fbpx

‘เราเป็นแค่ตัวกระตุ้นของเวลาเท่านั้น’ สองปีแห่งความเปลี่ยนแปลงของ ภาณุพงศ์ จาดนอก

นับเป็นครั้งที่ห้าแล้วที่ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ต้องเข้าและออกเรือนจำ ด้วยข้อหาตั้งแต่ฝ่าฝืนพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรื่อยไปจนคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตรา 112

ข้อหาทั้งหมด รวมถึงบทลงโทษจากรัฐที่ออกคำสั่งลิดรอนสิทธิ์ถึงห้าครั้ง ก็นับว่ามากมายมหาศาลสำหรับไมค์-ภาณุพงศ์ในขวบปีที่ 25 ของชีวิต

นึกย้อนกลับไปวันที่ 15 กรกฎาคม 2020 อันเป็นจุดที่ชื่อ ภาณุพงศ์ จาดนอก ปักหมุดหมายลงบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ -รวมทั้งอาจจะประทับตราไว้ตรงไหนสักแห่งในความทรงจำของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา- เมื่อภาณุพงศ์ปรากฏตัวพร้อมป้าย ‘การ์ดอย่าตก พ่องง!!’ ต้อนรับการมาเยือนจังหวัดระยองของประยุทธ์ ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบกระชากตัวเขาออกไปจากขบวนแถวการต้อนรับนายกรัฐมนตรี

จะมากจะน้อย ชื่อนี้ย่อมเป็นที่จับตาของฝ่ายความมั่นคงไปแล้วเรียบร้อย และในอีกสามวันให้หลัง ภาณุพงศ์ก็ปรากฏตัวในฐานะหนึ่งในผู้ปราศรัยกิจกรรม ‘คนไม่ทน’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมยกประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นำเสนอต่อสังคม จนนำมาสู่คดีความกับการจองจำอีกหลายต่อหลายครั้งในห้วงเวลาไม่ถึงสามปี -นับจากวันที่ชูป้ายกระดาษในวันนั้น

มองภาพรวม นี่นับเป็นเส้นทางการเคลื่อนไหวและเรียกร้องที่น่าจับตาอย่างยิ่ง แน่แท้ว่ามันเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยในรูปแบบที่หลายคนไม่แม้แต่จะกล้าคิดฝันเมื่อหลายปีก่อน หากแต่อีกด้าน ใช่หรือไม่ว่ามันก็เปลี่ยนแปลงเนื้อตัวของภาณุพงศ์ไปไม่มากก็น้อย ทั้งสิ่งที่เราเห็นได้ด้วยตาอย่างทรงผมสั้นเกรียน ผิดลิบลับจากภาพจำเมื่อเขาชูป้ายประท้วงประยุทธ์กับทรงผมหน้าม้ายาว หรือกำไลควบคุมความประพฤติที่ข้อเท้าซ้ายซึ่งศาลมอบให้ภายหลังปล่อยตัวเขาออกมา

ในบ่ายที่แดดเร้นตัวใต้เมฆ ฝนตั้งเค้ามาแต่ไกล ภาณุพงศ์ปรากฏตัวขึ้นพร้อมรอยยิ้มสว่างไสวเหมือนทดแทนสภาพอากาศอันอึมครึม บทสนทนาของเราเริ่มจากตรงนั้น ในห้วงยามที่อากาศหม่นหมอง ดำเนินไปขณะที่ฝนโปรยปราย และจบลงเมื่อแดดออกได้ในท้ายที่สุด

การเข้าและออกจากเรือนจำในครั้งนี้ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

เฉพาะตัวเราเอง คงเปลี่ยนในแง่การใช้ชีวิต จากเมื่อก่อนอยากไปร่วมกิจกรรมต่างๆ แต่พอออกมารอบนี้ กลายเป็นเราอยากอยู่กับครอบครัวมากขึ้น การได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำทำให้รู้สึกว่าให้เวลากับครอบครัวและคนรอบข้างน้อยมาก พอออกมารอบนี้ก็อยากหยุดงานสักพักแล้วใช้ชีวิตกับคนรอบข้าง กับครอบครัวให้มากที่สุด เพราะเราไม่รู้เลยว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวในวันข้างหน้าอีก เราจะได้เข้าไปอีกไหม ถ้าต้องเข้า จะเข้าไปอีกนานแค่ไหน และไม่รู้ด้วยว่าเราจะชนะโดยที่เราไม่ต้องเสียอิสรภาพได้จริงหรือเปล่า

ครั้งแรกที่ติดกับอานนท์ (อานนท์ นำภา -นักกิจกรรมและผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง) เราไม่ยื่นประกัน ติดห้าวันเองเพราะตำรวจไปขอศาลบอกว่าให้ปล่อยได้แล้ว อาจเพราะตอนนั้นม็อบกำลังมาแล้ว ตอนแรกเราก็กลัว ไม่บอกใครหรอก เก็บทรง คือเราเคยเห็นภาพทำร้ายร่างกาย ต้องโดนกดขี่ มีกลุ่ม มีบ้านในคุก แต่พอเข้าไปก็พบว่าไม่มีใครมาทำร้ายเรานี่หว่า แต่ความแย่คือไม่มีสิทธิอะไรเลย เราคิดเลยว่ากูต้องทำยังไงเหรอ ถ้าวันข้างหน้ามีคนที่ต้องมาติดคุกแบบเราอีกจะเป็นยังไง เราก็คุยกับอานนท์ แล้วอานนท์แกก็ชอบเชียร์ว่า ด่าแม่งเลย จัดการแม่งเลย แล้วจะเรียกไมค์ว่าเครื่องด่า (หัวเราะ) เราเลยเริ่มโวยวายมาตั้งแต่ตอนนั้น แบ่งหน้าที่กันว่าอานนท์เป็นคนเย็น ไมค์เป็นคนร้อนแล้วกัน เราก็ด่าทุกอย่างที่มันไม่ดี ส่วนอานนท์ก็จะเป็นฝ่ายไปพูดกับผู้คุมว่า ‘ผมเข้าใจนะ แต่ช่วยเปลี่ยนให้หน่อยได้ไหม’ รับบทนางเอก นางฟ้า ให้เรารับบทนางร้าย (หัวเราะ)

อีกประเด็นคือเรื่องความคิด มันไม่ได้เปลี่ยนไปว่าเราจะไม่สู้หรือจะหยุดหรือกลัวนะ แต่ความคิดของเรามันมั่นคงมากขึ้น นิ่งมากขึ้น มีกระบวนการคิดที่ได้มาจากการมีเวลาคิดมากขึ้น คือเมื่อก่อนมันมีการจัดม็อบตลอด เราเลยต้องคิดแบบเร่งด่วนเสมอซึ่งทำให้มีข้อผิดพลาดเยอะ เช่น เรื่องการเตรียมงาน การวางแผนระยะยาวเนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ในปี 2020 มันเปลี่ยนไปเร็วมาก แต่พอเราเข้าไปในเรือนจำ เรามีเวลาคิดมากขึ้นว่าจะก้าวยังไงต่อ ก้าวแบบไหนให้มันเป็นหมัดเด็ดที่จะสู้กับรัฐบาลได้

เหมือนที่ผ่านมาเราปล่อยหมัดแย็บมาตลอด นี่คือรอหมัดฮุค

ใช่เลย แล้วต้องบอกว่ารัฐบาลพลาดที่ให้พื้นที่เราในการฉุกคิดด้วยการยัดให้เราไปอยู่ในเรือนจำ ถ้ามองในแง่บวกคือรัฐบาลพลาด ทำให้เราได้มีเวลาคิดหากระบวนท่าในการต่อยกับคุณมากขึ้น เรากับเพื่อนที่ติดคุก รวมทั้งน้องๆ นักกิจกรรมคนอื่นๆ ก็มีเวลาคิด มีการหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ได้อ่านหนังสือต่างๆ คือในเรือนจำไม่มีหนังสืออะไรอ่านหรอก แต่เราเอาหนังสือของเราเข้าไปเอง เช่นพวก ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง), กว่าจะครองอำนาจนำ (เขียนโดย อาสา คำภา), “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖ (เขียนโดย ชานันท์ ยอดหงษ์) ตลอดจนหนังสือการเมืองเรื่องอื่นๆ ซึ่งเราแบ่งให้คนอื่นๆ อ่านด้วย ดีใจที่มีเพื่อนๆ ผู้ต้องขังต่อคิวอ่านหนังสือ ข้างในมันไม่ได้มีหนังสือแบบนี้ ตัวเพื่อนผู้ต้องขังเองก็ไม่ได้ถูกปลูกฝังความคิดให้มาสนใจเรื่องการเมืองขนาดนั้น แต่พอเราซึ่งเป็นนักกิจกรรมเข้าไปในเรือนจำ แล้วด้วยความที่เรามีแสงจากสื่อด้วย คนก็มาถามเราเสมอๆ ว่า เคลื่อนไหวแล้วได้อะไร ทำไมต้องไปทำแบบนั้น เราก็อธิบายให้พวกเขาฟังถึงเหตุผล เช่น ประยุทธ์ทำแบบนี้เลยเกิดสิ่งนั้นขึ้น ทุกคนก็จะรับฟังแล้วเห็นด้วย พวกเขารู้สึกว่าตอนพวกเขาอยู่ข้างนอกเขาก็เคยเห็นเรื่องราวแบบนั้นเหมือนกัน จากนั้นก็มาขอหนังสือเราไปอ่าน อ่านจบแล้วก็มาคุย แลกเปลี่ยนกัน สนุกมากเลย ได้เจอเพื่อนๆ ที่ให้กำลังใจเรา

เราอาจมองภาพในคุกว่ามันโหดใช่ไหม ต้องมีการทำร้ายร่างกายกัน แต่จริงๆ แล้วทุกคนน่ารักมาก เวลาเราไม่คุยกับใครหรือเวลาเศร้าๆ ทุกคนจะเดินมาตบไหล่เรา ถามเราว่าเป็นอะไร มีอะไรก็มาคุยกันได้ เรารู้สึกว่าเพื่อนข้างในใส่ใจเรามากๆ รู้จักกันทั้งแดน (ยิ้ม) อย่างไมค์อยู่แดนสี่ ส่วนอานนท์หรือไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ที่มาจากแดนสามแล้วต้องไปศาล ก็จะมีเพื่อนๆ นักโทษคนอื่นๆ ตะโกนถามว่าจะกลับเมื่อไหร่ คือเราผูกมิตรกับทุกๆ แดน ไปแดนไหนก็มีเพื่อน ไม่มีศัตรู

เป็นไปได้ไหมว่านักโทษเหล่านี้ ด้านหนึ่งคือเหยื่อของความเหลื่อมล้ำ มันทำให้พวกเขาเข้าใจปัญหาต่างๆ ได้เร็วมากด้วยหรือเปล่า

มากเลยล่ะ หลายๆ คนไม่เคยเข้าใจแล้วเขามาเชื่อมโยงกันได้ในที่สุดว่าระบบโครงสร้างมันเป็นอย่างไร จริงๆ ใครเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ โดยที่เราไม่ต้องไปนั่งพูดเรื่องอะไรเลย เราไม่เคยพูดเรื่องเจ้า แต่เขาเข้าใจเอง อย่างประเด็นกรณีสวรรคต มีหนังสือเล่มหนึ่งที่แนบเอกสารกรณีนั้นไว้ คนข้างในได้อ่านก็หยิบเอาบางประโยคจากเอกสารเหล่านั้นมาเป็นคำพูดล้อเลียน เช่นคำว่า โถ่ ลูกแม่, อย่าพูดอะไรเยอะนะ พ่อมองอยู่ (หัวเราะ) เขาเอาคำในหนังสือมาพูดกับเรา 

แล้วเราไม่ได้เจอแต่คนจนด้วย บางคนเป็นเจ้าของร้านทอง เป็นหุ้นส่วนบริษัทใหญ่ เป็นเจ้าของเต็นต์รถหรูต่างๆ เราก็เข้าไปคุยกับเขา มีเจ้าของร้านทองคนนึงมาขอคุยกับเรา บอกว่า ‘ผมอยากคุยด้วยมานานแล้ว ดีใจนะที่มีคนกล้าแบบนี้มาสู้’ แต่เขาก็ยังไม่เห็นในบางประเด็นอยู่ เช่นเรื่องโครงสร้าง สถาบันฯ ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปชี้นำอะไรหรอก แต่เขาก็เข้าใจของเขาเอง ตอนนี้เขาออกมาแล้ว ขอซื้อเสื้อไมค์ด้วยเว้ย เสื้อไมค์ ระยองตัวที่ไมค์ใส่ออกมาจากคุกน่ะ (หัวเราะ) คือเขาอยากสนับสนุนการเคลื่อนไหว แต่อยากสนับสนุนโดยไม่ได้เป็นการเอาเงินมายัดอย่างเดียว คือกูซื้อเสื้อมึงนะ

อีกอย่างคือ ข้างในนั้นมันไม่ได้หดหู่ ไม่ได้โดนกดดัน ไม่ได้โดนกดขี่ แต่การเข้าถึงสิทธิต่างๆ มันก็ยากพอสมควร สมมติเราโดนขัง 15.30 น. แล้วเรารู้สึกเราป่วยตอน 17.00 น. กว่าเราจะได้ไปหาหมอหรือกว่าพยาบาลจะเข้ามาก็ตีไปอีกสองชั่วโมง กระบวนการคือกดกริ่งหรือไม่ก็เรียกตะโกนหาผู้คุม ซึ่งเขาจะถามเราว่าชื่ออะไร รหัสอะไร เป็นอะไร แล้วค่อยโทรศัพท์ไปหาพัศดีซึ่งติดต่อไปยังหมอ ทำเรื่องเบิกกุญแจ แล้วต้องให้คนออกไปเอากุญแจ กว่าจะเข้ามาเปิดไข กว่าจะลงไป ก็ใช้เวลานานมาก แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลารอหมอนานกว่า (ถอนหายใจ) 

คือหมอและพยาบาลมีน้อยมาก รับผิดชอบแปดแดน รวมๆ นักโทษแต่ละแดนก็สามพันคนต่อพยาบาลแค่สี่ห้าคน มันไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว เราเข้าใจ แต่ในทางกลับกันเขาก็ต้องเข้าใจเราด้วยว่าเราป่วย เราเคยเจอเคสเพื่อนในห้องขังหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เป็นช่วงโควิด-19 ระบาดหนักๆ เราเลยพยายามเรียกผู้คุมให้เขา ผู้คุมก็ถามว่าเป็นอะไร ผู้ต้องขังบอกว่าแน่นหน้าอกครับ หายใจไม่ออก ผู้คุมตอบกลับมาว่า เอ้า ก็พูดได้นี่ แสดงว่าไม่เป็นอะไรสิ เราหันไปบอกเขาเลยว่าพูดแบบนี้ได้เหรอครับ นี่เขาจะตายเอานะ แล้วพอเราโวยวายไปผู้คุมก็ค่อยถามผู้ป่วยว่าเขาชื่ออะไร รหัสอะไร แล้วเอาไปบอกหมอ

ช่วงนั้นหมอโดนเราด่าเยอะ ความที่ช่วงโควิด-19 ด้วย คนป่วยเยอะ เราเองไม่ได้กลัวโควิด-19 เลย หรือถ้าจะติดก็ไม่แปลกเลยด้วยซ้ำเพราะต้องไปดูแลทุกคน เช็ดตัว เรียกเอายาให้กิน เราซื้ออาหาร ขนมมากะไว้กินตอนกลางคืน เราก็ต้องเอาให้เขากินเพื่อที่เขาจะได้กินยาได้ แล้วเยอะมากจนหลายๆ คนเข้าใจเราว่าเราโวยวายหมอทำไม คือที่ผ่านมามันไม่เคยมีใครโวยวายผู้คุม มีธรรมเนียมกันว่าผู้คุมใหญ่ที่สุด ใครโวยวายผู้คุมกูจะออกตัวรับแทน แรกๆ เราเลยต้องบอกเขาดีๆ ว่าที่ผมเรียกร้องนี่ไม่ได้แค่ตัวผมหรือคนในห้องขังเดียวกัน แต่วันนึงถ้าพี่ป่วยแล้วไม่มีใครมาช่วย ผมก็โวยวายให้พี่เหมือนกันแหละ หลังๆ มาเลยกลายเป็นว่าคนยืนปรบมือที่เราโวยวาย แล้วหลังจากนั้น มาตรการของเรือนจำก็ดีมากขึ้น กั้นห้อง ลดจำนวนผู้ต้องขังในห้องลงจากห้องหนึ่งประมาณ 40 คนก็เหลือสิบกว่าคน อาหารดีขึ้น ให้เยอะขึ้น แจกช้อนแจกแก้วให้ประจำตัว นี่คือขับเคลื่อนด้วยการด่าของจริง (หัวเราะ)

ว่าไปก็เหมือนจำลองภาพสังคมข้างนอกเรือนจำเหมือนกันนะ

ถูกต้อง แล้วเราไม่ได้ด่าร่ำรี้ร่ำไรด้วยนะ ไม่มีคำหยาบ ด่าด้วยเหตุและผล ทำไมต้องว่าคุณ เพราะคุณเป็นแบบนี้นะ ทำไมคุณไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ คุณบอกว่ามีอะไรให้มาคุยกัน นี่ไง ผมมาคุยกับคุณแล้ว คุณจะรับฟังไหม

อย่างบางทีพยาบาลมาถึงก็ตะคอกว่า ‘แล้วจะให้ฉันทำยังไง!’ อ้าว เป็นหมอแล้วมาถามนักโทษว่าต้องทำยังไงต่อ แล้วจะเป็นพยาบาลทำไมเนี่ย เราย้อนเขาแบบนี้แหละ เถียงเยอะ หรือแรกๆ ให้ผู้ต้องขังดื่มน้ำก๊อก เราก็รู้สึกว่า นี่ชีวิตคนนะเว้ย ให้ดื่มน้ำก๊อกได้เหรอ แล้วน้ำก๊อกช่วงโควิด-19 นี่เขาใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อเยอะมาก แล้วให้กูไปนั่งกิน ไอ้เหี้ย ไตไม่วายกูก็ตัวซีดไหม (หัวเราะ) เราเลยไปคุยกับ ผบ.แดนว่าไม่ได้นะ เราต้องมีน้ำกรอง หรือถ้าคุณไม่มีน้ำกรองก็ต้องมีน้ำดื่มให้เขา จะให้เขามาดื่มน้ำแบบนี้ไม่ได้ คุณยังดื่มน้ำขวดเลย สู้กันสุดใจอยู่เหมือนกัน


นับจากการเข้าเรือนจำครั้งแรกจนถึงตอนนี้ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

เราพูดกับคนในเรือนจำว่า เข้ามาก็เหมือนไมค์กลับบ้านอีกหลัง ไมค์ชินว่ะ ทั้งที่ก็ไม่ควรชินนะ แล้วเราก็รู้สึกว่าแม่งคือการทำงาน คือหน้าที่ เข้าไปข้างในก็มีหน้าที่ที่ต้องทำคือการเรียกร้องสิทธิเหมือนตอนที่อยู่ข้างนอก เราจะถูกผู้คุมเพ่งเล็งมาก โดนมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง หลบมุมกล้องไปหน่อยเดียวผู้คุมก็จะตามหาแล้ว เราคุยกับใคร กินข้าวกับใคร คุยกับคนที่โดนคดีความมั่นคงหรือเปล่า แต่ส่วนมากเราไม่ได้ไปคุยหรอก อานนท์น่ะชอบไปคุย (หัวเราะ) จริงๆ เราก็คุยสารทุกข์สุกดิบกัน ความเป็นเพื่อนในห้องขังเดียวกัน มีอะไรก็แบ่งปัน เย็นๆ ก็แบกขนมขึ้นไปแบ่งกันกิน

ความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นชัดๆ คือพวกผู้ต้องขังได้เปลี่ยนเสื้อผ้า จากแต่ก่อนแจกชุดเดียวแล้วซัก เปลี่ยนกันเอาเอง ไม่ให้แฟ้บด้วยนะเพราะกลัวคนกินแล้วตาย เหี้ยไหม ชุดเก่าๆ เหม็นๆ ครึๆ เราเห็นแล้วอึ๋ยน่ะ คือแบบผู้คุมครับ มึงยังต้องเปลี่ยนชุดทุกวันๆ แล้วผู้ต้องขังเขาก็เป็นคน เขาก็ต้องได้เปลี่ยนเหมือนกันไหม บางคนอาจจะมองว่าเราเรื่องมาก ใส่ๆ ไปเถอะก็แค่เสื้อผ้า เราอยู่ในคุกนะ แต่เรารู้สึกว่า ไอ้เหี้ย คนอื่นก็เปลี่ยน พวกมึงยังต้องเปลี่ยนต้องซักเลย ไม่ได้สิ ทุกวันนี้เลยกลายเป็นว่าผู้ต้องขังได้เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวันแล้ว 

ความสนุกของการได้อยู่ข้างในคือเราไม่ได้หยุดทำ ไม่ได้โดนขังเดี่ยว เรายังเรียกร้องสิทธิได้อยู่ แล้วมันอยู่ในสังคมที่แคบกว่าข้างนอก มันเลยได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น หลังๆ เวลาเข้าไปในคุกเลยไม่ได้กลัว แต่คิดว่าจะหาเพื่อนยังไง จะอยู่กับเพื่อนคนไหน สังคมมันแคบน่ะ


เท่าที่ฟังจากที่ไมค์บอกว่าอยากออกมาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นเพราะไม่รู้จะได้กลับเข้าไปอีกเมื่อไหร่ ดูเหมือนจะเป็นการประเมินการต่อสู้ในแง่ร้ายพอสมควรว่าอาจต้องยืดเยื้อ และเสียอิสรภาพอีกรอบ

ต้องมองเช่นนั้น (ตอบเร็ว) ถ้าเราสู้กับผู้มีอำนาจก็ต้องมองแบบนั้น เราคิดว่าเราจะโดนขังอีกเมื่อไหร่ แล้วในช่วงนั้นจะทำอะไร คนข้างหลังจะทำอะไร เราจะมองแง่บวกอย่างเดียวไม่ได้ โลกไม่ได้เป็นลาเวนเดอร์ที่วิ่งเล่นอย่างสบายใจได้

เริ่มมองโลกแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ตั้งแต่เริ่มทำกิจกรรมเลยไหม หรือเพิ่งมาเป็นช่วงหลัง

ถ้าเป็นเรื่องการต่อสู้ เราคิดว่าตอนอยู่ในคุกช่วงหลังๆ นี่แหละคือช่วงที่หล่อหลอมให้เราหัดมองแบบนี้ 

แรกๆ เราคิดว่ายังไงก็ต้องติดคุกเพราะนี่คือการต่อสู้ เราพูดกับทุกคนเลยว่าไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ทำใจได้เลยว่ายังไงก็ต้องติดคุก เร็วหรือนานแค่ไหนไม่รู้ได้ แต่ยังไงก็ต้องติด แล้วหลังๆ มาเราก็ได้มาตระหนักอีกว่า เฮ้ย แล้วถ้ากูติดคุกแล้วแต่ยังไม่ชนะ มันจะทำยังไงต่อ คนข้างนอกจะเป็นยังไง เพราะตอนที่เราอยู่ข้างนอกเราไม่ได้วางแผนเท่าไหร่ ไม่ได้คุยกันเยอะนัก เราต้องไปเตรียมงานกันเสมอ จำตอนที่มีม็อบใหญ่ได้ใช่ไหมครับ นั่นแหละ มันต้องเตรียมงานหลายๆ ฝ่าย สามวันจัดงานแล้ว เราจึงมีเวลาคุยกันน้อยมาก เวลาวางงานน้อย จะคุยกันแต่ละทีตำรวจก็ตามอีก

worst-case scenario ที่คิดในหัวคือภาพแบบไหน

(คิดนาน) คือการติดคุกนานเลย ไม่ได้ออก อย่างรอบนี้หกเดือนก็นานนิดๆ นะ แต่นานในความหมายของเราคือเกินหนึ่งปี และรอบนี้ก็ประเมินไว้ด้วยว่าเกินปีแน่นอน แต่หกเดือนก็ออกมา โดยที่รอบนี้ถอนประกันด้วย เราคุยกับอานนท์บ่อยเพราะติดคุกด้วยกันตลอด โดนปล่อยก็ปล่อยพร้อมกันตลอด เราบอกอานนท์ว่า เราไม่อยากให้คนข้างนอกรู้สึกผิดที่ช่วยเพื่อนไม่ได้ แต่อยากให้มองว่าความผิดอยู่ที่ศาลสั่งขังพวกเราโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วอานนท์ก็บอกว่าเห็นด้วย เลยไปคุยกับข้างนอกว่าไม่ต้องถอนประกันหรอก แต่สุดท้ายศาลก็ปล่อย

คิดว่านับจากเด็กหนุ่มที่ชูป้ายวิจารณ์ประยุทธ์ มาจนถึงนาทีนี้ที่โดนคดี 112 มองว่ามันมาไกลไหม

ไม่ไกลกว่าที่เราเคยคิดเลย เราทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็จริงแต่เรารู้ว่าใครเป็นยังไง อย่างเราทำงานต่อต้านบริษัททุนบางแห่ง ก็มีข้อมูลอยู่แล้วว่าใครเป็นหุ้นส่วนบริษัทนี้บ้าง รู้มานานแล้วล่ะ แต่เวลานั้นประเด็นมันแหลมคมมาก เรายังกระโดดเข้าหาประเด็นนี้เลยไม่ได้ แต่เมื่อมาถึงจุดที่มวลชนเข้าใจประเด็นนี้แล้ว เราก็พร้อมไปกับมวลชน

เราเห็นโครงสร้างและเห็นปัญหาที่แท้จริงมานานแล้ว เพราะเราอยู่ในพื้นที่ เรารู้ รู้ว่าใครได้ประโยชน์จากนายทุนเหล่านี้ ประชาชนได้อะไร เราเข้าใจตรงนั้นและกล้าเดินไปชน ไม่ได้เฮโลตามเพื่อนนะ เวลาเราพูดเราจะอิงกับความเป็นชาวบ้านด้วยว่าเขาเสียผลประโยชน์ยังไง นายทุนทำอะไร 

มองจากวันที่ชูป้าย คิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุด ทั้งกับตัวเองและสังคมคืออะไร

วัฒนธรรมความคิดเปลี่ยนไป (ตอบเร็ว) เมื่อก่อนคนจะบอกว่าระยองเป็นเมืองสลิ่ม แต่ตอนนี้เราเห็นว่าคนในระยองมาม็อบเกินพันคน ชาวบ้านกล้าลุกมาสู้มากขึ้น ไปยืนด่าสาธิต (สาธิต ปิตุเตชะ -รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เรื่องวัคซีนหน้าสำนักงานเลย กูแบบ (ยิ้ม) มีคนลุกขึ้นมาสู้กับกูแล้วเว้ย หรือเราไปเรียกร้องเรื่องสิทธิต่างๆ ก็มีคนเข้าใจเรามากขึ้น จากตอนแรกที่ไม่เข้าใจเลย

ยิ่งช่วงแรกๆ ก่อนไปชูป้ายประยุทธ์ เราพูดเรื่องการตัดผมเด็กของเทคนิคระยอง ว่าตัดแบบนั้นได้ยังไงในเมื่อตามระเบียบแล้วมันทำไม่ได้ ปรากฏโดยทัวร์ลงเว้ย โดนเด็กเทคนิคระยองท้าตีท้าต่อย บอกว่าอย่าให้กูเจอมึงนะ กูจะกระทืบมึง จนวันที่เราไปชูป้าย เจอพวกเด็กระยองไปรอกระทืบเต็มเลย แต่พอเขาเห็นว่าเราไปด่าประยุทธ์ ก็ทักมาหาว่า เฮ้ย คุณแม่งสุดยอดว่ะ ผมยอมรับเลย รู้แล้วว่าคุณสู้เพื่ออะไร แล้วทุกวันนี้คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจะต่อยเรา กระทืบเราวันนั้น กลายมาเป็นคนสนิทเราที่คอยบอกเราตลอดว่ามีคนอยากเจอ มีคนชื่นชมนะ กลายมาเป็นเพื่อนกันเฉยเลย นี่แหละคือความเปลี่ยนแปลง 

หรืออย่างตอนนี้เวลาเราไปไหน ก็มีคนเหล่านี้ที่มาช่วย คอยกระจายข่าว เครือข่ายเราทุกคนเป็นตัวแทนเราในการอธิบายว่าเราทำอะไรบ้าง ชาวประมงแก่ๆ นี่แหละที่อธิบายให้คนอื่นฟังว่าทำไมไมค์ต้องพูดเรื่องเจ้า เรื่องทุน มาบอกเราว่าเอ็งไม่ต้องกลัวนะไมค์ ลุงอยู่ข้างๆ เอ็งตลอดนะ

ในแง่ตัวตน เรายังเป็นตัวเองเหมือนเดิม เจอใครก็เป็นไมค์เหมือนเดิม (คิด) คือเรามีความคิดแบบนี้มานานแล้ว เราทำแบบนี้มาตั้งแต่อายุ 12-13 ปีแล้ว ช่วงที่เริ่มทำค่าย เป็นน้องค่าย เป็นพี่ค่าย เรารู้จักการทำงานเพื่อส่วนรวม ฉะนั้นก็รู้สึกว่าเราไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไหร่ เพียงแต่เรารับหน้าที่ต่างๆ มากขึ้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าถามว่าเราเปลี่ยนไปจากเดิมไหม ก็ไม่เปลี่ยนหรอก

มองยังไงที่หลายคนวิจารณ์ว่าม็อบแผ่วลง บางลงจากเมื่อปี 2020

คนที่บอกว่าม็อบบางลง แผ่วลง แสดงว่าเขามองที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ แต่สำหรับเรา เรามองคุณภาพ วัฒนธรรมทางความคิดมันเปลี่ยนไปแล้ว คุณลองไปดูในโรงหนังสิ ในโซเชียลมีเดียสิ คนกล้าวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น หรือไปดูรายการคุณจอมขวัญ (จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ -พิธีกรรายการข่าว) เคยมีในประวัติศาสตร์ไหนที่เอาเรื่องสถาบันฯ มานั่งถกกันในรายการที่ออกโทรทัศน์ ดูคุณรุ่นใหม่สิ เด็กนักเรียนกล้าออกมาเรียกร้องสิทธิต่างๆ มากขึ้น มันเปลี่ยนไปแล้ว 

แล้วการที่คนน้อยลงมันก็มีหลายสาเหตุ การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ละระลอก, สภาพเศรษฐกิจที่คนไม่สามารถเดินทางมาม็อบได้ คุณเคยไปต่างจังหวัดกันไหม เคยนั่งคุยกับพี่น้องแรงงานหรือเปล่า ถ้ามองแค่ว่าม็อบต้องมีคนเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน แสดงว่าไม่เข้าใจประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหว แล้วไปเข้าใจแค่ว่ามีม็อบก็ต้องมีคนเยอะๆ สิ แต่เรามองเรื่องคุณภาพมากกว่า นั่นคือทุกคนเห็นตรงกัน มีความคิดก้าวหน้าเรื่องระบบโครงสร้างที่อยากแก้ไขมากขึ้น

ม็อบใหญ่ปีก่อนๆ มันส่งแรงกดดันต่อศาลได้ ถ้าคนน้อยลงกลัวแรงกดดันน้อยลงไหม

เนี่ย (ชี้ที่ตัวเอง) ก็ไม่ได้มีม็อบใหญ่ ศาลก็โดนกดดันอยู่ดี เราว่าสำหรับศาลนี่อยู่ที่วิชาชีพที่เขาเรียนมามากกว่า เขาคงละอายต่อการผิดจรรยาบรรณหรือหลักกฎหมายของตัวเอง ต้องมานั่งขังคนบริสุทธิ์ ขังคนที่พูดเรื่องประเด็นสังคม พูดเรื่องชาวบ้าน 

เราไม่ได้ซีเรียสว่าไม่มีคนมาม็อบแล้วจะติดคุกนานหรือเปล่า เรามองว่า ในการต่อสู้แม่งก็ต้องเจออุปสรรคเยอะมาก และการติดคุกก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคนั้น แต่เราจะผ่านมันไปได้ยังไงคือสิ่งที่เราต้องคิดมากกว่าการไปนั่งจมกับเรื่องที่ว่ากูติดคุก เพราะมันไม่ได้ให้อะไรสำหรับการต่อสู้นี้เลย

เวลานี้หลายคนอาจรู้สึกว่าการต่อสู้ที่ผ่านมามันยังไม่ออกดอกออกผลสักที ประยุทธ์ก็ยังอยู่ในอำนาจ คุณคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ประยุทธ์ เราคิดว่าทางไปข้างหน้ามันมีอยู่แล้ว ยังมีประเด็นอีกเยอะแยะมากมาย เรื่องการเปลี่ยนระบอบโครงสร้างของประเทศ อันนี้คือเป้าหมาย ส่วนวิธีการก็ต้องดูที่ปัจจัยและบริบท ช่วงนี้มันมีโควิด-19 ก็ยังทำอะไรได้ไม่เยอะ สิ่งที่เราทำได้คือสร้างเครือข่าย มันไปได้อีกเยอะมากเลย

ความสำเร็จมันอยู่ที่วัฒนธรรม ความคิดไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการสร้างเครือข่ายให้มาร่วมกันต่อสู้มากขึ้น ส่วนเรื่องในสภาก็ปล่อยให้เป็นเรื่องในสภาไป เราไม่สามารถไปผูกมัดกับพรรคใดพรรคหนึ่งได้ แต่อย่างไรเสียทุกพรรคก็ต้องอิงกับประชาชน ฉะนั้นการที่พวกเราออกมาเรียกร้องเรื่องการยกเลิก 112 เราก็อยากให้พรรคการเมืองเห็นแล้วดีดนิ้วว่า เออ กูต้องเอากับประชาชนเว้ย ถ้าไม่เอาตามประชาชนกูก็จะไม่ได้รับเลือกตั้ง แล้วคุณก็เห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆ แล้ว พรรคการเมืองเริ่มออกมาพูดเรื่อง 112 เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ซึ่งเมื่อก่อนมันไม่เคยมีเลยนะ และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในห้าปีที่ผ่านมานี่เอง

เรามองว่านี่แหละคือสิ่งที่มันดำเนินต่อไป มันอยู่ที่เวลา เราเป็นแค่ตัวกระตุ้นของเวลาเฉยๆ แล้วก็ดูว่าจุดเปลี่ยนมันจะเกิดขึ้นตรงไหน เวลาใด เราไปกำหนดไม่ได้หรอกว่าจะสำเร็จภายในปีนี้ ปีหน้า ถ้าทำแบบนั้นก็เท่ากับเราขายฝันประชาชน มันต้องอยู่กับความเป็นจริงนะว่ามันกำลังเริ่มๆ เปลี่ยน เขาวางเกมมาเป็นร้อยๆ ปี แต่เราใช้เวลาแค่ห้าปีกับการเปลี่ยนวัฒนธรรมเหล่านี้ ใครสำเร็จมากกว่ากัน

ตอนนี้ไมค์อายุ 25 แล้ว ตัวเองในวัยนี้เป็นเหมือนที่เคยจินตนาการไว้ในวัยเด็กไหม

(คิด) อย่างนึงนะ เราใช้ชีวิตวัยรุ่นไม่คุ้ม ไม่ได้ไปเที่ยว ไม่ได้ไปสังสรรค์เยอะแยะเพราะเราทำค่ายตั้งแต่เด็ก แต่ในวัย 25 นี้ก็เป็นไปตามที่เราในวัย 12 เคยหวังไว้นั่นแหละ คือยังได้ทำงานกับประชาชน กับส่วนรวม หรือเด็กๆ ที่หวังอยากขึ้นไฮปาร์คด้วยนะ ซึ่งก็ได้ขึ้นจริงๆ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าจะกระโดดมาทำการเมือง เราเคยทำงานเป็น NGO จึงปฏิเสธเรื่องการเมืองมาโดยตลอด ตอนนั้นคิดว่าเราสามารถทำงานร่วมกับทุกพรรคได้ ไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตาม ขอให้เป้าหมายสำคัญคือประชาชน เราทำได้หมด 

แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่า ถ้าเรายังทำแบบนั้นอยู่ ยังเหยียบเรือสองแคม เท่ากับว่าเรานั่นแหละคือคนที่เห็นแก่ตัว เป็นกำลังให้ทั้งฝ่ายเผด็จการและทั้งฝ่ายประชาธิปไตยด้วย คือแม่งมีแค่สองทางให้เราเลือกคือเผด็จการกับประชาธิปไตย เราก็ต้องเลือกฝั่งประชาธิปไตยสิ ซึ่งมันแปลว่าเราไม่ได้เป็นโลกคู่ขนานกับสากลประเทศต่างๆ ในเวลานี้ และเราคิดว่านี่แหละคือความสำเร็จของเรา 

ฉะนั้นเด็กชายไมค์วัย 12 ขวบก็คงภูมิใจกับนายไมค์วัย 25 ไหม

มาก ภาคภูมิใจมากๆ ที่มาได้ถึงขนาดนี้ (ยิ้ม) แล้วสิ่งที่เราอยากทำมากที่สุด -นี่พูดแบบไม่ได้ตอบคำถามนางงามนะ- คือเราอยากให้ชีวิตคนดีขึ้น นี่คือสิ่งที่เราตั้งเป้าทำไว้ตั้งแต่แรก ตั้งแต่เรายังไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยซ้ำ 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save