิชาการต้องทำ audience development คือทำให้คนรู้จักที่จะ appreciate กับละครเวทีก่อน ซึ่งในต่างประเทศทำอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่เด็ก บ้านเราไม่มี เด็กไม่รู้จักละครเวที อยู่มหาวิทยาลัยแล้วยังไม่รู้จักเลยก็มี เพราะเราไม่ได้สร้างวัฒนธรรมให้คนมาโรงละคร ในฐานะที่ไม่ได้เป็นแค่เอนเตอร์เทนเมนต์ด้วย

สอง ควรมีโรงละครที่เราสามารถเข้าไปใช้ได้โดยไม่ต้องแพงมาก มีพื้นที่ทำเวิร์คช็อป สร้างการเรียนรู้ มีการสนับสนุนจากรัฐ บ้านเราก็มีสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่ผมว่าก็ยังไม่มากพอ แล้วก็คิดว่ามีการเมืองของมันอยู่ งานซัพพอร์ตส่วนใหญ่อยู่ตรงไหน เราก็คงพอจะเห็น ละครไม่ค่อยถูกมองเห็น

ผมคิดว่าทั้งหมดทั้งมวลต้องทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานก่อน ไม่อย่างนั้นการกระจายตัวของละครจะไม่เกิด แล้วทั้งหมดทั้งมวลคือเรื่องนโยบาย นโยบายก็มีข้อจำกัดอีก คนที่อยู่ในโลกนโยบายก็ไม่รู้จักละคร นักวิชาการละครก็ต้องช่วยกันขับเคลื่อน เข้าไปสู่โรงเรียน เข้าถึงเด็ก สร้างฐานผู้ชมหน้าใหม่ รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณและพื้นที่ นอกจากนั้น ชุมชนระหว่างประเทศก็ต้องเกิด ผมคิดว่า ทุกวันนี้ นักละครทำกันเองอยู่ คือสร้างคอนเน็กชั่นกับศิลปินต่างชาติ

กลายเป็นว่าต้องช่วยเหลือกันเอง

ใช่ ที่สำคัญมากคือการสร้าง perception ใหม่เกี่ยวกับการละครในประเทศเรา ละครสำหรับประเทศไทยยังมีความหมายว่าเอนเตอร์เทนเมนต์อยู่ เช่น คนที่มาเรียนละครก็จะถูกตั้งคำถามว่า เรียนอะไรวะ เป็นดาราเหรอ คนรู้สึกว่าเล่นละครเพราะอยากเข้าวงการบันเทิง พื้นที่ของนักละครอยู่ตรงไหน ไม่มีพื้นที่ทางสังคม

ไทยมีการละครมานานแล้ว โขน หนังตะลุง หุ่นกระบอก แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์มากกว่า หรือไม่ก็เป็นเครื่องมือทางการเมืองบางอย่างของรัฐ ของผู้ปกครอง ดังนั้น perception เกี่ยวกับเรื่องละครยังเป็นแบบนี้อยู่ ยิ่งมันมีคู่แข่งที่เป็นทีวีและหนัง เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์เต็มรูปแบบ ยิ่งทำความเข้าใจกันยากไปใหญ่ ว่ามีละครที่เอาไปใช้ในการเรียนรู้เรื่องทางสังคมด้วยเหรอ

perception ของเด็กที่เข้ามาเรียนในด้านการละครก็มีอยู่เช่นนั้น เพราะเขาก็อยู่ในสังคมนี้มา เขาอาจจะไม่ได้อยากเข้าวงการบันเทิง แต่อยากจะทำละคร ชอบการแสดง แต่ก็ไม่ได้รู้จักละครในลักษณะนี้มาก่อน เราต้องทำให้เขารู้จัก เมื่อมาเรียนกับเรา ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่เราทำอยู่

การเป็นอาจารย์ด้านการละครในยุคนี้เป็นอย่างไร

ผมว่าโอเคเลยนะ เราอาจจะเคยได้ยินอาจารย์มหาวิทยาลัยบ่นว่าเด็กไม่สนใจ คือแบบนี้ก็เจอบ้างแหละ เอาจริงๆ ก็เป็นมาทุกยุค ผมคิดถึงสมัยที่ตัวเองเรียนมหาวิทยาลัย บางทีก็ไม่เข้าเรียนเลย แต่ในที่สุดเราก็มาเป็นอาจารย์

สาขาการละคอนเป็นสาขาที่เล็กมาก รับปีละ 35 คน จึงค่อนข้างใกล้ชิดกัน ผมชอบสอนเด็กปริญญาตรี เพราะทำงานทางความคิดกันได้ ผมพยายามจะไม่สร้างระยะห่างกับเด็ก แทนตัวเองว่าพี่ ให้เด็กเรียกผมว่าพี่ เราถือว่าเป็นรุ่นพี่ เพราะเราก็จบการละคอนธรรมศาสตร์ แม้ว่าจะห่างกันเป็นสิบๆ รุ่น ทำให้ใกล้กันมากขึ้น คุยง่ายขึ้น

ผมจะใช้การสอนแบบ discuss ตลอด ให้อ่านมาก่อนแล้วมาคุยกัน แล้วเราค่อยไปขมวดปิดท้ายด้วยหลักการบางอย่าง ผมสอนวิชาพวกการละครเบื้องต้น ภูมิหลังของละคร แง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นละครเวที วิชาว่าด้วยบทละคร การวิเคราะห์บทละคร การวิจารณ์ เป็นวิชาสายอ่าน สายคิด สายถก สายวิพากษ์

แม้ว่าละครอาจไม่ได้ตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่อย่างน้อยก็สะท้อนสภาวะของมนุษย์และสังคมมาโดยตลอด ตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะฉะนั้นผมจะเติมทฤษฎีและวิธีคิดทางสังคมศาสตร์เข้าไปให้เด็กใช้เป็น approach ในการวิเคราะห์ละครด้วย ผมไม่ได้แค่ให้วิเคราะห์แบบธีม พล็อต คาแรกเตอร์ สายละคร สายวรรณกรรม เท่านั้น ให้นักศึกษาพอเห็นว่าโพสต์โมเดิร์นหรือเฟมินิสต์คืออะไร นำมาช่วยมองหรือวิเคราะห์ละครได้อย่างไร

อย่างน้อยๆ เมื่อเรียนจบไปแล้ว สิ่งที่เด็กการละครต้องมีคืออะไร

มี critical thinking มี critical analysis และมีทักษะทางการละครที่เป็นพื้นฐาน เช่น แสดงได้ กำกับอาจจะไม่จำเป็นมาก เข้าใจเรื่องภาพรวมของการละคร สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ได้ ละครที่สาขานี้จะแยกเป็น track ใครจะโฟกัสแอ็คติ้ง เขียนบท เชิงวิชาการ กำกับ เธียเตอร์ดีไซน์ ก็เลือกไป ดังนั้นเขาก็ต้องมีทักษะในสายที่เขาเลือก สำคัญกว่านั้นคือสามารถมองละครได้ในเชิงวิพากษ์ได้ สำหรับผมจำเป็นที่สุด

ผมพบว่าผมไม่ได้ผิดหวังอะไรกับเด็กเลย ขึ้นอยู่กับเราคิดว่าเขาเป็นยังไง ถ้าเราคิดว่าเขาเป็นเด็กที่มีความคิด มีมุมมองเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ เราก็จะปฏิบัติกับเขาอย่างนั้น แล้วผมก็พบว่า เขามีความวิเคราะห์วิพากษ์สูง อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่โดยภาพรวมเป็นอย่างนั้น

คลาสผมเรียนแบบวิเคราะห์วิจารณ์อยู่แล้ว ผมก็สนุกไปกับนักศึกษา ซึ่งมีมุมมองของเขา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่บนฐานทฤษฎีอะไรมากนัก แต่ก็มีความคิด บางทีความแอ็คทีฟต่อสิ่งรอบตัวเยอะกว่าเราด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่า distraction ก็เยอะเช่นกัน ความสนใจของเขาที่จะไปอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ถูกดึงไปง่ายกว่ายุคเรา แต่ความแอคทีฟทางการเมืองก็ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม ประเทศนี้ตั้งแต่ 2549 มา จะไปหาความแอ็คทีฟของนักศึกษาได้จากไหนมากมาย ไม่ได้หรอก

ส่วนมากเด็กที่จบไปออกมาทำละครมั้ย

น้อยครับ ก็เข้าไปสู่อาชีพที่หลากหลาย แต่สังเกตปรากฏการณ์ประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา เด็กละคอนธรรมศาสตร์ที่แอคทีฟตั้งแต่เรียนอยู่ ออกไปเป็นอาสาสมัคร เป็นนักแสดง ไปอยู่ในเครือข่ายละครกรุงเทพ

มีหลายคนที่จบออกมาแล้วทำกลุ่มละครของตัวเองเล็กๆ พยายามจะสร้างงานของตัวเองออกมา แต่ว่าไม่ได้เยอะมาก บางคนก็ไปเรียนต่อ ละครยังไม่สามารถเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ กลุ่มละครที่ทำกันอยู่ ก็ต้องทำสิ่งอื่นด้วยเพื่อเป็นรายได้ ไปเป็นนักแสดง ไปรับจ็อบเป็น acting coach หรือไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย อยู่ได้ด้วยเหตุนี้ ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการทำละคร แม้แต่สเกลใหญ่ๆ อย่างรัชดาลัย ถ้าเขาไม่ได้มีสปอนเซอร์ เทียบจากเงินที่ลงทุนกับเงินค่าบัตร เขาก็ไม่คุ้ม ขาดทุนเช่นกัน แต่อยู่ได้เพราะสปอนเซอร์รายใหญ่เยอะ ผมก็เห็นว่าเด็กที่จบมามีความต้องการจะอยู่กับละครให้ได้มากขึ้น ผิดจากรุ่นก่อนๆ ที่เรียนจบละครแล้วไปทำงานทีวี โฆษณา เป็นแอร์ฯ เป็นสไตลิสต์ หรือไปทำงานหนังสือ ก็มีหลากหลาย

เด็กเรียนการละครกันน้อย แล้วไม่ใช่จบไปทุกคนจะทำละคร แล้ววงการละครเวทีของไทยในอนาคตจะมีทิศทางอย่างไร

ตั้งแต่มีการตั้งเครือข่ายละครกรุงเทพ และมีเทศกาลละครกรุงเทพเกือบทุกปี ส่งผลสำคัญต่อ perception ของนักศึกษามากว่าเรียนละครแล้วสามารถทำละครได้ แม้จะทำกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ค่อยๆ ขยับทีละนิด เพราะทุกอย่างต้องทำด้วยตัวเอง การสนับสนุนไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ผมคิดว่าวงการในภาพรวมก็จะทรงๆ ไปอย่างนี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายก็จะอยู่แบบนี้ เติบโตด้วยการขับเคลื่อนของนักละครเอง

ในแง่ของละครโทรทัศน์ที่คนไทยดูเยอะมาก ดูเหมือนจะยังอยู่ที่เดิม ทั้งที่เป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้มากที่สุด คุณมองเรื่องนี้ยังไง

ผมว่ามันไม่ได้อยู่ที่เดิม แต่ขยับด้วยโปรดักลั่น เทคโนโลยี ละครยุคหลังๆ เริ่มมีคนที่เรียนด้านการละครเข้าไปเป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์มากขึ้น ละครโทรทัศน์เมื่อก่อนถูกครอบครองโดยคนไม่กี่คน หนังก็เช่นกัน ดังนั้น องค์ความรู้ทางด้านการละครสมัยใหม่ หรือภาพยนตร์ แม้ไม่ได้มีบทบาทในเมืองไทยมาก แต่ก็มีพัฒนาการ มีชั้นเชิงในการเขียนบท หรือตรรกะที่กำกับตัวบทอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ละครไทย ขึ้นอยู่กับตัววรรณกรรม เพราะละครไทยชอบเอานิยายมาทำ ไม่ใช่บทออริจินอล ดังนั้นะจึงผูกโยงอยู่กับวรรณกรรม

เรื่องที่ผมไม่ชอบมาก คือเรื่อง ล่า ที่เป็น talk of the town ผมไม่ชอบตั้งแต่ตัววรรณกรรมแล้ว ทมยันตีเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว พูดถึงการที่ผู้หญิงลุกขึ้นมากระทำการบางอย่างด้วยตัวเอง แค่นี้ก็สุดยอดแล้วในยุคนั้น ผู้หญิงไม่ได้สยบยอมความรุนแรงที่มากระทำต่อเธอ แต่ในเวลาเดียวกัน การลุกขึ้นมากระทำการคือการกระทำความรุนแรง เพราะฉันไม่สามารถทวงถามความยุติธรรมจากรัฐได้ ดังนั้นฉันต้องทวงถามความยุติธรรมเอง คุณทำสิ่งเดียวกับที่คุณถูกกระทำย้อนกลับ ซึ่งผมไม่โอเค แล้วยิ่งยุคสมัยนี้มีองค์กรสิทธิสตรี ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเยอะมาก ตัวละครหลักควรจะเข้าไปขับเคลื่อนในขบวนการนั้น ถ้าคุณเอามาทำในยุคปัจจุบัน

แต่ในแง่เทคนิควิธีการดูสลับซับซ้อนขึ้น แต่ก่อนบทละครส่วนใหญ่ในทีวี ตัวละครมักจะแบน ดีก็ดีไปเลย เลวก็เลวไปเลย ตัวร้ายเหมือนเกิดมาแล้วร้ายเลย ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีว่าทำไมตัวละครถึงเกิดพฤติกรรมนี้ ผมคิดว่าความรู้ในการละครสมัยใหม่ที่เข้ามา ทำให้ตัวละครยุคปัจจุบันดูมีที่มาที่ไปมากขึ้น เห็นเหตุผลในการกระทำของตัวละคร อันนี้เป็นด้านพัฒนาการ

แต่แน่นอนก็มีละครรีเมกประเภทที่ยังไม่ไปไหน บ้านทรายทอง ก็จะกลับมา สวรรค์เบี่ยง ก็ด้วย อาจจะยังมีละครที่บอกว่า การข่มขืนคือความชอบธรรม ในที่สุดนางเอกก็ต้องรักกับพระเอกที่ข่มขืนตัวเอง ไปรักมันได้ยังไง มันข่มขืนมึงนะ สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ ไม่ไปไหนสักที แล้วผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาเอนจอย ผู้ผลิตละครทีวีมักจะบอกว่าคนดูชอบ ถ้าเขาเชื่อแล้วว่าคนดูชอบ เขาก็จะทำแบบนี้ เพราะว่าผูกโยงกับเรตติ้งและสปอนเซอร์

แต่ก็มีปรากฏการณ์ที่แปลกอยู่เป็นระยะ เช่น นานมาแล้ว อาจารย์สดใส พันธุมโกมล เคยเอาเรื่อง คำพิพากษา มาทำเป็นละครโทรทัศน์ ผมเข้าใจว่าโด่งดัง ถูกกล่าวถึงมากในระดับเป็นปรากฏการณ์

มีนักวิชาการทางด้านโทรทัศน์วิเคราะห์ไว้ว่าที่เป็นแบบนี้เพราะละครมีฟังก์ชั่นแบบ escapism การหลบหนีไปจากสภาวะประจำวัน หนีจากเศรษฐกิจ สังคมอันกดดัน ทำให้ไม่มีความสุข ออกไปสู่ความเหนือจริง เกินจริง จินตนาการออกไปเลย คนไม่อยากดูอะไรที่ดูจริง ต้องไปสู่ความแฟนตาซีหรือจินตนาการ

วรรณกรรมส่วนมากที่เอามาทำละคร ก็มักจะถูกเรียกว่าเป็นนิยายพาฝัน?

ใช่ พูดถึง บุพเพสันนิวาส ก็ได้ มีประเด็นที่น่าสนใจ โอเค ก็ยังมีอะไรบางอย่างที่วนอยู่ที่เดิม ไปไม่สุด บางทีย้อนแย้งด้วย แต่ผมคิดว่าความสนุกของเรื่องนี้คือตัวละครเอกที่ย้อนเข้าไปในอดีต ส่วนมากเมื่อเข้าไปในอดีต ตัวละครหลักจะดำเนินตามคนในอดีตที่เขาเป็นกัน แต่ตัวละครตัวนี้จะไม่ทำตามขนบใดๆ ของอดีตทั้งสิ้น ละครเรื่องนี้มีมิติเชิงวิพากษ์ผ่านตัวละครการะเกดซึ่งเป็นผู้หญิงปัจจุบัน  เอาความเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ โบราณคดีเข้าไปดู ไปตื่นเต้นกับประวัติศาสตร์ที่เรียนมา ไม่ยอมเป็นคนอยุธยาแบบนั้น ยังยืนยันความเป็นตัวเองในปัจจุบัน ซึ่งในที่สุดก็ไปปะทะกับระบบคุณค่าของยุคนั้น ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้น่าสนใจ

สุดท้ายก็ไม่ถึงกับไปวิพากษ์โครงสร้างอำนาจหรอก แต่อย่างน้อยก็ไปวิพากษ์ประเด็น gender เช่น ไปวิพากษ์กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงบ้าง หรือพฤติกรรมที่ฉันจะไม่ยอมเป็นผู้หญิงที่ดีในแบบที่ที่นั่นเป็น ก็จะเป็นแบบนี้ กระโดกกระเดก บ้าบอคอแตก ก๋ากั่นไป ในแง่หนึ่งก็ไปสร้างแรงกระเพื่อมต่อคนที่นั่น ทำให้คนที่นั่นได้หันกลับมาตั้งคำถามกับระบบคุณค่าที่ตัวเองยึดถืออยู่เหมือนกัน

แต่ในที่สุดก็ตกร่องละครโรมานซ์ที่มีประวัติศาสตร์เป็นแบ็กกราวน์ ความรักก็เป็นคำตอบของทุกอย่าง และฉันก็สยบยอมทุกอย่างในนามของความรัก อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เคยพูดว่าไปไม่ถึงไหนหรอก ละครที่เอาประวัติศาสตร์เป็นแบ็กกราวน์แล้วเป็นเรื่องโรมานซ์ กับละครที่เอาคนในประวัติศาสตร์มาเป็นฮีโร่ บุพเพสันนิวาสเป็นแบบแรก แล้วก็ไม่สามารถไปตั้งคำถามกับเรื่องเล่าหรือการเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลักได้ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างอำนาจ เรื่องสถาบันทางอำนาจ  ละครประวัติศาสตร์ที่ไปตั้งคำถามหรือวิพากษ์อำนาจนำในยุคนั้นมักจะไม่สามารถอยู่ได้ ต้องโดนแบนในที่สุด

ผมคิดว่าความน่าสนใจมาจากตัววรรณกรรมตั้งแต่ต้น แล้วคนเขียนบทก็เก่งที่ทำออกมาเป็นแอ็คชั่นได้ ผู้กำกับก็เก่ง มีพัฒนาการจากเดิมเยอะเหมือนกัน แล้วการเป็นกระแสขึ้นมาก็เพราะว่ามีคนฉวยมันไปด้วย รัฐบาลนี่แหละ ฉวยไป

คนสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้นหลังจากดูละคร?

ผมไม่คิดว่าคนสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น แต่คนสนใจการคอสเพลย์มากขึ้น แต่ก็ต้องดูแหละครับว่า สนใจประวัติศาสตร์แบบไหน แบบกระแสหลัก กลับไปอ่านกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือสนใจประวัติศาสตร์สายวิพากษ์อย่างงานอาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) อาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) อาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) หรือนักประวัติศาสตร์ในช่วงหลังโครงสร้างนิยม

กลายเป็นการตอกย้ำประวัติศาสตร์กระแสหลักให้เข้มขึ้น

ใช่ แล้วโดยปรากฏการณ์การท่องเที่ยว การที่คนไปคอสเพลย์ตามโบราณสถาน ไปแต่งชุดไทยที่วัดไชยวัฒนาราม ไม่ได้มีสาระสำคัญใดๆ เลยนะ นี่คือการผลิตซ้ำตอกย้ำความเป็นไทย ซึ่งแปลว่าอะไรก็ไม่รู้ แล้วย้อนกลับไปถึงอยุธยาว่าความเป็นไทยแบบนั้นคือความดีงามซึ่งเราต้องเอากลับมา เราต้องแต่งตัวแบบนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าในอดีตเขาแต่งกันขนาดไหนยังไง ก็ไปแต่ง แล้วถ่ายรูป โพสต์เฟซบุ๊ก ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม แต่ทุกคนช่วยกันผลิตซ้ำประวัติศาสตร์กระแสหลัก ช่วยกันตอกย้ำว่า ระบบคุณค่าในแบบอยุธยาคือความสวยงาม ซึ่งเราโหยหาเหลือเกิน อยากจะเป็น อิมแพ็คของละครเรื่องนี้มีปัญหาในแง่นี้  แต่ไม่ได้กล่าวโทษละครนะครับ ละครก็เป็นอย่างที่ผมว่าไป แต่องคาพยพ องค์ประกอบอื่นๆ ของละคร ที่ทำให้กลายเป็นแบบนี้ รัฐบาลเองด้วย สื่อด้วย คือทุกคนหยิบเอาความดังของละครมาหาประโยชน์ให้ตัวเอง แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือการผลิตซ้ำสิ่งเดิม แม้ว่าละครจะมีความน่าสนใจอะไรบางอย่างก็ตาม

ในภาวะบ้านเมืองแบบนี้ หรือพูดตรงๆ ว่าอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ วงการศิลปะทำอะไรได้บ้าง น่าจะต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นพิเศษมั้ย หรือคนทำละครโทรทัศน์อาจจะอยากทำอะไรที่แหวกแนวเดิม แต่ก็ทำไม่ได้อยู่ดี

ละครทีวีนี่ผมก็ไม่คิดว่าเขาจะแหวก เพราะเป็นทีวี มีเงื่อนไขทางธุรกิจของเขา สปอนเซอร์ก็เป็นเมนสตรีม เรื่องเรตติ้งก็เมนสตรีม แต่ในแง่ศิลปะที่อยู่นอกกระแสหลัก ละครกลุ่มเล็กกลุ่มย่อย หนัง ทัศนศิลป์ เคยมีการพูดในโลกตะวันตกว่า ในท่ามกลางสังคมเผด็จการ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราไม่สามารถพูดอะไรตรงไปตรงมาได้ เป็นความท้าทายของศิลปินที่จะพูดอะไรออกไปโดยที่อำนาจทำอะไรเราไม่ได้ แน่นอนมันยาก ต้องคิดหาวิธีการ เหนื่อยแน่ มองบวกเป็นความท้าทาย มองไม่บวกเป็นความเหน็ดเหนื่อย

งานศิลปะด้านการเมือง อยู่ในระดับสะท้อนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางทีก็ไม่ได้สะท้อนตรงแต่สะท้อนเป็นสัญลักษณ์ คนอ่านความหมายออกก็อ่านออก อ่านไม่ออกก็ไม่ออก แล้วโดยภาพรวม ศิลปินที่สนใจประเด็นทางการเมืองก็ไม่ได้เยอะมาก หรือไม่ก็เข้าไปอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองเสียเอง อย่างเช่นทัศนศิลป์สาย กปปส. ก็เอาไปรับใช้การเมืองเลย แต่ไม่ได้วิพากษ์หรือตั้งคำถาม ไม่ได้หมายความว่ารับใช้ กปปส. อย่างเดียวนะ รับใช้เสื้อแดงก็มี รับใช้ขั้วใดขั้วหนึ่ง มีมาโดยตลอด แต่ศิลปินที่ไม่ได้ต้องการรับใช้ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง มีจุดยืนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย แน่นอนว่าในห้วงเวลาเผด็จการยากมากที่จะทำอะไร

สำหรับผม สิ่งที่ทำได้ก็แค่พูดเชิงสัญลักษณ์บ้าง ส่วน B-Floor เลือกพูดเป็น Physical Theatre เป็นการอ่านความหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่คำพูด หรืออนัตตาก็พูดนั่นแหละ แต่ไม่พูดตรง ไม่ปะทะตรง เพราะปะทะตรงดูไม่เป็นศิลปะเลย มาประกาศ statement กันโต้งๆ ดูไม่มีชั้นเชิง (หัวเราะ) ดังนั้นเราก็จะพบว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พอถึงห้วงเวลาเผด็จการที่ศิลปินทำอะไรไม่ได้ บางทีงานศิลปะก็สวิตช์กลายเป็นประโลมโลกไปเลย

ถ้าเราหลุดจากรัฐบาล คสช.ไป คิดว่าจะดีขึ้นมั้ย

ผมคิดว่าอีหรอบเดิม แต่ถ้ามองในแง่การเคลื่อนตัวของเครือข่ายละคร ก็มีการเคลื่อนตัวตั้งแต่ก่อนเผด็จการแล้ว แต่แน่นอนว่าการพูดประเด็นทางสังคมอาจจะถูกเซ็นเซอร์มากขึ้น เช่น กลุ่ม B-Floor ทำ บางละเมิด ก็ค่อนข้างถูกควบคุม ผมเชื่อว่าถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตย การพูดประเด็นทางสังคมการเมืองย่อมพูดได้มากกว่าอยู่แล้ว ยกเว้นว่านักละครเลือกจะไม่พูดเอง แน่นอนโดยหลักการสังคมประชาธิปไตย ประชาชนมีอำนาจในตัวเองมากขึ้น ที่จะวิพากษ์หรือตั้งคำถาม ศิลปะก็เช่นกัน นักละครรุ่นใหม่ๆ ก็เป็นความหวัง แล้วสิ่งที่เราพยายามจะสอนในมหาวิทยาลัยก็คือ เราไม่ได้สอนแค่ว่าจะทำละครยังไง แต่เราสอนให้เขามี critical analysis มีการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็นอยู่ว่าโอเครึเปล่า ถ้าไม่โอเคแล้วควรจะเป็นยังไง

แล้วถ้าบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ถูกกดไปเรื่อย สุดท้ายแล้วจะเป็นยังไง จะกลายเป็นสยบยอมหรือเปล่า

เขาจะ passive แน่ๆ ถ้าเขาเติบโตมากับสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น เขาก็จะเคยชินกับความไม่เป็นประชาธิปไตย เขาก็จะอยู่ไปเรื่อยๆ เอนจอยกับ BNK48 เอนจอยกับหนังเกาหลี เอนจอยกับละครทีวี เอนจอยกับอะไรที่เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ เอนจอยกับศิลปะที่ไม่มีประเด็น คนอายุ 25 มีสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่อายุ 18 แต่ไม่เคยได้เลือกตั้ง เขาจะเฉยชากับการเลือกตั้งไปแล้วหรือเปล่า ถ้าเขาเฉยชาต่อการเลือกตั้ง นั่นแปลว่าเขาเฉยชาต่อความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งอันนี้น่ากลัวมาก จะได้เห็นกันแล้วแหละว่า คนรุ่นนี้ที่ยังไม่เคยเลือกตั้งเลย จะเป็นยังไง ซึ่งถ้าออกมาว่าไม่เลือกตั้งกูก็อยู่ได้นะ หายนะแล้ว อนาคตเริ่มมืดแล้ว

ตอนนี้เป็นลักษณะใครทำอะไรได้ ก็ทำไปก่อน แต่ไม่มีมวลใหญ่ที่จะเคลื่อนไปได้ คนรู้สึกว่า ถ้าทำในพื้นที่สาธารณะไม่ได้ เราก็ทำในพื้นที่ของเราไป หล่อเลี้ยงตัวเองให้ยังดำรงอยู่ไปก่อน แต่ในที่สุดขบวนการเคลื่อนไหวก็ไม่เกิด ก็แน่นอนว่ามีส่วนที่ถูกกดไว้ไม่ให้เกิดด้วย ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะเฉยชาชินชามีแน่นอน

ภาสกร อินทุมาร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save