fbpx
ความย้อนแย้งของคำพูดผู้นำประเทศ

ความย้อนแย้งของคำพูดผู้นำประเทศ

“ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้สุนทรพจน์กลางที่ประชุม COP26 เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่า

COP26 – COP เป็นคำย่อมาจาก Conference of the Parties หรือการประชุมสมัชชาประเทศ เป็นการประชุมต่อจาก COP21 ณ กรุงปารีสเมื่อปี 2015 ซึ่งผู้นำ 197 ประเทศได้ลงนามใน ‘ข้อตกลงปารีส’ ที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

ข้อตกลงปารีส The Paris Agreement Against Climate Change หรือ ‘กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ (UNFCCC) ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งลงนามโดยผู้นำโลกใน 197 ประเทศ ไม่เหมือนการประชุมในอดีตที่ผ่านมา ที่ต่างฝ่ายต่างมาพูดแสดงความเห็น แต่ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายแต่ประการใด

นี่หมายความว่าทุกประเทศที่ลงนามต่างยอมรับถึงมหันตภัยของปัญหาโลกร้อน และพร้อมใจกันวางแผนต่อสู้กับปัญหานี้อย่างจริงจัง แม้จะสายเกินไปแล้ว

การประชุม COP26 ครั้งนี้มีเป้าหมายหลักคือการคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับการเลิกใช้ถ่านหิน และการเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า

รูปธรรมอันแรกที่ชัดเจนที่สุดสำหรับการประชุม COP26 นี้คือ ผู้นำ 128 ชาติที่เป็นเจ้าของผืนป่าครอบคลุมเนื้อที่ราว 85% ของป่าไม้ทั่วโลก ได้ลงนามในคำประกาศให้คำมั่นสัญญายุติการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่าไม้ทั่วโลก โดยจะสมทบเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเกือบ 14,000 ล้านปอนด์ (ราว 644,000 ล้านบาท) ภายในปี 2030

ประเทศต่างๆ ร่วมลงนามทั้งสิ้น 128 ประเทศ อาทิ แคนาดา จีน อินโดนีเซีย รัสเซีย บราซิล สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และเวียดนาม เป็นต้น

แต่ไม่ปรากฏว่ามีรายชื่อประเทศไทยร่วมลงนามในสัญญาฉบับประวัติศาสตร์นี้ ย้อนแย้งกับคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ไปประกาศกลางที่ประชุมว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง”

ในขณะเดียวกัน น้อยคนที่จะทราบว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังมีโครงการขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อการพัฒนามากเกือบ 100 โครงการ จากรายงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ติดตามปัญหาการทำลายป่ามายาวนาน ได้นำเสนอข้อมูลออกมาว่า

“ปัจจุบันพบว่า ภาครัฐเองกำลังมีโครงการขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อโครงการพัฒนาต่างๆ มากมาย โดยโครงการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ เพื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ตามเอกสารระบุว่ากำลังมีการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 77 โครงการด้วยกัน สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 29 โครงการ

2. โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ 5 โครงการ

3. โครงการสำคัญที่ยังอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 13 โครงการ

4. โครงการที่อยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม 26 โครงการ

5. โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาวิจัย 4 โครงการ

โครงการทั้งหมดนี้รวม 77 โครงการ ยังไม่รวมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางโครงการซึ่งกำลังมีประเด็นการคัดค้านอยู่ในขณะนี้ แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวอีกสิบกว่าโครงการ อาทิเช่น อ่างเก็บน้ำ 7 แห่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ สามารถรวบรวมหาข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ป่าไม้ที่ต้องหายไปหากมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามที่ระบุไว้ในแผนงานได้เพียงแค่ 25 โครงการ เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายกว่า 40,000 ไร่”

ส่วนที่เหลืออีก 60 กว่าโครงการยังไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่า จะมีป่าไม้ถูกทำลายไปอีกกี่หมื่นกี่แสนไร่

ข้อมูลจากกรมป่าไม้ล่าสุดระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศไทยเหลือเพียงร้อยละ 31.64 หรือ 102,353,484.76 ไร่ และในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงถึงกว่า 130,000 ไร่ ห่างไกลจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะให้มีพื้นที่ป่าร้อยละ 40

นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังประสบปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาทำลายป่าในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้กับกลุ่มธุรกิจเกษตรรายใหญ่ที่รับซื้อสินค้าเกษตรเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์

ในขณะที่รัฐบาลชาติอื่น 128 ประเทศที่ลงนามยุติการตัดไม้ทำลายป่าในปี 2030 ยังให้คำมั่นสัญญาด้วยว่าจะลดการสนับสนุนพืชเกษตรที่นำไปผลิตอาหารสัตว์ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญในการทำลายป่า  

นอกจากรัฐบาลไทยไม่ยอมลงนามเพื่อยุติการทำลายป่าแล้ว แถลงการณ์ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซมีเทนและลดการใช้พลังงานถ่านหิน ที่มีประเทศจำนวนมากร่วมแถลงการณ์ รวมถึง เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แต่รัฐบาลไทยก็ยังปฏิเสธที่จะร่วมแถลงการณ์เช่นเคย

ทั้งๆ ที่ประเทศไทยถูกจัดให้ติดอันดับท็อป 20 ของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก และอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากรหนึ่งคนของประเทศไทยก็มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก เฉพาะคนในกรุงเทพมหานครก็ปล่อยก๊าซต่อคนสูงกว่าผู้คนในมหานครลอนดอนและกรุงมิลานเข้าไปแล้ว

คำพูดสวยหรูของผู้นำประเทศที่บอกว่า “ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ” น่าจะเป็นความจริง

เพราะแค่ ‘แผนหนึ่ง’ ประเทศของท่านผู้นำยังไม่มีเลย

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save