fbpx
ม็อบนักศึกษา-สภา-ประชาธิปไตย อ่านการเมืองไทย กับ ภราดร ปริศนานันทกุล

ม็อบนักศึกษา-สภา-ประชาธิปไตย อ่านการเมืองไทย กับ ภราดร ปริศนานันทกุล

กองบรรณาธิการ เรื่อง

ในโมงยามแห่งการเมืองอันร้อนแรงที่ขับเคลื่อนโดยพลังนักเรียนและนักศึกษา ‘สภา’ คือหนึ่งในกลไกลที่หลายคนฝากความหวังว่าจะเป็นทางออก ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยก็ตั้งข้อกังขากับความช้าและบทบาทที่ปรับไม่ทันต่อสังคม

101 คุยกับ ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โฆษกพรรคภูมิใจไทย และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ในรายการ101 One-On-One Ep.172 ว่าด้วย สถานการณ์การเมืองไทย ทางออกในระบบรัฐสภา และประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่

YouTube video

:: สภามีหน้าที่แก้ปัญหาร่วมกัน ::

ภราดร ปริศนานันทกุล

หลังจากเกิดการชุมนุมใหญ่ขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องหลักยังคงเป็น 3 ข้อที่เรียกร้องมาตั้งแต่ต้น แต่ละเวทีก็มีประเด็นเพิ่มเติมแตกต่างกันไป ทั้งเรื่องของการศึกษา ที่มาของนายกฯ การเข้าถึงสาธารณสุข สิทธิภายในโรงเรียน ระเบียบของโรงเรียน โดยรายละเอียดข้อปลีกย่อยก็มีความแตกต่างกัน

เรามีโอกาสได้คุยกับน้องๆ ที่เข้าร่วมชุมนุม แม้ว่าบางคนไม่ได้เข้าใจถึงรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความอึดอัดในการบริหารประเทศ จึงออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง เพื่อให้เสียงได้ยินไปถึงผู้มีอำนาจได้ยินว่า ทนไม่ไหวกับการบริหารประเทศแบบนี้

ทุกพรรคการเมืองได้เห็นพ้องร่วมกันว่าเมื่อมีการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาในประเด็นเรื่องการเมือง สภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องรับฟังปัญหาที่เรียกร้อง จากนั้นแต่ละพรรคก็ได้ทำการยื่นญัตติเข้ามา ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท

1. ส่งข้อสังเกตให้รัฐบาลหลังการอภิปราย เพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไข

2. ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษารับฟังและพิจารณา

3. ไม่ต้องตั้งกรรมาธิการใหม่ ให้ส่งไปที่กรรมาธิการพัฒนาการเมือง เพื่อดำเนินการต่อ

ท้ายที่สุดมติของสภา คือให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้ชุมนุมในกลุ่มต่าง ๆ

หลังจากตั้งคณะกรรมาธิการ ก็มีทั้งความเห็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับมติของที่ประชุม ตามปกติฝ่ายที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยก็จะต้องส่งตัวแทนเข้ามา แต่ทั้ง 2 พรรค เลือกที่จะไม่ส่งตัวแทนมาอยู่ในคณะกรรมาธิการ โดยให้เหตุผลว่า สภาไม่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อที่ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องมา นั่นคือหน้าที่ของรัฐบาล ก็ให้รัฐบาลแก้ไขเอา เพราะเขาเรียกร้องไปถึงรัฐบาล ในทางกลับกันผมมองว่า สภามีหน้าที่ช่วยประเทศในการหาทางออก แก้ไขปัญหาร่วมกัน

แม้ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายค้าน แต่กรรมาธิการชุดนี้ก็ไม่ได้ซื้อเวลาเพื่อแก้ไขปัญหา จากที่สภามอบหมายให้ทำหน้าที่ 90 วัน ในการศึกษาและพิจารณากรณีนี้ ด้วยความเชื่อมั่นที่ติดลบของเราต่อสาธารณะ เราจึงรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยครั้งแรกเราขอเวลา 4-6  สัปดาห์ ซึ่งเราใช้เวลาทั้งหมดไป 30 วันและตอนนี้กำลังเสนอกลับไปที่สภาแล้ว วิธีการทำงานของกรรมาธิการทำงานกันหลายด้าน เริ่มจากการทำงานกับส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทาง มุมมองที่มีต่อผู้ชุมนุม และมีวิธีปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม

จากการพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราบอกว่าสิ่งแรกที่เราไม่อยากเห็นคือการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม และเรื่องการคุกคามของกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม บางทีเรามองหลักนิติศาสตร์อย่างเดียวไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีได้ ต้องใช้คู่กับหลักรัฐศาสตร์ และใช้หลักรัฐศาสตร์ให้มากกว่า หลังจากคุยกันท่าทีของตำรวจดีมาก แต่ในเย็นวันนั้นทนายอานนท์ นำภาและภาณุพงศ์ จาดนอก ก็โดนจับแบบไม่มีหมายเรียกล่วงหน้า ผมก็ไม่รู้ว่าเบื้องหลังเบื้องลึกแล้วมีกระบวนการอย่างอื่นหรือเปล่า มันอยู่เหนือการควบคุมของเราแล้ว

ด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราแนะนำให้สพฐ. หาแนวทางให้แต่ละโรงเรียนปฏิบัติร่วมกัน และต้องเข้าใจว่านี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา โรงเรียนไม่มีสิทธิที่จะไปจำกัดสิทธิการชุมนุมในโรงเรียน หน้าที่ของโรงเรียนคือเปิดพื้นที่เสรีในการแสดงความเห็น ช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับนักเรียน และห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมการชุมนุม

ส่วนกระทรวงอุดมศึกษาก็มีความคล้ายกับกรณีของโรงเรียน คุณจักษ์ พันธ์ชูเพช รกล่าวว่า “ไม่ปิดกั้น เข้าใจ อดีตเราก็คือนักเคลื่อนไหวเหมือนกัน” ส่วนทางอัยการในเรื่องคดีต่างๆ อย่างการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทางอัยการแจ้งว่าเคสไหนไม่ได้ไปก่อปัญหาเพิ่ม ก็จะพิจารณาไม่สั่งฟ้อง

เราพยายามเชิญกลุ่มผู้ได้เสียหรือกลุ่มผู้ชุมนุมมาพูดคุย แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้การตอบรับ อีกด้านหนึ่งเราก็ลงพื้นที่ไปทำหน้าที่รับฟังในเวทีที่สะดวก แต่ไม่สามารถไปรับฟังทุกเวทีได้ จึงมีกรรมาธิการที่ทำหน้าที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากโลกออนไลน์

:: รัฐบาลต้องรับฟังด้วยความจริงใจ ::

ภราดร ปริศนานันทกุล

ประเด็นหลักของการสรุปจากกรรมาธิการครั้งนี้ คือรัฐบาลคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องรับฟังผู้ชุมนุมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้ และต้องไม่รับฟังแบบ ‘ขอไปที’ รับฟังด้วยความจริงใจ ไม่มีอคติ

ผมไม่เชื่อว่าการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษามีเบื้องหน้า เบื้องหลัง เพราะกลุ่มที่ออกมาชุมนุมมีความรู้สึกอึดอัดกับผู้บริหารประเทศถึงอนาคตของประเทศว่าอยู่ที่ไหน ผมว่าตีโจทย์ผิดตั้งแต่ที่บอกว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เหมือนการใส่เสื้อหากติดกระดุมเม็ดแรกผิด การแก้ปัญหาก็จะผิดหมดเลย

สิ่งที่ผมจะขอคือ ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเรื่องการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพโดยพื้นฐานของเขา พยายามอย่าไปดำเนินการตามกฎหมายที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ การชุมนุมหลายครั้งผมว่าไม่ได้เกินกว่าเหตุ อยากให้ท่านนายกฯ รับฟังนักศึกษามากขึ้น อย่ามองว่านักศึกษาคือศัตรู ต้องยอมรับว่านักศึกษา คือคนที่ใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต พวกเขาคืออนาคตของประเทศ

:: สังคมต้องถกเถียงด้วยเหตุผล และสติปัญญา ::

ภราดร ปริศนานันทกุล ม็อบ การเมืองไทย

วิกฤตครั้งนี้คือก้าวสำคัญในการปกครองในระบบประชาธิปไตย คำถามที่ว่าทำไมประชาธิปไตยจึงไม่เดินหน้าเสียที เหตุที่เขาอ้างกันคือการบอกว่าเพราะคนในประเทศยังมีความรู้ไม่มากพอ แต่ถ้าเปรียบเทียบกันกับอดีต ในปัจจุบันมีความตื่นรู้มากขึ้น วันนี้ทำให้เราได้ตระหนักถึงการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับคนที่คิดต่างว่าเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร แม้กระทั่งการเห็นต่างจากครอบครัวไปจนถึงระดับสังคม นี่จึงกลายเป็นจุดที่สำคัญและท้าทายสังคมไทย เราจะก้าวข้ามสิ่งนี้ได้หรือไม่

ผมเชื่อว่าการเจรจาจะแก้ไขได้ คนในสังคมต้องรู้ธรรมชาติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มันเป็นสังคมแห่งการถกเถียงด้วยเหตุผลและสติปัญญา เพราะฉะนั้นคนที่ออกมาบอกว่าเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ตัวเราเป็นนักประชาธิปไตยหรือยัง ตัวเราเองพร้อมที่จะรับฟังความเห็นต่างหรือยัง

ย้อนหลังกลับไป 20 ปีที่แล้ว ก่อนที่เราจะได้รัฐธรรมนูญปี 2540 มาเราก็ผ่านอะไรมามาก แต่ผมเชื่อว่าสังคมไทยเรียนรู้ประวัติศาสตร์พอสมควร คือเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ ที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตของผู้คนถึงจะได้เดินหน้าสู่การเจรจา

วันนี้เราจะเห็นว่าทิศทางสังคมมีการคล้อยตาม 3 ข้อเรียกร้องมาตลอดเรื่องของการหยุดคุกคาม แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา พอวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เวทีที่ธรรมศาสตร์มี 10 ข้อเรียกร้อง หรือ 1 ความฝัน กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเห็นแล้วว่าเสียงตอบรับไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ การชุมนุมวันที่ 12 สิงหาคมจึงต้องหยุดลง พอการชุมนุมครั้งใหญ่วันที่ 16 สิงหาคม เราคิดแล้วว่าประเด็นนี้จะต้องถูกพูดถึงเป็นประเด็นชูโรง แต่กลับกันหัวข้อที่ชูโรงวันนั้นมีเพียง 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 จุดยืน มีเพียงแค่ทนายอานนท์คนเดียวที่พูดเรื่อง 1 ความฝัน โดยไม่ได้มีท่าทีเสียดสี หรือดูหมิ่น

:: สงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม ::

ภราดร ปริศนานันทกุล ม็อบ การเมืองไทย

ทุกวันนี้สังคมเริ่มเรียนรู้กันและกัน รู้จักการประนีประนอมกันมากขึ้น ในอนาคตผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดการปะทะกัน เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันเอาฟืนออกจากกองไฟ ผมชอบคำพูดของคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ที่ว่า “เวลากินข้าวให้กินทีละคำ อย่ายกหม้อกินไม่อย่างนั้นจะติดคอ” สังคมมีความต่างของคนต่างช่วงวัย ซึ่งแน่นอนว่าคนรุ่นผมหรือมากกว่าผมขึ้นไปย่อมเห็นสังคมแตกต่างจากคนรุ่นหลัง บนเส้นทางของประชาธิปไตย ถ้าหากเราต้องการไปให้ถึงจุดหมาย เราต้องสงวนจุดต่าง แสวงหาจุดร่วม

ส่วนเรื่องของการปฏิวัติจะเกิดหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่พูดได้อย่างหนึ่งว่าไม่ใช่เรื่องที่เกิดง่ายๆ เพราะหากเกิดขึ้นผมคิดว่ามันจะรุนแรงกว่าครั้งก่อนที่ผ่านมา และเชื่อว่าไม่มีใครปรารถนาที่จะทำ เพราะทุกครั้งที่ทำรัฐประหารมีไม่กี่เหตุผล แต่ในตอนนี้สังคมเปลี่ยนไปมาก เราต่างเห็นว่าการชุมนุมมีทั่วประเทศ การรัฐประหารจะทำอย่างไร เอารถถังปิดสื่อ ประกาศออกสื่อว่าเรายึดอำนาจแล้ว ในกรณีต่างจังหวัดถ้าไม่มีการยอมรับการรัฐประหารครั้งนี้จะทำอย่างไร ใครที่คิดก็ต้องคิดหนักและเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ ผมเชื่อว่าถ้าเกิดขึ้นจะนองเลือดแน่นอน

:: พรรคภูมิใจไทยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ::

ภราดร ปริศนานันทกุล ม็อบ การเมืองไทย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการร่วมรัฐบาล อย่างที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยแถลงถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเราแก้ไขมาตรา 256 มาตราเดียว เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น ในด้านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้งหมดเราไม่ได้กล่าวถึง เราตั้งใจจะให้ ส.ส.ร. มีอิสระทางความคิด และให้ทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แล้วจึงเขียนรัฐธรรมนูญออกมา

เรามีเงื่อนไขว่า รัฐธรรมนูญที่ออกมาต้องทันสมัยและตอบโจทย์เรื่องปัญหาปากท้องของประชาชนให้ได้ เราไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญที่เขียนเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชนอย่างชัดเจนจริงๆ ประชาชนรายย่อยที่ค้าขายมักถูกโดนเอารัดเอาเปรียบจากจากนายทุน จนตอนนี้ประเทศกลายเป็นทุนนิยมไปแล้ว เพราะเราไม่เคยเขียนสนับสนุนรายย่อย ว่าจะให้เขาอยู่อย่างไร จริงอยู่ที่ว่าเรามีกฎหมายทุนผูกขาด กฎหมายทุ่มตลาด แต่กฎหมายมีศักดิ์ไม่เท่ารัฐธรรมนูญ เราควรใส่สิ่งเหล่านี้เข้าไป รวมไปถึงการเข้าถึงสาธารณสุข การเท่าเทียมกันทางการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้หายไปจากรัฐธรรมนูญแต่ก็ถูกทิ้งไป เพราะรัฐธรรมนูญคือกติกาของบ้านเมืองแต่น่าเสียดายที่ไม่ได้มาจากประชาชน

ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งและต้องมีอาชีพที่หลากหลายให้มากที่สุดทั้งเพศ อายุ และต้องมีความทันสมัย อย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ใหม่มากในสมัยนั้นและกลายมาเป็นโครงร่างของรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอ้างอิงจากเดิม มันควรต้องเป็นรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทันสมัย

ผมไม่อยากพูดถึงประเด็นทางการเมืองเพราะกลัวว่าจะไปชี้นำ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อถึงเวลา ส.ส.ร. ก็ต้องทำประชาพิจารณ์กับอาชีพต่างๆ เมื่อมาถึงกลุ่มของนักการเมืองเราก็ต้องเล่าให้เขาฟังว่าเราอยากเห็นอะไร

:: ความฝันทางการเมือง ::

ภราดร ปริศนานันทกุล ม็อบ การเมืองไทย

ผมคิดว่าการเมืองไม่ใช่ความฝันส่วนตัว ไม่ใช่ความฝันของนักการเมืองโดยปัจเจกของแต่ละคน ไม่ใช่เรื่องการคาดหวังตำแหน่ง เพราะท้ายที่สุดมันคือการแบกรับความฝันของคนทั้งประเทศ แบกรับความฝันของคนที่กาบัตรเลือกตั้งให้กับเรา เพราะฉะนั้นเราต้องตอบโจทย์เขาให้ได้ เราคือคนที่เขาคิดว่าเติมฝันให้เขาได้ เขาฝันที่อยากมีปากท้องดีขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเราก็มีหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงสะท้อนปัญหาให้ฝ่ายบริหารนำไปแก้ไข เพื่อสานต่อความฝันของประชาชน

ส่วนตัวผมอยากเห็นประเทศเป็นรัฐสวัสดิการอย่างเต็มรูปแบบ แต่ต้องยอมรับว่าการเป็นรัฐสวัสดิการมีจุดที่ต้องแลกเปลี่ยนกัน เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไหนจะทุ่มรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างเต็มรูปแบบสมบูรณ์แบบโดยไม่เก็บภาษีเลย ดังนั้นอาจจะต้องเก็บภาษีแบบใครมีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย แต่คุณภาพชีวิตที่มีความเท่าเทียมกันทั้งด้านการศึกษา การเข้าถึงสาธารณสุข และการเข้าถึงแหล่งทุน ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนทุกคนจะมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน

ระหว่างความฝันกับความจริงนั้นบอกได้เลยว่า เราเห็นการเมืองในตำรากับการเมืองที่เป็นเรื่องจริงนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในตำราเขียนไว้ชัดว่าใครมีหน้าที่อะไร แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นคนละเรื่อง ในต่างจังหวัดมองว่า ส.ส. คือเทวดาที่สามารถแก้ไขได้ทุกเรื่อง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดทอนอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. ไปทุกที การทำหน้าที่แทนประชาชนของเราเลยทำได้ยากขึ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save