fbpx

แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม

ธรรมชาติมนุษย์น้อยคนจะชอบการถูกล้อเลียน

แต่ธรรมชาติมนุษย์เราก็ชอบล้อเลียนคนอื่น การล้อเลียนนั้นมีตั้งแต่การมอง การแขวะ ขุดด้วยปาก ถากด้วยตา หัวเราะเยาะ เปรียบเปรยถากถาง ไปจนถึงเล่นใหญ่รัชดาลัย บางคนได้ดีจากการล้อเลียนก็มี เช่น ธุรกิจตลกก็ไม่ใช่อะไรนอกจากการล้อเลียน สภาโจ๊กสมัยก่อนเอาคนหน้าตาคล้ายนักการเมืองมาเป็นจำอวดให้ขบขัน การเดี่ยวไมโครโฟน หลายคนยินดีจ่ายเงินไปฟังคนล้อเลียนตัวเองก็มี แต่บางทีถูกล้อก็โมโหโกรธาเป็นเสียอย่างนี้

การล้อเลียนนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบผู้ถูกล้อ แต่ตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิ ย่อมได้รับความคุ้มครองในฐานะเสรีภาพในการแสดงออกแบบหนึ่ง ปัญหาคือเราไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่การล้อเลียนนั้นข้ามไปเป็นอาชญากรรมหรือการละเมิดแล้ว โดยหลักการทั่วไป หากการล้อเลียนนั้นไม่มีเจตนาจะให้ผู้คนหลงเชื่อจนเสียหายแก่เจ้าตัวก็ย่อมไม่เป็นความผิด บ่อยครั้งการล้อเลียนนั้นนำเสนอเรื่องไม่จริง แต่ไม่ต้องการให้เชื่อ เป็นแต่ให้ตลกขบขันเท่านั้น

แต่นอกเหนือจากเจตนาแล้ว ที่ยากกว่าคือ ต่อให้ไร้เจตนาร้าย แต่การล้อเลียนนั้นสร้างความเสียหาย ผู้ล้อเลียนจะต้องรับผิดชอบการกระทำของตนหรือไม่ เพราะการล้อเลียนนั้นย่อมมุ่งให้เจ้าตัวถูกหัวเราะขบขันเป็นแน่ บางคนรับได้ บางคนรับไม่ได้ แต่ละคนรับสารแล้วตีความไม่เหมือนกัน บางวัฒนธรรมอาจจะคุ้นชินการล้อเลียนมากกว่าบางวัฒนธรรม แต่ละวัฒนธรรมมีข้อห้าม (taboo) ไม่เหมือนกัน โดยปกติจารีตยกเว้นไม่ถือโทษการล้อเลียน แต่ก็ไม่เสมอไป บางครั้งการล้อเลียนผิดแผนไป คนล้อก็อาจถูกต่อยปากได้เหมือนกัน อย่าง คริส ร็อก ที่ล้อเรื่องผมร่วงของเจดา สมิธ หรือร้ายที่สุดก็กลายเป็นเหตุรุนแรง เช่น กรณีที่นักหนังสือพิมพ์ชาวตะวันตกล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม เมื่อไหร่ที่ผู้ล้อเลียนต้องรับผิดชอบความเสียหายอันไม่ตั้งใจนี้   

แม้แต่ในระบบกฎหมายที่ยอมรับแนวคิดเรื่องการล้อเลียนแล้ว การวินิจฉัยดังกล่าวก็ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

กฎหมายไทยไม่มีแนวคิดเรื่องการล้อเลียน ที่ใกล้เคียงที่สุดเห็นจะเป็นหมิ่นประมาทและดูหมิ่น สำหรับหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ประมวลกฎหมายอาญานั้น โดยหลักแล้ว จะต้องมีเจตนาใส่ความต่อบุคคลที่สามให้เข้าใจผิดไปในทางที่เสียหายจึงจะเข้าองค์ประกอบ ซึ่งการล้อเลียนนั้น โดยทั่วไปไม่ได้มุ่งหมายให้คนเชื่อ ผู้ชมย่อมเข้าใจว่าการล้อเลียนนั้นเป็นการด้อยค่าหรือทำให้เจ้าตัวกลายเป็นจำอวด แต่ไม่ได้ใส่ความ จึงไม่ควรเป็นหมิ่นประมาท

แต่การล้อเลียนนั้นใกล้เคียงกับการดูหมิ่นมาก เพราะการล้อเลียนอาจทำให้เจ้าตัวถูกดูถูกด้อยค่าได้เหมือนกัน แม้อาจจะขาดเจตนาดูหมิ่นจริงๆ

โดยทั่วไป ปัญหานี้ไม่ร้ายแรงมาก เนื่องจากการดูหมิ่นบุคคลทั่วไปนั้น ต้องเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา จึงจะเป็นความผิดตามมาตรา 393 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นลหุโทษ ดังนั้น ความผิดดูหมิ่นซึ่งหน้านั้น ไม่ได้มุ่งลงโทษการแสดงออกหรือคุ้มครองสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล แต่มุ่งพิทักษ์ความสงบ ป้องกันการทะเลาะวิวาทอันเกิดจากการดูหมิ่นเสียมากกว่า

ดังนั้น ในหลายกรณี การส่งความข้อความด่ากัน ดูหมิ่นกัน บรรทัดฐานกฎหมายไทยไม่ถือเป็นความผิด เพราะเป็นการดูหมิ่นไม่ซึ่งหน้า อย่างมากที่สุดก็เป็นการละเมิดซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่ง

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของกฎหมายไทยคือ ความผิดมาตรา 112 เมื่อการแสดงออกไม่ใช่การอาฆาตมาดร้าย ไม่ใช่การใส่ความหมิ่นประมาท การล้อเลียนก็กลายเป็นการดูหมิ่นไปได้ไม่ยาก และการดูหมิ่นในมาตรา 112 นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า นอกจากนี้ ศาลยังพร้อมจะตีความขยายขอบเขตของคำว่าดูหมิ่นในมาตรา 112 ให้กว้างขวางขึ้นไปจากมาตราดูหมิ่นซึ่งหน้าอีกด้วย อะไรก็ตามที่หลบหลู่ความศักดิ์สิทธิ์ (desacralization) ล้วนเป็นการล้อเลียน ซึ่งเกินเลยบรรทัดฐานไปไกล

ดังนั้น การแต่งกายแฟชันโชว์ ซึ่งเป็นการล้อเลียนนั้น ก็กลายเป็น “ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่าจำเลยและพวกที่เป็นเยาวชนมีเจตนาร่วมกันที่จะสื่อให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า จำเลยแสดงตนเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 10 และพวกของจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนแสดงตนเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่ยกย่องเชิดชูของปวงชนชาวไทย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”

แทนที่ประชาชนจะสามารถล้อเลียนบุคคลสาธารณะได้ กลายเป็นว่า ยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ยิ่งห้ามแตะต้อง ปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคำนึงถึงว่า คดีความเกี่ยวกับมาตรา 112 จำนวนมากกำลังเข้าสู่ชั้นพิจารณาในปีนี้ โดยที่แนวคิดเรื่องการล้อเลียนในฐานะเสรีภาพในการแสดงออกของไทยยังไม่ถูกพัฒนา กลายเป็นว่าการล้อเลียนนั้น ‘ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์’ จำจะต้องถูกลงโทษ

ทั้งที่การล้อเลียนนั้น มองให้ลึกลงไปกว่าความตลกขบขัน หลายครั้งเป็นวิธีการพูดความจริงต่ออำนาจ การเสียดสีสะท้อนความบกพร่อง ความเขลาใดๆ ของมนุษย์ทุกคนอาจมี ให้หัวเราะและยอมรับจุดอ่อนของตนเอง โดยไม่ถือโทษโกรธกัน

ในภาพยนตร์ Monty Python and the Holy Grail (1975) เมื่อกษัตริย์อาเธอร์พบกับชาวนาที่แสนจะดื้อด้าน อาเธอร์ประกาศว่าตนเป็นกษัตริย์ผู้ได้รับมอบอำนาจจากนางพรายและดาบศักดิ์สิทธิ์เอ็กซ์คาลิเบอร์ สิ่งที่ชาวนาตอบกลับกลายเป็นวรรคทองอมตะแห่งโลกภาพยนตร์

“Listen. Strange women lying in ponds distributing swords is no basis for a system of government. Supreme executive power derives from a mandate from the masses, not from some farcical aquatic ceremony.”

(ฟังนะ การที่ยัยผู้หญิงแปลกๆ ในบ่อน้ำนั้นมอบดาบให้พระองค์ ไม่ใช่พื้นฐานของระบบการปกครองว่ะพระเจ้าข้า อำนาจบริหารสูงสุดย่อมมาจากอาณัติของประชาชนเว้ย ไม่ใช่พิธีกรรมจอมปลอม)

และเมื่ออาเธอร์ทรงพระ ‘หลุด’ ทุบตีชาวนา สิ่งที่ชาวนาประกาศก็ทำให้คนอังกฤษขำกลิ้ง

“Help! Help! I’m being repressed.” (ช่วยด้วยเจ้าข้า ฉันถูกกษัตริย์กดขี่)

ก็มันจริงนี่หว่า

นอกจากจะตรึงใจผู้ชมด้วยความเจ็บๆ คันๆ แล้ว ผู้สร้างหนังชุดนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางในท้ายที่สุดอีกด้วย

สังคมที่ห้ามการล้อเลียนย่อมเสียโอกาสในการพัฒนาตนเองไปอย่างน่าเสียดายที่สุด

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save