fbpx

ม.ร.ว.เผ่าเทพ เทวกุล กับเรื่องที่ไม่ได้เขียนในมรณประวัติ

ในวัฒนธรรมหนังสือแบบไทย การเขียนประวัติบุคคลมีไม่มากนัก  ยิ่งเรื่องที่เป็นด้านไม่สู้ดีของบุคคลผู้นั้นด้วยแล้วย่อมยากจะปรากฏเป็นลายลักษณ์ หากถูกถ่ายทอดต่อกันมาในรูปมุขปาฐะ หรืออาจปรากฏในเอกสารส่วนบุคคล บันทึกส่วนตัว หรือจดหมายโต้ตอบอันยากจะเข้าถึงได้

ก็การที่อนุชนได้รู้จักชีวประวัติของบุคคลต่างๆ นั้น เป็นก้าวแรกที่จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจความเป็นมนุษย์ ได้เห็นทุกข์สุขของคน เห็นความสำเร็จและล้มเหลว อันนับเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ชั้นดีให้แก่คนที่อยู่ข้างหลัง แต่นี่ดูจะขัดกับความสบายใจของใครๆ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเจ้าของประวัติ จึงทำให้ประวัติบุคคลที่มีในบรรณพิภพของไทย เกือบจะเรียกได้ว่ามีแต่ประวัติของ ‘เทวดา’ ที่หาความบกพร่องได้ยาก

ความข้อนี้รวมไปถึงกรณีของ ม.ร.ว.เผ่าเทพ เทวกุล หลานเขยขององค์บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยด้วย


กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2405-2486)
จากปกหนังสือ ให้พระยาอนุมาน (2521)


“ประวัตินั้นแต่งยาก”


สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นักปราชญ์พระองค์หนึ่งแห่งกรุงสยาม หลังจากดำรงพระชนม์ชีพอยู่มาถึง ห้าแผ่นดิน ได้มีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเชษฐา ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2483 ความตอนหนึ่งว่า

ให้นึกมะลึกตึกไปว่า ประวัตินั้นแต่งยาก  ถ้าไม่จืดช่ำมะร่าท่า ก็เป็นเทวดา ที่จะให้ผู้ตายเป็นมนุษย์และน่าอ่านด้วยนั้นมีน้อยนัก

ประวัติที่ว่านั้นทรงหมายจำเพาะถึงประวัติบุคคล โดยเฉพาะที่ปรากฏในอนุสรณ์งานศพของบุคคลต่างๆ ในสังคมไทย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงพระนิพนธ์ชีวประวัติของบุคคลไว้เป็นจำนวนไม่น้อย (ดังภายหลังมีผู้นำงานดังกล่าวนี้มาพิมพ์เป็นหนังสือชุด คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก ได้ถึง 4 เล่ม) อย่างอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเอตทัคคะผู้หนึ่งในด้านนี้ ก็ยังยอมรับ (ในลายพระหัตถ์ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2483) ว่า

ที่ตรัสว่า การแต่งประวัติยากมากนั้น จริงดังทรงพระปรารภ … การแต่งประวัติมีวัตถุที่ประสงค์ก็จะแสดงความดีของผู้ตาย แต่ต่างกันด้วยวิธีแสดง อาจจะเป็นอย่างชมมิให้มหาชนคัดค้านได้ หรืออย่างยอให้ชอบใจเจ้าภาพ นอกจากนั้นก็ต่างกันเพียงสำนวน

โดยที่ทรงอธิบายกำกับด้วยว่า “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง [เขมาภิรโต]) ท่านเคยเทศน์ให้หม่อมฉันฟังครั้งทำบุญฉลองอายุครบ ๔ รอบ ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อพรรณนาถึงกุศลกรรมต่างๆ ที่หม่อมฉันได้บำเพ็ญแล้ว ลงท้ายท่านว่า คำที่กล่าวมานี้เป็นคำชม มิใช่ยอ  ชมกับยอนั้นผิดกัน ชมต้องเลือกกล่าวแต่ที่เป็นความจริง ยอนั้นสุดแต่ชอบใจผู้ฟังแล้วจะว่าอย่างไรก็ได้”

องค์บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยทรงวางหลักไว้ว่า “การแต่งประวัติอย่างชม ผู้แต่งต้องรู้ความจริงจึงจะแต่งได้ ยากอยู่ในข้อนี้  หม่อมฉันแต่งประวัติ ก็รับแต่งแต่ประวัติของคนที่เคยคุ้นกัน ถ้าไม่ใช่เช่นนั้น ก็ไม่รับแต่ง”

ทรงกล่าวถึงข้อยกเว้นไว้เพียงบุคคลเดียว คือ หม่อมฉันเคยแต่งประวัติของคนที่ไม่รู้จักแต่สุนทรภู่คนเดียว ที่กล้าแต่งก็เพราะตัวแกเองเล่าเรื่องประวัติของแกไว้ในนิราศที่แกแต่งแทบทุกเรื่อง ได้อาศัยความจริงในนิราศ จึงสามารถแต่งประวัติสุนทรภู่ได้”


ม.ร.ว.เผ่าเทพ เทวกุล
ม.ร.ว.เผ่าเทพ เทวกุล (2448-2480)


ประวัติของคนที่เคยคุ้นกัน” ซึ่งไม่ทรงแต่ง


แม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงวางหลักไว้ว่า พระองค์แต่งแต่ “ประวัติของคนที่เคยคุ้นกัน” เท่านั้น แต่เมื่อคราวที่หลานเขยอย่าง ม.ร.ว.เผ่าเทพ เทวกุล ถึงแก่มรณกรรม ลูกสะใภ้ขององค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้มาขอให้แต่งคำนำหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งรวมถึงประวัติของผู้วายชนม์ด้วยนั้น พระองค์กลับทรงปฏิเสธ ด้วยเหตุและผลที่จะแสดงเป็นลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม ได้ทรงแนะนำพระยาอนุมานราชธนแห่งกรมศิลปากร ถึงการเลือกเรื่องมาลงพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานศพไว้เป็นกิจจะลักษณะ ความตอนหนึ่งในลายพระพระหัตถ์ถึง “เสฐียรโกเศศ” ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2481 ว่า

“ฉันเพิ่งมานึกขึ้นได้ ว่ามีหนังสือเหมาะสำหรับพิมพ์แจกในงานปลงศพ เผ่าเทพ เรื่องหนึ่ง แต่ฉันลืมไป ไม่ได้รำลึกถึง คือ เรื่องพระประวัติสมเด็จกรมพระยาเทววะวงศ์ฯ  ฉันแต่งให้พิมพ์เปนสมุดเล่ม ๑ ต่างหาก แจกเมื่องานพระเมรุ แต่งเปนอย่างไรก็ลืมไปเสียแล้ว ยังจำได้แต่ว่า คนอ่านพากันชอบ ถึงสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ตรัสแก่ฉันว่า ‘(แต่งสำหรับ)คนนี้ด้วยอีกคนหนึ่งนะ’ ”

แต่น่าเสียดายที่เมื่อสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคตนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทราบพระราชปิตุลาประสงค์ จึงโปรดให้ ม.จ.ดำรัสดำรงค์ เทวกุล ราชเลขาธิการแต่งพระประวัติ  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเห็นว่า “ฉันจะเข้าไปอ้างความหลัง ขอให้ถอนพระราชดำรัสสั่ง ก็เห็นไม่ควรสมควร จึงมิได้แต่งตามรับสั่งไว้

และทรงกล่าวจำเพาะมาถึงผู้วายชนม์กับเรื่องที่ทรงเลือกไว้นี้ว่ามีความสัมพันธ์เหมาะเจาะกันอย่างยิ่ง “หนังสือ เรื่องพระประวัติสมเด็จกรมพระยาเทววะวงศ์ฯ นั้น เคยได้พิมพ์หนเดียวนานมาแล้ว ถ้าเอามาพิมพ์แจกในงานศพเผ่าเทพ ดูก็จะเหมาะนักหนา ด้วยเปนเรื่องเฉลิมพระเกียรติสมเด็จปู่ของเผ่าเทพ อันสมเด็จปู่ของเจตนีดิศ ภรรยาเผ่าเทพ เปนผู้นิพนธ์ เข้ากระทู้สองสมเด็จได้สนิท”


ม.ร.ว.เจตนีดิศ
ม.ร.ว.เจตนีดิศ ปัทมดิลก (2456-2505)


ประวัติฉบับใช้งาน


ม.ร.ว.เจตนีดิศ เป็นธิดาของ ม.จ.จุลดิศ ดิศกุล กับหม่อมแช่ม โดยที่ท่านชายจุลดิศเป็นพระโอรสองค์โตของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเฉื่อย ซึ่งต่อมา ม.ร.ว.เจตนีดิศ ได้สมรสกับ ม.ร.ว.เผ่าเทพ เทวกุล ในปี 2476

สำหรับ ม.ร.ว.เผ่าเทพ นั้น ปรากฏประวัติตามอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ความทั้งหมดดังนี้ (ผู้เขียนได้เคาะย่อหน้าใหม่เพื่อให้สะดวกแก่การอ่าน)

หม่อมราชวงศ์เผ่าเทพเกิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นบุตร์คนแรกของหม่อมเจ้าสุธาสิโนทัยกับหม่อมลมุน เทวกุล  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานนามนี้   

หม่อมราชวงศ์เผ่าเทพได้เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนราชินี ครั้นเจริญวัยขึ้นหน่อย สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงรับเข้าโรงเรียนนายร้อย  เมื่ออายุราว ๑๘ ปี ได้ออกมาเป็นนายทหาร รับพระราชทานยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ประจำการอยู่กับกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๓ ณ ลพบุรี  ได้รับพระราชทานเงินเดือนๆ ๘๐ บาท  ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยตรี แล้วไม่นานได้เงินเดือนขึ้นเป็นเดือนละ ๘๕ บาท  

ครั้นรับราชการมาได้ราว ๒ ปี หม่อมราชวงศ์เผ่าเทพขอลาออกจากการประจำการเพื่อไปศึกษาในยุโรป ได้ไปเรียนวิชาไฟฟ้าที่เมืองเกรโนปล์ ในประเทศฝรั่งเศส และรับพระราชทานเบี้ยหวัดกองหนุน ฝึกฝนอยู่สัก ๘ ปี จนสำเร็จได้ประกาศนียบัตร (Diplome) แล้วจึงกลับเมืองไทย

อาศัยความชักนำของหม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ  หม่อมราชวงศ์เผ่าเทพได้เข้าทำงานในบริษัทไฟฟ้าสยาม

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ หม่อมราชวงศ์เผ่าเทพได้สมรสกับหม่อมราชวงศ์เจตนีดิศ ธิดาหม่อมเจ้าจุลดิศกับหม่อมแช่ม ดิศกุล  พิธีแต่งงานได้กระทำกัน ณ สวนไกลกังวล และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้ากับสมเด็จพระบรมราชินีได้ประทับเป็นประธาน

หม่อมราชวงศ์เผ่าเทพถึงแก่มรณกาล ณ วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐


ม.จ.จุลดิศ
ม.จ.จุลดิศ ดิศกุล (2424-2490)


ปัญหาของการเขียนถึง ‘หลานเขย’


กว่าครึ่งหนึ่งของประวัติ ม.ร.ว.เผ่าเทพ ฉบับใช้งาน คือประวัติการศึกษา  ส่วนประวัติการทำงานมีสั้นมาก พอๆ กับชีวิตสมรสก็ปรากฏเพียงแต่วันแต่งงาน และจบท้ายด้วยวันที่ตาย

แม้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งประวัตินี้ แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าพระยาอนุมานราชธนเป็นผู้แต่ง เพราะมีลายพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาถึงท่านผู้นี้ ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2481 ความว่า (ผู้เขียนได้เคาะย่อหน้าใหม่และเน้นข้อความเพื่อให้สะดวกแก่การอ่าน)

คราวนี้จะว่าด้วยเรื่องแต่งคำนำต่อไป หม่อมแช่ม ดิศกุล ลูกสะใภ้ของฉัน เขาอ้อนวอนให้ฉันแต่งคำนำด้วย ฉันก็ไม่อยากจะขัด ลองคิดคำนึงถึงทางที่จะดำเนินความเปนอย่างไร ก็เห็นทางดีมีอยู่ที่อาจจะกล่าวถึงความชอบใจที่ได้เผ่าเทพเป็นหลานเขย เพราะบุรพการีทั้ง ๒ ฝ่ายได้เปนมิตรกันมานานถึง ๒ ชั่วคน ขึ้นความทางนั้น จะต้องลงปลายด้วยความอาลัยเผ่าเทพ

ไปติดที่จะกล่าวถึงกรณีที่เผ่าเทพกินยาตาย อันผู้ซึ่งไม่รู้เรื่องจริงว่า เผ่าเทพ “ชิงตาย” หนีทุกขเวทนาของวรรณโรค อันรู้ตัวว่าจะตายในไม่ช้า และกลัวโรคจะติดเมีย ยังสงสัยว่าเปนเพราะวิวาทกับเมีย จะมีอยู่บ้าง แม้ที่รู้ความจริง แต่ลงเนื้อเห็นว่า เผ่าเทพเปนบ้าก็มี 

ฉันจะแต่งตอนนั้นอย่างไร ก็เห็นจะหนีไม่พ้น มีคนสงสัย หรือยิ้มเหยาะว่าแต่งแก้แทนหญิงเจตนี มิใช่ว่าตามจริง

ถ้าไม่กล่าวถึงกรณีย์ที่ถึงแก่มรณเสีย ก็คงมีคนเห็นกันว่า ฉันปกปิดด้วยเกรงจะเสียแก่หลาน มันอึดอัดใจอยู่ดังนี้ คิดหาทางแก้ยังไม่ได้

ถ้าเจ้าคุณแต่งคำนำ ความขัดข้องเช่นว่าไม่มี  เพราะเจ้าคุณเป็นบุคคลภายนอก ไม่กล่าวถึงเหตุมรณ ก็ไม่มีใครว่ากระไร


กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ ม.จ.จุลดิศ ดิศกุล พ.ศ. 2456


เรื่องที่พระยาอนุมานฯ ไม่กล้าเขียน


เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้พระยาอนุมานราชธนแห่งกรมศิลปากรแต่งคำนำแล้ว ในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม ศกนั้น ทรงเล่าเรื่องของ ม.ร.ว.เผ่าเทพ เพิ่มเติม พร้อมข้อกังวลเกี่ยวกับการแต่งประวัติกำกับไว้ด้วย ดังนี้ (ผู้เขียนได้เคาะย่อหน้าใหม่และเน้นข้อความเพื่อให้สะดวกแก่การอ่าน)

ส่วนเรื่องประวัติของเผ่าเทพนั้น ดูเหมือนเจ้าภาพก็อยากให้มีด้วย แต่ฉันรู้เรื่องไม่พอจะแต่งได้ ทราบแต่ว่าไปเรียนวิชาไฟฟ้าสำเร็จมาแต่ยุโรปเป็นอย่างดี  เมื่อแรกกลับมา ตั้งใจจะทำการให้บ้านเมือง คือเข้ารับราชการ แต่มีผู้บอกว่าเป็นเชื้อเจ้า เขาไม่ต้องการ ก็เสียใจ จึงหันไปรับจ้างทำการในบริษัทไฟฟ้าสยาม 

เมื่อปรากฏว่าเป็นผู้มีวิชาความรู้ดี ได้รับความยกย่องจากบริษัท มีผู้ชักชวนให้เข้ารับราชการ จะให้เงินเดือนมากขึ้นกว่าบริษัท ก็ไม่รับ  คงทำงานในบริษัทไฟฟ้ามาจนตลอดอายุ

ในข้อที่มาเป็นหลานเขยของฉันนั้น พอบิดามารดาของหลานหญิงเจตนีดิศมาปรึกษาฉันว่า บิดามารดาของเผ่าเทพมาขอ ฉันก็มีความปิติยินดี ด้วยหวนรำลึกถึงสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศกับตัวฉันได้ร่วมทุกขร่วมสุขรับราชการด้วยกันมาช้านาน แลรำลึกถึงที่หม่อมเจ้าสุธาสิโนทัย บิดาของเผ่าเทพ ได้เป็นเพื่อนอยู่เพื่อนเรียนมากับหม่อมเจ้าจุลดิศ ตั้งแต่ยังเล็กด้วยกัน  ว่าโดยย่อ บุพการี ๒ ฝ่าย ได้เป็นมิตรกันมาถึง ๒ ชั่วคน ก็ยิ่งเต็มใจ

ฉันเป็นแต่เรียกเผ่าเทพมาถาม ขอให้บอกตามจริงว่า รักหญิงเจตนีดิศด้วยใจตนเอง หรือโดยขัดผู้ใหญ่ไม่ได้  เมื่อเผ่าเทพปฏิญาณว่า รักด้วยใจจริง ฉันจึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีสมรส หน้าพระที่นั่ง ณ พระราชวังไกลกังวล

ฉันให้การได้เท่านี้ แต่คำให้การของฉันก็มีแสดงในทางการเมืองอยู่บ้างข้างตอนต้น  แต่ถ้าเจ้าคุณแต่งประวัติ จะเอาความตรงนั้นออกเสีย หรือจะใช้กระบวนโวหาร กล่าวแต่พอเป็นเค้าก็ได้ สุดแต่อย่าให้เกิดความร้อนใจแก่เจ้าคุณ

ความตรงนั้นสำคัญอยู่ที่ส่อให้เห็นว่า เผ่าเทพได้เลือดเจ้า คือ “ขัติยมานะ” ไว้ ไม่เสียชาติ  พลความอย่างอื่นในเรื่องของเผ่าเทพ เจ้าคุณพอจะสืบถามที่ผู้รู้จักคุ้นเคยได้

ซึ่งเราได้เห็นประวัติของ ม.ร.ว.เผ่าเทพ ที่ปรากฏในหนังสืองานศพ ดังได้แสดงไว้ในตอนต้นแล้วว่าไม่ปรากฏข้อความจากคำให้การของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเลย นอกเหนือไปเพียงบางส่วนเกี่ยวกับพิธีสมรสเท่านั้น

ทั้งนี้ ด้วยเข้าใจว่าเป็นเพราะเรื่องที่สมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้นเล่าประทานพระยาอนุมานราชธนมีนัยทางการเมือง อันเกี่ยวเนื่องกับความผกผันของบ้านเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ “เมื่อแรกกลับมา ตั้งใจจะทำการให้บ้านเมือง คือเข้ารับราชการ แต่มีผู้บอกว่าเป็นเชื้อเจ้า เขาไม่ต้องการ ก็เสียใจ” นั่นเอง


พระยาอนุมานราชธน
พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ, 2431-2512)


สิ่งที่หายไปในประวัติ


กรณีของ ม.ร.ว.เผ่าเทพ เทวกุล ผู้นี้ สิ่งสำคัญที่หายไปในประวัติ มิใช่เรื่องด้วยว่าเขาตายอย่างไร เพราะอะไร  หากแต่อยู่ตรงที่ว่า เขามีคุณวิเศษอย่างไร       

โดยเฉพาะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตราไว้ว่า “ความตรงนั้น” ซึ่งเล่าเรื่องประวัติในการทำงาน  “สำคัญอยู่ที่ส่อให้เห็นว่า เผ่าเทพได้เลือดเจ้า คือ “ขัติยมานะ” ไว้ ไม่เสียชาติ” นั้นเองที่หายไป


บรรณานุกรม

  • พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวววงศ์วโรปการ (เจ้าภาพพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์เผ่าเทพ เทวกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 8 มีนาคม 2481), น. 1-2.
  • เรื่องประวัติศาสนา และ มุตโตทัย (นายประสิทธิ์ ปัทมดิลก พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ ม.ร.ว.เจตนีดิศ (ดิศกุล) ปัทมดิลก ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 20 มิถุนายน 2506).
  • สาสน์สมเด็จ เล่ม 8 (นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2563) น. 66, 85. 
  • เสด็จประพาศยุโรปครั้งที่ 2 (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พันโท หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล ท.จ. วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2490 วัดมงกุฎกษัตริยาราม)
  • ให้พระยาอนุมาน (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2521), น. 254-255, 267-269, 279-280.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save