fbpx

เมื่อพรรคอิสลามมาเลเซียงัดข้อสุลต่าน เอ๊ะยังไงกัน

ปรากฏการณ์แลกหมัดของพรรคพาส (PAS – Parti Islam Se-Malaysia) ต่อกระแสพระราชดำรัสของสุลต่านชาราฟูดดีน ไอดริส ชาห์ (Sharafuddin Idris Shah) แห่งรัฐเซอลาโงร์ (Selangor) เรื่องชาวมุสลิมในมาเลเซียควรหรือไม่ควรร่วมฉลองเทศกาล ‘บง โอโดริ’ (Bon Odori) ของชุมชนญี่ปุ่น ดูเผินๆ อาจเป็นเพียงความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน แต่ลึกลงไปมันสะท้อนเรื่องสำคัญกว่า นั่นคือดุลอำนาจที่แกว่งไกวระหว่างพรรคการเมืองกับสถาบันสุลต่าน และการประชันขันแข่งในเรื่องสำคัญยิ่งว่าใครคือผู้มีอำนาจในการกำหนดอัตลักษณ์ของกลุ่มภูมิบุตร (Bumiputera) ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นฐานอำนาจของพรรคการเมืองมลายูนิยมมาทุกยุคทุกสมัย 

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายไอดริส อาห์หมัด (Idris Ahmad) รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกิจการด้านศาสนามาเลเซีย และรองประธานพรรคพาส ออกแถลงการณ์ผ่านสำนักพัฒนาศาสนาอิสลามของรัฐบาล ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ยาคิม’ (JAKIM: Department of Islamic Development) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลกลางที่ทำหน้าที่รับผิดชอบกิจการศาสนาอิสลามในประเทศ แนะนำชาวมุสลิมในมาเลเซียว่า ไม่ควรร่วมงานฉลองฤดูร้อน บง โอโดริ ของญี่ปุ่นที่กำลังจะจัดที่รัฐเซอลาโงร์และรัฐอื่นๆ บางรัฐ 

เทศกาลบง โอโดริ จัดขึ้นในมาเลเซียทุกปีนับแต่ พ.ศ. 2520  แต่เว้นว่างไป 2 ปีในช่วงโควิด-19 นับแต่เดือนเมษายนปีนี้ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ผู้คนเริ่มออกใช้ชีวิตปกติ สถานทูตและชุมชนชาวญี่ปุ่นในมาเลเซียจึงประชาสัมพันธ์จัดงานในบางรัฐรวมทั้งในรัฐเซอลาโงร์ที่มีสุลต่านชาราฟูดดีนเป็นองค์ประมุข ผู้จัดงานบอกว่าเทศกาล บง โอโดริ ในมาเลเซียมีจุดมุ่งหมายให้เด็กๆ ญี่ปุ่นที่นั่นเข้าถึงวัฒนธรรมของตน โดยในเทศกาลจะมีการแสดงกลองญี่ปุ่นและการเต้นรำประจำเทศกาล แถมปีนี้ยังจัดขึ้นเพื่อฉลอง 40 ปีของนโยบาย Look East ของมาเลเซียด้วย 

สิ่งที่ผู้จัดคิดไม่ถึงคือโปสเตอร์โฆษณาเทศกาลเป็นรูปผู้หญิงสวมชุดกิโมโนคลุมฮิญาบ ที่อาจมีจุดมุ่งหมายแสดงความสัมพันธ์อันดีงามของสองประเทศ กลับสร้างความระคายใจให้ชาวมุสลิมในมาเลเซียบางกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์กันในโซเชียลมีเดีย

รัฐมนตรีไอดริส อ้างถึงงานวิจัยของสำนักพัฒนาศาสนาอิสลามที่ชี้ว่าเทศกาลบง โอโดริ ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอื่น “ดังนั้น เราจึงขอแนะนำไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าร่วมเทศกาลหรือโปรแกรมใดๆ ที่ขัดต่อศรัทธาและความเชื่อของตน” สำนักข่าวเบอร์นามาอ้างคำกล่าวของรัฐมนตรี แล้วอธิบายเพิ่มว่า เทศกาลดังกล่าวเป็นงานฉลองทางศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเพื่อแสดงความเคารพบรรพบุรุษ

หลังจากนั้นไม่นาน รัฐมนตรีไอดริสก็ถูกเบรกกลางอากาศ โดยผู้ที่ลงมือหรืออาจเรียกได้ว่าลงพระหัตถ์ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นสุลต่านชาราฟูดดีน ประมุขของรัฐเซอลาโงร์เอง โดยวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักพระราชวังแห่งรัฐเซอลาโงร์ ออกแถลงการณ์กระแสพระราชดำรัสของสุลต่านที่มีเนื้อหาว่า สุลต่านชาราฟูดดีนไม่มีพระประสงค์ให้ผู้ใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง กระทำการพาดพิงถึงประเด็นอ่อนไหวทางศาสนาเพื่อประโยชน์และความนิยมส่วนตัว และในการแถลงต่อสาธารณะ ไม่ควรเอ่ยถึงสิ่งที่เป็นลบเกี่ยวกับความสามัคคีของชุมชนโดยพลการอย่างขาดความเป็นธรรมและขาดการวิจัยเชิงลึก

ที่น่าสนุกคือสุลต่านยังทรงแนะให้รัฐมนตรีไอดริส เข้าร่วมเทศกาลบง โอโดริด้วย ทั้งนี้เพื่อ “ความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างศาสนาและวัฒนธรรม” โดยในแถลงการสำนักพระราชวังมีการระบุวันเวลาและสถานที่ไว้เสร็จ คือวันที่ 16 กรกฎาคม ที่สนามกีฬาแห่งชาติชะฮ์อาลัม (พานาโซนิก)

ตามรัฐธรรมนูญมาเลเซีย สุลต่านที่ถือเป็นประมุขในรัฐ 9 รัฐ คือ เซอลาโงร์ เกอลันตัน (Kelantan) เตอเริงกานู (Terengganu) เกอดะฮ์ (Kedah) เประก์ (Perak) เปอร์ลิซ (Perlis) โจโฮร์ (Johor) ปาฮัง (Pahang) และเนอเกอรีเซิมบีลัน (Negeri Sembilan) ทรงมีพระราชอำนาจเหนือกิจการด้านศาสนาอิสลามของรัฐ สำหรับรัฐที่เหลืออีก 4 รัฐที่ไม่มีสุลต่าน พระราชอำนาจนี้จะตกอยู่กับสมเด็จพระราชาธิบดีที่ทรงหมุนเวียนขึ้นมารับตำแหน่งพระองค์ละ 5 ปีจากกลุ่มสุลต่านทั้งเก้า การออกมา “ทรงเตือน” นอกจากแสดงถึงพระราชดำริที่ขัดแย้งแล้ว ยังคล้ายเป็นการเตือนความทรงจำให้นักการเมืองถึงขอบเขตของพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญอย่างกลายๆ

สุลต่านชาราฟูดดีนทรงมีพระราชดำรัสผ่านแถลงการณ์ว่า ในปี 2559 พระองค์เองทรงร่วมฉลองเทศกาลบง โอโดริ พร้อมกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำมาเลเซียและทรงเห็นว่างานฉลองนี้ไม่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา และทรงกล่าวอีกด้วยว่า วัฒนธรรมของชุมชนทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่เน้นย้ำองค์ประกอบทางศาสนาอีกต่อไป รัฐมนตรีไอดริสไม่ควรใช้จาคิมหรือสำนักพัฒนาศาสนาอิสลามของรัฐ ออกแถลงการณ์ที่ไม่ถูกต้องและสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งอาจทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน สุดท้ายพระองค์โปรดให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอิสลามในรัฐเซอลาโงร์ (Selangor Islamic Religious Department – Jais) เข้าร่วมเทศกาลเพื่อสร้างความแน่ใจว่าไม่มีประเด็นทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

รัฐมนตรีไอดริสเก็บปากเก็บคำไม่พูดอะไร แต่ผู้ที่ออกหน้าสนับสนุนเขาคือพรรคพาสของเขาโดยสภาอุลามา (PAS Ulama Council) และกลุ่มสตรีของพรรค โดยอุลามา อาห์หมัด ยาห์ยา (Ahmad Yahya) ประธานสภาอุลามาพรรค กล่าวในแถลงการณ์ว่าพรรคพาสจะเดินหน้าเรียกร้องให้ชาวมุสลิมไม่เข้าร่วมเทศกาล บง โอโดริ เพราะแม้จะมีการให้เหตุผลว่าเป็นเทศกาลทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทศกาลนี้มีองค์ประกอบของศาสนาพุทธร่วมอยู่ 

แถลงการณ์บอกว่า นี่เป็นเป็นแนวทางเดียวกับรัฐมนตรีไอดรีส มุฟตี และผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาผู้มีจุดยืนที่ประโยชน์สาธารณะ ไม่ให้คนตกหลุมพรางที่อาจทำไปสู่การละเมิดศรัทธา (aqidah) ได้ ยิ่งกว่านั้นอาห์หมัดยังบอกว่า รัฐเกอลันตันควรตัดการเต้นรำ บง โอโดริ ออกจากรายชื่อการแสดงในเทศกาลวัฒนธรรมกลันตัน-ญี่ปุ่น ปี 2565 เพราะองค์ประกอบของศาสนาอื่นอาจสร้างความเสียหายต่อศรัทธาของชาวมุสลิม ส่วนกลุ่มสตรีพรรคพาสก็ออกแถลงการณ์เตือนให้ชาวมุสลิมอยู่ห่างๆ จากงานฉลองบง โอโดริ เสีย “เพื่อปกป้องศรัทธาของตนเอง”

เห็นได้ชัดว่าผู้นำพรรคพาสซึ่งเป็นพรรคอิสลามพรรคเดียวของมาเลเซีย ไม่มีปัญหาในการขึ้นมางัดข้อกับสุลต่าน แทนที่จะปล่อยให้เรื่องจบไปอย่างเงียบๆ น่าสนใจว่าพรรคพาสมีดีอะไรจึงกล้าเล่นท้าทายสถาบันที่เป็นสัญลักษณ์ของมลายูขนาดนี้ คำตอบอาจอยู่ที่อุดมการณ์ หรือกรณีนี้หมายถึงความศรัทธาทางศาสนาที่เป็นแก่นทางความคิดและทำให้พาสไม่เหมือนพรรคการเมืองไหนๆ ในมาเลเซีย

พรรคพาสเป็นพรรคการเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยก่อตั้งใน พ.ศ. 2494 นับแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก่อนเข้าร่วมรัฐบาลปัจจุบัน พาสเป็นพรรคฝ่ายค้านเก่าแก่ที่สุดของมาเลเซีย ซึ่งชนะเลือกตั้งติดต่อกันมายาวนานในรัฐเกอลันตัน ที่ตั้งอยู่ติดชายแดนภาคใต้ของไทย จนอาจกล่าวได้ว่า พาสคือกลันตัน และกลันตันคือพาส ไม่สามารถแยกจากกันได้

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายว่าพาสไม่เคยเพลี่ยงพล้ำ เพราะแม้จะมีแนวคิดต่างกับคนอื่นอย่างไรก็ยังคงเป็นพรรคการเมืองที่ต่อสู้กับพรรคอื่นเหมือนพรรคการเมืองทั่วไป ในอดีตเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1970s พาสได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอัมโน (UMNO – United Malays National Organisation) ในช่วงสั้นๆ แต่เกมการเมืองที่ไม่ลงรอยกันทำให้ถูกขับออกจากรัฐบาล สร้างรอยร้าวกับพรรคอัมโนหลายสิบปี พาสถึงจุดตกต่ำระหว่าง พ.ศ. 2521-2533 ที่แพ้เลือกตั้งในกลันตัน เสียอำนาจบริหารรัฐให้พรรคอัมโนนานถึง 12 ปีก่อนจะกลับมาครองอำนาจจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s พาสปรับโครงสร้างให้มีการนำโดยอุลามา (Ulama leadership) หรือผู้นำที่มีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม และมีการดำเนินชีวิตและมีบุคลิกอื่นๆ ในลักษณะผู้นำทางจิตวิญญานตามแบบอิสลาม ซึ่งเป็นแนวทางที่แตกต่างกับผู้นำแนวชาตินิยมของพรรคในรุ่นก่อนที่ฝ่ายอุลามากล่าวหาว่าขาดความเป็นมุสลิมที่แท้ จนถึงขั้นขับออกจากพรรค เมื่อชนะเลือกตั้งได้อำนาจปกครองรัฐกลันตันคืน พรรคพาสเป็นพรรคอิสลามแต่เพียงพรรคเดียวในมาเลเซียที่มีอุลามานั่นตำแหน่งมุขมนตรีของรัฐด้วย จนต่อมาก็เริ่มผลักดันแนวคิดรัฐอิสลาม (Islamic State) อย่างจริงจัง  ไม่ใช่แค่สำหรับกลันตัน แต่สำหรับมาเลเซียทั้งประเทศ 

ภายใต้การนำแบบใหม่ อุลามา ซึ่งแปลว่า ‘ผู้รู้’ หรือ ‘ครู’ ในศาสนาอิสลาม (Islamic scholar) ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของพรรค แต่เป็นผู้ขับเคลื่อนทิศทางความคิดและการเมืองของพรรคเต็มรูปแบบ สมาชิกพรรคพาสจำนวนมากได้รับแรงบันดาลใจให้แสวงหาความรู้ทางศาสนาอิสลาม และดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด เป้าหมายสู่ความเป็นรัฐอิสลามมาจากแนวคิดว่า การดำเนินวิถีของอิสลามที่แท้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากอำนาจการเมือง เอกสารของศูนย์ข้อมูลพรรคที่ขยายความธรรมนูญของพรรคเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “เป้าหมายในการต่อสู้ทางการเมืองผ่านพรรคการเมืองของพาส คือการจัดตั้งรัฐอิสลามในมาเลเซีย”  

พรรคพาสเป็นแนวร่วมฝ่ายค้านต่อต้านอัมโนมาหลายปี แต่มาแตกคอกันก่อนพรรคฝ่ายค้านจะจับมือตั้งแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) แล้วชนะการเลือกตั้งจนได้ก่อตั้งรัฐบาลช่วงสั้นๆ ใน พ.ศ. 2561 สาเหตุของการแตกคอคือพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านซึ่งมีเสียงสนับสนุนจากชาวมาเลเซียหัวก้าวหน้า ไม่สามารถยกมือในสภาฯ เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายเพิ่มโทษของศาลอิสลามในรัฐกลันตันได้ แม้ว่านายฮาดี อาวัง (Hadi Awang) ประธานพรรคพาสจะพยายามผลักดันอย่างหนัก 

เมื่อพรรคอัมโนและเบอร์ซาตู (Bersatu – Parti Prebumi Bersatu Malaysia) ชิงอำนาจจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้งหนึ่ง ความง่อนแง่นของเสียงสนับสนุนในสภาฯ ทำให้พาสได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาล นักการเมืองของพรรคเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงนายไอดริส ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบด้านกิจการศาสนา

เหตุการณ์ล่าสุดกรณีบง โอโดริ แสดงให้เห็นว่า นอกจากพาสจะยืนยันกับจุดยืนรัฐอิสลามของตนแล้ว ยังเชื่อมั่นว่าตนมีความชอบธรรมในฐานะตัวแทนของศาสนาอิสลามมาเลเซียพอๆ หรือมากกว่าสถาบันสุลต่าน แม้ว่าฝ่ายหลังจะมีทั้งประเพณีและกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรอง แต่น่าสังเกตว่าในขณะที่พาสมีอำนาจการเมืองเพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมรัฐบาล อำนาจทางการเมืองของสถาบันสุลต่านกลับเพิ่มมากกว่า เพราะความง่อนง่อนแง่นทางการเมืองของรัฐบาลใหม่ทำให้นักการเมืองต้องหันเข้าหาสถาบันสุลต่านเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตน โดยเฉพาะนายมุฮ์ยิดดิน ยัซซิน (Muhyiddin Yassin) นายกรัฐมนตรีจากพรรคเบอร์ซาตูผู้อยู่ในตำแหน่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่าง พ.ศ. 2563–2564 ซึ่งทำให้อำนาจตัดสินใจทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ในหนังสือ “Identity Monarchy”: Interrogating Heritage for a Divided Malaysia แอนโธนี มิลเลอร์ (Anthony Milner) ชี้ว่า สถาบันสุลต่านของมาเลเซียได้รับการสนับสนุนขึ้นมาใหม่ในช่วงอาณานิคมอังกฤษให้มีฐานะที่ต่างจากผู้ปกครองสูงสุดในยุคเก่าตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา สุลต่านกลายเป็น ‘ผู้ปกครองของมลายู’ (Malay rulers) ในเชิงสัญลักษณ์ และอาจไม่ได้มีบทบาทหลักในการสร้างชาติของมาเลเซียในยุคหลังประกาศอิสรภาพเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตามเขาชี้ว่าสถาบันสุลต่านเริ่มแสดงบทบาททางการเมืองที่สร้างความแปลกใจให้คนทั่วไปในครั้งแรกๆ ระหว่างช่วงการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2544 เมื่อสุลต่านมีซาน ไซนาล อาบีดีน (Sultan Mizan Zainal Abidin) สมเด็จพระราชาธิบดีในขณะนั้น ที่ทรงออกแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เตือนให้รัฐบาลและฝ่ายค้านยุติการเผชิญหน้า และให้รัฐบาลดำเนินการตามพันธกรณีที่มีต่อประชาชนอย่างยุติธรรมและมีสติปัญญา

รัฐธรรมนูญของมาเลเซียระบุรูปแบบการปกครองที่ค่อนไปทางระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามแบบเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) ของอังกฤษ แต่ให้อำนาจพิเศษบางประการแก่สมเด็จพระราชาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ประมุขของประเทศ  รวมทั้งสุลต่านประมุขของรัฐต่างๆ ที่มากกว่าสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษได้รับ สภาผู้ปกครอง (Conference of Rulers) ซึ่งเป็นสภาของสุลต่านทั้งเก้า มีอำนาจในการแต่งตั้งและปลดสมเด็จพระราชาธิบดี โดยสุลต่านแต่ละรัฐผลัดเปลี่ยนกันเข้ารับตำแหน่งประมุขของประเทศทุกรอบ 5 ปี นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังให้มีกฎหมายบางฉบับที่คุ้มครองความต่อเนื่องของสถาบัน และปกป้องจากการถูกท้าทาย

แต่กระนั้น อำนาจการเมืองเบ็ดเสร็จของนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมอัมหมัด (Mahathir Mohamad) ขณะที่เป็นประธานพรรคอัมโน และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างยาวนานระหว่าง พ.ศ. 2524–2546 มีการท้าทายสถาบันสุลต่านอย่างรุนแรง  ความขัดแย้งระหว่างนายกฯ มหาเธร์กับสถาบันเจ้า ทำให้รัฐบาลลงมือแก้รัฐธรรมนูญบางข้อเพื่อลดพระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีลง แต่หลังยุคมหาเธร์สถาบันสุลต่านเริ่มเพิ่มอำนาจทางการเมืองขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับรัฐ ในบางรัฐ สุลต่านทรงมีส่วนตัดสินผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งมุขมนตรี แม้การใช้พระราชอำนาจทางการเมืองในลักษณะนี้จะไม่ได้ถูกระบุไว้ในกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองบางอย่าง ก็มีการเปิดช่องให้สถาบันสุลต่านแสดงบทบาททางการเมืองได้

บทบาททางการเมืองของสถาบันสุลต่านมาเลเซียพุ่งขึ้นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อนหลังการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งแนวร่วมปากาตันฮาราปันนำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้งและเตรียมจัดตั้งรัฐบาลในปี 2561 สุลต่านมูฮัมหมัดที่ห้า (Sultan Muhammad V) แห่งเกอลันตัน สมเด็จพระราชาธิบดีในขณะนั้นทรงแนะให้วัน อาซีซะห์ (Wan Azizah) ภรรยาของอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำร่วมที่ยังถูกจำคุกอยู่ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนมหาเธร์ เพราะพรรคของเธอได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในบรรดาแนวร่วมรัฐบาลใหม่ แต่ในที่สุดหลังเวลาผ่านไป 21 ชั่วโมงและหลังการยืนยันของแนวร่วม พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งมหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรี

สุลต่านอับดุลลาห์ (Abdullah) แห่งรัฐปะฮัง สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน ทรงมีบทบาทชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองในวิกฤติช่องว่างทางอำนาจในปี 2563 รัฐธรรมนูญมาตรา 43 (2) ของมาเลเซียระบุว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตามพระราชวินิจฉัยของพระองค์ว่าบุคคลผู้นั้นสามารถควบคุมเสียงของสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภาได้ และทรงกระทำสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือทรง ‘สัมภาษณ์’ หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคเป็นรายตัวด้วยพระองค์เอง และโปรดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 220 คนทำจดหมายพร้อมลายเซ็น ระบุชื่อผู้ที่ตนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ส่งถึงพระองค์โดยตรง ก่อนจะมีพระราชวินิจฉัยให้นายมุฮ์ยิดดิน ยัซซิน เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน พระราชดำริของพระองค์ที่ขัดแย้งกับนายมุฮ์ยิดดินในช่วงหลัง ก็เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่แล้วด้วย 

อย่างไรก็ตาม พระราชอำนาจของสถาบันสุลต่านมาเลเซียขึ้นลงตามสถานะความมั่นคงของพรรคการเมือง เห็นได้จากพระราชอำนาจที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่รัฐบาลมุฮ์ยิดดินไม่มั่นคง เมื่อเปรียบเทียบกับสภาวะด้อยพระราชอำนาจในยุครัฐบาลมหาเธร์แห่งพรรคอัมโนเรืองอำนาจ

บทบาททางการเมืองของสถาบันสุลต่านทั้งในระดับชาติและระดับรัฐยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนว่าสุลต่านหลายพระองค์จะไม่ทรงรีรอที่จะขัดแย้งและวิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ในกรณีบง โอโดริ ที่เป็นเรื่องของขอบเขตอำนาจตัดสินใจด้านศาสนาอิสลามในรัฐของพระองค์ สุลต่านชาราฟูดดีนแห่งเซอลาโงร์จะทรงเตือนนักการเมืองพรรคพาสว่า “อย่าล้ำเส้น”     

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียมีแนวคิดเรื่องอิสลามที่หลากหลายและสามารถระบุความแตกต่างได้ชัดเจน แต่ในสังคมมาเลเซียกลับเป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดว่าวิถีอิสลามมีกี่แบบ แต่ละแบบเหมือนและต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของสถาบันสุลต่าน พรรคพาส อัมโน หรือกลุ่มอื่นๆ ก็ตาม ใน พ.ศ. 2556 สุลต่านชาราฟูดดีนเองได้ทรงได้ใช้กฎหมายของรัฐเซอลาโงร์ ออกกฎห้ามผู้นับถือศาสนาอื่นใช้คำว่าอัลลอฮ์ (แปลว่า ‘พระเจ้า’ ในภาษามลายู) ในการเรียกขานพระเจ้าของตน โดยก่อนหน้านั้นมีการใช้คำนี้คัมภีร์ไบเบิลภาคภาษามลายูที่เผยแพร่ในมาเลเซีย เรื่องนี้อูลามาในพรรคพาสย่อมต้องเห็นพ้องด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัย

งานวิชาการจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า อัตลักษณ์มลายูในมาเลเซียเป็นส่วนผสมระหว่างเชื้อชาติหรือภูมิบุตรมลายู (Bumiputera Malay) ศาสนาอิสลาม และภาษามลายู (Bahasa Melayu)

ประชากรภูมิบุตรมีมากกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมาเลเซีย แน่นอนว่าเชื้อชาติเป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และภาษาก็เป็นสิ่งผูกพันชุมชนภูมิบุตรเข้าด้วยกันอย่างไม่มีข้อแม้ เพราะฉะนั้นสิทธิในการตีความศาสนาอิสลามเท่านั้นที่จะเป็นตัวให้อำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหนือประชากรส่วนใหญ่

เทศกาลบง โอโดริ ไม่ใช่อื่นใดนอกจากเหยื่อของการปะทะทางอำนาจระหว่างสุลต่านเซอลาโงร์ซึ่งมีกฎหมายและประเพณีดั้งเดิมสนับสนุน กับอูลามาพรรคพาสที่มีแรงบันดาลใจอันเข้มข้นในการนำมาเลเซียสู่ความเป็นรัฐอิสลาม ในขณะที่พรรคการเมืองมลายูนิยมอื่นๆ เช่นพรรคอัมโน เลือกที่จะเงียบเฉยไม่เกี่ยวข้อง เข้าทำนอง “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียหนึ่งตำลึงทอง” อัมโนซึ่งเป็นพรรคมลายูนิยมเต็มสูบเลือกที่จะเลี่ยงประเด็นปะทะทางศาสนา อาจหมายมั่นปั้นมือว่าข้อพิพาทครั้งนี้อาจดึงเอาชาวภูมิบุตรบางรายให้หันเหจากพรรคพาสเข้าหาตนในการเลือกตั้งทั่วไปที่ใกล้จะมาถึงเต็มทีก็ได้ ใครจะไปรู้

เป็นไปได้ว่าปีนี้ชาวมุสลิมหนุ่มสาวที่เคยเป็นผู้เข้าร่วมเทศกาลบง โอโดริส่วนใหญ่อาจบางตาลง โลกกว้างที่เริ่มเปิดอาจอยู่แค่เอื้อม แต่น่าเสียดายว่าหลายคนอาจยังไม่อาจก้าวออกไปหาได้


อ้างอิง

Minister tells Muslims not to take part in Bon Odori festival

Selangor Sultan invites Idris, Jais to attend Bon Odori festival

Idris should attend Bon Odori Festival, says Selangor Ruler

Stay away from Bon Odori, PAS tells Muslims despite royal decree

Political Instability and Enhanced Monarchy in Malaysia

Anthony Milner. “Identity Monarchy”: Interrogating Heritage for a Divided Malaysia

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save